หมออำพลสะกิดชุมชน โลกเปลี่ยนรุนแรง พลังเดิมไม่พอขึ้นภูเขา
“หมออำพล” เตือนชุมชน โลกปลี่ยนรุนแรงทุกมิติ ทุนเดิมไม่พอ ต้องจัดการความรู้ผลักสู่นโยบาย “รตยา” ติงทิศทางการพัฒนาฐานราก ต้องคิดให้พ้นเงินไปสู่สร้างเครือข่าย “ไพโรจน์” บอกสภาองค์กรชุมชนยังไม่ทำให้ชาวบ้านจัดการชีวิตตนเองได้ การจัดการทรัพยากรจะเป็นหัวใจการพัฒนาแท้จริง
วันที่ 26 ต.ค. ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) จัดงาน“10 ปีพลังองค์กรชุมชนท้องถิ่น จัดการตนเอง” โดย นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุนย์ (พม.) กล่าวเปิดงานว่า สภาองค์กรชุมชนตำบล และโครงการบ้านมั่นคง ที่ พอช.มีบทบาทสำคัญ นับเป็นตัวอย่างที่ดีการทำงานช่วยเหลือประชาชนฐานล่าง ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง ทั้งนี้ในส่วนงบประมาณสนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงจำนวน 6,000 ล้านบาท ที่ยังคงค้างอยู่อีก 3,000 ล้านบาทและจะจ่ายให้ครบในปี 2555 นั้น นายกรัฐมนตรีบอกว่าหากไม่เพียงพอให้เสนอต่อรัฐบาล เพราะถือว่าการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม กรรมการสมัชชาปฎิรูป ปาฐกถาพิเศษ “10 ปี พลังองค์กรชุมชน ปฏิรูปสังคมจากฐานราก” ว่ากุญแจที่จะนำไปสู่ความสำเร็จคือ คณะกรรมการสมัชชาปฎิรูป คณะกรรมการปฏิรูป คณะกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป โดยใช้ยุทธศาสตร์ 3 เหลี่ยมเขยื้อนภูเขา คือพลังสังคม พลังปัญญา และพลังอำนาจ โดยเริ่มจากตัวเองและร่วมมือสร้างสรรค์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ยึดหลักความดี ความสามารถ และความสุข พัฒนางานด้านต่าง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันจากการปฏิบัติ
“เช่น พอช.กำหนดทิศทางว่าต้องมีองค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง โปร่งใส เกิดกลไกเชื่อมโยงทั้งเมืองและชนบท มีการทำแผนแม่บทชุมชนกำหนดทิศทางการพัฒนาของตนเอง มีสถาบันการเงินชุมชนที่กว้างขึ้นถึงระดับจังหวัด วางรากฐานธนาคารชุมชนหรือธนาคารประชาชนให้เข้มแข็ง ให้ชุมชนจัดการสวัสดิการตนเองได้ ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง ธุรกิจชุมชนเข้มแข็ง”
นางรตยา จันทรเทียร ที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวถึงทิศทางการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนสู่การปฏิรูปประเทศไทยว่า เครื่องมือหลักที่ทำให้โครงการต่างๆของชุมชนพัฒนาไปได้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคือการเงินหรือการออม ซึ่งเป็นฐานสำคัญที่เชื่อมให้เกิดการสานต่อ แต่เมื่อพูดถึงเรื่องเครือข่ายสภาประชาชน การทำให้คนรวมตัวกันได้โดยไม่อาศัยทุน กลับไม่คืบหน้า เพราะยังขาดเครื่องมือเชื่อม
“อย่างโครงการภูมินิเวศน์ป่าตะวันตก เราพยายามเอาป่าชุมชนเป็นเครื่องมือรวมคน แต่มันไม่แรงเท่ากับเงิน ตรงนี้อยากส่งเรื่องต่อให้ไปช่วยกันคิดว่าในทิศทางต่อไปข้างหน้าจะทำอย่างไร”
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า 10 ปีต่อจากนี้ ชุมชนจะทำเพียงปฏิบัติการทางสังคมแบบเดิมไม่ได้ เรื่องที่ต้องทำต่อคือจัดการความรู้จากสิ่งที่ทำดีอยู่แล้ว โดยนำภาคราชการหรือภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้เกิดการวิจัยจากของจริง ผลักไปสู่นโยบายสาธารณะ และสื่อออกไปกับสังคม ซึ่งตรงนี้ยังมีน้อยมาก ขณะนี้องค์กรภาคีเครือข่ายที่ทำงานโดยยึดฐานและมีเป้าหมายที่ชุมชนเกิดขึ้นมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน เหล่านี้ควรมาบริหารยุทธศาสตร์ร่วมกัน สานพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการชวนคิดและทำงานกันอย่างใกล้ชิด
“ต่อไปชุมชนต้องเดินทางไกล ขึ้นเขาชันขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นทิศทางข้างหน้าจึงไม่ใช่แค่การภาคภูมิใจในบุญเก่าที่ทำมา เพราะต่อไปโลกทั้งโลกจะเปลี่ยนแปลงรุนแรงมากทุกมิติ มนุษย์จะเอาเปรียบ เหลื่อมล้ำขัดแย้งกันอย่างรุนแรง แม้ทุนที่เกิดจากการรวมตัวจะมากขึ้น แต่อาจไม่เพียงพอ”
นายไพโรจน์ พลเพ็ชร กรรมการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า กระบวนการจัดการชุมชนเกิดขึ้นเต็มไปหมดในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เห็นได้จากการเกิดสภาองค์กรชุมชนกว่า 2,000 แห่ง แต่ยังน้อยอยู่หากเทียบกับองค์กรชุมชนทั่วประเทศที่มีมากกว่า 10,000 แห่ง เสนอแนวทางการพัฒนาว่า 1.ชุมชนควรเรียนรู้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจ 2.สภาองค์กรชุมชน คือการถ่ายโอนอำนาจให้ประชาชนจัดการตนเองในระดับท้องถิ่น แต่แท้จริงชาวบ้านหลายส่วนยังติดอยู่กับกระทรวง มีสภาฯ แต่ไม่สามารถจัดการชีวิตตัวเองได้ ต่อไปต้องถ่ายโอนอำนาจการจัดการกลับไปสู่ชุมชน 3.ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาจัดการการเงินของตนเองในรูปแบบต่างๆ เพื่อกระจายไปสู่สวัสดิการชุมชน มีสถาบันการเงินเป็นของตนเอง แต่ต้องไม่ก้าวประโดด สุดท้ายคือ ประชาชนต้องพยายามจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเอง ซึ่งจะเป็นหัวใจที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างแท้จริง
“ป่าชุมชน โฉนดชุมชน ป่าชายเลน เป็นการต่อสู้เพื่อขอคืนอำนาจสู่ชุมชน บ้านมั่นคงเป็นการต่อสู้ เพื่อเรียกร้องสิทธิพื้นฐาน มีคนจำนวนมากไม่มีที่ดินทำกิน แต่ระดับรัฐมนตรีมี 2,000 ไร่ ปัญหาเหล่านี้ท้าทายรอบด้าน ต้องปฏิรูปการครอบครองที่ดิน ไม่ให้ถูกผูกขาดโดยคน”
นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา คณะกรรมการปฏิรูป คปร. กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมที่แบ่งแยกชนชั้นไม่เชื่อว่าชาวบ้านจัดการตนเองได้ แต่ พอช.ได้เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้คิด ทำและเชื่อมโยงกัน การฟื้นฟูต้องเริ่มที่ระบบชุมชน ให้ชาวบ้านตั้งหลักคิดเองว่าจะเริ่มจากตรงไหน บริหารอย่างไร และต้องสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
“การปฏิรูปกระบวนชุมชนต้องไม่ใช่แค่พลิกฟื้นชุมชนท้องถิ่นอย่างเดียว ขบวนองค์กรชุมชนต้องไม่นิ่ง ต้องกู้ชาติได้แล้ว พอช. เองก็คงไม่สามารถคงแผนเดิมต้องปรับตัวตามชาวบ้านด้วย”.