คปสม.อบ. นำเสนอโมเดลปฏิรูปประเทศไทย
จาก 7 ประเด็น 7 จังหวัด 10 เครือข่ายที่ทำงานจนตกผลึกเป็นองค์ความรู้ มานำเสนอในเวที ด้านหมอนิรันดร์ชี้ปฏิรูปประเทศไทย ต้องเริ่มที่ชุมชน ยกระดับการนำเสนอสู่นโยบายต่อคณะกรรมการปฏิรูปฯ
เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง จังหวัดอุบลราชธานี (คปสม.อบ.) ได้จัดเวทีประสบการณ์ชุมชนโมเดลปฏิรูปประเทศไทย ณ ชุมชนเกตุแก้วบ้านมั่นคง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อนำเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย โดยมีนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธาน
นพ.นิรันดร์ กล่าวถึงการปฏิรูปที่แท้จริงไม่ใช่การปรองดองของรัฐบาล หรือการหันหน้าเข้าหากันของนักการเมืองเพื่อรักษาผลประโยชน์สองฝ่าย แต่ต้องเกิดจากการต่อยอดการทำงานต่อสู้ของชาวบ้านมาเป็นระยะเวลานาน เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ประชาชนพึงได้รับตามรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มิใช่แค่การรับฟังปัญหา แต่เป็นการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การแก้ไขปัญหา และการตรวจสอบว่ารัฐบาลได้นำเอาสิ่งที่ประชาชนนำเสนอไปปฏิบัติตามหรือไม่ ดังนั้นประชาชนจึงต้องรู้เท่าทันให้มากขึ้น โดยการรวมตัวกันคุยถึงปัญหา แล้วสรุปแนวทางแก้ไข ยกระดับการนำเสนอด้วยการผลักดันสู่นโยบาย
“สังคมไทยผ่านการต่อสู้ สูญเสียมามาก แต่ก็ยังอยู่ในวังวนของอำนาจ วันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ประชาชนได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนและความถูกต้อง ถือเป็นการเมืองภาคพลเมืองอย่างแท้จริง” นพ.นิรันดร์ กล่าว
ด้านนายศักดิ์สิทธิ์ บุญญะบาล เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงการจัดเวทีขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 กันยายน 2553 ณ ที่ทำการเครือข่ายฯ ชุมชนเกตุแก้วบ้านมั่นคง อำเภอวารินชำราบ เพื่อนำเสนอโมเดลปฏิรูปประเทศไทยจาก 7 ประเด็น 7 จังหวัดอีสาน ชัยภูมิ ขอนแก่น ยโสธร ร้อยเอ็ด สุรินทร์ อุดรธานี อุบลราชธานี 10 เครือข่ายที่ทำงานตามประเด็นต่างๆ สั่งสมประสบการณ์จนตกผลึกเป็นองค์ความรู้ เป็นแนวทางการทำงานอย่างชัดเจนมานำเสนอในเวที ประกอบด้วยประเด็นความมั่นคงทางอาหาร ที่ดินที่อยู่อาศัย การศึกษาทางเลือก ทรัพยากร/นิเวศน์วัฒนธรรม ภูมิปัญญาหมอแผนไทย สื่อสิทธิชุมชน และศิลปวัฒนธรรม เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งมีนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย โดยมีตัวแทนคณะกรรมการเดินทางมาร่วมรับข้อเสนอ
ในมุมมองของสื่อ นายประพันธ์ เวียงสมุทร สมาคมสื่อมวลชนอุบลราชธานี ผู้ช่วยผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ครูบ้านนอกบ้าน หนองฮีใหญ่ กล่าวว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ให้สื่อชุมชนน้อยมาก สื่อห่างจากชาวบ้าน ข่าวก็เป็นมุมมองจากส่วนกลาง เพลงก็ผูกขาดกับไม่กี่ค่าย เคยเสนอโครงการให้ทีวีสาธารณะก็เปิดรับแค่เป็นพิธี ผู้ที่ได้ทำก็เป็นบริษัทส่วนกลาง หรือลงมาทำเรื่องชาวบ้านก็เป็นกลิ่นไอส่วนกลาง ดูเหมือนจะใช่แต่ไม่ใช่ ในทุกสื่อถูกกรอบส่วนกลางครอบไว้อย่างเหนียวแน่น
นายพงษ์สันต์ เตชะเสน สติงเกอร์ท้องถิ่น กล่าวว่า สมัยก่อนข่าวชุมชนมีน้อยมาก หนักไปทางข่าวอาชญากรรมหรือข่าวส่วนกลาง ปัจจุบันมีข่าวชุมชนมากขึ้น เพราะชุมชนเข้มแข็งมีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น กรณีทุบฟุตบาททั่วเทศบาลนครอุบลราชธานี ชาวบ้านลุกขึ้นมาทวงสิทธิในทางเท้าของพวกเขา สื่อมาหนุนช่วย จนศาลตัดสินให้เทศบาลฯ คืนทางเท้าให้ประชาชนในที่สุด ดังนั้นทุกอย่างต้องเริ่มที่ชุมชนเข้มแข็งก่อน สื่อถึงจะมาหนุนช่วยก็จะเกิดพลัง
ทั้งนี้ สำหรับข้อเสนอในการปฏิรูปประเทศไทยในมุมมองของสื่อมีดังนี้
1.ให้รัฐบาลตั้งกรมสื่อชุมชนขึ้นมาเพื่อดูแลสื่อเพื่อชุมชนโดยเฉพาะ มีสำนักประชาสัมพันธ์ชาวบ้านทำงานคู่ขนานกับประชาสัมพันธ์จังหวัด
2.สร้างหลักสูตรการศึกษาสื่อเพื่อชุมชนในสถาบันการศึกษา โดยให้นักวิชาการนิเทศศาสตร์มามีส่วนร่วมกับชุมชน
3.เปิดทีวีดาวเทียมเพื่อชุมชน ให้เป็นพื้นที่ที่ท้องถิ่นจะนำเสนอเรื่องของตนเองโดยมีคนในชุมชนเป็นคณะกรรมการ
4.กรมประชาสัมพันธ์แบ่งคลื่นมาให้ชุมชนดำเนินการ
5.ช่อง 11 ภูมิภาค แบ่งช่องทีวีภูมิภาคให้ชุมชนมีส่วนร่วมในทุกระดับ