เสียงสะท้อน….เครือข่ายสถาบันทางปัญญา แปลง ‘แผนปรองดอง’ ให้เป็นรูปธรรม
แม้วันนี้เรายังมองไม่เห็นบทสรุปสุดท้ายของวิกฤตการเมืองครั้งนี้จะจบลงอย่างไร แต่บรรยากาศบ้านเมืองที่เคยเร่าร้อนอย่างน้อยก็ได้ผ่อนคลายลงบ้าง เมื่อช่วงค่ำวันที่ 3 พ.ค.ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดแผนความปรองดองแห่งชาติ 5 ข้อ ประกอบด้วย
ข้อ 1 เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
ข้อ 2 ปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้าน ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องการถูกรังแกจากผู้มีอำนาจ ความไม่เป็นธรรมในสังคม และปัญหาเรื่องสวัสดิการสังคม รวมถึงปัญหาอื่นๆ
ข้อ 3 ระบบสื่อสารมวลชน ขอให้สื่อทำหน้าที่ที่ไม่สร้างความรุนแรงและไม่สร้างความเกลียดชัง
ข้อ 4 ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ต่างๆ จากความสูญเสียในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่มีการชุมนุมวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา
และ ข้อ 5 ปฏิรูปการเมือง และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ก่อนจะยื่นข้อเสนอพร้อมจัดเลือกตั้งใหม่ปลายปี วันที่ 14 พ.ย.
การส่งสัญญาณปฏิรูปประเทศ สัญญาจะแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำในสังคม ความยากจน และความไม่เป็นธรรม นั้น จะใช่ "เส้นทางเดิน" ออกจากวิกฤตจริงหรือไม่ “สมาชิกเครือข่ายสถาบันทางปัญญา” บุคลากรที่อาสามาร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศไทย จากเวทีปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสุขภาวะคนไทย มีความคิดเห็นกับแผนสร้างความปรองดอง…..
1.
คนแรก ศาสตราภิชานไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติรองประธานคณะกรรมการมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) กล่าวถึง 5 ข้อเสนอแผนปรองดองที่นายกรัฐมนตรีประกาศว่า เป็นเรื่องที่ดีสำหรับทางออกประเทศในขณะนี้ แผนปรองดองนี้จะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ต้องทำทั้ง 5 เรื่องพร้อมกัน และต้องทำให้เห็นว่าทุกเรื่องที่จะทำมีการเริ่มนับหนึ่ง และต้องทำให้เห็นรูปธรรมด้วย สำหรับข้อเสนอข้อแรกนั้นทุกคนเห็นด้วยแน่นอน
“ข้อเสนอข้อที่ 2 รากเหง้าต้นตอของปัญหาทั้งหมดทุกวันนี้ คือ ความไม่เป็นธรรม ความไม่เสมอภาคในสังคม ตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาแก้ เพราะเป็นปัญหาที่ถูกสะสมมานานทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ และการแก้ปัญหาขณะนี้ควรเลือกทำในสิ่งที่ง่ายก่อน เช่น ปัญหาการต้องคดีทั้งหมดของชาวบ้านที่เดือดร้อนกันอยู่ โดยเฉพาะเรื่องที่ดินนั้น ต้องได้รับการแก้ไขก่อน ต้องมีกรรมการกลางแก้ปัญหาเหล่านี้ เพราะชาวบ้านต้องคดีแบบนี้ก็ไม่สามารถทำกินเพื่อปากท้องได้ และปัญหานี้ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน นับวันยิ่งเกิดขึ้นมากทั่วประเทศ
ส่วนข้อ 3 เห็นด้วยว่า ต้องยกเครื่องสื่อ ส่วนการจะให้มีองค์กรอิสระมาควบคุมดูแลนั้น คิดว่าคนในวงสื่อนี้มีดีๆ อยู่มาก เรื่องนี้คงไม่มีใครรู้เรื่องดีเท่ากับตัวสื่อด้วยกันเอง กฎหมายเรื่องนี้ลึกซึ้ง การให้คนนอกไปควบคุมไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง จึงสมควรให้สมาคมวิชาชีพสื่อควบคุมดูแลกันเอง เสนอว่า รัฐควรให้งบสนับสนุนสื่อมวลชนให้มีโอกาสพูดคุยกันจริงๆ เป็นประจำเพื่อจะตกผลึกในการควบคุมกันเอง เนื่องจากคนกลุ่มนี้ต้องกินอุดมคติมาตลอดแต่ขาดเงินสนับสนุน ผมไม่เคยคิดว่าตัวสื่อจะเป็นตัวเหลาเสี้ยมสังคม สื่อไทยทำหน้าที่ได้ดีมากเพียงยังไม่มีเวลาได้คุยกันเองเท่านั้น และคิดว่าไม่ควรตั้งองค์กรอิสระใหม่โดยรัฐมาควบคุมเรื่องนี้มิฉะนั้นจะเละได้
สำหรับข้อ 4 การตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ความรุนแรง เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วในการต้องทำความจริงให้ปรากฏ แต่คิดว่าการจับตัวคนผิดมาลงโทษนั้นยังไม่ใช่เรื่องใหญ่ หากต้องดูกันจริงๆ ที่การมองไปข้างหน้า คิดว่าให้หนักไปทางเรื่องอภัยโทษ โดยคดีเทคนิคทางการเมือง เช่น การใช้คำพูดที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียนั้นเป็นประเด็นที่ควรเว้นไปก่อน ขณะเดียวกันอะไรที่เป็นความผิดใหญ่และชัดแจ้งอยู่แล้ว ก็ไม่ควรอภัยโทษ เช่น การฆ่าคน การเผาทำลาย ที่เป็นการก่อการร้าย หรือตัวแกนนำหลักที่หนักร้ายจริงๆ เป็นต้น อาจเป็นได้ว่าเชิญเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ มาร่วมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการร่วมตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยเพื่อให้เป็นที่ยอมรับสากล เมื่อเราแยกสิ่งที่เป็นแก่นสำคัญของปัญหาได้ก็จะทำให้แก้ไขได้ง่ายขึ้น จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศในเวลานี้อย่างมาก
ข้อเสนอสุดท้ายในการแก้รัฐธรรมนูญ ก็ไม่ควรแก้หมดในครั้งเดียว ควรแก้ชำระเป็นวาระ 3 เดือน 6 เดือน ในคราวละประเด็นๆ ไป เช่น ควรเร่งแก้ในประเด็นการเลือกตั้งให้หมดปัญหาเรื่องความเสียเปรียบหรือได้เปรียบทางการเมืองก่อน เป็นต้น จากนั้นค่อยทำให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องวาระประจำไปทีละประเด็น ค่อยทยอยดูผลของแต่ละส่วนว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากรัฐธรรมนูญไทยมีเป็นร้อยๆ มาตราทำให้เป็นการผูกคอการพัฒนาประเทศ ผูกคอตัวเองในหลายๆ เรื่องจึงต้องแก้กันอยู่เรื่อย ผิดกับรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาที่มีเพียง 29 มาตรา”
2.
ด้านนพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงการที่นายกรัฐมนตรีออกมาประกาศว่าจะแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ดีของการชุมนุมครั้งนี้ เพราะเสียงของคนจนในทุกภาคส่วนได้ดังขึ้นกลางใจเมืองหลวง ซึ่งล้วนเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปประเทศไทย ทั้งด้านความไม่เป็นธรรมในสังคม กระบวนการยุติธรรมที่สองมาตรฐาน การกระจายอำนาจ ที่ดินทำกิน ช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน ภาษีมรดกและภาษีที่ดิน ฯลฯ
“เสียงเหล่านี้ได้รับการขานรับมาก เพราะฉะนั้นการยุติการชุมนุมก็ถือว่า ได้รับชัยชนะทั้งสองฝ่าย ฝ่ายผู้ชุมนุมก็ไม่ได้เสียหน้าอะไร ได้ส่งเสียงความต้องการที่แท้จริงได้ออกมา ไม่ถูกกลบด้วยอดีตนายกรัฐมนตรีที่อยู่ต่างประเทศ หรือเสียงของแกนนำทางการเมืองบางคนที่คิดจะใช้คนเหล่านี้เป็นเครื่องมือ อีกทั้งกลไกทุกภาคส่วนก็ขานรับเรื่องนี้ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเองก็ได้พบกับอดีตผู้นำ และกำลังจะขับเคลื่อนกับผู้นำชุมชนท้องถิ่น ทุกภาคส่วนต่างๆ เป็นสมัชชาประชาชนภาคต่างๆ เพื่อการปฏิรูปประเทศไทยซึ่งสอดคล้องกับภาคต่างๆ ด้วย คาดว่าใน 3 เดือนนี้จะเห็นชัด
สำหรับเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม ความไม่เป็นธรรมในสังคมจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิอย่างกว้างขวาง เพราะฉะนั้นการมาทำงานตรงนี้ก็เป็นงานเชิงรุก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลใดก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำก็จะอยู่ลำบาก”
3.
ส่วนทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหาประเทศไทยขณะนี้ เป็นเรื่องของระบบโครงสร้างที่ต้องมีการแก้ไขที่ใหญ่และเร่งด่วนมากที่สุด เป็นแผนระยะสั้น และระยะยาวที่ทุกคนออกมาร่วมกันทำ ซึ่งหากรัฐบาลออกมากระตุ้นก็จะเป็นสิ่งที่ดี เพื่อสร้างแนวทางออกให้แก่ประเทศ
“การปฏิรูปประเทศไทยได้มีการพูดคุยกันมาสักระยะหนึ่งแล้วจากหลายภาคส่วน ทั้งกลุ่มสถาบันเครือข่ายทางปัญญา ซึ่งต่อไปจำเป็นต้องมีคนออกมาปฏิรูปอย่างจริงจัง และเกิดการเชื่อมโยงกัน พัฒนาให้ขยายเป็นภาพใหญ่ โดยขั้นเริ่มต้นต้องศึกษาจากกลุ่มประชาชนที่เดือดร้อนก่อน เพื่อให้รับรู้ประเด็นที่ต้องการให้แก้ไขเร่งด่วนนั้นคืออะไร จากนั้นจึงมาร่วมจัดการปัญหาบ้านเมืองให้สำเร็จ”
4.
นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม สื่อมวลชนอาวุโส กล่าวว่า สิ่งที่สังคมไทยกำลังเผชิญ คือวิกฤตทางปัญญา การถูกครอบงำทางความคิดที่เกิดมาจากการสื่อสาร ที่ไม่ได้มีการตั้งรับ เกิดเป็นสังคม 2 กระแส คือ 1. กระแสลัทธิทุนนิยม ที่ทุกคนอยากได้อยากมี และ 2.ความไม่เป็นธรรมจากช่องว่างทางเศรษฐกิจ ของชนชั้นต่างๆ ซึ่งหากจะต้องมีการปฏิรูป จาก 5 หัวข้อนั้น สิ่งที่ต้องเริ่มคือ การปฏิรูปทางความคิด เพราะแม้แต่เรื่องการศึกษาก็ยังเป็นเรื่องรองกว่าความคิดและปัญญา ต้องตั้งหลักทางปัญญาเสียก่อนเป็นหัวข้อที่สำคัญ
5.
สุดท้าย นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงแผนปรองดอง 5 ข้อ รัฐบาลต้องทำให้เป็นเจตจำนงทางการเมือง เป็นผู้นำให้ภาคการเมือง กลไกรัฐ มาเชื่อมโยงกับภาคสังคม
“การปฏิรูปประเทศไม่ใช่การพูดกันแค่ปาก ไม่พูดแค่การประชุม หรือแถลงการณ์ออกมา ต้องทำให้เป็นสัญญาประชาคม วันนี้เราเปิดประตูบ้านเข้าไปแล้ว แต่คนที่เราบอกให้เฝ้าบ้าน ซึ่งดูแลบ้านอยู่ข้างใน ต้องเปิดให้เจ้าของบ้านเข้าไปด้วย หมายถึงต้องทำให้พร้อม นายกรัฐมนตรีก็พร้อมใช้อำนาจฝ่ายบริหารสั่งการ บังคับใช้กฎหมายได้หรือไม่ ทำให้เกิดกฎหมายหรือนโยบายมาช่วยเหลือ ถ้าทำได้ก็คือการปฏิรูปประเทศไทย และต้องสามารถแก้ไขปัญหาให้คนได้ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ รวมทั้งไม่ควรมองข้ามเรื่องสี”