พลิก “ลุคส์ใหม่สุดไฉไล” มหาวิทยาลัยไทย “รับใช้สังคม-ร่วมทุก (ข์) ชุมชน”
“...ปัญหา บ้านเราชอบคิดมองแบบแยกส่วน การแก้ปัญหามหาวิทยาลัยต้องลงไปทำงานกับสังคม 1 จังหวัด 1 มหาวิทยาลัย ต้องช่วยกัน มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานที่ลอยตัวจากสังคม ...เปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับตัวเอง ไม่ใช่คิดว่า ฉันรู้ ฉันฉลาด ฉันมาช่วยคุณ ฉันเป็นเทวดามาโปรด อย่างนี้ก็ ไม่ใช่...”
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม และนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดลได้ย้ำไว้ หลังจากที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทยเคยสัมภาษณ์ เรื่อง "มหาวิทยาลัยไทยต้องเปลี่ยนลุคส์ใหม่เพื่อสังคม สร้างจิตสำนึกใหม่การศึกษา" ไปแล้วเมื่อต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมานั้น
ปฏิรูปสร้างวิชาการสายใหม่รับใช้สังคม
ล่า สุดหมอวิจารณ์ได้ออกมายืนยันแนวคิดนี้ให้สังคมได้ประจักษ์ในบทบาทอุดมศึกษา ไทยต่อนำพาชาติออกจากวิกฤติครั้งในเวทีประชุมระดมความเห็นจาก มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ ที่อิมแพ็คเมืองทองธานี จ.นนทบุรีเมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา
ก่อนจะ “ขาย” ความคิด “ปฏิรูปประเทศไทยด้วยการสร้างวิชาการสายใหม่รับใช้สังคม” พร้อมกับข้อเสนอที่ท้าทายและเร้าใจคนในวงการศึกษาบ้านเราให้ได้รู้ร้อนรู้หนาวกับสังคมกันเลยทีเดียว
ข้อเสนอมีอยู่ว่า
- ให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมการศึกษา (สกอ.) มีคณะทำงานวารสารวิชาการออนไลน์คุณภาพสูง PLOT (Public Library of Thailand) ตั้งหน่วยงานลักษณะไม่หวังกำไร แบบประเทศสหรัฐอเมริกามีเว็บไซต์ Public Library of Science (www.plos.org) ตี พิมพ์ผลงานทางวิชาการแบบใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมให้ชาวบ้านสามารถอ่าน รู้เรื่องและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง รวมถึงมีอาสาสมัครมาช่วยปฏิสัมพันธ์กันในเว็บไซต์
ถือเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในการนำไอซีทีมาใช้สร้างวิชาการสายใหม่รับใช้ สังคม ใกล้ชิดสังคมมากขึ้น และมีการตรวจสอบคุณค่าจากสังคมด้วย
-.ให้รัฐมุ่งเน้นสนับสนุนการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) รองรับ “วิชาการสายรับใช้สังคม (Social Impact)” ให้มากกว่าวิชาการสาย Impact Factor ที่ทำกันอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยยึดคุณภาพ ศักดิ์ศรี และมีผลดีต่อสังคม รัฐควรลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานพร้อมทั้งบูรณาการระบบไอซีทีมาใช้พัฒนาและ เผยแพร่งานวิจัยในเวลา 10 ปี ลงทุนรวมประมาณ 10,000 ล้านบาท หรือปีละ 100-1,000 ล้านบาท เพื่อให้วิชาการทั้ง 2 สายมาบรรจบกันเกิดเป็น “วิชาการสายนานาชาติ” ขึ้น
- สกอ.จะต้องมีคณะยุทธศาสตร์และโครงสร้างรองรับดูแลและสนับสนุนงานวิชาการรับใช้สังคม
- ทุกมหาวิทยาลัยควรตั้งรองอธิการบดีฝ่ายเชื่อมโยงชุมชนและสังคม รวมถึงตำแหน่งรองคณบดีด้วย,ให้ มีสำนักหรือกองเครือข่ายสังคมภายในสถาบันการ ศึกษาดำเนินการเชิงรุกและจัดทำแผนยุทธศาสตร์นโยบายสถาบันการศึกษาวิชาการสาย รับใช้สังคมในกรอบ 5-10 ปี,ปฏิรูป หลักสูตรให้บรรจุรายวิชาบังคับให้ผู้เรียนต้องลงไปทำงานร่วมกับพื้นที่จริง ที่ตนสังกัดอยู่ในมิติต่างๆ เช่น สหกิจศึกษาในสถานประกอบการ, ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น, กระบวนการมองอนาคต, กระบวนการสร้างท้องถิ่นและเมืองน่าอยู่,การพัฒนาเครือข่ายการศึกษา เป็นต้น และทุกมหาวิทยาลัยควรจะต้องมีการพัฒนาฐานข้อมูลวิชาการระหว่างกัน
-ระบบการประเมินตำแหน่งทางวิชาการต้องปรับให้หันมาให้คุณค่ากับ “ครู” ที่อุทิศตนวิจัยทำงานพัฒนาชุมชนและสังคม เช่น สกอ.ควรมีรางวัลยกย่อง “รางวัลผลงานรับใช้สังคมดีเด่น” ทั้งประเภทบุคคลและทีม
สำหรับ ลักษณะพิเศษของระบบวิชาการที่มุ่งรับใช้สังคมนั้นจะเน้นการสร้างวิชาความรู้ ขึ้นจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ในลักษณะวิชาการแบบ Translational Research, Action Research, Applied Research ให้ ความสำคัญแก่กระบวนการเรียนรู้และปฏิบัติการร่วม กล่าวคือ ต้องทำให้เกิดโครงสร้างสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาลงไปทำงานร่วมกับชาวบ้านเพื่อสัมผัสภาคชีวิตจริง ทำงานแบบไม่ใช่ยึดตนเป็นผู้รู้ ลงไปถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีอย่างเดียว ทว่าจะต้องเข้าไปทำกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกับชุมชน และสังเคราะห์ศาสตร์วิชาความรู้วิชาการขึ้นจากจุดนี้
นี่ คือ บทบาทของอุดมศึกษาไทยที่ประธานกกอ. ย้ำว่า จำเป็น และถึงเวลาสร้างวัฒนธรรมใหม่ วิธีคิดใหม่ให้มหาวิทยาลัยร่วมกันปฏิรูปประเทศไทย หลังจากที่มหาวิทยาลัยทำตัวเหินห่างสังคมมากว่า 30 ปีแล้ว
ประมวลความเห็น มหาวิทยาลัยทั่วปท.
ขณะเดียวกันในเวทีประชุมระดมความเห็น มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ มีสถาบันอุดมศึกษา ได้ร่วมกันเสนอความเห็นในเวทีประชุมระดมความเห็นครั้งนี้ โดย เห็นตรงกันว่า สถาบันอุดมศึกษาไทยต้องปรับบทบาทมารวมพลัง ช่วยนำพาชาติออกจากวิกฤต เริ่มต้นที่ลงพื้นที่มาสนับสนุนพัฒนา สร้างพลังและความเข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นฐานสำคัญของประเทศสามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ สามารถประมวลความเห็นและข้อเสนอในภาพรวมออกมาได้เป็น...
1.สร้างจิตสำนักรับผิดชอบสังคม ร่วมรู้ร้อนรู้หนาวกับชุมชน
2.จัดหลักสูตรนำศาสตร์การพัฒนาชุมชนมาสอนในให้มากที่สุด ปรับหลักสูตรภาคสนามให้บัณฑิตตระหนักปัญหาสาธารณะ
3.พัฒนาบทบาทนักศึกษาต่อการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และประเทศ รวมถึงส่งเสริมบุคลาการนักศึกษาร่วมกิจกรรมชุมชนโดยเฉพาะด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรมให้เกิดความเข้าใจวิถีชีวิตชุมชนอย่างจริงจัง
4.จัดทำโครงสร้างในการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนในทุกมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยควรตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาชุมชน, สถาบันวิทยาการชุมชนและนวัตกรรมจังหวัด, การตั้งศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนเพื่อเป็นที่พึ่งประชาชน, ตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านอาชีพ (Call Center) เป็นต้น ส่วนสกอ.ต้องมีโครงสร้างรองรับเรื่องนี้และสร้างนโยบายที่ชัดเจนทั้งรัฐ จังหวัดและมหาวิทยาลัย
5.ส่งบัณฑิตอาสาลงบูรณาการท้องถิ่นและรวมข้อมูลปัญหาพื้นที่มาแก้ไข
6.ดึงองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยถ่ายทอดสู่ชุมชนท้องถิ่น และจังหวัดอย่างต่อเนื่อง
7.การวิจัยเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยจะต้องกำหนดประเด็นนโยบายในการวิจัยโดยให้ชุมชนเป็นเจ้าของเรื่อง และมหาวิทยาลัยต้องยึดโจทย์ความจำเป็นในพื้นที่ไม่ใช่แค่สนองความต้องการคนในชุมชนเท่านั้น พร้อมต่อยอดงานวิจัยเพื่อชุมชนให้ใช้งานได้จริง
8.ผนึกกำลังเครือข่ายมหาวิทยาลัยจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่ทุกจังหวัดอย่างครบถ้วน รวมถึงข้อมูลที่เป็นทุนทางปัญญาของพื้นที่
9.สนับสนุนสร้างกลไกระดับจังหวัดเป็นที่ปรึกษาให้ชุมชนและจังหวัด
10. ช่วยสื่อสารประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาท้องถิ่นแบบบูรณาการพร้อมประเมินผลติดตามอย่างต่อเนื่อง
11.มหาวิทยาลัยรัฐต้องบูรณาการร่วมกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
12.ร่วมทำแผนชุมชนโดยให้ชุมชนเป็นผู้คิด ส่วนมหาวิทยาลัยทำหน้าที่กระตุ้นและสนับสนุน
13.ทำความเข้าใจอาชีพในพื้นที่ พร้อมยกระดับอาชีพและสร้างรายได้ให้ชุมชน ตามที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการโดยให้นักศึกษาทำวิจัยพัฒนาภายใต้การดูแลของอาจารย์
14.ให้โอกาสทางการศึกษาทั้งในและนอกระบบแก่ชุมชน พร้อมทั้งยกระดับสถานศึกษาในแต่ละจังหวัดให้มีคุณภาพเท่าเทียมกัน
15.สนับหนุนดำเนินการตามแนวคิด “1จังหวัด 1มหาวิทยาลัย” โดยให้ยึดจังหวัดเป็นตัวตั้งและเป็นเจ้าของเรื่อง และ
16.สร้างความชัดเจนในการแบ่งพื้นที่ให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งดูแล และเร่งสร้างความไว้วางใจจากชุมชนกลับคืนมา
แนะมหาวิทยาลัยเปิดประตูคุกปลดปล่อยสังคม
“พลัง มหาวิทยาลัยมีบุคลากรทั้งนักศึกษา คณาจารย์ นักวิชาการร่วมแสนคนในวงนี้ ซึ่งเป็นขุมพลังหัวรถจักรใหญ่ที่จะช่วยพาชาติออกจากวิกฤตและเปลี่ยนแปลง สังคมได้” ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) และราษฎรอาวุโส ออกมาประกาศ มหาวิทยาลัยจะต้องเข้ามามีบทบาทต่อการปฏิรูปประเทศ เข้ามาเป็นพลังปัญญาและพลังสังคมให้คนไทย และร่วมหากุญแจไขเปิดประตูคุกปลดปล่อยสังคม
เพื่อตอกย้ำคำพูดดังกล่าว ประธานคสป. ได้ตั้ง “คณะกรรมการเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อการปฏิรูป” ขึ้น โดยให้ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยนั่งหัวโต๊ะ พร้อมดึง สกอ. มาช่วยหนุนทัพสมัชชาปฏิรูปอีกแรงหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ ศ.นพ.ประเวศ ยังเสนอให้สถาบันอุดมศึกษาไทยพลิกมุมมองใหม่ สวมแว่นตาสังคมในการทำงานและพลิกบทบาทมหาวิทยาลัยร่วมปฏิบัติการสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ เสนอสิ่งที่มหาวิทยาลัยไทยต้องทำ คือ สร้างจิตสำนึกแห่งความเป็นธรรม แก่นักศึกษา คณาจารย์ นักวิชาการ บุคลากรในสถาบันทุกคน สร้างฐานของชาติให้มั่นคงแข็งแรง มหาวิทยาลัยต้องสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้ชุมชนท้องถิ่นช่วยสังเคราะห์นโยบายสาธารณะที่ดีร่วมกับชุมชน
โดยเฉพาะ โครงการ “1 จังหวัด 1มหาวิทยาลัย” โดยแนะขั้นตอนการทำงานออกเป็นข้อๆ
1.มหาวิทยาลัยต้องสำรวจและทำข้อมูลจังหวัด
2.ส่งนักศึกษาลงพื้นที่ไปเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนอย่างจริงจัง
3. ร่วมทำแผนชุมชนกับชาวบ้านอย่างบูรณาการทั้งด้านเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษา และประชาธิปไตย
4. เข้าไปพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้ชุมชนอย่างเต็มที่
5.ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งเทศบาล อบต. อบจ. ให้สามารถเข้ามาช่วยหนุนชุมชนได้ดีขึ้น
6.ช่วยสังเคราะห์ประเด็นนโยบายจากการปฏิบัติ
7.สร้างกระบวนการสื่อสารให้ชุมชน
8. ผลิตกำลังคนที่ชุมชนท้องถิ่นต้องการ
และ 9.มหาวิทยาลัยต้องเปิดให้ทุกคนเข้ามีส่วนร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นเป็นศูนย์จัดการความรู้ในพื้นที่
อย่างไรก็ตามขณะนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ออกมาขานรับ “โครงการ 1 จังหวัด 1 มหาวิทยาลัย” แล้ว สั่งกำชับกระทรวงศึกษาธิการ ศึกษาเรื่องนี้ และเร่งเสนอเข้าครม. ส่วนนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ก็รับปาก ยืนยันจะปรับปรุงระบบประเมินค่าผลงานทางวิชาการที่ยังเป็นด้านเดียว มองข้ามครูที่ทำงานรับใช้สังคมมาอุทิศตนตลอดชีวิต และไม่ให้การยอมรับนับถือ
นี่คือ จุด เริ่มต้นแห่งพันธะสัญญาที่สถาบันอุดมศึกษาไทยมีต่อกันและกัน มีต่อสังคมไทย ในการร่วมพลิกโฉมมหาวิทยาลัยไทยและบทบาทนักศึกษา จากเจ้าหญิง-เจ้าชายบนหอคอยงาช้าง ให้ลงร่วมทุกข์ร่วมสุขกับชาวบ้าน ทุกชุมชนทั้งแผ่นดิน
ทว่าการระดมความคิดเห็นของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการร่วมปฏิรูปประเทศไทยในครั้งแรกนี้ ข้อเสนอทั้งหมด อาจจะเป็นเพียงข้อเสนอต่อไป หากยังไม่มีหน่วยงาน สถาบันการศึกษาใดนำกลับไปดำเนินการสานต่อ หรือนำกลับไปปฏิบัติการ “นำร่อง” อย่างเป็นรูปธรรม
ต้องติดตามการรักษาด้วยวิธีศัลยกรรม ปรับ “โฉม” มหาวิทยาลัยไทย จะไฉไลขนาดไหน นับจากมีพันธะสัญญา ทั้งหมดนี้ ทำให้สังคมรอคอยด้วยใจจดจ่อ.
“มหาวิทยาลัยไทย” ระดมสมองพลิกบทบาท “ลงพื้นที่ร่วมทุกข์ชุมชน”
เวทีประชุมระดมความคิดเห็น “ข้อเสนอเพื่อปฏิบัติการของแต่ละมหาวิทยาลัยกับขบวนการร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ส.ค.โดยความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และมูลนิธิพัฒนาไท ณ อาคารคอนเวนชั่นเซนเตอร์ อิมแพ็คเมืองทองธานี จ.นนทบุรี
ทั้งนี้เพื่อระดมความคิดเห็นจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศในรอบแรก ภายใต้กรอบบทบาทสถาบันอุดมศึกษาต่อการร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ ซึ่งมีสถาบันอุดมศึกษาร่วมประชุม 70 แห่ง จาก 5 กลุ่มมหาวิทยาลัย ดังนี้
มหาวิทยาลัยรัฐ ได้แก่ 1) ม.ขอนแก่น 2) ม.นครพนม 3) ม.นราธิวาสราชนครินทร์ 4) ม.สงขลานครินทร์5) ม.นเรศวร 6) ม.รามคำแหง 7) ม.สุโขทัยธรรมาธิราช 8) ม.มหาสารคราม 9) ม.ธรรมศาสตร์ 10) ม.เทคโนโลยีสุรนารี และ 11) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ได้แก่ 1) ม.แม่ฟ้าหลวง 2) ม.มหิดล 3) ม.เชียงใหม่ 4) ม.วลัยลักษณ์ 5) ม.มหามกุฏราชวิทยาลัย 6) ม.บูรพา และ 7) ม.ทักษิณ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ได้แก่ 1) ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 2) ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 3) ม.เทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ 4) ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ 5) ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 6) ม.เทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และ7) ม.เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
มหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้แก่ 1) ม.ราชภัฏธนบุรี 2) ม.ราชภัฏนครปฐม 3) ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา 4) ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม 5) ม.ราชภัฏเพชรบูรณ์ 6) ม.ราชภัฏภูเก็ต 7) ม.ราชภัฏมหาสารคาม 8) ม.ราชภัฏยะลา 9) ม.ราชภัฏราชนครินทร์ 10) ม.ราชภัฏลำปาง 11) ม.ราชภัฏรำไพพรรณี 12) ม.ราชภัฏสวนดุลิต 13) ม.ราชภัฏเลย 14) ม.ราชภัฏวไลยอลงกรณ์ 15) ม.ราชภัฏสงขลา 16) ม.ราชภัฏศรีสะเกษ 17) ม.ราชภัฏเชียงใหม่ 18) ม.ราชภัฏเชียงราย 19) ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช 20) ม.ราชภัฏนครราชสีมา 21) ม.ราชภัฏนครสวรรค์ 22) ม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา 23) ม.ราชภัฏกาญจนบุรี 24) ม.ราชภัฏชัยภูมิ 25) ม.ราชภัฏกำแพงเพชร 26) ม.ราชภัฏอุดรธานี 27) ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์ 28) ม.ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และ29) ม.ราชภัฏอุบลราชธานี
มหาวิทยาลัย/วิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ได้แก่ 1) ม.กรุงเทพ 2) ม.เซนต์จอห์น 3) ม.รังสิต 4) ม.ศรีปทุม 5) ม.นอร์ท-เชียงใหม่ 6) ม.สยาม 7) ม.หอการค้าไทย 8) ม.กรุงเทพธนบุรี 9) ม.อัสสัมชัญ 10) ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 11) ม.เจ้าพระยา 12) สถาบันรัชต์ภาคย์ 13) สถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ 14) สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ 15) วิทยาลัยเชียงราย และ 16) วิทยาลัยเซนต์หลุยส์
ทั้งนี้จำนวนสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย มีทั้งสิ้น 160 แห่ง โดยแบ่งเป็น มหาวิทยาลัยรัฐ 65 แห่ง, มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ม.นอกระบบ) 13 แห่ง, มหาวิทยาลัยเอกชน 38 แห่ง, วิทยาลัยเอกชน 25 แห่ง และวิทยาลัยชุมชนอีก 19 แห่ง (อ้างอิงข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา www.mua.go.th)