จริยธรรมสื่อ: การสื่อสารทางการเมือง โดย..ธาม เชื้อสถาปนศิริ
ในเวทีเสวนา เรื่อง ทิศทางสื่อไทยหลังเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง จะไปทางไหน ซึ่งจัดโดยเครือข่ายสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
บทความนี้มิใช่รายงานฉบับใหม่ของมีเดียมอนิเตอร์ แต่เป็นบทสังเคราะห์ส่วนตัวของผู้เขียนเกี่ยวกับบทบาทของสื่อในช่วงเฉพาะระยะเวลา ปี 2548 – 2554 นี้ มีหลายประเด็นที่สำคัญ ที่ควรพูดถึงเพื่อสื่อสารไปยังสื่อมวลชน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องจริยธรรมสื่อกับการเมือง
วัฏจักรการเมือง ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา มีครบ 4 ช่วงเหตุการณ์สำคัญ ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งใหญ่หลายครั้ง เลือกตั้งสว. ยุบสภา การชุมนุมทางการเมือง ฤดูกาลหาเสียง การอภิปรายไม่ไว้วางใจ และเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองทั่วไป 6 ปี 5 รัฐบาล
1. รัฐแทรกแซงสื่อสู่ รัฐใช้สื่อเป็นเครื่องมือ:
อันที่จริงทั้ง 2 ลักษณะนั้น มีผลบั้นปลายไม่ต่างกัน มองอย่างหยาบๆ ก็คือสื่อก็ถูกรัฐใช้เป็นเครื่องมือ แตกต่างกันเพียงแต่ว่า อย่างแรก สื่อโดนบังคับ อย่างหลัง สื่อสมยอม ด้วยความจำยอมหรือจำเป็นก็แล้วแต่ ซึ่งรัฐก็มักใช้อำนาจรัฐผ่านอำนาจทางการเมืองเข้ามาจัดสรรความสัมพันธ์ตรงนี้อย่างเหมาะเจาะกับแนวทางของรัฐบาลแต่ละสมัย
ช่วงปี รัฐบาลทักษิณ 2548 - 2549
เกิดสภาวะการแทรกแซงสื่อ ด้วยการใช้ การตลาด อำนาจทางการเมือง ทุน เข้าแทรกแซงสื่อ เช่น การแต่งตั้งนักการเมือง/นอมินี เข้าแทรกแซงบอร์ดบริหารสื่อของรัฐ (อ.ส.ม.ท.) หรือ ไอทีวี การเข้าซื้อหุ้นมติชน หรือถอดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์จากช่อง 9 อ.ส.ม.ท.
นอกจากนี้รายงานวิจัยและวงเสวนาทางวิชาการในช่วงนั้นหลายเวที ยังสรุปว่า อดีตนายกรัฐมนตรีใช้สื่อของเป็นเครื่องมือทางการเมือง การกำหนดวาระข่าวสาร การฟ้องร้องสื่อ เช่นกรณีการฟ้องร้องคุณสุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ และการกำหนดประเด็นวาระข่าวสาร เช่น การซื้อหุ้นลิเวอ์พูลเพื่อกลบข่าวไข้หวัดนก หรือการไม่ตอบคำถามของสื่อโดยอ้างว่าเป็นคำถามที่ไม่สร้างสรรค์
ช่วงปี รัฐบาลสุรยุทธ์ 2549 -2551 (คมช.)
เกิดสภาวะสุญญากาศ/จัดระเบียบสื่อ ด้วยการใช้ กฎหมายสื่อ ประกาศคณะปฏิวัติ และเริ่มต้นการใช้กฎหมายความมั่นคงเป็นเครื่องมือในการควบคุมนโยบายข่าวสารของสื่อโทรทัศน์ แต่ผลในเชิงปฏิบัติไม่ได้เห้นเป็นรูปธรรม และในช่วงรัฐบาลนี้ ได้คลอดกฎหมายสื่อที่สำคัญหลายฉบับเช่น พรบ.จดแจ้งการพิมพ์, พรบ.โทรทัศน์สาธารณะ, พรบ.การประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ หรือ พรบ.การกระทำความผิดคอมพิวเตอร์ หรือพรบ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ซึ่งกฎหมายหลายฉบับถือว่ายังมีปัญหาอยู่มากในเรื่องของอำนาจการบังคับใช้ตีความ เช่น กฎหมายคอมพิวเตอร์ และกฎหมายภาพยนตร์ ที่ได้รับเสียงต้านจากสื่อและประชาชนค่อนข้างมาก
ช่วงปี รัฐบาลนายกสมัคร (2551)
เกิดสภาวะการคุกคามสื่อ ด้วยการใช้ “วิวาทะ” ทางการเมืองโต้ตอบกับนักข่าว/ผู้สื่อข่าวโดยตรง ผ่านการให้สัมภาษณ์ ให้ข่าวหรือการจัดรายการวิทยุ – การแทรกแซง อ.ส.ม.ท. และทีวีไทย และวิทยุชุมชน/ท้องถิ่น
รายงานผลการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์สรุปว่า กลวิธีทางภาษาของนายสมัครนั้น ถือว่าเป็นการคุกคามสื่อในทางหนึ่งที่สำคัญ และความพยายามช่วงหนึ่งที่จะเปิดสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ โดยใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกฎหมายประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ 2551 ซึ่งผลของความพยามยามครั้งนั้นถูกทั้งกระแสนักวิชาการ และสื่อมวลชนต้านขนาดหนัก
ช่วงปี รัฐบาลนายกสมชาย (2551)
ความวุ่นวายทางการเมือง/การปะทะของม็อบ และข่าวสารเชิงสงคราม/ความรุนแรงทางการเมือง แต่ถือว่าเป็นเพียงการดำรงตำแหน่งระยะสั้นๆ ไม่มีเหตุการณ์การใช้สื่อที่เด่นชัด
ช่วงปี รัฐบาลอภิสิทธิ์ (2551-2554)
ความวุ่นวายทางการเมือง / การชุมนุมที่ปะทะกันรุนแรง หรือเหตุการณ์ที่ท่านนายกรัฐมนตรีเดินสายพบปะสื่อ ตั้งกรรมการปฏิรูปสื่อภาครัฐ – รายงานสรุปการปฏิรูปสื่อภาครัฐ ที่ได้ข้อสรุปแต่ไม่นำไปใช้จริงจัง และคณะกรรมการปฏิรูปสื่อ/จุฬาฯ ไม่ได้นำมาใช้งาน ก็อาจตอบคำถามเรื่องการปฏิรูปสื่อได้อย่างไม่ชัดเจน
ช่วงปี 2553 บทวิเคราะห์จากสื่อหลายชิ้นพุ่งเป้าไปที่รัฐมนตรีกำกับดูแลสื่อ ว่าการแต่งตั้งบอร์ดบริหารอ.ส.ม.ท. และ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์นั้นน่าจะมาจากเส้นสายบังคับบัญชาทางการเมืองมากกว่า
และการปิดวิทยุชุมชน (ตามกฎหมายความมั่นคง – กอ.รมน./ดีเอสไอ/กองทัพ) ที่กลุ่มคนเสื้อแดงอ้างว่าผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐอ้างว่าเนื้อหาขัดต่อความมั่นคงและเรื่องหมิ่นสถาบัน
สำหรับรัฐบาลสมัยคุณอภิสิทธิ์ อาจมีความชัดเจนว่าการกำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์นั้นย่อมเป็นไปตามอำนาจที่ทำได้ในเชิงการกำกับดูแลนโยบาย เพราะการกำเนิดของพรบ.การประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ 2551 ที่กำหนดให้หน่วยงานกสทช. เข้ามาดูแล ซึ่งอาจทำให้การแทรกแซงสื่อโดยรัฐลดลง
2. ข่าวชุมนุมที่ยังเน้นแต่ปรากฏการณ์และความขัดแย้ง:
ในช่วงเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง การให้ความสำคัญของข่าวการชุมนุมทางการเมืองของฟรีทีวี มักเน้นการให้พื้นที่ข่าวแก่คู่ขัดแย้งค่อนข้างสูง เช่น เสื้อเหลือง – รัฐบาล หรือ รัฐบาล – เสื้อแดง แต่มีข้อสังเกตว่า ประเด็นข่าวมักให้สำหรับลุ่มผู้ชุมนุมมากกว่าเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับรัฐบาล แต่หาพิจารณาเรื่องเสียงของแหล่งข่าวที่ถูถ่ายทอด ก็จะเป็นฝ่ายรัฐบาลที่ได้พื้นที่เสียงข่าวมากกว่าเสมอ
เนื้อหาของข่าวสารการชุมนุม ที่ผ่านมาสื่อมักเน้นเพียงการรายงานบรรยากาศ สถานการณ์ทั่วไปของการชุมนุมมากว่าที่จะรายงานเนื้อหาสาระของการชุมนุม อาจกล่าวได้ว่าขาดรายละเอียดสำคัญของวัตถุประสงค์ เป้าหมาย หรือการสืบค้นลงสาเหตุที่แท้จริง หรือคำอภิปรายโต้แย้งกล่าวหาของการชุมนุม แต่จะมุ่งประเด็นเรื่องการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับรัฐ หรือการรายงานบรรยากาศที่เกี่ยวข้องกับการปะทะ การสลายการชุมนุมเป็นหลัก
ลักษณะขาวชุมนุมทางการเมือง (ในฟรีทีวี) ช่วงปี 2548-2551
• เน้นประเด็นข่าวประเภทความเคลื่อนไหวเหตุการณ์ มากกว่า เนื้อหาสาระของความขัดแย้ง
• การรายงานข่าวเน้นการโต้ตอบทางการเมือง (วิวาทะ) จากฝ่ายต่างๆ
• บรรยากาศข่าว/การตั้งคำถามในการทำข่าว มักพูดเรื่องการสลายการชุมนุม และส่งสัญญาณความรุนแรง
• ยังขาดความเข้าใจการใช้คำเรียกฝ่ายทางการเมือง ภาษาทางการเมือง
• เน้นความรวดเร็ว/การใช้บรรยากาศข่าวมาร่วมรายงาน
• มีความผิดพลาดในการระบุจำนวนผู้ชุมนุม ไม่ระมัดระวังการใช้ภาษาในการรายงานข่าวที่อาจสร้างความโกรธเกลียดจากผู้ชุมนุม
ขณะที่ การรายงานข่าวเหตุการณ์ชุมนุมจากสื่อหนังสือพิมพ์ ก็มีลักษณะไม่แตกต่างกันมาก ดังนี้
• เน้นข่าวเหตุการณ์และเนื้อหาการโต้ตอบทางการเมืองของฝ่ายการเมืองต่างๆ
• ภาพข่าวเน้นบรรยากาศ ความยิ่งใหญ่ คึกคัก ตื่นเต้นของเหตุการณ์
• การรายงานข่าวใช้ภาษา ตื่นเต้น หวือหวา ตามลักษณะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
• บทวิเคราะห์ในหน้าหนังสือพิมพ์ โดยรวมค่อนข้างขาดมุมมองเชิงสมานฉันท์ แต่แบ่งฝ่ายกันชัดเจนในเล่มเดียวกัน (ต่างหน้า/ต่างกรอบ/ต่างคอลัมน์)
• เด่นเรื่องการใช้คำศัพท์เรียกฝ่ายทางการเมืองในลักษณะอคติ
• หนังสือพิมพ์หลายฉบับ นำเสนอข่าวด้านเดียว เช่น ผู้จัดการ หรือ โลกวันนี้ ที่สะท้อนสีทางการเมืองชัดเจน
• หนังสือพิมพ์น้อยฉบับที่มีบทวิเคราะห์สาธารณะทางการเมืองจากผู้อ่านหรือประชาชน
3. สื่อ - ช่วยตั้งรัฐบาลแต่ไม่ช่วยตรวจสอบ:
เมื่อปี 2551 ผลการศึกษาเรื่องบทบาทของหนังสือพิมพ์ในการจัดตั้งรัฐบาล พบว่าสื่อ (หนังสือพิมพ์) มีบทบาทในการนำเสนอข่าวเสมือนเป็น “ผู้จัดตั้งรัฐบาล” ด้วยการทำตนเป็นผู้รวมสมการทางคณิตศาสตร์วิเคราะห์การรวมพรรคจัดตั้งรัฐบาลอย่างขมีขมัน แต่กลับละเลยการวิเคราะห์นโยบายพรรคการเมืองต่างๆ อย่างจริงจัง การรายงานข่าว เน้นข่าวการเมืองที่ตัวบุคคล ความขัดแย้ง สีสันทางการเมือง ตลอดจนการสร้างสมการทางการเมืองขั้วฝ่ายต่างๆ
เนื้อหาที่สื่อหนังสือพิมพ์เน้นรายงาน ได้แก่ อันดับ 1 ปัญหา ความท้าทายและภารกิจของแต่ละกระทรวงหลังจัดตั้งรัฐบาล, อันดับ 2 เนื้อหาที่เกี่ยวกับข้อมูลเบื้องหลังของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง, อันดับ 3 คุณสมบัติของนักการเมืองที่จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการแต่ละกระทรวง, อันดับ 4 เนื้อหาที่เกี่ยวกับข้อมูลผลประโยชน์ของสาธารณะ และน้อยที่สุดคือ อันดับ 5 แนวความคิดทางการเมือง
และเนื้อหาด้านการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร หรือว่าที่การจัดตั้งรัฐมนตรี ก็จะมุ่งไปในแนวทาง
1) เน้นเสนอถึงความคาดหวังถึงคุณสมบัติที่เหมาะสมของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง
2) การวิเคราะห์คุณสมบัติ เพื่อให้เห็นสายสัมพันธ์ทางการเมืองมากกว่าประสบการณ์การทำงาน ประสบการณ์ทางการเมือง และประวัติเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นในอดีต รวมถึงคดีความที่ยังไม่ได้ตัดสินที่ติดตัวมา 3) เนื้อหาเกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรมที่พึงประสงค์ของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในการบริหารประเทศพบเป็นลำดับสุดท้าย
บทบาทสื่อในการรายงานข่าวช่วงหลังเหตุการณ์การเลือกตั้งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ แน่ว่าฝุ่นทางการเมืองในช่วงนี้คงตลบเพราะนักการเมืองมักวิ่งวุ่นเพื่อจับขั้วอำนาจทางการเมือง ว่าฝ่ายใดจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จก่อนกัน
ความเข้าใจต่อระบอบการเมืองในรัฐสภา จากที่ (1) สส. ผู้มีเอกสิทธิ์ ในการลงคะแนนว่าใครสมควรเป็นนายกรัฐมนตรีในสภา กับความเข้าใจโดยมารยาทว่า (2) พรรคที่ชนะการเลือกตั้งก็ต้องมีหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี กำลังสร้างความขัดแย้งรุนแรงอย่างหนักให้กับสังคมไทย ระหว่างภาพชัยชนะของพรรคการเมืองในสนามเลือกตั้ง กับภาพการลงคะแนนเสียงของสส.ในสนามรัฐสภา มักถูกสื่อนำเสนออย่างขาดความเข้าใจต่อประชาชนอย่างเพียงพอ เพราะสื่อมัวแต่ลุ้นตัวโก่งในฐานะผู้จัดการรัฐบาลด้วยการแย่งชิงความรวดเร็วในการเสนอข่าว แต่หลงลืมไปว่า ประชาชนรู้สึกนึกคิดเช่นไร พลันที่กาสิทธิ์ลงบนบัตรคะแนนเลือกตั้งไปแล้ว นักการเมืองก็หยุดสนใจพวกเขาหันมาต่อรองผลประโยชน์ของกลุ่มก๊วนต่างๆ ทางการเมือง
ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูในรายการข่าว ว่าสื่อมักจะสนใจเรื่องการจับกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าการเป็นตัวแทนในการพิทักษ์สิทธิ์เสียงของประชาชนเสมอ
ที่จริงข่าวบ้านเรา น่าจะรายงานว่า ใครทรยศเสียงประชาชน ใครละทิ้งอุดมการณ์เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและพวก หากทำเช่นนี้ ประชาชนส่วนหนึ่งคงได้ร้องพิทักษ์สิทธิ์พวกเขาต่อสส. เหล่านี้ได้บ้าง หรือมองว่าสื่อก็ยังให้ความสำคัญกับเสียงพวกเขาอยู่บ้าง มิใช่กลายเป็นพวกเดียวกับนักการเมืองไป
4. ละคร(น้ำเน่า?) การเมืองไทย :
ความเป็นละครในข่าวการเมือง (ช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง พ.ศ. 2551) ผลการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์อาจดูไม่เก่าเกินไปนัก หากนำเอามาอธิบายกับสถานการณ์ตรงนี้อีกครั้ง ว่าในการนำเสนอข่าวสารช่วงการหาเสียง การเลือกตั้ง สื่อมักทำสิ่งต่อไปนี้
• สื่อมักฉายภาพความขัดแย้ง การสร้างประเด็นข่าว ตามประเด็นข่าว ขยายความข่าว ที่เน้นเรื่องราวส่วนตัวบุคคล เน้นการโต้ตอบ และการสร้างภาพตัวละครทางการเมืองฝ่ายดี ฝ่ายร้าย ฝ่ายแฉ
• เป็นผลจากรูปแบบการนำเสนอรายการในปัจจุบันที่พยายามทำให้การรายงานข่าวมีความบันเทิงมากขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ดำเนินรายการแสดงความคิดเห็นต่อข่าวได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมาจากประเด็นข่าวและโครงเรื่องข่าวที่เน้นความขัดแย้งของนักการเมืองเป็นหลัก
• การสร้างบรรยากาศของข่าว อีกทั้งผู้ดำเนินรายการเองก็มีอคติในการรายงานข่าว ดังจะเห็นได้จากการแสดงท่าทีสนับสนุนแหล่งข่าวฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
• เน้นการรายงานข่าวแบบแข่งม้า และการนำเสนอความขัดแย้งระหว่างนักการเมือง
• เน้น โครงเรื่อง ความขัดแย้ง ไสยศาสตร์ ความเชื่อของนักการเมือง โชคลาง เน้นการแข่งขันแบบกีฬา (ฟุตบอล หรือ มวย)
• เรื่องราวที่นำเสนอจะไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดจบ ไม่มีไคลแม็กซ์ที่ชัดเจน นอกจากนี้รายการส่วนใหญ่พยายามทำให้เหตุการณ์มีความเข้มข้น ตื่นเต้นมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งใน วิธีการรายงานและในเรื่องราว ที่เหตุการณ์นั้นๆ ดำเนินไป ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดคลี่คลาย ไม่มีจุดจบที่ชัดเจน วนเป็นวงกลม อาจมีการเปลี่ยนตัวละครบ้าง แต่ความขัดแย้งที่นำเสนอก็คือเรื่องเดิมๆ มีลักษณะการนำเสนอมุขเดิมๆ
ลักษณะการรายงานข่าวช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่เน้นสีสันเช่นนี้ อาจเป็นไปอย่างปกติสำหรับสื่อทั่วโลก หรือเฉพาะสื่อไทยก็ไม่ทราบได้ ผู้เขียนนึกถึงคำวิพากษ์วิจารณ์ของท่านอดีตทูตสหรัฐอเมริกา ราฟล์ วอยช์ ที่พูดว่า “การเมืองไทยเหมือนละคร แต่ไม่ใช่ละครน้ำเน่านะ” ซึ่งท่านคงพูดจริงและพูดประชดในวรรคท้ายอย่างเจ็บแสบ
ตัวอย่างความเป็นละครในการเมืองที่เราสังเกตเห็นได้โดยง่ายก็เช่นลีลาหาเสียงของผู้สมัคร การแห่ การแต่งกายในวันรับสมัครผู้รับคัดเลือกตั้ง หรือภาพการนั่งโต๊ะแถลงข่าว การบีบน้ำตาเรียกร้องความสนใจทางการเมือง ตัวละครประชาชนที่เศร้า และมีเนื้อเรื่องน่าสนใจ ฯลฯ เหล่านี้กำลังเป็นละครการเมืองที่สำคัญที่ออกฉายในฤดูหาเสียงเลือกตั้ง และดูว่าสื่อเองบางส่วนก็พลอยร่วมกระบวนนี้ไปกับเขาด้วยการโหมสร้างบรรยากาศข่าว กระแสข่าวด้วยตัวเองเข้าไปทำโครงการรณรงค์ต่างๆ เสมือนข่าวภัยพิบัติต่างๆ แต่ละช่องแย่งเสียงและความสนใจของผู้ชมเพียงเพื่อเรตติ้งรายการข่าวของตน มากกว่าที่จะสนใจตรวจสอบเนื้อหาสาระของการเลือกตั้ง เบื้องลึกผลประโยชน์ของพรรคการเมืองต่างๆ
กลายเป็นละครการเมืองน้ำเน่าอีกเรื่อง ที่ได้ดูก่อนรายการละครหลังข่าวจริงๆ
5. สีที่ชัดเจนในสื่อเคเบิ้ลทีวี/ทีวีดาวเทียม:
การเกิดขึ้นของสื่อโทรทัศน์ดาวเทียมหรือเคเบิ้ลทีวีช่องรายการข่าวอย่าง ASTV PTV หรือช่อง Voice TV, Spring News, Asia Update หรือแม้แต่ช่องมหาดไทยชาแนล สะท้อนให้เห็นว่าช่องโทรทัศน์เหล่านี้เป็นช่องทางข่าวสารทางการเมืองเกิดขึ้นจากความต้องการหลุดพ้นสื่ออำนาจหลักอย่างฟรีทีวีหกช่อง เนื้อหาของโทรทัศน์ที่เกิดใหม่นี้ บ้างอ้างโดยกำเนิดตนว่าเป็นกลาง บ้างอ้างชัดเจนว่าเพื่อใครสีใด หรือที่แอบอิงฝ่ายการเมืองอย่างไม่ประกาศตน แต่ดูเนื้อหาที่นำเสนอก็ไม่ยากที่คาดเดาได้
ปรากฏการการณ์เกิดสื่อช่องทางใหม่นี้ดูจะมีปัญหาพอควร เนื่องจากแม้จะเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่หากมองในเรื่องคุณภาพพื้นฐานของข้อมูลข่าวสารที่สมดุล รอบด้าน ก็มิอาจทำได้เพียงพอ
ปัญหาคือของช่องสถานีเหล่านี้คือ ความฝักใฝ่ทางความคิดทางการเมืองที่ชัดเจน ซึ่งล้มล้างและไม่ตรงต้องกับหลักทฤษฎีสื่อสารพื้นฐานที่ยึดถือในเรื่องความเป็นกลาง เป็นวัตถุวิสัย และไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง ซึ่งนั่นอาจนำมาสู่การตั้งคำถามของคุณภาพเนื้อหาว่า
(1) มีความไม่รอบด้านของข้อมูลข่าวสาร
(2) ไม่ตรวจสอบความถูกถ้วนของข่าว (ไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนำเสนอ)
(3) นำเสนออย่างมีเป้าหมายทางการเมือง (โต้ตอบ สร้างฐานนิยม ทัศนคติ)
(4) ภาษาข่าวมีความเอนเอียง อคติ ไม่เป็นวัตถุวิสัยเพียงพอ
(5) หลีกเลี่ยงการตรวจสอบตนเอง หรือ ฝ่ายทางการเมืองของตน
(6) การรายงานข่าวแบบ War Journalism มากกว่า Peace Journalism
ปัญหาของเนื้อหาสื่อการเมืองในเคเบิ้ลทีวี หรือทีวาดาวเทียมนี้ แตกต่างจากการแทรกแซงสื่อของรัฐบาลในอดีต เพราะสถานีข่าวที่เกิดขึ้นใหม่นี้ ถือกำเนินเพราะเป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจน ไม่ได้ยึดถือแนวคิดเรื่องความเป็นกลางอีกต่อไป อาจเป็นสื่อ แต่มิใช่สื่อมวลชน เพราะภักดีต่อฐานเสียงผู้ชมซึ่งเกี่ยวพันใกล้ชิดกับฐานเสียงการเมือง นับเป็นกลวิธีทางการเมืองแบบใหม่ ที่ไม่ต้องแทรกแซงสื่ออีกต่อไป แต่ตั้งองค์กรสื่อขึ้นมาเพื่อรับใช้ฐานความคิดทางการเมืองไปเสียเลย
6. สื่อออนไลน์พื้นที่ใหม่แห่งความขัดแย้ง:
การใช้สื่อออนไลน์ทางการเมือง ด้วยสมมติฐานว่าอาจลดทอนความรุนแรงในสังคมให้น้อยลง เพราะข้อวิพากษ์ว่าสื่อกระแสหลักต่างก็เลือกข้างเลือกฝ่ายกันโดยมาก พื้นที่สื่อใหม่อย่างอินเตอร์เน็ตจึงดูเป็นทางออกของความขัดแย้งนี้ แต่ข้อเท็จจริงจากการศึกษาเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ เมื่อปี 2553 ช่วงเหตุการณ์การชุมนุม-สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง ผ่านสื่อทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค เว็บบอร์ดและฟอร์เวิร์ดเมล์ก็สะท้อนให้เห็นว่าสื่อใหม่ ก็กลายเป็นพื้นที่สงครามทางความคิดสีเสื้อทางการเมืองที่สำคัญ
ผลการศึกษาพบว่า หลายพันกระทู้ในเว็บบอร์ดพันทิปในช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงการชุมนุม เนื้อหาส่วนมากเป็นไปด้วยการประณาม ด่าทอ และตราหน้าอีกสีเสื้ออย่างรุนแรง ขณะที่เฟซบุ๊ค กว่า 1,800 ไซต์เพจที่ตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อแบ่งสีแบ่งฝ่ายชัดเจน แม้แต่ฟอร์เวิร์ดเมล์กว่า 43 ฉบับก็มีเนื้อหาทางการเมืองที่ส่งเวียนกันในโลกออนไลน์เพื่อสื่อสารเรื่องข้อเท็จจริงความขัดแย้งในมุมมองของแต่ละสี
ผลการศึกษาทั้งหมดรวมทั้งสื่อใหม่ อาจสะท้อนให้เห็นแนวคิดหนึ่งที่สำคัญ คือการรายงานข่าวภายใต้กรอบความคิดทางการเมืองที่ตายตัว แบ่งฝ่ายชัดเจน อาจเรียกเป็นความคิดยึดติดทางการเมือง (political framing) ที่เน้นนำเสนอความขัดแย้ง มองเหตุการณ์ต่างๆ อย่างแยกส่วน ขาดความลึก มิติเชิงเวลาสาเหตุของข่าว และนำเสนออย่างไม่มีเป้าหมายชัดเจนร่วมกัน และไม่รายงานจนสุดขอบทาง ไม่มีผู้รับผิดชอบทางการเมืองที่แท้จริง
7. ข้อเสนอต่อนักข่าวในการใช้สื่อเพื่อประชาธิปไตย
สิ่งที่นักข่าวควรจะทำ คือ ข่าวการเมืองที่ส่งเสริมประชาธิปไตย ดังนี้
1. นำเสนอข่าวอย่างสร้างสรรค์ ลดการสร้าง/ขยายความขัดแย้ง
2. ให้รายละเอียดภูมิหลังของเหตุการณ์ลงในข่าว เชิงประวัติศาสตร์มากขึ้น
3. ไม่รายงานข่าวตามสูตรการเล่าเรื่องแบบเดิม
4. ทำให้สถานการณ์การเมืองน่าสนใจและสำคัญในสายตาของประชาชน
5. อธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องราวที่เกิดขึ้นและอนาคตที่จะเป็น
6. การรายงานข่าวเชิงตีความ เชิงตรวจสอบวิเคราะห์มากขึ้น ลดการแสดงความคิดเห็น
ข้อเสนอแนะของรายงานผลการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ เสนอให้สื่อปรับปรุงสิ่งที่ยังขาด ในข่าวการเมืองเรื่องเลือกตั้งในสื่อบ้านเรา คือ
1. การให้ความรู้ระบบการเลือกตั้ง: เช่นระบบการเลือกตั้ง การแบ่งเขต จำนวนสส. ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ หรือระบบการทำงานของสส. บทบาทความรับผิดชอบ และการติดต่อร้องเรียน สิทธิหน้าที่ความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย
2. การนำเสนอข้อมูลของพรรคการเมือง : หรือแนวคิดอุดมการณ์ของพรรคการเมือง นโยบายหาเสียง
3. การนำเสนอข้อมูลของผู้สมัคร : เช่นเรื่องวุฒิการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน สายสัมพันธ์เบื้องหลังกับกลุ่มการเมือง ธุรกิจ
4. มูลเหตุเบื้องหลังของเหตุการณ์ทางการเมือง : เช่น เหตุการณ์ความรุนแรงทางการชุมนุมที่เกี่ยวข้อง เบื้องหลังการเจรจาต่อรองผลประโยชน์
5. การให้พื้นที่กับภาคประชาชน : เช่น เสียงหรือความต้องการของประชาชน เพราะการเลือกตั้งมิใช่เฉพาะการนำเสนอข่าวของพรรคการเมืองแต่ฝ่ายเดียว สื่อจำเป็นต้องมีพื้นที่สาธารณะให้กับประชาชนในการแสดงออกความคิดเห็น ข้อเท็จจริง หรือการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลด้วย
6. การทำงานของผู้สื่อข่าวผู้ประกาศข่าวผู้ดำเนินรายการ : เช่น การรายงานข่าวด้วยความเป็นธรรม เป็นวัตถุวิสัย ไม่เอนเอียงไปฝ่ายใด ปลอดอคติ
ข้างต้นเป็นข้อเสนอที่เรียกร้องต่อองค์กรสื่อเพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำงานด้านข่าวสารการเมือง โดยเฉพาะในสถานการณ์การเลือกตั้งปัจจุบัน อันที่จริงไม่ว่าสื่อจะยึดถือหลักความสมดุลเป็นกลางหรือไม่ เป็นสื่อการเมืองหรือไม่ แต่ถ้าพูดถึงหลักการพื้นฐานหน้าที่ของคนทำหน้าที่สื่อ ก็คงพูดเรื่อง “การนำเสนอความจริง” อย่างแท้จริง และก่อนที่จะนำเสนอความจริงที่ได้มานั้นก็ควรตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลนั้นก่อนที่จะนำเสนอ คำว่าจริยธรรม นั้น มิน่าจะใช่ความเชยที่สื่อมวลชนสมัยใหม่จะเลี่ยงปฏิบัติ หากแต่สื่อเก่าหรือสื่อใหม่จะสามารถดำรงอยู่อย่างยาวนานก็ด้วยความน่าเชื่อถือมากกว่า และหลักการดำรงความน่าเชื่อถือขององค์กรสื่อ ที่เรียกว่า “creditability” ก็น่าจะมาจากคุณภาพของเนื้อหาสาระที่สื่อนำเสนอ มิใช่มาจากความน่าเชื่อถือที่เป็น “โฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง” (propaganda) อย่างที่สื่อหลายองค์กรกำลังเป็นอยู่