เรื่อง เสรีภาพสื่อ-เสรีภาพประชาชน อุปสรรคที่ขัดต่อเจตนารมณ์ โดย บุญเลิศ คชายุทธเดช (ช้างใหญ่) จาก สถาบันพระปกเกล้า
เสรีภาพสื่อ-เสรีภาพประชาชน อุปสรรคที่ขัดต่อเจตนารมณ์
โดย บุญเลิศ คชายุทธเดช (ช้างใหญ่)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ได้รับการยอมรับว่า มีบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครอง สิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างสมบูรณ์ รวมทั้งสื่อสารมวลชนก็มีบทบัญญัติที่สร้างหลักประกันในการ ประกอบวิชาชีพไว้อย่างเต็มที่ เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้จึงหวังกันว่า สื่อมวลชนจะสามารถทำหน้าที่เสนอ ความจริงและตรวจสอบอำนาจรัฐให้มีประสิทธิภาพและมี ความซื่อสัตย์สุจริต แต่ในทางปฏิบัติ เกือบ 9 ปีเต็ม ก่อนรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชนจะถูกยกเลิกจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เสรีภาพสื่อหาได้ รับการคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็นไม่ ยังมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการที่ควรสำรวจเพื่อนำไปสู่การ ปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น
กล่าวกันจนติดปากและได้ยินได้ฟังกันมาตลอดเกือบ1 ทศวรรษว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 บัญญัติ เรื่องเสรีภาพสื่อมวลชน ไว้ในมาตรา 39, 40, 41 ซึ่งทั้ง 3 มาตรามีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน กล่าวคือ มาตรา 39ได้บัญญัติว่าด้วย เสรีภาพในการสื่อสารและข้อจำกัดเสรีภาพตามกฎหมาย มาตรา 40 ได้บัญญัติ ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระมาจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติและกำกับดูแลการ ประกอบกิจการเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ และมาตรา41 บัญญัติรับรองเสรีภาพผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ทั้งสื่อเอกชนและสื่อของรัฐ ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของเจ้าของและหน่วยงานรัฐ แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรม แห่งวิชาชีพ
ข้อเขียนนี้ ขอกล่าวถึงแต่เฉพาะ มาตรา 39 ที่ถือเป็น “มาตราแม่”ของสื่อมวลชนแต่ในทางปฏิบัติ กลับต้องติดขัดด้วยปัญหาและอุปสรรคมากมาย จนแม่ถูกละเมิดอย่างยับเยิน
เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน
กิจการสิ่งพิมพ์และหนังสือพิมพ์ได้ก่อกำเนิดขึ้นมาก่อนสื่ออิเลคทรอนิกอย่างวิทยุกระจายเสียงและ วิทยุโทรทัศน์ ประเทศไทยมีหนังสือพิมพ์เป็นครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาในปี 2407 ก็เริ่มมีกฎหมายและประกาศออกมาควบคุมการเสนอข่าวและการแสดงความคิดเห็น คนทำหนังสือพิมพ์ได้ใช้หนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองการปกครองซึ่งเกิดข้อขัดแย้งกับผู้มีอำนาจมาแต่สมัยก่อนเปลี่ยนแปลง2475และหลังจากเปลี่ยนแปลงมาเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภาก็ดูเหมือนการควบคุมการใช้เสรีภาพของหนังสือพิมพ์จะมากขึ้นกว่าเมื่อครั้งยังปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
รัฐธรรมนูญที่ใช้กันมาแต่ละฉบับ ตั้งแต่2475 เป็นต้นมานั้น แม้จะบัญญัติสิทธิ เสรีภาพของประชาชน รวมทั้งเสรีภาพของสื่อมวลชน อาจกล่าวได้ว่า เป็นการบัญญัติไปตามธรรมเนียม ในความเป็นจริง รัฐธรรมนูญมิได้มีความเป็นกฎหมายสูงสุดที่กฎหมาย กฏหรือข้อบังคับใดจะมีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมมิได้ดังที่ได้บัญญํติในหมวด 1 บททั่วไป ทั้งนี้ เป็นเพราะกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจำกัดอยู่แต่เฉพาะผู้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองและร่างขึ้นในสภาวะที่บ้านเมืองตกอยู่ภายใต้การปฏิวัติเสียเป็นส่วนใหญ่ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจึงหาไม่เจอ สิ่งที่ดูใหญ่กว่าและเหนือกว่ากลับกลายเป็นกฎหมายที่ใช้มาแต่เดิม และประการสำคัญคือความเคยชินของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ภายใต้การปกครองแบบอำนาจนิยม
มาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 อันเป็นมาตราแม่มีด้วยกัน 6 วรรค ดังนี้
บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจ หรือสุขภาพของประชาชน
การสั่งปิดโรงพิมพ์ สถานีวิทยุกระจายเสียง หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้
การให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือการรบแต่ทั้งนี้จะต้องกระทำ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามความในวรรคสอง
เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
การให้เงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นอุดหนุนหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นของเอกชนรัฐจะกระทำมิได้
เมื่อย้อนกลับไปดูบทบัญญัติว่าด้วยเสรีภาพสื่อมวลชนในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ จะพบว่า วรรคหนึ่งและวรรคสองแทบไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย รวมทั้งวรรคอื่นๆด้วย ยกเว้นเพียงวรรคสี่เท่านั้น ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 บัญญัติให้การเซนเซอร์ข่าวหรือบทความ จำกัดให้กระทำได้เฉพาะในยามบ้านเมืองเกิดภาวะสงครามและการเท่านั้น ในขณะที่รัฐธรรมนูญในอดีตยังให้รวมถึง สถานการณ์ฉุกเฉินและการประกาศกฏอัยการศึก เข้าไปด้วย การตัดเงื่อนไขใน 2 สถานการณ์นี้ออกไป สภาร่างรัฐธรรมนูญมุ่งหวังจะคุ้มครองเสรีภาพสื่อไม่ให้รัฐบาลแทรกแซงเสรีภาพสื่อมากเกินไป
แท้จริงแล้ว ในวรรคแรกของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มิได้คุ้มครองเฉพาะสื่อมวลชนเท่านั้น หากยังคุ้มครองประชาชนโดยทั่วไปด้วย ทั้งนี้ การพูด การแสดงความคิดเห็น การเขียน ประชาชนย่อมต้องมีเสรีภาพเหมือนกันทุกคน เมื่อมีคนไปทำหนังสือพิมพ์ หรือทำสื่อมวลชนแขนงอื่น เสรีภาพในเสนอ ข่าวสารและแสดงความคิดเห็นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีเสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็น เป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนถูกปิดปาก ห้ามพูด ห้ามแสดงความคิดเห็นจากการใช้อำนาจเผด็จการของผู้ปกครองแล้วหนังสือพิมพ์จะมีเสรี ภาพในการเสนอข่าวสาร การพิมพ์ การโฆษณา นี่เอง เป็นที่มาของคำกล่าวว่า เสรีภาพหนังสือพิมพ์คือเสรีภาพประชาชน ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง สิ่งที่ควบคู่ไปกับเสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็นของประชาชนก็คือสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ใครจะแสดงอำนาจบาตรใหญ่กำหนดให้ประชาชนรับรู้ได้แต่เฉพาะเรื่องนั้น ไม่ให้รับรู้เรื่องนี้ไม่ได้. กฎหมายลูกใหญ่กว่ากฎหมายแม่
เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน และเป็นการตอบสนองต่อสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญที่แสดงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนว่าอยู่ภายใต้การปกครองที่เป็นแบบอารยะหรืออยู่ภายใต้อำนาจที่คอยกดขี่ ข่มเหง คุกคาม รังแกประชาชนที่เห็นไม่ตรงกับรัฐบาลแล้วเผยอหน้า
ขึ้นมาโต้เถียง
การถูกจำกัดเสรีภาพของสื่อและของประชาชนที่จะพูด แสดงความเห็นหรือการรับรู้ข่าวสารเป็นเรื่องปกติ โดยมีกฎหมายมาบังคับ ดังที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือบงและสิทธิทางการเมืองข้อ 19กำหนดไว้ และรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับก็นำมาบัญญัติไว้ในวรรคที่ว่าด้วยการจำกัดเสรีภาพ จะต้องมีกฏหมายออกมารองรับเฉพาะเพื่อคุ้มครองรัฐและบุคคลแต่กฎหมายที่ใช้นั้นไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายอาญา, พ.ร.บ.การพิมพ์ 2484, พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2498 เป็นต้นได้ใช้มาเป็นเวลานาน มีเนื้อหาที่มุ่งจะให้ความคุ้มครองกับรัฐ (ผู้มีอำนาจ-เจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรม) มากกว่าประชาชน ส่งผลให้ประชาชนเข้าไม่ถึงเสรีภาพในการพูด การแสดงความคิดเห็น การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา หากประชาชนคนไหนหรือหนังสือพิมพ์หรือคนทำสื่อแขนงอื่นรายไหนพูด เขียน แสดงความเห็นที่ผู้มีอำนาจไม่สบอารมณ์ หงุดหงิด ไม่พอใจก็จะใช้กฎหมายหรืออำนาจเถื่อน เข้าคุกคามทำร้ายและจำกัดอิสรภาพทันที โดยที่รัฐธรรมนูญช่วยเหลืออะไรไม่ได้ เพราะไม่รู้จะไปร้องกับใคร หรือบางทียิ่งร้องก็ยิ่งโดนหนักกว่าเดิม
โดยหลักแล้ว กฎหมายที่ออกมาจะต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติหรือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงของรัฐก็ถูกตีความจากผู้มีอำนาจในการปกครองว่าตัวเองคือรัฐ ทั้งๆที่รัฐคือประเทศที่มีประชาชนเป็นเจ้าของ ผู้ปกครองเป็นคนส่วนน้อยที่ก้าวขึ้นมามีอำนาจซึ่งอาจมาตามครรลองที่ควรจะเป็นหรือมาโดยการเผด็จอำนาจที่ใช้อาวุธ การใช้อำนาจของผู้ปกครองเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการเซ็นเซอร์ข่าว การแจ้งข้อหาเพื่อจับกุมดำเนินคดีคนทำสื่อหรือประชาชนอย่างอยุติธรรมเกิดขึ้นโดยง่าย
กฎหมายที่ให้ความคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่นนั้นเป็นความจำเป็นเพราะสิทธิ เสรีภาพของคนทุกคนถือว่าต้องเท่าเทียม แต่ด้วยเหตุที่มนุษย์ในสังคมต้องพูดจาติดต่อสื่อสารถึงกัน และผู้มีอำนาจปกครองประเทศจะต้องอยู่ในสายตาของประชาชน และต้องพร้อมในการถูกซักถามด้วยความสงสัยในการใช้อำนาจและต้องเปิดใจกว้างรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือการด่าว่าจากประชาชนเพราะการใช้อำนาจนั้นเอาผลประโยชน์ของประเทศและความอย่าดีมีสุขของประชาชนเป็นเดิมพัน
แต่กฎหมายลูกอย่างประมวลกฎหมายอาญา ที่ว่าด้วย การหมิ่นประมาท ในมาตรา 326 ,328 หรือ329ที่เป็นข้อ
ยกเว้นซึ่งหนังสือพิมพ์และประชาชนที่ถูกกล่าวหาใช้เป็นข้อต่อสู้ มีดังนี้
มาตรา 329 ผู้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันจนเอง หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
และในมาตรา 330 ที่บัญญัติให้ผู้ถูกหาว่ากระทำผิดฐานหมิ่นประมาทมีหน้าที่พิสูจน์ว่า ข้อหาที่ว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ถึงจะไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้น เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
ในประมวลกฎหมายอาญาหรือแม้แต่ พ.ร.บ. การพิมพ์หรือกฏหมายลูกฉบับใดไม่ได้มีบทบัญญัติในลักษณะจำแนกแยกแยะความแตกต่างระหว่างผู้อำนาจในการปกครองประเทศหรือเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย หรือบุคคลสาธารณะ จะต้องถูกตรวจตรวจสอบจากสื่อและสังคมอย่างเต็มที่ทั้งหน้าที่การงานและเรื่องส่วนตัว กับคนธรรมดาเช่นพ่อค้า แม่ค้า ชาวบ้านทั่วไปที่ไม่มีใครรู้จัก ไม่ได้ใช้อำนาจรัฐ การถูกละเมิดสิทธิความเป็นอยู่ส่วนตัว อันกระทบต่อชื่อเสียง เกียรติยศ ย่อมถือเป็นเรื่องที่จะต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ซึ่งโดยสถานะ อำนาจ หน้าที่ไม่ได้มีผลกระทบต่อสาธารณชน หรือประเทศชาติ
รัฐธรรมนูญพ.ศ. 2540 มาตรา 34 บัญญัติเรื่องสิทธิส่วนบุคคลไว้ ดังนี้
สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง
การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวีใดไปยังสาธารณชน อันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือ ความเป็นอยู่ส่วนตัว จะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน
บทบัญญัตินี้โดยหลักย่อมถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นกฎหมายแม่และเป็นบทบัญญัติที่ขยายจาก วรรคสองของมาตรา 39 ที่บอกว่าให้มีกฎหมายมาจำกัดเสรีภาพในการพูด การแสดงความเห็น การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาได้เพื่อคุ้มครองสิทธิส่วนตัว
เมื่อไปดู ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการละเมิด มาตรา 423 บัญญัติ ดังนี้
ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความเป็นจริง เป็นที่เสียหายแก่ ชื่อเสียงหรือเกียรติยศของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหานแก่การทำมาหาได้ หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหาย อย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากจะควรรู้ได้ ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่า เป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาได้ทำให้ผู้นั้นต้องรับผิด ใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ก็มิได้มีจำแนกแยกแยะว่าผู้ถูกละเมิดเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติยศอันจะได้รับค่าสินไหมทดแทนนั้นควรจะแตกต่างกันระหว่างบุคคลธรรมดากับบุคคลสาธารณะซึ่งมีตำแหน่งและมีอำนาจรัฐ จึงมักจะปรากฏข่าวอยู่เสมอว่า นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี แจ้งความ ฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาทกับผู้ที่แสดง ความคิดเห็นและรวมถึงบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์เข้าไปด้วย มิหนำซ้ำยังเรียกค่าเสียหายเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท นอกจากนี้นักการเมืองยังดำเนินคดีกันเองในข้อหาหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหายเป็นร้อยล้านพันล้านบาท หนังสือพิมพ์ก็โดนพ่วงเข้าไปด้วย หรือไม่หนังสือพิมพ์ก็โดนบุคคลสาธารณะเหล่านี้ ฟ้องร้องเพื่อให้จำคุกและเรียกค่าเสียหายเป็นเงินมหาศาล
แม้จะอ้างว่า ตามกระบวนการยุติธรรมจะต้องทำให้เกิดความยุติธรรมขึ้นได้ในที่สุด แต่ก่อนจะ ถึงการพิพากษาของศาลฎีกาอันเป็นที่สุด ควรจะตอบคำถามเสียแต่ตอนนี้ว่าแล้วเสรีภาพของประชาชนและ เสรีภาพของสื่อที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองนั้นอยู่ที่ไหน ทำไมปล่อยให้เกิดการแจ้งความ ฟ้องร้องกัน ง่ายดาย ทั้งๆที่การใช้เสรีภาพนั้นเป็นเรื่องปกติวิสัยอันพึ่งกระทำ และไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งที่การดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทที่บุคคลสาธารณะกระทำกับสื่อโดยเจตนาทุจริตเพื่อกลั่นแกล้งหรือหรือต้องการสร้างความหวาดกลัวให้กับคนทำสื่อ เมื่อต่อสู้คดีกันไปแล้วศาลพิพากษายกฟ้องหรือไม่ถือเป็นการกระทำผิด แต่สื่อและผู้ถูกดำเนินคดีไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทนใดๆ ทั้งๆที่ต้องเสียเวลา เสียเงิน เสียขวัญกำลังใจ.
ข้อเสนอแนะ
ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนขอเสนอแนะเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 39 ดังนี้
1. ควรมีบทบัญญัติให้ความคุ้มครองกับสื่อมวลชนโดยเฉพาะซึ่งประกอบวิชาชีพในการเป็นสื่อกลางในการเสนอข่าวและย่อมแสดงความคิดเห็น ติชมเจ้าหน้าที่รัฐ อันหมายถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐ องค์กรอิสระ เพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวมและเพื่อการรับรู้ ข่าวสารของประชาชน การบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองชื่อเสียงเกียรติยศความเป็นอยู่ส่วนตัวและครอบครัว ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ข้อยกเว้นที่บัญญัติเพียงว่า “เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน”นั้นอาจแคบไปและมักเกิดข้อถกเถียงว่า ประโยชน์ต่อสาธารณชนนั้น คืออะไรและอย่างไร เมื่อยอมรับในบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน หากการนำเสนอข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นเป็นโดยสุจริตก็ไม่ควรที่จะถูกดำเนินคดีและควรจะบัญญัติข้อความเพิ่มเติม ให้ชัดเจน
2. กฏหมายที่ออกมาเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐอันทำให้สามารถจำกัดเสรีภาพของสื่อได้ โดยเฉพาะการตรวจข่าวหรือบทความก่อนนำเสนอในภาวะสงครามและการรบ ดังที่ปรากฏในมาตรา 39 นั้น
ภาวะสงครามเป็นที่เข้าใจได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกาศตามที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบกับการประกาศสงคราม ส่วนการรบนั้นไม่มีความชัดเจนว่าหมายถึงอะไร การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงต้องทำให้เกิดความชัดเจน
สำหรับการเซ็นเซอร์ในภาวะที่ประเทศใช้กฎอัยการศึกษาและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น มาตรา 39ได้ยกเลิกไปแล้ว แต่ในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548ที่ออกสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรกลับมีบทบัญญัติให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐตรวจข่าวหรือบทความได้ก่อนนำเสนอในสื่อซึ่งถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ประเด็นนี้ก็ควรจะต้องพูดกันให้ชัดเจนในการบันทึกเจตนารมณ์ขณะจัดทำรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้
3. ปัญหาสำคัญที่กระทบต่อเสรีภาพสื่อก็คือวิธีการปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม เช่นการไม่มีการไต่สวนมูลฟ้องที่จะให้ผู้กล่าวหาหมิ่นประมาทที่กระทำเพื่อส่วนรวมหรือทำตามวิชาชีพสื่อที่เกี่ยวกับประโยชน์ของสาธารณะได้นำพยานมาให้ปากคำเพื่อแสดงให้เห็นว่าได้ทำไปด้วยความสุจริต เมื่อไม่มีมูล ก็ควรจะตกคำแจ้งความหรือการฟ้องร้องนั้นเสีย
4. สื่อมวลชนด้านอิเลคทรอนิกส์ควรจะได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม