จดหมายเปิดผนึก เรื่อง คัดค้านการสูบน้ำที่ปนเปื้อนมลพิษเพื่อกู้นิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม และคัดค้านการส่งเสริมการ
จดหมายเปิดผนึก
วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2554
เรื่อง คัดค้านการสูบน้ำที่ปนเปื้อนมลพิษเพื่อกู้นิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม และคัดค้านการส่งเสริมการจัดทำคันกั้นน้ำถาวรเพื่อปกป้องอุตสาหกรรม แต่ละเลยทุกข์ของชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรม
เรียน นายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)
สำเนาเรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
ประธานกรรมการฯและผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ
ด้วยปรากฏชัดแจ้งในขณะนี้ว่านิคมอุตสาหกรรม หรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือสวนอุตสาหกรรม ที่ถูกน้ำท่วมในพื้นที่รองรับน้ำตามธรรมชาติ มีความพยายามที่จะฟื้นฟูกู้นิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดอยุธยาและปทุมธานี กันอย่างเร่งรีบ ความดังทราบแล้วนั้น แต่เนื่องจากพื้นที่ภายในนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมขังนั้น มีความเสี่ยงสูงที่จะปนเปื้อนสารเคมีอันตรายต่าง ๆ ที่เป็นวัตถุดิบและกากของเสียอุตสาหกรรมในโรงงานต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ดังนั้นความพยายามกู้คืนนิคมอุตสาหกรรมโดยการสูบน้ำออกนอกนิคมอุตสาหกรรม เพื่อทิ้งออกสู่ภายนอก โดยมิได้มีการบำบัดให้เป็นไปตามมาตรฐานก่อนนั้น ย่อมอาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพอนามัยของประชาชนในวงกว้าง และเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายโดยชัดแจ้ง หน่วยงานท่านในฐานะผู้กำกับดูแลย่อมต้องยับยั้งการกระทำดังกล่าว และต้องสั่งการให้ผู้ประกอบการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบ และปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายเสียก่อน
เหตุดังกล่าวสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ในฐานะองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการร้องเรียนจากประชาชนโดยรอบพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม หรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือสวนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ดังกล่าวข้างต้นว่าได้รับความเดือดร้อนและเสียหายอันเนื่องมาจากนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดังกล่าว สมาคมฯ จึงใคร่ร้องเรียนมายังท่าน เพื่อโปรดใช้อำนาจตามหน้าที่เพื่อดำเนินการหรือสั่งการ ดังนี้
1. ขอให้ตรวจสอบคุณภาพน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือสวนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ถูกน้ำท่วมแต่ละแห่งมีโรงงานที่มีสารเคมีและขยะอันตรายปนเปื้อน ทั้งที่เก็บสำรองและอยู่ระหว่างการดำเนินการผลิตจำนวนมากขณะที่น้ำท่วมมาอย่างฉับพลัน รวมทั้งของเสียที่อยู่ในกระบวนการบำบัด ก่อนการสูบน้ำออกสู่ชุมชน โดยขอให้มีการตรวจสอบข้อมูลและมีกระบวนการตรวจสอบความเป็นอันตรายในทางวิชาการอย่างครบถ้วนชัดเจน รวมถึงมีการจัดการบำบัดจนได้มาตรฐานก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกแล้วเท่านั้น
2. ให้มีนักวิชาการอิสระและตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่ชุมชนรอบนิคมฯเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในกระบวนการตรวจสอบ เพื่อประเมินข้อมูลและประเมินผลตรวจสอบในแต่ละนิคม เพื่อป้องกันผลเสียต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และสร้างความเชื่อมั่นต่อทุกภาคส่วน
3. ให้ตรวจสอบสุขภาพประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบหรือสัมผัสสารพิษโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม และมีมาตรการที่ชัดเจนในการฟื้นฟู เยียวยา และดูแลชุมชนที่อยู่รอบนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการในการเก็บกู้ของเสียอันตราย (ขยะอุตสาหกรรม) ที่หลุดรอดออกมาก่อนหน้านี้
4. ให้ยุติการส่งเสริม การอนุมัติหรือการอนุญาตการขยายนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือสวนอุตสาหกรรม หรือโครงการหรือกิจกรรมที่นำไปสู่การปิดกั้นหรือขวางกั้นทางน้ำ ของหน่วยงานใด ๆ ของภาครัฐในพื้นที่จังหวัดอยุธยา จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคกลางอย่างถาวร ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำในฤดูน้ำหลากโดยทันที รวมทั้งพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วย
5. ให้ยุติการส่งเสริมหรืออนุญาตให้นิคมอุตสาหกรรม หรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือสวนอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมที่ผ่านมา จัดทำกำแพงหรือคันกั้นน้ำถาวรโดยมิได้สนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนรอบข้างโดยเด็ดขาด จนกว่ารัฐบาลจะมีมาตรการและดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว เช่น มาตรากรภาษีคันกั้นน้ำ ฯลฯ ในการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางหรือพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ เป็นที่พอใจของชุมชนโดยรอบแล้ว เพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากคันกั้นน้ำดังกล่าว ที่จะมีต่อชุมชน และการดำเนินการดังกล่าวจะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเสียก่อน โดยต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจนได้ข้อยุติหรือผ่านความเห็นชอบร่วมกันก่อนแล้ว
สมาคมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับฟังข้อร้องเรียนดังกล่าวข้างต้น และนำไปสู่การสั่งการและหรือการปฏิบัติในการป้องกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในเร็ววันเสียก่อน หากท่านเพิกเฉยหรือละเว้นสมาคมฯ จำเป็นต้องใช้กระบวนการยุติธรรมทางปกครองเพื่อให้มีคำสั่งตามข้อร้องเรียนข้างต้น
ขอแสดงความนับถือ
นายศรีสุวรรณ จรรยา
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน