แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี: ขุมทรัพย์ที่เพิ่งค้นพบ โดย เดชรัต สุขกำเนิด
ในที่สุด สิ่งที่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมใฝ่ฝันมานานก็กลายเป็นความจริง เมื่อคณะรัฐมนตรีชุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ให้ความเห็นชอบแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีการกำหนดเป้าหมายระยะยาวอย่างชัดเจนว่า จะลดการใช้พลังงานลงให้ได้ร้อยละ 20 ในปีพ.ศ. 2573
แผนอนุรักษ์พลังงานฉบับนี้เริ่มต้นจากการวิเคราะห์ว่า เนื่องจากภาคอุตสาหกรรม ภาคอาคารธุรกิจ และภาคการขนส่ง เป็นภาคที่ใช้พลังงานมาก แถมยังเป็นภาคที่มีแนวโน้มจะใช้พลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ ภารกิจของการอนุรักษ์พลังงานประมาณร้อยละ 90 จึงต้องอยู่ที่ 3 ภาคนี้เป็นสำคัญ
แผนอนุรักษ์พลังงานเริ่มต้นจากการกำหนดเป้าหมายที่จะลดการใช้พลังงานต่อหน่วย GDP (ภาษาวิชาการ เรียกว่า ความเข้มข้นของการใช้พลังงาน) หรือพูดง่ายๆ จากเดิมที่ประเทศไทยเคยใช้พลังงาน 16.2 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบในการสร้างรายได้หนึ่งล้านบาทในปีพ.ศ. 2548 ให้ลดลงร้อยละ 25 เหลือ 12.1 ตันน้ำมันดิบต่อการสร้างรายได้หนึ่งล้านบาทในปีพ.ศ. 2573
การลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานดังกล่าว ทำให้ในปีพ.ศ.2573 ประเทศไทยจะใช้พลังงานน้อยลงจากที่คาดการณไว้เดิม 151 ล้านตันน้ำมันดิบ เหลือ 121 ล้านตันน้ำมันดิบ หรือลดลงไปประมาณ 30 ล้านตันน้ำมันดิบนั่นเอง
ขณะเดียวกัน แผนอนุรักษ์พลังงานก็ประเมินศักยภาพหรือความเป็นไปได้ทางเทคนิคพบว่า เราสามารถลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็นลงได้ถึง 36.5 ล้านตันน้ำมันดิบเลยทีเดียว
ดังนั้น เป้าหมายที่จะลดการใช้พลังงานลงให้ได้ 30 ล้านตัน จึงเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ แม้ว่าจะต้องเอาจริงจังกันอย่างมาก เนื่องจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ค่อนข้างใกล้เคียงกับศักยภาพที่จะประหยัดได้ (กล่าวคือ เป้าหมายดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 82 ของศักยภาพ)
นี่คือ สัญญาณของการเอาจริงจากภาครัฐ
ถามว่า แผนอนุรักษ์พลังงานจะมีประโยชน์อย่างไรต่อสังคมไทยขอตอบว่า แผนนี้จะช่วยให้ประเทศไทยประหยัดพลังงานได้ถึง 272,000 ล้านบาท/ปี เมื่อคิดโดยเฉลี่ยในระยะเวลา 20 ปี
ยิ่งไปกว่านั้น จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉลี่ยได้เกือบ 50 ล้านตันในแต่ละปี
ในภาคไฟฟ้า แผนอนุรักษ์พลังงานพบว่า มีศักยภาพที่จะลดความต้องการพลังงานไฟฟ้าได้ 84,140 ล้านหน่วยในปีพ.ศ. 2573 ซึ่งหากเทียบเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าจะสามารถลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุดได้กว่า 12,800 เมกะวัตต์เลยทีเดียว
หากเทียบตามแผนอนุรักษ์พลังงานดังกล่าว เป้าหมายในการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปี พ.ศ. 2573 จะเท่ากับ 10,502 เมกะวัตต์
ซึ่งหากรวมกำลังการผลิตสำรองที่ต้องเผื่อไว้อีกร้อยละ 15 (หรือเท่ากับ 1,575 เมกะวัตต์) ก็เท่ากับว่า แผนอนุรักษ์พลังงานช่วยให้เราลดความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ไปได้ถึง 12,077 เมกะวัตต์
หรือเท่ากับว่า เราสามารถยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 โรง (7,200 เมกะวัตต์) บวกกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง (5,000 เมกะวัตต์) ตามแผนพีดีพี2010 ไปได้เลยทีเดียว
ลองคิดดูว่าเราจะประหยัดเงินได้ของประเทศเท่าไร ช่วยลดโลกร้อนได้เท่าไร แถมยังลดทอนความขัดแย้งในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลงได้อีกด้วย
นี่คือ พลังอันยิ่งใหญ่ของการอนุรักษ์พลังงาน