หนังสือชุดการวิเคราะห์ช่องว่างทางนโยบาย เรื่องการขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการจัดบริการสาธารณะที่ดี เขียนโดย ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ และรศ.ดร.กอบกุล รายะนาคร
หนังสือชุดการวิเคราะห์ช่องว่างทางนโยบาย
เรื่องการขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการจัดบริการสาธารณะที่ดี
เขียนโดย ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ และรศ.ดร.กอบกุล รายะนาคร
สนับสนุนการจัดพิมพ์และเผยแพร่
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ภายใต้ แผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทย
เพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.)
สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สนสธ.)
1.ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีความสำคัญมากที่สุดด้านการจัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน และบทบาทนี้จะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต กระบวนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการดำเนินการอย่างจริงจังมาตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2540 ซึ่งบัญญัติเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ถึง 10 มาตรา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ยืนยันแนวคิดและหลักการกระจายอำนาจนี้ โดยมีบทบัญญัติที่ต้องการเพิ่มพลังและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ อปท. มากขึ้นไปอีก มาตรา78 (3) ซึ่งอยู่ในหมวดที่ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐ บัญญัติให้รัฐต้องกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วม
ในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและระบบสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความ
พร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น” บทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าอปท. จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนในท้องถิ่นใน
ทุกๆด้านในอนาคต ทั้งในด้านสังคม การสาธารณสุข การศึกษา วัฒนธรรมและการจัดการสิ่งแวดล้อม