เอกสารประกอบการสัมมนา แผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง เรื่อง บ้านฟากท่า ตำบลฟากท่า อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ บ้านแห่งการเรียนรู้ : ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน รู้คิด รู้ปฏิบัติ
บ้านฟากท่า ตำบลฟากท่า อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์
บ้านแห่งการเรียนรู้ : ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน รู้คิด รู้ปฏิบัติ
“บ้านแห่งการเรียนรู้” หรือศูนย์การเรียนรู้ชุมชน รู้คิด รู้ปฏิบัติ เมื่อประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว ชาวบ้านฟากท่ามีบรรพบุรุษที่อพยพมาจากหลวงพระบาง มาจากแนวลำน้ำโขงมาถึงเมืองปากกลาย ข้ามแนวเทือกเขาหลวงพระบางบริเวณภูดู่ ที่บ้านม่วงเจ็ดต้น ซึ่งเป็นเส้นทางโบราณ ได้เดินมาตามแนวลำน้ำปาด และมาตั้งหลักแหล่งถาวรแห่งแรกอยู่ริมน้ำปาด บริเวณบ้านฟากท่า และวังขวัญ ตำบลสองคอนในปัจจุบัน โดยมีคุ้มเจ้าเมืองอยู่บริเวณโรงเรียนวัดวังขวัญในปัจจุบัน สำหรับหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณบ้านฟากท่าในปัจจุบันนี้อยู่คนละฝั่งกับคุ้มเจ้าเมืองจึงเรียกว่า บ้านฟากท่า
ชุดความรู้
1) ชุดความรู้ของศูนย์การเรียนรู้ ความมีเสน่ห์อยู่ที่ความรู้ทั้งหลายได้กระจายอยู่ตามหมู่ต่าง ๆ ของตำบลฟากท่า ได้แก่
1.1) ชุดความรู้ว่าด้วยอาชีพในชุมชน ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงตำบลฟากท่า ได้แก่กระบวนการผลิตสุรากลั่นชุมชน โดยเฉพาะเรื่อง การหมักลูกแป้ง และการกลั่นสุราด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น การเลี้ยงปลา เลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ การเลี้ยงไก่ การเพาะเห็ด การผลิตน้ำยาเอนกประสงค์ และการแปรรูปถนอมอาหาร การเลี้ยงหมูหลุม การทำปุ๋ยอินทรีย์ การปลูกผักสวนครัวหน้าบ้าน การแปรรูปขนม โรงน้ำดื่ม การปลูกผักปลอดสารพิษ
1.2) ชุดความรู้ว่าด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ป่าชุมชน หมู่ที่ 1 บ้านฟากท่า และหมู่ที่ 6 บ้านโพนธาตุ พื้นที่ประมาณ 100 ไร่ และการจัดการขยะชุมชน การแยกขยะในครัวเรือน โครงการธนาคารขยะในโรงเรียน 5 โรงเรียน ในพื้นที่หมู่ 1,2,5,6 และ9
2) การเตรียมพื้นที่ก่อนการรับคณะศึกษาดูงาน
2.1) การเตรียมคน วิทยากรของศูนย์การเรียนรู้ตำบลฟากท่า กระจายกันอยู่ตามหมู่ต่าง ๆ ที่มีศูนย์การเรียนรู้ตามที่ได้กล่าวข้างต้น ซึ่งในแต่ละหมู่/แต่ละกิจกรรมจะมีสมาชิกประมาณ 10-25 คน ทุกคนสามารถบรรยายให้ความรู้ในเรื่องที่ตนทำได้ เช่น สมาชิกโรงกลั่นสุรา กลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้า ศูนย์สาธิตการตลาด เป็นต้น สำหรับการนำพาคณะศึกษาดูงานในพื้นที่ ศูนย์ฯได้เตรียมคนสำหรับให้ความรู้ครั้งละ 2-3 คน
2.2) การเตรียมกระบวนการเรียนรู้ มีการเตรียมสื่อ (เอกสารสรุปงาน/นิทรรศการ) เตรียมอุปกรณ์ และเตรียมพื้นที่สำหรับการถ่ายทอดความรู้ เพื่อให้คณะศึกษาดูงานได้เห็นภาพงานและเข้าใจมากขึ้น ได้แก่ ช่วงที่ 1 ภาพรวมของข้อมูลพื้นฐานตำบล กลุ่มกิจกรรมการดำเนินงาน โดยมีป้ายนิทรรศการกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินการในตำบลประกอบการบรรยาย
ช่วงที่ 2 ลงพื้นที่ดูงาน เช่น การทำสุรากลั่น การเพาะเห็ด มีการสาธิตให้ดู และบอกถึงขั้นตอนวิธีการ ซึ่งในขณะที่ดูงานจะมีการพูดคุย ตอบคำถามกันไปด้วย ช่วงที่ 3 สรุป เป็นช่วงตอบคำถาม ข้อสงสัยเพิ่มเติม และบรรยายถึงการเชื่อมโยงการทำงานจากกิจกรรมต่าง ๆ ในตำบล บางครั้งจะมีการจัดกระบวนการตามความสนใจของกลุ่มเป้ามาย เมื่อถึงช่วงลงดูงานในพื้นที่ก็จะให้กระจายไปตามกลุ่มกิจกรรม จากนั้นจึงให้กลับมาเจอกันที่จุดประสานงานกลาง ตามแผนภูมิกระบวนการให้การเรียนรู้ได้ ดังนี้
3) การบริหารจัดการ
งบประมาณสนับสนุน กิจกรรมในศูนย์การเรียนรู้ได้มาจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ภายใต้เครือข่ายแผนชีวิตชุมชน และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้การสนับสนุนเป็นทุนหมุนเวียน ค่าใช้จ่ายในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ยังไม่ได้จัดระบบเรื่องค่าบริหารจัดการสำหรับการศึกษาดูงาน ขึ้นอยู่กับคณะแต่ละคณะที่จะให้เป็นค่าอาหาร อาหารว่าง หรือค่าเสียสละเวลา
4) รูปแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
4.1) การเรียนรู้ภายในชุมชน มีการสอนเองภายใน จากคนที่สนใจในกิจกรรมต่าง ๆ โดยให้คนที่ทำเป็นแล้ว สอนคนที่ยังทำไม่เป็นหรือกำลังจะเป็น
4.2) การให้การเรียนรู้แก่ภายนอก ใช้รูปแบบการเรียนรู้ผ่านการให้ฟัง ให้ดู และให้พูดถามไถ่ หากคณะศึกษาดูงานมีเวลาให้มาก กระบวนการเรียนรู้ให้ครบถ้วน ถ้าคณะศึกษาดูงานมีเวลาน้อย ก็จะเป็นการพูดบรรยายให้ฟัง แล้วให้ดูของจริงในบริเวณใกล้ เสริมด้วยการนำของจริงที่สำเร็จแล้วมาตั้งโชว์ให้ดู นอกจากนั้นบ้านแห่งการเรียนรู้ ยังเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษา กศน.
ผลงานและกิจกรรมที่ชาวบ้านได้ร่วมกันปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
1) ชาวบ้านมีความตระหนักและตื่นตัวในการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรมร่วมกันในการส่งเสริมการประกอบอาชีพ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน การวางแผนการพัฒนาหมู่บ้านอย่างเข้มแข็งโดยการเข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมประชุมปรึกษาหารือ ร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหาเกิดกระบวนการจัดทำแผนชุมชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น
2) มีการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้ในการเกษตรกรรม การทำนา การปลูกพืชผสมผสาน การปลูกผักปลอดสารพิษ การปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ การผลิตของใช้ประจำวัน เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า น้ำปลา ทำให้ลดรายจ่ายในด้านการผลิตและค่าใช้จ่ายในครัวเรือนรวมทั้งลดภาระหนี้สินภายในครอบครัวลงได้
3) มีการทำเกษตรปลอดสารพิษ การทำนาโดยการใช้ ปุ๋ยหมัก น้ำหมัก การแปรรูปผลผลิตทางด้านการเกษตรอื่น ๆ ออกจำหน่ายภายในและภายนอกหมู่บ้าน เป็นอาชีพเสริมทำให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
4) ชาวบ้านมีระดับคุณธรรม จริยธรรม ความโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันมีความรักสมัครสมานสามัคคี รักใคร่ปองดอง ไม่ยุ่งเกี่ยวอบายมุข มีการแบ่งปัน การเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัว เพื่อร่วมกันรักษาผลประโยชน์ ส่วนรวม มีการสืบสานอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และ มิปัญญาท้องถิ่น
5) ศูนย์เรียนรู้จึง เป็นแหล่งเรียนรู้และขยายผลแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของครัวเรือน ทำให้รู้จักประหยัด อดออม ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพ
ปัจจัยความสำเร็จ
1. ศึกษาเรียนรู้ทดลองด้วยตนเอง จากประสบการณ์ จนทำให้เกิดผลกระทบมากมาย โดยเฉพาะปัญหาหนี้สิน จึงมีแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหา เริ่มจากการศึกษาเรียนรู้ และทดลองด้วยตนเองลองผิดลองถูก และทดลองมาเรื่อย ๆ ทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่ ๆ
2. มีนักวิชาการสนับสนุน การที่มีนักวิชาการคอยเป็นพี่เลี้ยงให้การสนับสนุนด้านความรู้ เทคนิคต่าง ๆ เช่น การทำการเกษตร เกษตรกรไม่สามารถหาค่าแร่ธาตุในดิน/การวิเคราะห์สารกำจัดศัตรูพืช เมื่อได้ความรู้แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับภูมิปัญญาที่มีอยู่ทำให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างสมดุลกับธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี ปลอดสารเคมี ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีความปลอดภัย
3. การจัดตั้งกลุ่ม เป็นการจัดตั้งกลุ่มคนที่มีปัญหาเดียวกัน รายได้ไม่พอกับ รายจ่าย เกิดปัญหาหนี้สินมากมาย เมื่อตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจึงได้คิดรวมกัน โดยไม่พึ่งพิงแหล่งทุนภายนอก นอกจากนี้มีการฝึกนิสัยของเด็กในชุมชนให้เกิดการรวมกลุ่ม
4. การทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย เมื่อตระหนักถึงภาระหนี้สินที่เป็นปัญหาหลักของครอบครัว จึงมีการทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย ของแต่ละวัน เพื่อจะได้ทราบว่าค่าใช้จ่ายของครอบครัวแล้วนำมาปรับใช้จ่ายในแต่ละวันให้สมดุลกับ การดำรงชีวิต ลดภาระหนี้สิน และเพื่อให้เงินเหลือเก็บ มีเงินออมไว้ใช้ในยามจำเป็น หรือใช้ในอนาคต