เอกสารประกอบการสัมมนา แผนชุมชนชีวิตพึ่งตนเอง เรื่อง ชุดความรู้สวัสดิการแรงงานนอกระบบ ต.ห้วยยาบ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน
ชุดความรู้สวัสดิการแรงงานนอกระบบ ต.ห้วยยาบ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน
ความหมายของคำนิยามแรงงานนอกระบบ
แรงงานนอกระบบ : ไม่ใช่แรงงานเถื่อน แรงงานพม่า แต่เป็นคนไทยที่เกิดมามีสัญชาติไทย เชื้อชาติไทย มีหน้าที่ทำการเกษตร ทอผ้า เย็บผ้า ตัดผม จักสาน รับจ้าง ทำขนม กรรมกรสามล้อ ฯลฯ ซึ่งแรงงานนอกระบบนี้เป็นแรงงานที่ไม่มีนายจ้าง มีรายได้ที่ไม่แน่นอน ไม่มีหลักประกันที่มั่นคง
การจัดตั้งเครือข่ายแรงงานนอกระบบ
ก้าวแรก : จุดเริ่มต้นเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ปี 2548 – 2549
เครือข่ายแรงงานนอกระบบตำบลห้วยธิ จากข้อมูลแผนชุมชนทำให้เห็นแรงงานที่อยู่นอกระบบ และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ให้ดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่ ต.ห้วยยาบ ภายใต้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตในการทำงานสำหรับแรงงานนอกระบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้แรงงานนอกระบบเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานให้มีความปลอดภัย โดยได้เริ่มต้นในกลุ่มสหกรณ์สตรีตัดเย็บเสื้อผ้า หมู่ 12 บ้านป่าหมอก และกลุ่มเกษตรพันธะสัญญา กลุ่มเลี้ยงสุกร หมู่ 1 บ้านแจ้ซ้อน ต.ห้วยยาบ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ซึ่งพบว่าแรงงานนอกระบบทั้งระดับผู้นำ และสมาชิกมีความสนใจเข้าร่วมสามารถพัฒนาทักษะสู่การเป็นวิทยากรชุมชนในเรื่องความปลอดภัยได้ และได้มีการขยายพื้นที่ดำเนินงานต่อ ในปี 2549 จำนวน 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย กลุ่มตัดเย็บ หมู่ 8 บ้านห้วยไซใต้ , หมู่ 9 บ้านห้วยไซกลาง , หมู่ 14 บ้านห้วยไซ , และหมู่ 15 บ้านห้วยไซสุขสวัสดิ์ โดยการสร้างความร่วมมือกับ อบต.ห้วยยาบ ให้เข้าร่วมกระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จนในที่สุด อบต.ห้วยยาบ ดำเนินการพัฒนานโยบายแผนงานงบประมาณ บทบาทของ อบต. และข้อบัญญัติตำบลเพื่อสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งขับเคลื่อนนโยบาย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ตลอดจนการริเริ่มสร้างสวัสดิการทางสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบภาคการผลิต ภาคเกษตรกรรม และกลุ่มอื่นๆ ส่วนด้านการพัฒนาศักยภาพของผู้นำกลุ่ม อบต. อสม. ได้เริ่มจัดตั้งอาสาสมัครความปลอดภัย (อชป.) ประจำกลุ่ม เพื่อเสริมสร้างผู้นำหรือแกนนำเป็นบุคคลตัวอย่างด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน และจัดทำพื้นที่นำร่อง 3 หมู่บ้าน (Best Practice)
บทเรียนที่ได้ คือ แรงงานนอกระบบได้มีโอกาสใช้ความสามารถทั้งการดูแลและเฝ้าระวังทางสุขภาพความปลอดภัยจาการทำงาน ความมั่นคงทางอาชีพ การจัดสวัสดิการกลุ่มเบื้องต้น เพื่อนำไปสู่การสร้างเงื่อนไขการรวมตัวเป็นเครือข่าย ประกอบด้วยนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทำให้แรงงานนอกระบบมีโอกาสในการสร้างความมั่นคงในการดำรงชีพมากขึ้น ทั้งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี
ก้าวที่ 2 กว่าจะมาเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชน: ปี 2550
จากการรวมตัวเพื่อสร้างพลังในการต่อรองของแรงงานนอกระบบ จนเกิดโครงการพัฒนานโยบายสาธารณะระดับท้องถิ่นด้านสวัสดิการสังคม สำหรับแรงงานนอกระบบและผู้ด้อยโอกาสในชุมชน” จากความร่วมมือทั้งแรงงานนอกระบบ ชุมชนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ อปท. เพื่อการผลักดันให้เกิดการจัดสวัสดิการชุมชนสำหรับแรงงานนอกระบบและชุมชน โดยการเชื่อมเข้ากับมิติเพศภาวะ (Gender) ซึ่งสามารถสรุปผลการจัดกิจกรรมได้ดังนี้
ระยะที่ 1 จัดทำกิจกรรมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นแรงงานนอกระบบกับการสร้างความมั่นคงและการมีส่วนร่วมของชุมชน ประชุมเชิงปฏิบัติการการจัด “การจัดสวัสดิการสังคมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ได้มีแผนงานพัฒนารูปแบบสวัสดิการสังคมร่วมกัน โดยการเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบการจัดสวัสดิการสังคม ในนาม “กองทุนสวัสดิการชุมชน ตำบล…”
ระยะที่ 2 กิจกรรมพัฒนากลไกการขับเคลื่อนสวัสดิการสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบได้มีการผลักดันสวัสดิการสังคมให้เป็นนโยบายของ อปท. ในรูปแบบของเครือข่ายแรงงานนอกระบบ และได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนร่วมกับผู้นำชุมชนทางการและผู้นำทางธรรมชาติ โดยได้เลือกตัวแทนมา “คณะทำงานกองทุนสวัสดิการชุมชน”
ระยะที่ 3 กิจกรรมสนับสนุนการศึกษารูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมกับพื้นที่ได้เชิญวิทยากรด้านสวัสดิการสังคม คือ คุณสามารถ พุทธา มาให้ความรู้กับผู้นำชุมชนในพื้นที่นำร่อง รูปแบบการจัดสวัสดิการ การผลักดันการจัดสวัสดิการสังคมอันจะสามารถนำไปเชื่อมต่อกับการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ พร้อมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชน ต.ห้วยยาบ
ระยะที่ 4 สนับสนุนให้รณรงค์สร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการกับชุมชนในกลุ่มเป้าหมาย คณะทำงานกองทุนสวัสดิการชุมชน ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ครบทั้ง 16 หมู่บ้าน มีกลุ่มแกนนำหมู่บ้านที่สนใจและจะไปสร้างความเข้าใจกับชุมชนต่อในพื้นที่ พร้อมทั้งคณะกรรมการกองทุนฯ ได้มีการรวบรวมรายชื่อผู้ที่สนใจสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯ
ระยะที่ 5 กิจกรรมสรรหาแกนนำมาเป็นคณะทำงานกองทุนฯ มีแกนนำที่สนใจเข้ามาเป็นคณะทำงานกองทุนฯ ประกอบด้วยประธานกลุ่มอาชีพ สมาชิกอบต. ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหาร อบต. เจ้าหน้าที่ อบต. เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย กำนัน ทั้ง 2 ตำบลได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “คณะทำงานชุดอำนวยการ” ในแต่ละพื้นที่
ระยะที่ 6 การเข้ามามีส่วนร่วมของ อบต.ห้วยยาบ จากการดำเนินงานของกองทุนฯ ได้ระยะหนึ่ง อบต.ห้วยยาบ จึงเล็งเห็นความสำคัญโดยการสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน ต.ห้วยยาบ ด้านงบประมาณสมทบในอัตราส่วนการออมของสมาชิกสมทบ 1:1 (คือสมาชิกออมสมทบ 100 บาท อบต.สมทบ 100 บาท) และได้ตั้งข้อบัญญัติต่อเนื่องจากกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน และอบต. ได้ระบุไว้ในแผนงานสร้างความเข้มแข็งชุมชน ระบุให้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการฝึกอบรมให้ความรู้ ความปลอดภัยในการทำงานของกลุ่มอาชีพ ตั้งไว้ 20,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพ ผลกระทบจากการทำงาน
ก้าวที่ 3 ก้าวเล็กๆ ที่มั่นคง ปี 2551
ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลห้วยยาบ ได้ระดมสมาชิกร่วมกันออมเงิน เดือนละ 30 บาท เพื่อช่วยเหลือกันและจัดสวัสดิการชุมชน มีสมาชิกจำนวน 407 คน และยอดเงินออมจำนวน 233,447.10 บาท ภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการระดับตำบล คณะกรรมการกองทุนระดับหมู่บ้าน และคณะกรรมการชุดอำนวยการ
1) เงื่อนไขการจัดสวัสดิการเงินสมทบ
1. สมาชิกออมเงินวันละ 1 บาท (เดือนละ 30 บาท)
2. จัดสรร 30 % เป็นกองทุนครบวงจรชีวิต
3. จัดสรร 30 % เป็นกองทุนกลาง
4. จัดสรร 20 % เป็นกองทุนธุรกิจชุมชน
5. จัดสรร 15 % เป็นกองทุนชราภาพ
6. จัดสรร 5 % เป็นกองทุนสุขภาพท้องถิ่น
7. จัดสรร 5 บาท/เดือน เป็นค่าบริหารจัดการสำหรับคณะกรรมการ
7.1 จัดสรร 2.50 บาท สำหรับคระกรรมการกองทุนระดับหมู่บ้าน
7.2 จัดสรร 1.25 บาท สำหรับคณะกรรมการกองทุนระดับตำบล
7.3 จัดสรร 1.25 บาท สำหรับสมทบการเป็นสมาชิกเครือข่ายแรงงานนอกระบบ
2) กลไกการขับเคลื่อนกองทุนฯ
- ทางนโยบายระดับท้องถิ่น จะมุ่งให้เกิดการปรับนโยบายด้านการสวัสดิการสังคม ที่มีตัวแทนชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ และการเหมาะสมกับเพศภาวะ โดยมีคณะทำงานอำนวยการ ซึ่งมีนายกฯ และทีมบริหาร เจ้าหน้าที่ จาก อบต.ห้วยยาบ เป็นผู้ดำเนินงาน
- ทางปฏิบัติการ มุ่งสร้างความเข้าใจในการจัดสวัสดิการสังคมให้กับชุมชน และเป็นผู้ทำหน้าที่บริหารจัดการงานกองทุนฯ โดยมีคณะทำงานระดับปฏิบัติการเป็นผู้ดำเนินงาน ซึ่งประกอบด้วย แกนนำชุมชนจากแต่ละหมู่บ้านเข้ามาทำงานร่วมกัน
- คณะกรรมการกองทุนฯ ในแต่ละหมู่บ้าน ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานประโยชน์ให้กับสมาชิก ในหมู่บ้านนั้นๆ ดำเนินการไปแล้ว 12 หมู่บ้าน เหลืออีก 4 หมู่บ้าน
3) สิทธิประโยชน์ของกองทุนฯ
จากเป้าหมายที่จะจัดสวัสดิการให้ชุมชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาระรับผิดชอบด้านแรงงาน คณะทำงานจึงได้ร่างสิทธิประโยชน์ของการเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนฯ ขึ้นมาครอบคลุม
1. ครบวงจรชีวิต ( เกิด – แก่ – เจ็บ – ตาย )
2. การพัฒนางานอาชีพที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน
3. การสร้างเสริม ป้องกัน ฟื้นฟู สุขภาพ
4. การสะสมทุนระยะยาวเมื่อยามชราภาพ