เอกสารประกอบการสัมมนา แผนชุมชนชีวิตพึ่งตนเอง เรื่อง เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ตำบลบ้านแท่น อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ
เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ตำบลบ้านแท่น อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ
แต่ก่อนพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ทำนามาโดยตลอด สภาพพื้นที่เป็นดินเหนียวปนทราย ปลูกข้าวก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควรประชาชนยากจนส่วนมากจะไปทำงานรับจ้างต่างจังหวัด และอาชีพทำนามีปัญหามากมาย เช่น ภัยแล้ง ราคาข้าวตกต่ำ ปุ๋ยเคมีราคาสูงมากเกินไป
เกษตรอินทรีย์
จุดเริ่มจากครอบครัวของนายบุญมี นามวงศ์ และ นางทองสุข นามวงศ์ สองสามีภรรยาประชากรหมู่ที่ 9 บ้านหนองผักหลอด ตำบลบ้านแท่น อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเคยเป็นลูกจ้างทำสวนไม้ผล คือ มะม่วง ที่ปลูกในพื้นที่แต่ประสบปัญหาต่าง ๆ ทำให้เจ้าของสวนมะม่วงเลิกกิจการไป นายบุญมี นามวงศ์ ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานเกษตรเกี่ยวกับไม้ผลที่อำเภอสามพราน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกส้มโอมีรสชาติดีมากที่สุดของประเทศ ซึ่งมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับไม้ผลอยู่แล้ว และประกอบกับเป็นที่ชอบงานด้านไม้ผลอยู่แล้ว จึงมีความสนใจที่จะนำองค์ความรู้มาประกอบอาชีพของตัวเอง
วิธีการดำเนินการ
ข้อมูลพื้นฐานเกษตรอินทรีย์พื้นที่นำร่อง จากการเก็บข้อมูลแผนชีวิตชุมชน ตำบลบ้านแท่น เมื่อปี พ.ศ. 2545 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนการลงทุนเพื่อสังคม (SIF) โดยตำบลบ้านแท่นขยายผลจากตำบลนางแดด อำเภอนางแดด จังหวัดชัยภูมิได้เก็บข้อมูลทั้งตำบล 16 หมู่บ้านและจากข้อมูลที่ได้รับ ทำให้ทราบว่าค่าปุ๋ยเคมี ค่ายาเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นปัจจัยสำคัญในการลงทุนมีราคาสูงทางศูนย์การเรียนรู้ จึงหาวิธีที่จะแก้ปัญหาโดยการส่งวิทยากรตำบลไปอบรมทำปุ๋ยหมักปุ๋ยชีวภาพ จนถึงขบวนการอัดเม็ด เมื่อเป็นผลสำเร็จและทดลองใช้ในแปลงสาธิตนาข้าว (แปลงสาธิตเกษตรอินทรีย์) ในพื้นที่นาของศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี ตำบลบ้านแท่น ปรากฏว่าได้ผลดีขึ้นกว่าเดิม สภาพดินดี สิ่งแวดล้อมดีขึ้น มีกบ เขียด ปู ปลา ไส้เดือนดินเกิดขึ้นในนาผลผลิตเมล็ดข้าวมีน้ำหนัก ปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ไม่มีโรค ดังนั้นในปี 2547 จึงคิดขยายพื้นที่ไปสู่กลุ่มไม้ผลส้มโอ ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่มีชื่อเสียงของอำเภอบ้านแท่น และเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของตำบลบ้านแท่น จึงขออนุญาตใช้สวนส้มโอของนายบุญมี นามวงศ์ หมู่ที่ 9 ตำบลบ้านแท่น อำเภอบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ เป็นแปลงสาธิตเกษตรอินทรีย์ โดยอาศัยปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพจากศูนย์การเรียนรู้ฯ
กระบวนการมีส่วนร่วม
จัดตั้งโรงเรียนเกษตรกร เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานในชุมชนให้มีความรู้ความก้าวหน้าในวิชาการด้านการเกษตร เรื่องการดำเนินการเรื่อง โรคพืช ศัตรูพืช ให้เข้าถึงวิธีป้องกันและรักษา อาการขาดธาตุอาหารของพืชแต่ละชนิด แบ่งกลุ่มสมาชิกรับผิดชอบผลผลิตและคุณภาพของตัวเองให้มีประสิทธิภาพ เคารพกฎ กติกาของกลุ่ม
ผลที่เกิดจากกิจกรรม
ลดรายจ่าย เนื่องจากลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี ยาเคมี หันมาใช้ปุยชีวภาพทำเองใช้เอง สมาชิกใน กลุ่มช่วยงานกันแบบมีส่วนร่วม ราคามาปุ๋ยชีวภาพถูกว่าปุ๋ยเคมี ทำให้ลดค่าใช้จ่ายลงเพิ่มรายได้ เมื่อลดรายจ่ายจากการใช้ปุ๋ยเคมี ยาเคมีลงได้ ทำให้มีรายได้เหลือมาก ประกอบกับการใช้ปุ๋ยชีวภาพทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดี ทำให้ขายง่ายตลาดต้องการ จึงทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นลดการว่างงาน สมาชิกในกลุ่มรับจ้างกันเองรวมไปถึงผู้คนในชุมชนที่มารับจ้างทำทุกอย่างในสวนจะเน้นคนในชุมชนของตนเองเพื่อเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
สรุปผลที่เกิดขึ้น
เกษตรอินทรีย์เป็นไปตามเกณฑ์ตัวชี้วัด คืนธรรมชาติให้กับระบบนิเวศน์ทำให้ คุณภาพชีวิตของชุมชนดีขึ้น แก้ไขปัญหาความยากจนของชุมชนได้ แม้ผลที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมจะไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มองภาพรวมความเป็นจริงของชุมชน สรุปได้ว่าจุดเริ่มต้นของเกษตรชีวภาพ เริ่มจากภายในหมู่บ้านแล้วขยายวงออกเป็น ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด จากการรวมกลุ่มดำเนินกิจกรรมทำปุ๋ยชีวภาพ ทำให้กลุ่มไดรับรางวัลต่าง ๆ มากมายที่เป็นหลักประกันได้ว่าแนวทางการดำเนินงานกิจกรรมกลุ่มที่ทำอยู่เน้นการสร้างสรรค์ ความสามัคคี เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ได้แก่
- ยึดหลักการเศรษฐกิจพอเพียง
- เกิดการพึ่งพาตนเอง
- เกิดการรวมกลุ่ม ความสามัคคี พึ่งพาซึ่งกันและกัน
- เกิดภูมิปัญญา
- การสร้างเครือข่าย
- เกิดกระบวนการผู้นำ
- เกิดการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม