เอกสารประกอบการสัมมนา แผนชุมชนชีวิตพึ่งตนเอง เรื่อง พื้นที่ตัวอย่าง หมู่บ้าน/ชุมชนแห่งการเรียนรู้ภาคกลาง
บ้านยางทอง ตำบลบางเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง
ตำบลบางเจ้าฉ่าเป็นชุมชนที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านได้เคยร่วมกับชาวแขวงเมืองวิเศษชัยชาญและชาวบ้านบางระจัน สู้รบกับทหารพม่า ณ บ้านบางระจัน โดยมี “นายฉ่า” เป็นผู้นำ นายฉ่านั้นพื้นเพเป็นคนสีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทอง ภายหลังการสู้รบยุติลง “นายฉ่า” จึงได้นำชาวบ้านมาตั้งบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัยถาวรขึ้นในชุมชนด้านทิศตะวันตกของลุ่มน้ำน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่ตั้งเป็นที่อยู่อาศัย แต่เดิมเรียกว่า “บ้านสามเรือน” เพราะเริ่มแรกมีบ้านเพียงสามหลังเท่านั้น ปัจจุบันเรียกเป็นชื่อตำบลว่า “ตำบลบางเจ้าฉ่า”
บ้านยางทอง เนื่องจากในอดีตมีต้นยางขึ้นอยู่มาก จนชาวบ้านเรียกว่าบ้านยางทองจนถึงปัจจุบันนี้ และยังคงมีต้นยางให้เห็นอยู่หลายต้น ซึ่งต้นยางที่ใหญ่ที่สุดในหมู่บ้านคู่หนึ่ง และได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ว่า เป็นต้นยางที่ใหญ่เป็นอันอับที่ 4 ของประเทศไทย
กระบวนการแผนชีวิตชุมชนและชุมชนมีส่วนร่วม
1. ริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ สู่การเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคมที่ดีกว่าเดิม
2. เปลี่ยนแปลงรูปแบบวัฒนธรรมเดิมที่สร้างความล้มเหลวในอดีตที่ผ่านมา
3. กระจายการรับผิดชอบ การคิด การปฏิบัติ โดยใช้ชุมชนเป็นแกนหลัก
4. สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอก
5. ค้นหาเครื่องมือในการจัดระบบตนเองและชุมชน
6. การค้นหาทุนทางสังคมเพื่อการพัฒนายกระดับต่อยอดงานเดิม
7. การไม่วิ่งตามกระแสและนโยบายที่นำพาชุมชนล่มสลายเหมือนอดีต
8. น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติในกลุ่มเป้าหมาย และปัญหาอย่างมีขั้นตอนคือ
- แก้ปัญหาขั้นพื้นฐาน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ โดยใช้การเรียนรู้ นำสู่การสงเคราะห์
- ขั้นยกระดับ พัฒนาภูมิปัญญา พัฒนาทุนเดิม พัฒนาระบบการคิด ระบบแผน การจัดการ
- เพิ่มขีดความสามารถในการกำหนดทิศทางสู่การแข่งขันกับภายนอก
กิจกรรมที่เกิดภายใต้แผนชุมชน
1) ผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นคำขวัญของจังหวัดอ่างทอง “ โด่งดังจักสาน” คือหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่ เป็นของใช้ ของฝาก ของที่ระลึก รูปแบบต่าง ๆ เช่น กระบุง กระจาด กระเช้า ป้านน้ำชา กระเป๋าถือสุภาพสตรี กล่องใส่เอกสาร พัด เป็นต้น ประชาชนในหมู่บ้านส่วนใหญ่มีความสามรถในการจักสานไม้ไผ่ เป็นของใช้ในครัวเรือน และพัฒนารูปแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ เป็นกระเป๋าถือสุภาพสตรี หลากหลายรูปแบบ
2) สถานที่ท่องเที่ยว/การบริการ
- ท่องเที่ยวเชิงเกษตร นั่งทัวร์เกษตร (อีแต๋นทัวร์) ชมสวน ชิมผลไม้ (ตามฤดูกาล)
- หมู่บ้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ชมหมู่บ้านหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่
- หมู่บ้าน OTOP ต้นแบบ ศึกษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาการจักสาน ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ชมและเลือกซื้อสินค้า OTOP
- บ้านพักโฮมสเตย์ บางเจ้าฉ่าโฮมสเตย์
กิจกรรมตามแผนชุมชนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
1) การลดรายจ่าย ชาวบ้านยางทองมีแนวคิดว่าการลดรายจ่ายด้วยการสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต หรือต้องใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งเคยหาซื้อจากตลาดมา ใช้จะต้องเปลี่ยนมาทำกินเองทำใช้เอง เช่น ปลูกพืชผักสวนครัว ทำขนมพื้นบ้าน ทำแชมพูสระผม น้ำยาล้างจาน เป็นต้น และลดหรือเลิกหาซื้อสิ่งฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็นให้น้อยลง เช่น โทรทัศน์ วิทยุ เครื่องเล่นวีดีโอ โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น รวมทั้งรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ให้ทำร้ายตนเองด้วยการกิน การดื่ม หรือใช้สิ่งใดๆ ที่จะทำให้สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง เช่น เลิกดื่มเหล้า เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลัง แต่ดื่มน้ำสมุนไพรหรือน้ำผลไม้ที่ทำจากผลไม้ที่มีอยู่ในหมู่บ้าน เป็นต้น เรียนรู้การดำรงชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการพึ่งตนเอง การฝึกอบรมอาชีพ การพัฒนาอาชีพ เช่น ปลูกพืชผักสวนครัว ถั่วฝักยาวพริก มะเขือ ปลูกข้าวโพด และใช้ปุ๋ยชีวภาพ จักสาน ร้อยละ 95 ของครัวเรือน
2) การเพิ่มรายได้ ชาวบ้านยางทองมีแนวคิดว่าการเพิ่มรายได้ทำได้ด้วยการลดต้นทุนการผลิต ของการหารายได้ คือต้นทุนการทำจักสานและการทำนา ทำสวน นอกจากนี้ การพัฒนาอื่นๆ ที่เป็นแหล่งรายได้และยังเป็นปัญหาที่ชาวบ้านยางทองประสบอยู่ด้วย คือ การปรับภูมิทัศน์หรือสภาพแวดล้อมของหมู่บ้านให้สวยงาม น่าดู น่าอยู่ เช่น กำจัดขยะ ปลูกต้นไม้ให้สวยงาม รวมทั้งการการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในหมู่บ้าน เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า หรือถนน และการอนุรักษ์ถ่ายทอดภูมิปัญญาพื้นบ้าน เพื่อให้เป็นภูมิปัญญาเป็นส่วนหนึ่งของการหารายได้จากการท่องเที่ยวเพราะบ้านยางทองเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว
3) การออม มีการวางแผนการใช้จ่ายเงิน และการจัดทำบัญชีครัวเรือนส่งเสริมการเรียนรู้การออมเงินวันละ 1 บาท ทั้งในระดับครัวเรือนและองค์กร กลุ่มออมทรัพย์กองทุนหมู่บ้าน และกลุ่มออมทรัพย์ฯกลุ่มอาชีพ สะสมเงินออม ชาวบ้านยางทองมีแนวคิดว่าเงินที่เพิ่มมากขึ้น จากการมีรายได้และลดรายจ่าย จะทำเป็นเงินออมเก็บสะสมไว้ในกลุ่มออมทรัพย์ หรือกองทุนต่างๆ ในหมู่บ้านให้มากขึ้น เพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพและช่วยเหลือดูแลคนแก่ที่เพิ่มมากขึ้น และจัดกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดประโยชน์แก่เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวบ้านยางทองห่วงใยอยู่
4) การเรียนรู้ มีเวทีชวนคิด ชวนพูด ชวนทำ เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ มีการเรียนรู้การจัดทำ แผนชุมชน มีการฝึกอบรมอาชีพ การปรับปรุงสวนผลไม้ มีการสืบทอดประเพณีและวัฒนธรรม เช่น การทำขนมจีน การรับขวัญเด็ก การฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณี
5) การเอื้ออารี เวทีคัดเลือกผู้ด้อยโอกาสสนับสนุนช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส เยี่ยมบ้าน ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ คนพิการ และการเข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน
บันได 3 ขั้น เศรษฐกิจพอเพียงตำบลบางเจ้าฉ่า
ความสำเร็จการพัฒนาหมู่บ้านให้บรรลุความต้องการข้างต้นจะดูได้จาก
1. หมู่บ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นผ่านเกณฑ์ จปฐ. ด้วยกิจกรรมประเภท ลด ละ เลิก อดใจ และการออมทรัพย์
2. หมู่บ้านมีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน
3. หมู่บ้านมีระบบการทำงานเพื่อการพัฒนาที่เป็นระบบ มีการคิด วิเคราะห์ ตัดสินใจ วางแผนและปฏิบัติร่วมกัน
4. ชาวบ้านยางทองจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้าน และเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้านด้วยความเอื้ออารี สามัคคี และแบ่งปันซึ่งกันและกัน
5. ชาวบ้านบ้านยางทองเป็นคนมีคุณธรรม
6. ชาวบ้านบ้านยางทองเป็นคนมีความรู้ในการดำรงชีวิต รอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง
7. ครอบครัวของชาวบ้านยางทองมีความอบอุ่น มีความสัมพันธ์ที่ดี
8. คนในครอบครัวของชาวบ้านยางทองได้รับการดูแลจากสวัสดิการของหมู่บ้าน
ยุทธศาสตร์การพัฒนา แนวทางในการทำกิจกรรมเพื่อการบรรลุเป้าหมาย
1. ยุทธศาสตร์ถ่ายทอดส่งเสริมการเรียนรู้
2. ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเกษตรด้านการทำนาทำสวน
3. ยุทธศาสตร์พัฒนาผลิตภัณฑ์ไปสู่สากล
4. ยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพอนามัยให้แข็งแรง
5. ยุทธศาสตร์พัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
6. ยุทธศาสตร์ดำรงตนตามเศรษฐกิจพอเพียง
7. ยุทธศาสตร์พัฒนาให้หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว
8. ยุทธศาสตร์ฟื้นฟูอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม รณรงค์ป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด
แผนชุมชนมีชีวิต
ต้อง ทำแผนสู่การปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง
ต้อง มีการเก็บข้อมูลที่ทันเหตุการณ์ เป็นปัจจุบัน
ต้อง มีเวทีพบปะ แลกเปลี่ยน เป็นประจำ
ต้อง มีการประสานความร่วมมือภาครัฐ เอกชน ชาวบ้าน
ต้อง มีความหลากหลาย มีคนรุ่นใหม่เข้าร่วม