เอกสารประกอบการสัมมนา แผนชุมชนชีวิตพึ่งตนเอง เรื่อง พื้นที่ตัวอย่าง หมู่บ้าน/ชุมชนแห่งการเรียนรู้ภาคอีสาน
บ้านโคกกลาง ตำบลหนองสูงใต้ อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร
เล่ากันว่า เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2479 นายหมาพร นางจันทร์ จันทร์เต็ม ชาวบ้านหนองสูง อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม (ปัจจุบันเป็นจังหวัดมุกดาหาร) ได้มาจับจองหาที่ดินเพื่อเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ คือเลี้ยงวัว และควาย จึงได้มาพบบริเวณนี้ เป็นที่ว่างเปล่ายังไม่มีใครจับจองเป็นเจ้าของ และมีความอุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยป่าไม้ พืช และสัตว์ป่ามากมาย เห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะสมในการประกอบอาชีพ ซึ่งเรียกว่า “ทับควาย” อันเป็นสถานที่ดูแลสัตว์เลี้ยง ต่อมาในปี พ.ศ. 2480 ได้ย้ายครอบครัวมาตั้งบ้านที่บริเวณบ้านเหล่าน้อยในปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2481 หมู่บ้านเหล่าน้อยเกิดโรคระบาด ชาวบ้านล้มป่วย เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านเสียขวัญและหวาดระแวงต่อโรคระบาดที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องอพยพย้ายครอบครัวไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณหมู่บ้านโคกกลางในปัจจุบัน
การจัดทำแผนชีวิตชุมชน
มีการค้นหาปัญหา รวบรวมข้อมูลเพื่อให้เห็นถึงปัญหา ทั้งปัจจุบัน ตลอดจนวิธีแก้ปัญหาและป้องกันปัญหาที่จะมีในอนาคต สร้างความเข้าใจกระบวนการ และใช้การมีส่วนร่วมของชุมชนใน การจัดทำแผนชุมชนและกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งได้สอดแทรกความรู้ความเข้าใจเรื่องคณะกรรมการหมู่บ้านตาม พรบ. ปกครองท้องที่ฉบับใหม่ว่ามีบทบาทต่อแผนชุมชนอย่างไร การแก้ไขปัญหาต่างๆโดยใช้แผนชุมชน ซึ่งปกติจะมีหน่วยงานหรือเฉพาะแกนนำหมู่บ้านเท่านั้นที่จัดทำ แต่กระบวนการแผนชีวิตชุมชนได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านคิดเองทำเอง มีแผนของชุมชนเอง มีการจัดการด้านงบประมาณโดยชุมชนเอง ซึ่งจะร่วมกันจัดทำโครงการเพื่อแก้ไขอย่างเป็นระบบทุกปี
ปัจจัยที่มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความสำเร็จในการจัดทำแผนชุมชน
1. โครงการของรัฐ อยู่ดีมีสุข กำหนดว่าโครงการที่ขอรับการสนับสนุนได้จะต้องมีอยู่ในแผนชุมชนด้วย พช. จึงรับผิดชอบในการจัดทำโครงการฯและต้องจัดทำแผนด้วยในคราวเดียวกัน
2. มีการทำความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่ พช.และแกนนำฯ ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ผู้อำนวยการโรงเรียน หน่วยงานรัฐในพื้นที่และคณะทำงานเครือข่ายแผนฯ ในพื้นที่ ถึงการประยุกต์กระบวนการทั้งสองกระบวนการฯ ที่จะใช้ในการจัดทำแผนชุมชนบ้านโคกกลาง
3. คณะทำงาน มีความอดทนต่อวิธีการ และกระบวนการจัดทำแผนชุมชน
เป้าหมายและแนวทางในการพัฒนาหมู่บ้าน
1 อัตลักษณ์ของหมู่บ้าน ได้แก่ เอกลักษณ์การแต่งกาย “ชุดผู้ไท”
2 เป้าหมายการพัฒนาหมู่บ้าน (หมู่บ้านในอนาคตที่อยากเห็น/อยากจะเป็น)
- คนมีสุขภาพร่างกาย จิตใจดี มีความสามัคคี รักษาวัฒนธรรม
- คนในหมู่บ้านมีอาชีพ ไม่ว่างงานตามฤดูกาล มีอาชีพเสริม
- ลดปัญหาด้านเยาวชน
- การพัฒนาการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
- สภาพแวดล้อมภายใน ภายรอบนอกหมู่บ้านสวยงาม
- ดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ ส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ
ผลที่เกิดกระบวนการแผนชุมชน
บ้านโคกกลาง ได้นำเอากระบวนการจัดทำแผนฯ ของเครือข่ายแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเองประยุกต์กับการจัดทำแผนชุมชนของ พช. เพื่อจัดทำแผนชุมชน โดยเป้าหมายของการจัดทำแผนฯ นอกจากเป้าหมายหลักคือสนองตอบต่อความต้องการ และแก้ไขปัญหาชุมชนแล้ว ยังมีเป้าหมายนำการหากระบวนการ การจัดทำแผนงานฯ มาใช้เป็นเครื่องมือในการทำงาน โดย
1) มุ่งเน้นให้เห็น ความเปลี่ยนแปลงและผลที่เกิดขึ้น จากการประยุกต์ใช้กระบวนการในการจัดทำแผนชุมชน โดยคณะจัดทำแผนฯพยายามที่จะรวบขั้นตอนต่างๆ ที่เห็นว่าสำคัญ
2) เปรียบเทียบ การจัดทำแผนฯ ระหว่าง การเสนอแบบทำตุ๊กตา (Model) โดยผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ก่อนแล้วนำเสนอต่อคณะทำงาน กับ การทำตามกระบวนการดังกล่าวว่าผลที่เกิดขึ้นต่างกันอย่างไร โดยยกเอาแผนงานอื่นๆ มาเปรียบเทียบ
3) การจัดทำประปาภูเขา ชุมชนค้นพบปัญหาน้ำอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการเกษตรและปัญหาที่มีอยู่ในการจัดการประปาหมู่บ้าน หาวิธีการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดทำระบบประปาภูเขา จะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยใช้วิธีการจัดทำแผนชุมชน ผู้เข้าร่วมการจัดทำแผนฯ มีทั้งผู้นำหมู่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน สมาชิกสภาท้องถิ่น ตัวแทนจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐในพื้นที่ เข้าร่วมจัดทำแผนฯ การทำความเข้าใจกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นจึงทำได้ง่าย