เอกสารประกอบการสัมมนา แผนชุมชนชีวิตพึ่งตนเอง เรื่อง พื้นที่ตัวอย่าง หมู่บ้าน/ชุมชนแห่งการเรียนรู้ภาคใต้
ตำบลสมอทอง อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ตำบลสมอทอง อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
คำขวัญ ตำบลสมอทอง หลวงพ่อท้วม เขาเพ-ลา ยางพารา นานาไม้ผล
สมอทอง มีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาว่า บริเวณนี้สมัยนานมาแล้ว เป็นทะเลมีเรือสำเภาขนาดใหญ่ถูกคลื่นซัดเข้ามา กัปตันเรือไม่สามารถบังคับเรือได้ จึงได้ทอดสมอเรือ แต่ไม่สามารถจอดเรือได้ จึงต้องใช้สมอทองถึง 7 ตัว ทอดลงพร้อมกันแต่ก็ไม่สามารถจอดเรือได้อีกเช่นกัน จนถึงบริเวณที่ตั้งบ้านสมอทอง ปัจจุบัน ได้ใช้สมอทองทอดเรือจึงสามารถจอดได้ ชาวบ้านจึงตั้งชื่อบริเวณที่ทอดสมอ 7 ตัวว่า “บ้านสมอเจ็ด” ส่วนบริเวณที่ใช้สมอทอง ทอดตั้งชื่อว่า “บ้านสมอทอง”
กระบวนการขับเคลื่อนแผนชีวิตชุมชน
อำเภอท่าชนะ ได้มีการจัดทำแผนชุมชนครบทั้ง 6 ตำบล ได้มีการจัดเก็บข้อมูลระดับครัวเรือน มีแผนชุมชนระดับหมู่บ้านสู่แผนชุมชนระดับ และมีการบูรณาการแผนชุมชนสู่แผนองค์การบริหารส่วนตำบลภายในปี 2546 ครบทุกตำบล รวมทั้งได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แผนชีวิตชุมชนอำเภอท่าชนะซึ่งได้เป็นศูนย์กลาง ในการประสานงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยมีการประชุม และติดตามผลการดำเนินงานของแต่ละตำบลอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างชุมชนกับหน่วยงานรัฐ ได้มีการพัฒนายกระดับต่อยอดการทำงานแผนชุมชนอีกครั้ง จากเครือข่ายแผนชีวิตชุมชน 4 ภาค และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คือโครงการบูรณาการแผนชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและลดความยากจน โดยได้มีการจัดเก็บข้อมูลรายรับ รายจ่ายในครัวเรือน ข้อมูลปัญหาเพื่อปรับปรุงแผนชุมชนระดับหมู่บ้านสู่ระดับตำบล ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล
ต่อมาจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชน โดยมีการระดมทุนจากชาวบ้าน จัดงานการกุศล กินเลี้ยงน้ำชา ได้เงินในการจัดงาน จำนวน 102,050 บาท ในการจัดสร้างอาคารทำการเปิดศูนย์เป็นทางการ และได้รับการหนุนเสริมงบประมาณจากเครื่องข่ายแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค ยกระดับศูนย์การเรียนรู้ตำบล เป็นจุดเชื่อมโยงคณะทำงาน และประชุมร่วมกับภาคีภาครัฐ โดยมีการประชุมกันทุกวันที่ 19 ของเดือน
จากแผนชีวิตชุมชนสู่แผนพัฒนาหมู่บ้าน/ตำบล
1. ด้านเศรษฐกิจชุมชน
1.1 การปลูกพืชผักกินเอง โดยองค์การบริหารส่วนตำบลสมอทองเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานร่วมกับชุมชนในการจัดทำโครงการครอบครัวอบอุ่นมีการดำเนินงานให้การสนับสนุนให้ครัวเรือนทำการปลูกพืชผักกินเอง ปีละ 80 ครัวเรือน ซึ่งกิจกรรมการปลูกพืชผักกินเองในครัวเรือน มีตัวชี้วัด 5 ด้าน คือ 1) การปลุกพืชผักกินเอง 2) มีการเข้าวัดฟังธรรม 3) มีบัญชีครัวเรือน 4) ปลอดอบายมุข 5) การมีส่วนร่วมในชุมชน โดยมีการให้รางวัลระดับหมู่บ้านและระดับตำบล นอกจากนี้ครัวเรือนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการครอบครัวอบอุ่น ก็ยังมีการปลูกพืชผักกินเอง
1.2 มีการผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำจากผลแตงโม จำหน่ายให้สมาชิก และเหลือจึงขายในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง ในปี 2552 ทางสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (สปก.) ได้ให้การสนับสนุนแก่ชุมชนให้งบประมาณในการจัดตั้ง โรงปุ๋ย จำนวน 1 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงเรือน และซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์เป็นเครื่องสูบน้ำไว้ใช้ในการผลิตปุ๋ยในพื้นที่ ยกระดับกลุ่มจัดตั้งเป็นนิคมเศรษฐกิจพอเพียง
1.3 กลุ่มเลี้ยงสัตว์ มีสมาชิก 40 คน เป็นกลุ่มวิสาหกิจโค โดย สปก. ให้งบประมาณสนับสนุนให้สมาชิกนำไปกู้เลี้ยงวัว จำนวน 60,000 บาท
1.4 โครงการเศรษฐกิจพอเพียง ระดับครอบครัว เช่น ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ของใช้ในครัวเรือน เป็นต้น โดยหากกลุ่มสนใจ 10-20 ครัวเรือน ทางพัฒนาชุมชนอำเภอ ได้มาให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและปรับใช้ในระดับตำบล ครัวเรือน และชุมชน โดยส่งเสริมให้นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อการพึ่งพาตนเองระดับชุมชนเป็นกิจกรรมหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นกิจกรรมที่นำไปสู่การจัดสวัสดิการชุมชนเพื่อดูและคนยากจนและผู้ด้อยโอกาส และ สปก. ได้สนับสนุนงบประมาณให้ครัวเรือนได้เลี้ยงวัวตามโครงการนิคมเศรษฐกิจพอเพียง รายละ 10,000 บาท
2. ด้านสังคม (สวัสดิการสังคม)
ระบบสวัสดิการสังคมแก่ชุมชนระดับตำบล โดยคนในชุมชนเป็นสมาชิกมีการลงหุ้น มีการออม รัฐบาล/อบต.สมทบ ตัดกำไรจากกองทุนหมู่บ้านทุกหมู่มาสมทบ และกำไรจากกลุ่มอาชีพต่างๆ มีกิจกรรมผู้สูงอายุ การดูแลผู้ถูกทอดทิ้ง(เด็ก / เยาวชน / คนพิการ / ผู้ด้อยโอกาส) และให้สวัสดิการครอบคลุมกลุ่มคนยากจนและผู้ด้อยโอกาส เช่น เบี้ยยังชีพ การส่งเสริมอาชีพแก่คนชรา คนพิการ คนยากจน และผู้ด้อยโอกาส โดยมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 66 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นหน่วยงานในการสนับสนุนการสร้าง พัฒนาระบบสวัสดิการสังคม และมอบเงินช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านเรือนให้แก่ผู้สูงอายุ จำวน 17 หลัง ๆ ละ 10,000 บาท มอบทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนในพื้นที่ จำนวน 4 โรง ๆ ละ 20,000 บาท และมอบชุดนักเรียนจำนวน 400 ชุด รวมทั้งมอบเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุจำนวน 3 ครั้ง รวม 103 คน และต่อเติมศูนย์ฝึกอาชีพผู้สูงอายุ จำนวน 10,000 บาท
3. ด้านการคุ้มครองสิทธิ
การจัดทำข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ เช่น วัยรุ่นรบกัน ตีกัน ลักขโมย ยาเสพติด แรงงานต่างด้าว เป็นต้น เพื่อการป้องกันแก้ไข และคุ้มครองแก่ประชาชน ทางอบต.ร่วมกับชุมชนในการจัดตั้งคณะทำงานดูแลการเฝ้าระวังและชุดเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ ตั้งป้อมยามประจำหมู่บ้านและจัดเวรยามแต่ละหมู่บ้าน เพื่อเป็นสถานที่จัดให้มีเวรยามดูแลพื้นที่โดยชาวบ้านได้บริจาคเงินรวม 200,000 บาท สร้างป้อมยามเป็นด่านตรวจค้น ป้องกันเหตุร้ายต่าง ๆ
4. ด้านการเกษตร
สปก. และสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้จัดอบรมให้ความรู้แก่ประชาชน 7 หลักสูตร คือ การเลี้ยงปลา การเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติก เกษตรผสมผสาน การปลูกพืชผักสวนครัว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และปุ๋ยหมัก และสำนักงานเกษตรอำเภอท่าชนะ ได้สนับสนุนงบประมาณจัดการอบรมการทำปุ๋ยชีวภาพ จำนวน 13,000 บาท เป็นค่าอาหาร ค่าวิทยากร และค่าวัสดุอุปกรณ์ในการทำการทำปุ๋ยชีวภาพ
5. ด้านสาธารณสุข
ได้มีการรณรงค์เรื่องขยะ การคัดแยกขยะ/ทำปุ๋ยจากขยะ/การกำจัดขยะ รณรงค์ไม่ใช้โฟม / พลาสติก และรณรงค์ไม่ทิ้งขยะ มีการส่งเสริมการออกกำลังกาย / กีฬาของแต่ละหมู่บ้าน โดยมีลานออกกำลังกาย / กีฬาของแต่ละหมู่บ้าน ได้มีการตรวจสุขภาพผู้มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป สถานีอนามัยประจำตำบลมีบริการตรวจสุขภาพเป็นประจำ และได้รณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออก เช่น สำรวจลูกน้ำยุงลายทุกวันศุกร์ที่ 3 เดือน/ครั้ง สำรวจดูแลกำจัดน้ำครำ เป็นต้น โดยมี อสม. ในหมู่บ้านเป็นผู้ดูแล เกิดการรณรงค์และดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยสำนักงานสาธารณสุขอำเภอมีการดำเนินงาน ในเรื่องสร้างความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมาย ตรวจหายาเสพติด อบรมความรู้เรื่องยาเสพติด สำรวจข้อมูลคนติดยาเสพติด ส่งคนติดยาเสพติดไปบำบัด และอบรม To Be Number One
6. ด้านการศึกษา
ได้มีการเตรียมความพร้อมเด็กปฐมวัยและเสริมสร้างพัฒนาการเด็กปฐมวัย โดยการสร้างสนามเด็กเล็กและมีเครื่องเล่นเพื่อการพัฒนากล้ามเนื้อเด็กปฐมวัย เช่น เครื่องเตรียมความพร้อมและสื่อสารเรียนการสอน เป็นต้น ได้มีการจัดสร้างห้องสมุดชุมชนเพื่อมีหนังสือบริการให้ความรู้แก่เยาวชนและประชาชน รวมทั้งมีบริการอินเตอร์เน็ตแก่ประชาชน และการจัดทำหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่นในสถานศึกษา เพื่อให้วิทยากรภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ให้ความรู้ เช่น โรงเรียนบ้านทุ่งเสียน บรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน เป็นต้น
7. ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของตำบล โดยการจัดกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำกับตำบลเขตติดต่อ และปรับปรุงภูมิทัศน์รอบ ๆ ริมคลอง ทางชุมชนมีการร่วมมือการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของตำบลเป็นประจำทุกปี โดยมีการปลูกป่าในหมู่ที่ 4 , 8 , 9 , 10 มีนักเรียน/นักศึกษาเข้าร่วมปลูกป่าด้วย และการจัดการทรัพยากรน้ำ โดยการสร้างฝายทดน้ำขนาดเล็ก อบต. สนับสนุนทำฝายแม้วในหมู่ที่ 4 , 6 , 9 การส่งเสริมการประหยัดพลังงานโดยการรณรงค์ปลุกจิตสำนึก และการใช้พลังงานอย่างประหยัด โดยการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล น้ำมันที่ผลิตได้นำไปฝากขายที่ร้านค้าชุมชนโดยในการดำเนินงานมีการลงหุ้นสมาชิก 41 หุ้น ๆ ละ 1,000 บาท
8. ด้านการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ชุมชนได้มีการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนเพื่อจะได้ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้ ซึ่งชุมชนได้มีการจัดงานทอดผ้าป่าเพื่อระดมหาค่าใช้จ่ายมาใช้จ่ายในการพัฒนาสถานที่แหล่งท่องเที่ยวในชุมชน และคนในชุมชนจะมีการจัดกิจกรรมการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชนเป็นประจำทุกปี และยังได้มีการรอบรมมัคคุเทศก์น้อย และยังได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ให้คนในชุมชนมีการอนุรักษ์วัฒนธรรม เช่น หนังตะลุง มโนราห์ เป็นต้น การนำศิลปะการแสดงดังกล่าวมาเป็นจุดขายในการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ สำนักงานสนับสนุนกองทุนวิจัยได้เข้าร่วมกับชุมชนสมอทองในการทำโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาเชิงประเด็นในเรื่องการท่องเที่ยวและเกษตร เป็นพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และได้ให้งบประมาณสนับสนุนเบื้องต้นในการจัดทำแผนป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในตำบล จำนวน 50,000 และเครือข่ายแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค ได้ยกระดับตำบลสมอทองเป็นหมู่บ้านแห่งการเรียนรู้ จำนวน 8 หมู่บ้าน