เอกสารประกอบการสัมมนา แผนชุมชนชีวิตพึ่งตนเอง เรื่อง พื้นที่ตัวอย่าง หมู่บ้าน/ชุมชนแห่งการเรียนรู้ภาคเหนือ
บ้านหนองห้า ตำบลบัวใหญ่ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน
เมื่อก่อนตำบลบัวใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของตำบลสันทะ การปกครองลำบากเพราะแต่ละหมู่บ้านอยู่ห่างไกลกัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 จึงขอแยกการปกครอง ได้ตั้งชื่อตำบล “ บัวใหญ่ “ เพราะว่าที่บ้านอ้อย หมู่ที่ 1 มีหนองน้ำธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองมาหลายร้อยปี หนองน้ำนี้จะมีสิ่งแปลกอยู่คือจะมี “ดอกบัวหลวง” ขึ้นอยู่เต็มทั้งหนอง ซึ่งเป็นดอกบัวที่สวยงามมาก จึงได้ลงความเห็นว่า ให้ชื่อตำบลเป็นตำบลบัวใหญ่
กระบวนการจัดทำแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเองบ้านหนองห้า ตำบลบัวใหญ่
ปี 2546 เกิดเครือข่ายแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค ทำให้ตำบลบัวใหญ่ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ได้อยู่ร่วมขบวนของเครือข่ายแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค และพัฒนากระบวนการเรียนรู้เรื่องการจัดทำแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเองมาเรื่อย ๆ โดยใช้ หลักสูตรการทำแผน 10 ขั้นตอน ทำให้เห็นข้อมูล ได้ปัญหา รู้สาเหตุของปัญหา และนำสู่การวางแผน อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เกิดแผน
- แผนงานการพัฒนาคน สังคม/การศึกษา วัฒนธรรม/การเมืองการปกครอง 35 โครงการ
- แผนงานด้านเศรษฐกิจ จำนวน 21 โครงการ
- แผนงานด้านสาธารณสุข จำนวน 13 โครงการ
- แผนงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 25 โครงการ
- แผนงานด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อม จำนวน 16 โครงการ
ผลที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ ภายใต้แผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง
1) การบูรณาคน บ้านหนองห้า ส่วนมากชาวบ้านมีอายุที่ไล่เลี่ยกัน ชอบแบ่งพรรคพวกและไม่ค่อยยอมกัน จากการเรียนรู้แกนนำในหมู่บ้าน จึงเกิดแนวคิดที่ให้เกิดการรวมคน เพื่อให้เกิดความสามัคคีเพื่อให้เกิดการง่ายต่อการพัฒนาหมู่บ้าน โดยใช้วิธีการให้กำนันปรึกษาผู้รู้ที่ปรึกษาของหมู่บ้าน 3 คน วางแผนการทำงาน ประชุมแกนนำทุกกลุ่ม โดยเชิญประธานกลุ่ม แกนนำทุกคนที่อยู่แต่ละกก จัดตั้งตำแหน่งการทำงานทุกคนที่เกี่ยวข้อง โดยยึด 3 ร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดและรับชอบ ในรูปของคณะกรรมการหมู่บ้าน ทำให้เกิดการยอมรับความคิด และหลักการที่จะทำงาน แบบ 3 ร่วม เกิดคณะกรรมการหมู่บ้าน 9 ฝ่าย และการประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านทุกเดือน มีการปฏิบัติตาม กฎ กติกาของชุมชนและมติที่ประชุม ปัจจุบันไม่มีการแบ่งพรรค แบ่งฝ่าย
2) การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
ความเป็นมาจากการจัดเก็บข้อมูลชุมชนในกระบวนการทำแผนชุมชน ตำบลบัวใหญ่ มีปัญหาที่เป็นอันดับต้น ๆ คือ ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกินไม่มีเอกสารสิทธิ์ หนี้สิน และการไปขึ้นทะเบียนคนจนไว้ตาม สย. ของนโยบายของรัฐบาล ในเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกินไม่มีเอกสารสิทธิ์ และหนี้สิน เป็นปัญหาต้น ๆ จึงเป็นที่มาของการแก้ไขปัญหาจากฐานข้อมูล
การแก้ไขปัญหาชาวบ้านที่ไม่มีที่อยู่อาศัยที่ไม่มั่นคง เอกสารสิทธิ์ สิทธิทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ การป้องกันการขยายพื้นที่ทำกินเข้าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ การป้องกันการทะเลาะวิวาทระหว่างชาวบ้าน กับชาวบ้าน ชาวบ้านกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การป้องกันการถูกจับคุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกิดการสร้างบ้านให้คนจนที่ไม่มีที่อยู่จำนวน 60 หลัง ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ไม่มั่นคงจำนวน 66 หลัง และขยายผลจากงบประมาณบริจาคคืนจากผู้ที่สร้างก่อนครอบครัวละ 500 บาท/ปี จำนวน 60 หลัง , ครอบครัวละ 300 บาท / ปี จำนวน 66 หลัง ปีละ 8 หลังคา จะขยายผลไปอีก 5 ปี (ปี 2550 –2554 ) สร้างอาชีพเสริม สร้างรายได้ ให้กับคนจน จำนวน 13 ครอบครัว กองทุนส่งเสริมอาชีพ จำนวน 300,000 บาท และศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้การเพาะพันธุ์ลูกกบ – ลูกปลา จำนวน 2 แห่ง จนเป็นอาชีพรองของสมาชิก
3) การจัดสวัสดิการชุมชน จากปัญหาคนจนที่ขาดโอกาสในเรื่องการช่วยเหลือด้านสวัสดิการ เพราะไม่สามารถเข้าสู่แหล่งทุนการจัดสวัสดิการของเอกชน คือบริษัทประกันชีวิตต่าง ๆ แต่จะได้รับการดูแลตามสิทธิ์ตามนโยบายของรัฐ เช่นการรักษาพยาบาล หรือ การประกันความเสียงของกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มกองทุนเงินล้าน กลุ่มลูกค้า ธกส. แต่การดูแลและเอาใจใส่จากชุมชนแบบอาทรไม่มีซึ่งคนจนเหล่านี้ยังขาดโอกาส จึงเกิดการช่วยเหลือคนจนที่ขาดโอกาส และขาดการดูแลแบบเอื้ออาทร ทั้งยังทำให้เกิดความสามัคคีและความรักคนในชุมชน
เป็นพื้นที่ต้นแบบการจัดสวัสดิการแบบสบทบการมีส่วนร่วมของชุมชน ภาคีพัฒนา (พอช.) ของเครือข่ายสวัสดิการจังหวัดน่าน ได้การรับรองจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นองค์กรสวัสดิการสังคม ตาม พรบ. ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2546 โดยเครือข่ายคนจนตำบลบัวใหญ่ แผนงานการจัดสวัสดิการชุมชน ถูกบรรจุไว้ในแผนและข้อบัญญัติ ของ อบต. งบประมาณ 20,000 บาท
4) การสร้างเสริมคุณธรรมจริยธรรมนำสู่การพัฒนา จากข้อมูลแผนชุมชนทำให้เห็นปัญหาด้านสังคม ความเสื่อมด้านคุณธรรมรมจริยธรรม ปัญหาเด็กเยาวชนมีนิสัยก้าวร้าว และลืมวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ที่ดีงามเสื่อมสลายไปเรื่อย จึงได้เกิดการฟื้นฟูวัฒนธรรมศีลธรรม และพัฒนาคนทุกวัย ให้มีศีลธรรม จริยธรรมการดำเนินชีวิต โดยสร้างจิตสำนึกให้รู้จักคุณธรรม 6 ประการ ขยัน สะอาด ประหยัด ซื่อสัตย์ เสียสละ กตัญญู เป็นการสร้างคุณธรรมให้เป็นฐานการพัฒนาตนเอง ชุมชนและยังได้ยกย่องคนทำความดี ขยายการทำความดี เกิดกิจกรรมจิตอาสา เด็กเยาวชน โรงเรียนชุมชนบ้านอ้อย ทำความดีโดยกวาดถนน เก็บขยะทุกเช้าวันอาทิตย์ ศูนย์อบรมศีลธรรมวันอาทิตย์ เมื่อเด็กกวาดถนน เก็บขยะ เสร็จแล้ว เจ้าอาวาสวัดนาแหนชวนเด็กเข้าฝึกนึกสมาธิ สอนศาสนพิธี และการกล่าวสวดมนต์ อีกทั้งยังเกิดกลุ่มเยาวชนสืบสานวัฒนธรรมประเพณี บ้านนาแหน (มีกิจกรรม ตีกลองปู่จา ตีกลองสะบัดชัย ซอ ฟ้อนดาบ ฟ้อนเจิง ตัดตุง เรียนภาษาล้านนา “ตัวเมือง”)
5) สถาบันการเงินชุมชน จากการออมทรัพย์ทุกเดือนของชาวบ้าน และความห่างไกลจากสถาบันการเงินอื่น ๆ จึงทำให้เกิดกระบวนการร่วมกันทำงาน โดยชุมชน พัฒนาชุมชน ธกส. บูรณาการร่วมกันจัดตั้งสถาบันการเงิน ได้พัฒนาการชุมชนหนุนเสริมกระบวนการ ธกส. หนุนเสริมงบประมาณอุปกรณ์ ชุมชนดำเนินการ โดยการประชาคมทำความเข้าใจและหาแนวร่วมการสร้างสถาบันการเงินชุมชน รวบรวมกองทุนหมู่บ้าน บ้านละ 2,000 บาท เพื่อเป็นทุนการสร้างอาคารสถานที่ และจัดตั้งผ้าป่า รับเงินบริจาคจากชุมชน ทุกอย่าง เช่น เงิน ไม้ อิฐ สังกะสี ปูน หลังจากนั้นได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการ บริหารงานสถาบัน มีสมาชิกเข้าหุ้นสถาบันการเงิน จำนวน 600 ราย 8 หมู่บ้าน สมาชิกเงินฝาก 238 ราย จำนวน 3 ล้านกว่าบาท
6)สภาองค์กรชุมชน จากแนวคิดที่ตำบลบัวใหญ่อยากให้เกิดเวทีประชาคมทุกเดือน โดยใช้คืนวันเพ็ญเป็นคืนวันพบปะของคนผู้รู้และผู้อยากคุยทุกเรื่อง แต่ทำได้ 3 ครั้งก็ หายไป ต่อมาเมื่อเกิดสถาบันการเงิน จึงเกิดเวทีประชาคมคืนวันเพ็ญอีก แต่ก็ทำได้แค่ 2 เดือน ไม่มีคนมา แกนนำจึงได้หากิจกรรมร่วมของคนในชุมชน คือการบวชป่ามาเป็นประเด็นคุย มีผู้ที่เข้าร่วมประชุม ผู้สูงอายุที่เป็นผู้รู้และเป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชน ผอ. โรงเรียน 3 โรง พระสงฆ์ 2 วัด ผู้ใหญ่บ้าน ปลัด อบต. ประชุมอย่างนี้ต่อเนื่องจนงานวันบวชป่าและประกาศยกย่องคนทำความดีสำเร็จ หลังจากนั้นจึงได้มีการประชุมทุกเดือน โดยนำประเด็นร่วมของคนในชุมชนสนใจ เข้ามาประชุมและพบปะ โดยตั้งชื่อว่าสภาผู้รู้ ควรเอาทุกเรื่องที่เป็นทั้งปัญหาและเรื่องดี ๆ มาคุยกันเพื่อ เป็นแผนการพัฒนาตำบลแบบมีส่วนร่วมจึงทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ เช่น การปรับปรุงกฎกติกาชุมชนของตำบลงดเหล้าวันกีฬา การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ(พื้นที่ป่าต้นน้ำ) ซ่อมแซมถนนสาย นน. 4006 ซึ่งเชื่อมระหว่างอำเภอนาน้อย – ตำบลสันทะ แบบมีส่วนร่วม และได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ในการประชุมสภาองค์กรชุมชน จำนวน 20,000 บาท จาก อบต.บัวใหญ่ ในปีงบประมาณ 2552