เอกสารประกอบการสัมมนา เรื่องแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค จาก การรวมตัวกันของแกนนำท้องถิ่น
แผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค
แผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเองคืออะไร
แผน หมายถึง สิ่งที่ตกลงหรือกำหนดไว้อย่างมีระบบว่าจะทำอะไรบ้าง ทำไปเพื่ออะไร เมื่อไหร่ อย่างไร ใครทำอะไร จะใช้ทรัพยากรและงบประมาณเท่าไร
แผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง จึงหมายถึง สิ่งที่คนในชุมชนกำหนดร่วมกันในการดำเนินงานเพื่อให้ชุมชนเกิดการพัฒนาไปตามที่คนในชุมชนต้องการและสามารถแก้ไขปัญหาที่ชุมชนเผชิญอยู่ร่วมกันได้
หัวใจของแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง
แผนชุมชนจะต้องเป็นของชุมชน จัดทำขึ้นโดยคนในชุมชน ดังนั้นคนในชุมชนต้องมีใจร่วมกัน คิดเห็นร่วมกัน กระบวนการจัดทำแผนจึงต้องเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนกลุ่มต่างๆ เป็นการรวมคน ร่วมแรง ร่วมใจ ตั้งแต่การร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมรับผล และร่วมตรวจสอบที่ผ่านมาการพัฒนาของชุมชนถูกกำหนดมาจากภายนอก โดยรับมาจากแผนการพัฒนาของรัฐที่กำหนดมาจากส่วนกลาง แล้วเข้ามาดำเนินงานร่วมกับผู้นำบางส่วน ทำให้ชุมชนไม่รู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของและไม่สามารถสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของชุมชน
แผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเองเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น “แผนชีวิตชุมชน” คือ กระบวนการเรียนรู้ของคนในชุมชนท้องถิ่น ที่ร่วมคิด ร่วมกันค้นหา เรียนรู้ เพื่อให้ชุมชนรู้และเข้าใจตนเอง กำหนดอนาคตและทิศทางการพัฒนาตนเอง ที่มีคนในชุมชนเป็นศูนย์กลาง ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง มีความสัมพันธ์กับภาคีพัฒนาแบบ เป็นหุ้นส่วนการพัฒนา และใช้แผนชุมชนเป็นเครื่องมือพัฒนาขีดความสามารถของคนในชุมชน ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน สู่ความร่มเย็นเป็นสุขอย่างยั่งยืน
วิสัยทัศน์
แผนชีวิตชุมชน อนาคตของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน
ยุทธศาสตร์
สร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและทิศทางการพัฒนาที่ถูกต้อง
โดยกระบวนการแผนชีวิตชุมชน
หลักการสำคัญของการจัดทำแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง ได้แก่
1) การให้ชุมชนเป็นเจ้าของการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ให้ชุมชนเป็นหลักในกระบวนการจัดทำแผน
2) การบูรณาการ การรวมพลังทุกภาคส่วนในชุมชน ในท้องถิ่น และภายนอก ในการสนับสนุนแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง โดยการบูรณาการกระบวนการ บุคลากร แผนงานและงบประมาณมาสนับสนุนในลักษณะองค์รวม ไม่ยึดงานเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือแยกส่วนในการสนับสนุน ควรมุ่งไปสู่การสนับสนุนแผนชุมชนพึ่งตนเองอย่างเป็นองค์รวมร่วมกัน
3) พึ่งตนเอง พึ่งกันเอง และพึ่งทุนทางสังคมที่มีอยู่ การเน้นไปสู่การคิดค้นกิจกรรมและแนวทางการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาที่มาจากฐานทุนทางสังคมเดิมของชุมชนเป็นหลัก ทั้งทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และทรัพยากรในชุมชนท้องถิ่น
4) ความยั่งยืน แผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเองที่เกิดจากระบวนการมีส่วนร่วมของสมาชิกทุกกลุ่มในชุมชน จะทำให้ชุมชนมีความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของแผน จะเกิดการรวมกลุ่มเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง มีการคิดค้นกิจกรรมการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งเป็นกระบวนการภายในของชุมชนเอง เป็นการรวมพลังชุมชนที่จะมีความยั่งยืน ต่อเนื่อง มากกว่าแผนที่มาจากภายนอก
ความเป็นมา
เครือข่ายแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค เกิดจากการรวมตัวกันของแกนนำท้องถิ่นที่มีจิตสำนึกสาธารณะ มารวมพลังสร้างการเรียนรู้ของภาคประชาชนฐานราก ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่นที่คนในชุมชนมาร่วมกันค้นหาตัวตนที่ให้การสำรวจเป็นเครื่องมือที่ทำให้ค้นพบ ปัญหา ความต้องการและศักยภาพของตนเอง เพื่อนำไปสู่การร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นที่เน้นการพึ่งตนเองและการประสานองค์กรภายนอกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนชุมชนอย่างบูรณาการ นอกจากนี้ยังมีความพยายามในการสร้างรูปธรรมของการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภายในแบบของหุ้นส่วนของการพัฒนา เน้นการเกิดความสัมพันธ์แนวเชิงราบที่ทุกฝ่ายในชุมชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยแบ่งตามช่วงพัฒนาการเป็นช่วง ดังนี้
ยุคที่ 1 จุดเริ่มต้น ต้นกล้าทางความคิดก่อเกิดกระบวนการเรียนรู้แผนชีวิตชุมชน (2542 – 2545 )
แผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง เกิดขึ้นในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ประมาณปี พ.ศ. 2542 มีเป้าหมายที่สำคัญคือ การกระตุ้นให้เกษตรกรมีการจัดทำแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาตนเอง ในช่วงนั้นได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิหมู่บ้านและเครือข่ายภูมิปัญญาไท จัดทำแผนแม่บทชุมชนเพื่อการพัฒนาชีวิตและพัฒนา ชุมชนไม้เรียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช เป็นชุมชนหนึ่งที่มีกระบวนการทำแผนชีวิตชุมชนและมีกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมทั้งทางด้านวิสาหกิจชุมชน การพัฒนาการเรียนรู้ ภายหลังมีสำนักงานกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF.) เข้ามาจัดกระบวนการถอดบทเรียนเพื่อขยาย ให้เกิดการเรียนรู้จากชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ
ยุคที่ 2 เติบโต.....ก่อเกิดเครือข่ายแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค (2546)
ในช่วงปี พ.ศ. 2546 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้มีแนวทางในการหนุนเสริมและขยายผลแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเองสู่ชุมชนท้องถิ่น จึงได้มีการหารือและร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนาท้องถิ่นโดยใช้แผนชีวิตชุมชนเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้กับแกนนำที่มีประสบการณ์การทำแผนแม่บทชุมชนในตำบลต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีเวทีสังเคราะห์บทเรียนการจัดทำแผนชีวิตชุมชนโดยภาคประชาชน ที่ได้รับการสนับสนุนจาก UNDP, SIF, สภาพัฒน์ฯ, ธกส. ได้มีการสรุปบทเรียน และการค้นหาพื้นที่ต้นแบบ ซึ่งนำไปสู่การกำหนดทิศทาง ยุทธศาสตร์การสนับสนุนพื้นที่ตำบลต่างๆ ในการจัดทำแผนชีวิตชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน
ยุคที่ 3 ประกาศจุดยืนการพัฒนาชุมชนแนวใหม่โดยใช้กระบวนการแผนชุมชนเป็นเครื่องมือ (2547)
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 20.45 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดทำแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเองระดับตำบลที่มีการปฏิบัติตามแผนงาน ในปี 2547เพื่อให้แผนชุมชนเป็นเครื่องมือนำไปสู่การลดปัญหาความยากจนของชาวบ้านได้จริงในพื้นที่ 222 ตำบล แบ่งเป็น ตำบลต้นแบบ 49 ตำบล ตำบลนำร่อง 173 ตำบล โดยมีวิธีการที่สำคัญ ได้แก่
- การเชื่อมโยงเครือข่ายแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเองระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับชาติ
- การค้นหาและการฝึกอบรมวิทยากรกระบวนการเพื่อการเผยแพร่ และสร้างความเข้าใจการทำแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง
- การถอดองค์ความรู้ สนับสนุนให้เกิดศูนย์เรียนรู้ด้านแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง
ระหว่างวันที่ 7 – 8 ธันวาคม 2547 ได้จัดงานมหกรรมแผนชีวิตชุมชนแก้ไขปัญหาความยากจน ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป้าหมายคือการสรุปบทเรียนของเครือข่ายแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค และนำเสนอรูปธรรมของแผนชีวิตชุมชน ตัวอย่างของการบริหารจัดการงบประมาณโดยภาคประชาชน ที่เน้นชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา และการเชื่อมโยงแผนชีวิตชุมชนในระดับนโยบาย
ยุคที่ 4 การขยายผลแผนชุมชนเชิงคุณภาพและการจัดการความรู้ (2548-2549)
จากแนวคิด “กระบวนการแผนชุมชนพึ่งตนเอง เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศ ที่ชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา กำหนดอนาคตแนวทางการพัฒนาตนเองและชุมชนได้อย่างมีส่วนร่วมของชุมชน รวมไปถึงการประสานความร่วมมือหน่วยงานภาคีพัฒนาที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการร่วมกัน” ในปี 2548 -2549 เครือข่ายแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค จึงได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำโครงการขยายผลแผนชุมชนเอาชนะปัญหาความยากจน จากศูนย์ประสานงานสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภาคประชาชน (ศตจ. ปชช.) จำนวนงบประมาณ 123 ล้านบาท เพื่อดำเนินงานในพื้นที่เป้าหมายขยายผลแผนชุมชนจำนวน 2,000 ตำบล
ให้ความสำคัญของการพัฒนาศูนย์เรียนรู้แผนชุมชน สร้างความเข้าใจระดับภาค ระดับจังหวัด และการกำหนดยุทธศาสตร์การขยายผลแผนชุมชนเชิงคุณภาพในพื้นที่ตำบลขยายผล อีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงระดับนโยบายเพื่อให้เกิดการสนับสนุนแผนชุมชนจากภาคีพัฒนา 8 หน่วยงาน มีการจัดเวทีเปิดกว้างเพื่อระดมความคิดเห็นจากภาคีทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติงานร่วมกันของภาคีพัฒนา
ยุคที่ 5 การขยายผลสู่สาธารณะและหน่วยงานระดับนโยบาย (2550)
การดำเนินงานของเครือข่ายแผนชีวิตชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค เป็นที่สนใจของหน่วยงานภาคีพัฒนาต่างๆ เพิ่มเติมจากเดิม 8 หน่วยงาน ได้แก่ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) ศูนย์อำนวยการบริหารยุทธศาสตร์เมืองไทยแข็งแรง (ศอม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ ผู้สูงอายุ (สท.) สำนักพัฒนาชุมชน (กทม.)ที่เห็นว่าแผนชุมชนเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ทำให้ชุมชนท้องถิ่นค้นพบตัวเอง สร้างจิตสำนึกใหม่ เปลี่ยนวิธีคิด เกิดความสมานฉันท์ ร่วมกันแก้ไขปัญหาสังคมและลดปัญหาความยากจนของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้เชื่อมโยงแนวทางการทำงานร่วมกัน โดยใช้พื้นที่ทำแผนชุมชนและแกนนำที่ผ่านกระบวนการทำแผนชุมชน เป็นพื้นที่ปฏิบัติการ ทั้งนี้ในส่วนโครงการพัฒนาหมู่บ้านตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง (คพพ.) โครงการอยู่ดีมีสุข ของรัฐบาล ยังได้ให้คัดเลือกชุมชนที่ผ่านการทำแผนชุมชนเป็นฐานการรับงบประมาณเพื่อดำเนินการตามโครงการ
ยุคที่ 6 มุ่งเน้นการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (2551-2552)
เป็นการขับเคลื่อนภายใต้โครงการจัดทำแผนชุมชนเชิงคุณภาพ เพื่อขยายผลการเรียนรู้สู่การปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีจุดม่งหมายที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ การปรับตัวและการดำเนินงานเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชน สร้างพื้นที่รูปธรรมของการจัดทำแผนชุมชนระดับหมู่บ้านและระดับตำบลเชิงคุณภาพที่สะท้อนวิถีชีวิตชุมชนและการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาศักยภาพของชุมชนจากพื้นฐานและภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาแกนนำแผนชุมชนทุกระดับ พัฒนาศูนย์การเรียนรู้เพื่อขยายผลจากชุมชนสู่ชุมชน มีการจัดการความรู้และการสื่อสารสาธารณะเพื่อขยายผลในวงกว้าง สร้างความเชื่อมโยงการพัฒนาที่ยึดชุมชนเป็นหลัก กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการพัฒนาพื้นที่ระดับอำเภอ จังหวัด และยึดหลักการบริหารจัดการที่ดีในการขับเคลื่อนกระบวนการจัดทำแผนชุมชนของภาคประชาชน เพื่อประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและการพัฒนาที่ยั่งยืน