น้ำท่วม รวมน้ำใจ ไทยพ้นวิบัติ โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
บทความ
น้ำท่วม รวมน้ำใจ ไทยพ้นวิบัติ
โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
มหาอุทกภัย ๒๕๕๔ เป็นภัยพิบัติที่ก่อให้เกิดความสูญเสียสุดประมาณ
แต่ขณะเดียวกันมันได้สร้างสิ่งที่มีค่ามหาศาล ที่ตามปรกติสร้างไม่ได้
สิ่งที่มีค่ามหาศาลนั้นคือ การรวมน้ำใจ เป็นสังคมที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน
เราได้เห็นคนไทยทุกหมู่เหล่า ทุกองค์กรรวมใจช่วยเหลือกัน ทหารกับรัฐบาลก็ร่วมกันได้ นายกรัฐมนตรีกับผู้นำฝ่ายค้านก็ร่วมกันได้ คนต่างสีก็ร่วมกันได้ มหาวิทยาลัย วัด สถานที่ราชการ เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัย กระทรวงทุกกระทรวงยอมให้ตัดงบประมาณของกระทรวง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ หรืออาจจะมากกว่าเพื่อเอาไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน สื่อมวลชนทุกแขนง ระดมกำลังรายงานความทุกข์ยากของราษฎร สื่อสารความขัดแย้งและความเกลียดชังหายไปจากพื้นที่
ทั้งหมดแสดงว่ายามวิกฤตสุดๆ คนไทยสามารถละทิ้งความโกรธความเกลียด มารวมใจกันได้
สังคมใดที่สามารถละทิ้งความโกรธความเกลียดหันมารวมใจกันได้ สังคมนั้นจะมีพลังมหาศาลที่จะก้าวไปข้างหน้า
ความโกรธความเกลียดที่คนในชาติมีต่อกันล้างออกไม่ได้ด้วยความคิดและทฤษฎีใดๆ ความคิดและทฤษฎีส่วนใหญ่อยู่ในโมหภูมิ ซึ่งยิ่งทำให้แตกร้าวกันมากขึ้น
ความโกรธความเกลียด และการยึดมั่นในความคิดและทฤษฎีกำลังขับเคลื่อนสังคมไทยเข้าไปสู่จุดพลิกผัน (tipping point) ที่คนไทยจะฆ่ากันตายเป็นหมื่นเป็นแสน
ถ้ามหาอุทกภัยคราวนี้มาล้างพิษในจิตใจของคนไทย ให้ละทิ้งความโกรธ ความเกลียด หันมารวมใจกัน สร้างสังคมที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน ประเทศไทยจะพ้นวิบัติ
ผมเตือนอยู่เรื่อยๆ ซึ่งดูจะมีคนเข้าใจน้อยเต็มที ว่าทำอะไรต้องเอาใจนำ อย่าเอาความรู้ ความคิด และทฤษฎีนำ
ความรู้ ความคิดและทฤษฎีนำไปสู่ความแตกแยกและทอนกำลังได้ง่าย
ถ้าเอาใจนำจะเกิดพลังมหาศาล และเกิดความรู้ที่ถูกต้องตามมา
ภัยพิบัติครั้งนี้จะเห็นว่าใจมีค่าและมีพลังเพียงใด
ถ้าคนไทยรวมใจ สร้างสังคมที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน อะไรๆ ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น
เราสามารถรวมใจกันแก้ความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้ เราสามารถรวมใจกันสร้างความเป็นธรรมในสังคมได้ เราสามารถรวมใจกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรรวมทั้งจัดการการใช้อย่างเป็นธรรม และยั่งยืนได้ เราสามารถรวมใจกันป้องกันน้ำท่วมได้
แต่ถ้าเราแตกแยกกันน้ำจะท่วมอีก และประเทศไทยจะวิบัติ
เราอย่าให้การรวมใจหายไปพร้อมกับน้ำลด ต้องรักษาสปิริตแห่งการรวมใจไว้ให้ได้ เพื่อสร้างสังคมที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกันรัฐบาลควรนำการสร้างสังคมที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน มาเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกฝ่ายจะร่วมมือกัน เหมือนการร่วมมือในการบรรเทาอุทกภัยคราวนี้ เรื่องนี้ทำไม่ยาก และใช้เวลาไม่มาก โดยมีหลักการและแนวทางดังนี้
(๑) การพัฒนาที่จะยั่งยืน นั้นจะต้องเป็นการพัฒนาอย่างบูรณาการ ไม่ใช่การพัฒนาอย่างแยกส่วนเป็นเรื่องๆ คือ พัฒนา ๘ เรื่องให้เชื่อมโยงอยู่ในกันและกันอันได้แก่ เศรษฐกิจ-จิตใจ-สังคม-วัฒนธรรม-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ-การศึกษา-ประชาธิปไตย
(๒) การพัฒนาอย่างบูรณาการต้องเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เอากรมเป็นตัวตั้งไม่ได้ เพราะกรมแยกส่วนเป็นเรื่องๆ ตามกรมแต่ละกรม เช่นกรมดิน กรมน้ำ กรมต้นไม้ กรมข้าว ฯลฯ
(๓) พื้นที่คือชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด เรามีหมู่บ้านประมาณ ๘๐,๐๐๐ ตำบลประมาณ ๘,๐๐๐ จังหวัด ๗๗ ถ้าองค์กรเหล่านี้จัดการตนเองได้ กล่าวคือ ชุมชนจัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง จังหวัดจัดการตนเอง ปัญหาต่างๆ จะสามารถจัดการไปได้ ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ ประเทศจะลงตัว จัดการตนเอง หมายถึง จัดการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้ง ๘ เรื่อง ตามที่กล่าวใน (๒) และจัดการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างบูรณาการ
(๔) ตำบลทุกตำบลสามารถเป็นสังคมที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกันภายใน ๑ เดือน อบต. สามารถสำรวจในตำบลของตนว่าใครอยู่ในฐานะจะถูกทอดทิ้งบ้าง เช่นคนแก่ คนพิการ เด็กกำพร้า คนป่วย และจัดให้มีอาสาสมัครดู และหมดทุกคน มีกองทุนสุขภาพชุมชน ที่ สปสช. ยินดีจ่ายให้ ๔๐ บาทต่อคน ถ้าประชากรในตำบลมี ๑๐,๐๐๐ คน ก็จะมี ๔๐๐,๐๐๐ บาท เป็นการเริ่มต้นได้ สามารถทำได้อย่างทั่วถึงทั้ง ๘,๐๐๐ ตำบล ครอบคลุมหมดทั้ง ๘๐,๐๐๐ หมู่บ้าน
(๕) การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ทุกชุมชน ทุกท้องถิ่น ทุกจังหวัด ต้องสร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ สัมมนาชีพ หมายถึงอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม คำว่าสัมมนาชีพจึงบูรณาการเรื่องเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม และศีลธรรมเข้าด้วยกัน การมีสัมมนาชีพเต็มพื้นที่เป็นบ่อเกิดของความร่มเย็นเป็นสุข ขณะนี้การไม่มีงานทำและการขาดความมั่นคงด้านอาหารกำลังก่อให้เกิดจลาจล ระบาดทั่วไปในโลก ประเทศไทยจะต้องตั้งเป้าหมายสร้างสัมมนาชีพเต็มพื้นที่ให้ได้ และทุกฝ่ายระดมกำลังช่วยกันเหมือนการระดมกำลังช่วยเรื่องน้ำท่วม
(๖) การศึกษาอย่างบูรณาการกับสังคม ระบบการศึกษามีพลังมหาศาล แต่ที่ผ่านมาการศึกษาลอยตัวจากสังคม เป็นการศึกษาแบบแยกส่วน ถ้าการศึกษาบูรณาการเข้ามาในการพัฒนาอย่างบูรณาการจะเป็นพลังมหาศาลของการพัฒนาไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล
(๗) หนึ่งหน่วยงานสนับสนุนหนึ่งตำบล เรามีกระทรวง ทบวง กรม กอง มหาวิทยาลัย องค์กรภาคธุรกิจ จำนวนมากมาย ถ้าหนึ่งกอง หรือหนึ่งคณะวิชา หรือหนึ่งบริษัท ไปสนับสนุนหนึ่งตำบลให้สามารถจัดการตนเองได้ ก็สามารถทำได้ทั้ง ๘,๐๐๐ ตำบลโดยมิยาก เห็นไหมว่าถ้ารวมน้ำใจ สร้างสังคมไทยที่ไม่ทอดทิ้งกันจะเกิดพลังมหาศาล เพียงใด
(๘) ปรับวิธีการงบประมาณไปพัฒนาโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง การงบประมาณที่ผ่านมาเอากรมเป็นตัวตั้ง จึงพัฒนาแบบแยกส่วน การพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องปรับวิธีการงบประมาณไปสนับสนุนพื้นที่ให้พัฒนาอย่างบูรณาการ ถ้าปรับวิธีการงบประมาณดังที่ว่านี้ จะเกิดพลังมหาศาลไปหนุนการพัฒนาทั้ง ๗ ข้อข้างบนนั้น พาสังคมไทยไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุขโดยรวดเร็ว
น้ำลดแล้วอย่าให้สปิริตแห่งการรวมน้ำใจลดไปด้วย
เราต้องรวมน้ำใจ สร้างสังคมที่คนไทยไม่ทอดทิ้งกัน ให้ได้
ประเทศไทยจะพ้นวิบัติ