"แก้วสรร อติโพธิ" ดักทางศาลรัฐธรรมนูญ "ยกคำร้องหรือขัดรธน."
วันที่ 5 และ 6 กรกฏาคม 2555 นี้แล้ว ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดไต่สวนคำร้องซึ่งกลุ่มบุคคลต่างๆ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ไปยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 คือเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่
อันเป็นคำร้องที่มีผู้ร้องด้วยกัน 5 กลุ่มคือ 1.พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา และอดีตหัวหน้าคณะสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และคณะ 2.นายวันธงชัย ชำนาญกิจ 3.นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ 4.นายวรินทร์ เทียมจรัส อดีตส.ว. และ 5.นายบวร ยสินทร และคณะ
ซึ่งในกำหนดนัดของศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการเรียกทั้งฝ่ายผู้ร้องและฝ่ายผู้ถูกร้องซึ่งก็คือผู้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งตัวแทนคณะรัฐมนตรี –ตัวแทนพรรคเพื่อไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ร่วมกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านผู้เป็นตัวหลักคือภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนาและสุนัย จุลพงศธร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
มีการคาดการกันว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะทำการไต่สวนแล้วเสร็จเลยภายในสองวันดังกล่าว จากนั้นก็น่าจะนัดฟังคำวินิจฉัยได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์หลังจากนั้น
ก่อนจะถึงวันที่เปิดห้องพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ “ศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ”ได้ถามมุมมองและแนววิเคราะห์คดีจาก”แก้วสรร อติโพธิ”อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอดีตกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) ก่อนที่จะถึงวันซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติและอ่านคำวินิจฉัย เพื่อให้เห็นแนวทางของคำร้องดังกล่าวนี้
ประเมินการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญในคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้อย่างไร?
มันไปได้สองทางคือ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง เขาก็ต้องยืนว่ายังไม่ปรากฏหลักฐาน ที่จะพิสูจน์ได้ว่าจะล้มล้างการปกครองแต่ถ้าในภายหน้าถ้าสภาร่างรัฐธรรมนูญร่างออกมาแล้ว มีบทบัญญัติที่เป็นปัญหาอย่างที่มีการร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญจริง ในภายหน้าศาลก็จะต้องตรวจสอบหรือทัดทานกันต่อไป ถ้าตัดสินแบบนี้ ก็คือการออกมาเหมือนกับต้องการคุมว่าพวกคุณอย่าร่างกันมั่ว
อีกทางหนึ่งศาลก็บอก มันเสี่ยงหรือเกิน ร่างอะไรกันไปเดี๋ยวก็เละ ก็อาจสั่งห้ามสั่งอะไรของเขาไปตั้งแต่บัดนี้เลย ว่าให้ทำเหมือนเดิมนะ ต้องผ่านรัฐสภา มีคนรับผิดชอบ ตรวจทาน อาจเป็นอย่างไหนก็ได้ เราก็ไม่รู้ ว่าศาลท่านจะออกมาอย่างไร
ก็คุยกันไปก็เห็นอยู่สองทางนี้ ก็ไม่รู้ แต่เขาก็มีอำนาจจะรับคำร้องไว้พิจารณา ส่วนในทางกฎหมายมันจะไปได้แค่ไหน ก็หวังว่าท่านจะเดินไปแค่นั้น เพราะถ้าเลยไปมันก็ไม่เหมาะไม่ควร ถ้าไม่ทำอะไรเลย มันก็ไม่ถูก ก็ลำบากนะ ก็ต้องดูกันต่อไป ว่าศาลจะไปได้มากแค่ไหน
มองกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้กับก่อนหน้านี้ที่มีการแก้ไขทั้งฉบับในปี 2540 และปี 2550 เหตุผลต่างๆ แตกต่างกันอย่างไร?
การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ที่ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาเพื่อทำการยกร่างทั้งฉบับไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง อย่างการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือรธน.ปี 2550 เกิดขึ้นเพราะการทำรัฐประหารมีการยกเลิกรธน.ปี 2540 ก็ต้องเขียนกันใหม่
ส่วนการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญปี 40 ก็เพราะประชาชนสังคมเบื่อหน่ายสภาการเมืองในช่วงนั้นเช่นปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล รัฐบาลล้มลุกคลุกคลานบ่อยจากการเป็นรัฐบาลผสม ก็เกิดกระแสการปฏิรูปการเมืองคือทำอย่างไรให้รัฐบาลเข้มแข็งขึ้น พวกนี้มีที่มาที่ไป
แต่ฝ่ายที่แก้ก็บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะร่างสมัยคมช.มีอำนาจ?
ที่บอกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยอมรับไม่ได้เพราะมาจากรัฐประหาร ในเมื่อรัฐธรรมนูญปี 50 ก็ยึดเอารัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นแบบอย่าง มีการให้ประชามติก่อนการประกาศใช้ ถ้ามันไม่ดีตรงไหนก็บอกมาสิ จะแก้ทั้งฉบับก็ต้องบอกมาถึงเหตุผลความจำเป็น ต้นเหตุคืออะไร แล้วถ้าแก้แล้วคอนเสปต์เป็นอย่างไร หลักเป็นอย่างไร ก็ต้องตอบมา ต้องทำแบบนี้
แต่มาคราวนี้ ก็เห็นเลยว่ามันไม่มีข้อตกลงไม่มีทีโออาร์ ไม่มีที่มาที่ไปอะไรทั้งนั้น แล้วกระบวนการที่ทำก็ไม่ปกติ อย่างปี 2540 หรือปี 2550 ที่มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเขาใช้วิธีสรรหาหรือการเลือกตั้งทางอ้อม ไม่ใช่เลือกตั้งอย่างปี 2540 ให้แต่ละคนไปสมัครกันเองในแต่ละจังหวัดแล้วเลือกกันเองแล้วก็ส่งชื่อมาให้สมาชิกรัฐสภาทำการประชุมเพื่อคัดเลือกคนเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ แล้วพอร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ รัฐสภาก็จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบแล้วก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ
แต่ระบบใหม่ที่กำลังสร้างขึ้น ใช้วิธีการเลือกตั้งซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้จะให้มาเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าพรรคการเมืองไหนมีฐานแน่นอยู่จังหวัดละหนึ่งคน ก็สามารถสนับสนุนใครหรือส่งเสริมหนุนใครก็ได้แต่ละจังหวัดให้มาเป็นส.ส.ร.จังหวัดละหนึ่งคน จากนั้นก็เอาเนื้อหาตามที่คุณต้องการให้ไป แล้วก็ไม่มีใครรับผิดชอบ
หาใครรับผิดชอบไม่ได้ ทำกันเสร็จก็หายหัวไปเลยแล้วก็โยนให้ทำประชามติ ไปอ่านรัฐธรรมนูญสองร้อยกว่ามาตราแล้วก็ทำประชามติ เป็นการตัดสินใจที่ไม่ได้มีสาระ แก่นสาร มีความเข้าใจกันเป็นเรื่องเป็นราว ที่มีความรับผิดชอบ หาคนมาดูตรงนี้ได้ ทำเสร็จก็โยนไปเลย ให้ประชาชนว่าจะเอาไม่เอา
กระบวนการแบบนี้ไม่เคยมีใครเขาทำกัน ถ้าคุณต้องการเปลี่ยนแปลงต้องการเปลี่ยนบ้านเปลี่ยนเมืองจริงๆ คุณต้องโอเพ่น เปิดเผย ทำอย่างเปิดเผย อย่างสมัยชาร์ล เดอ โกล เขาบอกระบบรัฐสภามันไม่ไหวแล้ว มันไม่ใช่ระบบประธานาธิบดีแล้ว มันเป็นกึ่งประธานาธิบดีแล้ว เขาก็รณรงค์แล้วเสนอให้ทำประชามติว่าเราจะยอมให้เปลี่ยนแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้โครงสร้างพื้นฐานของเราไหม
แต่อันนี้ของเราก็ไม่มี ที่ทำกันอยู่ตอนนี้มันจะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างรัฐธรรมหรือไม่ หรือจะแค่การแก้ไขเล็กๆน้อยๆ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคก็ได้ เปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง เรื่องที่มาของสมาชิกรัฐสภา รวมไปถึงว่าให้ศาลมาจากความเห็นชอบของรัฐสภาหรือไปแตะต้องหมวดสถาบัน อะไรก็แล้วแต่เถอะมันไปได้ทั้งนั้น
แต่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็ผ่านทั้งรัฐสภา มีการให้ประชาชนทำประชามติ แล้วเป็นการแก้ไขซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ประกาศมาตั้งแต่ช่วงการหาเสียงเลือกตั้งปี 2554?
เราจะแก้ไขปัญหาหรือจะแก้โครงสร้างพื้นฐานตรงนี้มันต้องพูดกันให้ชัด ไม่ใช่ทำลับๆล่อๆ อันนี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดในปัจจุบันภาพรวมทั้งหมดของการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คนสงสัยกันก็คือแบบนี้
เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับนโยบายหาเสียงมันคนละเรื่องกัน อยากได้แท็บเล็ตแจกเด็กนักเรียนป.1 อยากได้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ก็ว่าไปอันนั้นใช่คือนโยบาย
แต่เรื่องการแก้ไขยกร่างรัฐธรรมนูญ มันไม่ใช่เรื่องนโยบาย เป็นเรื่องรากฐานของบ้านเมือง ถ้าจะแก้อะไรก็ต้องพูดให้ชัดๆ ว่าจะเอาอย่างไร จะแก้ตรงไหน จะมาบอกว่าได้รับคะแนนเสียงประชาชน 15 ล้านเสียงมาแล้ว บอกว่าได้พูดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในตอนหาเสียงแล้ว และประชาชนเลือกมาแสดงว่าคนเห็นด้วย จะมาอ้างมั่วๆ อย่างนั้นได้อย่างไร
ผมยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่นโยบาย เป็นเรื่องของบ้านของเมือง มันต้องมานั่งคุยกันให้ชัดว่าจะเอาอย่างไรจะทำแบบไหน
ความต้องการของเพื่อไทยและพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรทั้งการแก้ไขรัฐธรรมูญและการออกกฎหมายปรองดอง คนมองกันไปหมดว่าทำเพื่อทักษิณคนเดียว ?
ทางฝ่ายการเมืองตัวพ.ต.ท.ทักษิณและเพื่อไทย ก็พยายามทำในสองรูปแบบคืออย่างแรกการจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมก็เพื่อยกเลิกคดีความต่างๆ ที่ค้างคาอยู่และคดีการชุมนุมต่างๆ ก็คุยกันเถียงกันไปจะเอาแค่ไหน คดียิงวัดพระแก้ว จะนิรโทษไหม คดีชุมนุมเสื้อแดงต่างๆ จะมีขอบเขตแค่ไหน รวมถึงการทำให้คดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)ที่ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งคดีที่ตัดสินไปแล้วหรือคดีที่ฟ้องไปแล้วและศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราวเพราะพ.ต.ท.ทักษิณหลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศและอีกหลายคดีที่ค้างอยู่ในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแ ห่งชาติ(ป.ป.ช.)และอัยการ
ของพวกนี้เขาต้องการให้มันหายไปจากโลก แล้วก็ยังต้องการให้ครอบคลุมถึงพวกนักการเมืองที่โดนตัดสิทธิการเมืองห้าปีที่ค้างอยู่ยังไม่พ้นโทษ ก็ต้องการให้มีการคืนสิทธิการเมืองให้โดยไม่ต้องรอให้ถึงห้าปี พวกนี้ในความเข้าใจของเขาคือจำเป็นต้องคืนความยุติธรรม เพราะมองว่าโดนรังแกโดยคตส.โดยอำมาตย์และองค์กรต่างๆ
ซึ่งในทางรัฐธรรมนูญ มันมีไพ่ให้ไม่มาก เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของหลักการแบ่งแยกอำนาจ เขาพยายามทำอันแรกคือทำพระราชบัญญัติปรองดอง ก็มีคนค้านเยอะ ต่อให้ผ่านสภาฯก็อาจโดนศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนกฎหมายไปได้
อีกทางหนึ่งก็คือเขียนรัฐธรรมนูญไปเลย การทำรัฐประหารเป็นสิ่งชั่วร้าย มรดกทั้งปวงจงหายไป ก็เขียนไปในนั้นแล้วมีบทเฉพาะกาลอะไรเพื่อให้คนของพวกเขาได้ประโยชน์ก็เป็นอีกทางหนึ่ง
เป้าหมายหลักของเขาก็คือแบบนี้แต่ทำสองวิธี คือทำโดยออกเป็นพรบ.ปรองดองและการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่เขาไม่ฉลาดนะ เขางก ถ้าทำโดยการร่างรัฐธรรมนูญไปเลย มันจะเนียน คือแก้ไขแล้วไปยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กันไป แล้วก็ยืนหน้าตาย เป็นเรื่องของส.ส.ร.ผมไม่เกี่ยว แต่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมันใช้เวลานาน ต้องใช้อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 10 เดือนแล้วก็ไม่รู้ว่าจะเขียนล็อกไว้ได้แค่ไหน เขาก็เลยเอามันสองทาง ออกเป็นพรบ.ปรองดองหรือกฎหมายนิรโทษกรรม ตอนนั้นก็คิดว่าถ้าไม่โดนขวางกูก็เอาเลย แต่พอโดนขวางมากกูก็ไปทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แรงกดดันการเมืองที่จะไปยังศาลรัฐธรรมนูญหลังวันที่ 6 ก.ค.คือเมื่อรู้วันนัดอ่านคำวินิจฉัยแล้วจะมีผลอะไรไหม?
แรงกดดันต่างๆ ที่เกิดขึ้นผมไม่อยากให้ความสนใจมาก เมื่อมีการยื่นคำร้องแล้วศาลรับคำร้องไว้พิจารณาแล้วไปข่มขู่กดดันศาลมันก็เป็นเรื่องประหลาด เรื่องแนวคิดการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คนที่ทำก็พูดไว้ตลอดอยู่แล้วเช่นที่บอกว่าจะให้รัฐธรรมนูญต้องยึดโยงกับประชาชน จะให้อำนาจฝ่ายต่างๆ เช่นฝ่ายศาลต้องยึดโยงกับประชาชน ผมก็ไม่รู้ว่าเขาหมายถึงอะไรและต้องการอะไร
ก็อย่างที่เห็นถ้ามีการแก้ไขยกร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับมาได้ เขาก็ต้องกลับมาเล่นการเมืองกลับมาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทนน้องสาวของเขา ถ้าขึ้นมาแล้ว ศาลยังมาเป็นหอกข้างแค่ มาขวางอะไรเขาได้ เขาก็ไม่ยอมก็ต้องแก้ไขรื้อไปเพื่อให้หมดอุปสรรคไป จะได้ขึ้นมาได้
ดูแล้วอย่างไรเสีย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ฝายการเมือง พรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องทำให้ได้เรื่องแก้รธน.และออกกฎหมายปรองดอง?
พ.ต.ท.ทักษิณขอดูไพ่อยู่เรื่อย พอขวางมากก็หลบ ตอนนี้ มันอยู่ที่กลางกระดานที่เขาเดิน เขาก็ถอยไม่ได้ เพราะถ้าถอยมากก็จะโดนพวกเดียวกันกระทืบ เขาก็กำลังมีปัญหาอยู่ว่าจะเดินไปได้มากน้อยแค่ไหน ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการออกกฎหมายปรองดอง
หลังศาลรับคำร้องดูเหมือนจะเป็นอีกครั้งที่หลายฝ่ายวิจารณ์การใช้อำนาจของศาลค่อนข้างมาก?
มาตรา 68 มันอยู่ในขอบเขตอำนาจที่เขาจะรับคำร้องไว้วินิจฉัยได้ แต่เมื่อรับแล้ว จะตัดสินอย่างไร มีเหตุผลไหม ฟังได้ไหม มีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร ให้เหตุผลอย่างไร ต้องรอดูการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้รอดูกันก่อน ไม่ใช่แค่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องแล้วมาโวยวายกันว่าศาลรัฐธรรมนูญทำไม่ถูกต้อง มันไม่ใช่ อยากให้ดูผลคำวินิจฉัยที่จะออกมาก่อนว่าจะเป็นอย่างไร
ผมไม่ได้สรุปว่าศาลรัฐธรรมนูญทำถูกหรือผิด การทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญจะถูกหรือผิดก็ต้องดูกันที่คำวินิจฉัยที่จะออกมาอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่แค่รับไปปั้ง เมื่อมันน่าสงสัย เขาขอคำอธิบายจากผู้ดำเนินการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหน่อย มันจะเป็นจะตายอะไรกันล่ะ
คงต้องรอดูกันไปว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดลงมติคดีนี้กันวันไหนและก่อนหน้าการวินิจฉัยคำร้องรวมถึงหลังคำร้อง ถ้าผลออกมาบางฝ่ายไม่พอใจไม่เห็นด้วยแล้วจะมีแรงกระแทกกลับไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแรงๆอีกหรือไม่ โดยท่าทีล่าสุดของศาลรัฐธรรมนูญ น่าสนใจไม่น้อยเมื่อปรากฏว่าเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งมีการจัดสัมมนาของศาลรัฐธรรมนูญกับสื่อมวลชน ณ โรงแรมแห่งหนึ่ง ริมหาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
ปรากฏว่า “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์”ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวในห้องสัมมนาตอนหนึ่งถึงเรื่องคำร้องเจ้าปัญหาครั้งนี้ ซึ่งเป็นการกล่าวที่มีนัยยะการเมืองหลายอย่างน่าสนใจกว่าที่นายวสันต์เคยแถลงไว้เมื่อสามสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า
“คนที่ร้องเขาอ้างว่าการแก้รธน.ที่จะมีการลงมติวาระ 3 จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ไปดูที่เขาทำกันเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ พิจารณาดูจากที่อาบน้ำแต่งตัวแล้วก็เห็นว่า เป็นไปได้ รัฐสภาเขาขายขาด ไม่รับคืน
การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการแก้วิธีการแก้หรือเปลี่ยนวิธีการแก้ แทนที่จะแก้ไขเป็นรายมาตรา ซึ่งความจริงก็ไม่เป็นไรแต่กลับโยนภาระให้กับส.ส.ร. เพื่อที่ท่านจะตอบว่าไม่รู้ ขึ้นอยู่กับส.ส.ร. ซึ่งท่านจะบังคับส.ส.ร.ไม่ได้ พอได้ส.ส.ร. แล้ว ส.ส.ร.ก็ไปยกร่างโดยมีกรอบว่าต้องไม่แตะต้องหมวด1 เกี่ยวกับรูปแบบการปกครอง และหมวด 2 เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ถ้าส.ส.ร.ร่างมาแล้วเกิดไปแตะในมาตราดังกล่าวนั้นเขาก็คงให้เหตุผลว่าไม่เป็นไรเพราะมีประธานรัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งถ้าประธานรัฐสภาเห็นว่าแตะก็จะนำเข้าสู่สภาฯเพื่อวินิจฉัย แต่ถ้าประธานรัฐสภา ไม่ส่งเข้ารัฐสภาแล้วเอาไปลงประชามติเลย จะมีผลไหมครับเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาบอกว่าให้เชื่อประธานรัฐสภา ถ้าเราเชื่อตัวบุคคลก็ไม่ต้องมีกฎหมาย กฎหมายเฮงซวยแต่คนดีซะอย่าง แต่ถ้าประธานรัฐสภาฮั้วกับส.ส.ร. นำร่างไปทำประชามติเลย จะมีกี่คนเข้าใจตอนนั้น ประธานก็รับเผือกร้อน เขาจะล้มล้างไหม
ท่านคิดว่าคนที่ลงประชามติมีความเข้าใจสักกี่คน และท่านก็เคยบอกว่าลงประชามติปี 50 ประชาชนไม่เข้าใจเลย ผ่านมา 5-6 ปี รู้ทุกตัวอักษรแล้วหรือ คุณภาพเปลี่ยนแปลงไปแล้วหรือ ก็ไม่ว่ากัน”
ผลสุดท้ายคำร้องคดีนี้จะออกมาอย่างไร จะเป็นเพียงแค่การแตะเบรคของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ผู้ทำการยกร่างรัฐธรรมนูญระมัดระวังในการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างที่หลายคนวิเคราะห์หรือจะถึงขั้นวินิจฉัยให้การยกร่างทั้งหมดที่มีมาตั้งแต่วาระแรกจนถึงวาระสองกลายเป็นโมฆะไปทั้งหมดเพราะขัดรธน.มาตรา 68
หลายฝ่ายยังเต็งให้เป็นอย่างแรกมากกว่า คือแค่การแตะเบรคของศาลรธน.เท่านั้น