"พล.อ.อ."สุกำพล สุวรรณทัต"นาซ่าใช้อู่ตะเภา "รัฐฯต้องกล้าในสิ่งที่ถูก"
เป็นประเด็นร้อนในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับการที่องค์การการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซ่า ขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศในช่วงเดือน สิงหาคม ถึง กันยายนนี้ โดยรัฐบาลยังไม่ได้นำเข้าการประชุมคณะรัฐมนตรี ทั้งที่นาซ่าประกาศแผนงานในเว็บไซต์ในการนำอุปกรณ์เข้ามาในประเทศไทยวันที่ 18 มิถุนายนนี้ จะด้วยแรงต้านของฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้าม ที่ผูกโยงเรื่องการขอวีซ่าของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็น “ธง” ของรัฐบาล ในการแลกเปลี่ยนให้สหรัฐฯ เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานในการขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้ หรือจะเป็นประเด็นที่จีนเริ่มมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาข้อพิพาทใน “ทะเลจีนใต้”จนสหรัฐฯ ต้องปรับยุทธศาสตร์เพื่อรักษาดุลอำนาจของตัวเองในภูมิภาคนี้ ส่งผลให้รัฐบาลหยุดชะงักไปหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องหาคำตอบ
เรามีโอกาสสนทนากับ พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นการสนทนาที่เกิดขึ้นก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 มิ.ย.นี้ ซึ่งยังไม่ทราบว่าเรื่องดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาหรือไม่ แต่เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการสอบถามจากจุดเริ่มต้นข่าวครั้งแรกที่ฝ่ายไทยเตรียมข้อมูลในการหารือระดับทวิภาคี ระหว่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไทย และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระหว่างการประชุมความมั่นคง ในเวที แชงการีล่า ไดอะล็อค ที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อเดือนที่ผ่านมา ... บทสัมภาษณ์นี้สะท้อนทิศทางและท่าทีของรัฐบาลต่อการเข้ามาขององค์การน่าซ่าตั้งแต่เริ่มต้น ที่เขาเชื่อว่าปรากฎการณ์นี้ประเทศไทยจะ “ได้”มากกว่า “เสีย”
รัฐบาลเคยประชุมและกำหนดยุทธศาสตร์ในเรื่องที่นาซ่าจะเข้ามาก่อนหน้านี้นานหรือไม่
เราคุยกันไม่นานนัก เรื่องเข้ามาที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยองค์การนาซ่าได้ทำหนังสือขอเข้ามาขอทำวิจัย ก็มีการคุยกันพอสมควร ทางกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าของเรื่อง จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงวิทยาศาสตร์ และ หน่วยงานด้านความมั่นคง มาคุยพื้นฐานกันก่อน ก็มีบางหน่วยที่ทุบโต๊ะบ้างว่าขออย่างนี้มากไป แต่พอนานๆ ก็เริ่มรู้ว่าเป็นแค่การวิจัย ทุกอย่างอยู่ที่หน่วยงานซึ่งส่งคนไปประชุม ยอมรับว่าตอนแรกหลายส่วนก็ไม่รู้เรื่องว่าเรื่องราวมันเป็นอย่างไร ก็ต้องคุยกัน ตอนหลังพอคุยกันแล้วทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช. )ก็รู้เรื่องหมด ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะเป็นความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์ ใครมีข้อห่วงใยอะไรก็ว่าไป เราในระดับผู้ใหญ่ก็ดูข้อห่วงใยว่า มีอะไรหรือไม่
ห่วงใยเรื่องเครื่องบิน U-2 ( ER-2 )
กรณีข้อห่วงใยเรื่องเครื่องบิน U-2 ว่าเป็นเครื่องจารกรรม ความจริงมันเป็นแค่ platform เหมือนเครื่องบิน Normad ที่เราใช้ทำฝนเทียม เมื่อติดปืนก็สามารถใช้ทำการยิงได้ พอไปทำฝนเทียมก็ติดอุปกรณ์ไปโปรยสารเคมี มันอยู่ที่ว่าจะเอาอะไรใส่เข้าไปเท่านั้นเอง เครื่องบินรุ่นนี้ซึ่งเข้ามาเรียกว่า ER-2 ก็เป็น platform ตัวหนึ่ง ต้องเข้าใจว่า นาซ่า ได้แจ้งว่าจะนำเครื่องบินเข้ามา 3 แบบจำนวน 4 ลำ บินระดับพื้น ไปจนถึงระดับสูงสุด เพราะต้องเก็บตัวอย่าง tropical ทุกระดับความสูง U-2 สามารถบินขึ้นไปได้สูงจากระดับพื้นดิน 20 กิโลเมตร เกือบประมาณ 7 หมื่นฟุต ส่วนเครื่อง DC-8 บินได้ในระดับ 3 หมื่น – 4 หมื่นฟุต คนที่วิจารณ์เป็นพวกตื่นไปเรื่อย เพราะไม่เข้าใจเรื่องของเครื่องบิน เมื่อไม่รู้เรื่องก็โวยวาย แต่เมื่อเราสอบถามเขาก็รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ เครื่อง U-2 เขาเลิกใช้ในภารกิจนั้นแล้ว แต่มาใช้ในภารกิจที่ระบุ ส่วน DC-8 เป็นเครื่องโดยสาร ที่ในสายการบินก็ไม่มีแล้ว แต่นาซ่าใช้ดัดแปลงสำหรับการทำงานวิจัย
สหรัฐฯเข้ามาเร็ว เหมือนให้เราแสดงท่าทีเลือกข้าง
อย่าบอกว่าสหรัฐฯ เข้ามา เพราะมันเป็นแค่หน่วยวิจัยที่จะเข้ามา ไม่ใช่เป็นทหาร ซึ่งเราต้องแยกอย่างนี้ เพื่อให้ลด pressure (ความกดดดัน) ลงไป ในแง่กลับกันทำไมเราไม่มองว่า กัมพูชา กับ สิงคโปร์ อนุญาติให้ทางนาซ่าบินผ่านเข้าไปในน่านฟ้าเขาได้ นั่นไม่เสี่ยงกว่าเหรอ เพราะไม่ได้ลงจอดด้วย อยากมองให้กว้างแล้วจะเห็นข้อเท็จจริง ส่วนที่บอกว่าจีนไม่อนุญาตนั้น มันไม่ใช่ แต่เพราะทางสหรัฐฯ ไม่ได้ขอประเทศจีน และ คงรู้ว่าจีนคงยากอยู่แล้ว เช่นเดียวกับพม่า เขาก็ไม่ได้ขอเหมือนกัน เมื่อสัมพันธ์เขาไม่ได้ดีกันทีเดียว เขาก็ไม่ได้ขอไป เรื่องมันก็มีเท่านั้น
อยากให้เล่าย้อนที่ไปประชุม แชงการีร่า ไดอะล็อกที่สิงคโปร์ จุดเริ่มต้นของข่าวที่ออกมา
จริงๆ เรื่องนี้เราไม่ได้พูดเรื่องนี้กันเลย เวลาน้อยเพราะผมก็กลับก่อน นาซ่าจะมาใช่อู่ตะเภา จะมาก็มา ทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ไม่ได้เกี่ยวข้อง ผมคุยกับ นายลีออง แพนเน็ตต้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในเรื่องอื่น อย่างเรื่อง (HADR: Humanitarian Assistance & Disaster Relief) ได้มีการคุยกันจริง เพราะมีทหารเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และ ต้องขนของทและอุปกรณ์เพื่อใช้ในการตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และ บรรเทาสาธารณภัย ซึ่งสหรัฐอเมริกาก็คล้ายๆ กับไทย ตรงที่เวลาเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ก็ต้องใช้ทหารเหมือนกัน องค์กรที่ทำเรื่องค้นหา กู้ภัย จริงๆ หายาก เขาก็แสวงประโยชน์ตรงนี้ด้วย เพราะเขาก็มีเรือบรรทุกเครื่องบินในบริเวณนี้ ก็มีของที่จะเข้ามาช่วยได้เร็ว อย่างกรณีน้ำท่วม ถ้าจะรอองค์กรบรรเทาสาธารณภัยเข้ามาจริงๆ น้ำก็แห้งหมดแล้ว ต้องเข้าใจว่ากติกาด้วยว่าเป็นอย่างไร มองให้ลึกซึ้งเรื่องก็จะจบไป
การเปิดรับนาซ่าเข้าใช้อู่ตะเภา จะกระทบยุทธศาสตร์เราคบเพื่อนรอบทิศ โดยเฉพาะกับจีนหรือไม่
อย่าลืมว่า เรื่อง HADR ทางจีนเข้ามาร่วมได้ ใครก็ได้ที่แสดงตนว่าจะช่วย เรื่องของนาซ่า เป็นเรื่องแค่เฉพาะกิจ ถ้าจีนมีหน่วยงานอย่างนาซ่า เข้ามาบินสำรวจชั้นบรรยากาศเหมือนกัน เราก็น่าจะใช้ ฮ่องกง เขาก็ให้บิน อย่าลืมว่าความสัมพันธ์ไทยกับจีนค่อนข้างดีนะ เราไม่ได้ให้เขาในเรื่องทางทหาร ภาพรวมเขาก็ดีกับเรา ทั้งเรื่องรถไฟความเร็วสูง เขาก็ทำแผนให้เรา เรื่องน้ำท่วมเขาก็ช่วย เกาหลีก็ช่วย ญี่ปุ่นมาช่วยสำรวจเรารับหมด อยู่ที่เราจะยังไง เป็นสิ่งที่ต้องแชร์กันไป และกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้ดูแล ในเรื่องนโยบายเรายืนยันว่าเราเป็นมิตรกับทุกประเทศ
เรื่องที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ ทำไมรัฐบาลไม่เรียกประชุม สภาความมั่นคงแห่งชาติ ก่อนตัดสินใจนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี
ทุกอย่างมีกติกามีหมดอยู่แล้ว ว่าเรื่องใดกระทรวงใดรับผิดชอบ เรื่องนาซ่าเข้ามากระทรวงการต่างประเทศเป็นลำดับแรก ถ้าไม่เกี่ยวกับเขา เขาก็ส่งไปที่อื่น เป็นช่องทางที่ถูกต้องแล้ว ไม่มีอะไร สมช. ส่งคนมาคุยก็จบ เขาก็ห่วงเรื่องความมั่นคง แต่เมื่อมีการชี้แจงพูดคุยกัน คิดว่าไม่น่ามีปัญหา
รัฐบาลมีท่าทีต่อปัญหาข้อพิพาทใน “ทะเลจีนใต้” อย่างไร
เราก็ไม่ยุ่ง รัฐบาลคงต้องปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ เราไม่ใช่ตัวปัญหาตรงนั้นก็อย่าไปยุ่งให้มันยุ่งไป เป็นเรื่องของสองฝ่ายเราก็อย่าไปยุ่ง ก็แค่นั้น เราไม่มีผลประโยชน์ตรงนั้นด้วย ถ้าไปยุ่งปัญหาบานปลายออกไป เดี๋ยวจะเสียเพื่อนทั้งคู่ อีกฝ่ายหนึ่งคือเพื่อนอาเซียน อีกฝ่ายหนึ่งก็เป็นจีน ถ้าไปยุ่งปั๊ปก็จะไปมองว่าเราเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หลักการก็คือเราเป็นเพื่อนทั้งคู่ แต่การเอื้อเฟื้อสถานที่ก็ว่ากันไป การที่เราจะรักษาเพื่อนไว้ คือการ ไม่เทคไซด์ ส่วนที่ว่าสหรัฐฯ กับ จีน มีปัญหากัน ผมก็ยังเห็นเขาก็ยังค้าขายกันมหาศาล ไอ้กันก็ขายโบอิ้งให้ จีนก็ขายของให้สหรัฐฯ หลายอย่าง
สรุปคือรัฐบาลมองเห็นว่า ทั้ง 2 โปรเจ็คส์ของสหรัฐฯ มีข้อดี มากกว่า ข้อเสีย
ต้องดีกว่าเสียแน่นอน ส่วนข้อวิจารณ์ในด้านที่เป็นข้อเสียต่างๆ ก็ต้องไปดูว่าใครเป็นคนวิจารณ์บ้าง ต้องดูจากคนวิจารณ์ที่รู้จริง อย่าง ดร. อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ท่านวิจารณ์ดีมาก แต่พวกที่ไปวิจารณ์ว่าไปผูกพันกับเรื่องของการขอวีซ่าของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือผูกพันเรื่องเสียอธิปไตย อันนี้เป็นการพูดเกินจริง ฟังไปก็ตัดได้เลย เห็นหน้าคนพูดก็รู้ได้แล้วว่าเป็นเรื่องการเมือง คนที่วิจารณ์กลุ่มนี้เขาต้องการให้มีปัญหา ผมเองมองว่า สื่อเองก็รู้ว่ามันไม่จริงแต่ต้องการให้เป็นข่าว เพื่อให้ขายข่าวว่านาซ่าจะมาประเทศไทยได้ 7 วัน บางสื่อก็เหมือนไม่รู้อะไรเลยทางโน้นว่ายังไงก็มาถามต่อ ให้มันเป็นเรื่องตอบโต้กันไป สื่อต่างประเทศเขาไม่เห็นเอาคำพูดคนนี้ไปถามคนนี้ต่อ ถามเป็นเรื่องเป็นราวไป บ้านเราเรื่องนาซ่าคือ เรื่องไม่เป็นเรื่องก็ถามกันไป 7 วัน
เรื่องนี้น่าจะผ่านครม.ได้เพราะกระแสไม่ได้แรงเหมือนคนต้านฐานทัพอเมริกันช่วงสงครามเวียดนาม
คิดว่าน่าจะไม่มีอะไร อาจเป็นการจุดประเด็นขึ้นมา ให้รัฐบาลไม่ต้องทำอะไร ให้มีปัญหาแต่เรื่องแบบนี้ แทนที่นาซ่าจะมาประชุมให้เรื่องมันจบไปเลย ก็ต้องมานั่งตอบคำถามเช้า -เย็น ไม่ต้องทำอะไรเลย ถ้าเรื่องนี้ไม่ต้องพูดมาก ก็ไม่มีข่าว แต่มันไม่ได้ ถ้าเขาพูดมาเราไม่ตอบเลย ก็เหมือนเรายอมรับ มันเป็นสิ่งที่เมืองไทยเสียหาย ประเด็นคือเขาต้องการให้เป็นเรื่องการเมือง และ ผมก็ยอมรับว่าผมไม่ใช่นักการเมือง 100 เปอร์เซ็นต์ ผมมีชีวิตจิตใจเป็นทหาร 100 เปอร์เซ็นต์ ทำอะไรก็จะเป็นแบบลักษณะทหาร แต่ผมก็ต้องมองการเมืองนะ ต้องสนใจว่าเขาเป็นยังไงกัน ก็เลยต้องชี้แจงบ้าง
ถ้าเราไม่เอานาซ่า กับ HADR จะมีผลเสียหรือไม่
"เสีย.. เสีย แน่นอน เพราะมันของดี แล้วไม่เอาได้อย่างไร เมื่อบอกว่าร่วมมือกันมาแล้วเราไม่เอา เราก็เสียนะ รัฐบาลต้องกล้า ไม่ใช่มีอะไรหน่อยก็ไม่เอา อย่างนั้นก็ปิดประเทศไป ต้องกล้าที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง พอข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ คนที่คิดกลางๆ เขาฟังอยู่เขาจะได้รู้ว่ามันเป็นยังไง ยิ่งรัฐบาลนี้ขึ้นมาฝ่ายตรงข้ามเขาก็ต่อต้านทุกอย่าง เราทำอะไรเขาไม่เห็นว่าดีซักอย่าง ประเทศชาติจะเดินได้อย่างไร ถ้าเราเลี้ยวซ้าย เขาก็เลี้ยวขวา มันเป็นอย่างนี้ตลอด จะมีปัญหาตลอดเรื่องอธิปไตยบ้าง ม.190 ของรัฐธรรมนูญบ้าง ไม่จบไม่สิ้น"
เหลือแค่ กฤษฎีกา ยังไม่ส่งเรื่องที่เราขอความเห็นเรื่อง ม.190 ไป
คิดว่าน่าจะตอบแล้ว ครม. ถามไป เขาก็คงตอบมา ไม่ได้มีปัญหา ผมคุยกับท่าน อัชฌพร เจริญพานิช เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ท่านก็บอกว่าไม่อะไร เพราะเรียนวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นเดียวกัน ที่คณะรัฐมนตรียังไม่ได้พิจารณาในการประชุมที่พัทยา เพราะรายละเอียดยังไม่ครบ ก็เลยเข้าไม่ได้
ถ้าผ่าน แล้วแผนงานต่อจากนั้นจะเป็นอย่างไร
นาซ่า ก็จะเข้ามาในเดือน ส.ค.- ก.ย. ตามแผนงานเดิมที่เขากำหนดไว้ ส่วนเรื่อง HADR เป็นเรื่องหลักการที่คุยกันเฉยๆ ยังไม่ได้เข้ามา เราคุยกรอบกันว่าถ้าตั้งศูนย์ในประเทศไทย จะใช้อู่ตะภา ก็ต้อง Standard operating procedure หรือ SOP เมื่อต้องมีหลายชาติเข้ามา เมื่อเข้ามาที่ศูนย์ก็จะมีเอกสารที่แนะนําวิธีการปฏิบัติงานต่าง ๆ ที่ทําเป็นประจํา เพื่อให้มีการปฏิบัติอย่างถูกต้อง เช่น จีน หรือ สหรัฐฯ เข้ามาช่วยเรื่องบรรเทาสาธารณภัย จะต้องทำอย่างไรบ้าง เป็นต้น วัตถุประสงค์คือเข้ามาช่วยเหลือเรื่องมนุษยธรรม เช่น เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่อินโดนีเซีย ตรงนี้จะเป็น Base เล็กๆ ที่จะเป็นจุดที่เครื่องไปลงที่อินโดนีเซีย เรื่องวิธีการอาจจะยุ่งยากหน่อย อย่าไปคิดอย่างอื่น เราก็เริ่มดูจาก การฝึกร่วมผสมภายใต้รหัสคอบร้าโกล์ด เพราะมีหลายชาติที่ร่วมฝึกอยู่แล้ว
เอ็มโอยู ที่เราทำกับสหรัฐฯ เมื่อหลายปีก่อนมีลักษณะเปิดกว้างมากไปหรือเปล่า
ไม่ได้กว้าง มีการระบุวัตถุประสงค์ชัดเจนในการใช้ ทั้งการจอดอากาศยาน การแวะพัก เติมน้ำมัน ซึ่งเป็นส่วนเฉพาะของกองทัพสหรัฐฯ ที่ไม่ใช่เครื่องบินโดยสาร เขามีกติกาอยู่แล้ว ส่วนที่เห็นว่าเป็นเพราะเรามีเอ็มโอยูกำหนดเลยต้องให้นาซ่าเข้ามาใช้นั้น ผมไม่อยากให้คาดเดาไปอย่างนั้น ความจริงประเทศไทยจะไม่ให้ใช้ก็ได้ แต่มันเหมาะหรือไม่ ก็ต้องดู อย่าไปสมมุติง่ายๆ เขามาด้วยเงื่อนไขแบบนี้เราก็ต้องให้เขา