"นครินทร์ เมฆไตรรัตน์" 80 ปีประชาธิปไตย"เกิดยาก-อยู่ยาก-ตายง่าย"
ครบรอบ 80 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิ.ย. 2555 นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงาน “ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475” และ “ปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475” มาร่ายยาวถึงต้นไม้ที่ชื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย
มีข้อคิดอย่างไรกับความปฏิวัติ 2475 เนื่องโอกาสครบรอบ 80 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
80 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีทั้งความสำเร็จบางประการตามที่คณะราษฎรตั้งใจและก็มีบางส่วนไม่ได้สำเร็จตามที่คณะราษฎรวางแผนเอาไว้ ความไม่สำเร็จนี้มาจากภายในคณะราษฎรเอง และสภาพแวดล้อมภายนอกและภายในประเทศ
ส่วนที่เป็นความสำเร็จ คือ คณะราษฎรได้เปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องกล่าวย้ำว่า ก่อนวันที่ 24 มิ.ย. 2475 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นทั้งประมุขของรัฐ และเป็นประมุขฝ่ายบริหาร คือ ท่านทรงงานในที่ประชุมเสนาบดีสภาด้วย แต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงวันที่ 24 มิ.ย. 2475 ก็ต้องบอกว่า โครงสร้างการบริหารประเทศเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเป็นแบบใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประมุขของรัฐเพียงอย่างเดียว
งานประมุขฝ่ายบริหารนั้น คณะราษฎรได้เสนอชื่อให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา รับตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหาร ท่านเป็นประธานกรรมการราษฎร หรือ นายกรัฐมนตรีคนแรกของระบอบประชาธิปไตยของไทย หลังจากนั้นเราก็มีนายกฯเรื่อยมา ตามลำดับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านไม่ได้ทรงงานเป็นประมุขฝ่ายบริหาร ในครม. นี่ก็ถือเป็นความสำเร็จของคณะราษฎรรวมทั้งคณะราษฎรได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ เราก็มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย พระราชทานเป็นการชั่วคราว ซึ่งรัฐธรรมนูญ วันที่ 27 มิ.ย 2475 แต่ท้ายสุดก็มีการจัดทำยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นฉบับถาวรวันที่ 10 ธ.ค. 2475 นี่ถือเป็นความสำเร็จส่วนหนึ่งของคณะราษฎร และส่วนหนึ่ง เรื่องรัฐธรรมนูญก็เป็นส่วนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานด้วย รัฐธรรมนูญของไทยเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการพระราชทาน โดยที่คณะราษฎรเป็นผู้ร้องขอ ไม่ใช่เกิดจากการพระราชทานแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือ คณะราษฎรจัดทำรัฐธรรมนูญแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นองค์ประกอบร่วมกันสองฝ่าย
นอกจากนี้ยังมีความสำเร็จที่เปลี่ยนแปลงประเทศเป็นประเทศ สยามอย่างใหม่ คณะราษฎรได้ใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการแก้ไขกฎหมายความไม่เสมอภาค ทำให้เรายกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้ในปี 2481 หรือ 6 ปีถัดมา รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงชื่อ สยาม เป็น ประเทศไทยในปี 2482 ประชากรที่หลากหลายในไทย ไม่ว่า แขก ลาว ญวน มอญ ทุกคนก็เป็นคนไทยเสมอกัน นี่ก็เป็นความสำเร็จของคณะราษฎร ก็ถือได้ว่า คณะราษฎรมีความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ไม่สำเร็จและเป็นปัญหา อุปสรรคเป็นอันมาก เรื่องใหญ่สุด คือ ระบอบรัฐสภาที่จัดตั้งขึ้นมา ในช่วงแรก ระบอบรัฐสภาก็มีสมาชิกสองประเภท คือ สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งเพียงครึ่งเดียว และ สมาชิกที่มาจากแต่งตั้งอีกครึ่งหนึ่ง นี่ก็อาจเป็นองค์ประกอบที่ไม่สมบูรณ์ของความเป็นประชาธิปไตย รวมทั้งปัญหาเรื่องพรรคการเมือง คณะราษฎรก็อาจไม่มีความพร้อม รวมทั้งบรรยากาศเงื่อนไขตอนนั้นก็ไม่มีความพร้อมให้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง นี่เป็นปัญหาอุปสรรคใหญ่ เพราะพรรคการเมืองของเราต่อมา แม้จะมีพรรค แต่ก็มีแต่ชื่อ โครงสร้างพรรคการเมืองของไทย ก็ไม่มีการบริหารจัดการที่เป็นประชาธิปไตย เราไม่มีระบบพรรคการเมืองที่มีความเข็มแข็ง หรือ ไม่มีพรรคการเมืองที่มีฐานนำที่หยั่งรากลึกในสังคมไทย และการบริหารภายในของพรรค ก็ไม่เป็นประชาธิปไตย
ข้อสำคัญอีกเรื่อง คณะราษฎรตั้งใจสถาปนาการปกครองในระดับท้องถิ่น แต่คณะราษฎรก็มีข้อจำกัดอยู่มาก การจัดตั้งเทศบาลก็มีจำนวนน้อยเกินไป พูดตรงๆ ก็มีการยกฐานะ สุขาภิบาลที่เป็นเทศบาล ได้เพียงประมาณ 100 แห่งเศษเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก ประชากรของประเทศไทยยังเป็นโครงสร้างแบบไพร่ฟ้าเป็นราษฎรที่ยังไม่มีความเป็นพลเมืองเต็มขั้น นี่จึงเป็นปัญหาอุปสรรคของประชาธิปไตยไทยที่มีการพัฒนาในระยะต่อๆ มา
บางคนบอก 80 ปีของเรานานมาก แต่ทำไมประชาธิปไตยไม่พัฒนา ไม่ก้าวหน้าเลย
ผมกลับมองต่างมุม ถ้าถามว่า 80 ปีนานไหม มันก็หนึ่งชั่วคน แต่ปัญหาที่ทำให้พัฒนาการของเราอาจสะดุดหยุดลง ไม่ได้เกิดจากปัจจัยของคณะราษฎร แต่เป็นปัจจัยที่เกิดแทรกซ้อน บางทีเราอาจลืมนึกไปว่า ปัจจัยเหล่านี้มันทำให้พัฒนาการของประชาธิปไตยมีความล่าช้า และอุปสรรคหลายครั้ง เช่น ปัญหาเรื่องสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นปัญหาจากภายนอกที่ญี่ปุ่นได้เข้ารุกรานไทย ซึ่งมันก็ไม่เกิดจากปัญหาภายในของเรา แต่มันกระทบกับภายในของเรา ทำให้โครงสร้างอำนาจของการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร ทำให้กลุ่มผู้นำเกิดความขัดแย้งกันทะเลาะกัน ทำให้กองทัพขยายตัว ทำให้ทหารมีบทบาททางการเมืองเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกองทัพที่นำทัพบุกเข้าไปในเชียงตุงของพม่า โดย จอมพลผิน ชุณหะวัณ เรียกว่า กองทัพพายัพ และเมื่อกลับมาก็มีส่วนเป็นกำลังหลักในการทำรัฐประหารในปี 2490 นี่ก็เป็นปัจจัยภายนอกที่บางทีเรานึกไม่ถึง
เรื่องใหญ่อีกเรื่อง คือ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดบรรยากาศของสงครามเย็น มีการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ คือ การที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราที่ได้รับเอกราช และก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกของคอมมิวนิสต์ ผมคิดว่าการเมืองไทยก็ตกอยู่ในบรรยากาศของสงครามเย็น สมัยนั้นประเทศเพื่อนบ้านก็ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ประเทศจีน เวียดนาม ลาว เขมรก็เป็นคอมมิวนิสต์ บรรยากาศแบบนี้ทำให้ภายในประเทศเกิดความปั่นป่วน เมืองไทยก็กลายเป็นศูนย์บัญชาการของกองกำลังโลกเสรี ที่มีไว้เพื่อตอบโต้กับโลกคอมมิวนิสต์ รวมถึง คอมมิวนิสต์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศด้วย คือ กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย บรรยากาศแบบนี้มันไม่เกื้อหนุนให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยที่เรียบร้อยเลยและบรรยากาศแบบนี้มันก็ก่อตัวนำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตยแบบไทย หรือ ระบอบเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งได้ยึดอำนาจจากจอมพลป.ในปี 2500 และก็มีการร่างธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2502 แปลว่า ประเทศไทยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง ซึ่งเราก็ไม่มีการเลือกตั้งว่างเว้นไปประมาณ 10 ปี
ธรรมนูญฉบับ 2502 ยังให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจพิเศษเรียกว่า “มาตรา 17” อำนาจอันนี้เป็นคำสั่งของนายกฯที่สามารถรักษาเอกราชของชาติ บรูณภาพแห่งดินแดน โดยให้เป็นคำสั่งเทียบได้กับคำสั่งของตุลาการ หรือ ศาล ซึ่งถือเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยตรง ทำให้การเมืองไทยหลังจากสิ้นสุดยุคพิบูลสงคราม และรัฐบาลของปรีดี พนมยงค์ ที่ต่อเนื่องมา เสื่อมทรุดมาตามลำดับ เราถือว่า เมื่อหมดสิ้นยุคของจอมพลป.สมัย 2 ปี 2500 การเมืองไทยก็ก้าวเข้าสู่ยุคมืดเต็มขั้น ตั้งแต่ปี 2500 มาเห็นแสงสว่างอีกทีปี 2512 ที่จอมพลถนอม รับอำนาจจากสฤษดิ์ จัดการเลือกตั้งใหม่ ซักพัก จอมพลถนอมก็รัฐประหารตัวเอง เป็นยุคมืด จนถึง 14 ตุลา 2516 หรือ 16 ปีเต็มๆ ก็ต้องถือว่า เป็นการแช่แข็งระบอบประชาธิปไตยที่ยาวนานมากพอสมควร
ถ้าถามว่า ประเทศไทยมีประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าหรือไม่ มันก็ก้าวหน้า แต่ก็ไม่เรียบร้อยราบรื่นอย่างที่หลายคนคาดคิดไว้ เพราะมีเรื่องทั้งที่เป็นปัจจัยภายใน ที่แทรกซ้อน รวมทั้งปัจจัยภายนอก เช่น ปัญหาเรื่องญี่ปุ่น ปัญหาการต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ สงครามเย็น สงครามเวียดนาม อินโดจีน ก็เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ไม่เกี่ยวพันกับคณะราษฎรเลย คณะราษฎรไม่สามารถไปรับผิดชอบให้ญี่ปุ่นอย่าบุกประเทศ หรือ ต้องมารับผิดชอบกับสงครามเย็น
80 ปีเรามีความก้าวหน้าพอไหม หรือ สิ่งไหนที่เป็นความก้าวหน้าที่เราเห็นได้ชัด
ผมเชื่อว่า ความก้าวหน้าถ้าเรามองโดยโครงสร้างการเมือง การปกครองไทย ก็ต้องถือว่า มีบางส่วนที่มีวิวัฒนาการก้าวหน้ามาเป็นลำดับ เรามีรัฐธรรมนูญ แม้จะมีสิบกว่าฉบับ แต่ รัฐธรรมนูญที่มีความสำคัญ คือ รัฐธรรมนูญปี 2540 กับ รัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นวิวัฒนาการในระยะหลังสุด รัฐธรรมนูญ 2540 สร้างกลไกวางหลักฐานของการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน วางโครงสร้างการกระจายอำนาจ ซึ่งการกระจายอำนาจเหล่านี้ ก็เป็นสิ่งที่คณะราษฎรคิดไว้แล้ว แต่ทำได้น้อยมากในยุคแรกเพราะว่า เทศบาลมีจำนวนน้อยมากแค่ร้อยแห่งเศษ แต่พอถึงรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ต้องกล่าวได้ว่า การกระจายอำนาจเกิดขึ้นเต็มรูป เต็มพื้นที่เป็นครั้งแรกที่ทำให้มีองค์กรการปกครองตนเองของประชาชน เกิดขึ้นในประเทศไทย 7,500 แห่ง ไม่ใช่ 100 แห่ง รวมทั้งโครงสร้างของสภาก็เปลี่ยนแปลงไป ที่สำคัญ รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ก็สร้างองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ สร้างองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญขึ้นมา คือ ศาลรัฐธรรมนูญ มีศาลเกิดขึ้น เช่น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลปกครอง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ อันนี้เป็นวิวัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยในรอบ 80 ปี
สถาบันกษัตริย์ในยุค 80 ปีที่ผ่านมา มีส่วนในการสร้างความเข้มแข็งของประชาธิปไตยไทยหรือไม่ บางคนบอกว่า สถาบันกษัตริย์ทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอ
หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ทำหน้าที่เพียงอย่างเดียว คือ เป็นประมุขของรัฐ ท่านไม่ได้มายุ่งเกี่ยวกับงานบริหาร ฉะนั้น การบริหารงานทั้งหลายก็ตกอยู่กับคณะรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร สภา การที่จะเกิดรัฐประหารหรือไม่อย่างไร ไม่เกี่ยวกับองค์พระประมุขของรัฐเลย อาจจะเรียกว่า เป็นความขัดแย้ง ของฝ่ายการเมือง เช่น ระหว่างฝ่ายบริหาร กับ ฝ่ายสภา หรือ ระหว่างฝ่ายบริหารกับกองทัพ หรือ ฝ่ายสภากับฝ่ายประชาชนซึ่งมันทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง ซึ่งเรื่องเหล่านี้มันนอกเหนือจากเขตพระราชอำนาจ ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ฝ่ายการเมืองก่อขึ้นเอง ไม่เกี่ยวกับประมุขของรัฐ
ตรงกันข้ามองค์พระประมุขของรัฐ คอยเชื่อมต่อไม่ให้การรัฐประหารต่างๆ นั้น ไม่ทำให้บ้านทั้งหลังมันแตกร้าว อย่างน้อยที่สุด ประมุขของรัฐเป็นตัวเชื่อม เป็นสถาบันที่ทำให้เราเห็นความต่อเนื่องของระบอบประชาธิปไตยของไทย ถ้าเปรียบเทียบกับรัฐประหารในลาตินอเมริกา หรือ การรัฐประหารในแอฟริกา การรัฐประหารที่นั่นมันทำลายล้างโครงสร้างต่างๆ ไม่ว่า โครงสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างราชการ โครงสร้างท้องถิ่น แต่การรัฐประหารของไทย ที่ผ่านมามันเป็นเพียงแค่การใช้อำนาจรัฐอย่างรุนแรงในการประหารฝ่ายบริหาร หรือ ฝ่ายสภาเท่านั้น พูดได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่ชอบ แต่ทำอยู่ในเขตที่จำกัดเท่านั้น
บางคนบอกต้องลดอำนาจสถาบันกษัตริย์ลง อาจารย์เห็นอย่างไร
เรื่องพระราชอำนาจ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเอง ตามความเข้าใจของผม ข้อตกลงที่จะให้มีพระมหากษัตริย์ เป็นความตั้งใจของคณะราษฎรด้วย เป็นการตกลงพร้อมใจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย ความจริงท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ก็เคยเตือนสติไว้แล้ว ท่านเคยเขียนไว้ในหลายแห่งว่า การปกครองที่จะเป็นข้อยุติของประเทศสยาม คือ มีการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ คู่กับระบอบประชาธิปไตย การที่เราจะทำอะไรอย่างอื่น เช่น จะเดินไปในหนทางของประเทศฝรั่งเศส จะก่อให้เกิดสงครามการเมือง ความวุ่นวายโดยไม่จำเป็น เป็นการปฏิวัติที่ไม่สมบูรณ์ด้วยซ้ำไป
ผมคิดว่า เขตะพระราชอำนาจนั้น มีทั้งที่เขียนไว้ชัดเจนตามรัฐธรรมนูญ และก็มีพระราชอำนาจบางส่วนที่เขียนเป็นเรื่องประเพณี เป็นเรื่องของพระราชกรณียกิจ เป็นกิจวัตร ขึ้นอยู่กับพระบารมีด้วย
ช่วงที่ผ่านมา คนเสื้อแดงใช้เหตุการณ์ 24 มิ.ย. 2475 มาปลุกระดม พูดถึงเรื่องการสืบทอดอุดมการณ์ของเขา ล่าสุดการชุมนุมวันที่ 24 มิ.ย. มีหัวข้อล้างอำมาตย์ ไม่เอาตุลาการภิวัฒน์ อาจารย์เห็นอย่างไร
เป็นธรรมดา ประวัติศาสตร์มีประโยชน์อยู่หลายอย่าง และเป็นเรื่องปกติ ที่ประวัติศาสตร์จะถูกใช้ในทางการเมืองได้ง่าย เพราะประวัติศาสตร์มีหลายแง่มุม ทั้งเรื่องบอกเล่า แต่ก็ต้องดูข้อเท็จจริงเพราะมันแตกต่างจากนิยาย ประวัติศาสตร์ในแง่มุมหนึ่งก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งก็มีการใช้โดยฝ่ายอุดมการณ์ขวาก็ได้ อุดมการณ์ซ้ายก็ได้ รวมทั้งกลุ่มศาสนาก็ใช้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือเป็นอันมาก โดยเฉพาะ คนที่ตีความว่า การปฏิวัติ 24 มิ.ย. ยังไม่จบสิ้น ความเห็นของผม มันจะมีสองค่ายเท่านั้น คือ ถ้าไม่เป็นค่ายมาร์กซิสต์ ของคนที่มีความคิดแบบซ้าย คนกลุ่มนี้หรือ มาร์กซิสต์ทั้งหลายชอบเชื่อว่า ประวัติศาสตร์มีแผนการณ์ เค้าโครง แพทเทิล มีกฎของประวัติศาสตร์ของมัน ฉะนั้น มันก็ต้องเดินไปตามประวัติศาสตร์ของมัน ที่มันยังไม่จบสิ้น เพราะมันอาจเป็นการปฏิวัติที่ยังไม่สมบูรณ์ ยังทำตรงนั้น ตรงนี้ไม่เสร็จ เป็นการตีความที่มีลักษณะอุดมการณ์อยู่มากเพื่อเอาประวัติศาสตร์มาใช้เป็นเครื่องมือ หรือไม่ก็กลุ่มฝ่ายขวา และ ฝ่ายศาสนาก็มีแนวโน้มเหมือนกันที่จะเชื่อว่า ประวัติศาสตร์เป็นไปตาม โองการของพระผู้เป็นเจ้า ตามกฎแห่งกรรม เป็นต้น
แต่ถ้าดูให้ดี ประวัติศาสตร์ 2475 ตามเจตนารมณ์ของคณะราษฎร ผมถือว่า มันบรรลุผลไปเรียบร้อยแล้วนับแต่ที่คณะราษฎรได้รัฐธรรมนูญมาเปลี่ยนแปลง เค้าโครงประเทศจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย ผมคิดว่า คณะราษฎรเสร็จสิ้นภารกิจของท่านไปแล้ว เราอาจเถียงว่า เสร็จสิ้นเมื่อไร ความเห็นของผมเสร็จสิ้นไปเมื่อหมดสิ้นรัฐบาลพิบูลสงคราม บางท่านบอกว่า เสร็จสิ้นไปเมื่อตอนสิ้นสุดรัฐบาลปรีดี พนมพยงค์ ก็คือ สิ้นสุดไปแล้วเมื่อเหตุการณ์อย่างน้อยก็ปี 2489 หรือ 2500 ทุกอย่างที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลยกับคณะราษฎร เป็นเรื่องของกลุ่มการเมืองที่พยายามจะใช้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือเท่านั้นเอง
ผมคิดว่า การตีความของกลุ่มการเมืองเหล่านี้ ผมเข้าใจว่า ก็เพื่อให้การอธิบายต่างๆ มันมีสีสัน เป็นเรื่องสนุก แต่ก็ต้องดูกันจริงๆว่า คณะราษฎรพอใจที่จะทำอะไรมากเกินกว่านี้หรือไม่ ผมก็ไม่แน่ใจเพราะขณะนี้คณะราษฎรทุกท่าน ก็เสียชีวิตไปเกือบหมดแล้ว
ถ้าอ.ปรีดียังมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้แล้วเห็นสภาพการเมืองไทยในปัจจุบัน มีเรื่องไหนที่คิดว่า เดินไปแล้วหรือท่านอยากให้เดินต่อ
มันเป็นคำถามที่สมมติ ผมไม่บังอาจคิดแทนท่านอาจารย์ปรีดี ท่านเป็นผู้รู้ ผู้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และความจริงท่านก็สิ้นชีวิตไปแล้วเมื่อปี 2526 อย่างไรก็ตาม คนที่อยู่ในปัจจุบันนี้ ผมไม่เชื่อว่า จะมีใครคิดแทน หรือ เข้าใจอ.ปรีดีหรือคิดสมวิญญาณอ.ปรีดี มาอธิบายทั้งหมดได้
เห็นมีนักวิชาการหลายคนบอกว่า ถ้าวันนี้อ.ปรีดี ยังอยู่จะรู้อย่างนี้อย่างนั้น ....
ก็เป็นเรื่องตลกดีครับ...แต่ผมก็เข้าใจ เพราะคงทำให้เกิดการรวมกลุ่มเพราะมันต้องมีลักษณะสื่อสาร การสร้างความสนุกสนาน แต่ผมไม่มีอะไรในประเด็น เพราะมันไม่เกี่ยวข้องกับงานวิชาการทางประวัติศาสตร์
จะฝากอะไรทิ้งท้ายเมื่อวันนี้สถานการณ์บ้านเมือง ยังอึมครึมอยู่ ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น
การเป็นนักประชาธิปไตยนักเสรีนิยม นักต่อสู้ นักสังคมนิยม หรือ จะเป็นผู้ต่อสู้เพื่อความเสมอภาค หรือ จะเป็นนักสิทธิมนุษยชน สิ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่า อุดมการณ์ทั้งหลาย คือ เราต้องเป็นคนรักชาติ บ้านเมืองด้วย ผมคิดว่า ความเป็นคนรักชาติจะทำให้กรอบการคิดต่างๆ ไม่ฟุ้งซ่านมากเกินไปนัก เพราะอย่าลืมว่า ที่สุดแล้ว บ้านเมืองเรามีขนบธรรมเนียม ประเพณี มีสิ่งที่ตั้งอยู่ เราไม่สามารถจะตั้งทุกอย่างใหม่ได้ด้วยตัวเองทั้งหมด แม้กระทั่งภาษาที่เราพูด เราก็ไม่สามารถสร้างภาษาใหม่ได้ด้วยตัวเองหรือตั้งเวลาใหม่ด้วยตัวเอง ไม่สามารถตั้งระบบกฎหมายใหม่ ตั้งสภา ตั้งผู้ปกครองใหม่ได้ด้วยตัวเอง ถ้าคิดแบบนั้น คือ พวกที่ต้องการถอนรากถอนโคน ต้องการสถาปนาระบบใหม่ในเชิงอุดมคติ เพราะมันจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ผมคิดว่า ระบบการเมืองที่ดีก็ควรจะคิดในเชิงอุดมคติด้วย แต่ส่วนหนึ่งเราก็ต้องเตือนสติของเราเองว่า เราต้องพยายามยืนอยู่บนทางสายกลาง คือ คิดถึงประโยชน์ของชาติและความรักชาติบ้านเมือง
80 ปีเราได้บทเรียนอะไรไหมกับประชาธิปไตย
บทเรียนที่เราได้ คือ ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ไม่ใช่ว่า จะยั่งยืน ไม่ใช่เป็นระบบที่จะเจริญเติบโตได้ด้วยตัวเอง ต้องการคนที่ดูแลเอาใจใส่ใจ ต้องการความรัก การทะนุถนอม การเอาใจใส่ ใส่ปุ๋ย พรวนดิน สร้างบรรยากาศให้มัน ประชาธิปไตยมันเป็นระบบที่เกิดขึ้นยาก เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็อยู่ยาก ถ้าเปลี่ยนเป็นต้นไม้ คือ ปลูกยาก ปลูกแล้วก็ตายง่าย การที่มันจะตายไป ก็เพราะเราสร้างเงื่อนไขต่างๆ ก็เหมือนกับ พวกเราลองทำสวนดู เอาต้นไม้ที่ปลูกยากแล้วตายง่ายมาปลูกแล้วกัน ต้นไม้ที่ตายง่ายนั้น เจ้าของสวนต้องเอาใจใส่ ตื่นเช้ามาก็ต้องรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย อาจจะต้องปรับอากาศดูแล ไม่ให้วัชพืช แมลงต่างๆ มากัดกิน มันมีระบบที่ต้องการอยู่มากพอควร ดังนั้น ประชาธิปไตยก็ต้องการดูแลพอควร ไม่ใช่ปล่อยปะละเลยไปตามยถากรรม