2 อดีตตุลาการ"สมลักษณ์-สวัสดิ์" โฟกัส"ร่างพ.ร.บ.ปรองดอง"
ขณะที่การเดินหน้าเร่งรัดออกพระราชบัญญัติปรองดองแห่งชาติ พ.ศ…ของสภาผู้แทนราษฏร ที่มีการเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. … รวมกันทั้งสิ้น 4 ฉบับ
คือทั้งร่างของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิและส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 34 คน –ร่างของส.ส.พรรคเพื่อไทย นำโดยนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. … -ร่างของส.ส.เพื่อไทย ที่ส่วนใหญ่เป็นพวกส.ส.เสื้อแดงและคณะ รวม 74 คน เช่น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และร่างของนายนิยม วรปัญญา ส.ส.ระบบบัญชี พรรคเพื่อไทย และอดีตส.ส.ลพบุรีหลายสมัย
กำลังดำเนินไปอย่างร้อนแรงท่ามกลางเสียงเห็นด้วยและคัดค้าน ทั้งในสภาผู้แทนราษกรและนอกรัฐสภา
โดยมีนานาทัศนะความคิดเห็นจากทั้งนักกฎหมาย-นักวิชาการ-กรรมการองค์กรอิสระ –อดีตผู้พิพากษา-นักการเมือง ออกมาแสดงความเห็นต่อบทบัญญัติของร่างพ.ร.บ.ปรองดองทั้ง 4 ฉบับในแง่มุมต่างๆ
“ทีมศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ” ได้สัมภาษณ์ทัศนะของสองอดีตตุลาการชั้นผู้ใหญ่ ต่อสถานการณ์ร้อนแรงการเมืองในวันนี้กับการเร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติของสภาผู้แทนราษฏร ว่ามีมุมมองและความเห็นอย่างไร
เริ่มจาก “สมลักษณ์ จัดกระบวนพล”อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ – อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา
โดย "อาจารย์สมลักษณ์" กล่าวว่า ขอพูดในหลักกว้างๆ ว่าในส่วนของร่างพ.ร.บ.ปรองดองที่มีเนื้อหาบางส่วนจะให้มีการนิรโทษกรรมกับบุคคลบางกลุ่มเช่นคนที่ถูกดำเนินกคดีในคดีความเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ค่อนข้างเห็นด้วยกับเรื่องการนิรโทษกรรม แต่ต้องเป็นการนิรโทษกรรมในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้ว คือมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันแล้ว มีการต่อสู้คดีตามขั้นตอนในชั้นกระบวนการยุติธรรมจนศาลตัดสินแล้ว
“แต่ที่บอกว่าเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ไม่ใช่การให้ยกเลิกคดีอาญาทุกอย่างหรือที่เรียกกันว่าล้างผิดทุกอย่างทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ความจริงกัน ตรงนี้ต้องแยกแยะให้ดี“
ช่วยขยายความด้วยครับ ?
“คืออย่างคดีซึ่งอยู่ในชั้นตำรวจ อัยการ หรือศาล ยังไม่มีการตัดสิน แบบนี้นิรโทษหรือล้างผิดไม่ได้ อย่างคดีความผิดอาญา ที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุชุมนุมความวุ่นวายการเมือง พวกอะไรล่ะ เผาบ้านเผาเมืองที่เขาพูดกัน คดีเผาศาลากลางจังหวัด คดีทำลายทรัพย์สินราชการ ถ้าศาลยังไม่ตัดสิน ยังไม่รู้เลยว่าใครถูกใครผิด ยังไม่ควรนิรโทษ คนที่ถูกกล่าวหา เขาอาจคิดว่าตัวเองบริสุทธิ์ ไม่ได้ทำ ก็ควรให้ต่อสู้คดีกันไปก่อน ไม่ใช่จะมานิรโทษกันเลย ถ้าต่อมาพบว่าทำผิดจริง แล้วทำผิดเพราะอะไร สารภาพไหม สาเหตุที่ทำเพราะอะไร กระบวนการพิสูจน์ความจริงมันก็จะปรากฏ ไม่มีอะไรคั่งค้าง มองอีกทางหนึ่งมันอาจจะเป็นบทเรียนที่ทำให้เรารู้ว่าเหตุของปัญหาหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันเกิดจากอะไร กระบวนการทำผิดเขาทำผิดอย่างไร
ตรงนี้ก็จะเป็นบทเรียน เป็นอุทาหรณ์ได้ เช่น อย่างเผาศาลากลาง มีการสืบสวนสอบสวนคดีกันไป ก็จะได้รู้ว่าเป็นอย่างไร แล้วศาลก็ตัดสินลงโทษ จำคุกกี่ปี กี่ปี ไม่รอลงอาญา ต้องเข้าคุกก่อนเลย คนก็จะเกิดความกลัว ต่อไปไม่กล้าทำผิดอีก อย่าลืมนะว่าคุก แค่เข้าไปวันเดียว ก็จะตายกันแล้ว ไม่มีใครอยากเข้าคุกหรอกแค่วันเดียวก็ไม่มี ถ้าแบบนี้ แล้วค่อยไปนิรโทษกรรมอาจารย์รับได้นะ”
แต่คนจำนวนมากทั้งนักวิชาการ-นักฎหมาย-นักการเมือง-สื่อสารมวลชน ต่างคัดค้านว่าเป้าหมายของการเสนอร่างกฎหมายปรองดองเพื่อช่วยเหลือนักการเมือง พวกเดียวกันเองโดยเฉพาะพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะตามร่างพ.ร.บ.ปรองดองของพลเอกสนธิและส.ส.พรรคเพื่อไทยรวมถึงของส.ส.เสื้อแดงพรรคเพื่อไทย ก็ระบุว่าให้บุคคลที่ได้รับผลระทบจากการดำเนินการหรือการปฏิบัติทั้งหลายขององค์กรหรือคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากคำสั่งคปค.มิได้เป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือเป็นผู้กระทำความผิด?
อาจารย์สมลักษณ์กล่าวว่า เรื่องการรับโทษหรือกลับมาเข้าคุกของพ.ต.ท.ทักษิณ เคยเขียนบทความแสดงความเห็นไปก่อนหน้านี้แล้วในช่วงที่มีการถกเถียงกันในเรื่องการอภัยโทษหรือการออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษว่า ผู้จะได้รับการอภัยโทษไม่จำเป็นต้องเคยต้องโทษหรือเคยติดคุกมาก่อน เพราะได้ไปค้นคว้ากฎหมายมาอย่างละเอียด ตรวจดูการออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษหลายฉบับ ดูระเบียบขั้นตอนการขออภัยโทษในอดีต ก็ไม่มีการเขียนระบุชัดว่า การอภัยโทษจะให้เฉพาะกับผู้ที่เคยต้องโทษมาก่อน จึงเคยบอกไปว่า แม้จะไม่เคยต้องโทษก็สามารถได้รับการอภัยโทษได้ หากมีการออกพระราชกฤษฏีกาออกมา
“ก็จะกลับมาตรงที่อาจารย์บอกไว้ข้างต้น คดีที่ดินรัชดาฯ มีการต่อสู้คดีกันแล้ว มีการพิสูจน์ความจริงกันแล้ว คนทั้งประเทศ นักการเมือง รู้กันหมดแล้วว่าการที่คนซึ่งเป็นนักการเมืองเป็นผู้นำประเทศแล้วไปเซ็นชื่อการซื้อที่ดินราชการให้ภรรยา มันผิดกฎหมายป.ป.ช.มาตรา 100 ต่อไปคนก็จะไม่ทำแบบนี้อีก ก็ได้รู้แล้วว่าอดีตนายกรัฐมนตรีทำผิดกฎหมายอย่างไร ศาลตัดสินลงโทษถึงขั้นจำคุกไม่รอลงอาญา สังคมก็ได้เห็นแล้ว ต่อไปก็จะไม่มีใครทำอีก
อันนี้พูดตามหลัก จึงมองว่าหากจะนิรโทษกรรมพ.ต.ท.ทักษิณให้พ้นผิดคดีที่ดินรัชดาฯ ก็น่าจะทำได้ แต่อีกหลายคดีที่เหลือซึ่งค้างอยู่ที่ยังไม่มีการไต่สวนดำเนินคดี คดียังไม่ถึงที่สุด คนยังไม่รู้ว่า ที่มีการกล่าวหากัน เป็นอย่างไร แบบนี้ก็ไม่เห็นด้วยที่จะมีการนิรโทษกรรมทั้งหมด คืออะไรที่กระบวนการพิสูจน์ความจริงยังไม่จบ ก็ไม่เห็นด้วยที่จะล้างผิดหมด”
“อาจารย์สมลักษณ์” กล่าวต่อไปว่า การนิรโทษกรรมมีสองรูปแบบคือ 1.นิรโทษโดยทั่วไป 2.นิรโทษแบบตัวบุคคลที่จะให้มีการนิรโทษกรรม ที่คนพูดกันว่าแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ที่บอกว่า พร้อมจะสนับสนุนการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเลย หรือไม่คัดค้านการที่จะให้มีการทำเรื่องขออภัยโทษพ.ต.ท.ทักษิณ ขอเพียงแค่ให้พ.ต.ท.ทักษิณกลับมารับผิด ติดคุก ไม่ต้องสองปีหรอก คือก็พูดกันได้ แต่สิ่งที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้คือ กระบวนการจะทำเรื่องขออภัยโทษให้กับนักโทษ ค่อนข้างช้ามาก บางคนกว่าจะได้รับการพิจารณามันนานมาก ที่พูดได้เพราะเคยอยู่ศาลมาก่อน เคยเป็นกรรมการพิจารณาเรื่องการขออภัยโทษมาก่อน ถึงรู้ว่าขั้นตอนไม่ได้รวดเร็ว เสนอแล้วทำได้เลย มันต้องตรวจอะไรต่างๆ กว่าจะเสร็จใช้เวลานานมาก
“ถ้าจะคิดในเชิงการเมือง คือเอาแบบที่ประชาธิปัตย์พูดว่า เออขอให้กลับมารับโทษก่อนได้ไหม แต่ไม่มีใครบอกได้หรอกว่าแล้วจะกลับมาต้องติดคุกเท่าไหร่ การทำเรื่องถึงจะแล้วเสร็จ กระบวนการยุติธรรมเรื่องส่วนนี้ก็ควรต้องทำให้รวดเร็วมากขึ้นควบคู่กันไปด้วย
คนไม่อยากอยู่หรอกในคุก วันเดียวก็ไม่มีใครอยากอยู่ ถ้ามีหนทางที่ทำให้เอาเป็นว่ามีหลักประกันว่า มารับโทษก่อน ติดคุก 7 วัน 15 วันแล้วอภัยโทษ หรือนิรโทษกรรมทำเสร็จเลย ก็คิดว่าอาจทำให้เรื่องนี้เปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง จะมาบอกว่ากลับมาเถิดมาติดคุกก่อน แล้วค่อยว่ากัน มันไม่ถูกต้อง เขาก็ต้องกลัวว่ากลับมาแล้วจะมาติดคุกเป็นปี ถึงได้เขียนบทความไปว่า การจะอภัยโทษ ผู้จะได้รับสิทธินี้ไม่จำเป็นต้องเคยติดคุกมาก่อน”
แต่ไม่ใช่แค่เรื่องไม่ต้องรับผิดคดีที่ดินรัชดาฯอย่างเดียว คดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้าน ซึ่งศาลตัดสินว่าร่ำรวยผิดปกติ จากการใช้อำนาจการเมืองโดยมิชอบ นักกฎหมายหลายคนดูตามร่างพ.ร.บ.ปรองดองแล้วก็เห็นว่าเปิดช่องทำให้มีการคืนเงินทั้งหมดที่ถูกยึดทรัพย์ไปด้วย ?
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาผู้นี้แสดงความเห็นว่า ตรงไหนที่คิดว่าเป็นประเด็นซึ่งสังคมคัดค้านต่อต้าน ไม่เห็นด้วย จะทำให้เกิดปัญหาตามมามากอย่างเช่นกรณีนี้ซึ่งศาลตัดสินไปแล้ว ก็สามารถเขียนเว้นไว้ในกฎหมายได้ เช่น เขียนไว้ว่า ให้ไม่หมายรวมถึงคดีไหนๆ แบบนี้เขียนยกไว้ได้แล้วแต่ฝ่ายนิติบัญญัติจะตกลงกัน จะให้เขียนว่าไม่ให้รวมถึงการยึดทรัพย์สินก็เขียนไว้ระบุเฉพาะเจาะจงไปเลยก็ยังได้
เมื่อถามย้ำว่าในร่างพ.ร.บ.ปรองดอง จะให้คำวินิจฉัยคดียุบพรรคทั้งหมดของศาลรัฐธรรมนูญในช่วงปี 48-54 ต้องถูกยกเลิกไปและต้องคืนสิทธิการเมืองพวกกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบไป ก็มีหลายคนบอกว่า ไม่น่าจะทำได้เพราะขัดรัฐธรรมนูญเนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สิ้นสุด ?
“อาจารย์สมลักษณ์”แสดงทัศนะว่า การออกกฎหมายที่ตัวบทกฎหมายมีลักษณะย้อนหลังแล้วเป็นคุณ ไม่ใช่ย้อนหลังแล้วเป็นโทษ น่าจะทำได้ กรณีแบบนี้เป็นการออกกฎหมายที่ย้อนหลังแล้วเป็นคุณกับพวกกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบพรรคไป
“ตอนคดียุบพรรคไทยรักไทย คดีนี้มีการทำผิดก่อนที่จะมีการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีการส่งเรื่องไปกกต.-อัยการ ก่อนการทำรัฐประหาร แล้วต่อมาก็มีคำสั่งคปค.ออกมาว่าให้ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคเป็นเวลาห้าปี เป็นการออกคำสั่งที่เป็นโทษย้อนหลัง
ในการลงมติและทำความเห็นของตุลาการรัฐธรรมนูญเวลานั้น ท่านปัญญา ถนอมรอด ประธานศาลฎีกาเวลานั้น ที่เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นคนที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการจะให้ไปตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ในคำวินิจฉัยเขียนไว้ชัดเจน ว่าท่านพิจารณาจากหลักนิติธรรม การไปตัดสิทธิย้อนหลังเป็นการขัดกับหลักนิติธรรมอย่างยิ่ง การออกกฎหมายถ้าการบังคับใช้มีผลย้อนหลังแล้วเป็นคุณทำได้ แต่ถ้าเป็นโทษไม่ได้
การตัดสิทธิการเมืองสำหรับนักการเมืองแล้ว เป็นเรื่องรุนแรงมาก บางทีมันแรงกว่าคดีอาญาบางกรณีเสียอีก การออกคำสั่งคปค.ที่ให้มีผลไปตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคย้อนหลังเป็นการออกคำสั่งที่รุนแรงมาก บางคนเขาถึงบอกว่าทำให้เป็นการตายไปทางการเมืองเลยทั้งที่กรรมการบริหารพรรคบางคนเขาไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร”
อดีตกรรมการป.ป.ช.ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน สมัยเป็นประธานคปค. กล่าวว่าประเมินแล้วแรงต่อต้านการออกกฎหมายปรองดองที่มีตอนนี้คงทำให้สถานการณ์การเมืองโดยทั่วไปมีความวุ่นวายทั้งในสภาฯและนอกสภาฯ กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็ควรต้องปล่อยให้ทุกอย่างว่าไปตามกติกา ให้สภาฯเขาถกเถียงกัน จะออกมาเคลื่อนไหวอะไรนอกสภาก็เป็นสิทธิแต่จะดีกว่าถ้าให้ฝายที่เขามีหน้าที่ทั้งรัฐบาล นิติบัญญัติได้ทำหน้าที่ส่วนนี้ ตรงไหนไม่เห็นด้วย แย้งอะไรก็สื่อสารออกมาแต่อย่าทำในสิ่งที่ทำให้เกิดความวุ่นวายหรือเหตุรุนแรง
ด้าน "สวัสดิ์ โชติพานิช" อดีตประธานศาลฎีกาและกรรมการกฤษฏีกา แสดงความเห็นในเรื่องร่างพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ กับ "ทีมศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ" เช่นกันว่าจากการติดตามที่มีการเสนอร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ก็คิดอยู่แล้วว่าต้องเกิดปัญหาวุ่นวาย แรงต่อต้านจากฝ่ายต่างๆ เพราะเป็นการออกมาในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม ยิ่งหลักการของกฎหมายที่จะให้มีการนิรโทษกรรมล้างผิดคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดแล้วอย่างศาลฎีกา ในฐานะที่เป็นอดีตผู้พิพากษาทำงานมาหลายสิบปีจนพ้นจากตำแหน่งก็ยังไม่เคยมีที่จะให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแล้วไปล้มล้างความผิดโดยยกเลิกคำตัดสินของศาลฎีกาที่ถึงที่สุดแล้ว ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็ไม่เคยเห็นมีใครออกกฎหมายแบบนี้ หากออกมาจริงก็จะเป็นครั้งแรกเลย ซึ่งก็ไม่เห็นด้วย ต้องศึกษาให้ดีก่อน ไม่ควรรีบเร่งออกมา
เมื่อถามว่าแรงคัดค้านไม่เห็นด้วยที่คนไม่ยอมรับร่างพ.ร.บ.ปรองดองเพราะเป็นการเอาอำนาจนิติบัญญัติไปล้มล้างอำนาจตุลาการ ในทางกฎหมายทำได้หรือไม่ ?
อดีตประธานศาลฎีกาชี้ว่า ในทางกฎหมายเมื่อยังไม่เคยมีการออกกฎหมายแบบนี้ คือนิรโทษกรรมโดยให้คำพิพากษาสิ้นสุดล้มไปด้วย ก็จะเป็นครั้งแรก ถ้าถามว่าในทางกฎหมายทำได้หรือไม่ ก็อาจจะทำได้ ถ้าเขาคิดจะทำ เพียงแต่การจะเขียนรายละเอียดในร่างกฎหมาวควรต้องมีรายละเอียดให้ชัดเจนถึงขอบเขตการนิรโทษกรรม เข้าใจว่าแนวคิดของผู้ดำเนินการคงไปดูจากตัวอย่างในต่างประเทศเช่นในยุโรปหรือที่อังกฤษ ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายคลึงกับแนวคิดร่างพ.ร.บ.ปรองดอง แต่สิ่งที่จะทำ อย่าคิดแค่ในรูปของลักษณะกฎหมายต้องคำนึงถึงลักษณะบ้านเมือง ความสงบเรียบร้อย สภาพสังคมด้วย เพราะแต่ละประเทศก็มีสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน
“เท่าที่จำได้ ติดตามการออกฎหมายนิรโทษกรรมมาทุกฉบับ ก็จะไม่มีการไปถึงเรื่องคำตัดสินของศาลฎีกา ก็จะเป็นครั้งแรกที่มีการออกกฎหมายลักษณะนี้ แน่นอนว่าฝ่ายนักกฎหมายที่เคร่งครัดย่อมรับไม่ได้ ถ้าถามผมว่าเขาทำได้หรือได้ ก็คงตอบในหลักการว่าก็ทำได้ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติจะเขียนให้ออกมาแบบนั้น แต่เขาก็ต้องทำความเข้าใจกับสังคมด้วย
การนิรโทษในอดีตที่เป็นเรื่องการชุมนุมทางการเมืองก็มีหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้ยกเลิกคำตัดสินของศาล คือคำพิพากษาอไรก็ยังคงอยู่ พอจะทำแบบนี้ ก็ต้องมีสองฝั่งคือฝั่งเห็นด้วยฝั่งไม่เห็นด้วย มันก็เกิดการเผชิญหน้ากัน จนอาจจะนำไปสู่ความรุนแรง”
เมื่อถามว่ากรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ร่ำรวยผิดปกติ จนมีการยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท ถ้าร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ที่มีเนื้อหาบางมาตราว่าถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดจะทำให้ต้องมีการคืนเงินทั้งหมดหรือไม่ ?
นายสวัสดิ์กล่าวว่าแน่นอนเมื่อกฎหมายบอกเช่นนั้นก็ต้องถือว่าพ.ต.ท.ทักษิณไม่มีความผิด คดีหายไปแล้ว เมื่อถือว่าไม่เคยกระทำผิดก็ต้องคืนเงินเขาทันที แต่อย่างหนึ่งที่ขอพูดคือ การเมืองในอดีตกับสมัยนี้ไม่เหมือนกัน เช่นหลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้วรัฐบาลต่อมามีการยึดทรัพย์จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีในช่วง 14 ตุลาคม 2516 อย่างที่ผมเคยบอกไว้ก่อนหน้านี้คือรัฐบาลต่อๆมา หลายคนก็เป็นลูกน้องเก่าจอมพลถนอม กิตติขจร แล้วอดีตนายกรัฐมนตรีหลายคนถัดจากท่านจอมพลถนอมโดยเฉพาะที่เป็นอดีตนายทหารเขา ก็คุ้นเคยกับจอมพลถนอม แต่รัฐบาลหลายชุดเขาก็ไม่กล้าจะไปช่วยเหลือจอมพลถนมด้วยการออกกฎหมายช่วยเหลือกันให้มีการคืนทรัพย์สินให้ เพราะเขาก็รู้ว่าคนไม่เห็นด้วยจะออกมาคัดค้าน ผมถึงบอกไงว่า ในทางการเมืองคุณมีอำนาจรัฐ จะทำอะไรก็ได้แต่ก็ต้องคำนึงความเหมาะสมด้วย”
เป็นสองทัศนะของอดีตตุลาการซึ่งในบางแง่มุมก็มีความเห็นในข้อกฎหมายที่ต่างกัน อันเป็นเรื่องปกติที่กฎหมายมาตราเดียวกัน เขียนแค่สองบรรทัด คนก็ยังตีความด้วยความเห็นที่ต่างกันไป ส่วนการเดินหน้าออกพ.ร.บ.ปรองดองของสภาฯเพื่อไทยจะสำเร็จหรือไม่ ต้องติดตาม