"ปธ.ศาลรธน." ตัดพ้อ 'ไม่มีแรงจูงใจ ไม่มีใครอยากมา ถูกเหล่ ถูกด่าบนบังลังก์'
“ชี้หน้าด่ากันในบังลังก์ ด่าแม่ตุลาการ
กรรมการฟุตบอลยังแจกใบเหลือง ใบแดงได้
แต่ตุลาการศาลรธน. ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะไม่มีอาญาสิทธิ์”
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2555 สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย จัดงานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ โดยนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ปาฐกถานำเรื่อง “ประเทศไทยกับระบบศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง” โดยระบุตอนหนึ่งถึงคนเป็นผู้พิพากษา เป็นตุลาการว่า ต้องยอมรับความจริง พูดแต่ความจริง ซึ่งการเข้ามาทำงานที่ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เพราะมีความเชื่อมั่น "ไม่รับสตางค์ ไม่รับจ้างใคร ทำงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีอคติ"
แต่เมื่อได้เข้ามาทำหน้าที่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ก็ได้เห็นความบกพร่องในสถาบันศาลรัฐธรรมนูญ
ประการแรกคือที่มาที่ไปของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพบว่าเราจะได้คนที่มีคุณภาพยากมาก เพราะไม่มีเหตุจูงใจ สังเกตได้ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3 คน มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลปกครอง 3 คน และมาจากการสรรหาของวุฒิสภา 4 คน เฉพาะที่มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา พบว่า ไม่มีใครอยากมา
"ขณะที่ผมนั้นได้เข้ามารับตำแหน่งโดยผ่านการสรรหาของวุฒิสภา ซึ่งเมื่อดูจากรายชื่อแล้วเชื่อว่าต้องได้รับการสรรหาอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ไม่ได้คิดว่าตัวเองวิเศษกว่าคนอื่น แต่เพราะคนจบนิติศาสตร์แล้วไปทำงานด้านอื่น กับคนที่เป็นผู้พิพากษามายาวนานถึง 35 ปี มันวัดกันไม่ได้ มองก็เห็นแล้วว่า ใครคือตัวจริง และจุดนี้เองคือกระบวนการที่ค่อนข้างตีบตัน เพราะไม่มีแรงชักจูง”
การอยู่ในศาลยุติธรรม จะมีอาญาสิทธิ์อยู่เรื่องหนึ่ง คือ เรื่องละเมิดอำนาจศาล แต่ในศาลรัฐธรรมนูญด่ากันได้ตามสบาย ใครว่าเราไม่ถูกตรวจสอบ ปัจจุบันนี้เราถูกตรวจสอบอย่างหนัก ตัดสินเช้า บ่ายออกโทรทัศน์โดนด่าแล้ว ไม่ว่าทำอะไรก็ผิด จนกว่าคนๆ นั้นจะมาทำเองถึงจะถูก เพราะฉะนั้นอย่ามีอัตตาเป็นที่ตั้ง ต้องรับฟังความคิดความเห็น เพราะนี่คือการตรวจสอบ
ยิ่งไปกว่านั้นประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาสามารถยื่นถอดถอนเราได้อีกด้วย เช่นเดียวกันคนเป็นผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม ตุลาการในศาลปกครองก็ต้องถูกตรวจสอบ
ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์นั้น นายวสันต์ กล่าวว่า สามารถทำได้ และผู้พิพากษากลัวการวิจารณ์ในเชิงวิชาการ โดยเฉพาะผู้วิจารณ์ที่มีน้ำหนักมากในการออกความคิดเห็น ไม่ใช่ไม่กลัว พร้อมกันนี้เราได้มีการกำกับดูแลแนวทางคำวินิจฉัย แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่มีอยู่เดิมว่า มีอะไรบ้าง เพราะถ้าปล่อยปละละเลย ไม่ควบคุมก็จะถูกกล่าวหาได้ว่า ‘สองมาตรฐาน’
ซึ่งสองมาตรฐานนี้ไม่ใช่วาทกรรมที่พูดกันโก้ๆ แต่หมายถึงเรื่องทำนองเดียวกันทั้งหมด ไม่มีข้อขัดแย้งแตกต่าง แต่ตัดสินกันไปคนละทาง
" เวลานี้ที่มาที่ไปของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 7 คนใน 9 เป็นศิษย์เก่าของศาลยุติธรรมทั้งสิ้น แต่คุณภาพ ความคิดของแต่ละคน อาจแตกต่างกัน ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ทุกองค์กรไม่ได้มีแต่คนดี หรือคนชั่วทั้งหมด
ในช่วงหลายปีมานี้สถาบันตุลาการถูกเหล่ มีคำว่า ตุลาการภิวัฒน์เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่าภารกิจของตุลาการ ผู้พิพากษาไม่ได้มีแค่ตัดสินคดีเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานว่า ผู้พิพากษา ต้องถือว่ามีอีกสถานะหนึ่ง คือต้องเป็นนักกฎหมายที่มีความรู้เชี่ยวชาญ อาจจะไม่เชี่ยวชาญทั้งหมด แต่เชี่ยวชาญกว่าชาวบ้านแน่นอน เพราะฉะนั้น เมื่อมีโอกาสต้องนำความรู้เหล่านี้ ไปทำให้ชาวบ้านได้รับรู้”
สำหรับอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์นั้น อาจารย์ได้ต่อสู้บนพื้นฐานของหลักการของอำนาจตุลาการ ซึ่งมันเหมือนเป็นการแสดงให้เห็นว่าฝ่ายตุลาการ ไม่อยู่ในกำกับดูแลของฝ่ายบริหารโดยสิ้นเชิง และที่ฝ่ายตุลาการอยู่ได้ ก็โดยการอบรมสั่งสอนของ ‘บรรพตุลาการ’ นั่นก็คือ เราจะทำงานอย่างไม่มีอคติ ไม่เข้าข้างใคร จะดูข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายเฉพาะในสำนวน จะไม่ต้องการความร่ำรวยจากอาชีพนี้ เรารับรู้แต่เพียงว่าพอมีพอกิน ไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาความมั่งคั่ง
คำสอนของอาจารย์สัญญาดังกล่าวยังปรากฏอยู่ที่สถาบันพัฒนาข้าราชการศาลยุติธรรมจนทุกวันนี้ และถ้าเราไม่ทำตัวให้หวือหวาผิดวิสัย ไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งต่างๆ จิตใจของเราก็จะมั่นคง
...จริงอยู่ เราต้องยอมรับว่าในแต่ละองค์กรมีคนดีบ้าง ชั่วบ้าง เช่นเดียวกับองค์กรตุลาการ แต่ในองค์กรเห็นหน้าก็รู้แล้วว่า ไอ้นี้พฤติกรรมเป็นอย่างไร และคนเหล่านี้จะไม่ค่อยได้ดี...
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเราถูกฝึก ถูกหล่อหลอมมา แม้อาจไม่ได้เก่ง ด้วยเพราะข้อจำกัดของระบบสรรหา ที่ไม่มีใครอยากยื่นมือเข้ามาอยู่ในองค์กรของเรา ในครั้งหนึ่งไม่ทราบว่าจริงเท็จอย่างไร มีคู่กรณีในห้องพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญลุกขึ้นยืนชี้หน้าด่าตุลาการในห้องพิจารณา ตุลาการก็แบะๆ เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร เนื่องจากไม่มีโทษละเมิดอำนาจศาล
“ชี้หน้าด่ากันในบังลังก์ ด่าแม่ตุลาการ ถ้าไม่พอใจก็เป็นเรื่องที่ตุลาการต้องวิ่งโล่ไปแจ้งความด้วยตนเอง ไม่มีอะไรเลย กรรมการห้ามมวยยังไล่นักมวยลงเวทีได้ กรรมการฟุตบอลยังแจกใบเหลือง ใบแดงได้ แต่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะไม่มีอาญาสิทธิ์”
ส่วนถ้าถามว่า อาญาสิทธิ์ เรื่องการละเมิดอำนาจศาล ใช้กันบ่อยไหม...
คำตอบก็คือ ผมเป็นผู้พิพากษามา 35 ปีเคยใช้อยู่ 1-2 ครั้งเท่านั้นเอง นั่นคือลงโทษญาติของจำเลย ที่มาเชียร์จำเลย ไม่ให้รับสารภาพ ทั้งที่จำเลยกำลังจะรับสารภาพอยู่แล้ว นั่นคือความจริงที่ปรากฏ
อย่างไรก็ตาม ถ้าให้พูดถึงการตรวจสอบในศาลรัฐธรรมนูญค่อนข้างยาก องค์คณะเราทั้งหมด 9 คน ประธานมีเสียงเดียว ไม่ใช่ว่าองค์คณะมาไม่ครบ และถ้ามีคะแนนเสียงเสมอกัน ประธานจะได้อีกหนึ่งเสียง เพราะฉะนั้น ทุกคนฟรีสไตล์หมด ไม่มีการล็อบบี้ ไม่สามารถล็อบบี้ใครได้
"ไอ้ที่บอกว่าตัดสินตามใบสั่งได้ โกหกกันทั้งหมด พวกเดียวกันยังล็อบบี้กันไม่ได้เลย ชีวิตผมเคยได้รับใบส่งเยอะ ใบสั่งจราจร ได้ทีไรเสียสตางค์ทุกที...เพราะฉะนั้น ไม่มีใครมาสั่งได้"
อย่างตอนที่ผมโหวตให้ร่างพระราชกำหนดของรัฐบาล ให้ผ่านทั้ง 2 ฉบับ ผมก็ถูกเพื่อนตรวจสอบ ถูกด่าว่าทำไมไม่กั๊กเอาไว้สักฉบับหนึ่ง แต่เมื่ออธิบายทำความเข้าใจว่าทำไมควรให้ผ่านทั้งคู่ ก็เข้าใจ ให้รู้ว่าเราไม่มีอคติ ซึ่งถ้าเราสื่อสารให้ประชาชนรู้ว่าเราทำอะไร คิดอะไร ให้ประชาชนช่วยตรวจสอบ ส่วนคำวินิจฉัยจะได้เรื่อง ไม่ได้เรื่องมันอยู่ในตัว ในเนื้อหาของมัน
แต่ต้องยอมรับข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า คำวินิจฉัยอย่างว่าให้แต่ประชาชนอ่านเลย ขนาดนักกฎหมายด้วยกันอ่านยังงง เพราะภาษาในคำวินิจฉัย คำพิพากษาล้วนเป็นโวหารทางกฎหมาย จะต้องใช้ถ้อยคำทางกฎหมายอย่างหนีไม่ได้
...กติกาของศาลรัฐธรรมนูญ มีอยู่ข้อหนึ่งที่เหมือนกันกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นั่นคือในการตัดสิน กำหนดให้ผู้พิพากษาทุกคนต้องเตรียมคำตัดสินส่วนตัวใส่ซองมาเรียบร้อย เมื่อมาพบกันตอนเช้าก็นำข้อคิดเห็นที่หลากหลายมาขึ้นแท่น ทำเป็นคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัย ซึ่งเป็นไปตามกฎกติกาที่กฎหมายวางไว้ แต่ในชั่วระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง มันทำได้ไม่ดี เพราะไฟล้นก้น
จำคดี ‘ชิมไปบ่นไป’ ได้ไหม?
คนตั้งข้อสงสัยกันว่า นัดอ่านคำพิพากษาบ่ายโมง บ่ายสอง แต่ได้อ่านเข้าจริงปาเข้าไปบ่ายสี่โมงสี่สิบนาที โดยหยิบเอาความเห็นของคนโน่นผสมกับของคนนี้ใส่เข้าไป มันเลยกลายเป็นคำวินิจฉัย คำพิพากษาที่แปลกๆ เพราะโดยปกติมันต้องทำข้อเท็จจริงให้ได้ข้อยุติก่อน คนนั้นทำอย่างนี้ใช่หรือไม่ มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งในส่วนที่มีข้อโต้แย้งกันต้องฟังให้ยุติก่อน จึงนำไปสู่ข้อกฎหมายว่า ถ้าทำจริงแล้วผิดหรือไม่ อันนี้เป็นมาตรฐานของคำพิพากษาโดยทั่วไป
แต่เรื่องดังกล่าว ไม่ใช่ กลับพูดข้อกฎหมายมาก่อนยาวเหยียด และอัดข้อเท็จจริงเข้าไป ซึ่งเหตุผลเป็นเพราะว่าไฟล้นก้น เลยเวลาอ่านจุลกฐิน ตอนหลังจึงใช้วิธียกร่างและตรวจแก้ไขที่มาที่ไป ข้อเท็จจริงกันให้พอใจเสียก่อน
ส่วนประเด็นที่เป็นข้อโต้เถียงและยังไม่มั่นใจ เจ้าหน้าที่จะยกร่างไว้สองแนวทาง ส่วนที่เห็นตรงกันก็จัดเรียงไว้ก่อน และค่อยตรวจค่อยปรับแก้กันตรงนั้น มันก็จะทุ่นเวลา
ซึ่งผมพึ่งทราบมา ในคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นคดีที่ยากมาก เพราะตัดสินไปแล้วคนก็ยังสงสัยว่า ศาลฎีการู้เรื่องหุ้น รู้เรื่องทางเดินของเงิน รู้เรื่องการฟอกเงินด้วยหรือ
คำตอบคือคนที่เป็นผู้พิพากษาไม่ได้รู้ทุกเรื่อง แต่ต้องรู้จากพยานผู้รู้ที่จะเข้ามาเล่าเรื่องให้ฟัง ถ้าเขาเล่าเรื่องและทำให้ผู้พิพากษารู้เรื่องไม่ได้ เขาก็แพ้ อันนี้เป็นระบบในทำนองนั้น ซึ่งผมเคยตัดสินคดีเดินสายไฟ ก็ต้องเอาผู้รู้เรื่องเดินสายไฟมาบรรยายให้ฟัง เพื่อฟังจากถ้อยคำที่พยานอธิบาย ให้รู้ว่าอะไรคืออะไร
“เราไม่รู้กันหมดทุกเรื่องหรอก อย่างคดียึดทรัพย์ ผมทราบจากเพื่อนที่เป็นองค์คณะว่า เขาจะรับผิดชอบกันคนละประเด็น ตรงไหนเป็นประเด็นที่ต้องรับผิดชอบเขาก็จะเรียบเรียงมาอย่างดี ถ้าเสียงข้างมากเห็นด้วยกับท่านไหนก็นำข้อเขียนนั้นขึ้นมาก่อน แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าไตร่ตรอง เตรียมการไว้ก่อน แต่เป็นวิธีที่ต้องเตรียมกันอย่างนี้ เพื่อให้แนบเนียน รอดจากการถูกด่ามาได้ระดับหนึ่ง”
ทั้งนี้ ระบบการเซ็นเซอร์ การตรวจสอบเราได้พยายามทำกันมาโดยตลอด แต่ต้องขอความเห็นใจว่า ภารกิจมันมากเกินกว่าที่จะมาดูแลเรื่องเหล่านี้จนเต็มกำลัง เพราะเราพยายามเร่งทำงานให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้คดีที่ค้างในปี 2553 ใกล้จะหมดแล้ว โดยเราเห็นใจและเกรงว่า ถ้าตัดสินช้าเกินไป การประวิงคดีจะเกิดขึ้นและได้ผล
แม้บางครั้งเราจะพยายามเร่งรัดในระดับหนึ่ง แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพ ซึ่งผมเองต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องค่อนข้างจะหนักใจ นอกจากต้องดูแลคุณภาพ คำวินิจฉัยแล้ว ยังต้องดูแลระบบบริหารจัดการคดีอีก จะจัดวาระนั้นวาระนี้ไปอยู่ตรงไหน อย่างไร เป็นเรื่องที่ค่อนข้างหนักใจพอสมควร แต่อย่างไรก็ตามในฐานะตุลาการจะยึดมั่น ไม่รับรายได้อย่างอื่น นอกจากเงินเดือนเงินประจำตำแหน่งที่กฎหมายจัดให้