โฆษก "ไพโรจน์ มินเด็น" "ศาลปกครองมาไกลเกินกว่าจะยุบ"
เงื่อนเวลาการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ….. ใกล้งวดเข้ามาทุกที โดยมีแนวโน้มว่าอาจจะพิจารณาไม่ทันภายในสมัยประชุมนี้ที่จะปิดประชุม 18 เมษายน 2555 แต่ก็ยังไม่แน่นอนเพราะกรรมาธิการก็พยายามเร่งกันอยู่จนต้องมีการเพิ่มเวลาการประชุมเพื่อส่งร่างให้ทันก่อนปิดประชุม
ท่ามกลางข้อเสนอจากหลายฝ่ายทั้งกรรมาธิการจากพรรคต่างๆ –นักวิชาการ-กลุ่มองค์กรการเมือง-การเมืองภาคประชาชน-สื่อมวลชน ที่อยากให้กรรมาธิการเขียนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ออกมาตามที่ต้องการ
หนึ่งในประเด็นที่พูดกันมากคงไม่พ้นก็คือข้อเป็นห่วงจากหลายฝายว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะไปรื้อ
“องค์กรศาล”
ในหัวใจสำคัญเช่นโครงสร้างอำนาจหน้าที่ หรือขอบเขตอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม-ศาลรัฐธรรมนูญ-ศาลปกครอง
ถึงขั้นมีข้อเสนอให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเขียนล็อกเอาไว้ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่จะกลับไปเข้ารัฐสภาวาระ 2 และ 3 ว่าห้ามส.ส.ร.แตะหมวดศาล-สถาบัน-องค์กรอิสระ มากเกินไป
ทว่าฝ่ายรัฐบาล-พรรคเพื่อไทยและกรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทย ไม่ตอบรับข้อเสนอนี้ด้วยเหตุว่าไม่ใช่หน้าที่กรรมาธิการ เป็นเรื่องของส.ส.ร.จะพิจารณา เพราะกมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญทำแค่เรื่องที่มาของส.ส.ร.-กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ จึงทำให้มีแนวโน้มว่าทั้งหมดต้องไปรอลุ้นกันในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กันเอง
กระนั้น ฝ่ายศาลก็ดูจะเตรียมพร้อมกันเต็มที่ สำหรับการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐธรรมนูญ2555 เพื่อเตรียมนำเสนอความคิดหรือแนวทางของศาลต่อส.ส.ร.หรือกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในลักษณะ”สมุดปกขาว”หรือการส่งตัวแทนไปชี้แจง
แต่จะรับฟังหรือไม่ เห็นคนในฝ่ายศาลทั้งศาลปกครอง-ศาลยุติธรรม-ศาลรัฐธรรมนูญแล้วส่วนใหญ่พบว่าไม่ได้ตั้งความหวังไว้มาก!
“ไพโรจน์ มินเด็น”โฆษกศาลปกครอง บอกกับทีมข่าวปฏิรูปว่าฝ่ายศาลปกครอง ก็มีการติดตามกระบวนการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างใกล้ชิดเพราะเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ มีผลกระทบในวงกว้างกับระบบการเมือง กฎหมายของประเทศ เดิมทีนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด มีแนวคิดจะตั้งคณะกรรมการในลักษณะคณะทำงานขึ้นมาติตดามการร่างรัฐธรรมนูญ
โฆษกศาลปกครองกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นว่าขณะนี้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังเหลือขั้นตอนอีกนาน ก็เลยให้คณะกรรมการที่มีอยู่เดิมของศาลปกครองซึ่งตั้งไว้นานแล้ว ที่เรียกกันว่าเป็นคณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ติดตามและเสนอแนะการบังคับใช้รัฐธรรมนูญและกฎหมาย ที่มีรองประธานศาลปกครองสูงสุดคนหนึ่งเป็นประธานและกรรมการในคณะทำงานซึ่งเป็นทั้งผู้บริหารระดับสูงของศาลปกครองสูงสุด ฝ่ายบริหาร ฝายวิชาการอยู่ในคณะทำงานชุดนี้ซึ่งตั้งมานานแล้วและมีการทำงานมานานเช่นการติดตามการยกร่างกฎหมายสำคัญๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับศาลปกครองหรือกระบวนการพิจารณาคดีของศาล ให้มาทำหน้าที่เป็นคณะทำงานติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญของศาลปกครองไปก่อน
“ถือเป็นการเตรียมตัวของศาลปกครองต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อดูว่ากระบวนการนี้เป็นอย่างไร คืบหน้าไปถึงไหนอย่างไร จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบไหนอย่างไร แก้ไขมาตราไหนบ้าง ใครฝ่ายไหนเสนออะไร คณะทำงานก็จะรวบรวมข้อมูลติดตามทุกระยะแล้วนำเสนอผู้บริหารของศาลปกครองให้ทราบตลอด
เวลานี้ ศาลปกครองก็ส่งตัวแทนไปนั่งฟังการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเกือบทุกนัดที่รัฐสภา โดยมีการแจ้งอย่างเป็นทางการให้กรรมาธิการทราบ คณะทำงานก็จะมีการศึกษาติดตามและทำรายงานอย่างเป็นระบบ เช่น การทำข้อมูลเปรียบเทียมเชิงวิชาการว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญของไทยกับของต่างประเทศ มีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร ดูเหตุผลความจำเป็นต่างๆ ประกอบ คือไม่ได้ดูแค่เฉพาะเรื่องศาลปกครองแต่จะดูภาพรวมด้วย ศาลปกครองให้ความสำคัญอย่างมากกับการยกร่างรัฐธรรมนูญรวมถึงการเตรียมแก้ไขกฎหมายสำคัญๆที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนี้
เมื่อมีโอกาสเช่นหากมีการยกร่างรัฐธรรมนูญในหมวดว่าด้วยศาลปกครอง ถ้ามีการแสดงความคิดเห็นอะไรหรือเปิดโอกาสให้ฝายศาลได้นำเสนอแนวคิดหรือข้อเสนออะไร เราก็จะได้นำเสนอไปตามหลักวิชาการที่เราได้เตรียมข้อมูลไว้”โฆษกศาลปกครองระบุกับเรา
เมื่อถามว่าแนวคิดที่ต้องการให้มีการปฏิรูประบบศาล โดยเฉพาะ”ศาลคู่”หรือการเสนอให้ภาคประชาชน ภาคการเมือง ที่อยู่นอกระบบศาลได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของศาลมากขึ้น ศาลปกครองพร้อมเปิดกว้างหรือไม่ ?
“ไพโรจน์”แจงว่า คำพูดหรือแนวคิดที่ว่า ศาลตรวจสอบไม่ได้ ศาลเป็นระบบปิดนั้น เขาอาจยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ ศาลต้องดำรงอยู่ภายใต้หลักความเป็นอิสระในการพิพากษาคดี อำนาจฝ่ายอื่นจะมาแทรกแซงการตัดสินคดีไม่ได้ ตุลาการศาลปกครองต้องมีความเป็นอิสระ ศาลปกครองถูกออกแบบมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 จนมาถึง 2550 และในพรบ.การจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีของศาลปกครอง ที่นอกจากให้ความเป็นอิสระในการตัดสินคดีแล้ว ก็ยังมีการออกแบบมาให้เชื่อมโยงกับประชาชนด้วยเรียกได้ว่ามีมากกว่าศาลอื่นๆ ด้วยซ้ำ มีการเขียนในกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาคดีของศาลปกครองที่เปิดช่องทางให้ทุกฝายตรวจสอบศาลได้ มีการฟังความ
ทั้งสองข้างทั้งฝ่ายผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องคือเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อเริ่มกระบวนการไต่สวนคดี ก็เปิดโอกาสให้ทั้งสองฝายสู้คดีได้เต็มที่ จนกว่าจะสิ้นกระแสความ เอกสารทุกอย่างในคดีต้องเปิดเผยเมื่อมีการร้องขอจากอีกฝาย ฝ่ายไหนไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลก็โต้แย้งได้ตามลำดับขั้นตอน จากศาลปกครองกลางก็ไปยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และในการตัดสินคดีที่องค์คณะมี 3 คน ก็ใช้เสียงข้างมากคือ 2 คน แล้วยังมีตุลาการผู้แถลงคดีซึ่งอาจไม่ได้มีความเห็นเหมือนกับตุลาการเจ้าของสำนวนคือมีความเห็นแย้งกันได้ ทั้งหมดมีการบาลานซ์และตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
“เราเชื่อว่าระบบของศาลปกครองออกมาค่อนข้างดีอยู่แล้ว ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมก็เห็นว่าศาลปกครองมีมากกว่าศาลอื่นด้วย ในเรื่องการเปิดให้ภายนอกมีส่วนร่วมหรือตรวจสอบเราได้ อย่างตุลาการศาลปกครองสูงสุดทุกคน เมื่อมีการสรรหาและคัดเลือกแล้วก็ต้องส่งไปให้วุฒิสภาให้เห็นชอบก่อน รวมถึงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด รัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ว่าเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองสูงสุดแล้วก็ต้องส่งเรื่องไปให้วุฒิสภาเห็นชอบ แล้วถึงส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรีนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ วุฒิสภาก็มาจากการเลือกตั้ง-สรรหา ก็คือมาจากประชาชน หรือระเบียบวิธิพิจารณาคดีของศาลปกครองก็ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา จะเห็นได้ว่าศาลเรามีความเกี่ยวโยงเชื่อมกันทางอ้อมกันอยู่กับรัฐสภา ศาลปกครองจึงไม่เหมือนกับศาลอื่น เราไม่ใช่ศาลปกครองที่เกิดขึ้นดำรงอยู่ในระบบศาลแบบเดิมๆ มีความทันสมัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ เชื่อมโยงกับประชาชนในหลายทาง
อีกทั้งเมื่อศาลปกครองตัดสินไปแล้ว สาธารณชนวิจารณ์ได้ วิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็นได้ แต่ขอให้ตั้งอยู่บนหลักสุจริต อยู่ในเชิงวิชาการ ศาลปกครองพร้อมยอมรับ ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล อันแตกต่างจากศาลอื่น ตรงนี้เราทำหลักเกณฑ์เอาไว้เลยว่าให้วิจารณ์ได้ “
“โฆษกศาลปกครอง”ยังกล่าวด้วยว่า ที่บอกจะพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนระบบศาลปกครองถึงมองว่าศาลปกครองมาไกลเกินกว่าที่หลายคนซึ่งไม่ได้เข้าใจเราแล้วบอกว่าต้องการจะเปลี่ยนแปลง ก็อย่างที่เคยได้เปิดแถลงข่าวไปว่า การแก้ไขประเด็นสำคัญของรัฐธรรมนูญไม่ว่าส่วนไหน ก็ควรต้องบอกที่มาที่ไปว่าเจตนารมณ์ในการแก้ไขเพื่อแก้ปัญหาใด ประชาชนจะได้รับประโยชน์อะไร
“อย่างบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 226 เรื่องโครงสร้างที่มาของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง 13 คน ในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะมีมาจากสองทางคือได้รับเลือกจากวุฒิสภาสองคน และจากคณะรัฐมนตรีอีกหนึ่งคน คือมาจากทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร
กรรมการชุดนี้ที่เรียกกันว่าก.ศ.ป. จะดูแลเรื่องการบริหารงานบุคคลของศาลปกครองทั้งหมด ทั้งการแต่งตั้งโยกย้าย การพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง การให้คุณให้โทษเช่น ปลดออก ไห้ออก ตุลาการที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม ดูแลวินัยของตุลาการ เพื่อไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสม ก็จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญก็เขียนเอาไว้เพื่อให้ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ มีส่วนร่วมในการบริหารงานบุคคลของศาลปกครอง ตรงนี้ก็มีระบบ สร้างกลไกเอาไว้ ภายนอกมีส่วนร่วมกับระบบของศาลได้”
แม้ฝ่ายที่เคยบอกว่าต้องทบทวนอำนาจหน้าที่และโครงสร้างของระบบศาล เริ่มจะพยายามปิดปากกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี- วัฒนา เมืองสุข ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ –สงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน และกมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญจากเพื่อไทย-นพ.เหวง โตจิราการส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์และแกนนำนปช.ที่เป็นกมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย
เหตุเพราะคงไม่ต้องการให้เกิดกระแสวิจารณ์ไปว่า รัฐบาลเพื่อไทยต้องการทุบศาลหรือต้องการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทุบระบบตรวจสอบถ่วงดุลทุกองค์กร แต่ก็จะพบว่า นักการเมืองหลายสายก็ยังพยายามเขย่าองค์กรต่างๆ ที่มีความรู้สึกในใจว่าเป็น”ปฏิปักษ์การเมือง”จึงต้องการทำให้องค์กรเหล่านี้อ่อนแอลง
แต่เมื่อกระแสต้านเริ่มมีมาก ผนวกกับหลายองค์กรก็ปักหลักไม่ยอมให้โดนทุบง่ายๆ ทำให้ฝ่ายการเมืองจึงพยายามเลี่ยงการปะทะ แต่หลายคนก็ยังไม่เชื่อใจ เพราะเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ น่าจะมีวาระการเมืองใหญ่ๆ ซ่อนอยู่มากมาย อย่างไรก็ตาม พบว่า ศาลปกครองเองก็ยังคงดำเนินกิจกรรม”ศาลปกครองพบประชาชน”เหมือนเช่นที่เคยทำมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง และยังมีแผนจะเปิดแผนกใหม่ของศาลปกครองออกมาในเร็วๆนี้ นั่นก็คือ
“แผนกคดีบริหารงานบุคคล”
ซึ่งจะรับคำร้องเรื่องคดีฟ้องร้องเกี่ยวกับปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายในวงการราชการ ซึ่งพบว่าเป็นคดีที่เข้ามายังศาลปกครองจำนวนมากในแต่ละปี รวมถึงยังคงเดินหน้าทำกิจกรรมออกต่างจังหวัดเพื่อจัดกิจกรรมศาลปกครองพบประชาชนอย่างต่อเนื่อง อันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องการจะยุบศาลปกครองหรือไม่อย่างไร
เรื่องนี้ โฆษกศาลปกครอง บอกว่า “ศาลปกครองมีโครงการศาลปกครองพบประชาชนมาต่อเนื่อง เราจัดกันปีละ 4 ครั้งเพื่อไปเดินสายจัดสัมมนาให้ความรู้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้เกิดความเข้าใจและทราบถึงระบบการทำงานของศาลปกครองทั้งการฟ้องคดี กระบวนการพิจารณาคดี ระบบการพิจารณาคดีของศาลปรกครอง โดยจะไปยังจังหวัดซึ่งยังไม่มีศาลปกครองตั้งอยู่
เดือนมีนาคมนี้ เราก็ไปที่จังหวัดพิจิตร ช่วง 26-28 มีนาคม และประมาณ 10 มิถุนายน ก็ไปที่จังหวัดมหาสารคาม และหลังจากนั้นก็จะมีไปที่ ร้อยเอ็ด และกระบี่ต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาก็ประสบความสำเร็จได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่รัฐ และสื่อมวลชนที่จะได้รับความรู้ความเข้าใจกลับไปว่าศาลปกครองมีระบบการทำงานอย่างไร”
เขากล่าวว่า ตอนนี้ ศาลปกครองมีศาลภูมิภาค 9 แห่ง ศาลกลาง 1 แห่งคือที่แจ้งวัฒนะ ซึ่งแม้จังหวัดไหนที่ไม่มีศาลปกครองก็ไปยื่นฟ้องต่อศาลภูมิภาคได้เพราะมีขอบเขตอำนาจการพิจารณาคดีเอาไว้อยู่ อย่างศาลปกครองภูมิภาคก็มีเชียงใหม่ พิษณุโลก ดังนั้นประชาชนในจังหวัด แพร่ น่าน เชียงราย แม่ฮ่องสอน ประชาชนก็ไปยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลปกครองภูมิภาคที่เชียงใหม่ได้ เช่นเดียวกับที่อีสาน ซึ่งมีศาลปกครองภูมิภาคที่ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี อุบลราชธานี ดังนั้นประชาชนในจังหวัดใกล้เคียง และอยู่ในเขตอำนาจศาลไหนก็ไปยื่นฟ้องต่อศาลภูมิภาคนั้นได้ หรือหากไม่สะดวกไปยื่นที่ศาลภูมิภาคจะมายื่นฟ้องที่ศาลปกครองกลางก็ได้แล้วก็จะดำเนินการส่งเรื่องไปยังพื้นที่
“เวลานี้ศาลปกครองยังจัดตั้งและเปิดศาลไม่ครบร้อยเปอร์เซนต์เพราะเรามีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ และบุคลากรคือ ตัวตุลาการศาลปกครอง ที่ยังขาดอยู่จึงต้องพยายามอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้ยื่นฟ้องให้สะดวกที่สุด”
“โฆษกศาลปกรอง”ย้ำด้วยว่า มีความเป็นไปได้แน่นอน ที่ศาลปกครองจะเปิดแผนกคดีใหม่เพื่อพิจารณาเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ เพราะพบว่าจากสถิติคดีที่ฟ้องมายังศาลปกครองมีคดีแบบนี้เข้ามาค่อนข้างมาก แต่ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาให้รอบด้านก่อน เพราะศาลเพิ่งเปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อมไปได้ไม่นาน ตอนนี้ประธานศาลปกครองสูงสุดก็กำลังให้มีการวิเคราะห์สรุปว่าผลการเปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไรบ้าง ได้ผลเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ แล้วหากจะเปิดแผนกคดีบริหารงานบุคคล จะมีความพร้อมแค่ไหน
“คดีแบบนี้ถ้าเราตัดสินช้า ศาลก็กังวล เพราะผู้ฟ้องซึ่งเขาเห็นว่าเขาเป็นผู้เสียหายจากการแต่งตั้งโยกย้าย ถ้าคดีตัดสินเร็วมันก็จะดี แต่ศาลก็มีบุคลากรจำกัด รวมถึงเรื่องงบประมาณ แต่คดีที่เข้าสู่ศาลเพิ่มขึ้นทุกปี การจะเปิดแผนกคดีก็ต้องมีการออกระเบียบวิธีพิจารณาคดี และเมื่อเปิดแล้วก็ต้องทำให้คดีพิจารณาได้รวดเร็ว ตรงนี้ศาลก็กำลังพิจารณาอยู่ว่าเมื่อเปิดแล้วจะเป็นอย่างไรจะกระทบอะไรหรือไม่”
เห็นการเตรียมการของศาลปกครองทั้งการตั้งแท่นติดตามการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตั้งแต่ยังแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไม่เสร็จสิ้นในชั้นกรรมาธิการ รวมถึงการเดินหน้าจัดสัมมนา ศาลปกครองพบประชาชน ทั่วประเทศ หรือการเตรียมการเพื่อเปิดแผนกคดีใหม่ๆ ของศาลปกครอง ตลอดจนการเตรียมเปิดศาลภูมิภาคเพิ่มขึ้น
แสดงให้เห็นแล้วว่า วันนี้ ศาลปกครอง เดินไปไกลเกินกว่าจะมา ยุบหรือทุบทิ้ง กันได้ง่ายๆ เสียแล้ว