แก้รธน.บิลแรก 2.5 พันล้าน ประชาชนได้ประโยชน์ตรงไหน?
การประกาศเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยที่จะเริ่มต้นขึ้นแน่นอนแล้วในช่วงต้นปี 2555 นี้ บนเหตุผลที่รัฐบาลและส.ส.พรรคเพื่อไทยยกขึ้นมาอธิบายต่อสังคมก็คือ เพราะในช่วงหาเสียงพรรคเพื่อไทยได้ชูนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เอาไว้ตลอดช่วงหาเสียง จนกระทั่งพรรคชนะการเลือกตั้งด้วยจำนวนเสียงส.ส.เกินกึ่งหนึ่งกับคะแนนเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ 15 ล้านเสียง
เพื่อไทยจึงเห็นว่าเท่ากับเป็นมติประชาชนว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคหาเสียงไว้
รวมถึงที่สำคัญเรื่องนี้เป็น“สัญญาประชาคม”ที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายไว้ต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อ 23 สิงหาคม 2554 ซึ่งเป็นวันแถลงนโยบายก่อนการบริหารประเทศ ซึ่งได้มีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะทำภายในหนึ่งปีด้วย หากรัฐบาลไม่ทำก็เท่ากับไม่ปฏิบัติตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา
ประเด็นการ“แก้ไขรัฐธรรมนูญ”จึงเป็นหัวข้อการเมืองร้อนแรงตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงต้นปีแน่นอน สำหรับฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และในฝ่ายที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังเห็นแตกต่างกันไปในรายละเอียด
อาทิ เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่จะแก้ในช่วงไหน ส.ส.เพื่อไทยบางคนก็บอกว่าต้องแก้ภายในการประชุมสภาผู้แทนราษฏรสมัยนี้ไม่เกินเดือนมกราคม แต่ส.ส.บางคนก็เห็นว่าควรชะลอเอาไว้ก่อนให้สถานการณ์สุกงอมกว่านี้เช่นให้ใกล้ช่วง 23 สิงหาคมที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงตอนนั้นค่อยขยับก็ยังไม่สายไป
และความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องการทำประชามติ บางฝ่ายอาทิ กรรมการการเลือกตั้งอย่าง”นางสดศรี สัตยธรรม”ที่เป็นอดีตกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เห็นว่าควรต้องทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ฝ่ายส.ส.พรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและเสนอให้ทำประชามติครั้งเดียวคือหลังมีการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว
ประเด็นข้อถกเถียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นประเด็นสาธารณะที่ทุกฝ่ายควรได้มีโอกาสเสนอแนะและให้ความคิดเห็นอย่างเต็มที่เพื่อให้กระบวนการนี้ตกผลึกต่อไปเมื่อมีการเริ่มดำเนินการ
โดยมีการเปิดเผยจากกกต.แล้วว่าสำหรับงบประมาณที่จะใช้ในการทำประชามติเพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศลงมติว่าจะรับร่างหรือไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 2.5 พันล้าน
อันเป็นจำนวนเงินไม่น้อยสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เพิ่งบังคับใช้มาแค่ 5 ปี และอยู่ในช่วงที่ประเทศเพิ่งผ่านพ้นวิกฤตน้ำท่วมที่ประเทศจะต้องใช้งบประมาณเพื่อการฟื้นฟูเยียวยาบูรณะประเทศครั้งใหญ่ รวมถึงจ่ายเงินชดเชยให้กับประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม คำถามจึงเกิดขึ้นว่าคุ้มค่าหรือไม่ กับเงิน 2.5 พันล้านบาทในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คนได้ประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจมีเพียงคนไม่กี่กลุ่มซึ่งก็คือ”นักการเมือง”ไม่ใช่ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ
“ดิเรก ถึงฝั่ง” ส.ว. นนทบุรี และอดีตประธานคณะกรรมการสมานฉันท์และปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งขึ้นด้วยแรงสนับสนุนจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และที่ประชุมร่วมสภาผู้แทนราษฏรสมัยที่ผ่านมากับวุฒิสภา กล่าวถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับ”ทีมข่าวthaireform”เอาไว้ว่าการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลายของฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเวลานี้เป็นเรื่องดี อยากให้ทุกเวทีได้มีการอภิปรายกันให้เต็มที่สำคัญที่ว่าจะมีการเปิดกว้างกันมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ว่าพอคนอื่นเห็นต่างกัน หรือคิดไม่ตรงกันทั้งรูปแบบและเนื้อหาสาระในมาตราที่เสนอให้แก้ไขแล้วไม่ตรงกับความคิดฝั่งตัวเองก็ตั้งป้อมไม่เอาด้วย
“ดิเรก”ยกเหตุผลขึ้นมาอธิบายเรื่องนี้ว่า รัฐธรรมนูญและกฎหมายทุกฉบับเมื่อมีการบังคับใช้แล้ว พบว่าสังคมเห็นว่ามีปัญหาหรือการบังคับใช้มีปัญหา ถ้าไม่แก้ปัญหาก็ไม่จบ ในเมื่อเห็นปัญหาแล้วทำไมไม่แก้ จะยึดติดไม่ได้ แนวทางการแก้รัฐธรรมนูญผ่านมาตรา 291 เพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและมีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้วเชื่อว่าสังคมส่วนใหญ่เอาด้วยสนับสนุน เพราะแม้รัฐธรรมนูญปี 2550 จะผ่านการทำประชามติจากประชาชนและหลายมาตราเป็นเรื่องที่ดีแต่ก็มีข้อเสียอยู่คนก็เห็น อันไหนในรัฐธรรมนูญที่เป็นส่วนดีก็เก็บเอาไว้ ไม่ต้องรื้อหรือยกเลิก อันไหนมีปัญหาก็ทบทวนแก้ไข แต่ทั้งหมดขอให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่บนหลักสำคัญคือยึดโยงกับประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วม
“ก่อนหน้านี้สมัยสภาฯที่แล้ว ก็มีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์และปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีตัวแทนทั้งจากสว.และพรรคการเมืองเกือบทุกพรรคมาร่วมประชุมปรึกษาหารือกัน มีผมเป็นประธาน เราก็คุยกันหลายรอบดูกันหลายมาตราจนเสนอว่าควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อทำให้ปัญหาการเมืองจบไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มาของส.ส.-ส.ว.หรือเรื่องการใช้อำนาจของส.ส.ที่เข้าไปทำเรื่องต่างๆที่เป็นข้อห้าม ทำให้เป็นที่มาของการถูกถอดถอนจากตำแหน่งในมาตรา 265และ 266 รวมถึงเรื่องการยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิการเมืองห้าปีกรรมการบริหารพรรคที่โดนยุบพรรคใน มาตรา237 ซึ่งรัฐบาลชุดที่แล้วก็นำไปแก้ไขในบางส่วนไม่ได้นำข้อเสนอของคณะกรรมการไปใช้ทั้งหมด”
เมื่อถามถึงเรื่องมาตรา 309 ทางกรรมการสมานฉันฑ์ฯเคยศึกษาเรื่องนี้หรือไม่?
“ดิเรก”บอกว่าก็มีการหารือกันอยู่แต่ไม่ได้เป็นข้อสรุปเวลานั้น เวลานี้คนก็ยังสับสนไม่เข้าใจกันอยู่มีความเห็นแตกออกเป็นสองทาง
“นักกฎหมายก็มองเรื่อง 309 ต่างกัน บางคนบอกว่ายกเลิกไปแล้วจะทำให้คุณทักษิณ ชินวัตรและคดีความทั้งหมดหลัง 19 ก.ย. 49 ที่คมช.ตั้งคณะกรรมการคตส.ถูกยกเลิกไปด้วย แต่บางส่วนก็บอกว่าไม่ใช่ ถ้ายกเลิกแล้วไม่มีการเขียนบทเฉพาะกาลใหม่ให้นิรโทษกรรมคุณทักษิณก็ไม่มีปัญหา ยกเลิกก็ยกเลิกไป แล้วก็ไม่มีการไปเอาคืนกับคมช. เพราะถ้าคิดและพยายามทำแบบนั้น ปัญหามันก็ไม่จบ
ผมก็คิดว่าเรื่อง 309 มันไม่เกี่ยวอะไรกับคุณทักษิณ มันไม่ใช่ประเด็นที่จะมาตั้งป้อมค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะเรื่องนี้มันอยู่ที่สสร.เขาจะว่าอย่างไร เราจะไปชี้นำเขาไม่ได้
“แล้วเรื่อง”ประชามติ”ที่กำลังถกเถียงกันอยู่ อย่างกกต.เช่นสดศรี สัตยธรรม หรือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีทั้งสองคนก็แสดงท่าทีว่าเห็นด้วยกับการทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ?
สว.นนทบุรี บอกว่า การทำประชามติต้องทำแน่นอนแต่ควรต้องทำหลังยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว และทำครั้งเดียวพอ ไม่ควรทำสองรอบ การทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่น่าจะเหมาะ เพราะหากประชาชนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขาก็ไปโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในตอนหลังยกร่างเสร็จได้อยู่แล้ว ไม่ควรต้องทำสองรอบ และการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยให้สสร.มีที่มาจากประชาชนก็เป็นการให้ประชาชนมีส่วนร่วมอยู่แล้ว
“ดิเรก”ปิดท้ายโดยย้ำว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นแน่นอน และในฐานะสว.คนหนึ่งที่จะร่วมโหวตก็สนับสนุนเต็มที่และเชื่อว่ามีสว.จำนวนมากก็เห็นด้วย และคงโหวตให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านได้ ภายใต้หลักที่ว่าแก้ 291ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าแก้ในรูปแบบอื่นๆเช่นแก้ทีละมาตราคงเป็นอีกแบบหนึ่งแต่ดูแล้วฝ่ายรัฐบาลคงแก้ 291 แน่นอน
“รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อดีก็มาก แต่เมื่อคนพูดกันมาหลายปีว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นผลิตผลจากคมช. เป็นของคณะปฏิวัติ มีข้อครหาเคลือบแคลงแบบนี้ ก็ควรทำให้ปัญหามันจบ
ส่วนเพื่อนสมาชิกวุฒิสภาคนอื่นๆ ยังไม่รู้ว่าเขาคิดเห็นอย่างไรแต่ถ้าเป็นหลักว่าแก้ 291 แล้วก็มีการทำประชามติก็น่าจะผ่าน
แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้วุฒิสภาอาจมีอำนาจน้อยลงเช่นเรื่องที่มาของสว.ที่ระบบสรรหาอาจไม่มีในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ต้องยอมรับกันในกติกาเรื่องการเลือกตั้ง”ดร.ดิเรกกล่าวทิ้งท้ายกับทีมข่าวปฏิรูป
ส่วนมุมมองของผู้เคยมีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต่อการเคลื่อนไหวเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ คือ” ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา “อดีตคณะบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 กล่าวแสดงทัศนะกับ”ทีมข่าว thaireform ”ไว้โดยตั้งคำถามไปยังรัฐบาล ส.ส.หรือสว.รวมถึงกลุ่มการเมืองต่างๆที่กำลังเคลื่อนไหวแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า ควรต้องบอกด้วยว่าเมื่อแก้รัฐธรรมนูญแล้วประชาชนได้ประโยชน์อะไรจากการนี้
“ศ.ดร.จรัส”บอกว่าแม้จะเป็นอดีตสสร. 50 แต่ก็เปิดใจกว้างยอมรับหากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่สิ่งที่สำคัญคือควรต้องบอกด้วยว่าที่จะแก้เพราะเหตุผลใด มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน และสังคมได้อะไรจากการนี้ แก้วแล้วจะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองกลับมาอีกหรือไม่ เท่าที่ติดตามท่าทีและความคิดเห็นของฝายที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเห็นมีแต่บอกว่ารัฐธรรมนูญทำให้ติดขัดเรื่องต่างๆ ทำงานได้ไม่เต็มที่ อยากลดอำนาจระบบตรวจสอบลง เช่นการอ้างเรื่องว่าส.ส.ไม่สามารถลงไปช่วยประชาชนในช่วงน้ำท่วมได้ทำให้เมื่อเข้าไปช่วยแล้วต้องถูกฝ่ายค้านยื่นถอดถอน หรือบอกว่าส.ส.ไม่สามารถรับตำแหน่งต่างๆเช่น ที่ปรึกษารัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรีได้ หรือบอกว่ามีการให้อำนาจองค์กรอิสระมากเกินไปแบบนี้ คนก็สงสัยว่าที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดพื้นที่อำนาจการเมืองให้ตัวเองมากขึ้นแล้วลดพื้นที่อำนาจการเมืองประชาชนและระบบตรวจสอบลง แล้วเป็นการแก้เพื่ออะไร
“ก็ต้องถามส.ส.ที่บอกว่าอยากแก้เพื่อให้อำนาจมีมากขึ้นว่าต้องการจะอยู่ในฝายบริหารหรือนิติบัญญัติกันแน่ เพราะตอนเลือกตั้งไปหาเสียงก็บอกต้องการเป็นส.ส. อย่างเรื่องการจะขอให้ตัดมาตรา 309 ออกไปจากรัฐธรรมนูญ ก็ยังเคลียร์ข้อสงสัยสังคมไม่ได้ว่ามีเจตนามุ่งหมายอะไรในการนี้เรื่อง 309 หรือเพื่อต้องการให้แก้ไขแล้วจะเชื่อมโยงไปถึงการพลิกคดีให้กับใครคนใดคนหนึ่งโดยพลิกจากอย่างหนึ่งไปอีกอย่างหนึ่งหรือไม่ เพราะมาตรา 309 ก็ไม่มีอะไรมันจบไปแล้ว ทำไมต้องไปแก้ “ศ.ดร.จรัสตั้งคำถามไปยังผู้คิดจะเคลื่อนไหวแก้รัฐธรรมนูญ
อดีตสสร.50 ให้ทัศนะไว้ว่า กระบวนการดีไซน์เรื่องที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่นักการเมืองส่วนใหญ่บอกต้องการให้มี 99 คนนั้น ในฐานะที่เคยมีประสบการณ์เป็นสสร.มาก่อน เห็นว่าสสร.แต่ละกลุ่มรวมถึงกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะจากสาขาวิชาชีพ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ องค์กรอิสระ ต่างก็มีกรอบพื้นที่ของตัวเองวางไว้ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ คือต่างก็ปกป้องพื้นที่ของตัวเองเอาไว้ ไม่ให้ใครไปยุ่งเกี่ยวแล้วก็พยายามไปเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อรักษาพื้นที่ตัวเองเอาไว้เลยทำให้กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องยอมรับว่าใช้เวลานานเกินไปและมีหลายมาตราหลายเรื่องเกินไป รายละเอียดบางเรื่องไม่ควรต้องใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญก็ยังเอามาใส่ สิ่งแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีกแล้วในการยกร่างรัฐธรรมนูญหากว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงๆ
“มีข่าวว่าจะมีการตั้งเงื่อนไขเอาไว้เช่น ใครที่เคยยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 จะไม่ให้มาเป็นสสร.หรือกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คือเริ่มต้นเขาก็คิดกันไว้แล้วว่าจะวางให้สสร.ออกมาอย่างไร จากที่เห็นการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 พบว่าสสร.จังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมแทบไม่มีบทบาทอะไรหรือมีบทบาทน้อยกว่าสสร.จากสาขาต่างๆเสียอีก และเมื่อมีสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็มีการแบ่งหน้าที่กันเป็นฝ่ายยกร่างรัฐธรรมนูญ ฝ่ายรับฟังความคิดเห็น ฝ่ายทำประชาพิจารณ์ สสร.จังหวัดดูแล้วไม่น่าจะมีบทบาทมากนักหากใช้โครงสร้างแบบนี้ บทบาทส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่สสร.จากภาควิชาต่างๆเช่น ภาคสังคม วิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ตัวแทนองค์กรอิสระแบบนี้มากกว่า
แล้วเมื่อกลุ่มต่างๆเหล่านี้เข้าไปยกร่างรัฐธรรมนูญในกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญและสภาร่างฯ เขาก็จะมีจุดยืนรักษาประโยชน์ของฝ่ายตัวเอง ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อรักษาพื้นที่ของเขา”
ศ.ดร.จรัส ให้ข้อมูลการยกร่างรัฐธรรมนูญของบางประเทศเอาไว้อย่างน่าสนใจโดยบอกว่าในประเทศฝรั่งเศล ที่มีระบบกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่เป็นต้นแบบของหลายประเทศทั่วโลก เวลาจะมีการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมาย จะใช้คนไม่มากและต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือรู้ในเรื่องต่างๆที่เป็นหลักสำคัญของการบริหารการปกครองเช่นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง กฎหมาย แล้วยกร่างออกมาจากนั้นก็ไปทำประชาพิจารณ์และทำประชามติ จึงทำให้การยกร่างกฎหมายใดๆออกมาจะได้แก่นที่แท้จริง
“อย่างฝรั่งเศลแนวคิดเรื่องการออกกฎหมายอะไรต่างๆหรือแก้รัฐธรรมนูญเขาไม่ได้ใช้ระบบตัวแทนแบบที่เราใช้กันเลย ไม่มีประเภทตัวแทนจากสาขาต่างๆ แต่ใช้คนที่รู้เรื่องนั้นจริงๆ แล้วมาอยู่ด้วยกันไปคุยกันเพื่อออกกฎหมายที่ตั้งอยู่บนหลักสากล และหลักการต่างๆ
แล้วตอนไปยกร่างรัฐธรรมนูญเขาก็ผูกเรื่องทั้งหมดเอาไว้ด้วยกันไม่แตกประเด็นออกไปมากเกินไป ทำให้มีจุดอ่อนน้อยมาก การมีคนมากไปแก้รัฐธรรมนูญก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องดี คนมากก็อาจเสียเวลามากอย่างที่บอกจะใช้เวลาถึงสองปีหรือ 18 เดือน
จากที่ผมเห็นตอนไปเป็นสสร.ปี 50 ก็เห็นว่าบางส่วนก็มีการใส่รายละเอียดปลีกย่อยหลายเรื่องมากเกินจำเป็น จนรุนรังเลยเป็นว่ากลายเป็นกองขยะรวมทุกอย่างเอาไว้ด้วยกันหมดก็ไม่ควรเป็นแบบนั้นอีก”
ทัศนะทั้งสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญจากดร.ดิเรก ถึงฝั่ง ในฐานะสมาชิกรัฐสภาที่จะเป็นผู้มีส่วนร่วมโดยตรงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญและจากศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา อดีตสสร.ปี 50 ที่แม้ไม่ขัดข้องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็ต้องการคำอธิบายจากผู้มีแนวคิดแก้รัฐธรรมนูญว่าเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการแก้รัฐธรรมนูญคืออะไร
จึงเป็นสองมุมมอง สองความคิด ที่น่ารับฟังยิ่ง