สุวัฒน์ เทพอารักษ์ รองเลขา กปร. “บริหารน้ำต้องทำจริง อย่ามีเพียงทฤษฎี”
เมื่อวันที่5 ธันวาคม 2554 ซึ่งเป็นวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7รอบ 84 พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จออกมหาสมาคม ณ มุขเด็จ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และทรงมีกระแสพระราชดำรัส โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ท่านทั้งหลาย ในปีนี้ผู้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่สำคัญ ทั้งฝ่ายพลเรือน และทหาร ย่อมทราบแก่ใจอยู่ทั่วกันว่าความมั่นคงของประเทศชาตินั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยประชาชนในชาติ อยู่ดีมีสุข ไม่มีทุกข์ยากเข็ญ ดังนั้น การใดที่เป็นความทุกข์เดือดร้อนของประชาชนทุกคน ทุกฝ่าย จึงต้องถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องร่วมมือกันปฏิบัติ แก้ไขให้เต็มกำลัง จึงชอบที่จะร่วมมือกันปัดเป่าแก้ไขให้ผ่านพ้นไปโดยเร็ว และการจัดทำโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน อย่างเช่น โครงการต่างๆที่เคยพูดไปนั้น ก็เป็นการแนะนำ ไม่ใช่สั่งการ แต่ถ้าปรึกษากันแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์คุ้มค่า และทำได้ก็ทำ”
ฤดูกาลทางธรรมชาติที่เปลี่ยนไปสภาพอากาศที่แปรปรวนล้วนแล้วนำพามาแต่ภัยพิบัติ ซึ่งสวนทางกับการแก้ไขปัญหาที่วางแผนตามฤดูกาล แก้ไขปัญหาเมื่อภัยมา หรือที่เรียกกันว่า “วัวหาย แล้วล้อคอก”
ทั้งนี้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลมือใหม่ ที่นำโดย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาประกาศกร้าวและเน้นย้ำแล้วว่า “รัฐบาลพร้อมน้อมนำกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องของ การทำ flood Way โดยมอบหมายให้ทางคณะกรรมการพิจารณาดูระบบน้ำถาวร นำมาวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำอย่างเป็นรูปธรรมและแก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน"
สำหรับทฤษฏีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามแนวทางการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมล้น (Flood Management) เราคงต้องเปิดตำรา เพื่อทำความเข้าใจก่อนว่า ประเทศไทยถูกตั้งอยู่ในเขตมรสุม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีฝนตกชุกและปริมาณน้ำฝนสูง จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมอยู่ในหลายพื้นที่เกือบทุกภูมิภาค พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวิเคราะห์ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและทรงคำนึงถึงการเลือกใช้วิธีการต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพท้องที่ โดยโครงการพระราชดำริหลายโครงการได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถบริหารจัดการน้ำได้จริง แต่เพราะเหตุใดน้ำจึงเกิดท่วมได้
นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) จะมาสำทับภาพรวมโครงการในพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนโดยปูพื้นฐานความรู้โครงการพระราชดำริแบบสังเขปว่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริปี 2495 โครงการแรกได้เกิดขึ้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งวันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯไปเยี่ยมราษฎรแล้วรถติดหล่ม หลังจากนั้นประชาชนก็ช่วยกันเข็น และทำทุกวิถีทางจนกระทั่งผ่านมาได้ แต่พระองค์ท่านทรงคิดว่าประชาชนคงลำบากในการเดินทาง ท่านจึงได้พระราชทานรถเกลด หรือที่เขาเรียกกันว่าบลูเดอร์เซอร์ ให้กับตชด.นำไปปรับปรุงถนน ที่ถนนบ้านห้วยมงคล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้ประชาชนสามารถสัญจรไปมาได้สะดวกขึ้น นี่คือที่มาของโครงการพระราชดำริโครงการแรกในปี 2495 หลังจากนั้นก็มีโครงการต่างๆเกิดขึ้นมากมาย จนมาถึงวันนี้ ปี 2554 รวมแล้วทั้งหมดมีอยู่ 4,100 โครงการ ซึ่งเรื่องที่สำคัญที่สุด คือโครงการว่าด้วยเรื่องน้ำจำนวน 2,900 โครงการ ถือว่าเยอะมากที่สุด
การจัดการน้ำของพระองค์ท่าน ถ้ามองจากแผนที่ประเทศไทย ท่าทรงมองและทรงทำตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ต้นน้ำคือภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ พะเยา แม่ฮ่องสอน โดยคำนึงถึงที่เก็บน้ำสำคัญที่สุดนั่นคือ "ป่าไม้" เพราะป่ามีเป็นล้านๆไร่ สามารถเก็บน้ำเองโดยธรรมชาติ เราต้องรักษาป่า โดยเฉพาะป่าที่เป็นต้นน้ำลำธาร
สำหรับความสำคัญของป่าไม้ ถ้าเรามองเริ่มจากภาคเหนือ ทุกครั้งที่ฝนตกลงมาป่าจะจัดทำหน้าที่เก็บน้ำ พระองค์ท่านจึงทรงทำตัวชะลอน้ำที่เรียกว่าฝายต้นน้ำ เมื่อชะลอน้ำได้ จากนั้นพระองค์ท่านก็ให้ทำหญ้าแฝกป้องกันการพังทลายของดิน และเมื่อน้ำมาถึงเชิงเขา พระองค์ท่านทรงสร้างอ่างเก็บน้ำ บริเวณเชิงเขาชุมชนของประเทศไทยอยู่ในที่ลุ่ม เพราะถ้าเราไม่ทำอ่างเก็บน้ำ เมื่อฝนตกลงมาจากเขาน้ำก็จะไหลท่วมเมือง ดังนั้นจากอ่างเก็บน้ำก็สร้างลงมาเป็นเขื่อนต่างๆ และเมื่อน้ำมาใกล้ๆ กรุงเทพ จะเจอกับแก้มลิงธรรมชาติ คือ หนอง คลอง บึง ต่างๆ ซึ่งแก้มลิงเหล่านี้มีความสำคัญที่สุด แต่เรากลับไปละเลย โดยเข้าไปบุกรุกในพื้นที่หมดเลย บ้างก็เข้าไป ถมที่ขวางทางน้ำ ทำให้น้ำไปไม่ได้ น้ำก็ไม่มีที่อยู่จึงทะลักขึ้นมา
เมื่อหลังจากการทำแก้มลิงเราต้องทำผนังกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันน้ำ และทำฟลัดเวย์หรือว่าทางน้ำไหลตรงไหนที่ควรจะผ่านก็ให้น้ำผ่านไม่ใช่ไปกักไปดักทางน้ำไว้
แต่ทุกอย่างที่ทำที่สร้างเราต้องคำนึงให้เหมาะกับสภาพภูมิประเทศ และสอดคล้องกับภูมิสังคม และที่สำคัญพระองค์ท่านทรงเน้นอยู่คำหนึ่งเสมอคือ “ภูมิสังคม” นั่นหมายถึง วิถีชีวิตความเป็นอยู่อะไรต่างๆ ทำอะไรก็ตามแต่อย่าให้คนทะเลาะกัน ฉะนั้นจึงต้องศึกษาภูมิสังคมด้วย
ภูมิสังคมในปัจจุบันมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหนเพราะโครงการต่างๆที่ทางภาครัฐและเอกชนทำ มักจะละเลยคำว่า ภูมิสังคม จนบางครั้งโครงการต่างๆล้มเหลวไป
"สำคัญนะ สำคัญแน่ โดยเฉพาะการบริหารคนสำคัญที่สุด ไม่ว่าเราจะมีทรัพยากรเท่าไหร่ แต่สุดท้ายการพัฒนาทั้งหมด ผมว่าทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือ ทรัพยากรมนุษย์ เพราะมนุษย์จะต้องตัดสินใจว่าทำอะไร อย่างไร จะทะเลาะเบาะแว้งกันหรือไม่ ทำแล้วจะเป็นอย่างไร
คิดว่าสิ่งใดที่รัฐบาลจะต้องดำเนินต่อจากนี้ เพราะว่าปัจจุบันนี้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปมาก แล้วเราก็ไม่รู้ว่าภัยพิบัติจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ผมคิดว่าสิ่งแรกต้องเน้นคือ เรื่องของแก้มลิงธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นคูคลองบึงแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งหลาย วันนี้ทำได้ทันที โดยการขุดลอกทะลุทะลวงทางน้ำให้น้ำออกไปให้ได้ ต้องปรับปรุงสถานที่ที่ใครบุกรุกเราต้องบังคับใช้กฎหมาย เพราะคนบุกรุกคือคนผิด แต่เราปล่อยกันใช่หรือไหม ซึ่งถ้าปล่อยให้ประโยชน์ส่วนตนของแต่ละคน แต่ละครอบครัวสำคัญ ประโยชน์ส่วนรวมก็จะพังอย่างที่เราเห็น นี่คือสิ่งแรกที่ต้องทำ ส่วนโครงสร้างอื่นอาจจะช้า เช่นการสร้างเขื่อนตัวหนึ่งใช้เวลานานแต่ก็จำเป็น ถ้าพื้นที่ตรงนั้นเหมาะสม เราต้องมีไว้เพื่อช่วยจัดการน้ำ
นอกจากนี้ผมว่าเรื่องป่าวันนี้ต้องเน้นกันหนักเช่นกัน ผมเคยฟังตัวเลขเขาบอกว่า กรมป่าไม้ตั้งมาร้อยกว่าปี ซึ่งร้อยกว่าปีที่แล้วมีพื้นที่ป่าประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ แต่พอถามว่าปัจจุบันป่าไม้เหลือเท่าไหร่ เหลือประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง จริงอยู่ที่พื้นที่ป่าลดลง เพราะว่าจำนวนประชากรมากขึ้น แต่ไม่น่าจะลดลงมากขนาดนี้ ถ้าเราปล่อยที่เหมาะสมให้เป็นป่า เป็นทางน้ำ ซึ่งผมว่ามีพื้นที่อยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามนุษย์ไปบุกรุก ถ้าเราสามารถฟื้นฟูกลับมาได้ก็จะเป็นแก้มลิงธรรมชาติที่สมบูรณ์
ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ คนไทยถ้าไม่เห็นปัญหาก็รู้สึกเฉยๆละเลยกันไป ภาษาทั่วไปเรียกว่า ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา แต่จริงๆแล้วพอกลับมาดู อะไรที่ใกล้ตัว อะไรที่ทำได้ วิกฤตอุทักภัยครั้งนี้ทำให้คนเราตื่นตัวและต้องมาทำกันอย่างจริงจัง จะพูดกันบอกเล่นๆเหมือนที่ผ่านมาว่า ไม่ได้ ไม่เป็นไร ช่างมัน คงไม่ได้แล้ว
เรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ทีเดียว ต้องเร่งและมาจัดความสำคัญเลย เป็นเรื่องเร่งด่วนเลย เพราะเขาบอกกันว่าเพราะอีก 6 เดือน ฝนจะมา 6 เดือนเร็วมากจะทำอะไรต้องรีบทำ ไม่ใช่คุยกันไปคอยกันไป คอยงบประมาณ อะไรทำได้ก็ทำได้เลย แล้วสุดท้ายคือ เราต้องมาบูรณาการกันจริงๆ ไม่ใช่ว่าคนหนึ่งคิด คนหนึ่งคิด คนหนึ่งคิด สุดท้ายแล้วต้องมองเป็นประโยชน์ส่วนรวม ถ้าทุกคนมองเป็นประโยชน์ส่วนรวม ทุกอย่างไปได้ แต่ทุกคนมองเห็นเป็นแค่ประโยชน์ส่วนตัว ทุกอย่างไม่ใช่ต่างคนต่างทำ แล้วก็“กอดคอกันตาย”
การแก้ไขปัญหาภัยน้ำตั้งแต่อดีต ฝ่ายบริหารมีบทบาทมากหรือไม่
ผมคงจะพูดไม่ได้ว่าเป็นเพราะรัฐบาลนั้นรัฐบาลนี้ วันนี้เราไม่อยากไปโทษใคร เราต้องไม่มาเถียงแล้วว่าอะไร ทีผ่านมาอย่างโน้นอย่างนี้ วันนี้เราต้องถามแล้วว่าต้องทำอะไรบ้าง เช่น คูคลองแม่น้ำลำคลอง ต้องดำเนินการทันที 3-4 เดือนต้องทำ ถึงจะช่วยบรรเทา สำหรับพื้นที่ป่าด้านบนทั้งหลายต้องช่วยกันดูแลรักษา ส่วนการสร้างเขื่อนใหญ่ ก็ต้องคอยเวลา ต้องไปศึกษา เข้าใจว่าทางกรมชลประทานมีหน้าที่โดยตรงอยู่แล้ว เขามีแผนงานมีการศึกษาต่างๆ กรมชลฯมีข้อมูลหมดแล้ว เพราะขณะนี้มีพื้นที่ที่เหมาะแก่การสร้างเขื่อนอยู่หลายที่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลตัดสินใจ อย่างที่ทราบมามีอยู่หนึ่งตัว คือที่จังหวัดนครสวรรค์ ที่อ่างเก็บน้ำแม่วง เท่าที่รู้ในพื้นที่ที่สร้างก็ไม่มีประชาชนอยู่อาศัย เพียงแต่ขัดแย้งกันในเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
ถ้าตั้งกระทรวงน้ำขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะเหมาะสมหรือไม่
จะเป็นกระทรวงหรือไม่เป็นกระทรวงก็ให้เป็นไปตามนโยบายกำหนด การทำงานสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การบูรณาการ แต่เรากลับพูดแต่เพียงทฤษฏี ปัญหาอยู่ตรงนี้ ว่าการปฏิบัติจริงทำจริงได้หารือกันอย่างเป็นระบบการบูรณาการหรือไม่ แม้แต่เป็นกระทรวง ถ้าแต่ละคนต่างคนต่างใหญ่ ก็มีปัญหา ฉะนั้นผมว่าประเด็นสำคัญคือคำว่าบูรณาจะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างไร
หลังจากที่เกิดอุทกภัยครั้งนี้ ถ้ารัฐบาลให้การแก้ไขจริงจัง ภาพที่เห็นในอนาคตจะเป็นอย่างไร
ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น เกิดจากปัญหาหลายจุดพร้อมกัน ผมไม่อยากไปรื้อฟื้นอีก การบริหารจัดการน้ำถือว่าสำคัญสุด ตรงนี้เป็นบทเรียนที่สำคัญ ในปีต่อไปต้องนำบทเรียนดังกล่าวมาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการที่ดี แน่นอนว่าปีหน้าจะไม่เกิดน้ำท่วมหนักแบบครั้งนี้ ไม่ว่าพายุจะมากี่ลูกขอให้เราจัดการได้ดี และยอมสละในบางเรื่อง เราจะเอาทุกอย่างไม่ได้ แต่ถ้าเราบริหารจัดการที่ดีแล้วปัญหาน้อยลงแน่
โครงการระยะยาว อย่างเช่น การบริหารจัดการน้ำ 25 ลุ่มน้ำ ที่รัฐบาลจะนำมาสานต่อนั้นมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไร
ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นผลดี และทั้ง 25 ลุ่มน้ำมีทุกอย่างอยู่แล้ว แต่เราจะจัดการอย่างไร เพราะมีทั้งกรมชลประทาน มีกรมทรัพยากรน้ำ และมีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มันหลายหน่วยเกิน มีพร้อมเยอะแยะเกินไป จนกระทั่งบางที พูดตามตรงก็ต่างคนต่างความคิด ไม่อยากใช้คำว่าทะเลาะกัน ต่างมีความคิดเห็น ก็ไม่คุยกันต่างคนต่างทำว่ากันไป ผมคิดว่าแนวทางที่พูดกันจะทำอย่างไรในทางปฏิบัติ มากกว่ามาคุยมาโม้กันอยู่ข้างนอก ถ้าหากทำได้จริงอย่างที่พูดไว้ก็ดี มีคณะกรรมการแล้วทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็ต้องมาคิดว่าจะแอคชั่นอย่างไรต่อ ปีนี้เร่งด่วนอะไรจัดลำดับให้ความสำคัญก่อนหลัง ต้องมีคนกล้าที่จะฟันธงที่จะทำ เวลาไปประชุมคนนั้นมีหลายอย่างนี้อย่างนั้นอย่างโน้นเสร็จแล้วก็กลับบ้าน มันก็ไม่เกิดผลอะไร
การที่รัฐบาลเชิญผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาดูภูมิประเทศของไทย และระดมความคิดแก้ไขปัญหา มีผลมากน้อยแค่ไหน
ผมไม่ทราบว่ามีความจำเป็นหรือไม่ แต่หากเรามองในภาพรวมแล้วก็เปิดใจให้กว้าง เพราะการที่มีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ อาจจะมีเทคโนโลยีพิเศษทันสมัยและเราก็ ฟังความคิดเห็นของเขาดูไปก็เป็นแนวทางที่ดี เพราะบางครั้งบางเรื่องประเทศไทยเราก็ไม่มี เราก็ศึกษาเรียนรู้ได้ ไม่ใช่ว่าเขาจะเก่งทั้งหมด ขณะเดียวกันการที่ต่างชาติมาเขาก็ต้องมาศึกษาภูมิประเทศภูมิสังคมไทยอย่างไร ถ้ามาจูนกันได้ดีก็ทำให้มาเกื้อหนุนกัน เราไม่ได้มองว่าไม่มีประโยชน์ มีประโยชน์ถ้าเราบริหารจัดการได้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่ๆ ผมว่ารับฟังกันได้ ผมว่าถ้าต่างชาติมาเป็นที่ปรึกษาให้เรามีองค์ความรู้และเทคโนโลยี ไม่ใช่มาศึกษารายละเอียด ผมว่าคนไทยรู้หมดแล้ว แต่มาเป็นที่ปรึกษาองค์ความรู้ที่เราไม่รู้น่าจะดี
ถ้าไม่เริ่มแก้ปัญหาเสียตั้งแต่ตอนนี้ ในอนาคตปัญาหาจะหนักกว่านี้ใช่หรือไม่
ใช่ครับ ผมเห็นใจผู้ถูกน้ำท่วม เขาถามว่าวันนี้เขาเพิ่งกลับไปในบ้านเสร็จแล้วบ้านพังเละเทะ ถามว่าวันนี้เขาจะซ่อมบ้านควรจะทำไหม ถ้าเขาทำตอนนี้ แล้วปีหน้ามันจะมาอีกไหม นี่น่าเห็นใจ เพราะไม่มีใครตอบได้ ซึ่งรัฐต้องรีบให้ความมั่นใจกับประชาชน รัฐต้องดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ อย่างไร เวลาน้ำมามากจะกระจายไปอย่างไร รัฐต้องแก้ไขต้นเหตุ เราต้องแก้ตั้งแต่ต้นน้ำ ไม่ใช่ให้น้ำมารวมกันที่นครสวรรค์แล้ว แบบนี้จะทำอย่างไร ปัญหาน้ำก็เหมือนกับปัญหารถยนต์เราจำเป็นต้องจัดจราจรน้ำให้เหมาะสม
ถ้าดูปัญหาจริงๆแล้วของเราน้อยกว่าประเทศญี่ปุ่นเยอะ แต่คนญี่ปุ่นเมื่อเขาเจอปัญหา เขามีวินัย มีกฏระเบียบ ทุกคนร่วมมือกันทำ แต่ของเรามาทะเลาะกันน่าเสียดาย ดูจากข่าวประชาชน ชาวบ้านด้วยกันเองก็ยังทะเลาะกัน เกี่ยงกันรับปัญหา