กม.เพื่อคนรากหญ้าเสียงจาก“สุนี ไชยรส”คณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย
หนึ่งในสาเหตุความเหลื่อมล้ำทางสังคม การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและไม่สอดคล้องกับ สังคมปัจจุบัน
ชาวบ้านในพังงา พัทลุง นครศรีธรรมราช อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่มานาน กระทั่งเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดประกาศเขตทับที่ พวกเขาจึงถูกกฏหมายขีดเส้นให้เป็นผู้บุกรุกป่า ถูกกดดันขับไล่ออกจากพื้นที่ กระทั่งกลายเป็นผู้ต้องหาคดีทำให้โลกร้อน เช่นเดียวกับชาวบ้านอีสาน ที่ยังคงเดือดร้อนจากปัญหาการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับที่อยู่ อาศัย-ที่ดินทำกิน
สารเคมีรั่วไหลในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆซ้ำแล้วซ้ำ เล่า… รัฐบาลอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อชุมชน….นายทุนอาศัยช่องว่าง กฏหมายหมกเม็ดออกโฉนดชุมชน ฯลฯ
ปัญหาเหล่านี้แม้ต่างบริบทกันไป แต่ล้วนเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มีสาเหตุร่วมอันหนึ่งมาจากการกฏหมาย ที่ไม่เป็นธรรมและการบังคับใช้ที่ไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐ การเข้าชื่อเสนอกฏหมายจากภาคประชาชน ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากภาครัฐเท่าที่ควร เห็นได้จากหลายฉบับที่ต้องตกไปในขั้นการพิจารณาของรัฐสภา
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) เกิดกขึ้นตามมาตรา 81(3)ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ระบุว่า “รัฐ ต้องจัดให้มีกฎหมายเพื่อการจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายที่ดำเนินการ เป็นอิสระเพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนั้นประกอบด้วย”
………………………………….
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์ สุนี ไชยรส รองประธาน คปก. องค์กรที่เป็นความหวังว่าจะเข้ามาช่วยสร้างสรรค์ให้กฏหมายไทยพัฒนาขึ้นจน สามารถทำหน้าที่สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้
ความเป็นมาคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.)
คปก.เป็นองค์กร อิสระมีกรรมการ 11 คน เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้มีการพัฒนากฎหมายให้เป็นธรรม สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญทั้งระบบ และที่สำคัญต้องคำนึงการมีส่วนร่วมของประชาชน มีภารกิจพัฒนาองค์ความรู้ สนับสนุนงานวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนากฎหมาย สิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องก็คือกฎหมายที่ยังคงค้างอยู่ในสภาที่มากกว่า 200 ฉบับ ขณะที่ในส่วนของกรรมการปฏิรูปแม้จะมีเวลาดูไม่มากนักแต่ก็พยายามดูกฎหมาย สำคัญๆที่เข้าชื่อโดยภาคประชาชนทั้งหมด
ร่างกฎหมายเร่งด่วน ที่มีการเสนอไปคือร่างกฎหมายองค์กรอิสระสิ่งแวดล้อมฯ ร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับคนพิการ ร่างกฎหมายภาษีที่ดิน โดยเฉพาะกฎหมายสิ่งแวดล้อมฯ ตรงนี้สำคัญมากเพราะว่ารัฐบาลมีโครงการเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนน สร้างเขื่อน สร้างอะไรสารพัด ซึ่งความจริงกฎหมายนี้ควรจะออกตั้งแต่ปี40 และป่านนี้ยังไม่ได้ออก ทำให้ผลกระทบความขัดแย้งเกิดขึ้นกับชาวบ้านรุนแรงเป็นระยะๆ ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัว ตรงนี้ก็เป็นหน้าที่หลักของกรรมการปฏิรูปคือต้องสนับสนุนกฎหมายที่เข้าชื่อ โดยภาคประชาชน เราก็จะได้เข้าไปร่วมทำงานกับภาคประชาชนด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ สนับสนุนระเบียบโดยตรงว่าจะร่างยังไงจะเปิดเวทีรับฟังยังไง
ขณะที่กฎหมายที่ตกไปและกลุ่มองค์กรผู้หญิงกำลังล่ารายชื่อก็คือกฎหมายส่ง เสริมบทบาทและความเท่าเทียมระหว่างเพศ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องเร่งด่วนเช่นเดียวกันที่จะต้องผลักดันให้กลับเข้าไป พิจารณาในสภาอีกครั้ง
“นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่มีปัญหากับคณะ กรรมการสิทธิ์ที่กฤษฎีกานำไปแก้แบบยับเยิน ทำให้กรรมสิทธิ์ถูกกำจัดบทบาทลง กรรมการปฏิรูปไม่เห็นด้วยขอไม่ให้รับรองแต่รัฐบาลรับรอง ซึ่งมีการประชุมกันในคณะกรรมการปฏิรูปฯว่าจะมีการเสนอใหม่ โดยกฎหมายที่เข้าสภาจะเอากลับหมดทุกฉบับมาดูกันอีกทีค่อยเสนอใหม่ เช่น กฎหมายผู้เสียหายทางการแพทย์ อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่มากที่จะต้องมีการดำเนินการไม่ให้มีความขัดแย้ง รุนแรง ตรงนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของเราว่าก่อนที่จะมีการนำเสนอความเห็นต่างๆ อาจจะต้องมีการจัดเวทีระดมความเห็นหรือการทำวิจัยเพิ่มเติมเพื่อนำไปสู่ข้อ เสนอต่อรัฐบาลต่อไป”
กฎหมายล้าหลังนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง
กฎหมายหากตีความ ไม่เหมือนกัน การวินิจฉัยก็ต่างกัน ศาลตีความไปอย่างหนึ่ง กฤษฎีกาตีความไปอย่างหนึ่ง ประชาชนตีความไปอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นกระบวนการวินิจฉัยก็มีปัญหา ตลอดต้นทางตั้งแต่ร่าง ติดตาม บังคับใช้ จนถึงขั้นตอนวินิจฉัย ตรงนี้ก็คือหนึ่งในยุทธศาสตร์ของกรรมการปฏิรูป โดยยุทธศาสตร์หลักก็คือทำกฎหมายให้เป็นธรรมและทันสถานการณ์ มีกฎหมายที่ควรถูกยกเลิกไปเยอะแยะแต่ไม่ถูกยกเลิก วันดีคืนดีก็ถูกนำขึ้นมาบังคับใช้ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน
“กฎหมายบางฉบับที่จำเป็นต้องนำมาแก้ไข หรือสร้างใหม่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เช่น กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ หรือแม้แต่กฎหมายประกันสังคม ต่างๆเหล่านี้หากมองในภาพรวมจริงๆ การออกมาบังคับใช้ก็ยังไม่ได้มีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียชัดเจน หรือกฎหมายผู้เสียหายทางการแพทย์ คือไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญยังล้าหลังอยู่ ก็ต้องออกใหม่เพื่อให้มีความคุ้มครองแก่ผู้เดือดร้อนที่ชัดเจนขึ้น ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นลักษณะนี้ทำให้คนจำนวนมากเข้าไม่ถึงกระบวนการ ยุติธรรม”
สิ่ง ที่คาดหวังอยากเห็นเป็นรูปธรรมคือการพัฒนาองค์ความรู้ การสร้างฐานความรู้ที่มาจากความร่วมมือกับภาคประชาชนอย่างแท้จริง ความไม่เป็นธรรม นำมาซึ่งปัญหาตามมากมาย ในอนาคตอยากให้มีรายการโทรทัศน์ที่เป็นช่องกฎหมาย เพื่อใช้เป็นช่องทางการนำเสนอปัญหา การแสดงความคิดเห็น นำข้อกฎหมายมาถกกันให้เห็น ถกกันให้รู้เลยว่ากฎหมายฉบับไหนอยู่ในคิวที่ต้องพูดที่ต้องติดตาม ประชาชนจะได้รับรู้ว่ามีกฎหมายอะไรบ้างที่ต้องนำเข้าสภา
“รัฐบาลต้องเปิดใจให้กว้างว่าตอนนี้มีชาว บ้านเขาเสนอปัญหากฎหมายอะไรบ้างที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะฉะนั้นเริ่มต้นง่ายๆก็คือกฎหมายที่ชาวบ้านกำลังเร่งเข้าชื่อ รัฐบาลควรเร่งรัดผ่านกฎหมายเข้าชื่อให้ได้ก่อน อันนี้เรื่องง่ายสุด คือกฎหมายเข้าชื่อต้องแก้ไขเพื่อให้ชาวบ้านได้ทำงานง่ายขึ้น เมื่อกฎหมายเข้าชื่อเข้าสภาแล้ว รัฐบาลก็ควรเร่งรัดเข้าวาระให้เร็ว อย่านำไปแช่แป้งหรือเอาไว้ในอันดับท้ายๆไม่ได้เข้าสภาเสียที ตรงนี้รัฐบาลต้องทำเป็นตัวอย่างให้เห็นว่ามีความจริงใจ”
……………………………….
“ถ้าเป็นไป ได้ก่อนจะร่าง ก่อนจะนำเสนอควรรับฟังความเห็นภาคประชาชน และรัฐบาลควรสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปฯเพราะว่าเราไม่มีผล ประโยชน์อื่นใด นอกจากมาช่วยกันมองปัญหาในกฎหมายที่ล้าหลัง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันทุกภาคส่วนต่อไป”
สุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฏหมายทิ้งท้าย.
....................................................
(ล้อมกรอบ)
รายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
1.ศาตรจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการ
2.นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการ
3.นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย
4.นายสมชาย หอมละออ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย
5.นายสุขุมพงษ์ โง่นคำ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย
6.ศาสตราจารย์ ดร.เสาวนีย์ อัศวโรจน์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย
7.รองศาสตราจารย์ ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย
8.นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย
9.รองศาศตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย
10.นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย
11.รองศาสตราจารย์วิระดา สมสวัสดิ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย