"พลตรี อัคร ทิพโรจน์" กับโจทย์ใหม่ กอ.รมน. "ทหารผูกปากถุงคุมดับไฟใต้"
พลตรี อัคร ทิพโรจน์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (รอง ผอ.รมน.ภาค 4 สน.) ในฐานะโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงถึงร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับใหม่ ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยชี้แจงว่าโครงสร้าง กอ.รมน. ที่จัดคณะกรรมการฯ 3 ชุดในการบริหารจัดการ เป็นการบูรณาการแผนงานของกระทรวง เพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่การยกอำนาจให้ทหารกลับเข้ามาคุมอำนาจเบ็ดเสร็จในพื้นที่ตามข้อวิจารณ์ของหลายฝ่าย
– ร่างคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับโครงสร้างใหม่ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร
หลังจากที่ พรบ.ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ประกาศใช้ ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) ก็ขึ้นการควบคุมบังคับบัญชากับสำนักนายกรัฐมนตรีเลย ไม่ผ่าน กอ.รมน. ภาค 4 ตอนนั้นเป็นการเสนอจาก นายวินัย เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ทำให้การพิจารณาแผนเงิน แผนคน ทำได้โดยอิสระขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี แต่มาวันนี้สิ่งที่เปลี่ยนแปลง เป็นผลจากการที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลงพื้นที่รวมรวมข้อมูลและเห็นว่าควรจะปรับการบริหารให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาจึงได้นำเรียนนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน. จากนั้นจึงนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา มีมติว่ากำหนดให้มีการบูรณาการแผนงาน แผนงาน แผนคน ในกรอบของการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ทั้ง 19 กระทรวง 11 หน่วยงานที่ทำอยู่ โดยตั้งสมมุติฐานจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ให้มายืนอยู่ในกรอบยุทธศาสตร์ และ กรอบยุทธวิธีเดียวกัน โดยการบริหารจัดการระดับยุทธศาสตร์ มี พล.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะทำงาน โดยวิธีการบริหารจัดการในส่วนบูรณาการจะเป็นสำนักงานหรือคณะกรรมการฯ ซึ่งที่เตรียมไว้ คือ คณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (นชต.) ในคณะกรรมการฯ นี้จะมีสำนักงานเลขานุการ นชต. ขึ้นตรงกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ส่วนนี้คือบอร์ดข้างบน โดยเลขาธิการ ศอ.บต.เดิมจะอยู่ในกรอบยุทธศาสตร์จในส่วนตรงกลาง
ในระดับพื้นที่ได้มอบหมายให้ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธาน และ บูรณาการ 19 กระทรวง 11 หน่วยงาน ที่มีแผนงาน แผนงาน แผนคน ลงมาทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้วัตถุประสงค์เดียวกัน คือ ให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดเรียกว่าคณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กบ.ชต.) โดย กบ.ชต. จะดำเนินการในลักษณะเดียวกัน เหมือนสำนักเลขาฯ แต่จะมีหน่วยที่รับผิดชอบจากกระทรวง ทบวง กรม ส่งตัวแทนมาเป็นคณะทำงาน เรียกว่าศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบก.จชต.) ในนี้ก็จะมีข้าราชการใน ศอ.บต. มาเป็นคณะทำงานร่วมด้วย เพราะฉะนั้น จะมีทุกกระทรวงในนั้น
สิ่งที่สำคัญคือการทำให้ งาน เงิน คน ของแต่ละกระทรวง ทำงานให้ประสานสอดคล้องกัน โดยใช้กรอบยุทธศาสตร์ของ กอ.รมน.เป็นตัวขับเคลื่อน คือ 1.เสริมสร้างความเข้าใจ 2.พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 3.สิทธิมนุษยชน 4.การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อน 5.การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 6.การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งการแก้ไขปัญหายาเสพติด กอ.รมน. มีโครงการญาลันนันบารู กระทรวงสาธารณสุข มีโครงการมัสยิด ชุมชน ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด กระทรวงพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์มีโครงการให้เยาวชนได้รับการศึกษา หากเรานำทั้งหมดมารวมกลุ่มกัน ก็จะดูแลประชาชนได้อย่างครบวงจร และ ก็สอดคล้องกันในพื้นที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกัน ประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการรวมตรงนี้ แต่เงิน แผนงาน คน ก็ยังอยู่ภายใต้การปกครองของหน่วยราชการเหมือนเดิม ตอนนี้โครงสร้างอยู่ขั้นตอนที่ได้ข้อยุติจากการสัมมนา ยังไม่ใช่คำสั่งสำนักนายกฯ
- ดูเหมือนกระทรวง ทบวง กรม หรือแม้กระทั่งกลุ่มในพื้นที่อย่างสภาที่ปรึกษา ศอ.บต.ก็มีท่าทีไม่เห็นด้วย
ที่สภาที่ปรึกษาฯ เขากังวล คือเรื่อง อำนาจตาม พรบ.ศอ.บต. กับอำนาจตามคำสั่งสำนักนายกฯ หรือห่วงเรื่องทหารมีอำนาจ ซึ่งผมอยากเรียนว่า คำว่าทหารมีอำนาจนั้น หมายความว่า ทหารรวมการ แต่สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจกับเขาคือ ตรงนี้เป็นพื้นที่พิเศษ การบริหารแก้ไขปัญหาต่างให้รอดพ้นไป ต้องระดมสรรพกำลัง ทรัพยากร ในลักษณะผนึกกำลัง เหมือนเป็นการดำเนินการภายใต้วิกฤติ เมื่อทุกอย่างคลี่คลายไปแล้ว ก็เข้าไปสู่รูปแบบปกติ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พยายามอธิบาย ที่พูดเรื่อแท่งของกระทรวง ทบวง กรม อำเภอ จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งรัฐบาลอนุมัติงบประมาณเป็นประจำทุกปี ใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะมีอัตราส่วนประมาณ 50 % ของงบประมาณทั้งหมดที่แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัว ศอ.บต. และ กอ.รมน. เองก็มีงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะฉะนั้น จึงตัวงบประมาณในการแก้ไขปัญหาเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน โดยทั้งสามแท่ง คือ ส่วนกระทรวง ศอ.บต.และ กอ.รมน. ก็มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าหน่วยปฏิบัติ และ หน่วยสนับสนุน ถือเป็นการทำงานในแง่ทางพฤตินัย และ นิตินัย และ ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
ถ้าทำอย่างเดิมแล้วไม่ได้ผล ก็ควรจะหาวิธีการหรือการปรับเปลี่ยน ให้ได้ผล ตรงตามความต้องการของประชาชน ภายใต้การบูรณาการตรงนี้ แม่ทัพภาคที่ 4 ก็พยายามเดินสายทำความเข้าใจกับ ศอ.บต, และ ทางตำรวจ ทุกคนก็เห็นด้วย เมื่อวันที่ 18-19 ตุลาคม ก็คุยกับตัวแทนทุกกระทรวง ทุกคนก็เห็นด้วย แต่รายละเอียดปลีกย่อย ในเรื่องการเอางาน แผนงาน คน มารวมกันในเวลาที่ต้องการ อาจจะเป็นอุปสรรค แต่ละกระทรวงอาจได้รับงบประมาณที่ไม่ตรงกัน บางกระทรวงเอาแผนนี้เอาไว้ไตรมาสแรก บางกระทรวงเอาไว้ไตรมาสสุดท้าย ก็ปรับรวมให้บูรณาการร่วมกัน เช่น การแก้ไขปัญหาแทรกซ้อน เกิดคำถามว่าทำไมทหารต้องไปทำอะไรมากมายขนาดนั้น ใช่หน้าที่ของทหารหรือเปล่า เช่น จับน้ำมันเถื่อน ยาเสพติด ก็ต้องมาถกแถลงกันว่า เมื่อทหารได้ข่าวมา เราจะให้หน่วยงานใดทำต่อได้บ้าง ในการเข้าไปจับกุม ดำเนินคดี เพื่อครบวงจรไป หรือกรณีที่ทหารเปิดศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงของ กอ.รมน.ภาค 4 พอเรียนรู้ไปแล้วกลับไปกลับไป กระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ฯ ต้องรับไม้ต่อให้เกิดความถาวร เป็นต้น เราอบรมเยาวชน มีเครือข่ายมากมาย มีโครงการทำดีมีอาชีพ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างถาวร เพราะว่าแท้จริงแล้วเยาวชนเหล่านี้ต้องได้รับการดูแลจากกระทรวงพัฒนาสังคม และ ความมั่นคงของมนุษย์
ทั้งนี้ "บอร์ดตัวกลาง และ ตัวล่างจะเป็นคนชี้งาน บอร์ดตัวบนจะชี้การปรับแผน ถ่ายโอน ขยับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และ พื้นที่ ไม่ใช่ไปแย่งลูกค้ากัน" ที่ผ่านมา ผู้ใหญ่บ้าน จะคัดคนไปอบรม ก็ต้องคัดคนไปอบรมทุกกระทรวง เพราะมีโครงการคล้ายกัน เมื่อมีบอร์ดตรงนี้ก็จะไม่ซ้ำซ้อน ก็มารวมกัน หรือปรับแผนให้ครบวงจร เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติเห็นด้วยมากๆ เพราะเมื่อเข้ามาอยู่ในกรอบ ของ กอ.รมน. เขาจะมีอำนาจหน้าที่ มีสิทธิ กำลังพล โดยภาพรวมของ พรบ.ความมั่นคงฯ คือ พลเรือน ตำรวจ ทหาร ปัจจุบันจะเป็นทหารจำนวนมาก เมื่อพิจารณาผลงานหน่วยต้นสังกัดก็จะโอนมาให้ กอ.รมน. ประเมิน เพราะเขาไม่ได้ทำผลงานให้หน่วยเลย แต่โครงสร้างใหม่ที่มีข้อตกลงร่วม คนที่มาทำงานในร่มของ กอ.รมน. คือคนที่ทำงานให้กระทรวง ภายใต้กรอบงบประมาณของกระทรวง เจ้าภาพคือ กอ.รมน.
ถูกมองว่า กลับไปสู่แบบเดิม ที่ทหารมีอำนาจ ภายใต้โครงสร้าง กอ.รมน.
"เขาวิตกภาพในอนาคต เกรงว่าจะถูกผูกปากถุง แบบ วันแมน หรือ วันสต็อปเซอร์วิส ก็ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจ เมื่อได้ข้อยุติแล้วเราก็ต้องทำความเข้าใจกับสาธารณะ ให้สภาที่ปรึกษา ศอ.บต.ซักไซ้ไล่เลียง และ ผู้แทนแต่ละกระทรวงเขาก็ต้องมาชี้แจงว่า สิ่งที่ท่านวิตกนั้น เราเห็นมุมที่ร่วมกันว่าตรงนี้เป็นพื้นที่พิเศษ มีวัตถุประสงค์ปลายทางเดียวกัน จะทำอย่างไรให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด และเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย งาน กอ.รมน.ลดบทบาทลง เจ้ากระทรวงก็ต้องมารับผิดชอบต่อ เพราะฉะนั้นก็ให้เขามารับผิดชอบตั้งแต่เริ่มต้นเลย แต่ละกระทรวงก็พยายามทำให้สถานะประชาชนเข้มแข็งอยู่"
ก่อนจะปรับเปลี่ยนโครงสร้าง งานด้านการพัฒนา กับ งานด้านการดูแลรักษาความไม่สงบ มีสัดส่วนอย่างไร
ดูจากตัวเลขงบประมาณของ 19 กระทรวง ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ของ กอ.รมน. 6.3หมื่นล้านบาท เพราะฉะนั้น ตัวเลขของความมั่นคงจะมี ศอ.บต.เสริมมาด้วย ก็ประมาณ 1.4 หมื่นล้าน ตัวเลขของงบประมาณความมั่นคงจะอยู่ในลักษณะ 4 ส่วน ต่อ 6 ส่วน ตอนนี้งานเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยยังเป็นหลัก การจัดกำลังใน กอ.รมน.ที่มีอยู่ 6 หมื่นกว่าอัตราจากทุกกระทรวง แต่เจ้าหน้าที่หลักของทหารมีประมาณ 3 หมื่นกว่า ตำรวจประมาณ 2 หมื่น ทหารอากาศ ทหารเรือ พลเรือน ประมาณ 1 หมื่นกว่านาย ทั้งกำลังหลัก และ กำลังสนับสนุน จากตัวเลขนี้เราดูแลคนเกือบ 2 ล้านคน ใน 37 อำเภอ กำลังที่จะสู้กับโจรจะเป็นลักษณะ ทรีอินวัน อยู่ในนั้น ฉก.หมายเลขสองตัวที่อยู่ในอำเภอต่ไม่ได้ทำหน้าที่ปราบปราม ผู้ก่อเหตุรุนแรงอย่างเดียว แต่ต้องดูแล คุ้มครอง บุคคล สถานที่ ครู พระ โรงเรียน รถไฟ เขื่อน สาธารณูปโภค พร้อมทำงานมวลชน เป็นเหมือนผู้ใหญ่บ้าน
"มุมที่เรามองคือ ผลที่ประชาชนได้รับ แต่สิ่งที่คนมองเป็นมุมเรื่องการบริหาร แต่เรามองถึงผลที่จะออกมา ซึ่งในอดีตจะบอกเราว่า เหมือนเราใส่ปุ๋ย พรวนดิน ก็แล้ว ทำไมไม่ออกดอกซะที มันทำไปตั้งเยอะ ทำไมตัวเลข สถิติ ไม่บ่งชี้ ซึ่งตัวเลข สถิติ มันเป็นตัวเลขที่เป็นสากล แน่นอนว่า feeling ความรู้สึกของประชาชน ที่นิยมศรัทธาเจ้าหน้าที่มีมากขึ้น แต่มันไม่มีตัวเลขออกมา" ก็ไปดูการชี้วัดจากภาพที่ปรากฏที่ไม่มีประชาชนต่อต้าน มีการร่วมกิจกรรม งานต่างๆ มากขึ้น มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น เช่นอาคารพาณิชย์ โชว์รูม รถป้ายแดง บ้านจัดสรร มากขึ้น ราคายางพารา ดีขึ้น ร้านสะดวกซื้อเปิดมากขึ้น บิ๊กซีขายดีที่สุด ความพึงพอใจเจ้าหน้าที่มีมากขึ้น เวลาไปสื่อกับสาธารณชนก็จะยกสถิติว่า 4ปี ตายเท่าไหร่ ตัวเลขพวกนั้นทำความเข้าใจกับสังคมได้ เราก็ต้องมาดูว่าทำอย่างไรให้สอดคล้องกัน ให้เห็นมุมบวก สิ่งบ่งชี้ได้ว่าด้านดีก็มี
- โครงสร้างนี้เอื้ออำนวยต่องานด้านทหารหรือไม่
"ถ้ามองในจุดที่เรามอง ก็จะมีจุดร่วมว่าถ้าประชาชนเข้มแข็ง ผู้ก่อความรุนแรงก็จะเคลื่อนไหวไม่ได้ ก็จะกลายพันธ์ไป ประชาชนเข้มแข็งคือการมาสนใจพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา การค้าขาย คือไม่ต้องไปต่อต้านโจร เมื่อประชาชนมีการพัฒนาศักยภาพ ชุมชนเข้มแข็งขึ้น ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบลดลง เพราะคนพวกนี้คือลูกหลาน คนในพื้นที่ทั้งนั้น มันอยู่ในเนื้อเดียวกัน ถ้าแอนตี้บอดี้มันทำงาน เนื้อร้ายมันก็ชะลอตัว ทุกคนที่เราจับได้ ไม่ว่าจะจับเป็น หรือ จับตาย มีบัตรประชาชน มีคนมาเยี่ยมทั้งนั้น" เพราะฉะนั้นนโยบายสานใจสู่สันติ ที่แม่ทัพภาคที่ 4 ที่เอาคนกลับบ้าน ได้ใจคนบริสุทธิ์ด้วย และญาติพี่น้องด้วย เราไม่ได้อยากปะทะ หรืออยากจะได้ศพเลย รวมถึงโครงการเอาคนกลับบ้าน ของศูนย์สันติสุข กำลังแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ มีคนให้ความร่วมมือ เมื่อมีการอบรม ก็ไปบอกต่อ และ ต่อยอดให้คนข้างนอก ปีที่แล้ว 10 รุ่น 2,000 คน ทำให้เรารู้ตัวเลขของผู้อยู่เบื้องหลังคนก่อเหตุ ของระดับนำ ระดับปฏิบัติการ มีประวัติ ตัวอย่างดีเอ็นเอ เก็บไว้ เราคิดว่าเราเข้าถึงแก่นแกนของกลุ่มก้อนของผู้อยู่เบื้องหลังการก่อความไม่สงบระดับหนึ่งแล้ว และ เขาก็ชี้ให้เห็นว่า ถ้าประชาชนไม่ฟังเขา เขาก็อยู่ไม่ได้
– มีแนวคิดว่ากลุ่มที่มามอบและให้ความร่วมมือกับทางการไม่ใช่ตัวจริง เพราะขบวนการตัดตอนจำหน่ายคนพวกนี้ออกไปแล้ว
ถ้าคลุกในวงในจะเห็นได้เลยว่าความเชื่อมโยง หรือ ความถึงกันของกลุ่มที่ทำร้ายประชาชน เวลานี้กับกลุ่มที่อยู่ในอินเตอร์เน็ต ไปคนละทาง และไม่สามารถบังคับวิถีคนที่ทำร้ายประชาชนอยู่ได้ ทั้งสองกลุ่มคือ พูโล กับ บีอาร์เอ็น –โคออร์ดิเนท มีความเห็นไม่ตรงกัน ถ้าแนวโน้มหรือท่าทีของกลุ่มที่เคลื่อนไหวในอินเตอร์เน็ตออกมาบอกว่าจะทำอะไร กลุ่มที่กำลังทำร้ายประชาชน หรือ ยิงชาวบ้านอยู่ ก็จะลดบทบาท ปรับเปลี่ยนท่าทีทันที และแต่ละจังหวัดก็จะไม่ผูกพันกัน ทุกคนจะมีหัวหน้าที่มองไม่เห็นตัวเหมือนกัน ขณะนี้งานการทหาร และ งานข่าวกรองคืบหน้าไปมาก พิสูจน์ทราบคนที่อยู่ในความมืดได้เค้าลางมากพอสมควร ในการที่จะดำเนินการกับเขา เราต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายเท่านั้น ถ้าหลักฐานไม่ชัดเจน จับไม่มั่น คั้นไม่ตาย เอาแค่คนสารภาพไปชี้ตัว เราทำอะไรเขาไม่ได้เลย สิ่งที่ กอ.รมน.อยากได้คือเอาคนดีไปดูแลหน่อย เราจะได้จัดการกับคนร้าย ปลาสองน้ำได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อมีการมามอบตัว แผนกผลิตก็ไปจัดตั้งขึ้นมาใหม่ ซึ่งระบบผลิต จัดตั้งใหม่ เราก็ต้องไปสกัดแหล่งตรงนั้น เราก็ฝากความหวังกับกระทรวง ทบวง ช่วยไปสร้างภูมิคุ้มกัน มันจะได้ขาดจากกัน
- แนวคิดแบบนี้ถือเป็นการเปลี่ยนรูป แนวทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้หรือไม่
"น่าจะเรียกว่าแนวคิดเสริมสร้างความมั่นคง คือไม่ใช่การแก้ไขปัญหา เพราะปัญหาเราควบคุมได้แล้ว ตีโจทย์แตกหมดแล้ว ภาพในอดีตที่เป็นปัญหาเพราะเราอ่านโจทย์ ตีโจทย์ไม่แตก ตรงนี้เราอาจเรียกได้ว่าเป็นการบูรณาการตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อยากเปรียบเทียบว่า เทคนิคการเล่นกีฬาฟุตบอล เราก็ต้องวิเคราะห์ว่าทำไมทีมนี้ยิงฟุตบอลไม่ได้สักที คนของเราก็วิ่งจังเลย เราแก้ไขตรงนี้ว่า เพิ่มน้ำหนักไปที่หน้าประตู ลดจำนวนกองหลังลง เพิ่มกองกลาง เพิ่มกองหน้า เป็นเรื่องกุศโลบาย ในการนำสันติสุขเข้าสู่พื้นที่ เป็นกลยุทธ์ในการเสริมสร้างสันติสุขมิติใหม่"
- ขั้นตอนจากประกาศสำนักนายกฯ ไปสู่การปฏิบัติ
เฟสแรก 3 เดือน เป็นการปรับความเข้าใจให้เกิดตะกอนความคิดเดียวกัน โดยดูว่ากระทรวง ทบวง กรม ใดที่เราต้องทำความเข้าใจ ใครเป็นเจ้าภาพ หรือ หน่วยงานหลัก อีกทั้งจะได้หน่วยที่ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงโครงสร้างนี้ เช่น กรมประชาสัมพันธ์เป็นเจ้าภาพ ข้อมูลแต่ละกระทรวงจะมารวมอยู่ตรงนี้ โดยงานประชาสัมพันธ์ของทุกกระทรวงก็จะทำของตัวเอง และ ก็มารวมอยู่ตรงนี้ ดังนั้น จึงแบ่งเป็น 2 มิติ โดย 1.เป็นมิติที่เป็นภาคปกติ ทุกกระทรวงมีผลงานหมด คุณต้องทำ เมื่อต้องถึงห้วงเวลา 2.มิติประชาสัมพันธ์ในภาวะวิกฤติ เมื่อพบว่าหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพ ก็จะชี้แจงยุทธศาสตร์กับประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ ประชาชนในประเทศ ประชาคมโลก กันอย่างไร ทุกคนก็จะมีบทบาทหน้าที่ แต่ละคนก็มีงบประมาณของแต่ละหน่วยอยู่แล้ว ก็เอางานมาผูกรวมกันเป็นไม้ไผ่มัดเดียว และทำไปในห้วงเวลาเดียวกัน
- ดูเหมือนเอาอำนาจ และ งบประมาณ ของ กระทรวงกลับมาอยู่ที่ กอ.รมน. เหมือนก่อนช่วงที่จะมี พรบ.ศอ.บต.
งบประมาณที่ได้รับมีอยู่แล้ว คณะทำงานก็จะคลี่แผนภูมิงบประมาณ ของแผนงานและก็เจ้าหน้าที่เอามาร่อนตะแกรง ก็จะได้เนื้องานออกมาว่า งานบริหารทรัพยากรมนุษย์ การเสริมสร้างความเข้าใจ การแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อน งานการมีส่วนร่วม อยู่ตรงไหน เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน วิธีการทำงานก็ต้องเปลี่ยน เหมือนหมอรักษาคนไข้ เมื่อรักษามาระดับหนึ่ง คนไข้มีอาการป่วยอยู่ ก็ต้องเปลี่ยนยา เมื่อเปลี่ยนยา เปลี่ยนวิธีการ แล้วก็ต้องทำความเข้าใจกับญาติคนไข้ด้วยว่าเป็นยังไง เมื่อลองแล้วทำไม่ได้ ก็เปลี่ยนหมอ ไม่ใช่ไม่ยอมให้เปลี่ยนและให้คนไข้อยู่ในห้องอยู่อย่างนั้นด้วยความวิตกกังวล ความวิตกกังวลต้องเติมเต็มด้วยการเสริมสร้างความเข้าใจ ก็คงเป็นหน้าที่ของ กอ.รมน.ภาค 4 กับภาคส่วนต่างๆ โดยเร็ว หวังว่าประชาชนในพื้นที่จะได้ประโยชน์สูงสุด เพราะสถานการณ์แต่ละพื้นที่ไม่เท่ากันในเรื่องของความรุนแรง ประชาชนที่ไม่ได้รับความรุนแรงจะมีความสุข แต่เมื่อมีคนที่ทำให้เขาไม่มีความสุขเขาก็ไม่ตอบรับ พอมีคนทำให้เขาไม่มีความสุขปุ๊ป เขาก็ไม่ตอบรับ เมื่อไม่ตอบรับปุ๊ป ผู้ก่อความรุนแรงก็เข้าไม่ได้ เช่นที่ อ.แว้ง ประชาชนปฏิเสธเลย พอแอบเข้าไปก่อเหตุแต่ละครั้ง ก้จะรวมตัวแบบแข็งแรง มันก็เข้าไม่ได้ แต่ที่อ.รือเสาะ ประชาชนยังไม่รวมตัวกันต่อต้าน ก็แสดงว่าผู้ก่อเหตุรุนแรงยังมีอิทธิพลอต่อจิตใจและความคิดอยู่มาก เพราะฉะนั้น งานพัฒนาที่รือเสาะ ก็จะอยู่ในลำดับที่ 2 หรือ 3แต่ละพื้นที่ก็จะจัดยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันไป เราก็มาประมวลว่าแผนงานของแต่ละกระทรวงอยู่ในยุทธศาสตร์ข้อไหน แต่กรอบยุทธศาสตร์ 6 ประการนี้ เป็นดำริของนายกรัฐมนตรีว่าการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดน นอกจากยุทธศาสตร์พระราชทานแล้ว ให้ใช้ยุทธศาสตร์ของกอ.รมน.เป็นหลัก