ทีม 111 กุนซือวอรูมรัฐบาล กับจุดอ่อนศปภ.
งานช้างเข้าเต็มเปา สำหรับรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ปู1) ที่เข้ามาทำงานอย่างเป็นทางการได้ไม่ถึง 3 เดือน ก็เจอภัยพิบัติทางธรรมชาติเข้ามาทดสอบความสามารถ และภาวะความเป็นผู้นำรัฐบาล บททดสอบนี้ถือว่าเป็นงานหิน เพราะชีวิตประชาชนอยู่ในกำมือรัฐบาลที่ต้องแสดงวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหา และจัดระบบบริหารจัดการให้พ้นวิกฤตไปให้เร็วที่สุด แต่ในทางกลับกัน ขณะนี้ผลงานของรัฐบาลที่ออกมาคือ ประชาชนเกิดความสับสน รู้สึกว่า รัฐบาลไม่ใช่ที่พึ่ง ไม่สามารถเชื่อถือได้ เพราะประชาชนต้องสูญเสียชีวิตไปแล้วนับกว่า300ราย บ้างก็เสียหายหมดสิ้นเนื้อประดาตัว ลามไปถึงเศรษฐกิจระดับประเทศ
เป็นที่รู้กันดีว่ารัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้ง ที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะถูกหรือผิดจะปกปิด หรือเปิดเผย จึงยังไม่ถูกออกมาต่อต้านมากนัก แต่ถ้าถูกต่อต้านหรือตำหนิก็จะพบมากในสังคมโลกออนไลน์เท่านั้น ดังนั้นเมื่อหนทางการแก้ไขปัญหาเริ่มริบหรี่ แก้ไขได้เพียงปัญหาเฉพาะหน้า หรือทำได้เพียงแค่ตามล้างตามเช็ดปัญหาเท่านั้น รัฐบาลจึงต้องเร่งนำเอาความน่าเชื่อถือกลับคืนมา จนเป็นที่มาของทีมงานกุนซือ ที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด นั่นเหล่าบรรดาสมาชิกบ้าน 111 ,109 ในอดีตรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลไทยรักไทยและพลังประชาชน ที่ต้องรีบเข้ามาระดมความคิด ประสานงานในการช่วยเหลือ ถึงแม้คนเหล่านี้จะถูกคดีทางการเมือง แต่ผลงานพวกเขาที่ผ่านมาถือว่าเป็นที่ยอมรับของสังคมอยู่มิน้อย
สำหรับกุนซือ สมาชิกบ้านเลขที่ 111 ,109 ที่มีจิตอาสาช่วยมาช่วยพยุงรัฐบาลในการแก้ปัญหา อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ,คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ,นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตรมช. คมนาคม , นายวราเทพ รัตนากร อดีตรมช.คลัง ,พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิต ,พล.ต.ท.จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ ,นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตรมต.ประจำสำนักนายกฯ ,นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ , นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์, น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตโฆษกรัฐบาล, นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด และ นายผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตเลขานุการส่วนตัวพ.ต.ท.ทักษิณ
ก่อนหน้านี้ ทีมกุนซือ บ้าน 111และ 109 จะคอยให้การช่วยเหลือและการเป็นกำลังหนุนสำคัญและเป็นเบื้องหลังการทำงานหลักของรัฐบาลเพื่อไทยมาโดยตลอด ดังนั้นเมื่อบ้านเมืองเกิดวิกฤตจากภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งนี้ขึ้น ทีมกุนซือ จึงเข้ามาช่วยอยู่ใน ศปภ.(ตั้งเป็นศูนย์บัญชาการใหญ่) อย่างโดดเด่น โดยมีห้องทำงานที่แบ่งเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน ซึ่งห้องทำงานจะเป็นห้องที่ปรึกษารัฐมนตรี อยู่ชั้นสอง ในโซนวีไอพี ใกล้กับห้องนายกรัฐมนตรี
บทบาทกุนซือ สมาชิกบ้าน 111,109
แหล่งข่าวระดับสูงในหน่วยงาน ศปภ. เปิดเผยว่า กลุ่มสมาชิกบ้าน 111 ที่เข้ามาทำงานประกอบไปด้วย นายจาตุรนต์ เป็นหัวหน้าทีม คอยให้คำปรึกษาและสนับสนุนการตัดสินใจแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ และเข้ามาวิเคราะห์งานในภาพรวม แต่ก็ไม่ใช่สมองจริงในการแก้ไขปัญหาเนื่องจากปัญหาน้ำต้องใช้ความสามารถเฉพาะด้านที่จะแก้ไขปัญหา แต่การเข้ามาช่วยเหลือของบุคคลต่างๆเหล่านี้จะเข้ามาช่วยในด้านที่ตัวเองถนัดในการติดต่อประสานงานซะส่วนใหญ่
แหล่งข่าวสำทับเกี่ยวกับปัญหาระบบการทำงานภายใน ศปภ. ด้วยว่า การทำงานของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยค่อนข้างลำบากเพราะสายของพรรคเพื่อไทยไม่มีนักวิชาการหรือสมองที่ดูเรื่องน้ำโดยตรง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลจะไปหวังพึ่ง นายธีระ วงศ์สมุทร รวม. เกษตรและสหกรณ์ เพียงคนเดียว ซึ่งข้อมูลที่มีอยู่ก็ไม่ได้ทันสมัย และ ในส่วนของกลุ่มกรมชลประทานเองก็มีหลายพวก ดังนั้นรัฐบาลจึงยังไม่สามารถควบคุมได้ทั้งกรมชลฯ และตราบใดที่ต้อประเมินสถานการณ์ในการแก้ไขปัญหา จะยังไม่สามารถฟันธง หรือทุบโต๊ะเด็ดเดี่ยวในการแก้ไขได้ เพราะว่าถ้าทุบโต๊ะคนที่ไม่เห็นด้วย แล้วเขาวางเฉยไม่ทำงานด้วยจะไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้นการทำงานร่วมกันที่มีหลายกลุ่มหลายความคิดต้องประนีประนอม เพื่อให้ทุกคนทำงาน ดังนั้นเนื้องานที่อีกฝ่ายไม่เห็นด้วยก็อาจจะต้องเอาไว้เพื่อไม่ให้เกิดการทำงานที่เป็นสุญญากาศ โดยหวังผลสุดท้ายในภาพรวม ที่ให้ต่างคนต่างปรับกลยุทธ์การทำงานเข้าหากันคนละนิดคนละหน่อย แต่เราจะไปให้เขากลับหลังหันเลยไม่ได้ จะส่งผลกระทบต่องาน
แหล่งข่าวระบุอีกว่า งานที่ออกมาดูเหมือนว่าการบริหารยาก เพราะขณะนี้รัฐบาลก็ใหม่ ยังไม่สามารถที่จะแถวจัดระเบียบโยกย้ายคนของตัวเองไม่เข้าที่ แต่เกิดศึกมาก่อนที่จะระเบียบเสร็จ นอกจากนี้จะสังเกตได้จากกการทำงานระหว่าง รัฐบาลและกรุงเทพมหานคร ที่เป็นที่รู้ดีว่าคนละขั้ว การทำงานจึงแย้งกัน โดยต่างคนต่างทำ ผลที่ออกมาจึงไม่สอดคล้องกัน ซึ่งสุดท้ายผู้ที่รับผลกระทบคือประชาชน
น.ต.ศิธา ทิวารี ตัวแทน สมาชิกบ้าน 111 แจงรายละเอียดถึงวัตถุประสงค์ ที่เข้ามาทำงานภายใน ศปภ.กับ ทีมงานปฏิรูป ว่า การที่บ้านเมืองเกิดวิกฤตภัยพิบัติครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่ และเป็นเหตุการณ์ที่สูญเสียและเสียหายมากที่สุด เพราะน้ำได้ท่วมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจซะส่วนใหญ่ ทั้งโรงงานไฮเทค ต่างๆ ที่มีมูลค่ามหาศาล ดังนั้นนี่ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของบ้านเมืองที่ทุกคนต้องมาช่วย ซึ่งทุกคนเข้ามากันโดยมิได้นัดหมาย หรือถ้านัดหมายก็จะเป็นกลุ่มต่างๆที่สนิทกัน ชักชวนกันมา สำหรับวัตถุประสงค์ของสมาชิกบ้าน111ที่เข้ามาช่วยทำงานคือ ต้องการให้ทุกคนมาบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยต้องอาศัยใช้ความสามารถของแต่ละบุคคล ที่เคยมีความสัมพันธ์ สามารถประสานงานในด้านต่างๆจะต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์
บทบาทและหน้าที่ ที่ไม่ได้ใช้ตำแหน่งทางการเมือง
การแบ่งหน้าที่ไม่ได้ชัดเจนมากส่วนใหญ่จะทำงานร่วมด้วยกันมากกว่า เพราะ สมาชิก111 และ 109 เปรียบเหมือนประชาชนคนหนึ่งที่เห็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน แล้วอยากเข้ามาช่วยเหลือเท่านั้น ซึ่งเป็นแค่คนคนหนึ่งที่ไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงทางการเมือง ดังนั้นก็เหมือนอาสาสมัครหนึ่งคนที่จะเข้ามาช่วย เพียงแต่อาสาสมัครเหล่านี้เคยมีตำแหน่งทางการเมืองมาก่อน เคยบริหารบ้านเมืองมา เขาจึงถนัดเรื่องการประสานงานรู้จักบุคคล และมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นรอบด้าน จึงสามารถช่วงงานได้เยอะ และบทบาทในเบื้องต้นผมคิดว่าเป็นที่ปรึกษาหารือมากกว่า เพราะยังไม่มีการมอบบทบาทที่ชัดเจนจากใครทั้งสิ้น เพราะทุกคนอาสาสมัครเข้ามาช่วยโดยไม่มีตำแหน่ง หรืออำนาจสั่งการ และไม่ได้ใช้ตำแหน่งทางการเมืองเข้าไปก้าวก่ายเพราะเราไม่มีอยู่แล้ว
อุปสรรคในการทำงานของ ศปภ.กับรัฐบาลมือใหม่
เชื่อว่าการการทำงานช่วงแรกมีอุปสรรคบ้างอยู่แล้วและอาจจะขลุกขลักบ้าง และการแก้ไขปัญหาคือแก้แบบคนไทยที่มีจุดอ่อนในการทำงานที่เป็นระบบทำงานร่วมกัน ซึ่งเราอาจจะด้อยกว่าหลายประเทศ แต่เรื่องน้ำใจ จิตอาสา ผมเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่ชนะประเทศใดๆทั้งโลก เพราะฉะนั้นเมื่อทุกคนช่วยกันการบริหารจัดการช่วงแรกจะเป็นอย่างไร รูปแบบไหนก็ตาม สถานการณ์ก็จะผ่านพ้นไปได้
เปรียบเทียบ การทำงาน การแก้ไขปัญหาระหว่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับ สมัยรัฐบาลไทยรักไทย
การทำงานเรื่องน้ำสมัยนั้น เรามีการจัดสรรเรื่องน้ำ 2 ส่วนคือ น้ำท่วม และ การเตรียมน้ำเพื่อการเกษตร โดยนำลุ่มน้ำทั้งหมด 25 ลุ่มน้ำ โดยให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อมามาร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำให้ได้ และต่อมาเมื่อการเมืองเปลี่ยนไปเปลี่ยนมานโยบายก็เปลี่ยน ดังนั้นโครงการต่างๆจึงไม่สำเร็จเป็นรูปธรรม แต่ถ้าเรามีการเตรียมการที่ดี เหตุการณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะเบาลง และเหตุการณ์นี้จะต้องเป็นบทเรียน และเมื่อเกิดวิกฤตครั้งต่อไปการบริหารจัดการก็จะเร็วขึ้น ในขณะเดียวกันเราจะมองไปเรื่องของการแก้ปัญหาแบบยั่งยืนว่าจะทำอย่างไร อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าการทำงานบริหารจัดการน้ำท่วมของรัฐบาลขณะนี้ ถือว่าเป็นการบูรณาการที่ดีระดับหนึ่ง แต่ถ้ามีการเตรียมการอย่างดีกว่านี้ การระดมสรรพกำลังอาจไม่ต้องมากแบบนี้
คิดว่าการบริหารจัดการเรื่องน้ำของรัฐบาลขณะนี้เป็นอย่างไร
การบริหารจัดการน้ำก่อนที่รัฐบาลจะเข้ามา เราได้มีการพูดกันก่อนแล้วว่าถ้าเราชนะได้เป็นรัฐบาลปัญหาหนักที่เจอคือ ปัญหาน้ำ เพราะว่าไม่ได้มีการบริหารจัดการที่ดี โดยไม่มีการพร่องน้ำในเขื่อนไว้ก่อนเลย ทั้งที่รู้ว่าแล้วว่าต้องเกิดภาวะน้ำท่วม จนกระทั่งช่วงรอยต่อการเปลี่ยนรัฐบาลไม่มีการดำเนินการ พอถึงช่วงเวลาที่ฝนตกเกิดภาวะน้ำเยอะ เราจึงโดนบังคับให้ปล่อยน้ำ ขณะเดียวกันเราเองก็เข้าใจว่าเป็นการวัดดวงเพราะการพยากรณ์อากาศ เป็นเรื่องของความแม่นยำ ถ้าให้แม่น80-90เปอร์เซ็นต์อาจจะพยากรณ์ใช้เวลาภายใน 1-3วัน แต่ถ้า ช่วงเวลา 4-7 วันความแม่นยำจะลดลง เหลือ แค่ 70 เปอร์เซ็นต์ พอเกิน 7วัน อาจจะเหลือ 50 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อเกิน 2 สัปดาห์เราอาจจะวัดอะไรไม่ได้แล้ว ในทางกลับกันถ้ารัฐบาลที่แล้วตัดสินใจปล่อยน้ำไปแล้วฝนไม่ตก ก็จะกลายเป็นปัญหาภัยแล้ง ซึ่งก็หนักอีกเช่นเดียวกัน
แต่ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตามและจะเก่งขนาดไหน เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตกับบ้านเมืองแบบนี้ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายเรา หรือฝ่ายค้านมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเราก็เข้ามาช่วยอยู่แล้ว แต่ในลักษณะการช่วยคงไม่ใช่ ช่วยเพราะที่บอกว่ารัฐบาลไม่มีเราจึงเข้ามา มันไม่ใช่ เพราะจะกลายเป็นเรื่องการเมืองมาใช้ในช่วงวิกฤตมากกว่า และผมคิดว่าขณะนี้ถ้าฝ่ายค้านจะเข้ามาช่วย เราคิดว่าเป็นเรื่องที่ยินดี อยากจะเข้ามาช่วยก็มา อย่างตัวผู้นำฝ่ายค้านจะเข้ามาก็มาเสนอแนะในบางวัน หรือเข้ามาทุกวันผมคิดว่ารัฐบาลยินดีต้อนรับอยู่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของการที่เข้ามาช่วยผู้ที่เดือดร้อนมากว่า
ข้อกังวลใจในการแก้ปัญหาร่วมกันระหว่าง รัฐบาล และ กรุงเทพมหานคร ในพื้นที่ กทม.
ความกังวลของผมคือ เรารู้ว่าดีว่า กทม.เป็นเขตเศรษฐกิจ แต่ถ้ากทม.ชะงัก จีดีพี ก็จะชะงัก และจะส่งผลให้การหมุนเวียนของเงินที่จะลามไปทั่วประเทศ เกิดเป็นปัญหาลูกโซ่ เพราะฉะนั้นเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นพื้นที่ที่เราต้องรักษาไว้ให้ดี เพราะฉะนั้นการประสานงานกันระหว่าง กทม.กับรัฐบาล เป็นสิ่งที่ต้องรักษาการประสานงานไว้ให้ดี และเหตุการณ์จะเกิดขึ้นที่หนักนิดเบาหน่อย หรืออะไรที่กระทบกระทั่งกันอย่าคิดว่าเป็นโอกาสที่จะฉวยโอกาสทางการเมืองที่จะช่วงชิงคะแนนกัน อย่าไปทำแบบนั้นเลย มาช่วยกันดีกว่า ถึงจะประสานกันขลุกขลักอย่างไรก็ขอให้อภัยกัน ดูตัวอย่างจากหลายประเทศที่เกิดจากวิกฤต เช่น สหรัฐอเมริกา ที่เกิดวินาศกรรมตึกเวิร์ดเทรด หรืออะไรก็ตามที่เป็นผลกระทบโดยรวมของประเทศ เขาก็จะทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลเขาก็ช่วยกันเป็นอย่างดี โดยที่ฝ่ายค้านจะหนุนให้รัฐบาลทำงานได้อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน
การทำงานระหว่างรัฐบาล กับ กทม. ที่ไม่ลงรอยกัน ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
ปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่ไม่เคยทำงานในภาวะวิกฤตมากว่า และเรื่องของติดต่อสื่อสารเท่านั้น แต่ด้วยนโยบายโดยรวมทั้งฝ่าย กทม.และรัฐบาลเองคงไม่น่าจะมีใครใจดำเอาความเดือดร้อนของประชาชนมาโจมตีพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม แต่ถ้ามีคนทำคงจะสิ้นคิด เพราะว่าสิ่งที่ทำไปพูดไปประชาชนรับทราบอยู่แล้ว่าคุณต้องการอะไร ดังนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น