"สมชาย หอมละออ" เว้นวรรรคคดี “เหลือง-แดง” ประตูสู่ปรองดอง
ช่วงกลางเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้มีข้อเสนอสำคัญต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถึง “แนวทางสร้างความปรองดอง” ประกอบด้วย 7 ประเด็นหลัก
1.รัฐบาลต้องสนับสนุน คอป. 2.รัฐบาลต้องนำข้อเสนอ คอป. ไปปฏิบัติเป็นรูปธรรม 3.รัฐบาลควรตรวจสอบให้ชัดว่าการแจ้งข้อหาและการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาและจำเลย สอดคล้องกับพฤติการณ์แห่งการกระทำหรือไม่ และทบทวนว่ามีการตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินสมควรหรือไม่
4.รัฐบาลควรเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายอย่างเร่งด่วน ครอบคลุมถึงบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่สืบเนื่องตั้งแต่ก่อนปฏิวัติ19 ก.ย. 2549 เป็นต้นมา โดยจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ 5.ต้องเยียวยากลุ่มผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรมด้วย เช่น จ่ายค่าทดแทนผู้ถูกยกฟ้องแล้ว ส่วนที่ศาลพิพากษาลงโทษถึงที่สุดแล้ว หรือไม่ให้ประกันตัว ควรให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัว
6.ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีความเป็นเอกภาพอย่างบูรณาการ
7.ควรส่งเสริมให้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยน ให้เข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาความขัดแย้ง
พลันที่ คอป.ยื่นข้อเสนอ 7 ข้อ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งชื่อ “คณะกรรมการประสาน และติดตามผลการดำเนินงานข้อเสนอของคอป.” มียงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯและรมว.มหาดไทย เป็นประธาน
ทิศทางบ้านเมืองที่ยังเปราะบางอยู่ จากนี้จะปรองดองได้จริงหรือไม่ และ ข้อเสนอของ คอป. ขยายไปถึง การนิรโทษกรรมคดีการเมือง คดีทุจริต อย่างที่มีการพูดด้วยหรือไม่ “สมชาย หอมละออ” กรรมการคอป.ชี้แจงกับทีมงานปฏิรูปถึงที่มาที่ไปของข้อเสนอคอป.
@ข้อเสนอของคอป.ต่อการปรองดองอยู่บนหลักคิดอะไร
ขออธิบายก่อนว่าถ้าจะสร้างความปรองดองแห่งชาติ เงื่อนไขเบื้องต้นที่ต้องทำก็คือ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย และก็เป็นผลกระทบต่อบุคคลที่เกิดจากความขัดแย้งในทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นช่วงเดือน เม.ย. – พ.ค. 2553 แต่เป็นความขัดแย้งก่อนและหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ด้วย ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง อาจแยกได้เป็น 2-3 กลุ่ม 1. ผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้สูญเสียด้านทรัพย์สิน เสียโอกาสในการประกอบธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบด้านความเดือดร้อน ในส่วนนี้มีเจ้าหน้าที่ด้วย เช่นทหารที่บาดเจ็บ เสียชีวิต และก็มีกลุ่มเสื้อเหลือง และเสื้อแดง
2. กลุ่มที่ถูกดำเนินคดีอาญา ข้อหาร้ายแรง เช่น ก่อการร้าย วางเพลิง ข้อหาที่เป็นความผิดในทางเทคนิค เช่น ละเมิดพรก.ฉุกเฉิน ละเมิดคำสั่งห้ามชุมนุม ละเมิดคำสั่งห้ามคำสั่งออกนอกบ้านในยามวิกาลทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง และกลุ่มที่ 3 ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งจากการศึกษาของนักวิชาการมีคนที่ถูกแจ้งข้อหานี้ตามความผิดมาตรา 112 ของประมวลกฎหมาอาญาหลายร้อยคน เราถือว่า คนเหล่านี้ได้รับผลกระทบเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งคอป.ไม่ได้พูดไกลไปถึงนักการเมืองเพราะคอป.ยังไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจัง เช่น การยุบพรรค หรือ การถูกห้ามไม่ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำให้มีการตีความว่า สิ่งที่คอป.เสนอนั้น เป็นการยกเว้นความผิดให้กับนักการเมืองที่ต้องการยกเลิกเรื่องการแบนนักการเมือง รวมถึง อภัยโทษ นิรโทษกรรม ซึ่งเรายังไม่ได้ไปถึงขั้นนั้น เพราะเราเห็นว่า มันยังเร็วไปที่จะพูดถึงเรื่องเหล่านี้
สิ่งที่เราเสนอ คือ ให้ทบทวนการดำเนินคดีอาญาเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาตามหลักนิติธรรมจริงๆ ไม่ใช่เป็นการดำเนินคดีภายใต้แรงกดดันทางสังคม แรงกดดันทางการเมือง เพราะเราพบว่า มีการดำเนินคดีอาญาจำนวนมากทีเดียว ที่มีการตั้งข้อหาเกินความจริง หรือ มีการฟ้องโดยที่พยานหลักฐานไม่เพียงพอ แสดงว่า เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่ฟ้องคดีไป ก็อาจตกอยู่ภายใต้แรงกดดันไม่มากก็น้อย แรงกดดันในทีนี้เราไม่ได้หมายความว่า เป็นแรงกดดันของผู้มีอำนาจเท่านั้น แต่เป็นแรงกดดันทางสังคม และของสถานการณ์ด้วย
ดังนั้น ที่ผ่านมาและอนาคตเราเชื่อว่า จะมีจำเลย ที่ศาลจะมีคำพิพากษาว่า ยกฟ้องในเปอร์เซ็นต์ที่สูง แสดงว่า เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ฟ้องคดีไปโดยที่พยานหลักฐานไม่เพียง ซึ่งมันทำให้คนที่ถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้รับการประกันตัวมีความรู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมซึ่งก็จะมีผล ไม่เฉพาะต่อเขา แต่กับครอบครัวเขาด้วย เพราะเขาถูกดำเนินคดีจากความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้น กลุ่มการเมืองของเขา ไม่ว่า กลุ่มแดง หรือ กลุ่มเหลือง ก็จะมีความรู้สึกร่วมด้วยว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม เราจึงเสนอว่า อย่างน้อยตอนนี้เพื่อบรรเทาความทุกข์ยาก ขมขื่นหรือกดดัน ก็ควรต้องพยายามให้ประกันตัว โดยเฉพาะถ้าเขาไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหรือไม่หลบหนี ก็ควรต้องประกันตัว ตามหลักของกฎหมาย
3. ในแง่ของคดีข้อหาที่ดูแล้วเกินไป ก็ควรต้องถอน เช่น ข้อหาก่อการร้าย บางคนก็ไม่น่าจะเข้าเงื่อนไข หรือ ข้อหาที่เป็นความผิดในทางเทคนิค เช่น ละเมิดข้อห้ามในการชุมนุม หรือ เคอร์ฟิว ก็ควรจะถอนฟ้อง เพราะนี่ไม่ใช่เป็นอาชญากรรม แต่เป็นความผิดในทางการเมือง สำหรับบุคคลที่ต้องดำเนินคดีอาญาต่อไป เช่น มีอาวุธสงครามในครอบครอง หรือ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินทางราชการก็ว่าไป ตามเนื้อผ้า หรือ ถ้าคนตายก็ต้องว่าไปตามเนื้อผ้า แต่ก็ต้องมีหลักประกันที่เขาจะต่อสู้คดีด้วยความเป็นธรรมจริงๆ เช่น มีทนายความ ซึ่ง คอป.ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ดำเนินคดีอาญา จะไปดำเนินคดีอาญาเหมือนที่ผ่านมา เช่น แกนนำสองส่วนที่โดนคดีก่อการร้ายก็อยากให้ทบทวนว่า ข้อหานี้ไม่น่าจะเข้าองค์ประกอบ นี่เป็นความเห็นของอ.คณิต ณ นคร ประธานคอป.ที่ไปศึกษาและดูสถานการณ์
@การยึดสนามบินก็ไม่เข้าการก่อการร้าย
การที่จะก่อการร้ายต้องจัดตั้งเป็นองค์กรที่มุ่งก่อการร้าย แต่การไปปิดถนน บุกรุกสถานที่ราชการบ้าง คอป.เห็นว่า มันยังไม่น่าจะถึงขั้นก่อการร้าย
@กรณีแกนนำม็อบที่ราชประสงค์ถือว่า ก่อการร้ายไหม
เราไม่สามารถบอกเป็นรายๆ ได้ แต่โดยภาพรวมเราเห็นว่า ควรมีการพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบว่า มีการตั้งข้อหาที่น่าจะเกินเลยความเป็นจริง และ สำหรับคนที่ติดคุกแล้วศาลยกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว ก็ควรต้องชดเชยเขา ซึ่งจะใช้ พรบ.ว่าด้วยค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายจำเลยในคดีอาญาไม่ได้ เพราะใช้กฎหมายฉบับนี้ คนเหล่านี้จะไม่มีทางได้ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายเลย เนื่องจาก เป็นกฎหมายที่ไม่มีผลบังคับ ซึ่งแง่นี้ถ้าเขาไม่ได้รับค่าชดเชยทั้งที่เขาติดคุกมาฟรี 1 ปี มันก็จะกลายเป็นประเด็นว่า เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม คอป.คิดว่า จะต้องจ่ายค่าทดแทนให้เขา ถึงแม้ว่าศาลจะไม่มีคำพิพากษาว่า เขาไม่ผิด
คอป.เสนอว่า แนวคิดเรื่องความยุติธรรมก็ต้องใช้แนวคิดเรื่องความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน คือ ความยุติธรรมในภาวะที่ไม่ปกติ ในภาวะที่มีความขัดแย้ง นี่คือ ในส่วนจำเลย แต่สำหรับผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตจากฝ่ายรัฐ และ ผู้ชุมนุม เราเห็นว่า การชดเชยความเสียหายที่ผ่านมาก็ยังไม่เพียงพอ เช่น บางคนพิการตลอดชีพ ในหลายประเทศ เขาให้รัฐดูแลไปตลอดชีวิตเลย ทีนี้ถ้าเราจะใช้หลักการปกติ ตอนนี้ครอบครัวของคนที่เสียชีวิตทั้งฝั่ง หลายคนก็ถูกทอดทิ้งแล้ว หลักการของเราเห็นว่า รัฐมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน และ เมื่อรัฐไม่สามารถปกป้องคุ้มครองชีวิตร่างกาย ทรัพย์สินของบุคคลได้ รัฐต้องชดใช้ นอกจากนั้น ยังยึดถือหลักการเรื่องความปรองดองด้วย ซึ่งต้องถือเป็นกรณีพิเศษเพราะการเยียวยาในส่วนนี้จะนำไปสู่ลู่ทางที่จะสร้างความปรองดองขึ้นได้
ทีนี้ในแง่ของอีกกลุ่มคือ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งคดีหมิ่นนี้ เราเห็นว่า มีการดำเนินคดีเยอะ เนื่องจากว่า ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ฝ่ายที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามก็ย่อมใช้วิธีการต่างๆ ในการทำลายอีกฝ่าย กฎหมายมาตรา 112 ของประมวลอาญา ข้อหาหมิ่นพระบรมฯ นี้ก็ถูกใช้โดยทั้งสองฝ่ายเพื่อเล่นงานกันเอง โดยมูลเหตุจูงใจทางการเมืองจึงมีคนถูกกล่าวหาในคดีนี้มากเป็นร้อยๆ คนซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อนและก็ไม่ใช่ เสื้อแดงอย่างเดียว สนธิ ลิ้มทองกุล ก็โดน ซึ่งโดยทั่วไป ศาลไม่ให้ประกันตัว ศาลจะอ้างว่า เป็นความผิดร้ายแรง แต่โดยหลักของการประกันตัว ความผิดร้ายแรงไม่ร้ายแรงไม่ใช่เหตุที่จะให้ประกันตัวหรือไม่ เหตุที่จะให้ประกันมีอยู่ 2 อย่าง คือ 1. จะไปยุ่งเหยิงต่อพยานไหม 2. จะหนีหรือไม่ โทษสูงก็ไม่ได้หมายความว่าจะหนี การจะหนีต้องหมายความว่า มีพฤติกรรมหลบหนีด้วย คนจำนวนมากที่ถูกข้อหานี้และไม่ให้ประกันตัวโดยศาลเพราะโทษร้ายแรง 15 ปี แต่เมื่อเทียบกับ คดีปล้นทรัพย์ วางเพลิง ฆ่าคนตาย ซึ่งโทษสูงกว่า ศาลยังให้ประกันตัวเลย บางโทษประหารชีวิต จำคุก 30 ปี ศาลก็ยังให้ประกันตัว อันนี้แสดงว่า มันมีปัญหาในการใช้กฎหมาย ตามหลักนิติธรรม เราจึงเสนอว่า ควรให้ประกันตัว และให้รัฐทบทวนคดี พยายามใช้ดุลยพินิจในการฟ้องคดีโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ยิ่งฟ้องมาก ยิ่งก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันมาก
ความเห็นส่วนตัว เท่าที่ผมได้ดูบางสำนวนที่ฟ้อง ไม่น่าจะเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ก็มีการฟ้องคดีไป เพราะพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ถ้าไม่ฟ้องคดีก็อาจจะรู้สึกว่า ถูกกดดันหรือโจมตีก็ได้ อย่างรกรณีของคุณสุรชัย แซ่ด่าน ผมดูบางสำนวนไม่เห็นจะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างไรเลย และก็ไม่ให้ประกันตัวด้วย
@ข้อเสนอหยุดคดีแกนนำเสื้อเหลือง เสื้อแดงทำอย่างไร เพราะบางเรื่องอยู่ในศาล อยู่ในอัยการ
เท่าที่คอป.เสนอไป การใช้กฎหมายที่มีอยู่ ก็ยังสามารถทำได้ อัยการสามารถชลอการฟ้องคดีได้
การให้ประกันตัว สามารถทำได้ แม้แต่คดีที่ฟ้องไปแล้ว ก็สามารถเลื่อนคดีได้ อันนี้เป็นเรื่องที่คู่กรณี คู่ความ และศาลสามารถที่จะตกลง เช่น นัดไปพิจารณาคดีในอีกปีข้างหน้าก็ยังทำได้ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ตั้งสติ เราก็อยากให้คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้เป็นสำคัญ เพราะยิ่งดำเนินคดีไปถ้าไม่เป็นธรรม ก็ยิ่งเป็นการสร้างความแตกแยก ขัดแย้งและเป็นอุปสรรคต่อการปรองดอง แต่เราไม่ได้หมายความว่า งดเว้นการดำเนินคดีนะ อภัยโทษ หรือ นิรโทษกรรม ก็ไม่ใช่นะ เพียงแต่ว่า อยากให้ทบทวนเพราะที่ผ่านมาการดำเนินคดีมีจำนวนมาก พนักงานสอบสวน อัยการ อาจจะเร่งรีบ อยู่ภายใต้แรงกดดันทางการเมือง
@กับมุมคิดที่ว่า เราไม่เอากรณีนี้มาเป็นบทเรียนก็จะเกิดผลซ้ำ ไม่มีใครจำ คิดอย่างนั้นไหม
ถ้าเป็นเรื่องอภัยโทษ หรือ นิรโทษกรรม อันนั้นเป็นอีกเรื่องเพราะนั่นเท่ากับ ยกเลิก แต่ที่เราเสนอคือ คดียังมีอยู่ เพียงแต่ว่า อยากให้พิจารณาอย่างถ่องแท้ เป็นไปตามหลักความยุติธรรมจริงๆ ผมเชื่อว่า ถ้าดำเนินคดดีต่อไป 60-70% ยกฟ้องแน่ และคุณดูซิ คนถูกดำเนินคดีขังมา 3 ปีแล้วถูกยกฟ้อง ถ้าเป็นคนที่ถูกกล่าวหาในคดีอาญาธรรมดา มันก็อาจจะขมขื่น เขาเองกับครอบครัว และเพื่อนฝูง แต่นี่คนในกลุ่มเขามีเป็นล้าน เสื้อเหลือง เสื้อแดง กี่ล้าน เขาจะรู้สึกเหมือนกัน อย่างจับผิดตัวก็มี เจ้าหน้าที่จังหวัดก็ยอมรับ แล้วก็ยังดำเนินคดีไป ที่สุดศาลยกฟ้อง แล้วเห็นมั้ยนี่อะไร แกล้งหรือ2
@บทสุดท้ายเมื่อมีการดำเนินคดี ไม่ดำเนินคดีแล้วมันจะสิ้นสุดอย่างไร
ก็...ว่าไป จำคุก หรือปล่อยก็แล้วแต่ เป็นไปตามกระบวนการ ส่วนการอภัยโทษ หรือ นิรโทษกรรมก็อีกประเด็นนะ
@ถ้าฟังอย่างนี้ ก็คือ คอป.เสนอให้ชลอหรือเว้นวรรคคดีเหล่านี้ไว้ก่อน
ใช่ๆๆ....
@คอป.ได้ฐานคิดนี้จากต่างประเทศ หรือ จากไหน
จริงๆแล้วก็เกิดจากการที่เราได้ไปพบปะกับ ผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยฝ่ายเยียวยาก็ไปพบกับ ตำรวจ ทหาร ที่บาดเจ็บ ที่สำคัญเราไปพบกับคนที่ถูกจับกุม ดำเนินคดี และครอบครัวเขาด้วย
@คิดว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะนำข้อเสนอของคอป.ไปปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน
เราเสนอรัฐบาลไปเมื่อ 15 ก.ย. ที่ผ่านมาแล้วรัฐบาลก็นำเข้าครม. ทันที และผมกับ กิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ก็ได้ไปพบนายกฯ ก่อนหน้านั้นวันเดียว เราไปพบกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน นายกฯ ก็บอกว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอคอป.และก็นำเสนอต่อ ครม. ก็รับทราบจะปฏิบัติให้ได้ผล โดยมอบหมายให้ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการ ซึ่งคอป.ก็คงจะต้องทำ 2 ส่วน คือ 1. จะสนับสนุน ข้อมูล โดยเฉพาะคณะกรรมการของยงยุทธเพื่อนำไปปฏิบัติ 2. เราจะดูว่าคณะกรรมการชุดนี้ได้นำข้อเสนอเราไปปฏิบัติถูกต้องตามเจตนารมณ์ของคอป.หรือไม่ ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลไหน เราก็ต้องตรวจสอบและติดตามทั้งสองลักษณะเช่นนี้ และอยากบอกว่า สิ่งที่เราเสนอไม่ได้เสนอต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่เสนอต่อรัฐ ดังนั้น ข้อเสนอก่อนๆ ของเราที่เสนอมาแล้ว 2-3 ฉบับ รัฐบาลก็ควรต้องเอาไปปฏิบัติด้วยไม่ว่า จะเป็นรัฐบาลไหน
@ไม่ใช่เรื่องการลบล้างความผิด 19 ก.ย. 2549 เป็นต้นมา
ไม่ใช่ๆๆ...แต่ต้องยอมรับว่า ฝ่ายการเมือง หรือ สื่อแต่ละฝ่ายก็จะหยิบเอาไปใช้ประโยชน์ในการโฆษณา เช่น สื่อเสื้อแดงตีความไปว่า เราเสนอให้นิรโทษกรรม สื่ออีกฝ่ายก็บอกไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่ เราไม่ได้ไปถึงขั้นนิรโทษกรรม หรือ อภัยโทษ เพียงแต่ต้องการให้การใช้กฎหมายคำนึงถึงหลักนิติธรรม อย่างเคร่งครัด และคำนึงถึงการสร้างความปรองดองด้วย
@ถ้าที่สุดแล้ว สิ่งที่คอป.ไมได้รับการปฏิบัติ อาจจะด้วยสถานการณ์การเมืองในอนาคต บ้านเมืองมันจะเกิดอะไรขึ้นในข่วงที่ความขัดแย้งยังอึมครึมไม่สิ้นสุด
เท่าที่เราได้คุยกับผู้นำฝ่ายค้าน และนายกฯ คอป.ก็ได้ไปคุยกับผู้นำกองทัพด้วย โดยทั่วไปก็เห็นด้วยกับข้อเสนอของเรา เพียงแต่มีการท้วงติงว่า ต้องระวังอย่าให้ถูกบิดเบือนเพื่อประโยชน์ในทางการเมือง ส่วนเรื่องความปรองดองก็เช่นเดียวกัน ทุกฝ่ายก็คงต้องการ ....ความขัดแย้งมันคงมีแหละ เพียงแต่ว่าให้อยู่ในกฎเกณฑ์ ไม่ใช้ความรุนแรงก็พอแล้ว เพราะความปรองดองมันต้องหมายถึงว่า เรื่องที่ขัดแย้งแต่ละเรี่อง ฝ่ายที่ขัดแย้งต้องมาคุยกันว่า จะเห็นร่วมกันอย่างไร เช่น การใช้เจ้าหน้าที่ทหาร หรือ กองทัพมาดูแลฝูงชน เห็นด้วยไหมเพราะอีกฝ่ายบอกว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้ทหารมาเกี่ยวข้องกับการชุมนุม ถ้าอีกฝ่ายเห็นว่า ยังจำเป็น ก็ต้องมาคุยกันว่า จะตกลงอย่างไร หรือ ที่ใหญ่กว่านั้น คือ บทบาทของกองทัพในระบอบประชาธิปไตยควรจะแค่ไหน หรือ เรื่องระบบสภา ว่า ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง ไม่รวมประเด็นร้อนๆ เรื่อง คุณทักษิณ เรื่อง การยึดทรัพย์ การดำเนินคดีอาญานักการเมือง แต่ละเรื่องต้องมาคุยกัน ข้อเสนอของเราอีกข้อ คือ รัฐต้องสนับสนุนให้มีการสานเสวนา อาจจะให้มีกลุ่มองค์กรต่างๆ จัด นักวิชาการ คอป.ก็จะจัดส่วนหนึ่ง ซึ่งการปรองดองถ้าตกลงกันเรื่องนั้นๆได้ก็ดี แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ควรมาตกลงเรื่อง กระบวนการ หรือ อาจให้นักวิชาการกลุ่มหนึ่งไปทำวิจัยแล้วนำเสนอ ผลวิจัยเป็นอย่างไรแล้ว
@ประเมินสถานการณ์การเมืองตอนนี้หลายเรื่อง ดูเหมือนรัฐบาลจะช่วยเหลือทักษิณ บรรยากาศไม่ชวนต่อการปรองดองแล้วมันจะปรองดองกันได้ไหม
ผมว่า ตอนนี้ที่มีปัญหา คือ การโต้กันไปมาผ่านสื่อ ทั้งที่ความเห็นเขาต้องการพูดให้พวกกันเองได้ยินมากกว่า เราถึงควรต้องจัดเวทีมาคุยกันโดยมีหลักวิชาการ ไม่งั้นก็เถียงกันตาย
@เชื่อว่า เราจะปรองดองกันได้ไหม
อย่างน้อยถ้ายอมรับ กฎเกณฑ์ กติกา โดยเฉพาะรธน.ฉบับนี้ ไม่มีใครมาฉีกรธน. หรือ ไม่มีใครใช้กำลังไม่ว่า จะเป็นฝ่ายผู้ถืออาวุธ หรือ ฝ่ายการเมืองที่ใช้กำลัง ความรุนแรง ไปบีบอีกฝ่ายหนึ่ง ผมก็คิดว่า มันก็โอเคแล้ว เพราะความปรองดองไม่ได้หมายความว่า ทุกอย่างต้องเห็นร่วมกัน แต่อย่างน้อยเคารพกฎกติกา เช่น ถ้าเขาจะแก้รธน. อย่างที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้ลบล้างรัฐประหาร ถ้าผลสุดท้าย มีการดีเบตกันเต็มที่แล้วด้วยหลักวิชาการ มันก็ต้องยอมรับ
@คอป.เหลืออายุงานกี่เดือน
อีก 10 เดือนถึงเดือนก.ค.
@จากนี้มีภารกิจอะไรอีก
ที่ผ่านมาเราเน้นเรื่องการสร้างความเชื่อมั่น เพราะการตรวจสอบค้นหาความจริง เรายังไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเท่าที่ควรในการให้ข้อมูลลึกๆ แม้แต่ผู้ชุมนุมเอง ซึ่งแต่ละฝ่ายก็มีเหตุผล และข้อจำกัดต่างกัน จากนี้เราจะรวบรวมข้อมูลเหตุการณ์การชุมนุมให้มากขึ้นมีเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งเราหวังว่าจะได้ข้อมูลจากหน่วยราชการอีก โดยเฉพาะนายกฯยิ่งลักษณ์ก็รับปากว่า จะดำเนินการให้
@เรื่องชุดดำ กับ วัดปทุมวนาราม ได้ข้อมูลเพียงพอไหม
ข้อเสนอของเรา คราวที่แล้วซึ่งอยู่ในรัฐบาลที่แล้ว เราเสนอให้นำคดี 13 ศพ ไปให้ศาลไต่สวน แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลับส่งเรื่องนี้กลับไปให้ดีเอสไอ ซึ่งเราก็ยังให้รัฐบาลชุดนี้ปฏิบัติแล้วเราก็หวังไว้ เราจะไม่ยอมให้คนในรัฐบาลคนใดเอาเรื่องนี้ไปต่อรองกับทหาร หรือ หาประโยชน์ในทางการเมืองโดยมิชอบ ซึ่งเราก็ติดตามอยู่ ถ้าเอาเรื่องนี้ไปต่อรองกับเรื่องโยกย้ายทหาร เราก็เห็นว่า ไม่ถูกต้อง