พลตรีนักรบ บุญบัวทอง "เรื่องของมวลชน กอ.รมน.ต้องการทุกสี"
พลตรี นักรบ บุญบัวทอง อดีตผู้อำนวยการสำนักนโยบาย และ ยุทธศาสตร์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งมีส่วนในการจัดโครงสร้าง กอ.รมน. ช่วงหลังการประกาศ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการปฏิบัติที่ 5 ประสานงานในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาให้สัมภาษณ์ถึงโครงสร้างอำนาจของ กอ.รมน. และกฎหมายความมั่นคง รวมถึง ข้อวิจารณ์ที่มีต่อภาพลักษณ์ขององค์กร
@บทบาทของ กอ.รมน.ที่เปลี่ยนไปหลังออก พรบ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรปี 2551(พรบ.ความมั่นคง)
ภายหลังเหตุการณ์ภัยคอมมิวนิสต์หมดไป พรบ.ว่าด้วยการกระทำที่เป็นภัยต่อคอมมิวนิสต์ปี 2508 ก็หมดไป กอ.รมน.ก็ลดบทบาท และไปทำเรื่องความมั่นคงตามแนวชายแดน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องชุมชนเข้มแข็ง แต่หลังรัฐประหารปี 49 และก่อนรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการเสนอ พรบ.ลักษณะนี้เข้าไปที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยเสนอเข้าไป 3 ครั้ง แต่ไม่ได้พิจารณา ซึ่งเสนอให้ กอ.รมน.มีบทบาท มีสถานะเข้าไปทำงาน เนื่องจากเขามองว่าภัยคุกคามรูปแบบใหม่มันเข้ามาต้องใช้การบูรณาการ ซึ่ง สมช. เขาไม่มีแรง เพราะเป็นสำนักเลขาฯ เท่านั้นเอง ทำให้คนทำงานต่อเชื่อม ไม่มี พอเรื่องจาก สมช.ก็เข้าไปที่ส่วนราชการความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง แต่ความจริงก็เชื่อมกันหมด เช่น กรณีแรงงานต่างด้าวเข้ามาที่ด่าน จ.สระแก้ว สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจ กองกำลังบูรพา ก็ไล่กันมาจนเข้ามาที่กระทรวงแรงงาน ข้อมูลเหล่านี้จะต้องต่อกัน นี่คือตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าทำไมเขาดัน พรบ.ความมั่นคง ฯ เข้ามา ซึ่งก็เข้ามาสมัยท่าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงนั้นถือว่ามีโอกาสในการทำเพราะ เนื่องจากท่านเป็นคนเข้าใจในบริบทตัวนี้
ไม่ใช่เรื่องครอบงำ หรือ อำนาจทางทหารเข้ามา เขามองเรื่องภัยคุกคามที่มันใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ที่ไม่มีคนบูรณาการ ถามว่าทหารครอบงำไหม มันก็ไม่ใช่ เมื่อดูรูปแบบโครงสร้างจะเห็นได้ว่า คนที่เป็น ผอ.รมน.คือนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ทหาร จากกฎหมายเดิมคือ ผู้บัญชาการทหารบก เป็น ผบ.ปค.(ผู้บัญชาการปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต.) เมื่อเปลี่ยนมาเป็นนายกฯ ก็ไม่ใช่ทหาร ข้าราชการข้างในก็เป็นพลเรือน ตำรวจ ทหาร แต่ที่เห็นว่าเป็นทหารจำนวนมาก เพราะหน่วยงานอื่นไม่เข้ามาช่วยราชการ มีกองทัพที่ส่งมา ก็ดูเหมือนเป็นทหารไปนิดนึง แต่เหล่านี้ก็จะเข้าไปสู่ พลเรือน ตำรวจ ทหารในอนาคต และ ที่รอง ผอ.รมน.ต้องเป็น ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งจริงก็เถียงกันในสภานิติบัญญัติค่อนข้างเยอะว่าจะเอาใครมาเป็น สุดท้ายก็ต้องมาลงที่ผู้บัญชาการทหารบก เพราะสุดท้ายเขาดูที่งานความมั่นคงภายใน งานจึงตกที่กองทัพบกมากที่สุด เขาเลยให้ผู้บัญชาการทหารบก เป็น รองผอ.รมน. อนาคตอาจจะพัฒนาไปเป็นใครก็ได้ เป็นข้าราชการประจำ หรือ ข้าราชการในกอ.รมน. เหมือน สมช.ที่โอนมาก็ได้ บางทีคนไปมองภาพว่าเป็นทหารหมอ
@มีการมองว่าทหาร และ พรรคการเมืองที่หนุนกองทัพ พึ่งพิงกัน และต่างใช้กันและกันในการดำรงอำนาจตัวเองไว้
ทุกอย่างมันขึ้นกับบทบัญญัติทางกฎหมาย ไม่ใช่การพึ่งพากันส่วนตัว ใช้เกินอำนาจไม่ได้เลย ถ้าไปทำอะไรนอกจากบทบัญญัติ กอ.รมน.ถูกฟ้องตาย ไม่มีใครหรอกจะยอมติดคุก ใช้กฎหมายต้องอยู่ในกรอบหน้าที่ และ ที่มองว่ากฎหมายเป็นเกราะป้องกันให้ทหาร ไม่ให้การเมืองมายุ่งได้นั้น ก็ไม่จริง กฎหมายให้ นายกฯ เป็น ผอ.รมน. และ ผบ.ทบ.เป็นรอง ผอ.รมน. และ เสธ.ทบ.เป็น ลธ.ทบ. ในตำแหน่งอื่น ท่านนายกฯ จะเอาใครมาก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นทหาร ผอ.รมน. แต่งตั้งได้ทั้งผอ.สำนักฯ ผอ.กองเลขาฯ ขอให้เป็นข้าราชการและมาอยู่จริง ส่วนคณะกรรมการอำนวยการจำนวน 24 คนนั้น ก็จะมีตำแหน่งระบุว่าเป็นใครบ้าง ซึ่งบอร์ดตัวนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลอำนาจ และการใช้อำนาจของ นายกฯ หรือ ผอ.รมน.ด้วย ซึ่งในบอร์ดจะมีตัวแทนจากกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้อง จะไปอนุมัติเลอะเทอะไม่ได้ เช่น กอ.รมน. ประกาศพื้นที่ความมั่นคงใช้อำนาจตามมาตรา 16 -17-18 ทุกอย่างต้องผ่านบอร์ดเห็นชอบก่อนถึงจะได้ เขาจะต้องดูแผนด้วย หลังจากนั้นต้องเข้าครม. ซึ่งมีประธานบอร์ดกับรองประธานบอร์ด เท่านั้นที่เป็นนักการเมือง ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำมากกว่านักการเมือง เพราะบอร์ดตัวนี้ที่ออกแบบมาก็ป้องกันการเมืองเข้ามาแทรกแซงด้วย
@บอร์ดนี้เคยถ่วงดุลตรวจสอบ ในเรื่องใดได้บ้าง และ ใครจะกล้าไม่ทำตามสิ่งที่กำหนดมาจาก ผอ.รมน.
ทุกเรื่องเข้าบอร์ดนี้หมด อย่างการประกาศพื้นที่ตาม หมวด 2 ต้องเข้าครม.ด้วย ถามว่าถ้าเรื่องไหนไม่ดี เขาจะกล้าอนุมัติหรือไม่ หลังจาก ครม.เห็นชอบ การบริหารจัดการพื้นที่ ก็ต้องไปเสนอแผนให้บอร์ดเขาดูด้วยว่าเป็นอย่างไร ถ้าสิ่งไหนที่เสนอมาเกินหน้าที่ บอร์ดก็ไม่ยอมอยู่แล้ว อะไรที่เกินกฎหมายก็ไม่ได้ ตรงนั้นมีทั้งกระทรวงยุติธรรม มีอัยการสูงสุด เพราะฉะนั้นอย่าไปมองว่าอะไรที่เกินกฎหมาย แล้วจะยอมๆ ทำตามเพราะพึ่งพากันเรื่องอำนาจ ไม่มีแน่นอน แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี 48 ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะ กอ.รมน. ไม่ได้รับ เป็นเรื่องผู้บริหารไปใช้อำนาจตามพระราชกำหนด ทุกอย่างไม่ได้ลึกลับซับซ้อน
@แต่คนก็ยังมองว่ามี พรบ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร ปี 51 ออกแบบมาทำให้ กอ.รมน.เป็นองค์กรทรงอิทธิพล มีอำนาจซ้อนรัฐ
มันไม่ใช่ ความจริงมันเป็นองค์กรนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เป็นองค์กรที่บูรณาการประสานงานหน่วยงานด้านความมั่นคง เป็นศูนย์ข้อมูลกลาง กอ.รมน.ไม่มีส่วนปฏิบัติในมือ ส่วนปฏิบัติคือส่วนราชการ ที่ข้าราชการไม่อยากมาอยู่ เนื่องจาก กอ.รมน.นั้น มีข้าราชการประจำ 200 อัตรา ตำแหน่งมันอั้น ตำแหน่งไม่ขยับ ที่เหลือเป็นช่วยราชการ ตำแหน่งช่วยราชการตรงนี้เป็นปัญหาสำคัญ คนไม่อยากมาช่วยราชการ เพราะไม่รู้ว่าความก้าวหน้าเป็นอย่างไร เมื่อขาดมาจากหน่วยแล้ว กลัวหน่วยเขาตัดทิ้ง ไม่ดูแล ก็เลยไม่อยากมากัน
@คนมองว่า กอ.รมน. มีฐานมวลชน เอาไว้เคลื่อนไหวต่างๆ ทางการเมืองได้
มวลชน กอ.รมน. สมัยก่อนมีเยอะ เพราะเราทำมานานแล้ว แต่หลังๆ เริ่มลดลง ตอนนี้กำลังเริ่มสร้างมวลชน ในพรบ. ความมั่นคง ฯ ระบุไว้เลยว่าเรื่องการเสริมสร้างให้ประชาชนมีจิตสำนึกในการรักชาติศาสน์ กษัตริย์ เราทำมวลชนเพราะเสริมสร้างในเรื่องนี้ และเป้าหมายอีกทางคือการป้องกันตนเอง เดิมเราสร้างมวลชนขึ้นมาเพื่อดูแลงานด้านความมั่นคงภายในแทนส่วนราชการ เพราะเอาส่วนราชการทั้งหมดไปดูแล คงดูแลไม่ได้ ประชาชนเขาต้องเป็นคนป้องกัน และ ผมเชื่อว่าเรื่องของมวลชนนี่ เราต้องการทุกสี เสื้อแดงเข้ามาเราก็เอา เพราะเราเชื่อว่าคนไทยรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จะมีใครไม่ให้ความร่วมมือบ้าง แต่การไปตีความของคน การไปนำเสนอข่าว หรือ การไปพูดของกลุ่มบุคคลบางคน เราไปตีความคนละเรื่อง บางคนก็ไปคิดเรื่องอกุศล จริงๆ ไปดูได้เลยว่าบริสุทธิ์ทั้งนั้น ถ้าเข้ามาเป็นมวลชน กอ.รมน. ซึ่งเรื่องสถาบันกษัตริย์ เราก็ยกเรื่องสำคัญลำดับแรกๆ
“– ใช่ ตอนนี้ กอ.รมน.เป็นยักษ์ที่มีกระบองแล้ว แต่เป็นกระบองที่เป็นกฎหมาย สมัยก่อนไม่มีกฎหมายในมือทำอะไรไม่ได้ แต่ตอนนี้มีกฎหมายในมือ และ ใช้อำนาจนี้ได้ แต่อำนาจนี้ไม่ใช่ใช้ได้ตามอำเภอใจ เป็นอำนาจที่มีสิ่งต่างๆ ที่ถ่วงดุลหลายอย่าง”
@มีแนวคิดจะปรับปรุงพัฒนาองค์กร และกฎหมาย เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก หรือ ภัยคุกคามที่เปลี่ยนไปหรือไม่
ต้องไปดูภาพรวม เช่นต้องไปดูว่าภัยคุกคามเราขนาดนี้ กฎหมายเราสอดคล้องหรือไม่ แต่ถ้าขยับไปเรื่อยๆ ภัยคุกคามเริ่มมากขึ้น ตัวพรบ.ความมั่นคงฯอาจจะมีการพัฒนา ในการปรับให้สอดคล้องได้ เช่นอำนาจหน้าที่อาจจะมากกว่าเดิม แต่ต้องไปดู พรก. ฉุกเฉินฯ ด้วยว่าอำนาจมันทาบทับกันหรือไม่ เพราะสเต็ป เป็นอย่างนี้ จริงๆ แล้วการนิยามงานของกอ.รมน.เราดูคน และ ตัวบุคคล แบ่งเป็น 6 ด้าน จริงๆ มีมากกว่านี้ แต่ถ้าเรื่องใดไม่ใหญ่เราก็ยังไม่ได้รับ เนื่องจากไม่ใช่วาระชาติ ที่ผ่านมาก็ถือว่าเรื่อง ยาเสพติด และ ก็เรื่องใต้ใหญ่สุด แต่ปัญหาของชาติก็ยังมีเรื่องของ รู้รักสามัคคี ปลุกจิตสำนึกรักชาติ รู้รักสามัคคี ซึ่งก็คือปัญหาเรื่องความแตกแยกของคน ซึ่งขณะนี้มันเยอะมาก จะทำอย่างไรในการปูพื้นฐานให้ตั้งแต่เด็ก ในเรื่องของแตกแยกและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ทุกคนความคิดไม่เหมือนกัน เพียงแต่อยู่ด้วยกันได้ คือทำอย่างไรในการให้อยู่ร่วมกันได้ นี่คือสิ่งที่กอ.รมน.ต้องทำให้ได้
@แนวคิดเรื่องพัฒนา กอ.รมน. เป็น โฮมแลนด์ ดีเฟ้นด์ มันสอดคล้องกับปัญหาหรือเปล่า
ยังห่างไกล ต้องดูเรื่องภัยคุกคาม อันนั้นคือการพัฒนาไปสู่อนาคต ซึ่งเราดูภัยคุกคามเป็นหลัก ถ้าใหญ่ถึงขนาดสหรัฐฯ หรือ อังกฤษก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประเทศไทยขณะนี้ยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่ในส่วนของเราถ้าจะพัฒนาคือเป็นองค์กรถาวร ไม่ใช่มีข้าราชการที่มาจากการช่วยราชการ ต้องแยกเป็นองค์กรส่วนหนึ่งออกมาเลย และ ต้องไม่ใช่องค์กรทหาร ต้องเป็นองค์กรแบบ ดีเอสไอ เหมือนต่างประเทศ แต่ถ้าทหารจะมา ก็ต้องโอน หรือ ลาออก ไม่ใช่ให้ทหารมาปกครอง โดยหน่วยงานนี้ต้องมีคนที่เชี่ยวชาญในแต่ละหน่วยงานมาทำงาน อย่าง กอ.รมน. ถ้าใครอยากโอนมาก็โอนเลย ไม่จำเป็นเฉพาะทหาร ถามว่าทหารกล้าโอนย้ายมาหรือไม่ ผมว่าไม่กล้า เพราะยศหาย ไม่ใช่เหมือนโอนไปดีเอสไอ ก็ดูดี แต่ ทหาร โอนเข้า กอ.รมน. ปั๊ป ก็ยศหมดเลย เป็นพลเรือนไปเลย ทหารนี่เขาหวังอย่างเดียวคือเรื่องยศ ตำรวจอาชีพบริการไม่จำเป็นต้องมียศ ส่วนเรื่องอำนาจ กอ.รมน. ที่พูดกันนี่ก็เป็นเพียงกระแส แต่ถ้าทำความเข้าใจกันจริงๆ จะเห็นว่าไม่มีอะไรเลย เป็นบริบทความมั่นคง ในลักษณะที่พึงประสงค์ด้วย ถ้าประเทศไทยไม่มีส่วนบูรณาการด้านความมั่นคง ต่อไปก็จะไปไม่รอด เพียงแต่การพัฒนาองค์กรตอนนี้ จะเข้าไปสู่ระบบ security อย่างไรเท่านั้น
@ตอนนี้เรื่องถึงไหน และแนวคิดที่ออกมาเราได้ทำให้สอดคล้องกับปัญหาหรือยัง
พรบ.ความมั่นคงฯ เริ่มปี51 ขณะนี้แค่ปี 54 แค่ 3ปีมานี้ ยังกระเตาะกระแตะอยู่เลย หลังๆมาเริ่มแข็งขึ้นมาก คือมีการปฏิบัติในรูปแบบจริงหลายครั้ง เช่น รปภ.ประชุม รมต. อาเซียน หรือแม้กระทั่งการบริหารจัดการเรื่องม็อบ เราเรียกว่า learning by doing คือทำให้พัฒนา ความเข้าใจดีขึ้นมาก ที่ผ่านมา เขาอาจมองว่า เราถูกใช้แต่งานปราบม็อบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอธิบาย ให้เข้าใจ ต้องฝากว่า คนที่ไม่เข้าใจต้องไปดูบริบทให้ดี เราทำงานกอ.รมน.ไม่มีเลยที่ทำเกินกฎหมายที่ให้ ใครทำเกินกฎหมายก็โดนฟ้อง เป็นเรื่องปกติ ตอนนี้ยังไม่ใครฟ้อง กอ.รมน. แล้วศาลตัดสินและแพ้เลย
@บ้านเรามี กฎอัยการศึก พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ พรบ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร จะต้องทำให้เหลือเพียงตัวเดียวหรือไม่
พูดยาก แต่ถ้าความจำเป็นเราต้องดู ต้องพัฒนาควบคู่ แต่ผมมองว่า พรก.ฉุกเฉินฯ น่าจะโอนให้ กอ.รมน. เพราะอำนาจมันซ้อนกันอยู่ พรก. ฉุกเฉิน ฯ ไม่ใช่กฎหมายป้องกันพอเกิดเหตุแล้วประกาศ ในขณะที่ พรบ.ความมั่นคงฯ มันมีทั้ง2 แบบ คือ ป้องกันก่อนเหตุเกิด และ แก้ไขปัญหาตอนเกิดเหตุแล้ว ซึ่งหากมีแนวโน้มจะเกิดเหตุการณ์ ทาง กอ.รมน.ก็ประกาศได้ การจะยุบรวมกฎหมาย หรือ พัฒนากฎหมายก็ทำได้ แต่ตัวองค์กร คือ กอ.รมน. ต้องพัฒนาองค์กรให้สมบูรณ์แบบ มีความเป็นอาชีพจริง เพื่อแม้ทกันด้วยกับอำนาจของพระราชกำหนด เพราะ พระราชกำหนดอำนาจสูงกว่า ผมเรียนว่า เรื่องความมั่นคงนี่อยู่ที่การป้องกันไม่ให้เกิด ไม่ใช่เกิดแล้วไปตามไปแก้ไข เพราะพอเวลามันเกิดแล้วแก้ยาก
@หลังจากที่เคยมองว่า กอ.รมน.เป็นยักษ์ไม่มีกระบอง แล้วเมื่อมีการประกาศเป็น พรบ.ความมั่นคงในราชอาณาจักรปี 51 ทำให้กลายเป็นองค์กรที่มีอำนาจมาก
ใช่ ตอนนี้ กอ.รมน.เป็นยักษ์ที่มีกระบองแล้ว แต่เป็นกระบองที่เป็นกฎหมาย สมัยก่อนไม่มีกฎหมายในมือทำอะไรไม่ได้ แต่ตอนนี้มีกฎหมายในมือ และ ใช้อำนาจนี้ได้ แต่อำนาจนี้ไม่ใช่ใช้ได้ตามอำเภอใจ เป็นอำนาจที่มีสิ่งต่างๆ ที่ถ่วงดุลหลายอย่าง ส่วนที่ยังมองเรื่องรูปแบบของโครงการของ กอ.รมน. ที่แฝงภารกิจในการทำงานการเมืองนั้น อย่าง ชุดเฉพาะกิจปราบปรามยาเสพติด ปส.315 อาจจะเป็นการทำงานในสถานการณ์ที่สอดคล้องกับห้วงเวลาการเลือกตั้ง มันก็เลยตีความ ตีขลุม พอรัฐบาลเปลี่ยนทางรัฐบาลก็ให้เราทำต่อ อย่างโครงการกู้เศรษฐกิจด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เรามีศูนย์ปฏิบัติการที่ 6 ซึ่งชาวบ้านเขาชอบ เขาไม่มองว่าการลงพื้นที่เป็นเรื่องของการเมือง แต่ไปดูบริบทจริงๆ คุณจะรู้ เราหรือ เขาก็รู้ว่า จู่ๆ จะไปบอกให้เขาเลือกนั่น เลือกนี่ เขาจะเชื่อไหม ต้องไปอยู่ สองสามปี เขาจึงจะเชื่อเราได้ อย่าไปมองว่า กอ.รมน. ถูกการเมืองส่งไปให้ไปเปลี่ยนเลือกคนโน่นคนนี้ ชาวบ้านจะเชื่อไหม ไม่มีหรอก เห็นหน้ากันไม่กี่ครั้งแล้วไปบอกเขาให้เปลี่ยน ไม่มีทาง เขาลงไป เพราะลงไปดูจริงว่าปัญหาที่มันเกิดคืออะไร อย่างหมู่บ้านแดง เราก็ลงไปดูว่าอะไรที่มันเกิดปัญหา ผิดกฎหมายไหม ถ้าไม่ผิดก็ไม่มีอะไร ก็ปกติ
@แต่คนมองว่า กองทัพและรัฐบาลที่กองทัพเลือก ใช้ กอ.รมน. และกฎหมายความมั่นคงในเรื่องการชุมนุมในมวลชนที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม
ทุกอย่างมันเป็นเรื่องกฎหมาย มีขั้นมีตอน จะสังเกตได้ว่ากรณีของ การชุมนุมของคนเสื้อแดงมีการใช้ในลักษณะป้องกันก่อน มี ศอ.รส.แต่เมื่อสถานการณ์ไป รัฐบาลเป็นคนเลือกใช้ พรก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเลย กอ.รมน.ไปแล้ว แต่หากไปดูกฎหมายเราทำตามกระบวนการทุกอย่าง มีการตัดสินใจเป็นขั้นเป็นตอน แต่เรื่องม็อบที่ชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น เขาเข้าไปอยู่เต็มทำเนียบหมดแล้ว คือมันเลยไปแล้วจะไปไล่ให้ออกมา มีคนตายเจ็บเยอะ เพราะฉะนั้น มันคนละกรณีกัน คนตัดสินคือฝ่ายบริหาร นายกฯ ว่าจะใช้กฎหมาย หรือ อำนาจตัวไหนในการแก้ไขปัญหา แต่เราคิดว่า พรบ.ความมั่นคงฯ ถ้าเราใช้ให้ถูก เราจะป้องกันก่อนทุกอย่างจะบานปลายได้