ปริญญา เทวานฤมิตรกุล "ถ้าเอารัฐธรรมนูญ 40 กลับมา อีกฝ่ายจะระแวงว่าเท่ากับนิรโทษกรรม?"
รัฐบาลเพื่อไทยประกาศชัดเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ2550 หลังจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ที่รับผิดชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ประกาศนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญกลางที่ประชุมสภาระหว่างการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เริ่มจากแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ในต้นปีหน้า เพื่อตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ 99 คน จากนั้นเป็นหน้าที่ของ สสร. ที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทุกครั้ง ส่งผลให้บรรยากาศการเมืองร้อนระอุขึ้น กลุ่มผลประโยชน์ในรัฐธรรมนูญ ต่างออกมาเรียกร้องชุมนุมเพราะการแก้ไขกติกาแต่ละเรื่องล้วนกระทบต่อสิทธิ อำนาจ สถานะของกลามต่างๆ แต่การผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ดำเนินมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมาโดยพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง เพราะมองว่า สืบทอดจากรากการรัฐประหาร และมี เนื้อหาที่ควบคุม ตรวจสอบนักการเมืองแรงเกินไป ขณะที่กลุ่มเสื้อเหลือง ม็อบหลากสี มีจุดยืนชัดเจน คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงเวลาหรือยังที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ “ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอบคำถามและความจำเป็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ2550และมุมมองในการผลักดันการแก้ไขครั้งนี้
@สถานการณ์ขณะนี้ถึงเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือยัง
ถ้าจะปกครองกันในระบอบประชาธิปไตย เราก็ต้องมีรัฐธรรมนูญ เป็นกติกาสูงสุดที่ประชาชนจะยึดถือและใช้ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยร่วมกัน เพราะประชาธิปไตยมันเป็นการปกครองโดยต้องมีกติกา ประเทศอเมริกาตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี คศ.1787 บัดนี้ผ่านมา 224 ปี เขาไม่ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง แต่ของเรามีปัญหาเพราะเรามีวัฒนธรรมการเมืองที่ไม่เคารพกติกาและฉีกกติกา ทีนี้ถ้าตราบใดที่เราไม่สามารถทำรัฐธรรมนูญให้เป็นกฎหมายสูงสุดที่ประชาชนยึดถือและใช้เป็นกติกาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยร่วมกัน มันก็จะมีปัญหาไปเรื่อยๆ
ผมคิดว่า จากนี้ไปต้องมาตั้งหลักกันใหม่ว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุดที่ทุกคนต้องเคารพและปฏิบัติตาม เราขัดแย้งกันได้ แตกต่างกันได้ แต่ก็ต้องว่ากันตามกติกาและ รัฐธรรมนูญและมันจะไม่ใช่ของแค่คนสีหนึ่งสีใด แต่เป็นของทุกคน
ทีนี้ รัฐธรรมนูญ 2550 ทางฝั่งคนเสื้อแเดงกับพรรคเพื่อไทยเขารังเกียจเพราะมีที่มาจากการยึดอำนาจ 2549 แต่ถ้าจะเอาฉบับ 2540 กลับมา ซึ่งความจริงมีจุดเริ่มต้นจากรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน มาถึงตอนนี้มันได้กลายเป็นรัฐธรรมนูญสัญลักษณ์ของคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยไป คนอีกข้างก็จะไม่ยอมอีก และเกิดการทะเลาะกันอีก แล้วมันก็จะเกิดการระแวงกันจากฝ่ายตรงข้าม คือ ถ้าเอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาก็มีผลเท่ากับการลบล้างทุกอย่างหรือนิรโทษกรรม โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณทักษิณหลังจาก 19 ก.ย. 2549มา ใช่หรือไม่ เช่น คตส.เพราะเท่ากับว่า มาตรา 309 จะไม่มีต่อไป ซึ่งผลทางกฎหมายจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง แต่คนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับคุณทักษิณจะระแวงเช่นนั้น นั่นแปลว่า ถ้าเอารัฐธรรมนูญ 2540 กลับมา มันจะเกิดการทะเลาะกันอีกรอบ
ผมคิดว่า รัฐธรรมนูญ2550 ถ้าจะใช้ต่ออย่างนี้ก็มีปัญหาเพราะคนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยเขารังเกียจและเขาก็อ้างว่า เขาสัญญาหาเสียงไว้ว่า จะมาแก้ แต่แก้ด้วยการเอาปี 2540 กลับมา ก็จะเกิดปัญหาในวันข้างหน้าอีก
ผมเชื่อว่า เราต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นคนทุกคน ทุกสี ไม่ใช่แค่ของคนสีหนึ่งสีใด มิฉะนั้นก็ทะเลาะกันตาย ดังนั้น แนวคิดของประธานรัฐสภาที่จะใช้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ให้มี สสร.ขึ้นมาอีกชุด ผมว่าน่าสนใจ คือ ถ้าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเราต้องไม่ใช่แก้แล้วทะเลาะกันมากขึ้น ถ้าแก้ครั้งนี้ มันต้องทำให้เราหยุดทะเลาะกัน มันควรมีกติกาที่ควรเป็นของทุกคนอย่างแท้จริง และจากนี้ไปเราจะอยู่ใต้กติกาอันนี้ ดังนั้น ถ้าจะทำก็ควรทำในลักษณะแบบนั้น ผมขอเสนอว่า ถ้าหาก รัฐธรรมนูญปี 2550 จะใช้ต่อไปก็มีปัญหา ถ้าเป็นแบบนี้ ผมเสนอว่า ร่างใหม่เลยดีกว่า คือ แก้มาตรา 291 ให้มี สสร.เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
@ควรจะเร่งแก้หรือไม่
เราทำ ไปได้เลย เพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญถือเป็นกติกาสูงสุดที่ทุกฝ่าย ทุกสี ทุกพรรค ยืดถือร่วมกันไม่ว่า จะเห็นแตกต่างกันอย่างไร
ความจริงถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไรที่สะดุดขาตัวเอง หรือ ทำลายตัวเองก็จะมีเวลานิ่งๆ อย่างน้อย 1 ปี แต่ถ้าหากเป็นการทำลายตัวเอง สะดุดขาตัวเองเช่น เอารัฐธรรมนูญ2540กลับมา ก็จะเกิดการประท้วง แต่ถ้าเราเอาเวลานิ่งๆตรงนี้มาช่วยกันทำให้มันเรียบร้อยเพื่อจะหลีกเลี่ยงการทะเลาะกันครั้งใหญ่ในคราวหน้า ผมว่าการเมืองมันนิ่งแล้วทำเรื่องอย่างนี้ได้ ถามว่า ต้องเร่งด่วนภายใน 1-2 เดือนแรกไหม ก็ต้องดูลำดับความสำคัญของปัญหาที่มันเกิดขึ้น แต่คิดว่า ภายใน 2-3 เดือนแรกควรต้องเริ่มคิดเริ่มทำเรื่องนี้แล้ว
@โพลล่าสุดคนก็เป็นห่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะกลัวว่าจะมีปัญหาความขัดแย้ง
ทุกทีที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เกิดเรื่องขัดแย้งทุกที ตอนที่รัฐบาลสมัคร ถูกประท้วงจากพันธมิตรครั้งแรกก็เพราะเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ทีนี้ลำพังการแก้ไม่ใช่ปัญหา แต่ว่ามันเป็นการแก้โดยที่ระแวงกัน
@กลัวมาช่วยคุณทักษิณ
ใช่ครับ เพราะเขาระแวงมากที่จะเอารัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมา แปรว่า ตัดมาตรา 309 ออกไป ฉะนั้นสิ่งที่รัฐธรรมนูญประกาศรับรองไว้ เช่น ประกาศคปค. หรือ คตส. จะมีผลทางกฎหมายอย่างไร ในข้อนี้ผมยังวิเคราะห์ ไม่ได้ว่าผลจะเป็นอย่างที่กลัวอย่างนั้นหรือไม่ แต่คนจำนวนมากที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับคุณทักษิณเชื่อว่า มันจะก่อให้เกิดปัญหาเช่นนั้น คือ การช่วยคุณทักษิณ ฉะนั้น เขาก็จะระแวงไม่เอาฉบับปี 2540 กลับมา เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 มันสูญเสียสถานะความเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไปแล้วเมื่อ 3 ปีที่แล้ว มันกลายเป็นสัญลักษณ์ของคนเสื้อแดงอย่างเดียว ความจริงรัฐธรรมนูญ2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากประชาชน แต่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ด้วยความที่คนเสื้อแดงเรียกร้องมาตลอด มันก็เลยกลายเป็นสัญลักษณ์ของคนเสื้อแดงไปในทางการเมือง ฝ่ายตรงข้ามคนเสื้อแดงก็เริ่มปฏิเสธแนวทางนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นนี้คือ เรื่องนี้จะแก้ไขกันได้ มันก็ต้องไม่ทะเลาะกัน
ผมคิดว่า รัฐธรรมนูญ 2540 ถ้าพูดตรงไปตรงมา มันก็จุดอ่อนหลายจุด รัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีปัญหาหลายอย่าง คือ มีปัญหาทั้งคู่ ฐานะของการเป็นกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับก็มีข้ออ่อนทั้งคู่ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ2550 ก็ไปดึงเอาศาลมาสรรหา สว. และองค์กรอิสระก็มีปัญหา มันคือการทำให้คณะกรรมการตัดสินการแข่งกีฬา คือ ศาล ซึ่งเป็นองค์กรตัดสินในระบอบประชาธิปไตย คนก็เริ่มมีปัญหา ต่อความเชื่อถือที่มีต่อกรรมการ ถ้าหากว่า กรรมการเป็นคนเลือกตัวนักกีฬาที่แข่งกัน ต่อให้กรรมการตัดสินเที่ยงธรรม คนดูก็ไม่เชื่อ ทีนี้ถ้าคนไม่เชื่อกรรมการแล้ว กติกาก็ไม่มีความหมาย
ส่วนรัฐธรรมนูญ 2540 ก็มีปัญหาเพราะก่อให้เกิดการเมืองแบบผูกขาดขึ้น การตรวจสอบ ถ่วงดุลมีปัญหามาก สุดท้ายแล้วทั้งปี 2540และ ปี 2550 มันมีจุดอ่อนทั้งคู่ในแง่เนื้อหา และสำคัญกว่านั้นคือ รัฐธรรมนูญสองฉบับมันหนาทั้งคู่ ปี 2540 หนาถึง 37,000 คำ ปี 2550 หนาถึง 44,000 คำ ขณะที่ค่าเฉลี่ยของรัฐธรรมนูญไทยก่อนหน้าปี 2540 หนาเพียงแค่ 15,000 คำ ขณะที่รัฐธรรมนูญทั่วโลก ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10,000 คำ อเมริกาหนาแค่เพียง 7,000 คำ ใช้มาแล้ว 224 ปี ไม่เคยฉีกทิ้ง มีแต่การแก้ไข 28 ครั้ง ผมคิดว่า รัฐธรรมนูญมันจะเป็นกติกาสูงสุดของประชาชนได้ ก็ต่อเมื่อประชาชนสามารถรู้ได้ว่า กติกามีอะไรบ้าง เช่นเดียวกับการแข่งขันฟุตบอล กรรมการตัดสินถามว่า ทำไมกรรมการถึงไม่สามารถตัดสินให้ผิดไปจากกติกาเพราะคนดูรู้กติกาของการแข่งขันฟุตบอล ที่คนดูรู้เพราะกติกาไม่ซับซ้อน ไม่มากเกินไป ดังนั้นการแข่งขันฟุตบอลจึงไม่ได้ถูกควบคุมโดยกรรมการ แต่มันถูกควบคุมโดยคนดูต่างหาก เพราะคนดูรู้กติกา
เช่นเดียวกับ ระบอบประชาธิปไตย ถ้าหากกติกามันมากเกินไป กระทั่งไปถาม สสร.50 ก็ยังตอบไม่ได้เลยหลายเรื่อง เพราะมันเขียนยาวมาก สุดท้ายประชาชนก็ไม่ทราบว่า เพราะกติกาในรัฐธรรมนูญ 2550 มันซับซ้อนเกินไป ขณะที่ประเทศอเมริกา นักเรียนม.6 เขาสามารถเรียนรัฐธรรมนูญ ได้เพราะความยาวของเขาแค่ 7,000 คำ ดังนั้นนี่คือ จุดอ่อนของรัฐธรรมนูญปี 2540 และ รัฐธรรมนูญ 2550 คือ มันหนาเกินไป มันจึงไม่สามารถทำหน้าที่เป็นกติกาของประชาชนได้ เพราะประชาชนไม่มีทางจะรู้เลย มันกลายเป็นเรื่องผู้เชี่ยวชาญ นักกฎหมายมหาชน
@ทำอย่างไรที่จะทำให้สังคมเลิกระแวงเพราะจะเป็นการแก้ไขรธน.ครั้งใหญ่ในยุครัฐบาลเพื่อไทย
ขั้นตอนคือ ต้องแก้มาตรา 291 ก่อน เพราะมาตรานี้มันให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่อนุญาตให้ร่างใหม่ทั้งฉบับ ถ้ามีการแก้ไขมาตรา 291ก็จะมี สสร.ชุด 3 ก็ต้องมาคิดกันว่า องค์ประกอบของสสร.3 จะประกอบด้วยอะไรบ้าง และจะมีขั้นตอนให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างไร สุดท้ายก็ต้องมีการทำประชามติตัดสิน ฟังความเห็นประชาชนด้วย มาสสร. 2540 มีบล็อกโหวต เราสามารถออกแบบให้ดีกว่า ปี 2540
@นพ.เหวง โตจิราการ สส.พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ ถ้าแก้ไขรธน. เสร็จองค์กรอิสระก็จะพ้นจากหน้าที่
เรื่องบทเฉพาะกาลต้องมีอยู่แล้ว มันอยู่ที่ฉบับใหม่ ถ้าองค์กรมีอยู่ แต่ต้องการเปลี่ยนคน ก็เขียนบทเฉพาะกาลยากหน่อย แต่เรื่องนี้มันอาจก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งได้ในเวลาอันรวดเร็ว ผมคิดว่า สิ่งที่พรรคเพื่อไทยควรทำไม่ใช่แก้รัฐธรรมนูญแล้วมาทะเลาะกันมากขึ้น ไม่ใช่ได้เสียงข้างมาก แล้วจะทำทุกอย่างได้ เสียงข้างมากต้องฟังเสียงข้างน้อยด้วยและการแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าเสียงข้างมากดึงดันที่จะแก้ โดยไม่สนใจเสียงข้างน้อย ที่จะเกิดผลตามา แล้วจะทำให้เราทะเลาะกันมาก เสียงข้างมากก็จะอยู่ไม่ได้ ต้นทุนที่ได้มาในวันที่ 3 กค.ก็จะหมดอย่างรวดเร็วหากว่า ใช้อำนาจโดยไม่ฟังให้รอบด้าน แล้วผมย้ำว่า ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญแล้วทะเลาะกันมากขึ้น เราก็ไม่ได้ประโยชน์เราต้องแก้แล้วปรองดองกัน