ปาฐกถา:::"รศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย" ทำอย่างไรให้ทุกองคาพยพได้รับความยุติธรรม ในช่วงเปลี่ยนผ่าน
เมื่อเร็วๆ นี้ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดยมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ จัดงานปาฐกถาเสาหลักของแผ่นดิน ชุดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรและบริการพื้นฐานของประเทศไทย ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี รศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมด้านกระบวนการยุติธรรม”
รศ.ดร.จุฑารัตน์ กล่าวว่า แม้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านการยุติธรรมของปวงชนชาวไทยจะได้รับรองโดยรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายอีกหลายฉบับ แต่เอาเข้าจริง การเข้าถึงความยุติธรรมยังเป็นเรื่องยาก
"หากมองความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมไทย จะพบว่า มีลักษณะความแตกต่างใน 2 รูปแบบด้วยกัน โดยรูปแบบแรก คือปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในลักษณะดั้งเดิม ที่เกิดจากความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจและสังคม คนเกิดมายากจน ความไม่เท่ากันก็มีตั้งแต่ต้น เมื่อเดินเข้าสู่กระบวนยุติธรรมก็ย่อมรับความไม่เท่าเทียมตามไปด้วย
ส่วนรูปแบบที่สอง ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมลักษณะสมัยใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องของอำนาจในเชิงพื้นที่ทางสังคม คนที่มีอำนาจมากย่อมมีพื้นที่ อาณาเขตขนาดใหญ่ ทำให้คนที่มีอำนาจน้อยกว่ารู้สึกเหลื่อมล้ำจึงอยากจะได้พื้นที่เหล่านั้นมาเป็นของตนเองบ้าง หรือในขณะเดียวกันก็มองว่า อำนาจเหล่านั้นถูกช่วงชิงไปนานแล้ว จึงอยากเรียกกลับคืน ซึ่งในระยะหลังจึงเกิดปรากฏการณ์และวาทกรรรมยุติธรรม 2 มาตรฐานตามมา
ดังนั้น หากย้อนมาดูแนวคิดของความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม จะเห็นชัดเลยว่า เป็นความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้มีโอกาสและผู้ขาดโอกาส ในการเข้าถึงและการจัดการกลไกที่มีอำนาจในสังคม โดยเฉพาะอำนาจรัฐ จนก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมหลายเรื่องตามมา...
ทีนี้ในกรอบทรรศนะสังคมวิทยากฎหมาย สังคมจะมีความผูกพันกับกฎหมายราวกับเหรียญที่มีสองด้าน แต่ปัญหาที่ตามมาคือ เมื่อกฎหมายถูกกำหนดในลักษณะที่นิ่งอยู่เฉยๆ ในขณะที่สังคมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น กฎหมายต้องปรับปรุงใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับสังคม"
“กฎหมายฉบับหนึ่งปี 2400 เศษๆ เขียนว่า ถ้าไม่ยืนตรงเคารพธงชาติ ในเวลาแปดโมงเช้าและหกโมงเย็น จะมีความผิดได้รับโทษปรับเป็นเงิน 12 บาท ถามว่า สมดุลกับสภาพสังคมขณะนี้หรือไม่”
ขณะเดียวกันหากมองในกรอบทฤษฎีโครงสร้างทางสังคม มีการอธิบายถึงชนชั้นทางสังคม ชนชั้นสูง กลาง ต่ำ รวมทั้งสถานภาพของความยากจนและร่ำรวย ซึ่งหล่อหลอมรูปร่างของสมาชิกในสังคม จนเกิดปัญหาอย่างที่เห็น...
เมื่อดูจากความจริงข้างต้น สรุปว่า ความความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ก็คือ ปรากฏการณ์สังคมที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างและการกระทำทางสังคม ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้มีโอกาสและผู้ขาดโอกาสในการเข้าถึงและจัดการงานยุติธรรม อันเนื่องมาจากเหตุปัจจัยต่างๆ
ได้แก่ ตัวบทกฎหมาย นโยบายแห่งรัฐ ระบบยุติธรรม ความรับผิดชอบในวิชาชีพของบุคลากร ผู้นำกฎหมายไปบังคับใช้ ซึ่งบางครั้งพบว่า พฤติกรรมเลือกปฏิบัติ เช่น นโยบายปราบปรามยาเสพติด ซึ่งใช้วิธีการปฏิบัติโดยการชี้เป้า ขึ้นบัญชีดำ อีกทั้งการปฏิบัติที่ไม่รัดกุมก็ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำความไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกระทำ บางรายถูกค่าตัดตอน บางรายโดนโทษหนักกว่าที่ควรจะเป็น
ทีนี้ถามว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดจากอะไร?
คำตอบก็คือ กฎหมายไม่ยอมรับสภาพความไม่เท่าเทียมกันของผู้คน กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักได้ออกแบบให้คู่กรณีสองฝ่ายต่อสู้กันบนพื้นฐานที่เสมอกันในเรื่องของฐานะ ตามระบบคิดของกฎหมายที่ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า หญิง ชาย ทุกสีผิว ชาติพันธุ์เท่าเทียมกัน แต่ในโลกความเป็นจริงแล้ว สังคมมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง คนมีชนชั้น มีความแตกต่างในแบบที่กฎหมายคาดไม่ถึง...
“ค่าปรับ 5,000 บาทสำหรับคนจนอาจรู้สึกว่ามาก แต่คนมีสตางค์กลับเป็นเรื่องจิ๊บๆ หรือปรับ 200,000 คนรวยยังพอจ่ายได้ แต่ถ้าเป็นคนจนไม่มีแต้มต่อเพียงพอที่ในการสู้ต่อ สุดท้ายสิ่งที่เกิดตามมาคือ การยอมรับสารภาพ แม้จะไม่ผิดก็ตาม เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเงินทอง อีกทั้งหากรับสารภาพศาลจะลดโทษให้กึ่งหนึ่ง”
บ้านเรานิยมใช้วิธีการลงโทษด้วยกัน 2 แบบ คือ การลงโทษทางทรัพย์สินและชีวิตร่างกาย ซึ่งเมื่อเรานิยมใช้สายนี้ จึงทำให้คนเข้าไปอยู่ในคุกอย่างคับคั่ง
ตัวเลขจากการสำรวจข้อมูลสถิติอาชญากรรมทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2550 ร่วมกับกระทรวงยุติธรรมในเว็บไซต์ www.thaicvs.org ระบุว่า ในรอบปี 2550 มีอาชญากรรมที่ไม่ได้รายงาน (dark figure) 65.2% ส่วนที่มีการรายงานมีเพียง 34.8% เท่านั้น
ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนปัญหาอาชญากรรม ซึ่งเหมือนภูเขาน้ำแข็งที่เกิดขึ้นเยอะมากที่ต้นทาง แต่ด้วยความเบื่อหน่ายกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าก็เลยไม่ไปแจ้งความดำเนินคดี ทำให้อาชญากรรมในตอนต้นทางมีการจับกุมผู้ต้องหาเพียง 15.8% เท่านั้น
แต่ถึงกระนั้น เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลกลับปรากฏว่า มีจำนวนคดีเป็นแสนๆ คดี คุกรับไม่ไหว เพราะจำนวนนักโทษสะสมทบกันทุกปี กระทั่งอัตราสัดส่วนนักโทษของไทยในปี 2550 อยู่ที่ 253 คนต่อประชากร 100,000 คน เลยทำให้คุกในประเทศไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศสหรัฐอเมริกา
“สายพานของความแออัดคับคั่งดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากวิธีคิดของกระบวนการยุติธรรมไทยเอง ที่นำพื้นที่ของกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักกว่าร้อยละ 65% มาใช้ในการจัดการกับคดีที่ไม่สมควร คือคดีความผิดต่อศีลธรรม ได้แก่ ยาเสพติด การพนัน และความผิดที่กฎหมายกำหนดว่าผิด ได้แก่ การหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นความผิดที่อาจใช้วิธีการอื่นๆ แทนการใช้กระบวนการยุติธรรมได้ แต่กลับไม่มีการออกแบบทางเลือกไว้...”
ข้อเท็จจริงที่น่าประหลาดใจอีกประการหนึ่งคือ กระบวนการยุติธรรมไทยมีราคาแพง ทั้งๆ ที่การอำนวยความยุติธรรมเป็นบริการพื้นฐานเช่นเดียวกับการบริการด้านสาธารณสุขและการศึกษา แต่ผู้รับบริการด้านความยุติธรรมต้องเสียค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าบริการด้านอื่นๆ อีกทั้งบางเรื่องยังผลักภาระให้กับผู้รับบริการมากเกินไป ในฐานคติ ผู้ใช้บริการเป็นผู้จ่าย เช่น ถูกฉุดไปข่มขืน จะไปเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ผู้ฟ้องร้องต้องเสียค่าธรรมเนียมฤาชาไปก่อน...
หรือการดำเนินคดีที่ใช้ระยะเวลายาวนาน บางคดีใช้เวลากว่า 10 ปี 17 ปี จนพยานบุคคลล้มหายตายจากไปแล้ว ถามว่า ระยะเวลาที่ใช้ยาวนานนั้น สังคมได้ประโยชน์ ได้เรียนรู้อะไรบ้าง เพราะกว่าจะตัดสินลงโทษ ผู้คนก็ลืมเหตุการณ์กันไปหมดแล้ว อีกทั้งความยุติธรรมที่ล่าช้าก็ทำให้ต้นทุนสูงเกินจริง
ฉะนั้น บางอย่างบางเรื่องต้องตัดสินอย่างรวดเร็ว...
ทีนี้หากโฟกัสลงไปที่เหตุปัจจัยแห่งความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมไทย อย่างหนึ่งเลยมาจากตัวบทกฎหมายและการเลือกปฏิบัติ เช่น วงเงินการประกันตัวที่หฤโหดสำหรับคนยากจน การต่อสู้คดีตามกฎหมายกับวงเงินค่าใช้จ่ายมหาศาล ภายใต้กฎกติกาและกลไกกระบวนการที่ต้องอาศัยทนายความ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมืออาชีพ เป็นร่างทรงแก้ต่างตลอดกระบวนการ เพราะการออกแบบกระบวนการตามกฎหมายวิธีพิจารณาความที่ยุ่งยากซับซ้อนเกินกว่าที่คนธรรมดาจะใช้ภาษาทั่วไปต่อสู้คดีด้วยตนเองได้
ขณะเดียวกันกฎหมายยังมีช่องว่าง ระหว่างผู้รู้และผู้ไม่รู้กฎหมาย ที่มักตกเป็นเหยื่อสารพัด หรือบางทีก็มีการใช้กฎหมายเชิงเทคนิค ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีความรุนแรงเชิงโครงสร้างซึ่งเกิดจากกฎหมายและระบบยุติธรรม
อย่างเช่น กรณีความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมจากการประกาศเขตอุทยานทับที่ทำกินของชาวบ้าน ที่อยู่อาศัยกันมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า พอมาประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวน คนที่อยู่มาก่อนเลยกลายเป็นคนที่ทำผิดกฎหมาย ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว สุดท้ายก็ต้องติดคุก
ดังนั้น หากจะมีกฎหมายเกิดขึ้นสักฉบับ มันก็น่าจะมีขั้นตอนการจัดการ วิธีแก้ปัญหา เมื่อเกิดผลกระทบควบคู่มาด้วย
นอกจากนี้ การรับรู้เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน ในช่วงสถานการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 2553 ซึ่งมีการจับกุมผู้ต้องสงสัยในหลายกรณี โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จนทำให้ผู้ถูกจับกุมรู้สึกว่า กระบวนการยุติธรรมขั้นต้นทางถูกอำนาจของฝ่ายการเมืองเข้าแทรก และเป็นการตัดตอนกระบวนการยุติธรรม ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่ได้รับความเหลื่อมล้ำทางสังคมกลุ่มต่างๆ จะต้องได้รับการแก้ไขปรับเปลี่ยน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมให้อยู่ในสภาพที่คนส่วนใหญ่ทานทนได้ โดยเฉพาะคนยากจน...
สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายในการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม จะต้องปรับวิธีคิดในการเขียนกฎหมายให้มีทิศทางเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น นั่นคือการเขียนกฎหมายให้มีพื้นที่สำหรับคนชายขอบและผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ยอมรับความจริงร่วมกันว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีอำนาจต่อรองไม่เท่าเทียมกับประชาชนทั่วไป สมควรได้รับแต้มต่อในทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
“ส่วนการกำหนดนโยบายอาญาและการบริหารงานยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำจะต้องมีความชัดเจน และจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขกฎหมาย ให้คนยากจน คนด้อยโอกาสที่เสียเปรียบ มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น นอกจากนี้จะต้องปรับปรุงระบบการลงโทษทางอาญา ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแก่ประชาชน ตลอดจนพัฒนาศักยภาพองค์กรระดับชุมชน เพื่อเสริมพลังช่วยเหลือคนยากจนในทางคดีอีกด้วย”
อยากพูดอีกสองส่วนในเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องยุติธรรมสองมาตรฐาน หรือเรื่องยุติธรรมในเชิงอำนาจ ที่อาจไม่ใช่เรื่องทางเศรษฐศาสตร์หรือสังคม แต่เป็นเรื่องของอำนาจอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมองว่า บางแห่ง บางทีหรือบางแนวคิดสามารถนำพหุนิยมทางกฎหมายมาใช้ได้
พหุนิยมทางกฎหมาย (Legal Pluralism) คือปรากฏการณ์ทางสังคมที่มีชุดของกฎหมายสองชุดหรือมากกว่านั้น ดำรงอยู่ในสังคม คือมีกฎหมายของรัฐและกฎหมายหรือชุดกฎเกณฑ์ที่มีสภาพบังคับ ควบคุมสังคมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทับซ้อนกันในเวลาเดียวกัน เช่นอาจมีกฎหมายศาสนา กฎหมายจารีตประเพณี รวมไปถึงกฎหมายของสังคมท้องถิ่นใช้อยู่พร้อมๆ กัน อย่างประเทศมาเลเซีย สิงค์โปร์เขาก็ใช้กฎหมายตะวันตก แต่ก็มีช่องทางสำหรับใช้กฎหมายมุสลิม
แต่บ้านเราก็มีกฎหมายอิสลาม แต่ใช้เฉพาะเรื่องทางแพ่ง ซึ่งก็น้อยมาก ไม่เพียงพอต่อสังคม นั่นอาจเป็นเพราะเรายอมรับชุดกฎหมายเพียงชุดเดียว ดังนั้นถึงเวลาที่เราอาจต้องมองกฎหมายในหลายมิติ เพื่อจะได้พบว่า ทำไมออสเตรเลียถึงใช้กฎหมาย 2-3 ชุด นิวซีแลนด์ถึงเขียนกฎหมายให้ใช้วิธีการไกล่เกลี่ยก่อน ถ้าไม่สำเร็จค่อยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือนี่อาจเป็นข้อสังเกตที่ว่า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม
ต่อมาในส่วนที่สองคือเรื่องกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) ซึ่งน่าจะนำมาใช้ในสถานการณ์พิเศษ ใช้ในพื้นที่มีความรุนแรงทางการเมือง หรือหลังการเปลี่ยนระบบการปกครอง เพราะเมื่อเกิดความเสียหาย มีคนตายจำนวนมาก การสืบหาคำตอบว่าใครเป็นคนผิด คนที่เผาผิด หรือคนที่ไปจับผิด นับเป็นเรื่องยาก โดยเฉพะาหากเรายิ่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแบบแยกขาวดำ ไม่ผิดก็ถูก มันอาจกลายเป็นกระบวนการที่ทำให้ประเทศแยกเป็นเสี่ยงๆ ได้
แต่วิธีของยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเป็นวิธีที่คำนึงถึงการเยียวยาผู้เสียหายอย่างรอบด้าน ทั้งทางร่างกาย จิตใจ ตลอดจนพื้นที่ทางสังคม หากนำเข้ามาตรงรอยต่อระหว่างสังคม จะช่วยประคองให้สังคมดีขึ้น อีกทั้งก็ไม่ได้ลดทอนคุณค่าของยุติธรรมกระแสหลักแต่อย่างใด จุดนี้เองมันอาจทำให้สังคมมีที่เกาะ และนำพาให้ก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้
นอกจากนี้ ประเทศเราก็คงจะต้องปฏิรูประบบการเมือง นักการเมือง โดยเข้าไปรื้อโครงสร้างสังคม เข้าไปปฏิรูป หน่วยงานความมั่นคงทั้งหลาย ทหารมียุทธวิธียุทธศาสตร์อย่างไรในการควบคุมฝูงชนในสถานการณ์ความขัดแย้ง รวมทั้งต้องมีการเข้าปฏิรูปสื่อด้วย
สุดท้ายต้องสร้างจุดที่ระลึก จะเป็นอนุสาวรีย์ จดหมายเหตุหรือบันทึกเขียนไว้ก็ได้ เพื่อเราจะได้เรียนรู้วิกฤตที่ผ่านมาบนแนวคิดที่ว่า จะทำอย่างไรให้ทุกองคาพยพในสังคมได้รับความยุติธรรม ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน...