"นครินทร์ เมฆไตรรัตน์" หลักคิดทางการเมืองก่อน 3 กค.
อีกอึดใจเดียว ผลการเลือกตั้ง สส.ทั่วประเทศครั้งสำคัญก็จะปรากฎ แน่นอนไม่ว่า ใครชนะ ขั้วใดได้เป็นรัฐบาลย่อมจะมีผลอย่างมาก การทิศทางการเมืองไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ รศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มอง จุดเปลี่ยนครั้งนี้ผ่านการเลือกตั้งและเงื่อนไขที่อาจทำให้ประเทศคลี่คลายหรือ เพิ่มความขัดแย้ง ผ่าน “ไทยรีฟอร์ม” อย่างไร
@ความหมายของการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นเดิมพันประเทศ หรือ จุดเปลี่ยนประเทศ
มีความสำคัญมาก เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการชิงชัยกันระหว่าง 2 พรรคใหญ่ที่มีนโยบายแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด สำคัญคือ การเลือกตั้งครั้งนี้ ยังเป็นการชิงชัยกันจัดตั้งรัฐบาลเพื่อควบคุมทิศทางการบริหารประเทศ และเป็นการแข่งขันช่วงชิงกันหนัก ปกติในอดีตก็พอมีอยู่บ้าง แต่มันมีลักษณะที่เป็นมิตรมากกว่า แต่คราวนี้มันเป็นการเผชิญหน้ากันอย่างเอาจริงเอาจัง เห็นได้จากการต่อสู้กันทั้งในระดับเขต นโยบาย และ ในระดับของพรรคการเมือง
ความสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้ มันชี้ชะตาประเทศไทย ว่า เราจะเดินหน้าไปทางไหน เพราะ 2 พรรคมีจุดยืนแตกต่างชัด ประชาธิปัตย์มีนโยบายทางการเมืองที่ค่อนข้างจะเป็นตัวบทกฎหมาย โน้มเอียงไปในทางอนุรักษ์นิยมที่ยึดกฎหมายเป็นที่ตั้ง ยึดการใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวัง ยึดสวัสดิการของสังคม ขณะที่พรรคเพื่อไทยมีนโยบายทางการเมืองไปในทางประชานิยม และเน้นเสียงส่วนใหญ่ที่มาจากข้างล่าง
นอกจากนี้ พรรคหนึ่งได้คะแนนเสียงจากข้างล่าง อีกพรรคเป็นพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงจากชนชั้นกลาง และชนชั้นสูง ฉะนั้นบางคนจึงตีความว่า การแข่งขันครั้งนี้เป็นการต่อสู้กันระหว่าง ชนชั้นล่าง เผชิญหน้ากับชนชั้นสูง
@เป็นการเลือกในเชิงอุดมการณ์ด้วยหรือไม่ของสองขั้ว
ความจริงเรื่อง อุดมการณ์ มันคือ คำอธิบายความเชื่อที่มันเป็นระบบ มันมีหลักการที่อธิบายความเป็นมา และความเป็นอยู่ของสังคมว่าควรจะเป็นไปอย่างไร ในกรณีของทั้งสองพรรค ผมคิดว่า มีกลุ่มที่มีลักษณะอุดมการณ์อยู่ทั้งสองพรรค แม้ว่า ในระดับแกนนำบางคนมันไม่มีอุดมการณ์เลยก็ตาม อย่างอุดมการณ์ของคุณยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็ไม่มีอุดมการณ์อะไรที่ชัดเจน คุณเฉลิม อยู่บำรุง ก็ไม่ได้มีอุดมการณ์อะไรที่ชัดเจน แต่ในพรรคมันมีมุ้ง กลุ่มย่อยๆ อยู่ กลุ่มเหล่านี้ มันมีลักษณะที่เป็นอุดมการณ์ชัดเจน
@สะท้อนได้ไหมว่า ถ้าเราเลือกพรรคใหญ่พรรคไหน ก็เป็นอุดมการณ์หนึ่งไปแล้ว
ใช่ครับ... ผมเห็นด้วย เราสามารถอธิบายลักษณะแบบนี้ก็ได้ คือ ความจริง อุดมการณ์มันอาจจะไม่ประกาศอย่างชัดเจนในระดับหัวหน้าพรรค หรือ แกนนำบางคนของพรรค แต่ในระดับที่เป็นกลุ่ม หรือ จักรกลย่อยๆภายในแต่ละพรรค มันมีลักษณะที่เป็นกลุ่มอุดมการณ์อยู่
@การเลือกตั้งครั้งนี้มันจะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งหรือ ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไร
ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ทั้งสองพรรคมีพรรคหนึ่งพรรคใดชนะเลือกตั้งด้วยเสียงเด็ดขาดหรือไม่ ถ้าได้เกิน 250 เสียง พรรคนั้นก็จะมีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะความชอบธรรม สามารถสยบทางการเมืองได้ แต่ถ้าเกิด 2 พรรคได้คะแนนเสียงไม่ถึงครึ่งหนึ่ง ปัญหาตามมาคือ ผู้จัดการจัดตั้งรัฐบาลของแต่ละพรรค คือ ใคร และเขามีความยึดหยุ่นที่จะดึงคนกลาง เปิดกว้างให้กับพรรคเล็กพรรคน้อย หรือ คนนอกเข้ามามีส่วนร่วมมากน้อยเพียงไร
@จะก้าวข้ามความขัดแย้งมาสู่การปรองดองได้หรือไม่ อย่างที่หลายคนบอกว่า ก้าวแรกของการปรองดอง คือการยอมรับผลเลือกตั้ง
แน่นอน ไม่มีใครยอมรับ 100% การยอมรับคงเป็นการยอมรับในระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ยอมรับโดยไม่มีการโต้แย้ง การยอมรับ มันอาจจะทำให้คนนิ่งเฉยได้ซักพักหนึ่ง ซึ่งทำให้การเมืองสงบ และ อดทนรอที่จะมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในวันข้างหน้า การยอมรับผลการเลือกตั้งด้านหนึ่ง เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการที่จะ โอนอ่อน เข้าหากันด้วยการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมา และอีกฝ่ายก็ยอมที่จะอยู่อย่างสงบ ยอมรับรัฐบาลใหม่ที่เกิดขึ้น
@การเมืองหลังการเลือกตั้ง ประเทศจะวุ่นวายอีกแค่ไหน
ก็คงจะมีความวุ่นวายอีกระยะหนึ่ง แต่ผมคิดว่า ความวุ่นวายหลังการเลือกตั้งคงไม่มาก เท่ากับ 2 ปีที่ผ่านมา ขึ้นอยู่กับคนที่จะเป็นนายกฯเป็นสำคัญ ตัวนายกฯ จะเป็นตัวชี้ขาดว่า จะมีความวุ่นวาย มากหรือน้อยเพียงไร คนๆ นี้จะเป็นคนที่ช่วยผ่อนหนักเป็นเบา ทำให้เกิดบรรยากาศของการพูดคุยกันได้มากน้อยเพียงใดด้วย
@นายกฯประเภทใดที่จะทำให้เกิดบรรยากาศความขัดแย้ง วุ่นวาย
นายกฯที่มีคนเกลียดมากที่สุด แม้ว่าคนที่เกลียดนายกฯ นั้นจะมีน้อยมากก็ตาม เช่น มีคนเพียง 5-10% ก็ตาม แต่ถ้าเขาเกลียด นายกฯ คนนั้น ก็คงจะมีการต่อต้าน มีเรื่องวุ่นวายทางการเมืองต่อไปไม่จบสิ้น ผมคิดว่า นายกฯที่ดีในบรรยากาศแบบนี้ควรจะเป็นนายกฯที่ไม่มีคนเกลียด แต่ว่า อาจจะมีคนรักน้อยหน่อย
@คุณอภิสิทธิ์ กับ คุณยิ่งลักษณ์ ก็มีทั้งคนรัก และ คนเกลียดทั้งคู่
ก็ยอมรับว่า ทั้งสองคนมีคนรักทั้งคู่ และรักมากด้วย แต่ต้องอย่าลืมว่า ทั้งสองคนมีคนรักมาก และก็มีคนเกลียดมาก ทีนี้การที่มีคนเกลียดมาก และถ้าพรรคที่ชนะได้คะแนนเสียงไม่เด็ดขาดแบบฟ้าถล่มทลาย เราจะให้คนที่เกลียดเขา ยอมอดทนอยู่กับบ้าน ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ คนที่เกลียดมากก็คงจะมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป
@ประเมินได้ไหมว่า โอกาสที่พรรคใหญ่จะชนะเกินกึ่งหนึ่งหรือไม่
ผมเชื่อว่า พรรคใหญ่คงชนะใกล้ๆ ถึงกึ่งหนึ่ง ไม่ถึงกับชนะถล่มทลาย แต่ผมไม่มีข้อมูลในการสำรวจความเห็นประชาชนอยู่ในมือ ผมจึงเดาเรื่องนี้ได้ยาก
@โพลบอกว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งสูง คุณยิ่งลักษณ์ จะเป็นนายกฯ หลายฝ่ายห่วงเรื่องนิรโทษกรรม คิดว่า จะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสถานการณ์มากน้อยแค่ไหน
ผมให้ข้อคิดว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมาก พรรคเพื่อไทยก็มีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล แต่คุณยิ่งลักษณ์ ควรจะเป็นนายกฯหรือไม่ ควรจะต้องคิดให้หนัก ผมคิดว่า คนในพรรคเพื่อไทยที่มีชื่อเสียง เป็นคนกลางๆ ก็มีอยู่ด้วยกันหลายคน เช่น พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก คุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ก็เป็นคนที่ดี แต่เพื่อไทยก็ควรจะเป็นผู้บริหารรัฐบาล ส่วนการจะนิรโทษกรรมหรือไม่อย่างไร ก็ต้องดูความเป็นไปได้ทางกฎหมายด้วย การนิรโทษกรรมให้กับบุคคลคนเดียวกระทำไม่ได้ มันต้องมีขั้นตอนทางกฎหมายอีกมาก ซึ่งจะมีแรงต่อต้านจากประชาชนอีกด้วย
@ทุกพรรคหยิบเรื่องปรองดองมาพูด คิดว่า เนื้อหาของการปรองดอง คืออะไร
การปรองดองตอนนี้ มีความแตกต่างกันอย่างมาก สูตรของประชาธิปัตย์ เขาเน้นว่า การปรองดอง จะต้องไม่เอาคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาเป็นกรรมการร่วมด้วย ควรเอาคนนอกมาเป็นแทน แต่ข้อเสนอของหลายพรรคที่ผมสังเกตุเห็น เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา เสนอให้มีคณะกรรมการปรองดองโดยเอาผู้ที่มีส่วนได้เสียจากทุกฝ่าย รวมทั้งฝ่ายเป็นกลางด้วย เข้ามาประชุมร่วมกัน
ความเห็นของผม คือ ผู้มีส่วนได้เสีย ควรจะมีสิทธิ์เข้าประชุมด้วย เราต้องนึกถึง การปรองดองในระดับชาติ เช่น การแก้ปัญหานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือลองคิดดูซิว่า เกาหลีเหนือ ควรมีสิทธิ์เข้าประชุมหรือไม่ ซึ่งถ้าเราไม่ให้เกาหลีเหนือมาประชุมเลย มีแต่อเมริกา กับ จีน ญี่ปุ่น การปรองดองก็เกิดขึ้นได้ยาก เราต้องคิดถึงการปรองดองที่เกิดขึ้นจริงในระดับเวทีระหว่างประเทศด้วย ใช้รูปแบบของเขาให้เขามีส่วนได้เสียจากทุกฝ่ายเข้ามากำหนดความจริง การคุยกันในระยะแรกๆ ก็เพื่อหาประเด็นร่วมเท่านั้นเอง จากนั้น เมื่อได้แล้วก็เรียงลำดับความสำคัญ และก็หาแนวทางแก้ไขในแต่ละประเด็น ปัญหาบางเรื่อง อาจจะแก้ไขโดยกฎหมาย บางเรื่องแก้ไขโดยระบบงบประมาณเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม บางเรื่องคดีความก็ต้องแก้เรื่องคดี จะออกกฎหมายนิรโทษกรรม หรือ กฎหมายเยียวยาตามความเหมาะสม
กรรมการปรองดอง อาจจะมีหลายชุด แต่ผมเห็นว่า ควรให้ตัวแทนของผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีโอกาสพูดคุยถึงปัญหาที่ตัวเองได้รับความเสียหายนั้น ส่วนจะตกลงกันได้หรือไม่เป็นอีกเรื่อง อันไหนตกลงกันได้ ก็คุยกัน อันไหนตกลงไม่ได้ก็เก็บไว้ก่อน จากนั้นเมื่อได้แล้วก็กำหนดเงื่อนเวลาว่า อะไรควรจะทำก่อนทำหลัง
@ถ้ามองปรากฎการณ์ประชาธิปไตยขณะนี้ และการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น มันมีสัญญาณคลี่คลายในทางบวกใช่ไหม
ผมมีสัญญาณในทางบวก เพราะการที่แกนนำเสื้อแดงบางคน ลงมาสมัคร ส.ส. ก็เท่ากับเป็นพันธะสัญญาว่า เขาจะเล่นการเมืองในระบบ เอาปัญหามาพูดคุยกันในสภา ก็จะทำให้การต่อสู้บนท้องถนน ลดน้อยลงก็เป็นสัญญาณที่ดี รวมทั้งประสบการณ์ของฝ่ายรัฐบาลและผู้มีอำนาจด้วย ซึ่งการที่มีเหตุอะไรก็ตามที่ทำให้มีคนเสียชีวิต ฝ่ายรัฐบาล ก็คงไม่มีความสุข รัฐบาลก็ต้องเผชิญกับแผลทางใจไปอีกยาวนาน ต้องแก้ไข เยียวยาหาผู้กระทำความผิด ปัญหาเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คาราคาซัง ก็คงจะต้องมีบทเรียน การออกกฎหมายในการควบคุมการชุมนุม การควบคุมระยะเวลาในการชุมนุม การใช้อาวุธในการชุมนุม ก็ต้องมีมาตรการที่เข้มงวด รวมทั้ง ทหาร ตำรวจ ซึ่งก็มีบทเรียนอยู่มากว่า การควบคุมฝูงชนในการชุมนุมที่ดี ควรจะทำอย่างไร เพราะคนเราเรียนรู้ด้วยการลองผิดลองถูก พอเราทำผิดแล้ว ก็ไม่ควรทำซ้ำอีก
@ประชาธิปไตยไทยช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเรากำลังก้าวไปสู่อะไร
ระบบประชาธิปไตย คือ ระบบตัวแทน เรามีรัฐสภา มี ส.ส. ระบบตัวแทนมีเนื้อหาข้างในอยู่ 2-3 ชุด ซึ่งเป็นเมนูย่อยๆ ของมัน แต่ตัวแทนอันนี้ ถ้าเสียงข้างมากเป็นใหญ่ เรามีรัฐบาลพรรคเดียว เราเรียกว่า ระบบตัวแทนแบบเสียงข้างมาก ถ้าเป็นระบบตัวแทนโดยให้ทุกกลุ่ม ทุกพรรค มาจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกัน เราเรียกรัฐบาลแบบแบ่งปันอำนาจ คราวนี้มันยังมีอีกชุดหนึ่งคือ ถ้ามีหลักนิติรัฐ ควบคุม กำกับให้พฤติกรรมทางการเมืองเป็นไปโดยกฎหมาย เราเรียกว่า ประชาธิปไตยโดยหลักนิติรัฐ ซึ่งมีนิติรัฐเป็นแนวทาง เป็นกรอบใหญ่ในควบคุม
@ฝรั่งบอกว่า วันนี้ประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้ว คิดว่าเป็นอย่างนั้นหรือไม่
ผมเห็นด้วย วันนี้เราเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางการเมืองของเราไปมาก การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน เป็นเรื่องสาธารณะ การที่เปลี่ยนไปมากเพราะประชาชนได้เปลี่ยนแปลงไป ในอดีตการเมืองเป็นเรื่องของชนชั้นนำ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่ คนสมัคร ส.ส.แข่งขันกันเท่านั้น มันยังหมายถึง ผู้สนับสนุนพรรคการเมือง หัวคะแนน แกนนำชาวบ้าน คนเหล่านี้มีบทบาททางการเมืองอย่างมาก และเขาก็มีการตื่นตัวทางการเมืองสูง
@หลักคิดในการลงคะแนนวันที่ 3 ก.ค. คืออะไร
หลักคิดมี2 เรื่อง หลักพฤติกรรมทางการเมืองมี 2 หลัก 1. เลือกจากเหตุผลของแต่ละคน เราชอบใครเราก็ไปเลือก เบื้องหลังก็คือ ความเห็นแก่ตัวของแต่ละคนเพราะเหตุผลที่สุดคือ ความเห็แก่ตัวของแต่ละคน เราเห็นว่าพรรคนี้ทำดีให้เรา เราก็เลือก มีหัวหน้าพรรคที่ดีเราก็เลือก นี่เป็นปกติทางการเลือกตั้งโดยทั่วๆไป แต่ผมคิดว่า เรามีอีกหลักคือ การคาดหวังกับการเมือง หรือ การคาดคะเนทางการเมือง โดยเวลาเราเลือกตั้ง ก็เหมือนกับเราซื้อของที่เราจะชอบที่สุด ซึ่งเราจะคำนึงถึงผลดีผลเสียที่มีต่อตัวเราด้วย ความคาดคะเนในอนาคต พฤติกรรมในอนาคตด้วย คือ เราเลือกตั้งตามความคาดหวัง เช่น ของที่ดีที่สุด เราอาจจะไม่ซื้อมาก็ได้ คือ เป็นการคิดซ้อนขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง คือ เรารู้ว่า เราชอบพรรคนี้ แต่เราคิดซ้อนว่า เราเลือกตั้งเพื่อให้บ้านเมืองเป็นไปในทิศทางอันไหน ให้สงบร่มเย็นอย่างไร เป็นประชาธิปไตยอย่างไร ให้กฎหมายดำเนินการต่อไปได้อย่างไร ผมคิดว่า บทสำรวจของโพลหลายอย่าง บอกว่า คนไทยจำนวนมาก 30% ยังไม่ตัดสินใจและผมคิดว่า คนพวกนี้คงต้องคิดอะไรซ้อนไปอีกชั้น ไม่ได้คิดเรื่องเหตุผลของตนเองแบบปกติธรรมดา คือ เหตุผลของคนเรามันซ้อนได้สองชั้นเป็นอย่างน้อย เหตุผลชั้นหนึ่ง คือ เราชอบพรรคไหนเราก็เลือกพรรคนั้น แต่เหตุผลที่ซ้อนขึ้นไปอีก ถ้าเลือกพรรคนั้น แล้วพรรคนั้นมันไปทำอย่างที่เราต้องการได้หรือเปล่า การเลือกตั้ง คือ การหาเครื่องมือทางการเมืองอย่างหนึ่งเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่เราต้องการ เรียกว่า เป็นการโหวตในเชิงยุทธศาสตร์ เช่น ในประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างฝรั่งเศส การเลือกตั้งรอบแล้ว เราจะเลือกพรรคที่เราชอบเสมอ ซึ่งพรรคฝ่ายขวาจัดก็มักชนะทุกครั้ง แต่ถ้าเลือกรอบสอง เลือกเชิงยุทธศาสตร์ คนเราจะคิดซ้ำซ้อนขึ้นไปอีกชั้นว่า บ้านเมืองจะอยู่กับพวกขวาจัดได้หรือไม่ ในฝรั่งเศส ขวาจัดไม่เคยได้เป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสนะครับ เขาจะเลือกขวาอ่อนๆ เสมอ