สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ "อำนาจพิเศษ -ม็อบ –ทักษิณ ประเทศยังไม่พ้นความขัดแย้ง"
การเมืองหลังการเลือกตั้ง ได้รัฐบาลใหม่ หลายภาคส่วนเริ่มเป็นห่วงว่าจะมีความขัดแย้งระลอกใหม่ ไม่ว่าการนิรโทษกรรม การยอมรับผลการเลือกตั้ง ศ.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองการจัดตั้งรัฐบาลและเงื่อนไขที่อาจทำให้การเมืองไทยจมปลักอยู่กับความวุ่นวายในศึกใหม่
@จะมีปัจจัยอะไรที่ทำให้รัฐบาลใหม่ทำงานโดยไม่มีเหตุประท้วง
ถ้าหากกลุ่มการเมืองทุกกลุ่มเคารพกติกาของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ หากกลุ่มไหนได้รับการสนับสนุนจากรัฐสภาให้จัดตั้งรัฐบาล แล้วกลุ่มที่เหลือก็ยอมรับการเป็นรัฐบาลของกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุน ก็จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้ แต่หากว่า ไม่ยอมรับตามกติกา เช่น กลุ่มที่ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากสภาไม่ยอม พยายามที่จะตีรวน มันก็จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยก้าวไปได้ยากมาก เพราะหลักการของระบอบประชาธิปไตย ผู้ที่จะจัดตั้งรัฐบาล เป็นเสียงข้างมากเท่านั้น แน่นอนอาจมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วย แต่ก็ยอมรับกติกาคือ เมื่อคุณชนะก็ให้คุณบริหารประเทศ และพวกที่แพ้ก็จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบหรือเป็นฝ่ายค้าน ถ้าทุกฝ่าย ถือหลักการอย่างนี้ ระบอบประชาธิปไตยก็เดินหน้าต่อไปได้ แต่หากว่า ไม่เป็นไปตามหลักการนี้ ก็จะทำให้เส้นทางของระบอบประชาธิปไตยมีปัญหา อุปสรรคมากขึ้นทีเดียว และลักษณะของการไม่ยอมรับกติกา มันก็จะทำให้การเมืองไม่มีเสถียรภาพ
@ที่คนพูดถึงอำนาจพิเศษ จะเข้ามาแทรกแซง มองอย่างไร
เรื่องอำนาจพิเศษ เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศเรา และถ้ามันเกิดขึ้นมันก็ไม่เป็นความลับ เพราะใครไปทำอะไร มันก็รู้กันหมด และพอไปทำอะไรที่มันไม่เป็นไปตามกฎ กติกาปกติ อีกฝ่ายก็จะใช้เป็นข้ออ้างที่ไม่ยอมรับเช่น มีอำนาจพิเศษ มากำหนดให้กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดจัดตั้งรัฐบาล และการจัดตั้งเป็นไปตามอำนาจพิเศษแบบนี้ กลุ่มคนที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล เขาก็จะไม่ยอมรับและก็จะกล่าวหาและคัดค้านและก็จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยมันเดินหน้าต่อไปได้ยากมาก ฉะนั้นใครก็ตามที่พยายามใช้อำนาจพิเศษ ไม่ควรทำ เพราะว่าการกระทำเดี๋ยวนั้น มันจะเป็นการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยและก็จะทำให้เส้นทางของระบอบประชาธิปไตยมันไม่ราบรื่น
@ถ้ารัฐบาลใหม่มาด้วยอำนาจพิเศษ ก็จะทำงานยากลำบาก
ครับ ยากลำบากขึ้น เพราะว่า คนจะรู้ คือ วันนี้มันไม่มีใครทำอะไรแล้วเป็นความลับ ใครที่ทำอะไรแล้วไม่เป็นไปตามกฎ กติกา มันไม่เป็นความลับ เมื่อไม่เป็น..ผู้ที่เขาไม่เห็นด้วย เขาก็ต้องออกมาต่อต้าน คัดค้านและก็จะทำการเมืองมีอุปสรรคต่อไป และคนมาเป็นรัฐบาลด้วยวิธีนี้ก็จะไม่สง่างาม และก็จะถูกอีกฝ่ายประฌามได้ตลอดว่า เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชน แต่มาจากอำนาจนอกระบบ แนวทางอย่างนี้ไม่ควรจะทำให้เกิดขึ้น และจะเป็นผลเสียต่อระบอบประชาธิปไตย
@มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งในรัฐบาลใหม่
เรื่องความขัดแย้งภายในรัฐบาลคงมีน้อย..แต่ว่ามันจะมีความขัดแย้งกับกลุ่มที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล คือ กลุ่มฝ่ายค้าน ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล ก็อาจจะมีปัญหากับ กลุ่มฝ่ายค้าน และก็ปัญหานี้จะเป็นปัญหาที่มากกว่า เช่น วันนี้เราก็เห็นว่า มีสองกลุ่มที่จะตั้งรัฐบาล ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้อันดับ1แล้วจัดตั้งรัฐบาลปัญหาน้อยลงหน่อย แต่ก็ยังมีปัญหา เพราะฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ก็คงจะหาเหตุที่จะทำลายความเชื่อถือของพรรคประชาธิปัตย์ได้ตลอดเวลาเหมือนกัน ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ถ้าได้กลับมาเป็นรัฐบาล ก็มีกลุ่มคนที่กดดันพรรคประชาธิปัตย์อยู่ 2 กลุ่มใหญ่ คือ นปช. กับพันธมิตร ส่วนถ้าพรรคเพื่อไทยมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยได้เสียงอันดับหนึ่งมาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล กลุ่มที่จะทำหน้าที่กดดันหลักของพรรคเพื่อไทย คือ กลุ่มพันธมิตร และมีโอกาสมากที่กลุ่มพันธมิตรจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง เพราะการที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลยังมีประเด็นให้กลุ่มพันธมิตรนำมาใช้ในการทำลายความชอบธรรมของพรรคเพื่อไทยได้มาก มีทั้งเรื่องปัญหาชายแดน ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีแนวโน้มประนีประนอมกับเขมรและปัญหาของคุณทักษิณ ซี่งพรรคเพื่อไทยคงมีประเด็นที่จะต้องดำเนินการต่างๆ เพื่อคลี่คลายคดีของคุณทักษิณ ฉะนั้นก็จะเป็นเหตุทำให้กลุ่มพันธมิตรฟื้นพลังขึ้นมาได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนทางภาคใต้ที่เคยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อตอนประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล และถ้าประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นรัฐบาล กลุ่มเหล่านี้ก็อาจมาสนับสนุนพันธมิตร ทำให้พันธมิตรมีพลังเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้น พรรคเพื่อไทยก็จะต้องเผชิญกับการกดดัน
ดูแล้ว จะมีแค่ สอง ขั้วในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ถ้าประชาธิปัตย์ไม่ได้เสียงข้างมาก แล้วจัดตั้งรัฐบาลก็จะมามีเสียงครหามากเกี่ยวกับ “อำนาจนอกระบบ” จริงหรือไม่ก็จะมีเสียงครหา แล้วทำให้ เสถียรภาพของรัฐบาลภายใต้ การนำของประชาธิปัตย์ไม่ดี
@ไม่ว่าขั้วใดเป็นรัฐบาล ก็จะต้องเจอกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จะมีปัจจัยอื่นอีกไหมที่ทำให้รัฐบาลอยู่ลำบาก
ผมคิดว่า โดยสภาพความขัดแย้งพื้นฐานจะทำให้การเมืองหลังเลือกตั้งไม่ราบรื่น และหากว่า พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และผลักดันการนำรัฐธรรมนูญ 2540 ไปใช้ คือ การนิรโทษกรรมคุณทักษิณ ก็จะเป็นเปอร์เซ็นต์ที่จะทำให้เกิดความไม่สงบในทางการเมืองมากทีเดียว และก็มีแนวโน้มที่เป็นไปได้ คือ ในขณะที่พรรคเพื่อไทยเชื่อมั่นว่า มีผู้สนับสนุนคุณทักษิณ จำนวนมาก ในสังคมวันนี้ก็มีคนอีกจำนวนมาก ที่ไม่สนับสนุนคุณทักษิณ ดังนั้น ถ้าไม่นำประเด็นคุณทักษิณ มาพูด สังคมก็เงียบๆ แต่เมื่อไรที่เอาเรื่องคุณทักษิณ มาพูด ก็จะมีคนที่ไม่เห็นด้วย ออกมาขัดขวางจำนวนมากขึ้น
@บุคลิกของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่คนส่วนใหญ่เหมือนจะชื่นชอบกับกระแสนี้ คิดว่า คุณยิ่งลักษณ์ จะแก้ปัญหาความขัดแย้งทั้งหมดได้หรือไม่
เรื่องของการนำประเทศ มันไม่ใช่เรื่องของแฟชั่นนะครับ แฟชั่นมันอาจจะนิยมกันวูบวาบได้ และประเทศก็ไม่ใช่บริษัท และมันก็เกี่ยวข้องกับชีวิตสาธารณะจำนวนมาก ฉะนั้น คุณยิ่งลักษณ์ ยังไม่เคยผ่านการทดสอบในเรื่องการตัดสินใจเกี่ยวข้องกับชีวิตสาธารณะ การจะดูว่า คุณยิ่งลักษณ์รับมือได้มากขนาดไหนก็ต้องดูการตัดสินใจเมื่อเกิดวิกฤตทางการเมืองที่คุณยิ่งลักษณ์ต้องตัดสินใจ ตรงนั้นจะพิสูจน์ว่า คุณยิ่งลักษณ์จะรับได้ดีมากน้อยแค่ไหน
@แต่คุณยิ่งลักษณ์บอกว่า มีทีมงานที่ดีจากคุณทักษิณและ บรรดา 111 ของพรรค
การปกครองประเทศ การตัดสินใจของผู้นำถือจะมีความสำคัญสูงสุด และในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ผู้นำต้องมีการตัดสินใจที่เด็ดขาด จะพึ่งพาอาศัยหรือ รอคำแนะนำจากคนอื่น ก็ไม่ทันการณ์ ไม่อย่างนั้นในโลกนี้ก็มีผู้นำกลุ่ม มากกว่า ผู้นำเดี่ยว ในโลกทุกวันนี้ นักการเมืองต่างๆ ก็คือ ผู้ตัดสินใจสุดท้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสามารถของผู้นำ ถ้าเราเห็นว่า โดดเด่นมากน้อยแค่ไหนก็จะดูการตัดสินใจในช่วงวิกฤต ถ้าเป็นช่วงปกติ ใครจะก็ทำได้หมด มีคนนำเสนอมา ก็เห็นชอบตามที่เสนอ เป็นการนำตามที่เสนอ ก็จบนะครับ แต่ช่วงที่เวลาที่มันวิกฤตและผู้นำต้องตัดสินใจในทางเลือกที่ดีที่สุด มันก็จะเป็นการบ่งบอกถึงภาวะผู้นำของนักการเมืองคนนั้น
@ถ้าตั้งธงว่า เพื่อไทยมีแนวโน้มสูงในการเป็นรัฐบาล ทีนี้จากความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นอยู่ซึ่งยุ่งยากพอควร แต่ความขัดแย้งกับชนชั้นนำที่พรรคเพือไทยมีอยู่ รวมถึงการหมิ่นสถาบันที่แกนนำคนเสื้อแดงต้องคดี กองทัพบกก็เรียกร้องให้ดูแลตรงนี้ คิดว่า ความขัดแย้งนี้จะเป็นปัญหากับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยหรือไม่
มันเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเอง ประเด็นต่างๆ มันเป็นองค์ประกอบของความเป็นเพื่อไทยในวันนี้ ฉะนั้น เมื่อมันเป็นองค์ประกอบ และก็ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยก็มาจากองค์ประกอบต่างๆเหล่านี้มันก็คงหนีไม่พ้นจากสภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ และก็มีโอกาสมากที่จะเป็นความขัดแย้งอีกลูกใหญ่ เพราะการเมืองไทยมันเปราะบาง นี่ก็เป็นประเด็นที่เป็นเนื้อใน และ ตัวตนของเพื่อไทยและเป็นปัญหาของพรรคเพื่อไทยที่แก้ไม่ได้เอง คือ เป็นปัญหาที่พรรคเพื่อไทยจะแก้ด้วยความยากลำบาก
@สมัยรัฐบาลสมัคร ที่ประกาศความจงรักภักดีต่อสถาบัน ยุคนั้น จักรภพ เพ็ญแข ก็ต้องลาออกรมต.ประจำสำนักนายกฯ กรณีหมิ่นสถาบัน
พอสมควร มันทำให้เกิดความคลางแคลงใจต่อพรรคเพื่อไทย เพราะไม่ว่า พรรคเพื่อไทยจะดำเนินนโยบายใด ๆ ก็จะเกิดความไม่เชื่อใจว่า ทำได้ หรือ ทำโดยความบริสุทธิ์ใจจริงหรือไม่ นี่จะเป็นปัญหา คือ ตอนที่ยังไม่ได้เป็นรัฐบาล ยังไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นรัฐบาลเมื่อไร ประเด็นเหล่านี้จะกลายเป็นประเด็นปัญหาทางการเมืองไป
@จุดยืนที่แตกต่างกันระหว่างผู้นำกองทัพ กับ พรรคเพื่อไทยจะเป็นปัญหาใหญ่ไหม
ในอดีต คนเป็นรัฐบาลจะแก้ปัญหานี้ได้ง่าย ด้วยการเปลี่ยนตัวผู้นำกองทัพ เอาคนของตัวเองขึ้นมาเลย แต่ปัจจุบัน กลไกนี้มันถูกแก้ไขไปแล้ว การจะเปลี่ยนผู้นำของกองทัพ ไม่ว่า จะเป็นผู้บัญชาการทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ผบ.สส. มันต้องผ่านสภากลาโหม แล้วสภากลาโหมมันก็มีบุคคลเหล่านี้เป็นองค์ประกอบอยู่ จะไปสั่งเปลี่ยนโดยพลการ เหมือนในอดีตไม่ได้ แล้วกฎหมายนี้แก้ในสมัยที่รัฐประหาร 19 กันยา 2549 คือ เขาได้แก้เพื่อไม่ให้นักการเมืองเข้าไปล้วงลูก แต่งตั้งในตำแหน่งสำคัญ ฉะนั้น ฝ่ายการเมืองจะเข้าไปใช้อำนาจปรับเปลี่ยนตัวผู้นำของตนหรือที่ตนเองไว้ใจเพื่อคุมกองทัพเหมือนอย่างในอดีต ทำไม่ได้ง่าย ฉะนั้น ถ้าผู้นำกองทัพ มีความเป็นเอกภาพก็จะทำให้รัฐบาลแทรกแซงยากขึ้น
@โอกาสจะเกิดรัฐประหารก็ยังไม่ปิดประตูใช่ไหม
เรื่องรัฐประหาร ถ้าไม่พูดถึง ก็จะดีกว่า และมันไม่เป็นประโยชน์กับประเทศ และก็ไม่ควรจะมีรัฐประหาร มันควรจะแก้ไขด้วยแนวทางอื่น คือ ผมเห็นด้วยกับการที่กองทัพต้องมีจุดยืนของเขา ไม่ไปรับใช้การเมือง การเมืองก็จะเข้าไปครอบงำเขาไม่ได้ แต่จุดยืนนั้นก็ต้องเป็นจุดยืนที่ถูกต้อง กล่าวคือ ฟังนโยบายจากรัฐบาล กองทัพก็มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามในการรักษาความมั่นคงของประเทศ และปกป้องราชลบังลังก์ที่ต้องเป็นจุดยืนของกองทัพ
@ฟันธงได้ไหมครับว่า วินาทีนี้ โอกาสขั้วไหนจะเป็นรัฐบาล
ผมเพิ่งมาดู นิด้าโพล ครั้งสุดท้าย มันมี 60% ยังไม่ตัดสินใจ และพรรคการเมืองก็มีอีก 40-50% ฉะนั้นโพลนี้ไม่เที่ยงตรง มันมีคนไม่ตัดสินใจเยอะ แล้วเวลาไปลงคะแนนเสียง คนที่ไม่ตัดสินใจ เขาตัดสินใจแล้วเราไม่รู้ว่า เขาตัดสินใจขึ้นมา ดังนั้น วันนี้โพลก็ยังไม่เที่ยงตรง ไม่ว่าสำนักไหน โดยเฉพาะโพลที่มีกลุ่มคนที่ยังไม่ตัดสินใจจำนวนมาก ยังไงก็ไม่เที่ยงตรง
@ที่จริงแล้วเขาตัดสินใจแล้วหรือเปล่า แต่เขาไม่บอกโพลเอง
ใช่ๆๆๆ เขาตัดสินใจแล้ว แต่เขาไม่บอกเรา มันก็ไม่รู้ว่า ตกลงเขาเอาใคร
@โอกาสที่รัฐบาลใหม่บริหารประเทศแล้วเกิดม็อบ และจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงอีกหรือไม่ เพราะเรามีบทเรียนมาแล้ว
ผมคิดว่า ความรุนแรงจากการชุมนุมเคลื่อนไหวต่างๆ คนจะน้อยลง เพราะกลุ่มการเมืองต่างๆ คงได้บทเรียนแล้วว่า ประชาชนไม่สนับสนุน ความรุนแรง จริงๆ แล้ววันนี้ กลุ่มการเมืองที่ยังมีศักยภาพในการเคลื่อนไหวอยู่ก็เพราะว่า เวลาประกาศชุมนุม แล้วมีคนออกมาชุมนุมด้วย แต่กลุ่มการเมืองจะหมดความหมายทันที เมื่อประกาศชุมนุมแล้ว ไม่มีคนมาชุมนุมด้วย มันก็จะเป็น อวสานของกลุ่มการเมืองต่างๆ เหล่านั้น ฉะนั้น เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนเห็นว่า ทำไม่ถูกก็จะไม่มีคนมาชุมนุม ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็จะไม่มีกลุ่มไหนยั่งยืน
@บางคนบอกว่า รัฐบาลหน้าจะอยู่ได้ ไม่ยาวนาน อาจจะแค่ปีเดียว เพราะความขัดแย้งเยอะ
ระบบรัฐสภาเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้รัฐบาลอยู่ได้ไม่ครบเทอม แต่ถ้าเป็นระบบแบ่งแยกอำนาจ เขาอยู่ครบเทอมเลย เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเชีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน เขาอยู่ครบเทอม แต่ของเราเป็นระบบรัฐสภา ที่ตัวโครงสร้างระบบ มันเปิดโอกาสให้ มีการยุบสภาได้ มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ฉะนั้น โอกาสที่จะไม่ครบเทอมมีอยู่เสมอ โดยเฉพาะในสภาวะที่เป็นรัฐบาลผสม และสถานการณ์ทางการเมืองไม่มีเสถียรภาพ โอกาสที่จะอยู่ไม่ครบจะมีมาก
@คิดว่า คุณทักษิณมีความพยายามจะกลับไทยปลายปีนี้จริงหรือไม่ หรือ แค่สร้างกระแส
คุณทักษิณ ทุกวินาทีคิดกลับประเทศไทยตลอด การสนับสนุนให้คุณยิ่งลักษณ์ มาเป็นบัญชีหมายเลข1 โดยบอกว่า หัวหน้าพรรคไม่ต้องเป็นนายกฯ แต่ให้บัญชีหมายเลขหนึ่งเป็นนายกฯ และก็การที่คุณทักษิณ ไม่เลือกพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ไม่เลือก มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ มาเลือกน้องสาวที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองเลย ก็แสดงว่า คุณทักษิณมีบทเรียนมาแล้วว่า คนอื่นไว้วางใจไม่ได้ ฉะนั้นจึงเลือกคุณยิ่งลักษณ์มาเป็นตัวแทนในการดำเนินการทางการเมืองทั้งหมด ก็ชัดเจนเพราะคุณทักษิณบอกแล้วว่า คุณทักษิณเป็นคนคิด เพื่อไทยเป็นคนทำ คุณยิ่งลักษณ์ก็บอก ทักษิณคิด ยิ่งลักษณ์ทำ ทั้งหมดก็แสดงว่า แนวคิดของคุณทักษิณในเรื่องของการเมืองนั้น เป็นแนวคิดที่มุ่งมั่นจะกลับมาประเทศไทยและไม่ใช่จะกลับมาธรรมดา แต่มุ่งมั่นจะกลับมามีอำนาจต่อเนื่องด้วย คุณทักษิณ มีความเชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทยเป็นฐานอำนาจทางการเมืองที่สำคัญและก็จะทำให้ตัวเองกลับมามีอำนาจได้
@ที่คุณทักษิณพูดกับสื่อต่างประเทศจะกลับเดือนธ.ค.นี้ แสดงว่า เขาคิดจริง
มันเป็นการโยนหินถามทาง บอกให้รู้เป็นนัยๆ ไว้ก่อน รอฟังเสียงสะท้อนกลับมาซิว่า เป็นอย่างไร ถ้ายังมีเสียงต่อต้านเยอะ ก็จะเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ หรือ มีเสียงต่อต้านน้อยก็จะเดินหน้าต่อไปได้ง่าย
@แต่ถ้ายิ่งลักษณ์เดินนโยบายนิรโทษกรรมและคุณทักษิณได้ประโยชน์ก็จะเป็นชนวนความขัดแย้งได้
มาก..เป็นที่มาของความขัดแย้งมากทีเดียว และมีผลต่อการเมืองไทยในอนาคตหลังเลือกตั้ง