สัมภาษณ์..."น.อ.ดร.สมัย ใจอินทร์" พรรคการเมืองชูนโยบายพลังงานแค่ 4 บรรทัด
"ผมได้ไปดูข้อมูลตามเว็บไซต์ของทุกพรรคแล้ว
พบว่า บางพรรคมีนโยบายด้านพลังงานเพียงแค่ 4 บรรทัด
4 บรรทัดกับการบริหารจัดการด้านพลังงานที่มีค่าใช้จ่าย 1.8 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา”
ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ใน พ.ศ.นี้ ไม่ว่าจะพรรคเล็ก พรรคใหญ่ต่างเปิดตัวแคมเปญสวยหรู ลด-แลก-แจก-แถมกันเต็มสูบ หวังซื้อใจประชาชนชุดใหญ่ ขณะเดียวกันก็ผุดนโยบายใหม่ๆ รายวัน ชนิดที่ว่า อันไหนดี เด็ด ดัง สร้างกระแสได้ ก็จับไมค์ ประกาศทันที
แต่ทว่า นโยบายหนึ่งที่ดูเหมือนจะเงียบเหงา และยังไม่มีพรรคไหนหยิบขึ้นมาขายเลย นั่นก็คือ นโยบายด้านพลังงาน นาวาเอก ดร.สมัย ใจอินทร์ นักวิชาการด้านพลังงาน กูรูผู้คร่ำหวอดกับการศึกษาวิจัย ทดลองด้านพลังงานทดแทน รับอาสาเปิดข้อมูลให้กับ "ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย" หลังจากไล่ดูทุกเว็บไซต์ของทุกพรรคการเมืองแล้ว
@ คิดยังไง กับนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ด้านพลังงาน
...เวลานี้กระแสประชานิยม กระแสนิรโทษกรรม กลบกระแสอื่นๆหมด
วันนี้ไม่มีใครพูดถึงความอ่อนแอ หรือปัญหาในเชิงโครงสร้างเลย ไม่ว่าจะนโยบายด้านพลังงาน เศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งเรื่องของการต่างประเทศ ไม่มีใครพูดว่าก้าวจากนี้ไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เมื่อรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว ประเทศจะมีทิศทางอย่างไร
@ อะไรที่ทำให้พรรคการเมืองไม่ค่อยมีนโยบายด้านพลังงาน
(ตอบสวนทันที) เขามีนะ แต่ขึ้นอยู่กับว่า มีแล้วผลักดันให้ใช้มากน้อยแค่ไหน เพราะเท่าทีติดตาม พอแถลงต่อนโยบายรัฐสภาเป็นคนละเรื่องกันเลย
@ ถ้าอย่างนั้น ความเป็นไปได้ของนโยบายด้านพลังงาน ในแต่ละพรรคจะเป็นอย่างไรนั้น
ขณะนี้ก็ชัดเจนว่า "นิวเคลียร์" ไม่มีพรรคไหนเอาด้วยสักพรรค เพราะปัญหาที่ฟูกูชิมา ความเสี่ยง รวมถึงด้านการลงทุน มีมากเกินไป ดังนั้น นโยบายช่วงต่อไป นิวเคลียร์ก็คงไม่เกิด
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องกลไกการบริหาร ผมคิดว่าวันนี้ ยังไม่มีการตอบคำถามเชิงโครงสร้างหลายเรื่อง นโยบายของพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่ได้มีความแตกต่างกันในหลักคิดเลย ใครเข้ามาต้องอุ้มราคาน้ำมันดีเซล เพราะกลัวเสียคะแนนใครเข้ามาก็ต้องอุ้มแอลพีจี เพราะกลัวว่าราคาสินค้าจะขึ้น
แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และเป็นปัญหาที่ต้องพูดตรงๆ ว่า ตราบใดที่เป็นรัฐบาลผสม (ซึ่งก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นรัฐบาลผสม) การตัดสินใจในเรื่องเหล่านี้ก็คงมีลักษณะ ‘ดึงกันไป ดันกันมา’ ในที่สุด นโยบายก็คงทิศทางเดิม
ที่นี้ ทิศทางเดิมๆ ของรัฐบาลชุดใหม่ จะมีหน้าตาอย่างไร ก็คงใช้ได้คำเดียวว่า เหมือนปัจจุบัน
นั่นคือ ในเรื่องน้ำมันก็ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกการตลาด ที่วันนี้ ปตท. คุมตลาดหลักๆ ของน้ำมันและก๊าซไว้หมดแล้ว ส่วนในเรื่องของก๊าซ ที่ผ่านมาก็ถือว่า บริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ใช่ว่าจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป
เพราะในช่วงใกล้หมดอายุของรัฐบาลหน้า สมมุติว่า หากอยู่ครบ 4 ปีก็ประมาณปี 2559 ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะเริ่มพร่อง!!
ถึงวันนั้นผมคิดว่า เราคงต้องพึ่งก๊าซจากประเทศเพื่อนบ้านหรือพม่ามากขึ้น เพราะก๊าซเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตไฟฟ้า ชนิดที่ว่า ไฟฟ้าในบ้านเรา 70 เปอร์เซ็นต์มาจากก๊าซ และถึงแม้ว่า การใช้ก๊าซจะไม่ถูกทางที่สุด แต่ก็เป็นมาตรการที่ง่ายที่สุดสำหรับคนไทย ขณะเดียวกัน โครงสร้างหลักๆ ดังกล่าว นโยบายของรัฐก็ไม่ได้เข้าไปมีส่วนกำกับอะไรมาก
@ คิดอย่างไรกับการตรึงราคา
เป็นเรื่องผิดพลาดมาก รู้ทั้งรู้ว่าเป็นนโยบายชั่วคราว ทำได้ไม่ตลอด ทำแล้วก็ต้องเลิก ยิ่งพอทำนานเข้าจะเลิกก็เลิกไม่ได้ เพราะกลายเป็นว่า ฝั่งไหนเลิก ฝั่งนั้นโดน
@ นโยบายด้านพลังงานของพรรคไหนที่เข้าตาบ้าง หรือจะทำได้จริงบ้างไหม
ทุกพรรคก็พรรณนาไว้สวยหรูหมด จะทำพลังงานทดแทนให้ดี ให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งผมก็เห็นด้วยว่า ดี แต่เอาเข้าจริงก็จะเหลือแค่ 4-5 ข้อทุกที ดังนั้น ผมว่า พูดแล้วต้องทำด้วย ไม่เช่นนั้น ผมว่าสักวันน่าจะต้องมีคนเอาสิ่งที่พรรคการเมืองแถลงต่อสภาขึ้นศาลปกครองซักที...(ตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่น)
แต่อย่างน้อยที่เขียนๆ กันมา ผมก็จำไม่ค่อยได้นะว่าพรรคไหนที่บอกว่า ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการใช้พลังงานทดแทนของทวีปเอเชีย จะเป็นแนวหน้าให้ได้ ซึ่งจริงๆ ประเทศไทยก็เกือบจะเป็นอยู่แล้ว แต่ใจเราไม่ถึงพอ ไม่ว่าจะใจของรัฐบาลหรือข้าราชการประจำเองก็ตาม
พูดตรงๆ บ้านเรามีข้าราชการประจำเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารประเทศ แต่ข้าราชการประจำต่างๆ ไม่มีใจ อย่างเช่น แค่นโยบายในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีรถยนต์ ประเทศไทยยังไม่มีเลย
ส่วนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ผมมองว่าขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลไหนจะหยิบจับอะไรขึ้นมาทำให้เป็นรูปร่าง เป็นรูปธรรมได้ชัดเจนแค่ไหน อย่างเช่นกรณีการสร้างระบบขนส่งทางราง รถไฟรางคู่ รถไฟชานเมืองจะใช้ได้เมื่อไหร่ ระบบขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่ๆ ที่ไม่ใช่แค่กรุงเทพ แต่รวมไปถึงพื้นที่ภาคอื่นจะทำอย่างไร เพราะเห็นมีแต่คนพูด แต่ไม่มีใครทำสักที
ผมจึงเน้นว่า เรามีคำถามเชิงโครงสร้างหลายเรื่อง เช่น แม้วันนี้เราจะมีคณะกรรมการกำกับพลังงาน ซึ่งทำหน้าที่จะดูแลว่าค่าไฟฟ้า ใบอนุญาตในการก่อตั้งโรงไฟฟ้า แต่ก็ต้องชั่งใจและเข้าไปดูองค์ประกอบกันอีกที่ว่า กรรมการแต่ละคนมีที่มาจากไหน ซึ่งส่วนใหญ่ก็พบว่า มาจากข้าราชการประจำ ผู้มีหน้ามีตา มีฐานะทางสังคมขั้นสูงทั้งนั้น
คำถามต่อไปคือ มีเสียงประชาชนอยู่บ้างไหม
ขณะเดียวการบริหารรัฐวิสาหกิจเรื่องพลังงาน ไม่ว่าจะในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง รวมถึงภาคการขนส่ง ทั้งขนคน ขนสินค้า อย่าง ขสมก. การรถไฟ ผมว่าถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปรับเปลี่ยนกระบวนการบริหาร รื้อระบบเสียใหม่ แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีใครพูดถึงเรื่องเหล่านี้เลย
@ ดูเหมือนทุกพรรคจะแตะแต่เรื่องผิวเผิน
ใช่ครับ... จริงๆ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของสื่อ เป็นหน้าที่ของประชาชน เวลาตั้งคำถามกับนักการเมืองหรือพรรคการเมือง แทนที่จะถามว่า เสื้อดำฆ่าประชาชนทำไม
ต้องเปลี่ยนมาถามว่า จะดูแลประชาชนในเรื่องพลังงานอย่างไร ?
เพราะวันนี้ต้นทุนสำคัญที่สุดของประเทศไทย 18 % ของจีดีพีคือ ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ฉะนั้น จึงเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ของคนไทยทุกคน นอกจากนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ปีไหนที่ค่าใช้จ่ายพลังงานเกิน 18% ปีนั้นจะเกิดวิกฤตทางการเมือง
“ปี 2549 มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน 18.4% ปี 2551 มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน 18.47% ส่วนที่ปีนี้ผมทำนายเลยว่าเกิน 18.5% แน่ๆ แต่ก็ยังทำนายไม่ได้นะว่า จะมีวิกฤตทางการเมืองอีกหรือไม่”
@ ทิศทางด้านพลังงานของประเทศไทยจะอย่างไรต่อ
พูดตรงๆ ผมว่า เราคงไม่ได้เห็นการตัดสินใจในเชิงโครงสร้างต่างๆ รวมทั้งการบริหารในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การใช้พลังงาน เพราะรัฐในวันนี้ยังติดโรคประชานิยมกันอยู่ ดังนั้น หากจะแก้โรคดังกล่าว ต้องมองปัญหากันยาวๆ เช่น หากคิดจะควบคุมราคา ก็ต้องควบคุมกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แต่ต้องตั้งเป้าในการแก้ไขไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่มั่วแต่ชักช้าหรือเลื่อนการตัดสินใจออกไปเรื่อยๆ เพราะปัญหาจะหมักหมม กระทั่งในที่สุดเกิดเป็นถึงจุดวิกฤตที่อาจแก้ไขได้ เหมือนกับวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540
ส่วนการบริหารพลังงาน กรณี LPG นั้น ผมว่า....ในทางเทคนิค เราสามารถแยกได้ตลาดอุตสาหกรรมยานยนตร์กับภาคครัวเรือนออกจากกันได้ กอปรกับเมื่อเราอยู่ในระบบเสรีนิยม ก็ควรต้องเปิดโอกาสให้ทุกบริษัทขึ้นมาแข่งขันกันได้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้เปรียบ
แต่ทั้งนี้ คงต้องอาศัยความมุ่งมั่นและความเด็ดเดี่ยวทางการเมือง ในการบริหารกิจการโครงการพลังงานต่างๆ
แต่ในความเป็นจริง คงต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมก๊าซ น้ำมันในบ้านเราไม่ได้เป็นอย่างนั้น มันมียักษ์ใหญ่อยู่ ซึ่งจะแยกยักษ์ใหญ่ออกจากตลาดก็เป็นเรื่องยาก ต้องใช้ความกล้าอย่างมาก (ลากเสียง)
ซึ่งก็ผมไม่เชื่ออย่างสนิทใจว่า ไม่มีพรรคการเมืองไหนกล้าหักแน่นอน เพราะอย่างที่รู้กัน บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่มีเงินมากกว่ารัฐบาลอีก แต่ผมอยากชี้ว่า สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นอันตรายต่อรัฐ เพราะการให้คนกลุ่มหนึ่งไม่เกิน 11-12 คน คุมเงินมากกว่ารัฐบาลทั้งรัฐบาล
(ย้ำ) ไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน ดังนั้น ถึงเวลาที่จะต้องแยกกันให้ขาด ตลาดจะได้เกิดการแข่งขัน ผู้บริโภคจะได้รับการดูแล ไม่เช่นนั้น คนไทยก็คงหลีกกับดักประชานิยมไม่พ้น
@ มีส่วนหรือไม่ที่นโยบายพลังงานเทียบชั้นกับ ‘ประชานิยม’ ไม่ได้
คงไม่ถึงขนาดนั้น ผมว่าถ้ามองให้ทะลุและหาคำตอบที่เหมาะกับประเทศไทย มันมีทาง
ยกตัวอย่างเช่น วันนี้แม้เราจะมีพลังงานเชื้อเพลิงที่หลากหลาย แต่ก็เป็นทางเลือกที่แพงทั้งนั้น
ที่นี้เอาใหม่ หันมาพัฒนาแก๊สโซฮอล์ จากมันสำปะรัง อ้อย ซึ่งเป็นผลผลิตภายในประเทศให้มีความเข้มแข็ง ผมว่า รัฐอยู่ได้ แถมยังเป็นการสร้างทางเลือก สร้างความยุติธรรมให้กับผู้บริโภค ดังนั้น หากจะผลักดันนโยบายพลังงานทดแทน ให้เป็นพลังงานหลักของประเทศ ผมเชื่อว่าทำได้อยู่แล้ว
เพราะอย่างจากเยอรมัน ประกาศยกเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดภายใน 10 ปีข้างหน้า เขาก็ใช้มาตรการหนึ่ง คือผลักดันพลังงานทดแทนให้เป็นพลังงานหลัก จากเดิม 20% ก็จะขยับให้เป็น 35% ซึ่งก็ทำได้ แต่ก็อย่างที่ว่า ต้องใช่ความมุ่งมั่นทางการเมือง
@ พรรคการเมืองต้องชูนโยบายด้านพลังงานอย่างไร ถึงจะตอบโจทย์ประเทศไทย
(นิ่งคิด..) ผมว่าสิ่งที่ต้องชัดเจนคือ...
หนึ่ง นโยบายพลังงาน โดยเฉพาะด้านการขนส่ง ต้องมีนโยบายชัดเจนว่า กรณีของเอทานอล แก๊สโซฮอล์ รวมถึงยานยนต์ที่มาใช้พลังงานดังกล่าวจะเอาอย่างไร
สอง เมื่อตลาดน้ำมันดีเซล เป็นตลาดใหญ่ของประเทศ ดังนั้น ควรที่จะมีนโยบายเรื่องการผลิตไบโอดีเซลขึ้นมาทดแทน ทั้งนี้ จะมองประเด็นดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงเรื่องการขยายพื้นที่ปลูกปาล์ม รวมถึงการควบคุมอย่างไรให้ยั่งยืน คำตอบเหล่านี้ต้องชัด
สาม โครงสร้างตลาดของก๊าซธรรมชาติ จะบริหารผ่าน ปตท. ต่อไปหรือจะแยกออกมา จะเปิดโอกาสอย่างในประเทศ เกาหลี ญี่ปุ่น ที่บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าทุกแห่งสามารถซื้อก๊าซธรรมชาติได้ด้วยตนเองหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องน่าคิด
สี่ นโยบายขนส่งมวลชน ไม่ว่าจะโครงการรถไฟฟ้า รถใต้ดิน หรือแม้กระทั่งการเชื่อมโยงการขนส่งคน ผมว่าต้องฟังแต่ละพรรคว่ามีนโยบายอย่างไร เพราะสิ่งเหล่านี้คือ ค่าใช้จ่ายหลักของคนทั้งประเทศ
ห้า ด้านโลจิสติกส์ของไทยที่ตายไปพร้อมๆ กับการรถไฟแห่งประเทศไทย อีกทั้งไม่มีวี่แววว่าจะฟื้น เพราะไม่มีใครไปจับมาเป็นประเด็น ปล่อยเลยตามเลย เพราะทุกคนกลัวแรงกดดันกันหมด
หก ถึงเวลาที่จะต้องพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำ เพราะเป็นช่องทางที่มีค่าขนส่งถูกที่สุด เพื่อลดต้นทุนลง สินค้าเกษตรจะได้มีราคาถูกตามไปด้วย
“ที่ราบลุ่มเจ้าพระยาตั้งแต่พิจิตร พิษณุโลกลงมาถึงปทุมธานี เป็นที่ปลูกข้าวที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ทำดีๆ จะกลายเป็นรายได้หลักของประเทศ ส่วนในพื้นที่ดอน เราก็ปลูกอ้อย จนขณะนี้ไทยส่งออกอ้อยเป็นอันดันสองของโลก ฉะนั้น วันนี้การขนส่งข้าว อ้อย น้ำตาล ต้องมีการแก้ไข ไม่เช่นนั้น การแข่งขันของไทยจะแย่ลง ชาวนาจะได้เงินน้อยลง ถึงเวลาที่ต้องคิดเรื่องโลจิสติกส์การเกษตรกันดู”
แต่อย่างไรก็ตาม ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายต่างๆ ที่เขียนไว้ในนโยบายพรรค เมื่อมีการแถลงต่อสภา จะนำมาเป็นนโยบายรัฐบาลหรือไม่ อย่างไร อีกทั้งเมื่อผ่านไป 1 ปี 2 ปีจะทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมา นโยบายที่เขียนไว้สวยหรู เวลาไปทำจริง ไม่เคยเป็นไปทำตามนั้นเลย บริหารกันไปวันๆ แบบถูลู่ถูกัง...
(ถอดหายใจ) ผมว่าแย่...
@ แล้วพลังงานทดแทนจะเป็นในรูปแบบใด
ผมคิดว่า ทุกวันนี้มีแต่คนวิ่งไปหาก๊าซ เพราะน้ำมันมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ มีแต่คนรวยเท่านั้นที่มีสิทธิใช้น้ำมัน ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เอาเป็นว่า ใครอยากใช้น้ำมันแพงนำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย ใช้น้ำมันเบนซินซุปเปอร์ก็ใช้ไป ส่วนคนจนเราจะเอาแก๊สโซฮอล์ ก๊าซธรรมชาติมาให้ใช้
ซึ่งผมคิดว่ายุค 10-20 ปีข้างหน้าจะเป็นยุคทองของการใช้เชื้อเพลิงก๊าซ ทั้งในการผลิตไฟฟ้าและการขนส่ง ฉะนั้น คำถามต่อไปคือ จะขนก๊าซกันอย่างไร จากอ่าวไทย ส่งมาภาคกลาง แล้วจะส่งต่อไปยังภาคเหนืออย่างไร เพราะเท่าที่มีอยู่ตอนนี้ชัดเจนว่าไม่พอ
ส่วนพลังงานทดแทนประเภทอื่น เช่น แสงอาทิตย์ ผมคิดว่าที่ผ่านมา เราไปผิดทางนิดหน่อย เพราะเราปล่อยให้มีการไปซื้อแผงโซล่าเซลล์ราคาถูกจากต่างประเทศมาผลิตไฟฟ้า จากนั้นก็ให้คนที่ใช้ไฟจ่ายเพิ่ม ซึ่งเรื่องดังกล่าว หากเป็นการพัฒนาในระดับเบื้องต้นก็พอรับได้ แต่เมื่อไหร่หากมียักษ์ใหญ่เข้ามาทำ ผมก็ชักกังวลว่า คนไทยจะได้ประโยชน์จริงหรือไม่ หรือจะไปกระจุกตัวอยู่ที่คนบางกลุ่ม
ทางกลับกัน หากเป็นไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่บ้านเราพัฒนาขึ้นเอง ผลิตขึ้นเอง และสามารถเพิ่มมูลค่า สร้างงานให้กับประเทศ อันนี้ผมเห็นด้วยเต็มที่
ส่วนในเรื่องพลังงานลม วันนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หากเราออกแบบกังหันที่เหมาะกับขนาดลมในประเทศไทย ก็สามารถผลิตไฟฟ้าได้ มีให้เห็นแล้ว เช่น โครงการชั่งหัวมันที่จังหวัดเพชรบุรี หากมีการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ และมีการส่งเสริมให้นำไปใช้ในพื้นที่ต่างจังหวัด ทางภาคเหนือ บนดอยต่างๆ ก็จะทำให้ครัวเรือนขนาดเล็กพึ่งพาตนเองได้อีกด้วย
สุดท้ายผมว่า นโยบายเรื่องพลังงานทดแทนของไทยดีที่สุดในอาเซียน ดีที่สุดในเอเชียก็ว่าได้ มีแต่คนมาดูงานบ้านเรา แต่คงต้องรออีกนิด รอความมั่นคงของนโยบาย รอความเป็นหนึ่งทางการเมือง และนั่นจะเป็นโอกาสที่แท้จริง ยิ่งเฉพาะในวันที่ไทยประกาศชัดว่า ไม่เอานิวเคลียร์ คงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากพลังทดแทน ไม่ว่าจะพลังงานแกลบ ลม แสงอาทิตย์ น้ำ หรือกระทั่งมูลสุกร เรียกว่ามีอะไรก็ต้องใช้ให้หมด
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดถัดไป ไม่ว่าจะอีก 10-20 ปีข้างหน้า จะต้องช่วยกันอย่างจริงจัง
@ แล้วพรรคไหนที่มีวี่แววว่า จะเอาจริงเอาจังกับการบริหารจัดการด้านพลังงานมากที่สุด
(นิ่งเงียบ) พูดยากมาก..
ทุกพรรคใหญ่เขียนนโยบายไว้ค่อนข้างดี ในทุกๆ ด้าน แต่เมื่อจัดตั้งรัฐบาลแล้วจะให้ความสำคัญกับข้อไหนก่อนหลังเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่หากรัฐบาลเป็นพรรค ชุดเดิมเหมือนสมัยที่ผ่านมา ผมว่าก็คงไม่น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร คงคล้ายๆ ของเดิม แต่หากมีการเปลี่ยนขั้ว ก็น่าติดตามเหมือนกันว่า ใครจะเข้ามานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และจะมีทิศทางอย่างไร
เบื้องต้นผมได้ไปดูข้อมูลตามเว็บไซต์ของทุกพรรคแล้ว พบว่า บางพรรคมีนโยบายด้านพลังงานเพียงแค่ 4 บรรทัดเท่านั้น ซึ่งก็ต้องพูดกันตรงๆ ว่าไม่พอ
“4 บรรทัดกับการบริหารจัดการด้านพลังงานที่มีค่าใช้จ่าย 1.8 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา และในปีนี้อีกประมาณ 2 ล้านล้านบาท ฉะนั้น จะบริหารงบประมาณของรัฐอย่างไร จะต้องแถลงให้ชัดเจน และทางที่ดีผมว่า น่าจะต้องมีการดีเบตกันนิดหน่อย
แต่แทนที่จะให้ผู้นำรัฐบาลอย่างคุณยิ่งลักษณ์ หรืออภิสิทธิ์มาดีเบตกัน ผมเห็นว่า ต้องให้ว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน พ่วงด้วย ว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจมาดีเบตกัน แต่ผมต้องขอวงเล็บด้วยนะว่า...อย่างเอานอมินีมา”