"ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม" พระอัจฉริยภาพแห่งผู้นำในสมเด็จพระปิยมหาราช
“คนเป็นผู้นำต้องเป็นคนที่มาอย่างถูกเวลา มาช้าไปไม่ทันเขา มาเร็วเกินไปก็ไม่มีคนเห็นคุณค่า การมาในช่วงที่กำลังมีปัญหาเป็นการมาที่เหมาะเจาะ”
วันที่ 9 มิถุนายน สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาวิชาการ “สมเด็จพระปิยมหาราชผู้สถาปนาสยามประเทศ” ณ ห้องประชุม 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี กรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปาฐกถานำ ในหัวข้อ “พระอัจฉริยภาพแห่งผู้นำในสมเด็จพระปิยมหาราช”
ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าวว่า ในช่วงเวลา 10-20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นโรคถวิลหาผู้นำ และมีการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยความหมายและแบบอย่างความเป็นผู้นำ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ ที่ใดมืด คนก็ต้องการความสว่าง ที่ใดว้าเหว่ คนก็ต้องการความสดชื่น กระฉับกระเฉง ที่ใดไม่ค่อยมีอนาคต คนก็ต้องการหาผู้นำที่จะมาคลายบ่วงทุกข์ อันตรายและอุปสรรคต่างๆ ปรากฏการณ์ในลักษณะนี้เป็นธรรมดาและมีมาเสมอในทุกประเทศและทุกกาลสมัย
คำตอบที่ได้จากการศึกษาไม่ว่าจากไทยหรือต่างประเทศตรงกันอยู่ประการหนึ่งว่า “ผู้นำ” (Leader) หมายถึง คนที่นำผู้อื่นไปสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างสัมฤทธิ์ โดยมีทั้งผู้ยอมรับและยอมตาม ซึ่งความหมายนี้ดูจะใช้ได้ในทุกสถานการณ์ ถ้าเป็นผู้นำที่นำแล้วไม่มีใครยอมรับและยอมตาม ก็จะเป็นผู้ที่ไปถึงจุดหมายอย่างโดดเดี่ยว
คำว่า “ยอมรับ” เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีบางคนอาจจะเป็นผู้นำโดยที่ไม่ได้มีใครตั้งให้เป็น ไม่ได้มาจากระเบียบ กฎหมายใดๆ แต่เป็นผู้ที่คนยอมรับ ยกย่องให้เป็นผู้นำ เรียกว่า เป็นผู้นำโดยพฤตินัย ซึ่งไม่เหมือนผู้นำโดยนิตินัย ที่มีกฎหมายรองรับ มีตำแหน่งแห่งหน เช่น เจ้าอาวาส อธิการบดี แม่ทัพ นายกรัฐมนตรี นั่งเฉยๆ ก็เป็นผู้นำแล้ว ฉะนั้น จะเต็มใจรับหรือไม่ก็เป็นผู้นำ แต่สำคัญที่ว่าจะมีคนยอมตามหรือไม่ การที่คนซึ่งไม่มีระเบียบ กฎหมายรองรับ แต่ตั้งตัวเองขึ้นมาหรือมีผู้สนับสนุน ร้องขอ รับรองให้มาเป็นผู้นำทางพฤตินัยนั้นหาได้ยาก แต่มีอยู่เสมอในสังคม เราถึงเห็นคนอย่าง มุสตาฟา เคมาล ปาชาและมุสตาฟา เคมาลอตาเติร์ก ผู้นำตุรกี ซึ่งเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่มาก มาจากการตั้งตัวเอง ประชาชนยอมรับและเลือกตั้งได้ หรือมหาตมะ คานธี ประชาชนยกย่องเชิดชู
ส่วนคำว่า “ยอมตาม” ก็เป็นอีกเกณฑ์อีกข้อหนึ่งในการวัดภาวการณ์เป็นผู้นำ หมายถึง เอาไงเอากัน แต่ก็มีสังคมยอมรับเทิดทูลให้เป็นผู้นำ แต่ไม่ยอมตาม ขัดขืนแข็งข้อตลอด ฉะนั้น การ “ยอมตาม” จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะบางครั้งก็เป็นการ “ยอมตาย” ถวายชีวิต สั่งให้รบต้องรบ ให้ทำต้องทำ
ผู้นำที่มีคนยอมรับและยอมตามจึงถือว่าเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จ จึงมีการแบ่งผู้นำออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.ผู้นำทางวิชาการ เช่น ครูบาอาจารย์ นักปราชญ์ ราชบัณฑิต 2.ผู้นำในทางความคิด ปรัชญา ศาสนา 3.ผู้นำทางการเมือง การปกครอง การทหาร 4.ผู้นำในทางเศรษฐกิจสังคม เกิดเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต เป็นแบบอย่างในสังคมที่คนยอมตามโดยอย่างไม่ต้องชี้นิ้วสั่ง ทำถูกหรือทำผิดก็พร้อมที่จะมีคนทำตามอย่างที่เห็นอยู่เสมอๆ ในสังคม
สิ่งที่จะทำให้บุคคลเป็นผู้นำได้อย่างประสบความสำเร็จ มีปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การเป็นคนมีเสน่ห์ คำว่า “เสน่ห์” เป็นคำกลางๆ เป็นได้ทั้งวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์ปะปนกันอยู่ หมายถึง ความสามารถในการพูด ชักนำ จูงใจ หว่านล้อม รวมไปถึงเรื่องรูปร่างหน้าตา บุคลิก ลักษณะ น้ำเสียง เช่น ฮิตเลอร์ ที่สามารถเป็นผู้นำได้ด้วยเสน่ห์ของการพูด และคุณหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีเสน่ห์ตรงที่การพูดจูงใจให้คนคล้อยตาม จนได้ชื่อว่าเป็นนายกฯ สาลิกาลิ้นทอง
“ความเป็นผู้นำในบางครั้งไม่ต้องทำอะไร ยืนเฉยๆ คนก็กรี้ดลั่นและพร้อมจะยอมตาม เช่น คุณอภิสิทธิ์ วันหนึ่งถ้า โดม ปกรณ์ ลัม จะมาเป็นผู้นำก็คงพอเป็นได้ บางคนเสน่ห์มาจากการเป็นผู้มีความรู้ ความคิดที่เฉียบแหลม แยบคายจนคนฟังคาดไม่ถึง นอกจากนี้ยังมีอีกหลายอย่างที่รวมกันแล้วเรียกว่า เสน่ห์”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นรับราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระบรมราชชนกนาถ ในปี 2411 ขณะมีพระชนม์พรรษาเพียง 15 พรรษาเศษ ยังทรงพระเยาว์นัก และอยู่ในราชสมบัติต่อมาอีก 42 ปี จึงเสด็จสวรรคตในปี 2453 ขณะมีพระชนพรรษา 57 พรรษาเศษ เป็นการสวรรคตก่อนเวลาอันควร
ความสำคัญอยู่ตรงที่ว่าได้ครองราชย์สมบัติ 42 ปี ซึ่งยาวนานที่สุดในสยามประเทศ ตั้งแต่มีประเทศไทยมาจนถึงวาระนั้น ใน 15 ปีแรกของการครองราชย์เกือบจะไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์ที่สมบูรณ์ เพราะครองราชย์สมบัติเมื่อพระชนพรรษา 15 ปี นับว่าเยาว์นัก ในทางกฎหมายถือว่ายังไม่บรรลุพระราชนิติภาวะ จะทำ จะสั่งอะไรเองก็ดูจะลำบาก ติดขัดไปหมด อำนาจที่แท้จริงก็กระจายไปอยู่ที่เจ้านายและขุนนางหลายคน
ฉะนั้น ใน 15 ปีแรกของการครองราชย์จึงเป็นเวลาที่ทรงว่างเปล่า ดังที่มีพระราชหัตเลขาเองในเวลาต่อมาว่า สถานะของพระองค์ท่านในตอนนั้น เปรียบเสมือนดั่งว่าวที่หลุดลอยไปในท้องฟ้า จะรีบสาวกลับลงมาโดยเร็ว สายป่านก็จะบาดมือ จึงต้องค่อยๆ ผ่อนสั้น ผ่อนยาว ผ่อนหนัก ผ่อนเบา จนในที่สุดว่าวก็กลับมาอยู่ในมือ
“ว่าว เปรียบเสมือนดั่งอำนาจอันไกลสุดเอื้อม และน้ำหนักของมงกุฎที่ทรงสวมอยู่ในขณะนั้น หนักนักหนา ที่เป็นภาระอันยิ่งใหญ่ สรุปรวมแล้วท่านไม่ได้ทรงพระสำราญใดๆ ใน 15 ปีแรก ยังไม่รวมถึงเหตุต่างๆ ที่เข้ามาไม่ว่าจะในหรือนอกประเทศ สถานภาพเองในขณะนั้นก็คลอนแคลนเต็มที”
ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของภาวะผู้นำของรัชกาลที่ 5 ในช่วง 27 ปี เพราะมีปัจจัยสำคัญ 4 ประการของความเป็นผู้นำในแบบที่หาไม่ค่อยได้จากผู้นำในปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคที่การเมือง การปกครองเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตย คนที่เป็นผู้นำในเวลาต่อมาไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดินอีกแล้ว พระเจ้าแผ่นดินไม่ใช่จำเป็นจะต้องสร้างความเป็นผู้นำอะไรอีกในเวลานี้ แต่คนที่ขึ้นมาเป็นผู้นำในทางการเมืองการปกครองนั้นยากที่จะมีปัจจัย 4 ประการได้ครบอย่างที่รัชกาลที่ 5 ทรงมี
ปัจจัย 4 ประการ จำง่ายๆ ว่ามี “สระ อะ 2 ตัว และมีสระ อา 2 ตัว” ได้แก่ กาละ ที่หมายถึง เวลา คนเป็นผู้นำต้องเป็นคนที่มาอย่างถูกเวลา มาช้าไปไม่ทันเขา มาเร็วเกินไปก็ไม่มีคนเห็นคุณค่า การมาในช่วงที่กำลังมีปัญหาเป็นการมาที่เหมาะเจาะ คำว่า กาละ ยังหมายถึง การมีเวลานานอีกด้วย ท่านครองราชย์สมบัติทั้งหมด 42 ปี แต่ครองราชย์อย่างเต็มตัว 27 ปี ก็นานพอที่จะคิดอะไรที่พอมองเห็นผลได้ แก้ไขได้ พัฒนาได้ เราจะหาผู้นำที่ไหนที่จะใช้เวลาตามเรื่องได้อย่างครบกระบวนการ
“ยกตัวอย่าง ในสมัยอดีตนายกสมัคร สุนทรเวช จะเดินหน้าไปได้หรือไม่ได้ยังไม่รู้ แต่พอเจอ ชิมไปบ่นไป ก็หลุดแล้ว สมัยอดีตนายกสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ยังไม่ทันแสดงฝีไม้ลายมือ ไม่ทันเข้าไปอยู่ในทำเนียบและยังไม่ทันได้นั่งเก้าอี้นายกฯ ผมยังเคยเรียนท่านว่า ไม่เป็นไร วันเด็กท่านก็ไปนั่งได้ อย่างนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้อยู่ปีสองปีเท่านั้น แม้แต่คนอย่างอดีตนายกทักษิณ ชินวัตรก็อยู่ได้แค่ 4-5 ปีเศษ ฉะนั้น ไม่มีโอกาสได้ทำอะไรเพียงพอที่จะสำเร็จ ล้มเหลวหรือแก้ไข เทียบเท่ารัชกาลที่ 5 ที่มีเวลาอยู่ยาวนานพอจะคิดแก้ปัญหา พัฒนาอะไรแล้วเห็นผล รวมทั้งมีเวลาประชาสัมพันธ์ ประกาศ ติดตามผลและส่งขึ้นฝั่งได้หมด”
ธรรมะ เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการจะเป็นเสน่ห์ให้คนยอมตามได้ ซึ่งธรรมะที่สำคัญที่สุดสำหรับความเป็นผู้นำที่รัชกาลที่ 5 มีอยู่เต็มเปี่ยม คือ สังคหวัตถุ 4 คือวัตถุหรือเครื่องมือในการสงเคราะห์ผู้อื่น ได้แก่ ทาน คือ การให้ ปิยวาจา คือ การพูดจาอ่อนหวาน อัตถจริยา คือ การประพฤติดี ซื่อตรง และสมานัตตา คือ การเสมอต้นเสมอปลาย ไม่กำเริบกําเริบเสิบสานในยศตำแหน่งและการเป็นผู้นำ
“คนเราถ้าเห็นผู้นำประพฤติดี ก็เดินตามและวางใจ ทาน จึงเป็นสุดยอดแห่งธรรมะที่ผู้นำต้องมี ทั้งนี้ยังข้อแรกในทศพิธราชธรรม เป็นการให้ที่ไม่ใช่แค่ให้เงิน แต่รวมถึงการให้อภัย สำหรับคนที่มีความผิด ให้ความรู้สำหรับคนที่ไม่รู้ และให้ความเป็นธรรมสำหรับคนที่ต้องการความเป็นธรรม ถ้าผู้นำมีความเป็นธรรมคนจะยอมตาม และยอมตายได้”
เสนา คือ คนรับใช้ เพราะไม่ว่าผู้นำจะเก่งแค่ไหน ถ้าไม่มีผู้ช่วยคิด ช่วยทำ ก็จะไม่สำเร็จทั้งๆ ที่มีความคิดปราชญ์เปรื่อง จักขุมา คือ จักษุ หมายถึง สายตาอันกว้างไกล หรือวิสัยทัศน์ เป็นสิ่งที่ยากเห็น อยากมี อยากเป็นและเตือนให้ระมัดระวัง อาทิเช่น การเลิกทาส เลิกไพร่
ทั้งนี้ ท่านยังปฏิรูประบบราชการ ยุบเวียง วัง คลัง นา ตั้งเป็นกระทรวง และเลิกระบบที่ข้าราชการเก็บส่วยเอง แล้วแยกเงินส่วนหนึ่งเก็บไว้เองก่อนส่งเข้าส่วนกลาง เพราะในสมัยนั้นข้าราชการไม่มีเงินเดือน ซึ่งเป็นบ่อเกิดหนึ่งของการคอรัปชั่นในทุกวันนี้ ที่ยังคิดว่ายังทำแบบนี้ได้ ท่านจึงปรับใหม่ “ไม่ต้องเป็นเสือที่ไปจับเนื้อกินเอง” ให้มีการจ่ายเงินเดือน ฉะนั้น เมื่อจ่ายเงินเดือนแล้ว อย่าโกง
ประโยคสำคัญ ที่ท่านกล่าวไว้คือ ความยิ่งใหญ่ของบ้านเมืองเราในขณะนี้คือ การปฏิรูปการปกครอง (Government reform) ถ้าตราบใดยังปฏิรูปการปกครองไม่ได้ก็ไม่ต้องปฏิรูปอย่างอื่น จะต้องทำการทุกอย่างให้ข้าราชการเดินหนังสือไปมาถึงกันได้โดยสะดวก ที่หากแปลให้เข้ากับยุคสมัย คือ การติดต่อสื่อสารระหว่างกระทรวง อย่างในปัจจุบันก็มีระบบอินเทอร์เน็ต และทำอย่างไรให้ให้ข้าราชการทำงานด้วยความรัก ความซื่อสัตย์ สุจริต เหล่านี้คือ วิสัยทัศน์ คือสายตาที่กว้างไกล
“ครั้งหนึ่งอดีตนายกทักษิณ ไปแลคเชอร์ที่นิด้า แล้วถามผมว่ามีอะไรจะฝากไปพูดบ้างมั้ย ผมจึงซีรอกซ์คำกล่าวของรัชกาลที่ 5 ที่เขียนว่า ความต้องการอย่างใหญ่หลวงของบ้านเมืองเรา คือการปฏิรูปการปกครอง (Government reform) ถ้าปฏิรูปการปกครองไม่ได้ อย่าหวังไปปฏิรูปอย่างอื่น อดีตนายกทักษิณจึงบอกกลับมาว่านี่มันนโยบายรัฐบาลผม ผมจึงบอกว่าไม่ใช่หรอกท่านนายกฯ นี่คือนโยบายรัชกาลที่ 5 เมื่อปีพ.ศ. 2428 นับจนถึงวันนี้ 120 ปี”
“วิสัยทัศน์” ที่กว้างไกล ดังเช่นที่ ทำเนียบรัฐบาล ตึกไทยคู่ฟ้า จึงต้องสร้างพระพรหมเอาไว้ เพราะมีตารอบตัว เตือนให้รู้ว่าผู้นำต้องมองให้กว้าง และฟังความรอบด้าน รวมทั้งต้องมองจากที่สูง ผู้นำจะหูแคบ ตาแคบ ฟังแต่คนใกล้ชิดไม่ได้ จะช่วยเหลือใครต้องเท่าเทียมกันให้หมด จะช่วยเฉพาะจังหวัดที่เลือกตัวเอง เฉพาะที่พรรคชนะคะแนนไม่ได้ ต้องเอาพระพรหมเป็นตัวอย่าง ไว้เตือนใจ