"สาวตรี สุขศรี" แก้ ม.112 ล้มขบวนการอ้างเจ้า
“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”
ข้อความ “เพียง 2 บรรทัด” ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่บัญญัติขึ้นโดยคณะรัฐประหาร พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เมื่อปี 2519
กลับเป็น “จุดเริ่มต้น” ความขัดแย้งรอบใหม่ ในอีก 30 กว่าปีถัดมา หลังจากผบ.ทบ.คนปัจจุบันสั่งให้กรมพระธรรมนูญแจ้งความดำเนินคดีกับแกนนำคนเสื้อแดง ในความผิดดังกล่าว จากการปราศรัยเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา
กระสุน “ไม่จงรักภักดี” ที่ถูกยิงออกมาก็วิ่งไปอย่างต่อเนื่อง เริ่มจาก พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกทบ.พาดพิงพรรคเพื่อไทย (พท.) ว่าอยู่เบื้องหลังขบวนการจาบจ้วง สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็กล่าวโจมตี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นสัปดาห์ว่า มีแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์
ต่อมา ทหารหน่วยต่างๆ ดาหน้าออกมาตบเท้าปกป้องสถาบัน ก่อนที่เจ้าหน้าที่จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) บุกปิดวิทยุเสื้อแดง 13 แห่ง ตำรวจกองปราบแกะรอยผู้เล่นเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน 50 รายชื่อ ไปจนถึงนายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้กกต.ออกประกาศห้ามหาเสียงพาดพิงสถาบัน
หรือหากจะย้อนไปนับแต่จุดเริ่มต้นความวุ่นวายทางการเมือง เมื่อ 6 ปีก่อน ทั้งการชุมนุมขับไล่พ.ต.ท.ทักษิณในปี 2548 การรัฐประหารในปี 2549 การไล่ล่ากลุ่มอำนาจเก่าในปี 2550 การชุมนุมขับไล่-แย่งชิงอำนาจ ระหว่างปี พ.ศ.2551-2553
“สถาบันพระมหากษัตริย์” กลายเป็น 1 ในอาวุธหลัก ที่ฝ่ายการเมืองหยิบมาใช้ทำลายล้างกันแล้วอยู่ตลอดเวลา!!
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่รวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มนิติราษฎร์” เห็นว่า หากปล่อยให้ “การแอบอ้าง” อาละวาดต่อไป “ความเสื่อม” จะมาถึง “คนที่ถูกอ้าง” เพราะยิ่งอ้าง คนที่ได้รับผลกระทบ ก็ยิ่งมีมากขึ้น
จึงเสนอให้แก้ม.112 หลายประเด็น เพื่อยุติ “วงจรอุบาทว์” ดังกล่าว
แม้จะรู้ว่า ข้อเสนอดังกล่าว จะนำมาซึ่ง “ก้อนอิฐ” มากกว่า “ดอกไม้”
“สาวตรี สุขศรี” นักกฎหมายอาญา-สตรีหนึ่งเดียวในกลุ่มนิติราษฎร์ ได้มาไขปริศนา-เหตุผล-ที่มาที่ไป ของข้อเสนอดังกล่าว
ตลอดเวลาที่เทปบันทึกเสียงเดินหน้า เธอย้ำหลายครั้งว่า “หากต้องการทำให้สถาบันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้อย่างแท้จริง ต้องเริ่มด้วยการแก้ไขม.112 เพราะมาตรานี้เปิดช่องให้สถาบันถูกดึงไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ง่าย”!!!
1.ไม่มีความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในระบบกฎหมายไทย
“การเรียกความผิดมาตรา 112 ว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่ตรงกับความหมายในประมวลอาญาเสียทีเดียว เพราะเนื้อหาคือการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกับบุคคล 4 ตำแหน่ง ได้แก่กษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการ คำว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นการนำคำพูดสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาใช้ เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าแตะต้องไม่ได้ เกิดความกลัว ทั้งที่ปัจจุบันเป็นยุคประชาธิปไตย มาตรานี้จึงหมายถึงการหมิ่นประมาทบุคคล ทำให้เสียชื่อ เสียเกียรติยศ”
“ความผิดตามมาตรา 112 มี 3 ลักษณะ 1.หมิ่นประมาท 2.ดูหมิ่น 3.แสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งต้องกระทำโดยเจตนา เพราะในทางกฎหมายอาญาต้องดูเจตนาด้วย คือรู้ว่าผิดก็ยังฝืนจะทำ แต่มาตรา 112 ไม่ได้กำหนดความหมายพิเศษเอาไว้ จึงต้องใช้การตีความเหมือนการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลธรรมดาตามประมวลกฎหมายอาญา คือต้องมีการใส่ความ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง แต่ปัจจุบันมีความพยายามในการขยายให้เกินกว่าถ้อยคำที่ใช้ปกติ นี่คือปัญหา เพราะการหมิ่นประมาท จะต้องมีการกระทำต่อชื่อเสียง แต่ตอนนี้แค่พูดถึงสัญลักษณ์บางอย่างก็ตีความไปว่า เอ๊ะ อย่างนี้มันเข้าข่ายมาตรา 112 ได้เหมือนกัน กรณีจึงถือว่าเกินตัวบทไปแล้ว”
“สาเหตุของการตีความเกินตัวบท น่าจะมาจากประเพณี เพราะมาตรานี้สืบทอดจากระบอบเก่า ทำให้มีคนเอาไปโยงกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ที่ว่า พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ฉะนั้นมาตรา 112 จึงต้องพิเศษ ทั้งที่ความจริงรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 จะเอามาใช้ตีความในทางกฎหมายอาญาไม่ได้ เพราะเขียนไว้ในเชิงคำประกาศ หลักการ The King can do no wrong หมายถึงพระมหากษัตริย์ทำอะไรเองไม่ได้ จึงไม่มีความผิด ไม่ได้แปลว่าพระมหากษัตริย์จะถูกกล่าวถึงไม่ได้ มันไม่ใช่ แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนก็ยังตีความลักษณะนี้ กระทั่งในหนังสือที่ใช้สอนนักศึกษา ยังเขียนคำอธิบายประกอบมาตรา 112 ว่า พระมหากษัตริย์อยู่เหนือการติชมทั้งปวง ซึ่งไม่ใช่คำที่อยู่ในกฎหมาย เป็นแนวคิดที่เกิดจากการตีความมาตรานี้ของนักกฎหมายรุ่นหนึ่งเท่านั้น”
ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์มีทั้งหมด 5 ข้อ ประกอบด้วย
1.ยกเลิกมาตรา 112 เพราะเขียนขึ้นโดยคณะรัฐประหาร แล้วค่อยบัญญัติขึ้นใหม่ โดยเปลี่ยนลักษณะจากความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ เป็นความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ
2.แก้ไขอัตราโทษจากจำคุก 3-5 ปี เป็นไม่มีโทษขั้นต่ำ และให้เปลี่ยนอัตราโทษ สำหรับกษัตริย์ เป็นจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท สำหรับราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ เป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท
3.เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด ในกรณีติชมโดยสุจริต เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือทางวิชาการ
4.เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ หากพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริง
และ 5.เปลี่ยนผู้มีอำนาจกล่าวโทษจากบุคคลทั่วไปเป็นสำนักราชเลขาธิการ
2.ยุติการถูกดึง-ให้ผู้เกี่ยวข้องฟ้องเอง
“ปัญหาใหญ่ของมาตรา 112 คือบัญญัติให้ใครแจ้งความก็ได้ จึงถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือการเมือง เสื้อเหลืองก็หาว่าเสื้อแดงหมิ่น-ล้มเจ้า เสื้อแดงก็บอกว่าหลายถ้อยคำของเสื้อเหลืองหมิ่นเหมือนกัน กลายเป็นว่าทุกฝ่ายดึงสถาบันไปเป็นประโยชน์ของตัวเอง การตีความเลยไปกันใหญ่ การใช้มาตรานี้พร่ำเพรื่อจึงเกิดขึ้น ในเมื่อไม่รู้ว่าคนที่คนหรือตำแหน่งที่ถูกดึง มีความประสงค์จะเกี่ยวข้องหรือไม่ กลุ่มนิติราษฎร์จึงเสนอว่า อย่างน้อยให้ผู้เกี่ยวข้อง-สำนักราชเลขาธิการ ลงมาดู มีคนถามว่าทำไมต้องสำนักราชเลขาธิการ เพราะเคยมีเหตุการณ์ที่สำนักราชเลขาธิการร้องขอให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้ม ครองผู้บริโภคเข้าไปตรวจสอบกรณีที่คนนำตราพระมงกุฎทำพระเครื่อง (กรณีสิทธิกร บุญฉิม หรือเสี่ยอู๊ด ทำพระสมเด็จเหนือหัว) แสดงว่ามันมีทางที่เดินไปได้”
ก่อนหน้านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระกระแสราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2548 ว่า “แต่ว่าความจริง ก็จะต้องวิจารณ์บ้างเหมือนกัน แล้วก็ไม่กลัว ถ้าใครจะวิจารณ์ ว่าทำไม่ดีตรงนั้นๆ จะได้รู้ เพราะว่าถ้าบอกว่าพระเจ้าอยู่หัว ไปวิจารณ์ท่านไม่ได้ ก็หมายความว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เป็นคน”
อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้ มาตรา 112 หลังจากนั้น ก็มักเป็นตีความเกินตัวบทอยู่ดี
“อีกอย่างที่ท่านบอก คือการใช้มาตรา 112 มากๆ มันเดือดร้อนท่าน มันส่งผลกระทบต่อท่าน เพราะพอมีคนถูกดำเนินคดีมากๆ คนเหล่านั้นก็รู้สึกไม่ดีต่อสถาบัน เพราะพอถูกดำเนินคดี ท้ายสุดก็ขออภัยโทษ ก็จะมีคนด่าว่า เอ๊ะ แล้วจะดำเนินคดีทำไมแต่ต้อง เราจึงบอกว่าอะไรที่เป็นอัตวิสัยมากๆ เช่นดูว่าอะไรหมิ่นประมาท อะไรดูหมิ่น ควรจะให้ผู้เกี่ยวข้องเป็นคนตัดสิน ว่าเขาได้รับผลกระทบไหม”
“การให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในการแจ้งความ ไม่ใช่การดึงท่านลงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ให้ท่านอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง เป็นการปกป้องสิทธิของท่านเอง ให้ออกจากการฟ้องร้องกันทางการเมือง เพราะทุกคนมีสิทธิปกป้องตัวเอง หากแก้เรื่องนี้ได้ เชื่อว่าคดีมาตรา 112 จะลดลงไปอย่างมาก เพราะจะไม่มีใครก็ได้ ไปฟ้องร้องโดยอ้างว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกันอีก”
3.ไล่ปิดเว็บไซต์ การปะทะของแนวคิดเก่า-ใหม่
นอกจากคดีหมิ่นฯ อาจารย์สาวกลุ่มนิติราษฎร์รายนี้ ยังสนใจ-ติดตาม ผลการบังคับใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่เริ่มบังคับใช้เมื่อปี 2550 ซึ่งจากสถิติ 1 ใน 6 ของคดีที่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพ์ฯพวงข้อหา มาตรา 112 ไปด้วย
เธอกล่าวว่าสาเหตุที่ฟรีดอมเฮ้าส์ลดระดับสื่อจาก “กึ่งเสรี” เป็น “ไม่เสรี” มาจากเหตุผล 3 ประกาศ 1.ความวุ่นวายทางการเมือง 2.การบังคับใช้มาตรา 112 และ 3.การบังคับใช้พ.ร.บ.คอมพ์ฯ
“ความจริงพ.ร.บ.คอมพ์ร่างมาเกือบ 10 ปีพร้อมกับกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวกับไอที แต่ไม่ออกสักที ความคิดแรกในการร่างต้องการนำมาใช้กับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์โดยแท้ ทั้งการแฮกข้อมูล ดักรับข้อมูล หรือจารกรรมข้อมูล ยังไม่มีประเด็นเรื่องเนื้อหาเป็นความผิด แต่ในช่วงความวุ่นวายทางการเมืองในปี 2548 เว็บไซต์จำนวนมากถูกปิดโดยไม่มีกฎหมาย คนกลุ่มหนึ่งสงสัยว่าทำไปถูกปิดจึงรวมตัวไปถามรัฐ แล้วปรากฎว่ารัฐตอบคำถามไม่ได้ เมื่อเกิดการรัฐประหารมีการเขียนประกาศคปค.ฉบับที่ 5 ที่ให้อำนาจรมว.ไอซีทีปิดกั้นสื่อได้ จากนั้นพ.ร.บ.คอมพ์ฯก็ออกมา ซึ่งมีทั้งมาตรา14 ว่าด้วยเนื้อหาที่เป็นความผิด มาตรา 15 ว่าด้วยการลงโทษผู้ให้บริการเท่ากับผู้กระทำผิด และมาตรา 20 ว่าด้วยการให้อำนาจในการปิดกั้นเว็บไซต์”
“สาวตรี” ยอมรับว่า นับแต่ใช้พ.ร.บ.คอมพ์ฯมาเพียง 5 ปี มีคดีความเกี่ยวกับมาตรา 112 มากกว่าระหว่างปี พ.ศ.2519-2549 รวมกันหลายเท่าตัว
“อาจเพราะมีสื่อที่คนซึ่งมีความเห็นต่างมาเจอกันในที่ๆรัฐคุมไม่ได้ เพราะเราต้องยอมรับว่าบางเรื่อง คนในประเทศไม่ได้คิดเหมือนกันเสียหมด ในสื่อรัฐอาจไม่มีใครกล้าพูดอะไร แต่การนินทากาเลมันมีมาตลอดอยู่แล้ว พอมีสื่อที่คนซึ่งเห็นต่างจากคนส่วนใหญ่มาเจอกันได้ มันเลยมีการพูดเรื่องนี้ขึ้นมา บางเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์ในอินเตอร์เน็ตอาจจะผิด หากเลยกรอบของกฎหมาย แต่บางเรื่องก็ไม่ได้ผิด เพียงแต่คนที่เซ็นซิทีฟ เพราะสังคมไทยอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน อะไรที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงต้องคุมไว้ก่อน”
4.ขบวนการล้ม (พวกชอบอ้าง) เจ้า
ถามว่าถ้าอำนาจเปลี่ยนจากปชป.มาเป็นพท.สถานการณ์มาตรา 112 จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่?
สาวตรีตอบว่า “คงแทบจะไม่ต่างกันมากนัก เพราะนักการเมืองจะมีลักษณะไหลตามกระแส ขึ้นอยู่สถานการณ์ในวันนั้น อย่างสถานการณ์ช่วงนี้แม้พท.จะขึ้นมา ก็ไม่แน่ว่าพท.จะไม่อ้างเรื่องสถาบันในการปิดสื่อ กลับกันถ้าปชป.เป็นฝ่ายค้านและถูกกระทำอยู่ อาจจะเป็นตัวตั้งตัวตีในการรณรงค์ให้แก้ไขมาตรา 112 ก็ได้ แต่เราก็หวังว่าจะมีสักกลุ่มหรือพรรคที่ชูเป็นประเด็นสำคัญ ว่าถ้าเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้ว จะมีเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ให้ไปในทางที่ดีขึ้น แต่เราไม่รู้ว่าจะมีพรรคไหนกล้าหยิบเรื่องนี้มาหาเสียงหรือเปล่า เพราะมันเซ็นซีทีฟ ถ้าเสนอไปพวกรอยัลลิสต์ก็จะมองว่าพรรคนี้จะขึ้นมาล้มเจ้าหรือเปล่า”
“ที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอแก้มาตรา 112 เพราะเห็นว่าเป็นปัญหาในสังคมเวลานี้ ไม่ว่ากลุ่มไหน นักการเมือง ผู้พิพากษา นักกฎหมาย ถ้าไม่ปิดหูปิดตา ต้องรู้ว่า มาตรา 112 เป็นประเด็นสำคัญ ที่ทำให้เกิดการกดทับการแสดงความคิดเห็น ทุกฝ่ายใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือหมด ที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอก็เป็นแค่ตุ๊กตา ไม่ได้บอกว่าจบแค่นี้ เราคิดแค่ว่าทุกวันนี้มันต้องเปลี่ยน ส่วนจะเปลี่ยนอย่างไร มาถกเถียงกันได้ จะสำเร็จไหมเป็นเรื่องหลังจากนี้ ไม่ใช่หน้าที่เรา หน้าที่เราคือเสนอตุ๊กตาให้”
“การแก้มาตรา 112 เป็นแค่ประตูสู่การปฏิรูปสถาบันขั้นต่อไป เพราะแค่แก้มาตรา 112 อย่างเดียว ไม่ทำให้การปฏิรูปสำเร็จ เพราะยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์ที่จำเป็นต้องได้รับการทบทวน สิ่งที่เราต้องการจะบอกคือมาตรา 112 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องมันพูดถึงได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ ถ้ายังอยู่อยู่ในกรอบ เพราะถ้าไม่มีใครแตะ ทุกคนก็จะรู้สึกว่าแตะไม่ได้หมด ประตูก็จะไม่เปิด สิ่งที่สำคัญที่ต้องเปลี่ยนไม่ใช่ตัวกฎหมาย แต่เป็นความรู้สึกของสังคมด้วย”