จรัส สุวรรณมาลา "เลือกตั้งทะเลาะกันเรื่องนโยบายคือปฏิรูป"
เข้าสู่ฤดูหาเสียง มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคเพื่อไทยเท่านั้น ที่เปิดนโยบายมาประชันกัน แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นนโยบายประชานิยมที่หวังคะแนนเสียงเฉพาะหน้ามากกว่า
ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ข้อคิดถึงนโยบายที่พรรคควรนำเสนอให้ประชาชนเลือกในช่วงหาเสียง ตลอดจน บทบาทของประชาชนที่จะกดดันนักการเมืองในช่วงเลือกตั้งกับการเสนอนโยบาย รวมถึง ภารกิจรัฐบาลใหม่ในการผลักดันการปฏิรูปประเทศ
@มองการนำเสนอของนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองขณะนี้อย่างไร
ผมขอท้าวความก่อนว่า บางพรรคที่เขียนนโยบายประจำพรรค มุ่งแสดงวิธีการดำเนินงานเฉย ๆ บางพรรคก็ละเอียดถึงขั้นจะใช้งบเท่าไร ซึ่งมีไม่กี่พรรค เราทำวิจัยพบว่า ใน 76 จังหวัดล้วสนมีปัญหาของตัวเอง เช่น จังหวัดที่มีปัญหาเฉพาะเรื่องอย่าง สวัสดิการสังคม มีประมาณ 10 กว่าจังหวัดที่รุนแรง ส่วนมากอยู่ในภาคอีสาน ภาคเหนือ ที่ประชาชนไม่มีหลักประกันในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องรายได้ การศึกษา สวัสดิการพื้นฐาน สาธารณสุข แต่ว่า จังหวัดที่อยู่ในโซนภาคกลาง กรุงเทพ แทบจะไม่มีปัญหาหลักๆเหล่านี้ แต่มีปัญหาเรื่องครอบครัวแตกแยก มีการหย่าร้างเยอะมาก ภาคใต้ก็มีปัญหาอีกแบบ พูดง่ายๆ ในแต่ละพื้นที่ก็มีปัญหาแตกต่างกัน แต่ทุกพรรคเขียนนโยบายแบบเดียวกันทั่วประเทศ มันก็ไปด้วยกันไม่ได้เลย
พูดง่ายๆ พรรคการเมืองไม่ได้เสนอนโยบายว่า คนในแต่ละพื้นที่มีปัญหาแตกต่างกันอย่างไร ทีนี้ที่ผ่านมาพรรคการเมืองได้มาบริหารประเทศในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ทำเหมือนกันหมด คือ นโยบายของรัฐบาลจะประยุกต์ใช้กับคนทุกจังหวัดเหมือนกันหมด แบบ นโยบายเดียวครอบจักรวาลใช้ได้กับคนทุกจังหวัด ซึ่งในทางปฏิบัติมันตรงกันข้ามเพราะในบางพื้นที่ไม่ต้องการนโยบายของรัฐบาลบางเรื่อง เพราะเขาไม่ได้เดือดร้อน เขาต้องการนโยบายบางเรื่องที่เร่งด่วนมาก ฉะนั้น การเมืองระดับชาติที่ผ่านมาเราบริหารประเทศแบบรวมศูนย์ ซึ่งมันสร้างความล้มเหลวให้กับประเทศชาติ นี่คือ จุดอ่อนอย่างหนึ่งของพรรคการเมืองในการนำเสนอนโยบาย
จากการวิจัยของเราจึงเสนอว่า พรรคการเมืองควรจะชี้ให้ชัดว่า พรรคการเมืองมีนโยบายอะไรในด้านไหน เน้นทำที่จังหวัดไหน พื้นที่ไหน มันจะชัดกว่า เพราะรัฐบาลเราทำทุกเรื่องและไม่ค่อยกระจายอำนาจให้กับพื้นที่ทำ ถ้ารัฐบาลเขียนนโยบายในแต่ละพื้นที่ชัด รัฐบาลก็จะสามารถเสนอทางเลือกให้กับประชาชนได้ว่า เขาควรจะเลือกพรรคนั้นพรรคนี้ แต่ทุกวันนี้คนก็เลือกไปงั้นๆ เมื่อนโยบายใช้เป็นตัวเลือกไม่ได้ ก็กลายเป็นว่า คนเลือกโดยใช้เกณฑ์ว่า ส.ส.คนไหนเอาของมาแจกให้มากกว่า ซึ่งปกติทุกครั้งที่มีงานบวช งานแต่งงาน งานวัด สส.ก็มาเสนอหน้า ถึงเวลาเขาก็เลือกกัน กลายเป็นว่า ประชาชนไม่ได้เลือกนโยบาย แต่เลือกความผูกพันธ์กับ ส.ส.
@พรรคการเมืองจึงต้องเสนอ นโยบายเฉพาะเจาะจงในแต่ละท้องถิ่นด้วย
เราต้องยอมรับความจริงว่า ในเมืองไทยรัฐบาลกลางทำทุกเรื่อง ท้องถิ่นแทบจะไม่ได้ทำอะไรเท่าไร เพราะรัฐบาลไม่ได้กระจายอำนาจ ทีนี้ถ้ารัฐบาลจะแก้ปัญหาพื้นที่เอง นโยบายของรัฐบาลในแต่ละพื้นที่ต้องแตกต่าง เช่น พรรค ก. บอกว่า ภาคอีสานมีปัญหา 3-4 อย่างก็ต้องบอกว่า จะแก้ปัญหาอีสานอย่างไร ซึ่งแต่ละพรรคไม่ได้ทำการบ้านตรงนี้ พูดง่ายๆ บางพรรคมีนโยบายแบบลอกพรรคอื่น คือ ไม่ได้เข้าใจปัญหาของแต่ละประชาชนในแต่ละพื้นที่
@การเลือกตั้งครั้งนี้เราควรเลือกพรรคหรือผู้แทนแบบใด
ถ้าผมเป็นประชาชน เมื่อ ส.ส.มาหาเสียง ประชาชนก็ควรจะถาม ส.ส.ว่า ในพื้นที่มีปัญหาอย่างนี้ เช่น จังหวัด ก. มีปัญหาสวัสดิการสังคมที่แย่มาก นักเรียนไม่ได้เรียนต่อ การว่างงานที่นี่สูง ปัญหาแรงงานนอกระบบ แล้ว ส.ส.จะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร ถ้า ส.ส.ตอบได้ก็ถือว่า เป็นคำมั่นสัญญา ผมคิดว่าประชาชนในพื้นที่ต้องรวมตัวถามแบบนี้ เพราะในอดีตประชาชนไม่มีพื้นที่ให้พูดว่า อยากได้ ส.ส.แบบไหน ก็ได้แต่ฟัง ส.ส.ปราศรัย เคาะประตูบ้าน ความจริงแล้ว ส.ส.ควรจะไปฟังว่าชาวบ้านอยากได้นโยบายอะไรมากกว่า เช่น ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาสังคม แล้วถ้าประชาชนเลือกเขาแล้วและ ส.ส.เกิดไม่ทำ ก็ถือว่าผิดสัญญา คราวหน้าคุณก็สอบตกเท่านั้น
การเมืองในระบอบประชาธิปไตย ผู้ปกครองคือ ประชาชน และก็เป็นเจ้าของประเทศจริงๆ เหมือนเราเป็นเจ้าของบริษัท ส.ส.ก็อาสามาเป็นผู้จัดการของเรา คุณจะทำอะไรได้บ้าง ผู้จัดการที่เสนอวิธีการทำงานแบบไหน ที่เราชอบ เราก็เลือกเขา แต่ถ้าทำไม่ได้ เราก็ไม่ให้เขาเป็นต่อเท่านั้นเอง
@ในสถานการณ์ที่การเมืองขัดแย้ง แตกแยกกัน บรรยากาศแบบนี้จะทำให้ การนำเสนอนโยบายเพื่อขายประชาชนได้รับความสนใจแค่ไหน
บรรยากาศความขัดแย้งแบบนี้ อาจมีคนจำนวนหนึ่งที่จะหาเสียงใช้เรื่องความขัดแย้งเป็นตัวนำ แต่การหาเสียงแบบนี้เป็นการแยกประชาชน “นี่พี่น้องเป็นพวกเรานะ อย่าเป็นพวกเขา ไม่ไว้ใจเขา ไว้ใจเราดีกว่า” เป็นการหาเสียงที่ทำลายสังคมมาก ผมพูดได้เลยจากงานวิจัยของคณะรัฐศาสตร์ที่เราทำมาตลอด บอกได้ว่า ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่ดีไปกว่ากันมากนักในเรื่องของจริยธรรม ศีลธรรม
ความจริงทุกพรรคเบื้องหลังมีทั้งนั้น มีการซื้อเสียง จัดตั้งหัวคะแนน แต่พูดได้ว่า บางพรรครุนแรงในบางพื้นที่ ที่ผ่านมาที่ไหนมีงานวัด งานแต่งงาน สารพัด ส.ส.เกือบทุกพรรค ก็จะให้ชาวบ้าน ไปเบิกน้ำอัดลม ไปเอาเต้นท์จากบ้าน ส.ส.ให้ในช่วงเลือกตั้ง ฉะนั้น อย่าพูดว่า พรรคไหนดีกว่าใคร เพราะมันพอๆกัน ผมคิดว่า พี่น้องประชาชนไม่ควรจะเชื่อ โดยเฉพาะการหาเสียงที่ปลุกให้มีการแยกขั้ว เพราะนี่เป็นการหาเสียงแบบทำลายล้างความไว้ใจซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ทำลายฝ่ายตรงข้ามนะครับ แต่ทำลายล้างประเทศชาติสังคมส่วนรวม
การหาเสียงแบบนี้ ถ้าเลือกตั้งแล้ว มันจะทำให้เกิดปัญหาว่า “เลือกตั้งแพ้ แต่คนไม่แพ้” “พวกมึงเป็น พวกกูไม่เป็น” มันก็จะไม่จบสิ้น ประชาธิปไตยจะหาเสียงแบบเป็นแก๊งค์ เป็นก๊วน แบบนี้ไม่ได้ อันนั้น ต้องไปอยู่ในแก๊งค์โจร ไม่ใช่สังคมประชาธิปไตยที่เรารู้จักกัน
@มองการเลือกตั้งครั้งนี้จะวุ่นวายแค่ไหนและเห็นทางออกอะไรหรือไม่
สมมติเลือกตั้งเดือนก.ค. แต่วันนี้เดือนเม.ย. แต่ผมยังมองว่า ยังไม่เห็นสัญญาณอันตรายหรือจะมีการใช้ความรุนแรงกันชัดๆ คือ พูดง่าๆ ถ้าให้เทียบกับครั้งก่อนๆ การเตรียมตัวลงแข่งขันทางการเมืองของ ส.ส. และพรรคการเมือง ก็ไม่ต่างกับครั้งนี้ ทุกพรรคก็คล้ายกับว่า เก็บสะสมสรรพกำลังทั้งในทางบวกและทางลบด้วยกันทั้งนั้น
ทางบวกคือ บางพรรคเตรียมนโยบาย และเตรียมหัวคะแนนจัดตั้งไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เรายอมรับได้ ถ้าไม่ใช้วิธีการซื้อบัตรประชาชนล่วงหน้า ในทางลบคือ เริ่มมีการรวบรวมสมัครพรรคพวก เช่น มือปืน หรือ ใช้กลไกอำนาจรัฐเพื่อไปขัดขวางฝ่ายหนึ่ง แต่ของพวกนี้การเลือกตั้งครั้งที่แล้วเขาก็ทำกัน มันจะรุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับ “เดิมพัน” ที่คนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ มีเดิมพันทางการเมืองที่ค่อนข้างมาก หรือ สูง ยิ่งเรามีความแตกแยกในพื้นที่มากอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็มีคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากการเลือกตั้งครั้งนี้สูง
ผมอยากจะเรียนว่า ความแตกแยกครั้งนี้เป็นเรื่อง ผลประโยชน์ของบุคคล ของกลุ่มบุคคล ไม่ใช่ของประเทศชาติ หรือ พี่น้องประชาชนในภาพรวม บางคนพยายามโยงว่า นี่เป็นการต่อสู้ทางชนชั้น แต่ผมว่า ไม่ใช่ เพราะจริงๆ แล้ว ปัญหาเรื่องความแตกต่างในเรื่องความมั่นคงในชีวิตมนุษย์ ในสังคมเมือง ซึ่งคนจำนวนน้อยร่ำรวย กับ คนจำนวนมากที่ยากจนในพื้นที่ชนบท มันมีมาก่อนหน้านี้ และการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดการต่อสู้ทางชนชั้นอะไร และการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ มันไม่ได้เป็นตัวที่ทำให้การต่อสู้ทางชนชั้น มันแหลมคมขึ้น แม้ว่า ใครจะพยายามผลักดันให้มันเกิดหรือ คล้ายๆ กับสร้างวาทกรรมให้มันเกิด แต่มันก็วิ่งไปได้ไม่ตลอด
ปกติแล้ว พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายที่แตกหักทางชนชั้น ก็ไม่มีนะครับ พรรคใดก็ตามที่บอกว่า ถ้าเลือกผม ผมจะทำให้คนรวยเป็นคนจนเท่าๆกับคนทั่วไป ใครมีที่ดินเกิน 50 ไร่ ก็จะปรับเป็นของหลวงให้หมด แก้ปัญหาแบบเข้มข้นแบบนี้ ไม่มีพรรคไหนเสนอ ก็เพราะว่าคนส่วนใหญ่ไม่เลือก โดยธรรมชาติเวลาพรรคการเมืองเสนอนโยบายก็หวังที่จะให้คนส่วนใหญ่เลือก ถ้าให้คนส่วนน้อยเลือกก็ไม่ชนะการเลือกตั้ง ฉะนั้นนโยบายก็จะเป็นแบบว่า ให้คนส่วนใหญ่พอรับได้
นโยบายที่หาเสียงก็จะเป็นประเภท ประนีประนอม ในขณะที่ความขัดแย้งทางชนชั้นมันมักพูดไปทางการแก้ปัญหาแบบรุนแรง แตกหักกัน ฉะนั้น การเลือกตั้งไม่ใช่เส้นทางการต่อสู้ทางชนชั้นมันแตกหักได้ ฉะนั้นใครพูดไปก็พูดไปเถอะ
การเลือกตั้งผมคิดว่า เป็นการเลือกคนที่เราไว้ใจ ซึ่งเรื่องนี้ก็ขัดกับหลักการในระบอบประชาธิปไตยที่ว่า ในดั้งเดิมแล้ว เราเลือกคนดี มีคุณภาพ มาทำหน้าที่ปกครองประเทศ พอเข้ามาแล้วถึงจะมาสร้างนโยบายที่จะเดินไปสู่การแก้ปัญหาปฏิรูปสังคม การพัฒนาประเทศ เป็นอีกขั้น รวมถึงการกำหนดนโยบายที่เขาบอกว่า ต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในทางประชาธิปไตย เช่น ทำประชาพิจารณ์ ลงประชามติ รัฐบาลของสวิสเซอร์แลนด์ จะกู้เงินเยอะๆ หรืออะไรที่ทำแล้วมีผลผูกพันธ์ต่อคนในระยะยาว ต้องมาลงประชามติ แม้ว่า รัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งก็ตาม หรือ ออกกฎหมายโดยสภา เขาก็จะไม่ใช้สภาเป็นตัวหักคอประชาชน แต่จะใช้วิธีการลงประชามติเพื่อให้ประชาชนได้ข้อมูลว่า เห็นด้วยไหมที่เราจะเป็นแบบนี้กัน แต่ถ้าเราเลือกทั้งคนและทั้งนโยบาย บางทีมันก็จะไม่ได้ทั้งสองอย่าง
ผมเชื่อว่า ถ้าประชาชนเลือกคนที่น่าไว้ใจ มาดูแลประเทศ มันก็ดีกว่า เลือกประเภทที่ นโยบายดีฉลาด หรือ เอาคนที่เจ๋งที่สุดในโลกมาเป็นผู้นำ พอถึงเวลาปั๊บ มันก็โกง คอรัปชั่น
@ประเมินได้หรือไม่ว่า รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งจะนำพานโยบายเชิงปฏิรูปโครงสร้างได้ไหม หรือ จะจมอยู่กับการประคองเสถียรภาพ หรือ การแก้ปัญหาความขัดแย้งเท่านั้น
ที่จริงแล้ว ผมว่า รัฐบาลใหม่ ซึ่งแนวโน้มเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ถ้ารัฐบาลเข้ามาเพื่อตั้งใจจะปฏิรูปประเทศไทยจริงๆ และดูแลเรื่องความขัดแย้ง ความแตกแยก ไม่ใช่มาบอกว่า ให้คนสามัคคีกันแล้วก็จบ โดยให้คนไปแต่งเพลง ไม่ใช่อย่างนั้นนะ รัฐบาลใหม่ที่จะมาถึงเขาก็จะมีพลังบวกอยู่ก่อนหน้านี้
ผมมองว่า การนำเสนอนโยบาบเศรษฐกิจ การเมืองจากนี้ มันต้องทำให้คนทั้งประเทศ ตระหนักว่า เราจะปล่อยให้ ความแตกต่างกันระหว่าง คนเมือง กับ คนชนบท อยู่ต่อไปไม่ได้ คือ ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า จะทะเลาะกันอีก หรือ คนกรุงเทพจะอยู่อย่างมีสุข และก็ร่ำรวย โดยที่คนต่างจังหวัดลำบาก มันก็อยู่ไม่ได้ ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลจะมีนโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ลดช่องว่างด้วยการเก็บภาษี ที่ก้าวหน้าเพื่อไปดูแลเรื่องการศึกษา สวัสดิการสังคม ผมว่า คนที่มีฐานะ ก็จำเป็นต้องยอม ถ้าไม่ยอมก็จะเกิดปัญหาอย่างที่ตัวเองเห็นนั่นแหละ
ฉะนั้น นโยบายปฏิรูปที่ดิน เพื่อทำให้การเกษตรมันยั่งยืน มีอาหารกิน แต่ทุกวันนี้เราขาดน้ำมันปาล์ม ไข่ขึ้นราคา มันก็เป็นสัญญาณบอกเหตุว่า รัฐบาลต้องปฏิรูปเรื่องพวกนี้ และต้องทำจริงๆ บางอย่างที่จะมากระทำให้เราไม่สะดวกสบายบ้างหรือต้องเสียสละบ้าง ก็ต้องยอม แต่คนที่จะไม่ยอมคือ พวกสส.นั่นแหละ โดยเฉพาะการปฏิรูปที่ดิน เพราะ สส.ทุกพรรคถือครองที่ดินเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ ทีนี้พลังบวกนี้มันต้องใช้ผลักดันตรงนี้ให้ได้
ผมคิดว่าในทางตรงข้าม ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไร รัฐบาลก็จะหมดความชอบธรรมภายในเวลา 5-6 เดือน ชาวบ้านก็จะรู้สึกผิดหวัง และจะมีคนลุกขึ้นมาประท้วง และถ้ารัฐบาลเติมเชื้อ ใช้วิธีการบริหารประเทศ แบบคอรัปชั่นโกงเหมือนเดิมก็จะยิ่งแล้วกันใหญ่ ความชอบธรรมจะเหลือให้รัฐบาลอยู่ได้ แค่ 3-4 เดือนเท่านั้นเอง และถ้าบอกว่า รัฐบาลมีพลัง โดยอ้างว่า มีคนสนับสนุนเยอะ แต่ถ้าไม่ทำ มันก็จะตรงข้าม
@นโยบายอะไรที่ต้องทำในการปฏิรูปประเทศ เศรษฐกิจ สังคม
มันมีหลายเรื่องที่คณะกรรมการปฏิรูป เคยเอามาแถลงต่อประชาชน เช่น การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร นโยบายการปฏิรูปกฎหมาย ระบบกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเราได้ยินเหมือนกันว่า สองมาตรฐาน ความจริงระบบยุติธรรมในประเทศไทยไม่ได้มีแค่สองมาตรฐานเท่านั้นนะ แต่มีหลายมาตรฐานเลย เพราะคนจนมักติดคุก แต่คนมีอำนาจบารมี มักอยู่รอดไปได้ นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่
เรื่องการปฏิรูประบบ รายได้ ก็ควรเน้นเรื่องภาษี เรื่องรายได้ เพราะที่ผ่านมา เราสร้างความแตกต่างมาเยอะในอดีต เรื่องใหญ่อีกเรื่อง คือ เรื่องการศึกษา เป็นเรื่องที่ประเทศไทยตกหลุมอากาศในการพัฒนาอยู่นาน จนเดี๋ยวนี้คุณภาพการศึกษาของเราเลวลงเรื่อยๆ อย่างในระดับมัธยมเป็นระดับที่แย่มากในแง่ของคุณภาพ และงานวิจัยก็ระบุว่า ยิ่งแย่ลงทุกวัน
อีกเรื่อง สวัสดิการสังคมที่เกี่ยวกับคนในกลุ่มต่างๆ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ อันนี้อาจดูเล็กน้อย แต่วันนี้เราเริ่มเป็นสังคมผู้สูอายุขึ้นมาก การดำเนินการในเรื่องพวกนี้ก็ต้องเตรียมทำได้แล้ว
ทีนี้ในทางการเมือง เราก็มองเห็นว่า ประเทศเราได้กระจายอำนาจมากขึ้น บางทีเราก็มีอบต. มีเทศบาล มีอบจ. แต่ว่า ในปี 2544 ขึ้นมา เรากระจายเยอะตามรธน.ปี 2540 แต่เมื่อเทียบกับปัญหาที่มันมีมากขึ้นในแต่ละพื้นที่ การกระจายอำนาจมันวิ่งไล่ไม่ทันหรอกครับ เพราะเรารวมศูนย์อำนาจอยู่ เราก็จะเจอปัญหาเหล่านี้ตลอดเวลา ดังนั้น ถ้าเราไม่แก้ปัญหาการปกครองประเทศในเชิงโครงสร้างให้มีการกระจายสู่จังหวัด สู่ชุมชน ก็จะช่วยได้เยอะ
ตัวผมเองผลักดันเรื่องการกระจายอำนาจมานาน เมื่อไม่นานมาผมได้วิจัย เชื่อไหมว่า หลายจังหวัดในประเทศไทยเก็บภาษีส่งส่วนกลางได้ปีละระดับร้อยกว่าล้านบาทต่อปีถือว่าน้อยมาก ถ้าเราเทียบกับฐานเศรษฐกิจของจังหวัด ภาษีที่เก็บแต่ละพื้นที่ได้น้อย และก็เพิ่มขึ้นช้ามาก แต่ถ้าฟังดูอาจจะดีที่ว่า คนต่างจังหวัดเสียภาษีน้อย แต่จริงๆ ถ้ามองอีกด้านหนึ่งการที่เราบริหารประเทศแบบรวมศูนย์มันทำให้ จังหวัดต่างๆ ในภูมิภาคมันไม่เจริญเลย เศรษฐกิจมันก็เลยล้าหลัง เก็บภาษีไม่ได้ อย่างกรุงเทพ เก็บภาษี 40% ของทั้งประเทศ ต่างจังหวัดทั่วประเทศเก็บภาษีนิดหน่อยแค่ 1% ของจีดีพี ที่เป็นอย่างนี้เพราะเราปล่อย ให้มีการรวมศูนย์อำนาจ จึงทำให้ข้างล่างพึ่งตนเองไม่ได้ เพราะไม่ได้พึ่งข้างบน ทุกอย่างก็ต้องไปดึงงบประมาณจากรัฐบาลกลาง อันนี้คือ เรื่องใหญ่ที่เราต้องปรับ ถ้าเราปรับโครงสร้างการบริหารประเทศ มันก็จะปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในทุกๆ จังหวัดและก็ไปปรับแก้ปัญหาที่คนต่างจังหวัดคน คนกรุงเทพรวย มันก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปทีละนิด นึกถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่พระองค์ท่านเลิกทาส เพราะเวลาท่านจะเลิกทาส ขุนนางทั้งหลายที่มีทาสไม่มีใครยอม เพราะทุกคนจะเสียประโยชน์หมด ของเราพอบอกว่า จะกระจายอำนาจนะครับ ทุกกระทรวง ทบวง กรมไม่เอาหมดเลย เพราะว่า อำนาจที่รวมศูนย์อยู่นี้ มันอยู่ในมือของกระทรวง ทบวง กรม ดังนั้น ถ้าเราจะเลิกทาสการปกครองประเทศแบบรวมศูนย์นี้ อย่างที่ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป โดยอดีตนายกฯอานันท์ ปันยารชุน ที่แถลงออกมา แต่ก็รับรองว่า พูดทีไรก็เป็นเรื่องทุกที ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาต้องกล้าหาญ ต้องเริ่มทำว่าจะเอาจริงๆ
@ในสถานการณ์การเมืองที่เผชิญหน้ากันรุนแรง มันจะประสบความสำเร็จได้กี่เปอร์เซ็นต์
ผมมองว่า พรรคการเมืองใดก็ตามมีนโยบายชัดเจน เข้ามาแล้วทำงานจริงๆ ประเด็นของการเมืองมันจะพ้น หรือ ก้าวข้ามประเด็นของความขัดแย้งระหว่างคนจน คนรวย คนมีปัญหา กลายเป็นเรื่องนโยบาย คือ การมืองจะเคลื่อนจากเรื่อง ความขัดแย้ง การต่อสู้ มาเป็นเรื่องของนโยบาย ใครที่ทะเลาะ โต้แย้ง กันเรื่องนโยบายผมว่า ดีกว่า การทะเลาะกันเรื่องสี เพราะมันสร้างสรรค์มากกว่า เพราะเราทะเลาะกันเพื่อปรับปรุงการปฏิรูป เราไม่ควรมาสร้างวาทกรรมว่า เป็นคนละพรรค คนละพวก ไม่มีประโยชน์อะไร