ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ “ต้องปฏิวัฒนะ คือเปลี่ยนหลักการประเทศ”
เปิดมุมมอง ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ เชื่อประเทศไทยยังสงบยาก หากไม่ให้ที่ยืนแก่คนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน เสนอการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เรียกว่า ปฏิวัฒนะ 4 ด้าน ซึ่งเป็นมากกว่าการปฏิรูป
เคยผ่านสนามการเมืองใหญ่ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่ากทม.แบบอิสระไร้สังกัด “ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์” ในวันนี้มีมุมมองต่อการเมืองไทยในสภาพปัจจุบันว่ายังวนเวียนอยู่ในความขัดแย้ง
แม้จะมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ความขัดแย้งเหล่านั้นก็จะไม่หมดไป มีแต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น...
ดร.เกรียงศักดิ์ มองว่า สถานการณ์การเมืองในช่วงที่ผ่านมา เป็นการต่อสู้ระหว่งทุนเก่ากับทุนใหม่ ทุนที่เสียประโยชน์มาแย่งประเทศกัน โดยอ้างทุกฝ่าย เพื่อให้ได้ประโยชน์ของตัวเอง สุดท้ายประเทศก็แหลกราน ประชาชนถูกทำให้เลือกข้าง ประเทศเสียหายมาก และเชื่อว่าจะเสียหายต่อไปอีกหลายปี ถ้าไม่หาทางออกอย่างถูกต้อง อาจเสียหายถึง 10 ปี
“หากยังเดินอย่างนี้ต่อไป จะนำไปสู่การขัดแย้งรุนแรงขึ้นในรอบต่อไป อาจเกิดสงครามกลางเมือง คนตายหลายพันคนก็ได้ ผมคิดว่าชีวิตประชาชนมีค่า ดังนั้นจึงไม่ควรคิดถึงแต่ตัวเอง อย่าปล่อยให้ประชาชนเป็นเหยื่อของความรุนแรง จะทำอย่างไรให้ประชาชนเดินต่อ โดยสงบ สันติ ปรองดอง
ผมคิดว่าเราต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อการดีขึ้นของประเทศ ไม่ใช่แค่คำว่าปฏิรูป ซึ่งแปลว่าเปลี่ยนรูป แต่ต้องเปลี่ยนหลักการประเทศใหม่ ซึ่งผมเรียกว่า “ปฏิวัฒนะ” เป็นเรื่องที่จะทำให้ประเทศชาติพัฒนาดีขึ้น เจริญงอกงาม ด้วย 4 องค์ประกอบ
ได้แก่ 1. ต้องปฏิสังขรณ์ เรื่องใหญ่ๆถ้าซ่อมแซมประเทศดีขึ้นได้ ก็เอาไปซ่อม 2. ปฏิรังสรรค์ บางเรื่องมีองค์ประกอบดีแต่ต่อกันผิด ก็เอามาต่อใหม่ 3. ปฏิรูป บางอย่างหลักการถูก แต่รูปแบบผิด ก็ทำรูปให้ถูก แต่ดำรงหลักการเอาไว้ และ 4. ปฏิวัติ ถอนรากถอนโคน เปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังในบางเรื่อง แล้วสร้างระบบใหม่ ต้องเลือกให้ถูก อะไรอยู่ตรงไหน”
ที่พูดกันตอนนี้ เป็นแต่รูปแบบภายนอก ไม่ใช่สาระที่แท้จริงซึ่งมีอีกมาก เพราะประเทศจะอยู่ได้ ต้องมี “สมดุลวิถี” ต้องเข้าใจความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ถ้าเราไม่สร้างสมดุล ยังทะเลาะกันไม่เลิก จะทำให้ประเทศ สงบ สันติ ได้อย่างไร
ดร.เกรียงศักดิ์ ระบุว่า สมดุลในทางการเมืองที่ต้องแก้ไข คือ 1. อำนาจที่ไม่สมดุล และ 2. เศรษฐกิจที่ไม่สมดุล มีความเหลื่อมล้ำมาก มีคนได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ คนกลุ่มหนึ่งไม่มีที่ยืนในสังคม อย่างมีศักดิ์ศรี เพราะเราจัดระบบไม่ถูกต้อง มีการแยกข้างสู้กัน แบบหักหาญให้ตายกันไปข้างหนึ่ง
“ขอย้อนกลับไปที่ผมบอกว่าเป็นการต่อสู้ของกลุ่มทุนก็คือ กลุ่มทุนเดิมผูกขาด ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เป็นทุนครอบงำ ทุกคนที่ได้ประโยชน์ต้องอยู่ในเครือข่ายหรือเป็น “ซับคอนแทรก” รายใหญ่ แต่พอทุนใหม่เกิดขึ้น ซึ่งผมขอเรียกว่าทุนคลื่นลูกที่ 3 ซึ่งก็คือทุนสื่อสาร ในสังคมข้อมูลข่าวสาร มาสู้กับทุนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมก็คือคลื่นลูกที่ 2 เรียกว่าเป็นการปะทะกันที่รุนแรง แบ่งฝ่ายกัน เพราะทุนไปครอบงำทุกอย่าง เช่น การเมืองจะทำอะไรก็ใช้ทุน นำไปสู่ปรากฎการณ์ เมื่อ 2 ปีก่อน มีการแยกข้างชัดเจนใครได้ประโยชน์ก็จะกดคนที่เสียประโยชน์ คนเสียประโยชน์ก็จะสู้เต็มที่ ใครอยู่ในอำนาจก็จะใช้ อำนาจ ทำให้เกิดความแตกแยก เพราะสู้กันระหว่าง 2 ทุน 2 ซีก 2 สี 2 พรรค แยกข้าง
แม้แต่ข้าราชการ ที่ใครอยากเติบโตก็ต้องมีสังกัด ว่าจะอยู่พรรคไหน นักวิชาการก็ถูกดึงให้สนับสนุนข้างใดข้างหนึ่ง พูดเอียงข้างไปทางใดก็แล้วแต่ ใครเอาทุนวิจัยไปให้ หรือช่วยแต่งตั้งให้มีตำแหน่งทางบริหาร”
ในส่วนของภาคประชาสังคม อำนาจรัฐก็เข้าไปช่วยเอ็นจีโอข้างตัวเอง เอาเงินไปแจกชุมชนทั้ง ซึ่ง ดร.เกรียงศักดิ์ มองว่า ทั้ง 2 พรรคการเมืองต่างก็ทำเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้าน กองทุนเอสเอ็มแอล กองทุนเศรษฐกิจพอเพียง เป็นวิธีการใช้ประโยชน์จากภาคประชาชนให้เขามีการแยกข้าง สุดท้ายก็เกิดการแตกแยกอย่างหนัก ประชาชนแยกข้างจึงมีความรู้สึกร่วมว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ทะเลาะเข้าไปในความรู้สึกอย่างลึกซึ้ง ถ้าแก้ไม่ถูกวิธี คนก็จะจับอาวุธมารบกัน ตายเป็นพันๆคน
ดังนั้น ตอนนี้ก็คือทุกคนจะมองความเป็นธรรมจากมุมของตัวเอง แล้วมองอีกข้างว่าเป็นฝ่ายผิด เพราะคนส่วนหนึ่งเลือกข้างเรียบร้อยแล้ว เกิดพลังกลุ่ม เป็น “กรุ๊ปไดนามิก” มีอะไรมาเป็นชนวน ก็จะเกิดการ “สปาร์ค” ได้ทันที นิดเดียวก็จะลุกลาม จะไม่ใช้เหตุผลแต่ใช้กำลัง สุดท้ายก็บานปลาย เพราะอาวุธมีอยู่เต็มประเทศ ซื้อหาง่าย อาวุธสมัยคอมมิวนิสต์ ก็ซ่อนอยู่เต็มไปหมด ประเทศไทยก็จะเจอสภาพที่ทุกฝ่ายมีกำลังอาวุธกันหมด และเมื่อไม่เป็นธรรม ก็ตีกัน ฆ่ากัน ถ้ายังไม่แก้ไขให้ถูก
“ทางออกก็คือ ถ้าคำนึงถึงแต่ความสงบ อาจเกิดการปราบปรามให้ราบคาบ ซึ่งทำไม่ได้เพราะความแตกแยกลงลึก จะปราบไม่ได้ เพราะคนเยอะมาก ถ้าสู้ไม่ได้เขาก็ลงใต้ดิน ไม่ช้าก็จะนำไปสู่การแยกประเทศ สหประชาชาติก็จะเข้ามา กลายเป็นประเด็นระหว่างประเทศและนานาชาติ จะเอาประโยชน์จากความแตกแยกนี้”
ไม่เพียงเท่านั้น อีกส่วนจะคิดว่า ขอชนะเลือกตั้งให้ราบราบ เมื่อมีอำนาจรัฐก็จะจัดการอีกข้าง ซึ่งไม่สำเร็จแน่นอน เพราะจะพบกับสภาพ “เป็นรัฐบาลได้ แต่ปกครองไม่ได้” เมื่อประชาชนจำนวนมาก รู้สึกอึดอัด ไม่เป็นธรรม แม้ตั้งรัฐบาลจะเป็นรัฐปกครองที่ล้มเหลวที่สุด คนไม่เชื่อกฎหมาย ไม่ยอมรับใช้กฎหมาย ดังนั้น ไม่ว่าฝ่ายใดชนะ ไม่มีทางสงบ
“เพราะเวลาคุณชนะเลือกตั้ง อีกฝ่ายก็จะบอกว่าเอาเปรียบ คุณโกง ส่วนอีกข้างก็จะบอกว่า อีกฝ่ายซื้อเสียง และถ้ามีการยุบพรรคอีกก็จะมีการลุกฮือ ใครมาเป็นรัฐบาลอีกข้างก็จะก่อกวน ปกครองไม่ได้ ปัญหายิ่งหนักขึ้นกว่าเก่า
ผมมองว่าการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ซึ่งผมก็รักประชาธิปไตยและสนับสนุนการเลือกตั้ง แต่เราอาจคิดผิด ที่คิดว่าเลือกตั้งแล้วจะจบ เพราะหลังจากนั้นจะมีข้อท้วงติงตลอดเวลา ผลการเลือกตั้งจะไม่เป็นที่ยอมรับ ถ้าชนะไม่เด็ดขาด ก็จะถูกชี้หน้าด่า การตั้งรัฐบาลก็จะลำบาก ถ้าได้ที่ 2 แล้วตั้งรัฐบาล คนได้ที่ 1 ก็ไม่ยอม ถ้าได้ที่ 1 แล้วตั้งรัฐบาล อีกฝ่ายก็จะเจาะยาง ให้ถอนอำนาจปกครองออกให้ได้ เลือกตั้งแล้วก็กลับมาสู่ที่เดิม ยังเป็นวงจรเดิมไม่มีที่สิ้นสุด ปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไข”
ดังนั้น เราจะทำอย่างไรให้ทุกคนรู้สึกว่ามีที่ยืนอย่างมีศักดิ์ศรี ต้องการวิธีคิดแบบอยู่ร่วมกัน ใจต้องเป็นเอกภาพจริงๆ มีน้ำใจต่อกัน ที่ผ่านมาใช้คำว่าปรองดอง ถามว่าแปลว่าอะไร แปลว่าอดทนต่อไปใช่หรือไม่ แล้วอีกนานแค่ไหน แต่ถ้าให้ทุกคนมีที่ยืน และสร้างสมดุลวิถี ให้ทุกฝ่ายอยู่ได้ ต้องทำให้คนรู้สึกเต็มใจ คิดว่าการต่อสู้คือการเอาชนะกันทางความคิด ไม่ใช่ใช้กำลัง ซึ่งไม่มีทางได้ข้อยุติ ต้องให้ คนใช้เหตุและผล แต่ปัจจุบันเรายังเป็นสังคมที่ชอบอำนาจดิบเรื่อยๆ สิ่งที่ถูกต้องไม่เอา เราชอบทุบโต๊ะ ข้าจะเอาอย่างนี้
ส่วนคนที่เป็นกลางก็ไม่กลางจริง กลางที่เห็นคือเงียบกริบ ไม่ทำอะไร คือกลางสละสิทธิความคิด สละสิทธิทางการเมือง ไม่มีจุดยืน เกียร์ว่าง อะไรก็ได้ ทั้งที่จริงๆแล้ว คนเป็นกลางก็ต้องมีจุดยืนที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
... นี่คือมุมมองของนักวิชาการ ผู้ที่ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองในช่วงวิกฤตรุนแรงมาแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีใครอยากเห็นประเทศไทยเข้าสู่สถานการณ์จนมุม ทุกคนต่างต้องการเห็นทางออก ซึ่งคนที่อยู่ในอำนาจไม่ว่าฝ่ายใดก็ควรตระหนักรับฟัง