“สิริพรรณ นกสวน สวัสดี” “พรรคการเมืองไม่ขายนโยบาย จุดอ่อนในกระแสปฏิรูปที่ไปไม่ถึงฝัน”
ใกล้เข้าสู่โหมดการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ แต่บรรยากาศการเมืองที่ยังขัดแย้งรุนแรง แต่ละพรรคการเมือง ยังคงสาละวนอยู่กับการจับขั้วล่วงหน้า ชูมือต้อนรับสมาชิกใหม่พร้อมประกาศร่วมรัฐบาลได้ทุกพรรค พรรคแกนนำรัฐบาลประชาธิปัตย์ ได้เปรียบจึงขายนโยบายออกมาก่อน ขณะพรรคเพื่อไทยพยายามฉีกหนีจากปัญหาเสื้อแดงเปิดแคมเปญ “ทักษิณคิดเพื่อไทยทำ” สู้นโยบายกับประชาธิปัตย์
ทว่า ภาพรวมพรรคการเมืองขณะนี้ยังติดอยู่กับกรอบเดิมๆ ที่จมปลักกับการแย่งตัวนักเลือกตั้ง ทั้งที่กระแสการปฏิรูปถูกจุดขึ้นเพื่อให้ การเมืองไทยก้าวข้ามความขัดแย้ง หันมาสนใจกับการแก้ปัญหาประเทศในระยะสั้น และระยะยาว
รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินภาพรวม “พรรคการเมือง” ว่ามีความตื่นตัวแข่งขันกันทางนโยบายมากน้อยเพียงไร ท่ามกลางบรรยากาศ การเมืองสีเสื้อ
@การเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ ดูแล้วพรรคการเมืองได้เสนอนโยบายมาให้เพียงพอหรือยัง
ณ ถึงจุดนี้ต้องบอกว่า ยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่เสนอแพ็กเกจของนโยบายที่น่าสนใจเลย พรรคใหญ่อย่างประชาธิปัตย์ถึงจะมีนโยบายออกมาบ้างในฐานะที่เป็นพรรครัฐบาล แต่ตัวนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังเป็นเชิงประชานิยมที่ให้ผลประโยชน์ระยะสั้นอยู่ ส่วนพรรคการเมืองอื่นก็ไม่มีพรรคใดเสนอนโยบายที่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่จะแก้ปัญหาระยะยาวได้
ดิฉันอยากเห็นพรรคการเมืองเสนอนโยบายที่เป็นทางเลือกให้กับประชาชน แต่ตอนนี้ทุกพรรคเสนอเหมือนกันหมดเลยคือ เร่งให้ผลประโยชน์ในเชิงรูปธรรมระยะสั้น หรือ นโยบายประชานิยมเป็นหลัก ซึ่งแต่ละพรรคก็ไม่ได้บอกด้วยว่า ในระยะยาวจะเอาเงินมาจากไหนเพื่อสนับสนุนนโยบายเหล่านี้ และสิ่งที่สังคมไม่เห็นและไม่สามารถเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างพรรคการเมืองเหล่านี้ได้เลย คือ จุดยืนทางอุดมการณ์ และ นโยบายในการปรับโครงสร้างระยะยาว
สำหรับ จุดยืนในเชิงอุดมการณ์ เช่น พรรคการเมืองจะเอาอย่างไรกับ การทำแท้ง หรือ จุดยืนต่อภาษีเหล้าบุหรี่ ซึ่งเรายังไม่เห็นแต่ละพรรคพูดถึง อีกเรื่องคือ นโยบายในเชิงโครงสร้างที่ว่า คุณจะเสนอนโยบายแก้ปัญหาภัยแล้งในระยะยาวอย่างไร ปัญหาแผ่นดินไหว ภัยธรรมชาติ หรือ การปรับปรุงรถไฟให้มีประสิทธิภาพ อย่างนี้คือ สิ่งที่เราอยากเห็น หรือ แม้แต่ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก จะเอากันหรือไม่ อย่างเวทีคณะปฏิรูปก็ทำนโยบายไว้หลายเรื่อง แต่ก็ยังไม่เห็นพรรคการเมืองใด โดยเฉพาะพรรครัฐบาลที่ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมา หยิบนโยบายเหล่านี้ไปสานต่อ ฉะนั้น การที่มีพรรคเยอะ แต่ก็ไม่ได้ให้ทางเลือกให้กับประชาชน มันจะทำให้การเลือกตั้งจะวนเวียนกับภาพลักษณ์เดิมๆ ของพรรคการเมือง และการตัดสินใจเลือกของประชาชน ที่จะตั้งอยู่บนฝักฝ่ายของความขัดแย้ง ไม่ใช่เลือกเพราะชอบนโยบายของพรรค
@เพราะอะไรที่พรรคการเมืองไม่นำนโยบายในเชิงปฏิรูป หรือ เพราะปัญหาความขัดแย้งขณะนี้ ความไม่มีปัญญาของพรรคการเมือง หรือ ความอ่อนแอของภาคประชาชน
ทั้งสามอันที่พูดมาถูกต้องหมด เบื้องต้นคือ ความไม่มีปัญญาของพรรคการเมืองจริงๆ เพราะว่า ได้คุยกับผู้บริหารของพรรคจำนวนหนึ่งก็รู้สึกว่า เขามองไม่ทะลุเลย แต่อีกส่วนหนึ่งต้องมองด้วยว่า มันเป็นเพราะ สังคมไทยเองไม่เคยสร้างแรงกดดันให้กับพรรคการเมือง คือ เรายังมองพรรคการเมืองเป็นเหมือนผู้อุปถัมภ์แทนระบบราชการ หรือ แทนกลุ่มผู้นำท้องถิ่นอยู่ ฉะนั้น สิ่งที่ประชาชนคาดหวังเดิมๆ ก็ยังเป็นเรื่องของการไปเยี่ยมเยียน หรือการดูแลทุกข์สุขด้วยการพาไปเที่ยว ซึ่งใช้เครือข่ายสายสัมพันธ์เดิมๆ ฉะนั้น พอมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้น มันก็ไปตอกย้ำ ความคาดหวังเดิมๆขึ้น แต่เชื่อว่า วันนี้ประชาชนเริ่มมองออก นอกจากนี้ พรรคการเมืองยังปรับตัวไม่ทัน เป็นความไม่มีปัญญาของพรรคการเมืองก็ว่าได้ แต่เราต้องยอมรับว่า สังคมไทยถูกบีบคั้น ถูกกดทับให้มองอยู่กับความคาดหวังแบบเดิมๆ ของผู้นำที่มาคอยอุปถัมภ์ ค้ำจุนชั่วครั้งชั่วคราว ไม่เคยถูกสร้างให้มีจินตนาการที่กว้างกว่านั้น
พรรคการเมืองไทยตามไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม และสร้างความคาดหวังให้ประชาชน เช่น การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง มีข้อเรียกร้องในเชิงการปรับโครงสร้างของสถาบันการเมืองและระบบการเมืองอยู่สูง แต่พรรคการเมืองแม้แต่พรรคที่กลุ่มคนเสื้อแดงมีท่าทีสนับสนุนอย่างเพื่อไทย ยังไม่มีท่าทีตอบสนองต่อประเด็นดังกล่าว จุดยืนแค่ข้อเสนอกลับไปใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ไม่พอ ควรพูดถึงการปฏิรูประบบการเมืองขนานใหญ่กว่าที่คณะกรรมการชุดต่างๆ กำลังเสนออยู่ หรือประเด็นที่อยู่ในความสนใจของคนชั้นกลางอย่างเรื่องการเซ็นเซอร์หนัง ละคร ภาพยนตร์ งานศิลปะ และไอที ก็ไม่มีพรรคการเมืองไหนออกมาแสดงจุดยืนในเรื่องเหล่านี้ว่าพรรคจะจัดการอย่างไร หรือมีข้อเสนออย่างไรให้สังคมบ้าง กล่าวอีกนัยหนึ่ง สังคมและประชาชนไทยก้าวเร็วและก้าวไปไกลกว่าพรรคการเมืองมาก
และอยากให้สรุปชัดเจนว่า ระบบการเมืองที่ประชาชนเข้มแข็งอย่างที่อยู่ในจินตนาการของคณะกรรมการปฏิรูป แน่นอนเป็นสิ่งที่เราต้องการ แต่ในทางปฏิบัติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากมากจนแทบจะเป็นการหลอกตัวเองว่าประชาชนจะลุกขึ้นมาทำหน้าที่ต่างๆในระบบการเมืองด้วยตัวเอง ปรากฏการณ์ในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกคือ การสร้างระบบตัวแทนที่ทำหน้าที่ดูแล เชื่อมโยงและตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นก็คือทำให้ระบบพรรคการเมืองเข้มแข็ง ไม่ใช่อ่อนแอ สื่อแขนงต่างๆ จะเป็นตัวกลางที่สำคัญมากในการสื่อสารระหว่างพรรคและประชาชน ขณะดียวกันต้องสร้างระบบตรวจสอบพรรคและนักการเมืองที่เข้มข้นไปพร้อมกัน มาตรวัดความเข้มแข็งของประชาชนที่ดีที่สุดคือ ผ่านการเลือกตั้งอย่างสม่ำเสมอและการมีพรรคการเมืองที่เชื่อมโยงกับประชาชน ตรวจสอบได้ และไม่พอใจเอาออกได้ ไม่ใช่การมีสมัชชาประชาชนจำนวนมากที่สังคมตรวจสอบไม่ได้ ในที่สุดก็จะกลายเป็นองค์กรขุนนางชาวบ้านที่ผลาญงบประมาณจำนวนมาก และอ้างว่าวาระของตนเองคือวาระของประชาชน
@ภาคส่วนต่าง ๆ ที่ไม่ใช่นักการเมือง เราควรจะมียุทธวิธีกดดันเขาอย่างไรเพื่อให้เขานำเสนอนโยบายมาแข่งขันกัน
มันต้องเริ่มกับการตั้งคำถามกับสื่อด้วยว่า เช่น ในการเลือกตั้งครั้งนี้ควรจะให้มีดีเบตของพรรค หลายๆ เวทีทั้งในระดับแกนนำ หรือ แคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ที่ต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ เช่น การตั้งคำถามของสังคมต่อ ตัวนักการเมือง และพรรคการเมืองที่ต้องเปลี่ยนไป ในส่วนของแนวคิดคณะกรรมการปฏิรูปของ คุณอานันท์ ปันยารชุนและ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ พูดเหมือนกับว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป พรรคการเมืองจะหยิบไปใช้หรือไม่ เราไม่จำเป็นต้องสานต่อ ซึ่งเป็นจุดที่แปลก ส่วนตัวก็มีคำถามกับแนวคิดแบบนี้เพราะเหมือนกับว่า ภาคประชาชนจะเข้มแข็งมาได้ด้วยตัวเอง แต่ดิฉันมองว่า มันเป็นการ Romanticize ภาคประชาชนเกินไป ในสังคมไม่ว่า จะประชาธิปไตยไหนก็ตาม มันไม่ได้เข้มแข็งขึ้นมาเอง มันก็มีการตั้งสถาบันของกระบวนการมีส่วนร่วมที่สร้างแรงกดดันต่อ ระบบการเมืองที่เป็นรูปธรรม แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมการปฏิรูปก็นำเสนอรายงานแค่ว่านี่คือ ภารกิจของเรา นักการเมืองจะเอาไปทำหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของพรรคการเมือง ถ้าเป็นแบบนี้ มันจะไม่มีทางสำเร็จเลย เพราะในความเป็นจริงภาคประชาชนมันไม่ได้เข้มแข็งนะ ฉะนั้น กลุ่มคณะปฏิรูป ต้องสร้างแรงกดดันให้มากกว่านี้
ส่วนตัวมองว่า สมัชชาภาคประชาชนเหล่านี้ ก็เป็นสมัชชาของกลุ่มคนที่อิงแอบอยู่กับชนชั้นนำในสังคม ซึ่งอาจจะไม่ใช่นักการเมือง แต่ก็ถือว่าเป็นชนชั้นนำเหมือนกัน ฉะนั้น มันก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ ตาสี ตาสา ทั่วไป ซึ่งดิฉันอยากเห็นโครงสร้างของการมีส่วนร่วมที่เป็นรูปธรรม ที่มันไม่ใช่ภาคประชาชนโดยการจัดตั้ง อยากให้เป็นภาคประชาชนที่เขาร่วมกันเอง และสามารถต่อสายถึงพรรคการเมืองได้ด้วยตัวเขาเอง คือ พรรคการเมืองลงมาฟังประชาชน แต่ไม่ใช่เป็นสมัชชาเพราะเวลาเรามองตัวแทนเอ็นจีโอพวกนี้ ก็เป็นคนหน้าเดิมๆ มีไม่กี่คนที่เป็นเอ็นจีโอระดับนำ ซึ่งจะเห็นว่า เอ็นจีโอไทยทำงานมา 20 กว่าปีทำไมภาคประชาชนยังอ่อนแอ และจริงๆแล้วเราก็ไม่รู้ว่าภาคประชาชนคือ ใครกันแน่
@ในส่วนของบทบาทสื่อ อาจารย์อยากเห็นอะไรบ้างในการร่วมผลักดันการปฏิรูปในช่วงเลือกตั้ง
สำคัญมาก อย่างเรื่องที่คุยกันนี้ สื่อควรตั้งคำถามกับพรรคการเมืองหนัก ๆ ว่า ได้เสนอนโยบายอะไรบ้างที่เป็นรูปธรรมและเป็นทางเลือก ไม่ใช่ถามแค่ว่า ใครจะเป็นนายกฯ ต้องถามไปเลยว่า ท่านจะจัดการอย่างไรกับปัญหาไทย-กัมพูชา ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ ปัญหาสังคมอย่างไร คือ สื่อจะเป็นตัวกลางที่สำคัญมากที่จะเชื่อมประชาชนตาดำๆ ที่ไม่ใช่สมัชชา
ดิฉันมองว่า หลักการขณะนี้ คือ เราต้องทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง แต่คณะกรรมการปฏิรูปมองว่า ประชาชนต้องเข้มแข็งก่อน แต่ความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าเราจะใช้ประชาธิปไตยแบบตัวแทนอยู่ องค์กรที่จะต้องเข้มแข็งและเป็นตัวแทนประชาชนได้ คือ พรรคการเมือง ไม่ใช่ สมัชชานะ เพราะถ้าเป็น สมัชชาก็จะเป็นประชาชนที่เป็นชนชั้นกลุ่มคนใหม่ที่มาเข้มแข็ง ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวแทนที่เป็นทางการต่อประชาชนได้ เพราะถ้าเราไม่ชอบเขา เราก็เอาเขาออกไม่ได้ แต่ถ้าเราไม่ชอบนักการเมือง เรายังโหวตเขาออกได้
ทีนี้ รอยต่อระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชนนี่แหละ ที่สื่อจะช่วยได้ว่า พรรคการเมืองต้องรู้ว่าประชาชนต้องการอะไร ประชาชนต้องให้พรรคการเมืองรู้ว่า เราต้องการตัวแทนแบบไหน รอยต่ออันนี้ที่มันขาดไปในสังคมไทย ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปไม่ได้เชื่อมรอยต่อนี้ เมื่อรอยต่อนี้เราไม่สามารถทำให้เข้มแข็งได้ ประชาธิปไตยไทยจะไม่มีทางลงหลักปักฐานได้เลย นี่คือ ปัญหาที่คณะปฏิรูปมองไม่ออก หรือตั้งใจจะไม่มองก็ไม่ทราบได้ เพราะเขาก็ยังเห็นว่า นักการเมืองเลว ถ้าเราไม่อยากได้นักการเมืองแล้วระบอบการปกครองของไทยจะเอาแบบไหนกัน ซึ่งทิศทางที่นพ.ประเวศ วะสี หรือ อ.นิธิ พูดก็ยังไม่ชัดเจนว่า เราต้องทำให้สังคม ประชาชนเข้มแข็ง แล้วประชาชนจะเข้มแข็งผ่านอะไรหล่ะ หรือ เข้มแข็งผ่านสมัชชา เอ็นจีโอสายนพ.ประเวศที่เข้มแข็ง แต่ในระบบประชาธิปไตย ตัวแทนของเขาคือ พรรคการเมือง และนักการเมือง ดังนั้น ถ้ายังเป็นแบบนี้ การปฏิรูปมันไม่มีทางไปถึงจุดที่ทุกคนอยากเห็น
ความจริง คณะกรรมการปฏิรูป ควรจะต้องเสนอเรื่องการแก้ไขรธน.ด้วย โดยเอามาตราเรื่องยุบพรรคออกไป และก็เลิกโจมตีแนวคิดที่ว่า นักการเมืองมันเลว เพราะนักการเมืองทุกประเทศเลวหมด แต่มันก็เป็นประชาธิปไตยที่พัฒนาไปได้ ก็เพราะมันมีระบบตรวจสอบ อันนี้ต่างหากที่เขาไม่พูดถึง คือเราต้องการประชาธิปไตยที่พรรคการเมืองเข้มแข็ง ขณะเดียวกัน ระบบตรวจสอบต้องเข้มแข็งและประชาชนถึงจะเข้มแข็ง ซึ่งคณะปฏิรูปตัดตรงไปเลย มันก็เหมือนกับตัดหัวใจ เพราะคิดว่า ยังไงไงมันก็ไม่โต
@เป็นปัญหาของตัวคณะปฏิรูปหรือไม่ ที่มีกำแพงกั้นหรือเปล่า
ด้วยความที่มีกรรมการเยอะมาก ความจริงก็ไม่อยากจะไปก้าวล่วงเรื่องส่วนตัวว่า แต่ละท่านมีอคิตหรือกำแพงอย่างไร แต่ไม่ว่า ท่านจะมีจุดยืนอย่างไรก็ตาม ท่านต้องมองว่า เป้าหมายของ การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมาคืออะไร ถ้าท่านคิดว่า ให้ข้อเสนอขึ้นมาแล้วจบ แต่งบหลายล้านของจากภาษีประชาชนที่ให้ท่านไป มันไม่คุ้ม ยิ่งเมื่อได้ฟัง อ.นิธิว่า คณะกรรมการชุดนี้ถูกตั้งขึ้นมาโดยรัฐบาลที่อยากจะกลบเกลื่อนเรื่องที่เข้าฆ่าคนไว้ ถ้าอย่างนั้น อาจารย์เองหรือไม่ที่กลายเป็นเครื่องมือของประชาชนโดยอัตโนมัติที่อยากจะกลบเกลื่อนเรื่องที่เขาฆ่าคน ดังนั้น ตกลงว่า เป้าหมายของคณะกรรมการชุดนี้ คุณจะตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยรัฐบาลกลบเกลื่อนหรือคุณมีข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาประเทศ ความจริงข้อเสนออย่างนี้ นักวิชาการก็ทำได้ ไม่ต้องใช้เงินขนาดนี้หรอก ดังนั้น ถ้าคุณคิดว่า จะขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นจริง คุณต้องสร้างรอยต่ออันนี้ไปสู่สถาบันการเมืองให้ได้ ซึ่งมันก็คือ พรรคการเมืองในช่วงเลือกตั้งนี่แหละ
@การที่คณะกรรมการ จะลาออกก่อนยุบสภา ภารกิจนี้ก็จะจบลงอีก
ใช่ ถ้าคุณคิดว่า คุณจะลอยตัว หรือไม่อยากเกลือกกลั้ว ให้รัฐบาลชุดใหม่มาตั้ง อ้าว..แล้วเงินงบประมาณที่เราเสียไปแล้ว คุณยังไม่มีผลงานอะไรออกมาเลย มันต้องแสดงความรับผิดชอบไหม
@ถ้าเป็นวาระของชาติ ที่พรรคการเมืองควรจะหาเสียง ถ้าแยกเป็นปัญหาเฉพาะหน้าหรือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ควรมีอะไรบ้าง
แน่นอนเรื่องเศรษฐกิจ เพราะเป็นหัวใจที่ชาวบ้านอยากจะรู้ว่า รัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร ไข่แพง ราคาสินค้า จะประกันราคาพืชผลการเกษตร หรือจะใช้ระบบจำนำหรือไม่ ทีนี้หลายเรื่องมันเป็นปัญหาระยะสั้นและปัญหาเชิงโครงสร้างที่มันต้องแก้ไปด้วยกัน ซึ่งปัญหาที่มันสำคัญจริงๆ ในสังคมไทยขณะนี้คือ ปัญหาความขัดแย้ง คุณจะแก้อย่างไร จะประนีประนอมหรือจะแตกหัก ไม่ใช่ คุณปล่อยทิ้งไว้ด้วยการซื้อเวลาแบบนี้ คุณจะมีจุดยืนอย่างไรว่า จะประนีประนอมกับทักษิณกับเสื้อแดงหรือ จะมีการตรวจสอบการกระทำที่เกิดขึ้นไหม
ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คุณจะแก้อย่างไร ที่ผ่านมาประชาธิปัตย์บอกว่า มันลดลง ซึ่งความจริงมันไม่ได้ลดนะ แล้วจะมีการเจรจาไหม แต่มันก็เป็นปัญหา เพราะเราไม่รู้ว่าฝ่ายตรงข้ามเป็นใคร ถ้าเราจะเจรจาเราจะเจรจากับใคร ทหารที่ลงไปในพื้นที่ 4 ปียังไม่รู้เลยหรือว่า ใครเป็นฝ่ายตรงข้ามกับใคร นี่คือ ปัญหาที่รัฐบาลต้องแก้
ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมันเป็นปัญหาระยะสั้นและระยะยาว พรรคการเมืองก็ต้องเสนอมาว่า จะแก้อย่างไร ชนบทกับเมือง ซึ่งวันนี้มันไม่ได้เป็นภาพเดิมๆ ที่ ว่า ชนบทโง่อีกต่อไปแล้ว แต่ความแตกต่างในวิถีชีวิตและความคาดหวังมันมีเยอะ ตรงนี้จะแก้ผ่านภาษีที่ดิน ภาษีมรดก คุณก็ต้องเสนอมา หรือ จะแก้โดยการพัฒนาระบบขนส่งที่ถึงกันได้ เช่น ปัญหาที่คนออกมาพูดว่า เด็กไทยที่ถูกเลี้ยงจากรุ่นปู่ย่า แล้วพ่อแม่ทิ้ง มาทำงานในเมือง ปัญหาอย่างนี้จริงๆ แล้ว มันสามารถแก้ด้วยการมีระบบพัฒนาขนส่งที่ถึงกัน เสาร์อาทิตย์ ไปเยี่ยมกันได้ เพราะทุกวันนี้เราเดินทางไม่สะดวกเลย มันก็ถูกตัดขาด เด็กก็ถูกทอดทิ้ง คือ บางเรื่องมันไม่ต้องไปแก้ว่า สังคมต้องเข้มแข็ง ซึ่งสังคมมันเข้มแข็งไม่ได้ด้วยตัวเองมันเอง ไม่มีพรรคการเมืองไหนพูดถึงเรื่องเหล่านี้เลย
@เรื่องสวัสดิการอาจารย์เห็นอย่างไร
สวัสดิการที่พรรคการเมืองพูดเหมือนก๊อปปี้กันมาทุกคำ เพียงแต่พรรคไหนจะสัญญาด้วยการเกทับมากกว่ากัน เช่น เบี้ยผู้สุงอายุเดิมประชาธิปัตย์ให้ 500 บาท อีกพรรคจะเพิ่มเป็น 800 บาท แต่สิ่งที่สังคมคนชั้นกลางอยากรู้คือ คุณจะเอาเงินมาจากไหน ไอ้ที่ให้อะไรเหล่านี้ ความจริงทุกวันนี้มันให้มาเยอะแล้ว จนระบบมันจะล่มสลายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าแล้วนะ ถ้าหากมองกันเชิงเศรษฐศาสตร์มหภาค เรื่องนี้ต้องดีเบตกันว่า คุณจะเก็บเงินภาษีจากคนชั้นกลางมากขึ้นหรือจะทำให้ฐานภาษีมันเป็นแบบไหนมากกว่า ความจริงแล้ว สวัสดิการไม่ต้องให้มากก็ได้ แต่ควรไปปรับโครงสร้างให้มีการกระจาย เข้าถึงทรัพยากรอย่างทั่วถึงจะดีกว่า มันจะทำให้คนโตได้อย่างยั่งยืนกว่า
ส่วนตัวไม่ได้สนใจเรื่องสวัสดิการ เพราะไม่ได้มองว่า สังคมไทยจะเป็นรัฐสวัสดิการได้เลยในช่วง 30 ปีจากนี้ อยากให้หันไปทำในแง่ว่า ถ้ามีการเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ให้ผู้ใช้แรงงานสามารถเลือกตั้งในพื้นที่ที่ทำงานได้ มันก็ทำให้เขามีพลัง มีอำนาจต่อรองขึ้นมา ซึ่งเราก็ไม่เห็นพรรคการเมืองไหนเสนอขึ้นมา
@มองพรรคขนาดกลาง และ พรรคเล็กที่เกิดขึ้นอย่างไร เป็นพรรคทางเลือกให้กับประชาชนจริงหรือไม่
พรรคขนาดกลาง ขนาดเล็กที่ตั้งขึ้น คุณไม่มีนโยบายอะไรพวกนี้เลย มีอย่างเดียว ปกป้องสถาบัน ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนาของคุณบรรหาร ศิลปอาชา ก็เป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ รองจาก ประชาธิปัตย์ แต่กลับไม่เคยมีนโยบายอะไรเลยเช่นกัน แล้วคุณก็ทุ่มชิงเอาตัวบุคคลมาลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งนี่ยิ่งทำให้พรรคการเมืองมันอ่อนลง และทุกคนก็ยิ่งจะเกลียดนักการเมืองเข้าไปใหญ่ คุณไม่ได้ช่วยให้ภาพลักษณ์ของคุณดูดีขึ้นมาแข่งกับบรรยากาศที่พันธมิตรด่าคุณทุกวันหรือ กลุ่มคณะปฏิรูปที่มองว่า นักการเมืองมันเลวเลย หรือ พรรครักษ์สันติของคุณปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เขาก็ไม่มีนโยบายอะไรเลย แล้วโพลก็ออกมาว่าเป็นคนดี เอาเข้าจริงๆ คนชั้นกลางในกรุงเทพ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ วัยรุ่นขาโจ๋อาจจะไม่ชอบนโยบายอนุรักษ์นิยมจัดที่จัดระเบียบสังคมของคุณปุระชัยก็ได้ คือ เวลาเลือกคุณต้องเอาตัวนโยบายมาแข่งกัน
การเกิดขึ้นของพรรคขนาดกลาง และเล็กในช่วงนี้มันสะท้อนว่า ระบบพรรคมันยังไม่ได้เสนอทางเลือกในเชิงโครงสร้างที่เป็นรูปธรรมให้ประชาชน ฉะนั้น ก็จะผลักให้คนตัดสินใจเลือกตัวบุคคลที่ลงพื้นที่ที่ดูแลทุกข์สุข พาไปเที่ยวโดยเอาเงินกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นไปใช้
เหตุที่พรรคพวกนี้ที่ตั้งขึ้นมาก็เพราะประเมินแล้วว่า จะไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก ฉะนั้นไม่ว่าเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลก็ต้องเอาพรรคเล็กไปร่วมรัฐบาล พรรคพวกนี้เขาเรียกว่า blackmail potential คือ มีศักยภาพในการ blackmail สูงที่สุด กล่าวคือ ถ้าคุณไม่เอาผมไป คุณไม่ได้เป็นรัฐบาล อันนี้เป็นสิ่งที่นักรัฐศาสตร์ฝรั่งมองว่า พรรคเหล่านี้มีโอกาสที่จะต่อรอง เนื่องจากมีอำนาจทางการเมืองสูงกว่าพรรคใหญ่ด้วยซ้ำ เพราะพรรคที่จะได้เป็นที่ 1 และ 2 เวลานี้อาจจะไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่พรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก ไม่ว่า พรรคไหนขึ้นมาก็เป็นรัฐบาลแน่ๆ ดังนั้น เจตนารมณ์ในการจัดตั้งพรรคของคุณมันเลวร้ายมาก ไม่ได้มองหรือ คำนึงถึงผลประโยชน์เลยว่า คุณจะเป็นตัวแทนของใครเลย คุณจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรอเป็นรัฐบาลอย่างเดียว แล้วประชาชนก็จะถูกบังคับให้ต้องเลือกพรรคเหล่านี้ เพราะไม่มีทางเลือกอื่นและพรรคก็ไม่ให้ทางเลือกกับเราด้วย เพราะคุณไม่มีปัญญา
บรรยากาศความขัดแย้งแบบนี้ นโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศมาแล้วจมไป เพราะว่า ที่ผ่านมามีแกนนำคนเสื้อแดงที่บอกว่า เอาตาสีตาสาที่ไหนมาลงสมัครเพื่อไทย ใครๆ ก็เลือกอยู่แล้ว มันก็เหมือนกับว่า นโยบายไม่สำคัญ เราเลือกเพราะเราอยากได้คุณ ซึ่งความจริงในระยะยาว มันก็จะเป็นผลเสียต่อพรรคด้วย ความจริงพรรคมันจะต้องถูกบีบและถูกกดดันจากสังคมให้สร้างสรรค์นโยบายใหม่ๆ ขึ้นมา และให้นโยบายมันเป็นหัวใจของพรรค ไม่ใช่เน้นตัวบุคคล แต่ด้วยบรรยากาศแบบนี้ มันก็จะเกิดอารมณ์ที่ว่า นโยบายไม่ต้อง ยังไงก็เลือกอยู่แล้ว ขณะที่อีกฝ่ายก็บอกว่า ยังไงฉันก็ไม่เลือกคุณ ไม่ว่า คุณจะมีนโยบายที่ดีขนาดไหน เพราะหัวหน้าพรรคตัวจริงของคุณมันโกงเหลือเกิน ซึ่งมันน่าเสียดาย ความจริงในส่วนของเพื่อไทย หรือ คุณทักษิณ เขาคิดสร้างสรรค์นะ แต่ถามว่า นโยบายของเพื่อไทยที่ผ่านมามันก็ยังไมได้เสนออะไรที่เปลี่ยนโครงสร้างสังคมไทย แน่นอนมันถูกใจ มันเร็ว มันน่าตื่นเต้น แต่พรรคเพื่อไทยก็ยังไม่มีนโยบายอะไรที่ลดความเหลื่อมล้ำ เน้นกระจายรายได้ ทำให้คนลดการพึ่งตัวเอง เพื่อไทยมันก็แค่ดึงตัวอุปถัมภ์จากระบบราชการมาเป็นพรรค และ นักการเมือง แต่ก็ยังไม่ได้ทำให้คนพึ่งพาได้ แต่มันก็ยังดีกว่า พรรคชาติไทยพัฒนา ที่มีนโยบาย “ผมทำงานได้กับทุกพรรค” หรือ พรรคภูมิใจไทย มีแต่เรื่องปกป้องสถาบัน
@ดังนั้น การที่เราอยากเห็นรัฐบาลใหม่มีนโยบายเปลี่ยนโครงสร้างประเทศเป็นประโยชน์อย่างยั่งยืน ก็คงยากในช่วงนี้
ดิฉันไม่เห็นเลย ถ้ามีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ก็จะอยู่กันแบบระส่ำระสาย และก็ต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง จนไม่มีเวลานั่งคิด แก้ปัญหาระบบเศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม ภายใน 2ปี ต่อจากนี้ ดิฉันคิดว่า ยากมาก และก็คิดว่าเงื่อนไขหลักคือ เรื่องสถาบัน ซึ่งเราคงต้องรอให้ความขัดแย้งตรงนั้นมันนิ่งก่อน และคิดว่าก็คงเป็นช่วงที่หลังบ้านเลขที่ 111 ออกมาในปีหน้า เพราะวันนี้นักการเมืองมันขาดตลาด มันเล่นผ่านกิ๊ก ผ่านเมียน้อย ผ่านลูกหลาน กันอยู่ ตัวจริงยังไม่ออกมาเล่น และคนเหล่านั้นแม้เราจะชอบบ้างไม่ชอบบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่า เขามีศักยภาพมากกว่า ที่จะขับเคลื่อนสายสัมพันธ์ที่เขามีประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งเราคาดว่า รัฐบาลใหม่จะอยู่ได้ไม่นาน พอๆกับช่วงที่บ้าน 111 จะออกมาและตอนนั้นเราถึงจะเห็นบรรยากาศทางการเมืองที่นิ่งกว่านี้