เสียงส่งท้าย "เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์" "รัฐบาลไม่จริงจังกับการปฏิรูป"
แม้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีจะประกาศเตรียมยุบสภาต้นเดือนพฤษภาคมนี้ แต่หลายโจทย์ใหญ่ที่เป็นปัญหาของประเทศที่คณะกรรมการปฏิรูปชุดนายอานันท์ ปันยารชุน ได้จัดทำสรุปซึ่งผ่านกระบวนการสังเคราะห์-ศึกษา-เก็บข้อมูลและนำเสนอเป็น โมเดลเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้นำไปพิจารณาและใช้กลไกของรัฐขับเคลื่อนให้เกิดผล เป็นรูปธรรม พบว่าหลายข้อเสนอไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลเท่าที่ควร
โดยเฉพาะกรอบแนวคิดเรื่อง”การปฏิรูปที่ดิน”ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดซึ่งกรรมการปฏิรูปเสนอพิมพ์เขียวไปให้รัฐบาลพิจารณา
เรื่องนี้ ”เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์“ หนึ่งในกรรมการปฏิรูปและอนุกรรมการปฏิรูปที่ดิน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และน้ำ ที่เป็นตัวจักรสำคัญในการสร้างพิมพ์เขียวเรื่องการปฏิรูปที่ดิน ได้กล่าวสรุปการทำงานของกรรมการในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา และกระทุ้งให้รัฐบาลอภิสิทธิ์มีความจริงจังในการพิจารณาข้อเสนอต่างๆที่ กรรมการปฏิรูปได้เสนอไปเช่น การให้เปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดินต่อสาธารณะหรือการจำกัดเพดานการถือครอง ที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ เพราะ”เพิ่มศักดิ์”มองว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์เล่นการเมืองมากเกินไปโดยไม่สนใจ ต่อข้อเสนอของกรรมการปฏิรูปทั้งที่ปัญหาที่ดินเป็นปัญหาเร่งด่วนและสำคัญที่ สุดของประเทศ
@เรื่องแนวคิดการศึกษาปัญหาเรื่องที่ดินจนนำมาสู่ข้อเสนอต่างๆ เกิดขึ้นจากอะไร?
คณะกรรมการปฏิรูปมองปัญหาความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มีหลาย ด้านและหนึ่งในนั้นคือความเหลื่อมล้ำด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มี เรื่องที่ดินเป็นฐานใหญ่สำคัญซึ่งเชื่อมโยงไปกับทุกเรื่อง เช่นความไม่เป็นธรรมในการถือครองทรัพย์สินที่ดิน ความไม่เป็นธรรมทางรายได้ ก็ล้วนมีรากฐานมาจากปัญหาที่ดิน ที่มีหลายลักษณะปัญหาอาทิการกระจุกตัวการถือครองที่ดิน การใช้กลไกลตลาดกว้านซื้อเก็งกำไรปล่อยให้เช่าบ้าง หรือครอบครองที่ดินแล้วคนที่ครอบครองคือนักการเมือง –เจ้าหน้าที่รัฐแล้วก็เอากลไกของตัวเองมาเอื้อประโยชน์เช่นทำถนนเข้าไปโดย ตอนซื้อราคาถูกแต่พอทำถนนแล้วจะขายได้ในราคาที่สูงมาก และยังมีคนที่ครอบครองเอาไว้มากแล้วไม่ใช้ประโยชน์ปล่อยให้รกร้าง ปล่อยให้เช่า แต่เกษตรกรของประเทศจำนวนมากกลับไม่มีที่ดินทำกิน
@เลยทำให้สิ่งแรกที่กรรมการคุยกันเลยคือเรื่องต้องเสนอการปฏิรูปที่ดิน?
คณะ กรรมการปฏิรูปจึงเห็นตรงกันว่าประเด็นเรื่องที่ดิน เป็นประเด็นเร่งด่วนแรกๆที่ต้องทำให้เกิดการปฏิรูป เกิดความเป็นธรรม การขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคมเรื่องที่ดินมีความสำคัญเป็นอันดับแรกๆที่ ต้องทำ เมื่อเราจะทำเรื่องที่ดิน ก็มาศึกษาปัญหาว่าเรื่องที่ดินมีปัญหาใหญ่ๆ อะไรบ้าง ก็มีการไปรับฟังปัญหาประชาชนที่ภาคเหนือก็พบว่ามีประชาชนจำนวนมากโดยดำเนิน คดีเรื่องที่ดิน ไปดูเกษตรกรที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกฟ้อง ถูกขับไล่ มีการใช้ที่ดินซึ่งไม่ยั่งยืน บนภูเขาหลายๆ ลูกก็ปลูกแต่พืชเลี้ยงเดี่ยว ก็มีปัญหาในหลายมิติ
ปัญหาทางสังคมก็คือคนจำนวนมากไม่มีและไร้ที่ดินทำกิน เป็นเรื่องที่แจ่มชัดที่สุด พอมีปัญหาอยู่ไม่รอด ก็ต้องพยายามหาทางอยู่ให้รอด ก็อพยพมาอยู่ในเมือง ก็เกิดปัญหาชุมชนแออัดมีอยู่เต็มไปหมด หรือไม่ก็เข้าไปบุกรุกป่าเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเขตป่ามากขึ้น
เรื่องที่ดินมันจึงสร้างปัญหาทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ และมีตัวเลขประชาชน 1 ล้าน 1 แสนครัวเรือน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของรัฐ การอยู่ในพื้นที่ของรัฐก็โดนจำกัดการพัฒนา มันก็ผลกระทบทางเศรษฐกิจมาก ล้านครอบครัวถูกจำกัดการพัฒนามันสูญเสียทางเศรษฐกิจไปตั้งเท่าไหร่
@เห็นกรรมการเสนอเรื่องให้พิจารณาทบทวนการดำเนินคดีกับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีใน เรื่องการบุกรุกที่ดินของรัฐและการเยียวยาบุคคลเหล่านี้?
ใช่ แต่ก็ไม่ได้ค่อยได้รับความสนใจจากภาครัฐเท่าที่ควร เห็นได้เลยว่ากระบวนการยุติธรรมกับการแก้ปัญหาคนที่ไปบุกรุกป่า ออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบแล้วรัฐสามารถเข้าไปจับกุมดำเนินคดีก็พบว่าทำไม่ค่อย ได้ ที่ดินที่มีข่าวว่ากรมที่ดินอาจออกเอกสารโดยคลาดเคลื่อนและมิชอบมีเป็นแสนๆ แปลง ซึ่งหน่วยราชการด้วยกันเองก็คัดค้าน แต่ก็ไม่มีการปรับปรุงแก้ไขอะไร
@ปัญหาเรื่องที่ดินเมื่อมองย้อนไปจริงๆ กลไกรัฐก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาถูกแก้ไข?
ถูกต้อง กรรมการปฏิรูปเราก็เห็นแล้วว่าปัญหาที่ดินมันแก้ไม่ได้ด้วยกลไกลของรัฐแล้ว มันจึงต้องศึกษาวิเคราะห์และเสนอการแก้ไขในเชิงปฏิรูป
ซึ่งการปฏิรูปก็คือการเสนอในเชิงโครงสร้างที่เน้นในเรื่องเชิงความคิด เมื่อทางรัฐปล่อยให้มีการถือครองที่ดินโดยอิสระและเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ก็พบว่าหลายสิบปีที่ผ่านมาประเทศชาติโตทางเศรษฐกิจจริงแต่เกิดความเหลื่อม ล้ำทางสังคมและรายได้ คนที่มีรายได้สูงกับคนรายได้ต่ำมันห่างกันถึงห้าเท่า
ดังนั้นแนวคิดเรื่องการปล่อยให้ถือครองที่ดินโดยอิสระปล่อยให้เป็นไปตามกลไก ตลาดมันก็ไม่ถูกต้อง ก็ต้องควรไปแทรกแซงกลไกให้กลไกตลาดมันทำหน้าที่ให้ถูกต้อง เราก็คิดถึงเรื่อง1.การกระจายการถือครองที่ดิน 2.คน ที่ถือครองที่ดินไว้แล้วเอาไปเก็งกำไร ปล่อยเช่าในราคาแพงๆ ก็ต้องแก้โดยใช้อัตรภาษีก้าวหน้า เพื่อบีบไม่ให้เก็บครองที่ดินเอาไว้เก็งกำไร หมายถึงว่าต้องเก็บภาษีให้สูงกว่าค่าเช่าที่จะได้รับหรืออัตราที่ดินที่มัน สูงขึ้นในแต่ละปี ส่วนคนที่ปล่อยทิ้งร้างก็แก้ด้วยการออกกฎหมายให้ถือครองแล้วต้องใช้ที่ดิน ให้เกิดประโยชน์เช่นทำการเกษตร ไม่ใช่ถือครองแล้วปล่อยทิ้งไว้ ประเทศไม่เกิดผลผลิตไม่เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ
@หัวใจหลักของพิมพ์เขียวการปฏิรูปที่ดินคืออะไร แก้ปัญหาอย่างไร?
หลักๆที่เราคิดและเสนอแนวคิดต่อสังคมก็คือการกระจายการถือครองที่ดิน เรื่องภาษี เรื่องการจำกัดกรรมสิทธิที่จะให้เฉพาะคนทำการเกษตร
ทั้งหมดคือหัวใจสำคัญของการปฏิรูปที่ดิน ที่จะต้องมีมาตรการมารองรับให้ขับเคลื่อนได้เช่นการจัดตั้งกองทุนธนาคาร ที่ดิน การเปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดินให้เป็นเรื่องสาธารณะที่ประชาชนเข้าถึง เพราะหากเปิดเผยไม่ได้ก็ตรวจสอบไม่ได้ว่าใครถือครองที่ดินกันเป็นแสนๆ ไร่ ใครไม่มีที่ดินเลย แบบนี้จัดไปอย่างไรก็ไม่ตรงกับความต้องการของเกษตรกร ของชาวบ้าน
เรื่องการเปิดเผยข้อมูลคิดว่าจะนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดินได้ และจะนำไปสู่การแก้ปัญหาการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบได้ พวกนักการเมือง-นักธุรกิจก็ต้องคายออกมาหากไปถือครองที่ดินโดยมิชอบเช่นที่ ป่าสงวน ที่ในเขาในป่า พอคลายออกมาแล้วเห็นว่าออกโดยมิชอบ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐเข้าไปดำเนินการตรวจสอบไปฟ้องเอาที่ดินคืนมา
ทำแบบนี้ก็จะทำให้ที่ดินได้กระจายไปจริงๆ รวมถึงการวางแผนและคุ้มครองที่ดินไม่ให้ที่ดินที่จะได้คืนมาหรือที่ดินของ รัฐถูกคนบางกลุ่มเอาไปทำรีสอร์ท ไปทำโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งหมดคือหัวใจสำคัญของข้อเสนอการปฏิรูปที่ดิน
@ข้อเสนอที่เป็นพิมพ์เขียวเหล่านี้ ที่รัฐบาลนำเข้าไปหารือในที่ประชุมครม.เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเห็นด้วยกับบางเรื่องแต่ก็ไม่เห็นด้วยกับอีกหลายเรื่อง เช่นเห็นด้วยกับการให้เปิดเผยการถือครองที่ดินแต่ก็ไม่มีท่าทีชัดเจนต่อ เรื่องการเก็บภาษีก้าวหน้าการถือครองที่ดิน คิดว่ารัฐบาลจริงใจและให้ความสำคัญกับข้อเสนอของกรรมการปฏิรูปหรือไม่?
เท่าที่ได้ติดตาม หลังมีการนำเสนอต่อที่ประชุมครม.แล้วครม.ได้ถามความเห็นหน่วยราชการที่ เกี่ยวข้อง ก็พบว่าส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย ยังไม่เห็นมีหน่วยงานไหนค้านอย่างจริงจัง เมื่อเห็นด้วย รัฐบาลก็ต้องทำให้เกิดผลจริงจัง เช่นที่เราเสนอว่าให้แต่ละหน่วยราชการที่มีอยู่หลายกรมหลายกระทรวงที่เกี่ยว ข้องกับข้อเสนอของกรรมการปฏิรูปให้มีการบูรณาการการทำงานและการคิดร่วมกัน ซึ่งโดยหลักแล้วรัฐบาลควรต้องเรียกและเร่งหน่วยงานราชการได้แล้วว่าให้ บูรณาการกัน
หรือที่บอกว่าเห็นด้วยกับเราในเรื่องการให้เปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดิน รัฐบาลก็ควรตั้งกรรมการไปศึกษาและทำให้เกิดผลได้แล้วว่าจะทำอย่างไรให้มีการ เปิดเผยได้จะให้เวลา 1-2 สัปดาห์หรืออย่างไรจะให้เปิดเผยได้ จะต้องแก้กฎหมายอย่างไร หรือมีกฎหมายอยู่แล้วแต่บังคับใช้ไม่ได้แล้วทำอย่างไรถึงจะบังคับใช้ได้
เรื่องของกองทุนธนาคารที่ดินตอนนี้ก็ยังไม่เป็นรูปร่างที่แท้จริง ไม่มีการพูดถึงเรื่องการปฏิรูปที่ดินที่ต้องทำทั่วประเทศอย่างแท้จริง หรือเรื่องคดีที่ดิน คดีที่ประชาชนถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐ เราก็เสนอให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้คนจนที่ต้องคดีได้รับความเป็น ธรรม ก็มาบอกว่าต้องพิจารณากันเป็นรายๆ ถ้าพิจารณากันเป็นรายๆ ก็จะเกิดความไม่เป็นธรรม เลือกปฏิบัติ กับคนบางกลุ่มบางคน
@มองว่ารัฐบาลตอบรับและจริงใจต่อข้อเสนอของกรรมการปฏิรูปหรือไม่ ?
ผมจึงคิดว่ารัฐบาลชุดนี้แม้จะตั้งเรามาแต่ก็พบว่าไม่ได้จริงจังพอกับการรับข้อ เสนอของกรรมการและมัวแต่ไปเล่นการเมืองมากเกินไป ภาพทางการเมืองก็ต้องมีคนทำงาน แต่ภาพของการแก้ปัญหาประเทศ การพัฒนาประเทศก็ไม่ควรนำไปผูกกับการเมือง
ไม่ใช่บอกว่าจะยุบสภาเดือนพฤษภาคมแต่นี้มันเดือนมีนาคม ยังเหลืออีกหลายวันที่รัฐบาลยังต้องทำงานที่ใช้เงินเดือนที่เป็นภาษีของ ประชาชน รัฐบาลก็ต้องทำงาน ไม่ใช่ไปรอสมัยหน้าสมัยไหน
ผมจึงคิดว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่เอาจริง หลายหน่วยงานราชการไม่ออกมาขับเคลื่อนพอเช่นกรมที่ดิน ซึ่งมัวแต่คิดจะไปทำเรื่องเก่าที่ล้าสมัยและไม่ทันสถานการณ์แล้ว
@ข้อเสนอเรื่องการให้เปิดเผยการถือครองที่ดิน บุคคลบางกลุ่มที่เป็นแลนด์ลอร์ดเช่นพวกส.ส.-สว.คนกลุ่มนี้ก็มีการเปิดเผย บัญชีทรัพย์สินหนี้สินที่มีที่ดินอยู่แล้ว แม้โดยข้อเท็จจริงอาจมีการหลบเลี่ยงเช่นให้บุตรที่บรรลุนิติภาวะถือครองแทน หรือให้นอมินีถือครองแทน แต่การจะไปบุคคลทุกคนต้องเปิดเผยการถือครองที่ดินจะไม่กระทบกับสิทธิส่วนตัวหรือ?
เมื่อประเทศมาถึงทางตัน เมื่อคนแค่ 10 เปอร์เซนต์ครอบครองที่ดินทั้งประเทศ นี้คือปัญหาของชาติ รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเลยว่าปัญหาอะไรที่กระทบความมั่นคง รัฐมีอำนาจทำทุกอย่างได้ ที่ดินไม่เหมือนทรัพยากรอื่นๆ รถยนต์เอาเงินไปซื้อมา เงินเราหามา บ้านเราปลูกขึ้นมา แต่ที่ดินเป็นทรัพย์ที่ไม่มีใครเอาแรงงานหรือไปสร้างมันมาได้ ที่ดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติ เป็นสิ่งที่รัฐจัดสรรให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์
ด้วยหลักนี้เมื่อคนที่เก็บดองไว้โดยไม่นำมาใช้ประโยชน์ รัฐก็ต้องเอากลับคืนมาจากคนที่ไม่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ ด้วยหลักนี้ที่ดินเป็นทรัพย์สาธารณะและทรัพย์บุคคลด้วยมันก็ต้องทำ ถ้ามีปัญหากฎหมายก็แก้กฎหมายนิดเดียวโดยเขียนข้อความให้ข้อมูลที่ดินเป็น ข้อมูลสาธารณะที่จะต้องเปิดเผย ถ้ากรมที่ดินไม่ยอมตีความหรือไปตีความว่าที่ดินเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้ารัฐบาลไม่สั่งการหรือกดดันให้กรมที่ดินทำเรื่องนี้ ผมก็คิดว่ารัฐบาลไม่จริงจังแล้วกับการทำปฏิรูปที่ดิน
@เรื่องข้อเสนอการจำกัดการถือครองที่ดินไม่ให้เกิน 50 ไร่ มีคนพูดถึงกันมาก บางคนแย้งว่าทำให้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบโดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ข้อเสนอมีหลักคิดอย่างไร?
ในการประชุมสมัชชาปฏิรูปเมื่อ 24-26 มีนาคม ก็มีการประกาศเลยว่าต้องการจำกัดการถือครองที่ดินไม่ให้เกิน 50 ไร่ เพราะหากเราไม่จำกัดเราจะไม่สามารถกระจายที่ดินจำนวนมากที่อยู่ในมือคนไม่ กี่กลุ่มออกมาได้ แต่การจำกัดการถือครองเราจะใช้มาตรการที่เป็นทางเลือกคือใช้มาตรการทางภาษี คือถ้าเกิน 50 ไร่ก็ต้องเสียภาษีในอัตรา 5 เปอร์เซนต์ ถ้าเขาใช้ที่ดินได้ผลประโยชน์ตอบแทนเกิน 5 เปอร์เซนต์เขาก็สามารถถือครองได้ แต่ถ้าเขาไม่สามารถทำประโยชน์ได้ เก็บที่ดินไว้เก็งกำไรแล้วไม่ได้เกิน 5 เปอร์เซนต์เขาก็ต้องคายที่ดินออกมา ไม่งั้นก็ต้องเสียภาษีเยอะ
ก็เป็นมาตรการที่ทั่วโลกเขาใช้กันเยอะ ไม่ได้เป็นการไปใช้อำนาจเผด็จการเหมือนในบางประเทศในแอฟริกาที่ยึดเลย ออกกฎหมายเวนคืนแล้วจ่ายค่าชดเชยในอัตราที่ต่ำมากๆ เราก็บอกว่าถ้าคายออกมา รัฐก็ต้องไปซื้อคืนในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าราคาประเมิน ก็เป็นมาตรการสร้างเพดานการถือครองที่ดินโดยมีทางเลือกให้ด้วย
@ปัญหาสำคัญที่สุดของเรื่องที่ดินในประเทศไทยคืออะไร?
มันเชื่อมกันเป็นลูกโซ่ มีการกว้านซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร พอนานเข้าก็กระจุกตัว ใช้ไม่ได้หมดเพราะมันมีเยอะ แล้วก็ปล่อยทิ้งร้างทำให้คนไม่มีที่ดินทำกิน พอไม่มีที่ดินทำกิน คนเป็นล้านคนไม่มีที่ดินทำกินก็กระทบกับระบบเศรษฐกิจ ก็ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาไม่ได้เลยถ้าฐานรากคือฐานการเกษตรยัง อ่อนแอ เพราะเขาไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง
เราก็มีความคิดว่าฐานรากจะเข้มแข็งเกษตรกรต้องมีที่ดินทำกินของตัวเอง และราชการต้องให้ความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรและจัดสรรที่ดินอย่างเป็น ธรรมอีกทั้งท้องถิ่นต้องมีอำนาจบริหารจัดการ เพื่อให้คนไทยทุกคนมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง
@แนวคิดเรื่องธนาคารที่ดินเป็นยังไง?
ความคิดนี้เกิดจากความคิดที่เห็นว่าหลักการตอนนี้คือรัฐเป็นคนจัดการที่ดิน จัดสรรที่ดิน ปฏิรูปที่ดินก็เป็นภารกิจของรัฐ แต่ปรากฏว่าตั้งแต่ปี 2518 ผ่านมาสามสิบกว่าปีการจัดสรรที่ดินทำได้ไม่มาก นิคมอุตสาหกรรมทำแล้วก็ได้ไม่กี่แสนราย เราก็วิเคราะห์แล้วเห็นว่ากลไกของรัฐไม่สามารถจัดสรรที่ดินได้อย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ
เราจึงเสนอให้ปฏิรูปที่ดินโดยใช้กลไกขององค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ไม่ ใช่การตั้งกระทรวงหรือกรมมาทำหน้าที่ใหม่ แต่เป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่เอาที่ดินส่วนเกินแล้วก็จัดสรรกันไปเพื่อให้ เกิดการหมุนเวียนและใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม ระบบแบบนี้คือเอาเงินไปซื้อแล้วก็ไปผ่อนแล้วก็จะได้ที่ดินกลับคืนมา
ระบบนี้จะเป็นระบบอิสระที่ไม่ขึ้นกับการเมืองและระบบราชการ จะมีความคล่องตัว ให้อำนาจกับท้องถิ่นกับชุมชนก็ไปได้ ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร
@การเกิดขึ้นของกรรมการปฏิรูปแม้จะเกิดจากการเมืองหลังเหตุการณ์ 19 พ.ค.2553 แต่คนก็คาดหวังไว้พอสมควร ซึ่งก็มีเสียงวิจารณ์ว่ากรรมการที่ได้งบอุดหนุนการดำเนินการ 200 กว่าล้านทำงานได้สัมฤทธิ์ผลจริงหรือไม่ เพราะเมื่อมีการบอกว่ารัฐบาลก็ไม่ค่อยรับลูกแนวคิดต่างๆที่เสนอไป แล้วสุดท้ายหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรหากกรรมการมีการสลายตัวก่อนการเลือกตั้ง สิ่งที่ทำและคิดไว้จะเดินหน้าอย่างไร?
ปัญหาที่ดินถ้าคำนวณราคาและมูลค่าออกมาแล้ว ผมว่าน่าจะเป็นเงินล้านล้านล้านบาท (ย้ำหนักแน่น) ดังนั้นถ้าจะลงทุนศึกษาและหาทางแก้ไขโดยใช้เงิน 200 ล้าน 500 ล้านยังถือว่าถูกมาก ถ้าแก้ปัญหาที่ดินได้ แต่นี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดินปัญหาเดียว แต่กรรมการได้เสนอแนวคิดการแก้ปัญหาทั้งระบบทั้งการเกษตร การศึกษา การเมือง บนหลักที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม จึงต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนด้วย
กรรมการปฏิรูปทุกคนไม่มีใครได้รับเงินเดือน ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นงบในเรื่องการดำเนินการและอำนวยความสะดวก คุณอานันท์ ปันยารชุน ประธานกรรมการได้ย้ำมากว่าการทำงานของเรา สิ่งที่เสนอต้องมีคุณภาพ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม และประหยัดค่าใช้จ่าย
@ตอนนี้คุณอานันท์ ปันยารชุน ประกาศว่ากรรมการทั้งหมดจะลาออกก่อนเลือกตั้ง 7 วัน ถ้าหากรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วอยากสานต่อให้มีกรรมการปฏิรูปอีกครั้ง อยากจะศึกษาปัญหาเรื่องที่ดินอะไรที่ไม่ได้ศึกษาอยู่ในตอนนี้?
ก็มีหลายเรื่องเช่นเรื่องธนาคารที่ดินเพื่อให้สังคมเข้าใจแนวคิดนี้ว่าจะ สามารถแก้ปัญหาเรื่องที่ดินได้อย่างไรหรือเรื่องการทำโซนนิ่งที่ดินเพื่อการ เกษตร แม้ตอนนี้จะมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องแต่ก็ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะการทำโซนนิ่งที่ดินเพื่อการทำเกษตรที่มีพลวัตรเปลี่ยนแปลงไปมากต้อง คำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆ ด้วยเช่นกลไกการตลาด ถ้าเรามีเวลาการทำงานมากขึ้น ข้อเสนอต่างๆ ก็จะลงไปในรายละเอียดมากขึ้นก็เป็นเรื่องธรรมดา