สัมภาษณ์ :::: สมลักษณ์ จัดกระบวนพล:กู้ “วิกฤตศรัทธา” ศาล จากหล่ม “ตุลาการภิวัตน์”
ต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา มีข่าวเล็กๆ แต่น่าสนใจ
กรณีที่ “หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล” ประธานศาลปกครองสูงสุด ให้สัมภาษณ์ระบุว่า จะไม่ให้สำนักงานเลขาธิการศาลปกครองชี้แจงหรือส่งเอกสารกรณีที่มีการกล่าวหา “อักขราทร จุฬารัตน” ขณะดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากใช้อำนาจสั่งเปลี่ยนองค์คณะตุลาการที่พิจารณาคดีคำร้องขอคุ้มครอง ชั่วคราวที่มิให้นำมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายสมัคร สุนทรเวช เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.2551 ซึ่งสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ไปดำเนินการใดๆ
ไปให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามที่ร้องขอ
ที่บอกว่า น่าสนใจเพราะคดีดังกล่าว เหมือนเป็น “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ของกระแสเรียกร้องให้ ผู้พิพากษาเข้ามาแก้วิกฤตการเมืองที่หนักหน่วงการก่อนรัฐประหารปี 2549 ที่เรียกกันว่า “ตุลาการภิวัตน์”
หากจะนับดูจริงๆ ตุลาการภิวัตน์ในไทย เริ่มต้นหลังประธานศาลยุติธรรม ประธานศาลปกครอง และตัวแทนประธานศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมแก้ไขวิกฤตชาติ ตามพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2549
ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย.2549 เป็นโมฆะ
หลังจากนั้นวิกฤตการเมืองก็ทวีความรุนแรงและซับซ้อน กระทั่งทหารต้องตัดสินใจยึดอำนาจจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 19 ก.ย.2549 ก่อนจะมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้พิพากษาเข้าไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ทั้งรัฐมนตรี สนช. คตส. ป.ป.ช. กกต. บางคนเข้าไปมีส่สวนสำคัญในกากยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ด้วย
หลังการเลือกตั้ง 23 ธ.ค.2550 “ตุลาการภิวัตน์” ยังออกอาละวาดอีกครั้ง มีการรับลูกกันเป็น “โดมิโน”
เริ่มต้นคำสั่งเปลี่ยนองค์คณะของ “อักขราทร” ที่คุ้มครองมิให้นำมติครม.เรื่องเขาพระวิหารไปดำเนินการใดๆ ก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าลงนามในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เพราะ “อาจจะ” ทำให้เสียดินแดน
ป.ป.ช.หยิบคำวินิจฉัยดังกล่าว ไปใช้ในการลงมติเสียงข้างมาก 6:3 ให้ถอดถอน “สมัคร สุนทรเวช-นพดล ปัทมะ” ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศตามลำดับ
ปิดท้ายด้วยการสั่งยุบพรรคพลังประชาชน (พปช.) ของศาลรัฐธรรมนูญ ปิดฉากรัฐบาลสมัคร-สมชาย แต่เป็นการเปิดฉาก “รัฐบาลเทพประทาน” ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่จัดตั้งรัฐบาลขึ้นในค่ายทหาร (ก่อนจะไปยกมือโหวตเลือกนายกฯในสภาตามพิธีกรรม)
ข่าวการตรวจสอบ เรื่องการ ”เปลี่ยนองค์คณะ” ของป.ป.ช. จึงนับว่าเป็นครั้งแรกๆ ที่ขบวนการตุลาการภิวัตน์ถูกตรวจสอบโดยองค์กรในระบบ
ข่าวการปฎิเสธให้ความร่วมมือกับป.ป.ช.ของ “หัสวุฒิ” โดยอ้างว่า “คนระดับนี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะทำสิ่งผิดกฎหมาย” จึงเป็นการตอกย้ำว่า ฐานความชอบธรรมเดียวของขบวนการตุลาการภิวัตน์ นั่นคือการเป็น “คนระดับนี้”
ถ้าจะแปลง่ายๆ ว่า “คน(ดี)ระดับนี้” ไม่นาจะทำอะไรผิด ก็คงจะไม่ผิดความหมาย!!!
ทันทีที่คำให้สัมภาษณ์ของประธานศาลปกครองสูงสุดคนปัจจุบันปรากฎผ่านสื่อ “สมลักษณ์ จัดกระบวนพล” อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา อดีตป.ป.ช. และอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนบทความเรื่อง “ตุลาการกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ” ชี้แจงว่าป.ป.ช.มีอำนาจในการไต่สวนและตรวจสอบผู้พิพากษาได้
ก่อนจะให้สัมภาษณ์อีกครั้ง ขยายความเรื่องดังกล่าว โยงใยไปถึงวิกฤตศรัทธาของสถาบันศาล ที่เกิดขึ้นจากขบวนการตุลาการภิวัตน์ที่อาละวาดในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา!!!
@ตามกฎหมาย ป.ป.ช.มีอำนาจตรวจสอบผู้พิพากษาไหม
ผู้พิพากษาได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 197 ที่ระบุว่า “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไป โดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” ตราบใดที่ผู้พิพากษายังปฏิบัติอยู่ในกรอบ ไม่ทุจริตหรือฝ่าฝืนกฎหมาย ใครก็เข้าไปตรวจสอบไม่ได้ แต่ถ้าการกระทำของผู้พิพากษารายใด “ตกขอบ” มีการทุจริตหรือฝ่าฝืนกฎหมาย หน้าที่ในการไต่สวนและวินิจฉัยจะตกเป็นของป.ป.ช. เนื่องจากผู้พิพากษาถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดี ตามมาตา 4 ของกฎหมายป.ป.ช.
@ในเมื่อกฎหมายให้อำนาจ ทำไมจึงเกิดปรากฎการณ์ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมเข้าชื่อไม่ให้ ป.ป.ช.เข้าไปตรวจสอบกรณีผู้พิพากษา จ.พระนครศรีอยุธยา หรือกรณีล่าสุดที่ประธานศาลปกครองระบุว่าป.ป.ช.ไม่มีอำนาจสอบคุณอักขราทร
ที่เถียงกันมาก คือเรื่องที่ถูกกล่าวหาเป็น “ดุลยพินิจ” โดยชอบหรือไม่ ดังนั้นเมื่อมีหนังสือร้องเรียนเข้ามา ตามหลักป.ป.ช. 1.ต้องดูก่อนว่าเป็นดุลยพินิจตามมาตรา 197 หรือไม่ 2.ถ้าข้อหานั้นพอสันนิษฐานได้ว่าทุจริต เช่น รับสินบน หรือใช้อำนาจมิชอบ ฝ่าฝืนกฎหมาย ป.ป.ช.ก็ต้องสอบว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอไหม ซึ่งต้องทำด้วยความระมัดระวัง 3.หลังจากดูพยานหลักฐานหมดแล้ว เห็นว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจตามมาตรา 197 ป.ป.ช.ก็ต้องให้เรื่องนั้นตกไปเช่นกัน
@เหตุใดผู้พิพากษาจึงเซ็นซิทีฟเวลาจะถูกตรวจสอบจากองค์กรอื่น
ผู้พิพากษาสมควรเซ็นซิทีฟ เพราะการทำงานต้องมี “หลักประกัน” คุ้มครองความเป็นอิสระ หากปล่อยให้คนอื่นเข้าไปก้าวล่วง ก้าวก่าย สั่งการ หรือทำให้หวั่นกลัวได้ ประชาชนก็จะลำบาก แต่ถ้าตกขอบแล้วยังอ้างมาตรา 197 จะกลายเป็นว่าผู้พิพากษารายนั้นอยู่เหนือกฎหมาย จะกลั่นแกล้งใคร วินิจฉัยคดีอย่างผิดๆ หรือมีอภิสิทธิ์เหนือข้าราชการทั่วไป ส่วนตัวเชื่อว่าคงไม่มีกลุ่มชนใดยอมให้คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดอยู่เหนือกฎหมาย
@แต่ผู้พิพากษาบางคนที่ตัดสินคดีมายาวนาน อาจจะคิดว่าตัวเองคือความยุติธรรมจนใครก็แตะต้องไม่ได้ก็ได้
คงมีแต่น้อย เพราะการทำงานของผู้พิพากษาจะต้องประกอบด้วยเหตุผล ที่อ้างได้ตามกฎหมาย ไม่ว่าจะให้ใครแพ้ชนะ ใครผิดถูก เรื่องจะคิดเข้าข้างตัวเองว่า อุ๊ย! ใครจะมากระทบฉันไมได้เลย คงจะไม่ได้ เพราะผู้พิพากษาไม่ว่าจะไปดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ใด ต้องขึ้นอยู่ในความศรัทธาของประชาชน เวลามีคนเข้าใจผิด ต้องเก็บไปคิดว่าทำไมเขาถึงไม่ศรัทธาเรา
@เวลาผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่รายใดถูกสอบ มักจะมีคนออกมาการันตีให้ว่า “คนๆนี้เป็นคนดี ไม่ต้องตรวจสอบหรอก”
นั่นเป็นความคิดส่วนบุคคล และน่าจะมีอยู๋น้อย เราอย่าไปตัดสินว่าคนๆนั้นเป็นคนดีแล้วจะไม่ทำผิด เพราะสมัยเป็นผู้พิพากษาและป.ป.ช.มีหลายครั้งที่คนซึ่งสังคมบอกว่าดี แต่ต้องอึ้ง เพราะมีพยานหลักฐานว่ากระทำผิดจริง ดังนั้นอย่าไปศรัทธาด้วยภาพลักษณ์ภายนอกของเขา ต้องสัมผัสจริงๆว่าตัวตนของเขาเป็นอย่างไร ผู้พิพากษามีเป็นพันๆคน บอกไม่ได้ว่าดีทุกคน มันมีปะปนกัน บางคนขี้เหร่พูดจาไม่ดีอาจจะเป็นคนดีก็ได้ แต่ก็ศาลยังเป็นสถาบันที่เราเชื่อถือได้
@ไม่ใช่คนดีทุกคน แต่กลับมีอำนาจตัดสินชีวิตคน
ไม่ดีทุกคน แต่ระบบของศาลยังดีอยู่ เพราะมีการตรวจสอบกันเองที่เคร่งครัด ดังนั้นคนที่หลงตัวเอง คิดว่าใครก็มากระทบชั้นไม่ได้จะมีอยู่น้อยมาก
@ศาลตรวจสอบกันเองยังไง
ก็ใช้คณะกรรมการข้าราชการตุลาการ (ก.ต.) ที่มี 15 คน ที่มาจากการเลือกแต่ละชั้นศาล ศาลฎีกา 6 คน ศาลอุทธรณ์ 4 คน ศาลชั้นต้น 2 คน และมีคนนอก 2 คนที่มาจากส.ว. โดยมีประธานศาลฎีกาเป็นประธานโดยตำแหน่ง ดังนั้นใครที่คิดจะนอกลู่นอกทางคงจะยาก
@แต่คนภายนอกก็ยังมองว่าศาลเป็นองค์กรปิด
อาจเพราะในอดีตก.ต.ส่วนใหญ่เป็นผู้พิพากษา เพิ่งมาระยะหลังที่เพิ่มส.ว.เข้าไปด้วย
@คำว่า “ตัดสินคดีในพระปรมาภิไธย” หมายถึงอะไร
เชื่อกันว่าสมัยพ่อขุนรามคำแหง พระมหากษัตริย์จะออกพิจารณาคดีเอง แต่ภายหลังคดีความมีมากขึ้น จึงมีการตั้งตัวแทนขึ้นมาพิจารณาคดีแทน คุณจะเห็นว่าเอกสารของศาลจะเขียนว่าในพระปรมาภิไธย เพราะเดิมท่านทำหน้าที่นี้ แต่ปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ไม่ใช่อำนาจตุลาการโดยตรงอีกแล้ว แต่ใช้ผ่านศาล เช่นเดียวกับ อำนาจบริหารที่ใช้ผ่านครม. และอำนาจนิติบัญญัติที่ใช้รัฐสภา
@เป็นไปได้ไหมว่าผู้พิพากษาบางคนคิดว่าใช้อำนาจแทนกษัตริย์
คงมีเฉพาะผู้พิพากษาเด็กๆ เท่านั้น อย่าลืมว่าผู้พิพากษาเขาจะแทนตัวเองว่า “ท่าน” วันหนึ่งยังเป็น “คุณ” อยู่ พอโปรดเกล้าฯกลายเป็น “ท่าน” บางทีมันยังยั้งใจไม่ทัน หรือบางคนที่คิดว่าเป็นผู้พิพากษาแล้วใหญ่โต ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะคนยิ่งใหญ่ ยิ่งทำตัวธรรมดา ก็จะยิ่งมีคนนับถือ
@สรรพนาม “ท่าน” มาจากไหน
สมัยก่อนผู้พิพากษามักเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่มีบรรดาศักดิ์และอายุมากแล้ว คนอาจจะติดเรียกท่านจากบรรดาศักดิ์
@นับแต่เกิดวิกฤตการเมือง มักมีคนกลุ่มหนึ่งอ้างคำพิพากษาที่ฝ่ายตัวเองได้ประโยชน์ ว่าวิจารณ์ไม่ได้เพราะตัดสินภายใต้พระปรมาภิไธย
สำหรับศาลยุติธรรมและศาลปกครองไม่น่าวิจารณ์ เพราะหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดอำนาจศาล แม้จะเป็นการวิจารณ์ทางวิชาการ แม้ศาลจะไม่ได้ว่าอะไร แต่คนนอกก็มักจะกลัว กลัวจนกลายเป็นประเพณี แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวิจารณ์ได้ เพราะเป็นศาลการเมือง
@หากวิจารณ์คำพิพากษาไม่ได้ แล้วใครจะตรวจสอบศาล
หากไม่พอใจคำตัดสิน ก็สามารถว่าไปตามลำดับชั้น คืออุทธรณ์และฎีกาได้ ถ้ายังทำผิดอยู่อีกก็มีก.ต.ที่ตรวจสอบเข้มงวด
@หลังรัฐประหารมีผู้พิพากษาหลายคนโดดมาเล่นบทบาทนอกศาล จะทำให้ภาพลักษณ์ศาลเปลี่ยนไปอย่างไร
ถ้าไปแล้วไปเลย ไม่กลับมาอีก ก็ไม่เป็นไร เพราะขาดมาแล้ว แต่อย่างผู้พิพากษาที่ไปเป็นคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความ เสียหายแก่รัฐ (คตส.) แล้วกลับไปศาลอีก แม้จะกลับไปแล้วไม่มีอำนาจเท่าไร แต่ในสายตาสังคมจะดูว่าไม่ดี หรือการกำหนดให้ประธานศาลต่างๆไปเป็นกรรมการสรรหา ทั้งองค์กรอิสระและส.ว. ก็ไม่ควร ไม่มาซะเลยจะดีกว่า เพราะเวลาเลือกใครเข้าไป หากคนๆนั้นทำไม่ดี คนก็จะต่อว่า ถ้าจะใช้อำนาจทางการเมือง ไปเลือก ไปชี้แนะ ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการเมือง มันขึ้นอยู่กับกระแสสังคม มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ถ้าไม่ยึดหลักกฎหมาย หลักนิติศาสตร์ให้ดี คนจะถามว่าท่านพิพากษาคดีโดยใช้หลักอะไร หรือว่าท่านเปลี่ยนไปเรื่อยๆ คณะนั้นว่าอย่านี้ คณะนี้ว่าอีกอย่าง คนก็จะถามว่าทำไมเปลี่ยนหลักเกณฑ์
@แสดงว่าหลังปี 2549 มีคนไม่มีหลักเกิดขึ้นเยอะ
ไม่อยากวิจารณ์ เพราะบางเรื่องอาจจะคิดอย่างเขาก็ได้ หรือเห็นต่างก็ได้ เช่นการรอลงอาญา อาจจะให้ติดคุกทันที หรือให้รอลงอาญาก็ได้ อันนี้เป็นดุลยพินิจที่อยากให้ใช้ความระมัดระวัง ไม่ใช่พอมองไปแล้ว เฮ้ย ! มันเป็นประโยชน์กับอีกฝ่าย
@หลายเรื่องตัดสินด้วยการเมือง
ใช่ หรืออย่างกรณีศาลรัฐธรมนูญที่เลขานุการส่วนตัวไปทำอะไรไว้ เคยเขียนบทความเรื่องหนึ่งยกคำสอนของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ แด่ผู้พิพาษาทั้งหลาย ที่ว่า "อย่าคิดว่าเราบริสุทธิ์ฝ่ายเดียว ไม่ได้ ต้องให้สังคมเชื่อว่าเราบริสุทธิ์ยุติธรรมด้วย" ดังนั้นต้องระวังเรื่องไปทำอะไรกับใคร เพราะมันทำให้ไขว้เขวได้ สมัยอยู่ป.ป.ช.ก็มีคนชวนไปพบไปกินข้าวด้วย แต่บอกไปว่าไม่ต้องเลย เพราะถ้าเราไปกับอีกฝ่าย คนก็จะคิดว่าแล้วอีกฝ่ายจะรอดเร้อ นี่คือเสื่อมความนับถือแล้ว (เน้นเสียง) เกิดวิกฤตศรัทธา แล้วเมื่อไรที่สังคมเกิดวิกฤตศรัทธา ผู้พิพากษาจะทำงานไม่ได้เลยนะ ตัดสินอะไรไป คนก็บอกว่าไม่เป็นธรรม
@เหมือนที่ศาลรัฐธรรมนูญเผชิญวิกฤตศรัทธาในเวลานี้
เคยส่งบทความชิ้นหนึ่งไปลงหนังสือพิมพ์ ปรากฎว่าถูกโกรธ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลายคนหมางเมิน ไม่ยอมพูดคุยด้วย แต่ไม่เป็นไร เพราะเวลามีปัญหาอะไร พอเขียนบทความไปลง ก็มักจะมีคนเขียนจดหมายมาชมว่า เขียนดีมากๆ เพระาช่วยดึงผู้พิพากษาที่เริ่มไปกันใหญ่ เริ่มไปยุ่งกับคนนั้นคนนี้
@ในสายตาผู้พิพากษา คิดว่าการเมืองคืออะไร
เขาก็เป็นพลเมือง แค่มีตำแหน่งในการพิจารณาพิพากษาคดี จึงไม่ได้มองอะไรต่างจากเรา แต่กังวลอยู่เรื่องหนึ่ง คืออยากให้เลิกคิดเรื่องความศรัทธาในตัวบุคคล ว่าถ้าเป็นคนดีแล้ว ใครไปแตะต้องไม่ได้ ควรจะใช้หลัก เวลาเขียนบทความก็จะเน้นหลักการ ไม่ไปเน้นตัวบุคคล เหมือนกรณีที่ตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักไทย แล้วใช้กฎหมายย้อนหลังตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคทุกคนเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งมันทำไม่ได้ เพราะอะไรที่มันเสียกับคน ย้อนหลังไม่ได้ ไม่ว่าจะคดีอาญา คดีแพ่ง หรือคดีอื่นๆ กฎหมายย้อนหลังทำไม่ได้ ไม่ยุติธรรม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 บัญญัติไว้เลยว่า ต้องใช้กฎหมายขณะกระทำผิด เขาจะได้รู้เสียก่อนว่าถ้าทำอย่างนี้ เป็นความผิดนะ
@การตัดสินคดีอย่างเพี้ยนๆเริ่มตั้งแต่เกิดกระแสตุลาการภิวัตน์หรือเปล่า
ทีแรกก็คิดว่าตุลาการภิวัตน์มันดี แต่ตอนหลังเริ่มรู้สึกว่าไม่ดีแล้ว เป็นว่าตุลาการภิวัตน์คือการตัดสินโดยฟังกระแสสังคม แล้วพยายามพิพากษาคดีโดยใช้ดุลยพินิจให้ตรงกับความต้องการของคน อันนี้ไม่ถูก ผู้พิพากษาไม่มีสิทธิ อาจารย์สัญญาเคยกล่าวว่า เวลาจะพิพากษาคดีจะต้องมีจิตประภัสสร คือไม่มีอดติ กลัวไม่ได้ รักไม่ได้ โกรธไม่ได้ สมัยเป็นผู้พิพากษา เวลาจะตัดสินคดีอะไร ไม่เคยดูเลยนะว่าโจทก์จำเลยเป็นใคร ดูแต่เนื้อเรื่อง ว่าเขาทำอะไร ถูกล่าวหายังไง พยานหลักฐานมีอะไรนบ้าง ว่าไม่ตามสำนวน ต้องทำใจแบบอาจารย์สัญญาจะไปโกรธ หลง กลัว ไม่ได้เลย
@จะกู้วิกฤตศรัทธาของศาลอย่างไร
ต้องทำ หากคนเข้าใจผิด เราต้องพยายามชี้แจง ว่าเรื่องที่ตัดสินไปมันมีเหตุผลอย่างไร ซึ่งคำพิพากษาเป็นการชี้แจงที่ดีที่สุด เพราะการตัดสินคดีแต่ละครั้งจะต้องประกอบด้วยเหตุและผล ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย
@มีโอกาสกู้คืนได้หรือไม่
มี แต่อาจต้องใช้เวลา บางคนบอกไม่ต้องชี้แจงก็ได้ แต่ใช้เหตุผลที่ปรากฎอยู่ในคำวินิจฉัยและคำพิพากษา สมัยเรียนมีอาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า คำพิพากษาที่ดี ต้องมีเหตุผลและเป็นเหตุผลตามกฎหมาย เมื่ออ่านคำพิพากษาไปแล้ว แม้แต่จำเลยต้องยอมรับว่า ศาลท่านรู้ว่าเรากระทำผิดจริง
@แต่ภาวะการเมืองเช่นนี้การยอมรับขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายตัวเองได้ประโยชน์หรือเปล่า
เนี่ยแหล่ะปัญหาใหญ่ ก็ต้องค่อยๆแก้ไป