สัมภาษณ์ :::: “ ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์” “ยุติธรรมชุมชน”ถอดสลักระเบิดได้
การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เป็นหนึ่งในเป้าหมายใหญ่ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม “ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์” ประธานสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสัมคม และกรรมการสมัชชาปฏิรูป ที่มีนพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ฉายภาพปัญหาความยุติธรรม และ การสร้างความเป็นธรรมรากหญ้ากับโมเดล “ยุติธรรมชุมชน”
@ปัญหากระบวนการยุติธรรมไทยอยู่ตรงไหน
ทุกคนเห็นชัดเจนว่า ความยุติธรรมในประเทศไทย ยังไม่ทั่วถึง เอาง่ายๆ ปัญหาคือ ความเป็นนิติธรรมและนิติรัฐยังไม่แข็งแรงพอ คนมีอำนาจทางการเมือง มีอำนาจปืน และอำนาจทุน ยังสามารถทะลวงกฎหมายได้ มีบางคนบอกว่า ความยุติธรรมในประเทศไทยมันเหมือนกับ ข่ายใยแมงมุมดักได้แต่แมลงวันตัวเล็กๆแต่นกมันบินทะลุจนเครือข่ายมันขาด อันนี้เป็นตัวสะท้อนสำคัญและมันเกี่ยวข้องกับระบบประชาธิปไตย ไม่มีประชาธิปไตยไหนในโลกที่จะพัฒนาไปได้ ถ้าขาดซึ่งความยุติธรรมเพราะจะทำให้โอกาสของคนไม่เท่าเทียมกัน ตามด้วยปัญหาการเข้าถึงทรัพยากร การเข้าถึงอำนาจ โอกาส ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ประชาธิปไตยมันต้องยืนอยู่บนหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิของปัจเจก สิทธิของชุมชน ที่ต้องเท่าเทียมกัน การเคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน มันถูกทลายหมดเลยจากความไม่เป็นธรรม
สังคมไทยยังเป็นสังคมที่ความยุติธรรมยังไปไม่ทั่วถึง เมื่อที่ใดความยุติธรรมไม่เกิด การสร้างโอกาส การพัฒนาศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ให้เท่าเทียมกันก็จะแย่ตามไปด้วยแล้วทำ ให้คนที่ได้เปรียบอยู่แล้ว ได้เปรียบยิ่งขึ้น โรงเรียนก็กลายเป็นโรงเรียนของคนรวย พวกคนจนๆ ก็ไม่มีโอกาสได้เข้าโรงเรียนดีๆ
@ประเทศเราความยุติธรรมจัดอยู่ในระดับวิกฤตไหม
อยู่ในระดับที่แย่ อาจดีกว่าฟิลิปินส์นิดหน่อย แต่ไม่รู้ว่าอยู่ระดับเดียวกับอินโดนีเซียหรือไม่ แต่การลุกขึ้นมาประท้วงของคนเสื้อแดง หรือ เสื้อเหลือง มันรุนแรงมาก คนไทยเรารู้สึกด้อยศักดิ์ศรี เวลาฟังเสื้อแดงให้สัมภาษณ์หลายเรื่องเขามาเพราะเขาถูกรังแก ไม่ได้รับการปฏิบัติเยี่ยงพลเมืองที่เท่าเทียมกัน เหมือนพลเมืองชั้นสอง แบบนี้ใครมันจะยอม หลายๆเรื่อง การก่อการร้ายในภาคใต้ ก็มาจากความไม่ยุติธรรม คุณไปใช้อำนาจไปรังแกเขา เขาก็ทนไม่ได้ เป็นผม ผมก็สู้ นี่เลยทำให้พี่น้องมุสลิมภาคใต้จำนวนหนึ่งต้องสู้
@ปัญหามาจากรัฐหรือ กลไกราชการที่เฉื่อยชา ไร้ประสิทธิภาพ
กระบวนการยุติธรรมมันเกี่ยวกับรัฐ รัฐเป็นผู้ออกกฎหมาย เมื่อผู้ที่ถือกฎหมายละเมิดกฎหมายเสียเอง ใช้กฎหมายในทางที่ผิด อย่างกรณียัดยาบ้าให้คนอื่น หรือตัวเองทำผิดแล้วบอกว่า คนอื่นทำผิด ทำไมคนถึงไม่พอใจตำรวจก็เพราะตำรวจเป็นด่านแรกของกระบวนการยุติธรรมทั้งทำ สำนวน จับกุม ตั้งข้อหา ส่งอัยการ
@ช่วงหลังการเรียกร้องเรื่องความเป็นธรรมแรงขึ้น อาจารย์เห็นว่า แนวโน้มเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นไหม
ก็แน่นอน เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมารัฐรังแกผู้คนหนักยิ่งกว่านี้อีก แต่สมัยก่อนไม่มีเฟสบุ๊ค ไม่มีวิทยุชุมชน วันนี้ผมเชื่อว่า ความรุนแรงที่รังแกประชาชนมันน้อยลง เพราะสังคมมันเปิด มีหูตากว้างขวางเหมือนสัปปะรด มันรู้ทั่วถึงกันหมด และก็ทำให้ความรู้สึกของคนที่แต่ก่อนจะยอมรัฐ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ยอมแล้ว เป็นความรู้สึกต้องการศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มันสูงขึ้นเรื่อย
@เราจะขับเคลื่อนอย่างไรให้เกิดพลังปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
ในสายตาของผม มันมีหลายระดับ หลายเรื่องที่ต้องคุย แต่ที่แน่ๆ เชื่อว่า จะมีงานวิจัยของคณะทำงานที่ว่าด้วยความยุติธรรม ซี่งมีปลัดกระทรวงยุติธรรม กิตติพงษ์ เป็นตัวนำ ท่านเป็นนักวิชาการมาก่อน ทำวิจัยรู้เรื่องข้อมูลดี และเน้นงานวิชาการควบคู่กันไป ไม่ทำงานแบบวูบวาบ แต่ต่อเนื่อง ซึ่งมันมีเรื่อง 1. ปฏิรูปตำรวจที่มีพล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นเป็นประธานอยู่ ส่วนจะทำได้ดีมากน้อยแค่ไหนก็ค่อยว่ากัน 2. สิ่งที่อยากทำและทำได้ดีระดับหนึ่ง เป็นตัวอย่าง คือ เราได้ทดลองทำเป็นโครงการนำร่องมา 14 จังหวัดว่าด้วยเรื่อง ยุติธรรมชุมชน
นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นปัญหาของวงการยุติธรรม คือ เจ้าหน้าที่อำนาจรัฐ ตามด้วย ผู้มีอิทธิพลไม่ว่า ในท้องถิ่น หรือ ทางการเมืองก็มักจะเกี้ยเซี๊ยะซึ่งกันและกัน ทำให้คนไทยไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน สิ่งที่น่าสนใจ คือ ในทางกระบวนการตุลาการเอง ความยุติธรรมมันมาช้ามาก และแพงด้วย เพราะกว่าจะตัดสินใช้เวลาเกือบ10 ปี ต้องไปสำรวจคดีที่ค้างอยู่ในศาลฎีกามีเท่าไร และ มีจำนวนผู้พิพากษาศาลฎีกากี่คน และดูแนวโน้มคดีมันจะลดหรือจะเพิ่ม และค่าใช้จ่ายคดีแพงสำหรับคนขึ้นศาล เท่าไร
ผมเคยเห็นปัญหาของชาวบ้านสู้กัน โอ้โห... คนหนึ่งกว่าจะเคลียร์ได้ก็ 10 ปี ชีวิตมันแทบไม่ได้ยืนอยู่กับที่เลย เห็นมั้ยมันมีตั้งหลายระดับเรื่องความยุติธรรม ฉะนั้นสิ่งที่ทางคณะปฏิรูปยุติธรรมจะทำมีหลายประเด็น แต่เรื่องที่จะจับโฟกัสแต่แรกคือ “ยุติธรรมชุมชน” และ “ยุติธรรมสมานฉันท์” ซึ่งมันมีงานวิจัยอยู่แล้วในที่ต่างๆ และก็มีการนำร่องและมันก็ทำงานค่อนข้างได้ผล ถ้ามันเวิรค์จริง หมายความว่า เรื่องหลายเรื่องถ้าคุณสามารถแก้ปัญหาโดยใช้ ยุติธรรมชุมชน ที่มักจะเป็นเรื่องความขัดแย้ง เช่น ระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้านกันเอง ที่พบบ่อย คือ เรื่องการปักเขตรั้ว ที่ทำกินที่ละเมิด จนฟ้องร้องกันและก็สู้กัน
สอง เรื่องปัญหาวัยรุ่น เช่น ลูกหลานได้เสียกันก่อนและพากันหนีก่อนวัยอันควรและพ่อแม่ก็ฟ้องร้อง ทั้งที่เขาก็แต่งงานมีลูกกันไปแล้ว ครอบครัวก็ตกลงกันแล้ว แต่เรื่องไปอยู่ที่ตำรวจ พอวันหนึ่งไอ้ผู้ชายกลับมาบ้าน อ้าว ถูกจับเลย เรื่องก็เลยยาว นอกจากนั้น ความขัดแย้งต่าง ๆ แบบนี้ถ้าไปขึ้นศาลก็ หมดเงินไปหลายบาท ดังนั้น เรื่องยุติธรรมชุมชน ก็ให้คนทั้งสองฝ่ายไกล่เกลี่ยกัน
@โครงการ “ยุติธรรมชุมชน”จะเริ่ม และมีรูปแบบอย่างไร
รูปแบบเช่น ถ้าเป็นในต่างจังหวัด มักเป็นผู้ใหญ่บ้าน คนที่เคารพนับถือ เช่น โต๊ะอิหม่าม เชิญทั้งสองฝ่ายมาคุยแล้วหาข้อมูล และเริ่มพูดจาไกล่เกลี่ย ช่วยเหลือซึ่งกัน และถ้าเมื่อใด มีตำรวจมาช่วยเหลือ สนับสนุนก็ยิ่งไปง่ายขึ้น หลายๆ ที่มันสำเร็จ เพราะมีตำรวจช่วยคุยว่า ไม่ต้องลงบันทึกประจำวันแบบฟ้องร้องกัน
ที่น่าสนใจ เมื่อชุมชนเขาสามารถมาแก้ปัญหาด้วยกันเอง หันมาคุยกันเอง สิ่งที่มันเกิดขึ้น เขาก็จะมีทักษะในการคลี่คลายความขัดแย้ง หรือ ไกล่เกลี่ยประนีประนอม ข้อพิพาทต่างๆ มันก็จะเอาความรู้เหล่านี้ไปใช้คลี่คลายปัญหาต่างๆ เพราะทำให้คนหันมาสนทนากันมากขึ้น เมื่อมีอะไรก็ใช้เหตุใช้ผลกัน เมื่อทำได้ดีก็จะเกิดความเข้มแข็งของชุมชนเกิดขึ้น กลายเป็นทุนทางสังคมขึ้นมาได้ และที่ไหนที่ทุนทางสังคมเข้มแข็ง ชุมชนนั้นไม่ว่า วิกฤตใดมาก็ตาม เขาก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ดี ไม่ว่า น้ำท่วม ปัญหาอดอยาก หลายพื้นที่นำไปสู่การฟื้นเทศกาลดีๆ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ที่น่าสนใจ นี่คือ กระบวนการเรียนรู้ในการแก้ปัญหาร่วมกัน ผมมองว่า มันเป็นประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานเมื่อชุมชนเรียนรู้ที่จะฟังซึ่งกันและกัน เห็นความแตกต่างทางความคิด ไม่ใช่เรื่องความแตกแยก และไม่ใช่ความรุนแรงเข้าแก้ปัญหากัน
@ยุติธรรมสมานฉันท์ คืออะไร
มันจะไปคู่กัน ถ้ายุติธรรมชุมชนดี ยุติธรรมสมานฉันท์ก็จะเกิดขึ้นเป็นลูกฝาแฝด ยุติธรรมสมานฉันท์คือ การฟื้นพลังของชุมชนขึ้นมาใหม่ใช้ปัญญาใช้ความรู้ ใช้ข้อมูลมาสนทนากัน และก็ทำอะไรให้สำเร็จร่วมกันได้ ทำให้ชุมชนหันมาสามัคคีกัน
@ปัญหาความยุติธรรมรุนแรงทุกพื้นที่ในไทยหรือไม่ หรือ ขึ้นอยู่กับพื้นที่ทางเศรษฐกิจของไทย
ไม่เท่ากัน ตอนนี้ ที่ผมห่วงใยมาก คือ การแย่งชิงทรัพยากร เป็นเรื่องใหญ่ ล่าสุดผมไปปักษ์ใต้มา เราเป็นห่วงเรื่องการค้าเสรีอาเซียนที่จะมาถึงในไทยไม่ช้า ทำให้พวกทุนใหญ่ๆ ซึ่งจะเข้ามาจ่อในไทย จะถือโอกาสเข้ามาซื้อที่ บุกรุกตามที่ต่างๆ โดยร่วมมือกับข้าราชการบางที่ เพราะราคาที่ดินบ้านเรา ไม่ค่อยสูงเท่าไร และทุนใหญ่ที่เป็นคนต่างชาติก็ไม่แคร์สังคมไทย จะเข้ามาใช้เงินซื้อแล้วแย่งชิงที่ดินจากชาวบ้านไปจำนวนมาก รวมทั้งผมเป็นห่วงว่า ธุรกิจของทุนใหญ่ต่างชาติที่เป็นอาเซียนด้วยกัน อย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ เข้ามาเมืองไทย ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กของชาวบ้านลำบาก ผมเชื่อว่า ที่ดินขนาดเล็กของชาวบ้าน เช่น สปก. จะต้องถูกเปลี่ยนมือไปให้ทุนต่างชาติ คนที่จะเสียโอกาสคือ คนเล็กๆ เกษตรกร ชาวบ้านทั้งหลาย
@ทิศทางที่เราจะผลักดันสังคมกระตุ้นเรื่องการสร้างความยุติธรรม จะทำอย่างไรในการร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ
ต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพียงแต่ว่า ในภาคประชาชนมันก็จะมี วาระของตัวเอง ต่างคนก็ต่างเคลื่อนไหวในทิศของตัวเอง เช่น พวกพี่น้องตอนนี้ก็เคลื่อนเรื่องไทยผลัดถิ่น อันนี้ก็เป็นเรื่องความยุติธรรมเหมือนกัน เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิความเป็นคนไทย ส่วนเรื่องความยุติธรรม ทุกคนมันโหยหาหมด แต่ไม่เคยมาผนึกกำลังกันเลย อันนี้ผมก็ยังไม่รู้ว่าจะสร้างขบวนการนี้อย่างไร
ผมคลุกคลีกับการทำอันนี้มาเกือบ 10 ปีก็ยังหากลุ่มที่เป็นแกนนำที่ผนึกกำลังกันยาวนานไม่ได้ เมื่อหลายปีก่อนผมเคยจัดเรื่องเกี่ยวกับความยุติธรรม โดยเอาคนทำงานเรื่องกระบวนการยุติธรรมเป็นเครือข่ายมาเจอกันเกือบ 80 คน ว่าเราอยากจะสร้างเครือข่าย อยากทำเรื่องกระบวนการไต่สวนผู้ต้องหาใหม่ เพราะเราใช้ระบบตั้งข้อหา เราต้องเปลี่ยนกระบวนการเป็นเหมือนศาลรธน. คือ กระบวนการหาความจริงก่อน แบบนี้ก็ต้องเกี่ยวข้องกับการปฏิรูประบบตำรวจ การสอบสวนมาเป็นระบบไต่สวน ซึ่งมันก็จะพัฒนาให้คนมีโอกาสเข้าหาความยุติธรรม ค้นหาความเป็นจริงมากขึ้น มันก็จะเกี่ยวข้องกับบทบาทของศาลอีกแหละ มีบางคนพูดว่า ตำรวจมีหน้าที่จับอย่างเดียว แต่ไม่มีหน้าที่มาสอบสวน ตั้งข้อหา ให้เป็นหน้าที่ของศาล และอัยการ ซึ่งอันนี้มันก็ตัวหนึ่ง แต่ยังไม่มีใครผลักดันจริงจัง
@ถ้าปัญหาความยุติธรรมได้รับการคลี่คลาย จะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมืองไทยอย่างไร
การตอบคำถามนี้เพื่อให้มีหลักฐานมายืนยันก็อยากให้ช่วยดูข้อมูลว่า ประเทศที่มีความยุติธรรมสูง อันดับต้นๆ คือประเทศสแกนดิเนเวีย สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมัน ฮอลแลนด์ เป็นกลุ่มประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมีน้อยมาก แล้วถ้าไปดูประเทศที่ใช้อำนาจเผด็จการ ก็จะปัญหาความเหลื่อมล้ำ และก็ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเพราะมันไปพันกับเรื่องนิติรัฐ นิติธรรม มันแยกไม่ออกอยู่แล้ว
สังคมเหล่านี้ก็มักจะมีพวกหัวรุนแรงเกิดขึ้นและก็มักจะมีลักษณะของการใช้ ความรุนแรงในการโค่นล้มและต่อสู้ ไปดูในแอฟริกา จะเห็นความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งมาจาก ความไม่เป็นธรรม เผ่านี้ได้ประโยชน์มากกว่าเผ่านี้ มันสู้ ฆ่ากันตาย หรือ ที่ไหนไม่มีความยุติธรรม แนวโน้มของความรุนแรงก็จะมาก การต่อสู้ก็จะถึงขั้นฆ่าตัวตาย ระเบิดพลีชีพไปดูเหอะ อย่างสแกนดิเนเวีย คดีที่เข้าสู่ศาลก็มีน้อย ความรุนแรงก็จะมีน้อย ความเหลื่อมล้ำก็มีน้อยมาก ฉะนั้น คนก็จะมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สังคมไหนที่แฟร์มากเท่าไร สังคมนั้นก็ยิ่งเจริญงอกงอมมากขึ้นในโลก สังคมไหนไม่ค่อยแฟร์กัน จะมีปัญหา เช่น การเอาเปรียบ ขูดรีดแรงงาน วันหนึ่งก็ระเบิด ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง
@ประเทศไทยก็พันไปยังกลไกราชการที่หมักหมม การจะแก้ปัญหา เราต้องอาศัยแรงระเบิดจากข้างนอก เช่น ภาคประชาชน เข้าไปกดดันภายใน
ใช่..แต่ก็ต้องมีคนภายในที่จะมาช่วยขานรับเราด้วย อย่างผมก็ไม่สามารถทำอะไรได้หลายๆ เรื่อง ถ้าปลัดยุติธรรม กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ไม่ให้ความร่วมมือ หลายๆ โครงการก็เกิดยาก เราก็ได้แต่ประท้วงไป ไม่สร้างสรรค์ ดังนั้นเราต้องสร้างนวัตกรรมทางกระบวนการยุติธรรมขึ้นมาได้ มันเป็นร่วมกันคิดเพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย ทางที่ดีคือ นั่งคุยกัน
ตอนนี้ผมทราบว่า นายฯอภิสิทธิ์จะจับเรื่องความยุติธรรมและเขาก็ปิ๊งเรื่อง ยุติธรรมชุมชน แต่เขาอยากจะทำพรึบเดียวทั้งประเทศ ซึ่งผมและพรรคพวกที่เคยทำเรื่องนี้ บอกว่า ไม่มีทาง ถ้าทำ ก็จะเละ เพราะจะไม่ได้ของดี มันจะไปยึดตำแหน่ง เช่น ถ้าตั้งยุติธรรมจังหวัดประกาศออกมา ก็จะมีพวกหากิน อยากจะได้เลื่อนขั้น พวกนี้ก็จะไม่ทำด้วยหัวใจทั้งที่งานนี้ต้องใช้ใจเมตตา กรุณา จะใช้อำนาจสั่งการไม่ได้ ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ เราก็อยากจะทำในพื้นที่ที่ความพร้อมในระดับหนึ่ง เพราะงานยุติธรรมชุมชนต้องเป็นการเรียนรู้ตลอดเวลาเพราะเป็นสิ่งใหม่ในสังคม ทดลองทำก็ไม่ใช่ได้100% หรอก มีทั้งสำเร็จ ไม่สำเร็จเลยก็มี เราก็ต้องมาดูว่า ทำไมทำได้ดีหรือสำเร็จ มันมีองค์ประกอบอะไรบ้าง
ที่ผ่านมาที่เราทำได้ดี เพราะเรามีการวิจัย เก็บบทเรียนต่างๆ และงานนี้ต้องมีข้าราชการที่เข้าใจ เพราะมีกระบวนการยุติธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง และต้องมีคนในชุมชน มีนักวิชาการ มีทนายที่อยากทำเรื่องนี้เพราะเราต้องใช้ทักษะการไกล่เกลี่ยของเขา ถ้าทดลองทำก็ต้อง 4 ภาคและสรุปบทเรียนให้เร็วและจะขยายพื้นที่ต่อที่ไหนได้อีก ซึ่งความเป็นชุมชนไม่ใช่เหมือนกันหมดนะ ชุมชนบางแห่งทำง่าย เพราะชาวบ้านเขาทำมาหากินรอบๆ ชุมชน เช่น ไปกรีดยาง แต่บางชุมชนก็ตื่นเช้าไปทำงานในเมืองและกลับบ้านตอนทุ่ม
ความจริงยุติธรรมชุมชน กรุงเทพก็ทำได้ แต่ส่วนมากต้องทำในสังคมสลัมเนื่องจากสังคมนี้ไม่มีรั้ว มันเห็นหน้าเห็นตากัน สลัมบางแห่งอยู่กันมาเป็นสิบปี แต่สลัมบางแห่งก็ย้ายเข้าย้ายออกบ่อย ดังนั้น ต้องศึกษาว่า ที่ไหนทำแล้ว เวิรค์ ส่วนคนชั้นกลางในคอนโด ทำยุติธรรมชุมชนได้ยาก เพราะนิสัยคนชั้นลางก เฮ้ย กูเก่ง กูแน่ กูรู้ดี กูต้องฟ้องมันเลย มันจะไม่ค่อยยอมกัน
@แสดงว่า ทิศทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจะดีขึ้น
เราโชคดีที่มีข้าราชการกระทรวงยุติธรรม เช่น ปลัดยุติธรรม ที่เข้าใจและมีหัวใจในเรื่องเหล่านี้ แต่สิ่งที่ลำบากหน่อยคือ ศาล ซึ่งผมเคยไปเทรนนิ่งกับผู้พิพากษา ก็ได้เห็นผู้พิพากษารุ่นใหม่ๆ ที่มีจิตใจดีอยู่ แต่ปัญหาของศาลคือ เขาทำงานเป็นอิสระ ฉะนั้น การทำงานเป็นทีมมันมีน้อย ความเป็นปัจเจกของศาลจึงมีสูง แต่เขาก็คงยินดี อยากมาร่วมมือ ส่วนอัยการผมไม่รู้ชัด ขณะที่ตำรวจ ยากมาก (เน้นเสียง) แต่ถ้ามีกระบวนการดีๆ เข้าไป ก็ช่วยได้มาก
อย่างไรก็ตามกระบวนการยุติธรรมชุมชน มันจะยืนอยู่บนกระทรวงยุติธรรมอย่างเดียวไม่ได้ เพราะกระบวนการยุติธรรมมันมีตั้งแต่ต้นน้ำ เมื่อด่านหน้าคือ ตำรวจ ด่านสองคืออัยการ ด่านสาม คือ ศาล แต่ต่อไปผมเห็นว่า ดีไม่ดี อาชีพที่สำคัญของทนายความอาจจะไม่ใช่ฟ้องร้องแล้วนะ แต่อาจจะเป็นเรื่องการไกล่เกลี่ย ซึ่งมันก็โอเค ทำให้เรื่องราวยุติเร็วได้ง่าย
ที่นี่ ปัญหา คือ ทำอย่างไรให้ยั่งยืน นี่เป็นความท้าทาย เรายังจัดการไม่ได้เลย ที่เห็นยังไม่พอ เนื่องจากงานประจำของข้าราชการด้วย แต่ถ้าจะทำต้องมีคนที่ยืนตลอด พูดง่ายๆ เหมือนกับทีมฟุตบอลที่ยั่งยืน เขาจะมีกระบวนการสร้างคนอย่างต่อเนื่อง เช่น บาร์ซ่า เล่นฟุตบอลมีสไตล์เพราะมีอะเคดิมีของตัวเอง ดังนั้น เราต้องสร้างระบบของกลุ่มคน มีงบ มีสถาบัน และการคัดเลือกคนเข้ามาทำงานต้องมีหัวใจ ไม่ใช่ใครจะมาทำก็ได้ งานพวกนี้เป็นงานพิเศษที่ต้องการจิตใจของคนที่ทนเห็นความทุกข์ของนอื่นไม่ ได้ สงสาร อยากจะช่วยเขาตลอด มันต้องมีไฟ เป็นทีมมาทำงาน ซึ่งตอนนี้เรายังมีไม่พอ