สัมภาษณ์ :::::: “อคิน รพีพัฒน์” ใต้เงายุติธรรม “ตั้งสภาประชาชนถ่วงดุล – จำกัดการถือครองที่ดิน”
ชีวิตของผู้คนเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกทำและเลือกที่จะเป็นได้ โดยห้วง 78 ปีที่ผ่านมาชีวิต “ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์” โอรสในหม่อมเจ้าเพลิงนภดล รพีพัฒน์ กับ หม่อมเจ้าหญิงทรงอัปสร กิติยากร ได้ พิสูจน์ให้เห็นอย่างแน่ชัดว่า การมีฐานันดรศักด์สูงส่งมิได้เป็นเส้นเขตแดนระหว่างชนชั้น การทำงานคลุกคลีกับชนชั้น “ถูกปกครอง” มากกว่าชนชั้น “ปกครอง” ที่อยู่ระดับเดียวกันในบทบาทนักวิชาการและประธานมูลนิธิชุมชนไทที่ผ่านมาจึง ทำให้ ม.ร.ว.อคิน เห็นว่า ชนชั้นรากหญ้าไม่เพียงเข้าไม่ถึงนโยบายของรัฐ แต่กลับถูกรัฐและคนของรัฐรังแก... “จนหาความยุติธรรมไม่ได้”
ในห้วงวัยของ “ไม้ใกล้ฝั่ง” ของ ม.ร.ว.อคิน จึงอุทิศเวลาด้วยการเข้าร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ซึ่งหวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการคิดหาและสร้างแนวทางที่จะเป็นธรรมให้กับผู้คน โดยเฉพาะความไม่เป็นธรรมในเรื่องที่ดินทำกินที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ทว่าการเข้าร่วมกับคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวก็ล่วงเข้าเดือนที่ 7 แล้ว ทว่าก็ไม่รู้ว่าจะเห็นผลมากน้อยแค่ไหน “ทีมงานศูนย์ข้อมูลปฏิรูปประเทศไทย” ได้นั่งคุยแบบเปิดใจกับ ม.ร.ว.อคิน ที่สวนโมกข์ กรุงเทพฯ ภายหลังการเสวนาวิชาการและการแสดงมุทิตาจิตหัวข้อ “78 ปี อคิน รพีพัฒน์...ตามหาความยุติธรรม” จบลง
@ ถึงตอนนี้อาจารย์ก็อายุ 78 ปีแล้ว ยังตามหาความยุติธรรมอยู่อีกหรือ
(หัวเราะ) ผมก็พยายามทำให้เกิดความเป็นธรรมที่เป็นหลักใหญ่เท่าที่จะทำได้
@ ความยุติธรรมที่จำเป็นต้องตามหา คือ อะไรบ้าง
ผมคิดว่า มีหลายเรื่อง ความจริงความไม่ยุติธรรม ความไม่เป็นธรรมมีหลายระดับ สิ่งที่เราเห็นชัดๆ คือ การที่ประชาชนถูกรังแก เราเห็นชัดเจนที่ อ.เวียงหนองล่อง (จ.ลำพูน) ที่อุทยานประกาศพื้นที่ทับที่ดินของชาวบ้าน พอถึงศาลชาวบ้านก็ถูกจำคุก นี่ถือเป็นความไม่เป็นธรรมอย่างหยาบ เพราะความไม่เป็นธรรมมีอยู่มากและลึกซึ้งกว่านั้น โดยเฉพาะนโยบายของรัฐที่พยายามจะพัฒนาแต่ตรงกันข้ามกลับไปทำความลำบากให้กับ คนในพื้นที่ เช่น การที่รัฐส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นพิษและเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนไปขุดแร่ แล้วสร้างมลพิษให้กับชุมชน ตรงนี้เห็นได้ชัดว่า รัฐให้ความสำคัญกับส่วนกลางหรือความสำคัญของความร่ำรวยของรัฐะอย่างเดียว แต่เวลาเดียวกันรัฐก็ทำความลำบากให้แก่คนในท้องถิ่นมาก
อย่างการสร้างเขื่อนสิริธร อ.โขงเจียม (จ.อุบลราชธานี) นี่ก็ชัดเจนมาก ผมเคยไป คือ เขาสร้างเขื่อนขังน้ำ แล้วก็ปล่อยให้น้ำท่วมที่ดินของชาวบ้าน จากนั้นก็บอกให้ชาวบ้านต้องเสียสละเพื่อส่วนรวมด้วยการย้ายชาวบ้านไปอยู่ที่ นิคม ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้ๆ กับพื้นที่เดิม แต่ปัญหา คือ ที่ดินที่ย้ายไปอยู่เป็นดินกรวด อยู่บนเขา ที่ไม่สามารถทำกินได้ อย่างนี้มันก็ไม่ยุติธรรม
@ การบอกให้คนกลุ่มน้อยต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ โดยหลักแล้วรัฐอ้างแบบนี้ได้หรือไม่
ถ้าเผื่อจะทำให้เกิดความยุติธรรม ของพรรค์นี้ต้องเป็นธรรมด้วย ต้องปรึกษาหารือและคุยกับเขาก่อนสร้าง เมื่อสร้างแล้วก็ต้องทำให้เกิดความคุ้มกันกับสิ่งที่เขาเสียไป เหมือนกับการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ ของรัฐ ในต่างประเทศฝรั่งค่อนข้างจะชอบการเวนคืน เพราะได้รับค่าชดเชยที่คุ้มกัน แต่ของเราเอาเปรียบมาก คือ เวนคืนแล้วก็ไม่คุ้มกันเลย มีแต่ทนทุกข์ทรมานทั้งนั้น อย่างตอนที่เขาขุดคลองระบายน้ำแห่งหนึ่งเขาก็ไปหาชาวบ้าน คิดตีราคาให้ชาวบ้าน สุดท้ายก็หายไป ชาวบ้านก็ไม่ได้เงิน ตอนนั้นมีคนที่ได้เงินไป แต่ไม่ใช่ชาวบ้าน อย่างนี้มันไม่ยุติธรรมเลยแบบนี้
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การออกโฉนดที่ดินที่จ.อุบลราชธานีที่ชาวบ้านเขาอยู่มาดีๆ วันหนึ่งกลับมีคนอ้างว่า ที่ดินตรงนั้นมีโฉนดแล้ว มันเหมือนกับการลำเอียง เป็นการประสานระหว่างนักธุรกิจที่ร่ำรวยแล้วไปร่วมมือกับข้าราชการที่ คอรัปชั่นทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น หรือแม้แต่นโยบายการท่องเที่ยวก็สร้างความลำบากให้กับชาวบ้านในหลายพื้นที่ เหมือนกัน คนไทยไม่ค่อยรักชาติ ไม่รู้สึกว่าพวกเรากันเองจะต้องช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกัน แต่กลับมาเอาเปรียบกัน คนที่เป็น Elite หรือเป็นฝ่ายปกครองก็ไปหากินกับฝรั่ง เอาฝรั่งมา เอาเปรียบคนไทยเยอะ (นิ่งเงียบ).....เยอะ
@ การที่นายทุนร่วมมือกับข้าราชการมาเอาเปรียบชาวบ้าน ถือว่าได้ยินมานาน แต่กลับแก้ไขไม่จบเสียที อาจารย์มีข้อเสนอหรือไม่
อ่า...เรื่องการแก้นี่มันลำบาก ผมคิดว่า มีทางเดียว คือ เราต้องเห็น ต้องไปจับ ไปสัมผัส พวกเราในคณะอนุกรรมการเรื่องที่ดิน (ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย) ได้ลงพื้นที่ไปดูว่าชาวบ้านมีปัญหาอะไรบ้าง ถือเป็นการให้กำลังใจชาวบ้านที่ อ.เวียงหนองร่อง เพื่อให้เขายืนหยัดเพื่อสิทธิของเขาเอง ตอนนั้นเราเห็นชาวบ้านที่มีปัญหาเรื่องที่ดินมารวมตัวกันเยอะเลย เมื่อเกิดการรวมตัวกันก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันถือเป็นการสร้าง พลังอย่างหนึ่ง เมื่อเขารวมตัวกันเสียงเรียกร้องก็จะแรงขึ้น ตอนที่เราลงไปสื่อมวลชนก็จะตามไปด้วย แล้วสื่อก็จะนำมาเสนอให้คนทั่วไปได้รับทราบ ถือว่าได้ทำให้คนมองเห็นและเห็นใจคนที่ลำบากและถูกเอาเปรียบมากขึ้น ถ้าเราสามารถสร้างตรงนี้ได้ก็จะเป็นพลังกดดันรัฐบาลและกดดันคนที่เอาเปรียบ คนอื่นทำให้เขารู้สึกว่าการกระทำของเขาว่า เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง บางทีเขาก็ไม่รู้ว่ามันไม่ถูก เพราะเขาก็ต้องหากำไรให้มากที่สุดเท่าที่จะหาได้
@ การสร้างกระแสผ่านสื่อมวลชน ถือเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดพื้นที่ให้กับถูกเอาเปรียบให้มีอำนาจต่อรอง แต่อาจารย์มองว่า มีช่องทางอื่นอีกหรือไม่ที่จะทำให้คนที่ถูกเอาเปรียบน้อยลงหรือไม่ถูกเอา เปรียบเลย
กฎหมายก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง แต่ผมคิดว่ากระบวนการยุติธรรมเรามีปัญหา... อย่างที่เรารู้กันโดยทั่วกัน อย่างแรกเลยก็ตำรวจ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาของทุกอย่างเลย คือ การคอรัปชั่นในระบบราชการ เลยทำให้ทุกคนทำงานให้คนรวยและบริษัทต่างชาติเสียส่วนใหญ่ ถ้ามีคนคอรัปชั่นแล้วสื่อตรวจสอบและเผยแพร่การกระทำนั้นมาก ๆ ก็จะรู้สึกพวกเขาลำบากใจที่จะทำได้เหมือนกัน
นอกจากนี้ผมคิดว่า การเรียกร้องผ่านการเคลื่อนไหวของประชาชนก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง แต่เวลาพูดถึงการเดินขบวนหรือการอึดอัดจากการทำงานของรัฐบาลแล้วออกมาเดิน ขบวนคนอาจจะไม่ชอบ แต่ความจริงการเดินขบวนมันมีผลทางบวกอยู่นะ (หัวเราะ) มันทำให้คนรู้สึกว่า มีอะไรที่ผิดปกติ ยิ่งไปกว่านั้นก็ทำให้รัฐบาลรู้สึกด้วย เมื่อเกิดการเดินขบวนขึ้นผมคิดว่า คนไทยชอบการประนีประนอม เมื่ออีกอย่างเรียกร้องอะไรแรงๆ รัฐบาลถ้ายอมได้ก็ยอม ซึ่งเราเรียกว่า การผ่อนปรน ถือเป็นลักษณะการปกครองของไทยที่มีมานาน ผมคิดว่าหากมีกระแสจะทำให้อีกฝ่ายผ่อนปรนและจะช่วยเหลือจากความเดือดร้อน นั้น ซึ่งถือเป็นความหวัง แต่การจะผ่อนปรนหรือไม่เนี่ยะ!! ต้องประเมินกำลังกัน อีกฝ่ายถึงจะผ่อนปรน ดังนั้นการผ่อนปรนจึงขึ้นอยู่กับการวัดระดับของพลังอยู่เหมือนกัน
@ มองว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนถือเป็นการส่งสัญญาณบวกให้กับรัฐบาล
ผมคิดว่ามันดี (ตอบทันที) ดีสำหรับรัฐบาลสิ เพราะหากไม่มีการเคลื่อนไหวแล้วก็จะมีการคุกรุ่นอยู่ข้างใน มันจะเกิดความรุนแรงมาก ผมอยากให้มีการเคลื่อนไหวแต่ไม่รุนแรง ให้ผ่อนปรนได้
@ ในช่วงชีวิตของอาจารย์ได้ช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนจากความไม่เป็นธรรม เรื่องที่ดินก็มาก แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังเข้าไม่ถึงโอกาสนั้น ถ้าพวกเขาเหล่านั้นต้องลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว อาจารย์เห็นด้วยหรือไม่
ผมอยากให้มีการเคลื่อนไหวเยอะ ๆ ตราบใดที่พวกเขาไม่ทำอะไรรุนแรง การเคลื่อนไหวถือเป็นของดี ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสื่อด้วย สื่อมีความสำคัญมากที่จะดึงคนทั่วไปเข้ามาร่วมด้วยและแสดงความเห็นใจต่อ ประเด็นนั้น
@ ขณะเดียวกันก็มีคนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน เพราะสร้างความลำบากให้กับคนอื่น มีแนวทางอื่นหรือไม่ที่จะไม่ทำให้พวกเขาออกมาใช้ถนนประท้วง
ผมคิดว่าเขาเคลื่อนไหวได้ คุณจะสังเกตุได้ตอนที่เสื้อแดงเข้ามากรุงเทพฯ ใหม่ๆ คนเขาเห็นด้วยและออกมาต้อนรับใช่ไหม (เสียงสูง) เขาต้อนรับและดี แต่มาเสียตรงที่มาก่อความลำบากให้ในช่วงหลังๆ ถ้าเขาเคลื่อนไหวแล้วอยู่เงียบๆ ไม่สร้างความลำบากให้กับคนอื่น ไม่ปิดราชประสงค์ ไม่ใช้ความรุนแรง คนก็เอื้ออาทร เพราะคนขี้สงสาร แต่พอใช้ความรุนแรงที่ราชประสงค์คนก็ยิ่งรู้สึกมาก
วันก่อนผมฟังอาจารย์ท่านหนึ่งพูดเรื่องความรักชาติ ซึ่งผมชอบมาก ๆ (เน้นเสียง) อาจารย์บอกว่า เมื่อก่อนคนไทยมีความรักชาติ แต่ไม่ใช่รักแบบหลงชาติ ความรักในที่นี้ คือ การที่มีความรู้สึกว่าจะต้องทำอะไรเพื่อเพื่อนเราและเราจะทำงานให้กับกลุ่ม คนนั้น แต่เดี๋ยวนี้มีลักษณะหนึ่งที่น่ากลัว โดยเฉพาะมีพวกหลังสมัยใหม่หรือนักวิชาการสมัยใหม่ที่ไปเรียนเมืองนอกมา แล้วโดนย้อมและถูกล้างสมองมาพอสมควร คิดว่า International ไม่มีประเทศแล้ว โอ๊ย!!! มันไม่จริง ถ้าคุณไปศึกษาจริงๆ ไม่ว่าสหรัฐอเมริกาหรือญี่ปุ่น เขาก็มีความรักชาติ เขาคิดถึงประเทศเขาก่อนทุกครั้ง แต่บางทีเขาก็ซ่อน ๆ มา ก็ไม่ค่อยรู้ชัด แต่นักวิชาการเหล่านั้นกลับบอกว่า อย่ารักชาติ ผมก็ไม่รู้จะว่ายังไง
@ อาจารย์เคยเสนอว่า แนวทางหนึ่งในการแก้ไขความไม่เป็นธรรมทางสังคม คือ การตั้งสภาประชาชน แนวคิดเรื่องนี้เป็นยังไง
เหตุที่ผมคิดถึงเรื่องนี้ เพราะคิดว่าประเทศไทยเราควรมีอีกองค์กรหนึ่งมาแก้ไขปัญหาระดับโครงสร้าง เพราะรัฐสภาไทยมีเยอะมาก มีเรื่องการซื้อเสียง มีเรื่องระบบอุปถัมป์ และคนไทยก็มีทัศนะคติที่ต้องการพึ่งพิงสูง ชาวบ้านเองก็มีทัศนะที่จะพึ่งพิงคนที่สูงกว่าตลอดเวลา ซึ่งมันลำบาก ขณะเดียวกันข้าราชการหรือฝ่ายปกครองเขาก็ไม่ไว้ใจชาวบ้าน เขาคิดแต่จะโอบอุ้มชาวบ้าน ( เน้นเสียง) คิดแต่ว่าชาวบ้านจะคิดผิดตลอดเวลา เขาจึงคิดแต่จะควบคุม มันจึงมีปัญหามาก ผมคิดว่าเวลานี้เรามีชุมชนหลายแห่งมีเครือข่ายชุมชนที่พึ่งตัวเองได้ สามารถหลุดพ้นการพึ่งพิงที่ไม่ต้องอาศัยผู้ใหญ่ คนเหล่านี้หากเขามารวมกันได้เกิดการพึ่งพาตัวเองได้จะเป็นเรื่องดี แล้วเครือข่ายเหล่านี้ควรเลือกตัวแทนของตัวเองขึ้นมาทำหน้าที่สภาประชาชน เพื่อทำหน้าที่คู่ขนานไปกับรัฐสภา (มีเพลงชาติดังขึ้น อาจารย์ถามว่า เราต้องยืนไหม หัวเราะ)
เพราะผมคิดว่าเรามีวุฒิสภา แต่กลับมาจากกระบวนการการเลือกตั้งเหมือนสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นการทำหน้าที่จึงไม่แตกต่างกัน สุดท้ายวุฒิสภาก็กลายเป็นพวกเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ทำไมเราไม่เอาสภาที่ไม่ได้มาจากการต้องเลือกตั้งโดยทั่วไป แต่เอาจากผู้แทนของเครือข่ายต่างๆ ที่เรามีอยู่เอาเข้ามาเป็นสภาสูง แทนที่จะเป็นวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อเกิดสภาประชาชนขึ้นก็จะเกิดการคานกันได้
@ กระบวนการคัดเลือกหรือกระบวนการให้มาซึ่งสภาของประชาชนจะต้องเริ่มต้นจากตรงไหน มีขอบเขตอำนาจหน้าที่อย่างไร
เราต้องดูว่าตอนนี้มีองค์กรเครือข่ายชาวบ้านจากที่ไหนบ้าง แล้วให้เครือข่ายเหล่านั้นเสนอผู้แทนเข้ามาตามจำนวนที่กำหนด แล้วให้เครือข่ายเหล่านั้นเขาคัดเลือกกันเอง แล้วก็เอามารวมกันเป็นสภา ผมอยากให้เขาทำหน้าที่เป็นสภาสูงคอยเหนี่ยวรั้งสภาผู้แทนราษฎรในลักษณะเป็น ดุลภาพเหมือนกับวุฒิสภา เวลานี้การเลือกตั้งยังมีปัญหามากในหลายๆ แห่ง ไม่ใช่ทั้งหมด แต่อีก 10 ปีข้างหน้ามันอาจจะปรับตัวของมันเองได้ เพราะประชาชนจะเริ่มพึ่งตัวเองมากขึ้น การเลือกตั้งก็จะใช้ได้ แต่ตอนนี้มันน่าจะมีอะไรที่คานไว้ก่อน
@ การจัดตั้งสภาฯ นี้จำเป็นต้องมีกลไกกฎหมายออกมารองรับเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมหรือไม่
เรื่องนี้ อ.บรรเจิด (สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้า) เคยคิดไว้ว่า เรื่องนี้น่าจะไปอยู่ในรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป ท้ายที่สุดผมก็คิดว่าการจะจัดตั้งสภาฯ ขึ้นมาต้องมีกฎหมายออกมารองรับ ผมไม่แน่ใจว่าสมัชชาปฎิรูปประเทศ ที่มี อ.ประเวศ (วะสี ราษฎรอาวุโส) จะดำเนินงานได้อย่างไร อยากเห็นเหมือนกัน อาจจะเป็นแบบเดียวกับที่เราคิดก็ได้ มันอาจจะเป็นความคิดใกล้เคียงกันก็ได้ ความจริงผมอยากให้สภาประชาชนไม่ใช่เป็นการขนานไปกับสภาผู้แทนราษฎรอย่าง เดียว แต่อยากให้มีในท้องถิ่นที่ทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบการทำงานของ อบต. อบจ. ด้วย แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องยาก
@ มองว่าหากมีสภาประชาชนความเดือนร้อนหรือความอยุติธรรมในพื้นที่จะได้รับการเยียวยามากขึ้น
ถูกต้อง เพราะมันกระจายในทุกชุมชน ทุกท้องถิ่น อย่างน้อยเขาจะมีเสียงและมีบทบาทมากขึ้น
@ ในความหมายของอาจารย์สภาประชาชนจะเป็นเหมือนศูนย์กลางการร้องเรียนความไม่ เป็นธรรมในพื้นที่และขณะเดียวกันก็จะตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐไปในตัว ใช่หรือไม่
สภาประชาชนในระดับเดียวกับสภาผู้แทนราษฎรจะต้องสร้างดุลยภาพระหว่างสภา ประชาชนกับสภาผู้แทนราษฎร คือ นอกจากตรวจสอบการทำงาน ส.ส.ที่หากินหรือหาผลประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองหรือพวกพ้อง ซึ่งจะทำให้พวกเขาเหล่านั้นละอาย และจะทำอะไรลำบากมากขึ้น ในระดับอื่นก็เช่นเดียวกัน สภาประชาชนในพื้นที่จะต้องสร้างดุลยภาพระหว่างราชการกับประชาชนได้ดีขึ้น แต่เรื่องนี้ยังไม่ได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวางอย่างในคณะกรรมการปฏิรูป ประเทศไทยที่ผมร่วมเป็นกรรมการอยู่ ผมก็เคยนำบทความของผมไปให้ท่านอานันท์พิจารณา แต่ท่านก็ยังไม่ได้พูดอะไร
@ บางคนอาจจะเห็นว่า ควรมี แต่บางคนอาจจะมองว่าเป็นการทำงานซ้ำซ้อนหรือไม่
ผมไม่รู้ ผมก็เดาไม่ถูก แต่มันก็เงียบๆ ไป
@ หลังจากไปร่วมทำงานกับคปร. เห็นความก้าวหน้าในการคิดแนวทางลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมอย่างไรบ้าง
เอ่อ..(นิ่งคิด) ทิศทางของ คปร. ผมบอกได้อย่างเดียวว่า กรรมการฯ มีหลายความคิดมากๆ หลายคนมีพื้นฐานแตกต่างกัน Back ground (ภูมิหลัง) ก็แตกต่างกัน มีการคุยกันมากและมีการโต้เถียงมากๆ ด้วย (เน้นเสียง) อันนี้มันจะออกมาอย่างไร เราจะต้องดู...ผมคิดว่าเดือนกุมภาพันธ์นี้ออกแน่ แต่จะออกอย่างไร คุณก็คอยดูแล้วกัน (หัวเราะ)
@ การขับเคลื่อนของคณะอนุกรรมการปฏิรูปที่ดินที่อาจารย์ดูแลอยู่จะออกมาในรูปแบบไหน
ที่แน่นอนที่สุดและเข้าใจว่าจะผ่านความเห็นของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศชุด ใหญ่แน่ๆ คือ การจำกัดขนาดการถือครองที่ดิน เพราะเราพบว่ามีคนซื้อที่ดินไว้เก็งกำไรมีมาก นอกจากนี้เราจะเสนอให้มีการตั้งธนาคารที่ดินให้รัฐออกพันธบัตรรัฐบาลซื้อ ที่ดินจากคนที่ครอบครองที่ดินเกินอัตราการครอบครองมาเป็นของรัฐเพื่อให้รัฐ นำมาพิจารณาแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ไม่ดีที่ดินทำกิน เรื่องนี้ อ.เพิ่มศักดิ์ (มกราภิรมย์ กรรมการ คปร.) เป็นคนดูแล
@ แนวคิดการให้รัฐออกพันธบัตรรัฐบาลซื้อที่ดินเกิดจากตรรกะอะไรของสังคมไทย ทำไมจะต้องทำเช่นนั้น
คุณก็รู้ดีว่า คนที่ครอบครองที่ดินมีเพียง 10 % เท่านั้น ตรงกันข้ามคนไม่ดีที่ดินทำกินกลัมมีมโหฬาร หรือประมาณ 7- 8 แสนครอบครัว และมีที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่คนเขาซื้อไว้เก็งกำไรมีอยู่จำนวนมาก เราต้องนำมาใช้ประโยชน์
@ ตรงนี้จะสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่นายกฯ (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ประกาศผ่านรายการเชื่อมั่นประเทศไทยในการผลักดันนโยบายประชาวิวัฒน์เรื่อง การจัดการที่ดินทำกินให้ประชาชนใช่หรือไม่
ใช่ (ตอบทันควัน) ผมคิดว่ามันสอดรับกัน
@ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่รัฐจะตั้งธนาคารที่ดินและออกพันธบัตรรัฐบาลมาซื้อที่ดินของคนรวยเพื่อนำไปช่วยคนจน
(นิ่งคิดนาน)..เอ่อ ผมคิดว่ามันต้องออกกฎหมาย ผมไม่คิดว่ากฎหมายมันจะผ่านไปได้มากน้อยแค่ไหน ผมไม่รู้เหมือนกัน ๆ (เสียงแผ่ว)
@ หากแนวคิดเหล่านี้ผ่านและสามารถปฏิบัติได้จริง ประชาชนจะได้อะไรจากแนวคิดนี้
ที่ดินจะกระจายไปถึงมือของคนที่นำไปใช้ประโยชน์จริงๆ ประชาชนก็จะมีที่ดินทำกิน มันจะกระจายออกมา แล้วก็มันจะสอดคล้องกับ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ....ที่รัฐบาลกำลังผลักดันอยู่
@ มองว่าหากกระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นจริง ความเหลื่อมล้ำหรือความอยุติธรรมในสังคมไทยจะลดน้อยลงหรือไม่
เอ่อ...ผมคิดว่ามันจะดีขึ้น แต่มันคงไม่หายไปมากนัก แต่ผมยังไม่ค่อยแน่ใจ เพราะปัญหาความไม่เป็นธรรมมันเกิดขึ้นตามหย่อมต่างๆ หลายพื้นที่ แต่เรื่องที่เรากำลังจะเสนอขึ้นไปมันเป็นเรื่องใหญ่ที่จัดการอยู่ข้างบน ผมไม่แน่ใจว่ามันจะแก้ไขในระดับพื้นที่ได้มากน้อยแค่ไหน อีกอย่างผมก็ไม่รู้ว่า เมื่อเสนอไปรัฐบาลจะทำหรือเปล่า
@ ในขณะที่อาจารย์ยังแข็งแรงและยังมีชีวิตอยู่ ยังพอมีความหวังกับการขจัดความอยุติธรรมและสร้างความเสมอภาคให้ทุกคนในสังคม ได้มากน้อยแค่ไหน
(นิ่งคิดนาน)....ถ้าเผื่อ...เอ่อ...ผมก็ยังพอมีหวัง แต่มันก็อาจไม่เกิดขึ้นภายในชีวิตผม เพราะชีวิตผมก็คงอยู่ได้อีกไม่กี่ปี (หัวเราะ) น้อยมากแล้ว ผมอาจจะช่วยกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเพื่อให้เกิดความยุติธรรมขึ้นแต่ว่าจะ สำเร็จนั้นก็คงอีกนาน
@ ถึงตอนนี้อาจารย์ก็ยังมีหวังว่า คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทางสังคมจะได้รับความยุติธรรมมากขึ้น
ผมหวัง ผมคิดว่าจะมี (ยิ้ม) ผมคิดว่าจะมีอย่างน้อยชาวบ้านตามที่ต่างๆ ก็เริ่มรู้สิทธิของตัวเองมากขึ้น เมื่อเขารู้จักสิทธิ เขาก็จะป้องกันและรักษาสิทธิของตัวเอง เพราะตอนนั้นความเป็นธรรมจะมาเอง ซึ่งไม่รู้ว่าจะมาอย่างรุนแรงหรือไม่รุนแรง สำหรับผมไม่อยากให้ออกมาแบบรุนแรงแต่ต้องทำให้รัฐได้รู้ว่าควรผ่อนปรนและรับ ข้อเสนอเพื่อการเปลี่ยนผ่านของการแก้ไขปัญหา