ปาฐกถา:::รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข:ที่มาและที่ไป"
วันที่ 10 มกราคม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาประจำปีคณะรัฐศาสตร์ 2554 "เมืองไทยหลังวิกฤติ?:ทิศทางการเมือง การบริหาร และการต่างประเทศ" ณ หอประชุมศรีบูรพา (หอเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยรศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถานำ หัวข้อ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข:ที่มาและที่ไป"
ช่วงแรกรศ.ดร.เกษียร กล่าวถึงบรรยากาศทางการเมืองช่วงที่ผ่านมา ไม่ค่อยเอื้อเฟื้อต่องานวิชาการเท่าใดนัก ด้านหนึ่งบรรยากาศก็ระอุไปด้วยคนโกรธ เกลียด อีกด้านหนึ่งบรรยากาศก็เต็มไปด้วยความหวาดระแวง มองคนอื่นไม่จงรักภักดี เหล่านี้ทำให้พื้นที่เสรีภาพ ประชาธิปไตยที่มีเหตุผลทางวิชาการในสังคมไทยเราถูกกระชับ หดแคบลงไปอีก
"การที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญผมมาปาฐกถาในหัวข้อที่สำคัญ และเข้าใจสถานการณ์แห่งความขัดแย้ง เปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองครั้งนี้ จึงนับเป็นการแสดงจุดยืน ยึดมั่นในเสรีภาพทางวิชาการ เป็นความกล้าหาญทางปัญญาที่น่าชื่นใจ"
รศ.ดร.เกษียร กล่าวถึงที่มาของปัญหาว่า เริ่มจากที่มีการพูดถึงกันมาก คือเรื่องการปรองดอง เช่นเดียวกับมีการพูดเรื่องการปรองดองทางการเมืองกันมาก แต่ประเด็นสำคัญไม่ใช่เรื่องการปรองดองทางการเมืองเท่ากับการปรองดองกับประชาธิปไตย แก่นแท้ของปัญหาการปรองดองทางการเมืองท่ามกลางความขัดแย้งของระบบการเมืองไทยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2548 2549 เป็นต้นมา คือการปรองดองของชนชั้นนำในระบอบประชาธิปไตย หรือชนชั้นนำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง กับระบอบประชาธิปไตย
"คำถามกลับคือว่า ชนชั้นนำเดิมนำภายใต้บทบาทใหม่ จะหาทางบริหารจัดการ กับสูญเสียอำนาจอธิปไตยได้อย่างไรจึงจะประนีประนอมกับระบอบใหม่ และยังคงรักษากลไก ผลประโยชน์สำคัญไว้ของตนไว้ได้"
ส่วนงานค้นคว้าวิจัย "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" รศ.ดร.เกษียร กล่าวว่า ได้ค้นคว้าเรียบเรียงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของระบอบการเมืองไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมาในด้านโครงสร้างการเมืองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ บทบาทหน้าที่และยุทธศาสตร์ยุทธวิธีการเคลื่อนไหว รวมทั้งสัมพันธ์ภาพทางอำนาจและปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองของชนชั้นนำกลุ่มฝ่ายต่างๆ เป็นอย่างไร โดยพยายามจัดระเบียบดูในแง่ประวัติศาสตร์ตามลำดับเวลาคร่าวๆ แบ่งออกมา ที่มาของสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย ออกมาเป็น 5 ช่วง ตามลักษณะของพลังนำ เนื้อหาและวิธีการปรองดองกับประชาธิปไตย
"เริ่มจาก 1.ระบอบประชาธิปไตยภายใต้การนำของคณะราษฎร (พ.ศ.2475) 2.ระบอบประชาธิปไตยอันสะพรั่งพร้อมด้วยสามัคคีธรรมตามรัฐธรรมนูญ (เป็นคำของอาจารย์ปรีดี) 3.ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (พ.ศ.2492) 4.ระบอบประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาฯ และ 5.ระบอบกึ่งประชาธิปไตย ใต้ทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยชี้ให้เห็นวิกฤตและความท้าทายต่อระบอบปัจจุบัน รวมทั้งแนวโน้มปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต"
รศ.ดร.เกษียร กล่าวถึงความพยายามจัดระเบียบเสียใหม่ โดยตั้งข้อสังเกตวิเคราะห์เปิดพื้นที่ให้สามารถอภิปรายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อไปข้างหน้าได้อีก ว่า แต่ละจุดแต่ละช่วงมีความเข้าใจถูกต้องหรือผิดพลาดอย่างไร......
ในช่วงท้าย รศ.ดร.เกษียร สรุปว่า วิถีการปรองดองผ่านรัฐไทย ภายใต้ระบอบกึ่งประชาธิปไตย ใต้ทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั้นไม่เวิร์ก จากนั้น ได้อ่านบทปาฐกถา "ที่ไปของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฤาย้อนรอยสู่โจทย์เดิม?"
"หลังการเลือกตั้งทั่วไป 23 ธันวาคม พ.ศ.2550 ไม่นาน ผมได้เสนอแนะไว้ว่า เพื่อให้คนต่างกลุ่มต่างชนชั้นสามารถทะเลาะกันได้อย่างสันติ และเพื่อให้การเมืองเรื่องชนชั้นในสังคมไทยดำเนินไปได้ตามวิถีทางประชาธิปไตย ในเงื่อนไขดำรงอยู่ที่พูดถึงทุกฝ่ายพึงธำรงรักษาและปกป้องไว้ได้ มี 3 ข้อ
1.กองทัพต้องไม่ใช้กลไกเข้าแทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง 2.ทุกฝ่ายต้องไม่ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือกำจัดคู่ขัดแย้งทางการเมือง 3.ทุกฝ่ายต้องช่วยกันพิทักษ์ปกป้องและขยับขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพกับพื้นที่ประชาธิปไตย อันเป็นสิทธิร่วมทางการเมือง
ทำ 3 อย่างนี้ได้ผมว่าเรามีสิทธิทะเลาะกันอย่างสันติได้ เห็นได้ชัดว่า การคลี่คลายขยายตัวของสถานการณ์บ้านเมืองรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ดำเนินไปในทิศทางตรงข้ามกับเงื่อนไขข้างต้นด้วยเหตุปัจจัยภายนอกและภายในสถาบันการเมืองการปกครองที่เกี่ยวข้อง
ไม่เพียงแต่มีการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามความขัดแย้งทางการเมืองโดยตรงรุนแรงยิ่งขึ้น ยังมีการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นข้ออ้าง เพื่อโค่นล้างปฏิบัติการบางอย่างเปิดเผย ล่อแหลม หากการกระทำดังกล่าว คือการใช้กำลังทหารในการแก้ไข ยังเป็นลักษณะที่บ่อนทำลาย และกระชับพื้นที่ ทั้งพื้นที่สิทธิเสรีภาพ และพื้นที่ประชาธิปไตยของประชาชนหนักหน่วงยิ่งขึ้นไปอีก
และบ่อยครั้งด้วยข้ออ้างความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ จากการสั่งสมเชิงปริมาณทีละเล็กทีละน้อย โดยอาจไม่รู้เนื้อรู้ตัวในระยะเริ่มแรก ทว่านับแต่มีการจลาจลปราบปราม รัฐประหาร7 ตุลาฯ 2551 เป็นต้นมา (ที่พันธมิตรฯ โดน น้องโบว์เสียชีวิต) ผลลัพธ์โดยรวมของการที่ฝ่ายต่างๆ ละเมิดฝ่าฝืนเงื่อนไขปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ก็มีการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ ทำให้สถานะที่อยู่เหนือการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ และส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรง ตามในพระราชดำริขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงสรุปไว้ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้รับความกระทบกระเทือน แผ่กว้าง อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
(แนว พระราชดำริเกี่ยวกับบทบาทพระมหากษัตริย์ ในระบอบประชาธิปไตยหลัง 16 ตุลาฯ ซึ่งมาจากปากคำของหม่อมราชวงศ์ทองน้อย ทองใหญ่ ว่า ในหลวงเคยตรัสกับท่านอย่างนั้นว่า จำไว้ว่า สถาบันจะลงไปเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวได้ เมื่อเกิดสูญญากาศทางการเมืองจริงๆ อย่าง 14 ตุลาฯ แต่เมื่อก้าวไปจัดการช่องว่างดังกล่าวหมดไปแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องรีบกลับไปอยู่เหนือการเมืองอย่างเดิมโดยเร็วที่ สุด เพื่อที่จะได้พร้อมลงไปช่วยได้อีก ถ้าเกิดสุญญากาศขึ้นมาอีก ทั้งนี้หมายถึงส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย)
จากนี้เงื่อนปมและการรักหมดหัวใจระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับอาณาประชาราษฎร์ ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา ในทรรศนะของหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ อันตั้งอยู่บนการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เริ่มทรงราชย์ ต่อเมื่อเลิกทรงรัฐ เลิกทรงว่าราชการแผ่นดิน ก็พลอยกระทบกระเทือนตามไปด้วย
เหล่านี้มีส่วนสำคัญเป็นผลสืบเนื่องจากการเดินตามแนวทางปรองดองกับประชาธิปไตย ผ่านวิธีการรัฐประหาร ในระบบกึ่งประชาธิปไตย ใต้ทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา
หากกลุ่มชนชั้นทางการเมืองในปัจจุบันดื้อรั้น ยืนกรานเดินวิถีทางแนวนี้สืบต่อไป ก็น่ากลัวว่า จะทำให้เส้นแบ่งทางการเมืองการปกครองในลักษณะแบ่งยุคแบ่งสมัย ระหว่างทรงราชย์ กับทรงรัฐ ที่ช่วยค้ำจุนและรักษาความมั่นคงปลอดภัยและสถานะอันเป็นที่รักยิ่งในหมู่อาณาประชาราษฎร์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทำให้เส้นแบ่งระหว่างทรงราชย์ กับทรงรัฐ นั้น เลือนจางเสื่อมไป
ในกรณีดังกล่าว สังคมการเมืองไทยก็เสมือนหนึ่งหันหลัง กลับตาลปัด เดินย้อนรอยสู่จุดเดิมทางการเมืองการปกครอง ที่เราเคยเผชิญและผ่านพ้นมันมาแล้ว เมื่อเกือบ 80 ปีก่อนอีกครั้ง"
ส่วนข้อความ 2 ตอน ที่รศ.ดร.เกษียร ขออนุญาติไม่แปล สามารถฟังได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=C0JWLFqQmzk