ปาฐกถา:::::ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล “การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจในประเทศไทย ความจำเป็นแห่งยุคสมัย”
วันที่ 18 ธันวาคม ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กรรมการปฏิรูป ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจในประเทศไทย ความจำเป็นแห่งยุคสมัย” ในงานเปลี่ยนประเทศไทยด้วยพลังพลเมือง จัดโดยทีวีไทย ณ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (อาคารยิมเนเซี่ยม 1)
ดร.เสกสรรค์ กล่าวว่า “หัวข้อใหญ่ที่เราจะพูดคุยในวันนี้ ด้านหนึ่งก็เกี่ยวข้องกับการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง การเมืองเหมือนกัน อีกด้านหนึ่งเกี่ยวข้องกับการอาศัยพลังพลเมืองขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ประการหลังนับเป็นประเด็นสำคัญ นับเป็นปัญหาใหญ่ เพราะมันไปสวนทางกลับโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ในระดับประสานงาน เท่าที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ของประเทศไทย มักเป็นเรื่องสั่งการจากข้างบนลงมาทำ โดยที่ประชาชนพลเมืองมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจเพียงน้อยนิด และในหลายๆกรณีต้องนับว่าไม่มีบทบาทในกระบวนการตัดสินใจเลย
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การพูดถึงพลังพลเมืองในการเปลี่ยนแปลงประเทศ จึงมีนัยเกี่ยวโยงไปถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ อย่างเลี่ยงไม่พ้น หรือพูดให้ชัดขึ้นก็คือ ถ้าเราอยากเห็นพลเมืองไทยแสดงพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ก็จำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนเข้ามามีบทบาทในการกำหนดชะตากรรมของประเทศบ้าง เราจำเป็นต้องมีการปฏิรูปในระดับโครงสร้าง เพื่อปรับเปลี่ยนทิศทางการใช้อำนาจในประเทศไทย จากสั่งการจากข้างบนมา เป็นรับฟังจากข้างล่างขึ้นไป และตัดสินใจร่วมกัน โดยนึกถึงความสุข
คำถามใหญ่มีอยู่ว่า การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ หมายความว่าอย่างไร เราจะปรับเปลี่ยนอำนาจการเมืองการปกครอง จากการรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลางมาช้านาน ได้อย่างไร
จุดนี้ ผมขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องอำนาจ เท่าที่ผมพอมีความรู้อยู่บ้าง
อำนาจไม่ใช่สิ่งของ ไม่ใช่อะไรที่ทุกคนจะแย่งยื้อมาถือครอง หรือเก็บรักษาในห้องหับที่ลับตา แต่แก่นแท้แล้วอำนาจมีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นด้วยเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ อำนาจมีกฎเกณฑ์ในการก่อเกิด ดำเนินไปและสิ้นสลายได้ เหมือนกับความสัมพันธ์ อื่นๆ ในโลก การที่คนคนหนึ่งมีอำนาจเหนือคนอีกคนหนึ่ง หมายความว่า บุคคลแรก สามารถทำให้บุคคลที่สองกระทำตามเจตจำนงของตนได้ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ขณะเดียวกันผู้อยู่ใต้อำนาจก็อาจทำตามเจตจำนงของผู้มีอำนาจด้วยสาเหตุต่างๆ นานา มีตั้งแต่ทั้งกลัวถูกลงโทษ ไปจนถึงเชื่อถือ ศรัทธา หรือกระทั่งคาดหวังผลประโยชน์ อันจะเกิดจากการทำตามผู้มีอำนาจ
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า อำนาจเป็นความสัมพันธ์ที่มีกรอบคิดรองรับ หรือกล่าวอีกแบบหนึ่งอำนาจดำรงอยู่ในบริบทของวัฒนธรรม คนเรายอมรับอำนาจของผู้อื่นมากน้อยเพียงใด อย่างไรขึ้นอยู่กับชุดความคิดของเขาด้วย เช่น ในสังคมไทย เรายอมรับอำนาจของผู้นำศาสนา พ่อแม่ หรือครูบาอาจารย์ ก็เพราะเห็นว่าท่านเหล่านี้เป็นบุคคลที่สูงส่ง และมีความปรารถนาดีต่อสังคม หรือบางทีการที่เรายอมรับอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้นำการเมือง ก็เพราะเชื่อว่า พวกเขาจะทำเพื่อส่วนรวม หรือการใช้อำนาจของพวกเขามีความชอบธรรมทั้งด้านที่มา จุดหมายในการใช้อำนาจ ตลอดจนวิธีการใช้อำนาจ
ในทางกลับกัน ผู้ใช้อำนาจเองก็ต้องสนใจบริบททางวัฒนธรรม เพราะหากมีการใช้อำนาจตามอำเภอใจ หรือหลุดไปจากกรอบความคิดของผู้ที่อยู่ใต้อำนาจ บางครั้งแทนที่จะก่อให้เกิดการทำตาม กับสร้างความกระด้างกระเดื่อง หรือขบถไม่ทำตาม…แม้บางกรณีจะมีการสร้างความหวาดกลัวขึ้น เพื่อรักษาอำนาจเช่นนี้ไว้ แต่อำนาจที่เกิดจากการข่มขู่คุกคามนั้น ถึงอย่างไรก็ไม่ยั่งยืน เนื่องจากได้หว่านเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความหวาดกลัว ความเคียดแค้นชิงชังไว้ในหัวใจ
พูดกันตามความจริง ความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจ กับผู้ที่ไม่มีอำนาจ หรือผู้มีอำนาจมากกับผู้มีอำนาจน้อย ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจเท่ากันนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องของการเมืองการปกครองอย่างเดียว หากเป็นความสัมพันธ์ที่ถักทอขึ้นมาเป็นตาข่ายผืนใหญ่ ครอบคลุมคนทั้งสังคม
เราอาจพูดได้ว่า บางพื้นที่ ความสัมพันธ์ทางสังคมใช่อะไรอื่น หากคือความสัมพันธ์ทางอำนาจ ถามว่าแล้วอะไรเล่า ที่ทำให้คนเรามีอำนาจไม่เท่ากัน ในเรื่องนี้วิชารัฐศาสตร์มีคำๆ หนึ่ง คือคำว่า ทรัพยากรแห่งอำนาจ ซึ่งหมายถึงเงื่อนไขปัจจัยที่ผู้เป็นเจ้าของสามารถแปรเป็นความสามารถในการผลักดันเจตจำนงของเขาได้ ยกตัวอย่างเช่น เงิน ชื่อเสียง การศึกษา ชาติวุฒิ คุณธรรม บารมี หรือฐานะทางสังคมอะไรทำนองนั้น ที่คนในสังคมมีสิ่งเหล่านี้ไม่เท่ากัน
ฐานะของพวกเขาในความสัมพันธ์ทางอำนาจก็ยิ่งไม่เท่ากัน ไม่เชื่อลองนึกภาพ ศักยภาพทางอำนาจ ของข้าราชการชั้นสูง เจ้าของบริษัทใหญ่ นายธนาคาร อาจารย์มหาวิทยาลัย วิศวกร สถาปนิก และนายแพทย์ โดยเปรียบเทียบกับชาวนา ชาติพันธุ์ส่วนน้อย คนงานก่อสร้าง คนขี่มอเตอร์ไซด์รับจ้าง หรือแม้กระทั่งเสมียนชั้นผู้น้อย ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ทางอำนาจนั่นย่อมที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ นอกจากนี้บ่อยครั้งอำนาจที่ไม่เป็นทางการ ยังอาจมีฐานะเหนือกว่าอำนาจที่เป็นทางการก็ได้ เช่น บางที่บางแห่งอำนาจที่แท้จริงของผู้ว่าราชการจังหวัด อาจจะน้อยกว่าอำนาจของนายทุน หรือในบางกรณีอำนาจกำนัน อาจจะใหญ่กว่านายอำเภอ ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่า ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งยืนยันว่า ประชาชนมีอำนาจอย่างเป็นทางการ แต่ในความเป็นจริงอาจมีอำนาจน้อยที่สุด
และโครงสร้างอำนาจล่ะ หมายถึงอะไร
พูดเฉพาะโครงสร้างอำนาจที่เป็นทางการ หรือหมายถึงอำนาจการเมืองการปกครอง หรือโครงสร้างอำนาจรัฐ ความหมายของมันก็คือการจัดระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจชุดหนึ่งขึ้นมาเป็นแกนหลักของความสัมพันธ์ทางอำนาจทั้งปวง ทั้งนี้มีโดยมีสถาบันต่างๆ ประกอบขึ้นเป็นวงใหญ่ของอำนาจ โดยแต่ละสถาบันนี้กฎระเบียบและจุดประสงค์ชัดเจนในการใช้อำนาจ มีที่มา มีขอบเขตของอำนาจ ตลอดจนกระบวนการใช้อำนาจถูกบัญญัติไว้โดยกฎหมาย ซึ่งอำนาจอื่นๆที่ไม่เป็นทางการจะเข้ามาแทรกแซง หรือขัดขวางมิได้…
แน่ล่ะ โครงสร้างอำนาจรัฐต่างๆ ครอบคลุมความสัมพันธ์อำนาจไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็เป็นแกนกลางของความสัมพันธ์ทางอำนาจ ที่กำหนดของเขตและการมีอยู่ของอำนาจอื่นๆ และกำหนดให้ความสัมพันธ์ทางอำนาจทั้งปวงมาขึ้นตรง ทั้งหมดนี้เป็นลักษณะกว้างๆ ของอำนาจรัฐโดยทั่วไป ทุกหนแห่งไม่ว่าจะเป็นรัฐเผด็จการหรือประชาธิปไตย
ถามว่า แล้วทำไมเราต้องมาพูดถึงการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจของรัฐ โครงสร้างอำนาจนี้มีปัญหาอย่างไร ทำไมถึงต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
ก่อนอื่นเราต้องยอมรับ โครงสร้างอำนาจของรัฐไทยนั้นเป็นแบบรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางมาช้านาน และช่วงต้นของการรวมศูนย์อำนาจดังกล่าวก็มีผลดีหลายข้อ มีเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งทำให้ประเทศไทยหลุดรอดมาจากเงื้อมมือลัทธิล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก และสามารถก่อรูปขึ้นเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ ในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ดี การรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง การกำหนดให้ทั้งประเทศอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกรุงเทพฯ นั้น แม้จะอธิบายความจำเป็นได้ด้วยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ แต่เราก็ควรต้องยอมรับเหมือนกันว่า โครงสร้างอำนาจแบบนี้ได้ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกหลายเรื่อง ที่ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาใหญ่ แก้ไขได้ยากทั้งสิ้น
ข้อแรก มันทำให้วิวัฒนาการของการเมืองไทยสมัยใหม่ เป็นเรื่องการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในส่วนกลางอย่างเลี่ยงไม่พ้น และอย่างเข้มข้น …กล่าวอีกแบบหนึ่งมันเป็นโครงสร้างหลักที่ทำให้การเมืองไทยมีลักษณะผู้ชนะได้หมด ผู้แพ้สูญเสียทุกอย่าง เงื่อนไขเช่นนี้ย่อมส่งผลความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำ ที่แย่งกันสถาปนาอำนาจนำ ลื่นไถล ไปสู่ความรุนแรง เป็นระยะเวลานาน
ข้อต่อมา โครงสร้างอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง เนื่องจากถูกสร้างขึ้นเพื่อยอมรับระบอบอำนาจนิยม จึงมีลักษณะเอารัฐเป็นตัวตั้ง สังคมเป็นตัวตาม ข้อนี้ทำให้การสร้างประชาสังคมที่เอาการเอางาน ซึ่งคอยทำหน้าที่ควบคุมกำกับรัฐเป็นไปด้วยความยากลำบาก ประชาชนพลเมืองจำนวนมาก ถูกทำให้เคยชินเฉื่อย เนือยเรื่องส่วนรวม ล้าหลังในเรื่องความคิดทางการเมือง และไม่อยากถ่ายโอนที่จะแสดงพลังตน แม้ในระยะหลังบ้านเมืองจะเปลี่ยนไปในทางประชาธิปไตยแล้ว แต่แรงเฉื่อยยังต่ำยังหลงเหลืออยู่มาก
ข้อที่สาม โครงสร้างอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์ ทำให้ประเทศไทยขาดรากฐานการปกครองตนเองแบบสมัยใหม่ ในระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับระบอบประชาธิปไตยให้แข็งแรง การควบคุมศูนย์อำนาจทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอ ประชาชนอ่อนแอ กระทั้งดูแลตนเองไม่ได้ในหลายๆ กรณี
ยังไม่ต้องเอ่ยถึง การปกครองแบบสั่งการจากเบื้องบนลงมา ได้มีส่วนทำลายอัตลักษณ์ของท้องถิ่นในหลายที่หลายแห่ง ผู้คนในท้องถิ่นต้องสูญเสียทั้งอำนาจในการจัดการชีวิตตนเอง สูญเสียทั้งศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมของตนเอง
สุดท้าย เมื่อสังคมถูกทำให้อ่อนแอ ท้องถิ่นถูกทำให้อ่อนแอ และประชาชนจำนวนมากถูกทำให้อ่อนแอ ปัญหาที่ข้ามกลับมายังศูนย์อำนาจมีปริมาณที่ท่วมท้น… เมื่ออำนาจรวมศูนย์ปัญหาก็รวมศูนย์ การที่คนไทยแก้ไขปัญหาในระดับล่างมีไม่พอ ทำให้รัฐบาลทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นระบอบไหน ไม่ว่าเผด็จการหรือประชาธิปไตย ล้วนแล้วแต่ต้องเผชิญกับสภาวะข้อเรียกร้องล้นเกินจากทุกภาคส่วนของสังคม ทำให้ขาดทั้งประสิทธิภาพและเสถียรภาพในการทำงาน
ลำพังปัญหาที่ผมเอ่ยมาข้างต้น อย่างน้อยก็พอเพียงแล้วที่เป็นเหตุผลกับการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจในประเทศไทย แต่ถ้าเรานำประเด็นโครงสร้างอำนาจแบบรวมศูนย์มาพิจารณาควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงก็จะพบว่า ในปัจจุบันสถานการณ์ยิ่งร้ายแรงกว่านั้นอีก
ทุกวันนี้เราอ่านข่าวนานาประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วยล้วนอยู่ภายใต้เงื่อนไขระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ซึ่งกำหนดให้มีการยกเลิกพรมแดนที่กั้นขวางการค้าการลงทุน หรือแม้แต่การถือครองสินทรัพย์ต่างๆ พูดง่ายๆ ระบบดังกล่าวต้องการให้โลกทั้งโลกเป็นตลาดเดียวที่นักธุรกิจสามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรี ไม่มีการแบ่งแยกสัญชาติของนักลงทุน ไม่มีสิทธิใดๆ สำหรับคนในประเทศ ไม่มีข้อเสียเปรียบใดๆ นอกพรมนอกประเทศ ปล่อยให้เป็นเรื่องของกลไกลตลาด รัฐจึงไม่มีสิทธิใช้อำนาจแทรกแซง
สำหรับประเทศไทยระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ได้เข้ามาอย่างเต็มรูปหลังปี 2540 ส่งผลต่อกระบวนการใช้อำนาจของรัฐไทยเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ ขณะที่รัฐไทยยังคงรวมศูนย์อำนาจการบังคับบัญชาสังคมไว้อย่างเต็มเปี่ยม แต่กลับมีอำนาจน้อยลงในการปกป้องสังคมไทยจากอิทธิพลภายนอก และมีอำนาจน้อยลงในการกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงของประเทศ
พูดกันอย่างรวบรัดคือ ขณะที่อำนาจของรัฐยังคงควบคุมบังคับคนในชาติได้เต็มที่ แต่อำนาจดังกล่าวกลับใช้ดูแลพวกเขาได้น้อยลง เนื่องจากต้องโอนเรื่องทุกข์สุขของประชาชนไปไว้ที่กลไกตลาดเป็นส่วนใหญ่ เช่นนี้แล้วจึงน่าคิด ว่า ปัจจุบันโครงสร้างอำนาจแบบรวมศูนย์ ดำรงอยู่เพื่อผลประโยชน์ของผู้ใด
การรวมศูนย์อำนาจเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เกิดขึ้นพร้อมกับแนวคิดสร้างชาติไทยสมัยใหม่ เพราะฉะนั้นอำนาจรัฐใช้ปกครองสังคม จึงมีฐานความชอบธรรมอยู่ที่การดูแลผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งหมายถึงประโยชน์สุขของคนไทยทุกคน แต่หากรัฐทำสิ่งนี้ไม่ได้ หรือทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ความชอบธรรมของอำนาจดังกล่าวก็ต้องลดลง ต้องลดน้อยถอยลงไป…
ถึงตรงนี้ต้องเรียนอำนาจการเมืองต่างจากอำนาจอีกหลายๆแบบ ตรงที่ขึ้นอยู่ภายใต้การยอมรับของผู้อยู่ใต้อำนาจค่อนข้างมาก และการยอมรับนั้นมักจะต้องอาศัยศรัทธาเกี่ยวกับประโยชน์สุขบางประการ ผู้อยู่ใต้อำนาจเชื่อว่า อำนาจดังกล่าวจะนำมาให้
ที่ผ่านมา การเกิดขึ้น มีอยู่ และดำเนินไปของระเบียบอำนาจแบบรัฐชาติ ล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่บนฐานคิดและจิตนาการบางอย่าง เพื่อให้มีการยอมรับว่าอำนาจนี้มีความสำคัญ
1.มีการตีเส้นแบ่งความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างพลเมือง หรือประชากรของตนกับมีการนิยามสมาชิกภาพของประเทศไว้อย่างตายตัว มีเขา มีเรา มีความเป็นคนไทย และมิใช่เป็นคนไทย ทั้งบัญญัติทางกฎหมายและนิยามทางวัฒนธรรม จากนั้นรัฐถือเป็นหน้าที่ต้องปกป้องคุ้มครอง ตลอดจนบำบัดทุกข์บำรุงสุข
2.มีการถือว่า ประชากรที่สังกัดอำนาจรัฐเดียวกัน เกี่ยวโยงสัมพันธ์กันในหลายๆ มิติ กระทั่งเบียดบังสมาชิกในครอบครัวใหญ่เดียวกัน ซึ่งมีชะตากรรมทุกข์สุขร้อนหนาวร่วมกัน ดังนั้นรัฐจึงถือเป็นหน้าที่ ที่ต้องสร้างความปรองดอง สามัคคีให้เกิดขึ้น รวมทั้งแก้ไขความขัดแย้งกรณีพิพาทของคนในสังคมให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม
3.ประเทศถือเป็นหน่วยผลประโยชน์ใหญ่ มักเรียกขานเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ ทั้งนี้โดยมีนัยว่า ทุกคนที่เป็นสมาชิกของชาติ ย่อมได้รับผลประโยชน์ดังกล่าวอย่างถ้วนหน้า แม้ว่าบางทีอาจไม่เท่าเทียมกัน
ถามแล้วในยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ในยุคเศรษฐกิจไร้พรมแดน รัฐไทยยังคงรักษาพันธะสัญญาเช่นนี้ไว้ได้หรือไม่ โครงสร้างอำนาจแบบรวมศูนย์จะดูแลทุกข์สุขของคนในประเทศได้อย่างทั่วถึงหรือไม่ ต่อให้ถอยไปก่อน 2540 โครงสร้างอำนาจนี้ก็มีปัญหามาก การรวมศูนย์อำนาจมาไว้ส่วนกลาง และอำนาจสั่งการมาจากข้างบนลงล่าง ไม่เพียงทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอ ประชาสังคมอ่อนแอ ขาดการเข้าถึงศูนย์อำนาจและไม่เสมอหน้าอีกด้วย ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากรัฐประหารก็ตาม มีคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากนโยบายต่างๆ ของรัฐ ขณะที่คนจำนวนมากตกอยู่ในสภาพย่อยยับอับจน
ในความคิดของผม สิ่งที่อำนาจแบบรวมศูนย์ทำร้ายคนไทยมาก คือการให้แผนพัฒนาประเทศแบบสั่งการจากเบื้องบน ทั้งนี้เนื่องจากการกำหนดแผนผังการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นต่างๆ โดยไม่ได้ปรึกษาหารือประชาชนผู้เป็นเจ้าของพื้นที่
ยังมิเอ่ยถึงเราเอียงไปทางภาคอุตสาหกรรมและทอดทิ้งเกษตรกรรม ซึ่งเป็นฐานคิดของคนไทยจำนวนมหาศาล ปฏิเสธไม่ได้ว่า การพัฒนาได้เพิ่มความมั่งคั่งให้กับประเทศโดยรวม ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ แต่เราก็คงปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า การพัฒนาไปในทิศทางนี้ ได้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงอย่างสุดขั้วจนยากจะเยียวยา….
ความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วทางเศรษฐกิจ มีนัยต่อความสัมพันธ์ทางอำนาจมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบไม่เป็นทางการ มันสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยมีทรัพยากรธรรมชาติไม่เท่าเทียม การมีเงินนำสู่โอกาสทางการศึกษา ความมีหน้ามีตาทางสังคม และมีเครื่องมือที่ทำให้โลกหมุนไปตามทิศทาง มีอำนาจต่อรองกับผู้กุมอำนาจที่เป็นทางการ ยิ่งมีอำนาจต่อรองเหนือคนที่มีฐานะต่ำกว่า โดยเฉพาะที่ตกเป็นเบี้ยล่างทางเศรษฐกิจ ย่อมกลายเป็นผู้ด้อยอำนาจไปโดยปริยาย
ความสัมพันธ์ทางอำนาจไม่เป็นทางการโยงใยใกล้ชิดกับโครงสร้างอำนาจเป็นทางการ และมันสามารถแปรเปลี่ยนเป็นกันและกันได้
ยกตัวอย่างเช่น ลูกหลานของผู้มีอิทธิพลสามารถกลายเป็นนักการเมืองผู้ประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันนักการเมืองผู้ประสบความสำเร็จ ก็สามารถกลายเป็นนักธุรกิจ บริษัทยักษ์ใหญ่สามารถผลักดันให้รัฐบาลออกนโยบายสอดคล้องกับผลประโยชน์ของตน และพรรคการเมืองต่างๆ ก็สามารถของการสนับสนุนจากนักธุรกิจที่มั่งคั่งได้
เมื่อความจริงเป็นเช่นนั้นแล้ว โครงสร้างอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนเข้าถึง หรือออกแบบได้ เพราะมันถูกห้อมล้อมไปด้วยผู้มีอำนาจอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งก็คือ ผู้ได้เปรียบทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุดังนี้แม้เราพยายามสร้างระบอบประชาธิปไตยหลายสิบปี การเข้าถึงอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์ก็ยังมีช่องห่างทางอำนาจ
การเมืองแบบเลือกตั้งการกลายเป็นกิจกรรมของคนมีเงิน หรือตัวแทนของคนมีเงิน ส่วนชนชั้นล่างๆ ก็เหลือทางเลือกใหม่ๆภายใต้เงื่อนไขที่บีบคั้น พวกเขาจำนวนไม่น้อยรู้สึกจนปัญญาจะสร้างพลัง สิ้นหวังแสดงพลังทางการเมืองอย่างเป็นเอกเทศ จึงหันมาฝากความหวังกับชนชั้นนำทางการเมือง กลุ่มนั้นบ้างกลุ่มนี้บ้างกลายเป็นการเมืองแบบหางเครื่อง...
โครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ การเข้าถึงอำนาจรัฐได้หรือไม่ มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจ พูดอีกแบบหนึ่งหากท่านได้รับชัยชนะทางตลาดการค้า ท่านก็มีสิทธิได้รับชัยชนะในตลาดการเมือง ไม่ได้หมายความว่าระบบเลือกตั้งไม่ดี ถึงอย่างไรระบบเลือกตั้งก็ก้าวหน้ากว่าระบบเก่า เพราะมันเปิดโอกาสให้ประชาชนต่อรองได้มาก เพียงแต่ว่า ยังต่อรองได้ไม่มากพอและราคาที่ต้องจ่ายออกมันแพง
ต้องการชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างชัยชนะทางเศรษฐกิจกับชัยชนะทางการเมืองเท่านั้น ตราบใดที่การจัดสรรทรัพยากรทางอำนาจยังขึ้นอยู่ต่อระบบตลาดเป็นสำคัญ ตราบนั้นโครงสร้างอำนาจแบบรวมศูนย์ก็จะอยู่ในมือคนส่วนน้อยเสมอ
อันที่จริงปัญหาใหญ่สุดของโลกาภิวัตน์ก็อยู่ตรงนี้ อยู่ที่การโอนอำนาจหลายๆส่วนของรัฐมาไว้ที่กลไกตลาดและเปิดตลาดให้เป็นพื้นที่ไร้พรมแดน ที่ใครจะเข้ามาก็ได้ ตลาดจะเป็นผู้กำหนดใครจะได้คือครองทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า แร่ หรือพลังงาน…
ผู้คนจะมีทุกข์มีสุขประการใดล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับอำนาจของตนในท้องตลาดทั้งสิ้น ธรรมชาติตลาดจะไม่รับผิดชอบคนพ่ายแพ้ จะเฉยเมยกับคนที่เพลี้ยงพล้ำ และตามทุนนิยมโลก ตลาดปัจจุบันจะไม่จำแนกด้วยว่า ผู้ชนะที่เข้ามาถือครองรายได้และทรัพย์สินเป็นคนสัญชาติอะไร
ถามว่า แล้วคนไทยส่วนใหญ่มีอำนาจต่อรองอะไรในตลาดโดยรวม…..
ฉะนั้นถ้าเรายอมรับกลไกตลาดเพียงอย่างเดียวให้เป็นผู้ตัดสินทุกข์สุขของประชาชน ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คนไทยจำนวนมหาศาลจะตกในฐานะเช่นใด
ถ้าเช่นนั้นแล้ว พันธะสัญญาที่รัฐมีต่อประชาชนในประเทศจะเอาไปไว้ที่ไหน ความชอบธรรมของการรวมศูนย์อำนาจยังคงมีอยู่หรือไม่ ในเมื่อรัฐนำตนเองไปผูกไว้แล้วกับองค์กรทุนนิยมโลก ตลอดจนทำสัญญาทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ให้ประเทศไทยเป็นตลาดเปิดใครจะเข้ามาทำมาหากินก็ได้….
ประเด็นมีอยู่ว่า ผลประโยชน์ที่คละเคล้ากันอยู่ระหว่างคนไทยบางส่วนกับชาวต่างชาตินั้น มันมิใช่สิ่งเดียวกันกับผลประโยชน์แห่งชาติ นอกจากนี้แล้วสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันยังบ่งบอกด้วยว่า ผลประโยชน์แห่งชาติในทางเศรษฐกิจอาจเป็นสิ่งไม่มีจริง หรือคำนวณไม่ได้ เพราะฉะนั้นตำนานเรื่องนี้ควรถูกงดใช้ได้แล้ว จะว่าไปตลาดก็เป็นเวทีอำนาจย่อยๆ ที่กำหนดฐานะใหญ่เล็กของคนในสังคม…
เพราะฉะนั้นการที่มีทุนข้ามชาติเข้ามาเป็นใหญ่ในตลาดไทย จึงหมิ่นเหม่อย่างยิ่งที่เขาจะมีฐานะครอบงำเหนือโครงสร้างอำนาจของรัฐ เรื่องนี้นับว่าอันตรายมาก ทำให้ระบบประชาธิปไตยที่มีปัญหาสารพัดแทบจะเหลือแต่เปลือก เขาเลือกตั้งได้แต่กำหนดความสัมพันธ์ออกนอกกรอบระบบทุนโลกาภิวัฒน์ไม่ได้ นอกจากนี้กรณีพิพาทระหว่างคนไทยกับทุนต่างชาติ ก็ไม่หลักประกันอันใดเลยว่า รัฐจะยืนอยู่ข้างคนไทย สภาพดังกล่าวสามารถกลายเป็นปัญหาทางการเมืองระดับคอขาดบาดตายได้ ….
สรุปสั้นๆ โครงสร้างแบบอำนาจรวมศูนย์ที่ใช้มาร้อยกว่าปีในประเทศเรา โครงสร้างอำนาจรัฐเป็นคนสั่ง สังคมเป็นตัวตาม บัดนี้ไม่เพียงหมดพลังสร้างสรรค์ไปแล้ว หากจะยังปกป้องคุ้มครองบำบัดทุกข์บำรุงสุข ให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ ก็ยากยิ่ง
จริงอยู่ไม่เป็นความผิดของผู้ใด หรือชนกลุ่มใดเลย ถึงเวลาแล้วเหมือนกันที่เราจะต้องยอมรับความจริงใหม่ๆ ที่ก่อรูป ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกและปรับตัวอย่างรู้เท่าทัน และเป็นฝ่ายกระทำ ปรับปรุงและปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจรัฐด้วย
การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจนี่แหละ มักเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการที่จะทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการอยู่ร่วมกับยุคโลกาภิวัตน์ แต่เดิมการพัฒนาประเทศผ่านอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์ก็สร้างปัญหาไว้มากแล้ว เพราะเป็นการพัฒนาแบบไม่ยั่งยืน และไม่เท่าเทียมกัน อีกทั้งเพิกเฉยต่อความต้องการของท้องถิ่น ความล่มสลายของชนบท ความล่มจมของชาวนา และการหลั่งไหลอพยพเข้าเมือง ล้วนแล้วแต่เป็นการพัฒนาที่สั่งการมาจากข้างบน…
ฉะนั้น คงไม่ถูกต้องนักหากโทษโลกาภิวัตน์ ในยุคโลกาภิวัตน์ ถ้าขืนเอาความอ่อนแอเช่นนี้ไปไว้ในเกมตลาดโดยไม่มีกลไกป้องกันตัวใดๆ หายนะของคนส่วนใหญ่ก็จะเกิดขึ้น….
พูดให้ชัดเราคงไม่สามารถรอคอยให้คนไทยส่วนใหญ่ สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้ในกลไกตลาดเสรี และเพิ่มอำนาจต่อรองกับกลุ่มทุนใหญ่และนอกประเทศ เพราะสิ่งนี้ดูจะเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ยาก
ดังนั้นสิ่งที่พอจะทำได้ก็คือ เปลี่ยนทิศทางของความสัมพันธ์ทางอำนาจ ด้วยการเพิ่มอำนาจการเมืองการปกครองให้ประชาชนเสียก่อน จากนั้นค่อยแปรเปลี่ยนเป็นอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจและสังคม เราจะปล่อยให้อำนาจทางตลาดมากำหนดอำนาจการเมืองการปกครองฝ่ายเดียวไม่ได้
จริงอยู่ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ การศึกษา สังคม เป็นสิ่งที่สะสมมานาน แต่สถานการณ์ความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำอำนาจนับเป็นปัจจัยชี้ขาดเช่นเดียวกัน เราจะต้องแก้ไขตรงนี้ก่อน จากนั้นค่อยอาศัยดุลอำนาจที่เปลี่ยนไปมาปรับปรุงชีวิตของประชาชน
ถามว่า แล้วจะเริ่มกันที่ไหน คำตอบแรก คือต้องถอนอุปทาน การรวมศูนย์อำนาจจากส่วนกลาง และหาทางขับเคลื่อนให้มีการโอนอำนาจไปให้ท้องถิ่น คนในท้องถิ่นต้องสามารถมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ มีส่วนร่วมในรายได้ผลประโยชน์อันเนื่องมาจากฐานทรัพยากรของตน ทรัพยากรบางอย่างไม่ควรเป็นสินค้าเสรีในท้องตลาดที่ใครเอาเงินมาซื้อก็ได้ แม้ซื้อขายได้แต่ก็ต้องกันบางส่วนให้เป็นทรัพย์สินร่วมของชุมชน
แผนพัฒนาประเทศ ถึงเวลาแล้วที่จะยกเลิกแผนพัฒนาแบบรวมศูนย์ จากบังคับใช้จากเบื้องบนลงมา ท้องถิ่นควรมีอำนาจเต็มโดยมีรัฐเป็นผู้เกื้อหนุน นอกจากนี้ ท้องถิ่นยังควรรู้จักทำแผนการใช้งบประมาณของตนเองโดยรัฐเป็นผู้กระจายงบประมาณให้ ประเทศไทยต้องยกเลิกการใช้มาตรฐานเดียว ความหลากหลายของเส้นทางนำไปสู่ความเจริญจะต้องได้รับการยอมรับ อัตลักษณ์และวิถีวัฒนธรรมของท้องถิ่นต้องได้รับการยอมรับ ไม่ใช่นิยามความสุขความเจริญการเติบโตด้วยจีดีพีโดยวิถีบริโภคเท่านั้น
ถามว่า โอนอำนาจไปสู่ท้องถิ่นจริงๆ ใครจะเป็นผู้รับโอน
ที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการกระจายอำนาจอยู่แล้ว แต่ปัญหายังคงมีอยู่มิใช่น้อย ด้วยเหตุนี้หากมีการกระจายอำนาจเพิ่ม หรือขั้นปรับสายบัญชาการหลายๆ สายออกจากส่วนกลาง ก็ต้องระมัดระวังพอสมควร
ทำอย่างไรจะไม่ให้ระบบประชาธิปไตยท้องถิ่น เป็นในแง่การเลียนแบบระบบการรวมศูนย์อำนาจระดับชาติ โดยย่อส่วนมันเอาไว้ ในตัวจังหวัดหรือตัวอำเภอ ผมขอฝากประเด็นนี้ให้คิดเป็นการบ้าน ทำอย่างไรการกระจายอำนาจจึงจะถึงมือประชาชนจริงๆ และถ้าหากประชาชนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยสามารถใช้อำนาจจัดการชีวิตของตนเอง การทำหน้าที่พลเมืองของตนก็อาจต้องเข้มข้นมากขึ้น ความคิดเรื่องพึ่งอำนาจผู้ที่เหนือกว่า ควรจะเจือจางลง…..”