สัมภาษณ์:::::: เรืองรวี พิชัยกุล พลเมืองหญิง หนึ่งในกก.ปฏิรูประบบงานตำรวจ กับมุมมอง “นักการเมืองมีมุ้ง ตำรวจก็มีมุ้ง”
เมื่อใดก็ตามที่ลงไปสำรวจหรือสอบถามประชาชาชนถึงความพึงพอใจองค์กรที่ได้รับความเชื่อมั่น-เชื่อถือน้อยที่สุด เชื่อว่า หลายคนตอบได้ องค์กรที่กำลังจะพูดถึงนี้ มาแรงแซงโค้งตลอด และกลายเป็นเรื่องปกติที่ตำรวจเป็นกลุ่มที่ถูกระบุว่า เรียกรับผลประโยชน์มากที่สุด
วันนี้ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย ได้มีโอกาสพูดคุย กับผู้เรียกตัวเองว่า ประชาชนผู้หญิง เพราะใช้สรรพนามนำหน้าชื่อว่า “นาง” อยู่คนเดียว ในคณะกรรมการปฏิรูประบบงานตำรวจ ชุด พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร
"เรืองรวี พิชัยกุล" จากบรรทัดนี้ไปเราจะได้ซึมซับบรรยากาศการทำงานร่วมกับผู้ชาย ของผู้หญิงคิดพลิกโฉมประเทศ กับงานปฏิรูประบบงานตำรวจที่ใครๆก็ว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบงานขององค์กรใหญ่ที่มีข้าราชการตำรวจทั่วประเทศกว่า 2 แสนคน
@ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบตำรวจ โน้มน้าวอย่างไรถึงตัดสินใจเข้ามานั่งเป็นกรรมการ
มีเพื่อนๆ โทรมา บอกว่า อาจารย์วสิษฐ อยากได้กรรมการสายสังคมที่เป็นชาวบ้านเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ในฐานะที่ทำงานอยู่ในองค์กรเอกชน มูลนิธิเอเชีย ถือว่าอยู่ในภาคประชาสังคม ซึ่งอาจารย์วสิษฐ โทรมาหาเอง และเราบอกไปว่า มีปัญหาอย่างนี้ๆ นะ ดิฉันอยู่องค์กรระหว่างประเทศ จะมีปัญหาหรือไม่ ท่านก็ตอบกลับว่า แล้วเป็นคนไทยไหม ก็ตอบไปว่า เป็นค่ะเป็น ท่านก็บอกว่า มาในนามคนไทยนั่นแหละ ดิฉันก็โอเค
@ ความรู้สึกแรก ในฐานะตัวแทนผู้หญิง เข้าไปนั่งในคณะกก.ชุดที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย
ส่วนตัวที่รับทำงานตรงนี้ ความรู้สึกตอนแรก อยากรู้อยากเห็นมากกว่า ในนามผู้หญิงเมื่อเปิดช่องอะไรให้เข้าไป ต้องเข้าไปมีส่วนร่วม ขณะเดียวกันมีความสนใจส่วนตัวเรื่องการปฏิรูปตำรวจมากว่า 20-30 ปี สนใจเรื่องการบริหารกระบวนการยุติธรรม พยายามไปเข้าร่วม อีกทั้งเรียนมาเรื่องนี้ด้วย
เข้าใจระบบตำรวจเป็นระบบปิด รวมศูนย์อำนาจ หลังๆ แย่ใหญ่เป็นระบบที่มีการเมืองเข้ามาแทรก กลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองไปทั้งสิ้น ทำให้ภาพลักษณ์ของตำรวจตกต่ำมาก ดูได้ผลสำรวจทุกสำนัก น่าสงสารมาก
@ คิดว่า ภาพลักษณ์ตำรวจเริ่มตกต่ำมาตั้งแต่ยุคสมัยไหน วันนี้ถึงถูกเรียกขานหนักสุด “มะเขือเทศ”
ภาพลักษณ์ตกต่ำมาเรื่อยๆ แต่ไม่มีใครกล้าพูด หลังๆ รัฐบาลชุดนี้อาจจะเริ่มทำให้เกิดการปฏิรูปจริงๆ ซึ่งจริงรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ทำเรื่องการปฏิรูปตำรวจก็….เงียบมาก ขนาดเรายังไม่รู้ว่า เขาปฏิรูปตำรวจกันเหรอ
สมัยก่อนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก่อนปี 2540 ก็มีความพยายามปฏิรูปตำรวจ พอเข้าไปประชุมได้เอกสารมาเป็นกอง พะเนินเทินทึก แต่ก็ยังทำอะไรไม่ได้ เป็นเรื่องยาก (ลากเสียงยาว)
จนเดี๋ยวนี้ได้เข้าไป ก็บอก (อุทาน) อุ๊ยตายแล้ว ถึงเวลาแล้วเหรอจะปฏิรูปตำรวจได้ พอเข้าไปก็รู้สึกผิดหวังเล็กน้อย มีช่วงแรกๆ ที่ผิดหวัง แต่ก็ได้เห็นความพยายามของคนอีกจำนวนมาก โดยช่วงที่แสดงออกว่า อยากจะลาออก มีตำรวจผู้ใหญ่ที่นั่งอยู่ด้านข้าง พูดมาคำหนึ่งสะกิดใจ…..
“เรื่องตำรวจเป็นด่านแรกของกระบวนการยุติธรรม พูดถึงเรื่องกระบวนการยุติธรรม ไม่มี timeframe (ระยะเวลา) ยังไงก็ต้องทำไป ” จึงมาคิดได้….เออ คิดว่า จะสู้ต่อ อย่างน้อยๆ ก็เป็นที่รวบรวมข่าวสาร เปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนที่อยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจเอง ซึ่งแต่ละคนจะมี agenda (วาระ) ของตัวเอง โดยเฉพาะเป็นตำรวจเสียส่วนใหญ่ เขาก็อยากปรับปรุงในแง่ภายในของเขา
@ กรรมการปฏิรูปตำรวจชุดรัฐบาลสุรยุทธ์ กับชุดนี้ แตกต่างกันอย่างไร
ชุดแรกมีกรรมการประมาณ 20 กว่าคน แต่มีอนุกรรมการเยอะมาก และมีงบประมาณ แต่คณะกรรมการปฏิรูปชุดอภิสิทธิ์ ไม่เห็นประกาศเทอมในคำสั่ง ว่าจะอยู่แค่ไหน หรือมีงบประมาณให้ ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็บอกเอางี้แล้วกัน อยู่เท่าที่อายุรัฐบาลผม
(ทำท่านึก)….โอเค เอาเลย (คิดในใจ) หลวมตัวหรือเปล่าเนี๊ยะ
@ เมื่อได้เข้ามาทำงานกับอาจารย์วสิษฐ
ท่านวสิษฐ เป็นคนจริงใจ คิดว่าท่านไม่เคยด่างพร้อย และไม่ force (กดดัน) ซึ่งเราจะเห็นตัวประธานเท่าที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ หรืออะไรก็แล้วแต่ เขาจะมีลูกล่อลูกชนมาก
แต่ท่านวสิษฐ เป็นคนตรงไปตรงมา แบบไม่ต้องอ่านระหว่างบรรทัด จริงใจ มีอะไรก็พูดไปอย่างนั้น นี่คือสิ่งที่รู้สึกสบายใจที่ทำงาน ทั้งๆที่เราไม่เคยรู้จักมักจี่กับท่านมาก่อน แต่ด้วยความที่ท่านเป็นผู้ใหญ่ ไม่ dominate (ครอบงำความคิด) การประชุม และให้โอกาสไปศึกษา เพราะกรรมการปฏิรูปตำรวจมีทั้งคนใหม่คนเก่า
@ ช่วยยกตัวอย่างงานของกรรมการปฏิรูป
งานของคณะกรรมการชุดนี้มีเรื่องของการตรวจสอบการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งส่วนตัวไม่ได้อยู่ในกรรมการชุดนี้ เพราะมีการตั้งมาก่อนหน้านี้แล้ว พอดีท่านวสิษฐ เป็นประธานอยู่แล้ว เวลานายกฯ มาคณะกรรมการชุดนี้ก็มีการรายงานว่า ยังไงก็ต้องจัดการเรื่องโยกย้าย แล้วถามว่า มีกลไกอะไรหรือไม่ที่ทำให้การโยกย้ายครั้งต่อไป ที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรม ซึ่งทุกคนก็กำลังช่วยกันคิดอยู่
@ สายตาผู้หญิงมองการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจอย่างไร
ส่วนตัวทำงานเรื่องผู้หญิงมา รู้ว่า คนที่ไม่มีช่องทาง ก็ต้องตั้งช่องทางอะไรก็ได้ที่เป็นกลไกให้เขาได้ ป้อนข้อมูลมาจากทั้งข้างบนและข้างล่าง แล้วจะได้เอามาช่วยกัน
เราก็รู้ว่าตำรวจชั้นผู้น้อยเบื่อการต้องมาเก็บส่วยให้ผู้ใหญ่จะแย่อยู่แล้ว เราต้องหาพันธมิตร หาแนวร่วมตำรวจชั้นประทวน ระดับล่าง ตรงนั้นเป็นเรื่องที่เราทำช่องทางอย่างนี้ได้หรือไม่ ซึ่งก็ไม่มีใครในคณะกรรมการฯ ตอบสนองข้อเสนอหรอกนะ ซึ่งคิดว่าต้องใช้เวลานานกับการจะทำเรื่องเหล่านี้
@ มองอย่างไรกับการที่ตำรวจกลัวคนอื่นมารื้อบ้านเขา
(ตอบทันที) ตำรวจเขาเตรียมรับการรื้อบ้านนะ เพราะผลงานครั้งนี้ของเขามันจมมิดเสียจนไม่มีข้ออ้างอะไรมาตอบโต้ หาความศรัทธาอะไรไม่ได้แม้แต่ตัวของเขาเอง ตำรวจในสายตาประชาชนแย่มาก ซึ่งมูลนิธิเอเชีย ได้ทำการสำรวจความคิดเห็น ในองค์กรต่างๆที่สำรวจมาพบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภาพลักษณ์แย่มาก มีการเชิญตำรวจไปฟังด้วย เขาโกรธมาก ทำไมผลสำรวจองค์กรของเขาออกมาเป็นแบบนี้
@ มองการทำงานของตำรวจที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
ตำรวจเป็นหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม เป็นต้นสายของกระบวนการยุติธรรม ตำรวจทำงานใกล้ชิดประชาชน ใกล้ชิดกับผู้เสียหาย และผู้ที่ไปละเมิดคนอื่นเขา (เน้นเสียงยาว) ยากสุดๆ…. เลยเรื่องนี้
ตำรวจมีกระบวนการทำงานแบบทหารมากไป ถูกฝึกมาแบบทหาร ต้องจบโรงเรียนนายร้อย ( ไม่รู้ทำไมต้องจบโรงเรียนนายร้อย) ซึ่งมีตำรวจทำงานดีๆ น่ารักๆ เท่ากับคนที่จบโรงเรียนนายร้อยเยอะแยะ เช่น จบนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ คนเหล่านี้จะรู้สึกถึงความเป็นมนุษย์ ไม่แข็งกระด่าง ซึ่งแตกต่างจากตำรวจที่จบโรงเรียนนายร้อยจะมีความเป็นสถาบันของสัญญาบัตร เป็นชนชั้นที่น่าสงสารที่สุด มีระบบอาวุโสชัดเจนมาก
การที่ตำรวจมีระบบศูนย์รวมอำนาจแบบนี้ ไม่มีระบบคุณธรรมปกติ ต้องซื้อตำแหน่ง ต้องเกาะแขนเกาะขา มีมุ้ง ใครว่านักการเมืองมีมุ้ง ตำรวจก็มีมุ้ง….. (หัวเราะ)
@ วาระการประชุมของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ
มีการประชุมเดือนละ 2 ครั้ง แรกๆ ก็สงสัยทำไมประชุม….. น้อย แต่หากดูชื่อคณะกรรมการ จะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ไม่ค่อยมีเวลา ดูเหมือน (ชี้มาที่ตัวเอง) จะมีเวลามากกว่า
งานคณะกรรมการปฏิรูประบบงานตำรวจ ก็เสร็จหมดแล้ว เพียงแต่เอาข้อสรุปจากชุดรัฐบาลสุรยุทธ์ มาต่อยอด มีทำร่างกฎหมาย คิดเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ให้เรามาคิดทบทวน มีอะไรจะตัด จะต่อ จะเติม จะเพิ่ม ซึ่งบางส่วนดี เช่นเรื่องการกระจายอำนาจ
@ เรื่องเร่งด่วนที่ควรหยิบมาทำก่อน มีหรือไม่
ในเชิงของระยะเวลา เอาไรที่ง่ายๆ ที่ทำได้เลยได้หรือไม่ ที่อำนาจบริหารสามารถจัดการได้ ขณะนี้ยังไม่มีการเสนออะไร แต่ส่วนตัวได้เสนอเรื่อง พนักงานสอบสวนที่เป็นผู้หญิง ควรมีเพิ่ม ให้เพียงพอให้ผู้ต้องหาหญิง หรือการทำให้ตำรวจเข้าใจประเด็นหญิงชาย ทัศนคติด้านลบที่ตำรวจมีต่อผู้หญิงและผู้ต้องหาหญิงในคดีความผิดทางเพศ เรื่อง พ.ร.บ.ความรุนแรงในครอบครัว เรื่องเหล่านี้หยิบมาได้ไหม
แต่ที่ซีเรียส คือ เรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตำรวจประสิทธิภาพต่ำมาก โดยเฉพาะเรื่องการรวบรวมพยานหลักฐานการฟ้องคดี ทำให้ทหารต้องเข้ามาทำงานแทน แล้วก็ไม่ถูกกัน ทำให้อ่อนไปหมด พูดง่ายๆ จับคนร้ายไม่ได้ จับคนผิด จับแพะ คดีความมั่นคงที่ขึ้นศาล 100 % ศาลยกฟ้อง 60 % เพราะอ่อน โดยได้เสนอเรื่องนี้สำคัญ ที่ สำนักงานสภาความมั่นคงแหงชาติ (สมช.) และฝ่ายต่างๆมาประชุมหาทางทำงานร่วมกัน
@ สิ่งที่ได้เห็นหรือสิ่งเหลือเชื่อของระบบงานตำรวจเมื่อได้เข้ามาสัมผัสใกล้ชิด
คนอยู่ข้างนอก (คิดอยู่พักหนึ่ง) ไม่น่าเชื่อ วิทยาการของตำรวจทั้งระบบไม่ทันสมัยแบบที่เราคิด มีอะไรที่แบบว่า ล้าหลังทั้งระบบ นิติวิทยาศาสตร์ไม่เพียงพอ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า งานของตำรวจมาก (เน้นเสียง)….เกินไป องค์กรใหญ่ งานบางอย่างไม่ควรเป็นงานของตำรวจ ก็มีการจัดโอนงานของตำรวจให้ใครบ้าง หรือหากเป็นเรื่องการดูแลกันเองภายในชุมชน ชี้หมูราขี้หมาแห้ง งูเข้าบ้าน อะไรต่างๆ นานา ทำไมเราไม่ใช้ ตำรวจชุมชน
ได้เสนอระยะใกล้ สนใจเรื่องผู้หญิง กับเรื่องล่าม ระยะไกล ต้องคิดถึงเรื่องการกระจายอำนาจ ให้ชุมชนดูแลเรื่องอาชญากรรมในชุมชน
@ ตำรวจกับแนวคิดการกระจายอำนาจ
ตำรวจเข้าใจและรู้ แต่ว่า เขาอยู่ในระบบมานานเลยไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหน ตำรวจไม่ใช่นักนโยบาย ตำรวจเป็นนักปฏิบัติ เอกสารที่คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดก่อนทำ ค่อนข้างดี ก้าวหน้ามาก เป็นเพราะไม่ใช่ตำรวจทำอย่างเดียว มีดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ รศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย มีนักวิชาการ ซึ่งภาคประชาชนอาจน้อยไปนิดหนึ่ง เช่น ล่าม ไม่มี เรื่องผู้หญิงไม่มี
เอกสารฯ เป็นเหมือนโครงสร้างหลักใหญ่ๆ เหมือนบ้าน ยังมีเครื่องประดับอะไรเลย มีโครงขึ้นมา ผนัง หน้าต่าง รูปแบบเพื่อให้ใช้งานได้ยังไม่มี
@ สิ่งที่เป็นห่วงสุด หากพ้นรัฐบาลชุดนี้ไปแล้ว
หากรัฐบาลชุดนี้จะไม่อยู่ รัฐบาลชุดหน้าจะเอาเป็นนโยบายของตัวเองหรือเปล่า ซึ่งหากรัฐบาลชุดนี้กลับมา เชื่อว่าเขาเอาเข้าแน่ ออกเป็นพระราชบัญญัติแน่ แต่ถ้าไม่ใช่ ก็......ซึ่งท่านวสิษฐ พูดตรงไปตรงมา คนที่เป็นอุปสรรคการปฏิรูปตำรวจ คือตำรวจเอง โดยเฉพาะตำรวจชั้นผู้ใหญ่
@ จินตนาการการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ ในมุมมอง “เรืองรวี”
โยกย้ายตำรวจครั้งนี้ ให้มีความโปร่งใสเป็นมาตรฐาน ขึ้นมาหน่อย ไม่ใช้เส้นใช้สาย คนที่เคยถูกกลั่นแกล้ง ได้รับความเป็นธรรม
@ ตำรวจที่เป็นฮีโร่
เห็นอยู่ 2 คน คือ ท่านวสิษฐ และท่านประทิน (พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ) เพราะเราตามดู และเราเห็นตำรวจระดับประทวนที่เป็นคนดีศรีสังคม ตามชุมชนเล็กๆ ที่เราไม่สามารถรวบรวมได้จำนวนหนึ่ง ก็ยังมีอยู่
(คิดครู่หนึ่ง) จริงๆ ตำรวจที่มาจากสายจบปริญญาตรี ค่อนข้างดี เพราะเขาไม่มีที่ หรือถูกดึงมาเป็นลูกโซ่ ไม่มีสายพาน เพราะฉะนั้นเขาจะเติบโตตามธรรมชาติ ไม่มีนาย
@ สุดท้ายฝากข้อคิดให้ตำรวจ คนในรัฐบาล และสังคม
ตำรวจมีดีอยู่แล้ว แต่ดีไม่พอจะต่อสู้กับน้ำเสีย
ส่วนตัวเห็นใจ ตำรวจ อันดับแรก ทำดีก็ไม่ได้ดี เพราะงานของเขาหมิ่นเหม่กับเรื่องสิทธิเสรีภาพ ของคน ทำดีไม่มีใครชม ทำผิดนิดหนึ่งโดนหนัก อันนี้ต้องทำใจเลย ข้าราชการตำรวจ ต้องได้รับการเอาใจใส่ดูแล ในชีวิตสวัสดิการ ดูแลเรื่อง เงินเดือนที่น้อยเกินไป เมื่อเทียบกับงานที่รับผิดชอบ