สัมภาษณ์::: “สิทธิโชค ศรีเจริญ” ถึงเวลาแล้วหรือยัง ประเทศไทยจะมีกฎหมายชุมนุมสาธารณะ
ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ...ฉบับของรัฐบาล ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ยกร่างขึ้น ได้ผ่านการพิจารณาวาระที่สองไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมา
หนึ่งในผู้ที่ประกาศตัวไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ...ฉบับของรัฐบาล ด้วยเห็นว่า ร่างฉบับนี้ ออกจะดูแข็งกร้าวเกินไป ศาสตราจารย์พิเศษสิทธิโชค ศรีเจริญ ประธานกรรมการมารยาท สภาทนายความ ที่ปรึกษาอนุกรรมการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ทีมข่าว “ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย” หลังเปิดเวทีสาธารณะครั้งแรก เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้
ความเป็นมาของบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ
สิทธิโชค ศรีเจริญ: “การชุมนุมสาธารณะมีลักษณะที่หลากหลายไม่ได้ชุมนุมทางการเมืองอย่างเดียว มีทั้งชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆมากมาย ของชาวนาชาวไรก็มี ดังนั้นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งก็คือหน่วยงานของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงมองว่า กฎหมายนี้สำคัญมีผลกระทบต่อประชาชนในภาพรวมทั้งรูปธรรมและนามธรรม
กฎหมายหลัก คือรัฐธรรมนูญ เราดูแล้วว่า มาตรา 63 วรรคสอง เป็นเรื่องการเข้าไปอำนวยความสะดวกให้กับผู้ชุมนุม เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย และทำให้ประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมเสียประโยชน์ เพราะสถานที่สาธารณะ ทางสาธารณะเป็นทางที่ประชาชนใช้ร่วมกัน”
บันทึกความเห็นหรือข้อเสนอแนะที่แตกต่างจากร่างของรัฐบาล
สิทธิโชค ศรีเจริญ: “ในบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ เรื่องแนวทางในการตรากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ เห็นว่า การชุมนุมสาธารณะเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายไม่ควรกำหนดความผิดโทษทางอาญาไว้ในกฎหมายฉบับนี้ โดยบทกำหนดโทษ เราเสนอว่า ไม่ให้ใช้โทษทางอาญาให้ใช้โทษทางปกครอง เพราะไม่ถือว่า การมาชุมนุมแล้วทำอะไรที่ผิดกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะนั้น ผิดกฎหมายอาญา
ส่วนพื้นที่ห้ามจัดการชุมนุม ถ้าเราห้ามไม่ให้ชุมนุมใกล้สถานที่ที่ควรแก่การไม่ถูกรบกวน ควรกำหนดหรือไม่ และควรเป็นระยะทางสักเท่าไหร่ คุยไปคุยมา เห็นว่าควรไกลพอสมควร ไม่ชุมนุมในรัศมี 500 เมตร มิเช่นนั้นเสียงจะไปถึง เราคิดว่า หากไม่ใช่ที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท และสถานที่พักอาศัยของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ควรมีอีกหรือไม่ ที่เป็นพื้นที่ไม่ควรเข้าไปเลย หรือทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา ศาล เป็นที่ตั้งของอำนาจสูงสุดของบ้านเมือง รวมถึงสนามบิน ท่าเรือ สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง ที่มีคนจำนวนมาก รวมถึงสถานทูต สถานเอกอัครราชทูตด้วยเพราะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”
ขณะที่การสั่งให้เลิกหรือการสลายการชุมนุมสาธารณะ ศ.พิเศษสิทธิโชค ยืนยันว่า “เจ้าหน้าที่ต้องไม่ใช้อาวุธปืน ไม่ได้เลย อาวุธอื่นก็ไม่ได้ เพราะถือว่าผู้มาชุมนุมมาโดยสงบปราศจากอาวุธ เจ้าหน้าที่เองก็ต้องไม่มีอาวุธ มีแล้วจะเป็นปัญหา เช่น อาจถูกกล่าวหา ในความเป็นจริงเจ้าหน้าที่อาจจะไม่ได้เป็นคนทำ แต่คนอื่นทำ เราไม่รู้ใครเป็นใคร การถูกกล่าวหาแล้วแก้ตัวอยาก ดังนั้นตำรวจไม่ควรพกอาวุธ ตามมาตรฐานสากล เจ้าหน้าที่จะมีเพียงมีโล่ กระบอง มีไว้เพื่อป้องกันตัว ไม่ได้มีไว้เพื่อทำร้าย”
การกำหนดกฎหมายต้องให้สอดคล้องกับเสรีภาพในการชุมนุมหรือไม่
สิทธิโชค ศรีเจริญ: “การมีกฎหมายอะไรก็แล้วแต่ ต้องไม่ไปทำลายวัฒนธรรมชุมชน การชุมนุมไม่ผิดกฎหมาย เพราะเขามีความเดือดร้อน อยากพูดให้เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้มีอำนาจฟัง การมาพูดคนเดียว 10 คน 50 คนก็ไม่ฟัง แต่พอมาเป็นร้อย นึกได้ว่าต้องฟังแล้ว
ดังนั้น กฎหมายการชุมนุมสาธารณะ ควรเป็นกฎหมายที่ส่งเสริม การชุมนุมของประชาชนตามเสรีภาพ ส่วนการวางกรอบ ก็ต้องวางกรอบเพื่อประโยชน์ไม่ไปทำให้การชุมนุมเสียหาย วางกรอบเพื่อให้รู้ว่า อะไรควรทำไม่ควรทำ เรามองที่จารีตประเพณี หรือวัฒนธรรมของท้องถิ่น การชุมนุมกว่าจะรวมตัวขึ้นมา จัดการชุมนุมได้ เขามีความเข้มแข็ง มีวัฒนธรรม มิเช่นนั้นไม่สามารถจะมีเครือข่ายเรียกคนมาชุมนุมได้
เราไม่อยากให้กฎหมายออกมาในเชิงอำนาจ กฎหมายน่าจะออกมาในเชิงส่งเสริม แล้วให้กรอบที่เหมาะสมกับท้องถิ่น เพราะบางครั้งการชุมนุมไม่ได้เกิดความเสียหาย ผู้ชุมนุมบางครั้งเข้าใจ แต่หากปล่อยให้กฎหมายแบบนี้ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่รัฐมากไป เจ้าหน้าที่รัฐก็จะใช้อำนาจรัฐตรงนั้น ขัดขวางการชุมนุม”
เมื่อถามถึงการเปิดเวทีสาธารณะครั้งแรก
สิทธิโชค ศรีเจริญ: “การเปิดเวทีสาธารณะสามารถสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเขาอยู่ในสถานภาพที่แตกต่างกัน โดยเราต้องการความเห็นที่ตกผลึก เรายังไม่เคยมีกฎหมายนี้มาก่อน และไม่เคยมีวิธีปฏิบัติในการควบคุมฝูงชนมาก่อน สิ่งนี้หากทำได้ มีได้ ตำรวจจะทำงานง่าย มีขั้นตอน รู้ว่าแผนปฏิบัติเป็นขั้นเป็นตอนเป็นอย่างไร
จากการเปิดเวทีสาธารณะครั้งแรก เบื้องต้นเมื่อเราฟังแล้วมีประเด็นอะไรหลายอย่างดี เช่น ควรมีการแยกประเด็นการชุมนุมทางการเมืองกับการชุมนุมสาธารณะทั่วๆไป ที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่เป็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน การชุมนุมเรื่องปัญหาปากท้อง เป็นเรื่องที่ดีควรรับฟัง หากไม่ฟังประชาชนเดือดร้อน
ไหนที่ต้องรีบเปิดเวทีสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น โอกาสต่อไปจะออกไปรับฟังความคิดเห็นตามต่างจังหวัด เพราะความคิดเห็นของคนกรุงเทพกับคนต่างจังหวัดไม่เหมือนกัน จากนั้นจะนำมาประมวลรวบรวมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และของคณะกรรมการฯ มีความเห็นต่อร่างนี้อย่างไร เพื่อส่งไปประกบกับร่างของรัฐบาลที่มีอยู่ ซึ่งจะทำให้ได้ทันและเร็วที่สุด แต่ยังไม่ได้กำหนดเวลา”
บ้านเราไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ วันนี้มีความจำเป็นหรือยัง
สิทธิโชค ศรีเจริญ: “ถึงตรงนี้มองว่า กฎหมายนี้จำเป็นแล้ว เรามองว่า เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายร่วมกัน เพราะเรามีบุคคลอยู่ 3 ฝ่าย คือคนชุมนุม คนที่ไม่ได้ชุมนุมแต่ได้รับผลกระทบ และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลและจัดการเพื่อให้เกิดความสงบสุขแก่บ้านเมือง ขณะนี้ไม่มีกฎหมายออกมาเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานทำงานยากขึ้น บางเรื่องไม่กล้าตัดสินใจเลย”
และเพื่อศึกษาว่า ประเทศในกลุ่มเอเชีย ที่มีการประท้วงกฎหมายเขาเป็นอย่างไร กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะและการเดินขบวนของเกาหลี ที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์จันทจิรา เอี่ยมมยุรา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำมาเปรียบเทียบเพื่อถามความคิดเห็นของประชาชนนั้น เราต้องเข้าใจ ที่เกาหลีประท้วงทุกวัน วันไม่ประท้วงแปลก กฎหมายของเกาหลีแข็ง ซึ่งวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการฯ ต้องการให้การออกแบบกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกทั้งผู้ชุมนุมและผู้ไม่ชุมนุมให้เขาอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีใครเสียหาย ซึ่งตรงนี้ต้องเป็นการชุมนุมตามปกติไม่มีเรื่องร้ายแรง หากมีเรื่องร้ายแรงหรือทำความผิดต้องไปกฎหมายอื่น หรือมีการพกอาวุธต้องไปกฎหมายอื่นไม่ใช่กฎหมายนี้ กฎหมายนี้เป็นการชุมนุมเบื้องต้นตามปกติโดยสงบและไม่มีอาวุธ”
เนื้อหาของกฎหมายควรมีการแบ่งประเภทการชุมนุมหรือใช้มาตรการเหมือนกันหรือไม่
สิทธิโชค ศรีเจริญ: “การชุมนุมในเมืองไทย มี 2 รูปแบบ รูปแบบหนึ่ง คือ การได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับการเหลียวแลจากคนที่มีอำนาจหรือจัดการให้ได้ เป็นปัญหาที่ซับซ้อนไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายหรืออาจอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของหลายกระทรวงไม่มีเจ้าภาพโดยตรงดูแล
การชุมนุมอีกประเภทคือการชุมนุมทางการเมือง คิดว่า กรอบไม่น่าจะเหมือนกัน เพราะลักษณะการชุมนุมเรียกร้องคนละเรื่อง คนละจุดประสงค์ คนละรูปแบบ ซึ่งต้องไปวิเคราะห์กันอีกทีว่า ควรจะเป็นอย่างไร เราไม่ได้รังเกียจการชุมนุม ขอให้ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธก็น่าจะอยู่ในกฎหมายนี้ อาจมีวิธีการของการดูแลและกระบวนการที่แตกต่างกัน ช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายนี้ก็ต้องใช้กฎหมายอื่นแทนไปก่อน ทั้งกฎหมายทางหลวง จราจร หรืออาญาบางมาตรา”
เมื่อถามว่า กรณีผู้ชุมนุมไปประท้วงแล้วถูกจับ อาจารย์สิทธิโชค เห็นว่า เป็นการใช้กฎหมายที่ยังไม่ตรงกับเงื่อนไขและองค์ประกอบ หากการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาจะขัดกับสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ หากไปกล่าวหาอย่างนั้น คำกล่าวหาอาจขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งควรหาทางออกตามกฎหมายนี้ให้ได้เสียก่อน
หรือกรณีศาลจังหวัดเชียงรายมีคำพิพากษาจำคุก ผู้นำการชุมนุม 3 คน คนละ 6 เดือน ปรับคนละ 100 บาท ที่นำประชาชนไปปิดถนนพหลโยธินสายเชียงราย-พาน พื้นที่ อ.พาน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีการช่วยเหลือเรื่องราคาข้าวนาปรังที่ตกต่ำ นั้น อาจารย์สิทธิโชค กล่าวว่า จะนำกรณีเหล่านี้มาศึกษาทั้งเรื่องของศาลยุติธรรมและศาลปกครองมาเป็นกรณีศึกษา ว่า ในที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร จะระงับ ชัดเจน เมื่อมีกฎหมายนี้ออกมา ขณะนี้เราใช้กฎหมายเชิงประยุกต์ บางทีอาจตรง บางทีอาจไม่ตรง หรืออาจขัดกับสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญก็ได้ เราต้องเอามาเป็นกรณีศึกษาด้วย
การเข้ามาขยับหรือกล้าแตะกฎหมายนี้
สิทธิโชค ศรีเจริญ: “ผมมองว่าเป็นงานที่ท้าทาย และค่อนข้างยากเพราะมีกรณีศึกษาหลายกรณี ขณะที่ชาวบ้านมีเครือข่ายและกระบวนการชุมนุมที่น่าชื่นชม เขารู้เขาเข้าใจประชาธิปไตยสิทธิชุมชน เขาต้องการพูดกับผู้มีอำนาจ ซึ่งหากมีคณะกรรมการสันติวิธีแห่งชาติ ตามที่ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เสนออาจเป็นทางออกที่ดี คณะกรรมการฯ กำลังนำไปคิด
การมีเครื่องมือหรือมีกฎหมายเป็นการแก้ไขปัญหาปลายเหตุ ทางที่ดีพอชาวบ้านเริ่มมาชุมนุม ยื่นข้อเรียกร้องหากเรามีคณะกรรมการสันติวิธีแห่งชาตินี้เข้าไปรับฟังเขาก็เลิก มันก็จบ ที่ผ่านมาชาวบ้านสู้จนไม่รู้จะทำอย่างไรจึงมาจัดม็อบ เราต้องไม่ให้ความหวังของคนเดือดร้อนหมดไป การที่เขามาร้องเรียนแล้วไม่ได้ผล เหมือนคนจนทำอะไรก็ไม่สำเร็จ คนจนเปรียบการชุมนุมเป็นลมหายใจ หากไม่มีตรงนี้ ก็ไม่มีอะไรเหลือ น่าเห็นใจ เราไม่อยากให้เจ้าหน้าที่รัฐมองว่า การมาชุมนุมของชาวบ้านทำให้เสียเวลา วุ่นวาย ยุ่งยาก อยากให้มองในแง่บวกรับฟังเขาหน่อยมีอะไร ให้ความช่วยเหลือแบบพี่น้อง การชุมนุมก็จะไม่ยืดเยื้อ”