สัมภาษณ์ :::: นักการเมือง หนาว ๆ ร้อน ๆ “ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา” พร้อมเปิดระบบฐานข้อมูลตรวจสอบบุคคลสาธารณะ ปลายปีนี้
เมื่อเร็วๆ นี้ กรุงเทพโพลล์เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ความเห็นประชาชนในเขตกรุงเทพฯ 1,277 คน ต่อการทำงานของ ส.ส. พบส่วนใหญ่ไม่พอใจผลการทำงานของ ส.ส. ในรอบปี 2552 เรื่องที่ต้องการให้ ส.ส.ปรับปรุงแก้ไข คือ การพูดจาและแสดงความเห็นโดยคำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง การพูดหยาบคายท้าตีท้าต่อย พูดเยิ่นเย้อ วกวน ไม่ตรงประเด็น การขาดประชุม และการนั่งหลับในที่ประชุม
ที่สำคัญ ผลสำรวจพบประชาชนร้อยละ 93.1 จะนำผลการทำงานของ ส.ส. มาประกอบการตัดสินใจลงคะแนนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ขณะเดียวกันยังต้องการให้สื่อและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอข้อมูลการทำงานของ ส.ส. ให้ได้รับทราบให้มากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าในการให้บริการช่วยเหลือประชาชนตามข้อร้องทุกข์ ข้อมูลการตรวจสอบทรัพย์สินของ ส.ส. สถิติการเข้าร่วมประชุมสภา การทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ และสถิติการไปประชุมหรือดูงานต่างประเทศ
ที่เกริ่นมาทั้งหมดเพื่อจะชี้เห็นว่า คนไทยใส่ใจและสนใจตรวจสอบพฤติกรรมของบุคคลสาธารณะมากขึ้น วันนี้เรามาทำความรู้จักกับ “โครงการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อตรวจสอบบุคคลสาธารณะ” หนึ่งในแนวคิดการปฏิรูปประเทศไทย ที่เครือข่ายสถาบันทางปัญญากำลังขับเคลื่อนอยู่ มี ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแกนหลัก
ความคืบหน้าการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อตรวจสอบบุคคลสาธารณะ
ศ.ดร.จรัส คาดว่าภายในปีนี้ระบบฐานข้อมูลเพื่อตรวจสอบบุคคลสาธารณะ จะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งฐานข้อมูลนี้จะส่งเสริมให้ประชาชนมีข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินต่อการทำกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น
“โครงการระบบฐานข้อมูลเพื่อตรวจสอบบุคคลสาธารณะ เป็นความพยายามพัฒนาและเชื่อมโยงฐานข้อมูลของบุคคลสาธารณะเพื่อสนับสนุนการทำงานขององค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบบุคคลเหล่านี้ และมุ่งให้สังคมมีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบการทำงานของบุคคลเหล่านี้ได้ ขณะนี้ได้ทดลองระบบฐานข้อมูลเบื้องต้นไปบ้างแล้วประมาณ 2-3 เดือน กำลังประมวลข้อมูล ถ่ายโอนข้อมูลจากเครือข่ายต่างๆ ที่มีฐานข้อมูลส่วนนี้อยู่
ถึงวันนี้มีข้อมูลนักการเมืองในระบบกว่า 3,000 คน ทั้งที่เป็นข้อมูลจากการถ่ายโอนจากเครือข่ายความร่วมมือ เช่น ศูนย์ข้อมูลนักการเมืองไทย ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย ฯลฯ และกำลังเก็บข้อมูลเพิ่มเติมขึ้นใหม่ ทั้งข้อมูลนักการเมือง บุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่ มีอำนาจเกี่ยวข้องกับทางการเมือง หรือการคอรัปชั่น รวมถึงองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง”
ระบบฐานข้อมูลจะประกอบด้วยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสาธารณะอะไรบ้าง
ศ.ดร.จรัส ฉายภาพให้เห็นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลว่า “กำลังทดลองนำเสนอฐานข้อมูลนี้แบบจีไอเอส (Geographic Information System : GIS) คือ วิเคราะห์แบบจีไอเอส โดยมีภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินการ เพื่อนำเสนอข้อมูลออกมาเป็นรายตำบล อำเภอ จังหวัด และจะนำเสนอในพื้นที่เขตเลือกตั้ง ว่าส.ส.คนใด นักการเมืองคนใดอยู่เขตเลือกตั้งใดบ้าง แต่ละคนมีข้อมูลส่วนบุคคลจะระบุว่า เคยทำอะไรมาแล้วบ้าง เพื่อที่จะติดตามการเลือกตั้งต่างๆ ของบุคคลเหล่านี้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า คือ จะเพิ่มรูปแบบนำเสนอให้หลากหลายทั้งตัวบุคคล ประเด็นร้อนต่างๆ รวมทั้งให้แสดงผลในรูปแบบเขตพื้นการเลือกตั้งด้วย”
“ขั้นต่อไปกำลังพัฒนาให้ระบบฐานข้อมูลบุคคลสาธารณะเหล่านี้สามารถเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลองค์กร บริษัท ธุรกิจเอกชนต่างๆ ด้วย ให้เห็นว่านักการเมือง บุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่ มีอำนาจเกี่ยวข้องกับทางการเมืองหรือการคอรัปชั่น มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทธุรกิจ เอกชน หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ วิสาหกิจ หน่วยงานต่างๆ รับสัมปทานจากรัฐอย่างไรบ้าง มีสายสัมพันธ์เกื้อกูลกับใครบ้าง หรือนักการเมืองคนนั้นๆ เคยเข้าประชุมสภากี่ครั้ง เคยโหวตเรื่องอะไรบ้างในสภา เคยผลักดันนโยบายอะไร ทั้งหน่วยงานของรัฐ ตำรวจ ศาล กระบวนการยุติธรรม รวมถึงข้อมูลข้าราชการชั้นผู้ใหญ่”
“รวมทั้งข้อมูลว่าในแต่ละหน่วยงานมีใครเคยเป็นผู้บริหารบ้างใน 5-10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องพัฒนาข้อมูลนี้ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลฐานข้อมูลบุคคลสาธารณะเข้ากับองค์กร หน่วยงานธุรกิจต่างๆ ที่เคยร่วมดำเนินการกับรัฐ รับสัมปทาน และเกี่ยวข้องกับโครงการหลักๆ ใดบ้างของรัฐที่มีความสำคัญที่ประชาชนต้องทราบ”
มีวิธีกำหนดประเด็นเพื่อเป็นข้อมูลสาธารณะอย่างไร
“ในส่วนของการพัฒนาระบบฐานข้อมูลนี้ ขณะนี้กำลังพยายามใช้วิธีอาศัยประเด็นดังต่างๆ ที่ประชาชนให้ความสนใจ มาสร้างเป็นจุดร่วมสำหรับเชื่อมโยงข้อมูลบุคคลสาธารณะ ใครเคยเกี่ยวข้องกับประเด็นใดบ้าง เคยเคลื่อนไหวเรื่องใดบ้าง โดยจะเลือกประเด็นศึกษาของรัฐเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ ที่ประชาชนต้องรับรู้ ตัวอย่าง เช่น โครงการจัดซื้อรถโดยสารประจำทางเครื่องยนต์เอ็นจีวีของกทม. ว่ามีรัฐมนตรี มีบริษัทใดบ้างที่เกี่ยวข้อง หรือกรณีทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ความไม่โปร่งใสของกระทรวงสาธารณสุขประเด็นงบประมาณไทยเข้มแข็ง เป็นต้น”
“จะใช้กรณีลักษณะนี้เป็นฐานข้อมูล และต้องวิจัยกรณีเหล่านี้ ว่า แต่ละกรณีมีความเป็นมาอย่างไร สามารถเชื่อมโยงให้ได้ว่า หากอยากรู้ว่าเหตุการณ์ประเด็นร้อนแต่ละเรื่องมีรัฐมนตรี มีใครเกี่ยวข้องบ้าง ก็สามารถเชื่อมโยงดูข้อมูลส่วนนี้ได้ โดยจะเลือกกรณีใหญ่ที่เกิดเรื่องขึ้นแล้วนำมาเชื่อมโยงกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง”
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า “การเก็บข้อมูลกรณีนี้จะไม่เก็บเป็นเอกสารรายละเอียดทั้งหมดของแต่ละกรณี แต่จะเก็บเป็นสรุปกรณี เก็บข้อมูลเพียงว่า แต่ละเรื่องมีใครเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง ซึ่งเป็นตัวเชื่อมข้อมูลว่าใครเคยเกี่ยวข้องทำอะไรร่วมกับบริษัทใด หน่วยงานใดบ้าง ดังนั้นข้อมูลที่เก็บมาจะเสมือนเว็บไซต์ที่ติดตามบุคคลสาธารณะเหล่านี้ (web tracking) จะเป็นเหตุผลในการติดตามคนเหล่านี้ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องรัดกุม ข้อมูลส่วนนี้มีความซับซ้อนมากต้องเก็บไปเรื่อยๆ กรณีสำคัญใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดก็จะเก็บข้อมูลไว้”
เมื่อถามถึงวิธีที่ประชาชนจะเปิดและเข้าถึงฐานข้อมูลส่วนนี้
“ ฐานข้อมูลนี้จะสามารถนำเสนอทั้งในลักษณะของประเด็นร้อน กรณีดังต่างๆ เป็นรายบุคคล หรือเป็นลักษณะพื้นที่ก็ได้ และเมื่อได้ฐานข้อมูลที่มากพอ ก็จะเปิดให้เข้าถึงข้อมูลเป็น 2 ระดับ คือ 1.ข้อมูลสำหรับบุคคลทั่วไป (Public Website) และ 2.ข้อมูลเชิงลึกที่จะไม่ปรากฏบนเว็บไซต์ ซึ่งจะระบุว่า บุคคลใดเคยพัวพันกับการทุจริตเรื่องใดบ้าง โดยจะชวนเครือข่ายภาคประชาชน หน่วยงานต่างๆ ที่ติดตามตรวจสอบบุคคลสาธารณะ นักการเมือง การคอรัปชั่น การผลักดันนโยบายต่างๆ ของบุคคลเหล่านี้ นำข้อมูลไปใช้และแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน โดยข้อมูลเชิงลึกส่วนนี้หน่วยงานใดจะนำไปใช้ก็ได้”
ศ.ดร.จรัส ให้ข้อมูลเพิ่มว่า โครงการนี้คณะทำงานมีหน้าที่เพียงรวบรวมพัฒนาข้อมูลส่วนนี้ให้เข้มแข็ง พยายามรวมคนต่างๆ ที่มีข้อมูลอยู่แล้ว พัฒนาเก็บข้อมูลใหม่เพิ่ม ให้เครือข่ายฐานข้อมูลมีความเข้มแข็ง เป็นการพยายามรวมคนที่ทำเรื่องนี้อยู่ให้เชื่อมโยงกันเป็นพลังที่จะตรวจสอบเพื่อให้มีต้นทุนที่ถูกลง สิ่งสำคัญพยายามทำให้ฐานข้อมูลนี้ มีลักษณะคล้ายวิกิพีเดีย (Wikipedia)
“คิดว่าฐานข้อมูลเพื่อตรวจสอบบุคคลสาธารณะจะอยู่ยาว ตั้งใจจะจำกัดอยู่ในส่วนระบบข้อมูลพื้นฐาน (back office) ให้กับองค์กรภาคประชาชน เรามีหน้าที่ไปส่งเสริมให้ประชาชนมีข้อมูลที่เพียงพอในการตัดสินต่อการทำกิจกรรมทางการเมือง เพื่อในอนาคตจะมีฐานข้อมูลที่กว้าง ครบถ้วน และให้บริการข้อมูลได้มากขึ้น นี่คือเป้าหมายที่วางไว้
ขณะนี้ถือว่าเป็นช่วงตั้งไข่ได้ แต่เมื่อทำสำเร็จ ก็จะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลที่เข้มแข็ง ส่วนในอนาคตหรือปีหน้าอาจจะทำฐานข้อมูลของการเมืองท้องถิ่น มุ่งเน้นเป็นรายเขตการเลือกตั้งเพื่อให้ทุกเขตเลือกตั้งมีการข้อมูลที่ทันสมัยอยู่เสมอ”